ข่าวด่วน ข่าวเด่น ข่าวล่ามาไว ทันใจ
Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2557
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
28 กรกฏาคม 2557
 
All Blogs
 
ลุ้น! คลอด สนช.เปิดทางแม่น้ำ 5 สาย ยกเครื่องใหม่ ปฏิรูปไทยยั่งยืน

สัปดาห์ที่ผ่านมา การเมืองไทย "ใจจดใจจ่อ" อยู่ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 48 มาตรา 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับพระราชทานมาประกาศใช้เป็นกฎหมาย แน่นอนประเด็นสำคัญมาตกอยู่ที่ รธน.มาตรา 44 ที่ระบุว่า

"ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่ง หรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติท่ีชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งน้ี เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว"

หากยอมรับว่า ประเทศขณะนี้อยู่ในภาวการณ์ไม่เป็นปกติ ก็ถือเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการมอบดาบอาญาสิทธิ์ให้ คสช. เผื่อเอาไว้ใช้ หากถึงคราวจำเป็นจริงๆ ก็คงพอรับได้ ก็อย่างที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้า ปชป. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เอาไว้ก่อนหน้าว่า การมีมาตรา 44 ใน รธน.ปกครองชั่วคราว 2557 ก็เปรียบเสมือนมีอาวุธปืนไว้ใช้หากถึงคราวจำเป็น เชื่อว่า คสช.จะตัดสินใจใช้หรือไม่ ก็อยู่ที่ดุลยพินิจและคงไม่ใช้พร่ำเพรื่อแน่

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ฐานะหัวหน้าส่วนกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แม้แต่ "เนติบริกร" นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ออกมาแถลงข่าว ก็ยืนยันว่า ที่ต้องเขียนไว้เพราะมันต้องมีเอาไว้เป็นการป้องกัน แต่ก็เชื่อว่าหากต้องใช้จริงๆ คสช.จะหยิบออกมาใช้อย่างแนวทางสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลาย เพราะขนาดกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา หัวหน้า คสช.มีอำนาจล้นมากกว่า ม.44 ก็ยังไม่เคยเอาออกมาใช้เลย

"หากมองมุมนี้ ถือว่ามีเหตุผลพอรับได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ปัญหามันไม่ใช่ มีหรือไม่มีอำนาจทางกฎหมายให้ใช้ แต่มันอยู่ที่ผู้ที่มีอำนาจ ที่จะสามารถใช้ดุลยพินิจ วิจารณญาณ ที่จะเลือกใช้อำนาจตามกฎหมายที่ รธน.มอบให้ อยู่ในเงื่อนไขความจำเป็น และสถานการณ์เหมาะสมกับเหตุการณ์จริง หรือไม่ เพียงใดมากกว่า"

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าปชป.

หากให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับ "ตำรวจมีหน้าที่ไปจับโจร" ก็ต้องดูว่า โจรนั้นมีอาวุธอะไร ตำรวจก็ต้องเลือกใช้อาวุธที่มีความเหมาะสมไปต่อสู้ ให้สมน้ำสมเนื้อ เพื่อสามารถไปถึงเป้าหมาย คือ จับโจรผู้ร้าย ดูแลชีวิตทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้ คงไม่ใช่ให้ตำรวจไปมือเปล่าไปสู้กับโจร นอกจากจะจับไม่ได้แล้ว ยังเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว

รอยยิ้ม พล.อ.ไพบูลย์ ระหว่างแถลงข่าว (ไม่เครียด)

ย้อนกลับมาเรื่องรัฐธรรมนูญชั่วคราว พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าส่วนกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาว่า รธน.กำหนดให้ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนไม่เกิน 220 คน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องตั้งให้เต็มตามจำนวนก็ได้ ขณะเดียวกัน สนช.ถือเป็นต้นธารสายที่ 1 ที่จะนำไปสู่ธารสายอื่นๆ อีก 5 สาย ตามที่ดร.วิษณุ ระบุไว้ เพราะจะส่งผลไปถึงภารกิจตั้งนายกรัฐมนตรี ครม. ที่จะต้องเข้ามาบริหารประเทศ ทั้งยังต้องผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ให้ทัน 1 ต.ค.นี้ ตามโรดแม็ป คสช.ระยะ 2

ฉะนั้น เชื่อว่า จะอย่างไร คสช. ก็ต้องดันจนตั้ง สนช.ได้ ไม่มีปล่อยให้ "เรือล่มปากอ่าว" แน่นอน ไม่ว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไป จะชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. หรือไม่ก็ตาม

"เนติบริกร" วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคสช.

ขณะสัปดาห์นี้ หัวหน้า-รองฯ หัวหน้า คสช. มีคิวเคาะรายชื่อบุคคลเป็น สนช. 220 คน น่าจับตาชื่อ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ที่ปรึกษา คสช. จะเปิดหวอเป็นตัวเต็งเข้ามาคั่วตำแหน่ง "ประธาน สนช." หรือไม่ แต่ก็ยังฆ่าชื่อวิษณุ เครืองาม"เนติบริกร"ไม่ได้ ยังถือเป็นแคนดิเดต"ชิงดำ"กันอยู่ ต่อเนื่องไปถึงรายชื่อ ครม. ที่มีการเก็งกันในสื่อมวลชนมากมายหลายชื่อ ไม่ว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายณรงค์ชัย อัครเศรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่-พี่รอง บรูพาพยัคฆ์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ฯลฯ

พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาคสช.

ส่วนอีกประเด็นที่กล่าวถึงกันมาก คือ การคงอำนาจ คสช.เอาไว้ทำงานควบคู่รัฐบาล ถ้าให้ฟันธงตามกระแส ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีโอกาสสูงที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่กับหัวหน้า คสช. จะเป็นบุคคลเดียวกัน หากเป็นเช่นนั้น ปัญหา ม.44 ที่พูดกันมากว่า หัวหน้า คสช.มีอำนาจมากกว่า หรือสั่งการรัฐบาลได้ ก็อาจหมดไป กลายเป็นคนคนเดียว สวมหมวก 2 ใบ เป็นทั้งหัวหน้า คสช. เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี มีอำนาจครอบคลุมหมด ทั้งบริหารราชการแผ่นดิน ดูแลความมั่นคง กลายเป็น "ซุปเปอร์นายกฯ" ไปโดยปริยาย

3ประสาน วันแถลงข่าวแจงปม รัฐธรรมนูญ 57 มี48 มาตรา

ปิดท้าย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปร.) จำนวน 250 คน แหล่งข่าวจากคณะทำงานด้านกฎหมายของคสช. เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่า คณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. ได้ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการอาศัยอำนาจของมาตรา 22, 30 และ 43 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 57 เพื่อให้มีคณะกรรมการสรรหาทำหน้าที่สรรหาบุคคลด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 12 คณะ ประกอบด้วย 1 คณะกรรมการสรรหาด้านการเมือง 2.คณะกรรมการสรรหาด้านบริหารราชการแผ่นดิน 3.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4.ด้านการปกครองท้องถิ่น 5 ด้านการศึกษา 6.ด้านเศรษฐกิจ 7 ด้านพลังงาน 8.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 9.ด้านสื่อสารมวลชน 10.ด้านสังคม 11.คณะกรรมการสรรหาด้านอื่นๆ และ 12.คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คณะ

โดยคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหา มีคณะละ 7 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับการยอมรับ โดยได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. เพื่อทำหน้าที่สรรหาบุคคลเสนอต่อ คสช. เพื่อคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป ซึ่งแต่ละคนจะเป็นกรรมการสรรหาเกินหนึ่งคณะไม่ได้

เรียงหน้ากระดาน ไขปมธรรมนูญ 57 ต่อหน้าสื่อมวลชน

สำหรับคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล ในจังหวัดครั้งล่าสุด และประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นกรรมการ

สำหรับใน กทม.นั้น คณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วย ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ปลัด กทม. ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนใน กทม. และประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง กทม.

โดยสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง รับผิดชอบงานเลขานุการ

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาแต่ละด้าน ให้สรรหาบุคคลคณะละ 50 คน และจังหวัดละ 5 คน ซึ่งคณะกรรมการสรรหาพิจารณารายชื่อที่ถูกเสนอมาจากนิติบุคคลๆ ละ 2 คน โดยนิติบุคคลที่จะเสนอรายชื่อเสนอต่อสถานที่ที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ที่สำคัญบุคคลที่ถูกเสนอชื่อ ต้องมีหนังสือให้ความยินยอม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้าคสช.

หลังจากนั้นให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมถึงการเสนอรายชื่อเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ แล้วส่งให้คณะกรรมการสรรหาภายใน 10 วัน

จากนั้นคณะกรรมการสรรหาคณะต่างๆ เสนอบัญชีรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปต่อ คสช.ภายใน 10 วัน

แล้ว คสช.พิจารณาคัดเลือกจังหวัดละ 1 คน และจากบัญชีของคณะต่างๆ ของแต่ละด้านตามจำนวนที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 250 คน ซึ่งหัวหน้า คสช. นำรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป ขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 15 วัน เมื่อทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแล้ว ให้ประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

อันนี้ เป็นกำหนดการตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สนช. 250 คน ซึ่งก็ต้องดูว่าจะได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีชื่อเสียงในแต่ละด้าน มาเพื่อทำการปฏิรูปประเทศไทยแบบ "ยกเครื่องใหม่" หมด ตามเจตนารมณ์ของประชาชนไทยและ คสช.หรือไม่? หรือจะกลายเป็น "สภาร่างทรงสีเขียว" อย่างที่มีหลายฝ่ายออกมาดักคอก่อนหน้าเท่านั้น อีกไม่นานจะได้รู้กัน!




Create Date : 28 กรกฎาคม 2557
Last Update : 28 กรกฎาคม 2557 9:10:38 น. 0 comments
Counter : 405 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

soberder
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add soberder's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.