ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
9 กันยายน 2552
 
All Blogs
 
ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์

สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท
ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม


สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาอันยาวนานจังหวัดหนึ่ง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอน ว่ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างไร อาศัยเพียงข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี ตลอดจนคำบอกเล่าของผู้สูงอายุที่เล่าต่อๆ กันมา โดยเชื่อกันว่าเมืองสุรินทร์ ถูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยที่พวกขอมมีอำนาจอยู่ในบริเวณนี้ เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงเมืองสุรินทร์ได้ถูกทิ้งร้าง จนกลายเป็นป่าดงอยู่นาน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2306 จึงปรากฏหลักฐานว่าหลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุม) ซึ่งเดิมเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ได้ขอให้เจ้าเมืองพิมายกราบ บังคมทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่บริเวณบ้านคูประทาย บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเมือง สุรินทร์ในปัจจุบันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริเวณ ที่มีชัยภูมิเหมาะสม มีกำแพงค่ายคูล้อมรอบ 2 ชั้น มีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะ แก่การประกอบอาชีพและอยู่อาศัย

ต่อมาหลวงสิรินทรภักดีได้ กระทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปราน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านคูประทายเป็น "เมืองประทายสมันต์"และเลื่อนบรรดาศักดิ์ หลวงสุรินทรภักดี เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าเมืองปกครอง

ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ "เมืองประทายสมันต์" เป็น "เมืองสุรินทร์" ตามสร้อยบรรดาศักดิ์ ของเจ้าเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 457 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 8,124 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 13 อำเภอ 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสุรินทร์ ชุมพลบุรี ท่าตูม จอมพระ ปราสาท กาบเชิง รัตนบุรี สนม ศีขรภูมิ สังขะ สำโรงทาบ บัวเชด ลำดวน กิ่งอำเภอศรีณรงค์ กิ่งอำเภอพนมดงรัก กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ และกิ่งอำเภอโนนกิ่ง

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดร้อยเอ็ด และมหาสารคาม
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดศรีสะเกษ
ทิศใต้ ติดกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์

การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรีและเดินทา งเข้าเส้นทางโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) ผ่านอำเภอนางรอง อำเภอปราสาท จากอำเภอปราสาทแยก ซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 214 ถึงตัวเมืองสุรินทร์ รวมระยะทาง 450 กิโลเมตร หรืออาจเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดนครราชสีมา ต่อด้วยเส้นทางหมายเลข 226 ผ่านอำเภอจักราช ห้วยแถลง ลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ สู่จังหวัดสุรินทร์ รวมระยะทาง 434 กิโลเมตร

รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารประจำทาง ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียง เหนือถนนกำแพงเพชร 2 (หมอชิต)ไปจังหวัดสุรินทร์ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2936-2852-66 //www.transport.co.th

จากสถานีขนส่งจังหวัดสุรินทร์ ถนนจิตรบำรุง มีรถโดยสารประจำทางหลายสายดังนี้
สายสุรินทร์-รัตนบุรี, สุรินทร์-กาบเชิง-ช่องจอม, สุรินทร์-โคกกระชาย (อำเภอปราสาท), สุรินทร์-ร้อยเอ็ด (สายเก่า), สุรินทร์-ร้อยเอ็ด (สายใหม่)
สุรินทร์-นครราชสีมา, สุรินทร์-ศรีสะเกษ (ผ่านศรีขรภูมิ), สุรินทร์-กระโพ-ตากลาง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 0 4451 1756
สายสุรินทร์-กรุงเทพฯ ติดต่อ บริษัท กิจการราชสีมาทัวร์ โทร. 0 4451 2161
สายอุบลราชธานี-สุรินทร์-นครราชสีมา-ระยอง ติดต่อ นครชัยแอร์ โทร. 0 4451 5151

รถไฟ มีรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (สถานีหัวลำโพง) และสถานีบางซื่อ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1690, 0 2223 7010 , 0 2223 7020 และสถานีรถไฟสุรินทร์ โทร. 0 4451 1295, 0 4451 5393 //www.railway.co.th

เครื่องบิน สายการบินแอร์ อันดามัน เปิดบริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-สุรินทร์ ทุกวันจันทร์ พุธ พฤหัสบดีและเสาร์ วันละ 1 เที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2229 9555 //www.airandaman.com

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ
อำเภอกาบเชิง 58 กิโลเมตร
อำเภอจอมพระ 26 กิโลเมตร
อำเภอชุมพลบุรี 92 กิโลเมตร
อำเภอท่าตูม 52 กิโลเมตร
อำเภอบัวเชด 66 กิโลเมตร
อำเภอปราสาท 28 กิโลเมตร
อำเภอรัตนบุรี 70 กิโลเมตร
อำเภอลำดวน 25 กิโลเมตร
อำเภอศีขรภูมิ 32 กิโลเมตร
อำเภอสนม 50 กิโลเมตร
อำเภอสังขะ 49 กิโลเมตร
อำเภอสำโรงทาบ 51 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอศรีณรงค์ 65 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอพนมดงรัก 76 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอเขวาสินรินทร์ 20 กิโลเมตร
กิ่งอำเภอโนนนารายณ์ 72 กิโลเมตร

ระยะทางจากจังหวัดสุรินทร์ไปยังจังหวัดใกล้เคียง
จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทาง 111 กิโลเมตร
จังหวัดยโสธร ระยะทาง 135 กิโลเมตร
จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทาง 137 กิโลเมตร
จังหวัดศรีสะเกษ ระยะทาง 143 กิโลเมตร
จังหวัดมหาสารคาม ระยะทาง 177 กิโลเมตร
จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 198 กิโลเมตร

แหล่งท่องเที่ยว
ศาลหลักเมืองสุรินทร์ ตั้งอยู่ที่ถนนหลักเมือง เป็นสถานที่สำคัญ คู่บ้านคู่เมืองของชาวสุรินทร์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัด ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร เดิมเป็นศาลที่ยังไม่มีเสาหลักเมือง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2511 กรมศิลปากรได้ออกแบบสร้าง ศาลหลักเมืองใหม่ เสาหลักเมืองเป็นไม้ชัยพฤกษ์ ที่ได้มาจากนายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเสาไม้สูง 3 เมตร วัดโดยรอบเสาได้ 1 เมตร ทำพิธียกเสาหลักเมืองและสมโภช เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2517

อนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2511 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึก ถึงผู้สร้างเมืองท่านแรก ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่ง ในประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ทาง เข้าเมืองสุรินทร์ทางด้านใต้ เดิมเคยเป็นกำแพงเมืองชั้นใน ของตัวเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์เป็นรูปหล่อ ทองเหลืองรมดำ สูง 2.2 เมตร มือขวาถือของ้าว อันเป็นการแสดงถึงความเก่งกล้า สามารถของท่านในการบังคับช้างศึก และเป็นเครื่องแสดงว่าสุรินทร์ เป็นเมืองช้างมาแต่ดึกดำบรรพ์ รูปปั้นสะพายดาบคู่อยู่บนหลัง อันหมายถึงความเป็นนักรบ ความกล้าหาญอันเป็นคุณสมบัติ ที่ตกทอดเป็นมรดกของคนสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2528

วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ที่ถนนกรุงศรีใน ตำบลในเมือง ใกล้กับศาลากลางจังหวัด ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คือ หลวงพ่อพระชีว์ (หลวงพ่อประจี) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น มาพร้อมกับวัดบูรพาราม นอกจากนี้ผู้มาเยือนยังได้ แวะนมัสการรูปเหมือนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล (เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ฝ่ายธรรมยุต เป็นพระเถระที่อาวุโส) ซึ่งเป็นที่เคารพกราบไหว้ของบุคคลทั่วไปอีกด้วย วัดบูรพารามนี้เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี หรือในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุประมาณ 200 ปี เท่ากับอายุเมืองสุรินทร์ สร้างโดยพระยาสุรินทร ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดบูรพารามขึ้นเป็น พระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520

ห้วยเสนง เป็นอ่างเก็บน้ำของ โครงการชลประทาน อยู่ห่าง จากตัวเมืองสุรินทร์ไปตาม ถนนสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 5-6 แยกซ้ายมือ ไปทางถนนริมคลองชลประทาน ประมาณ 4 กิโลเมตร ห้วยเสนงนี้เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีสันเขื่อนสูง บนสันเขื่อนเป็นถนนลาดยาง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของชาวเมืองสุรินทร์ และภายในที่ทำการชลประทาน มีพระตำหนักที่ประทับของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอีกด้วย (การเข้าชมพระตำหนักต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า ) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0 44 51 1966

วนอุทยานพนมสวาย อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสายสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ระยะทาง 14 กิโลเมตร และมีทางแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร อยู่ในเขตตำบลนาบัว เป็นภูเขาเตี้ยๆ มียอดเขาอยู่ 3 ยอด ยอดที่ 1 มีชื่อว่ายอดเขาชาย (พนมเปราะ) สูง 210 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย มีบันไดขึ้นถึงวัด มีสระน้ำกว้างใหญ่และร่มรื่นด้วยต้นไม้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทร มงคลปางประทานพร ภปร. ยอดที่ 2 มีชื่อว่ายอดเขาหญิง (พนมสรัย) สูงระดับ 228 เมตร ทางวัดได้จัดสร้าง พระพุทธรูปองค์ขนาด กลางประดิษฐานไว้ ยอดที่ 3 มีชื่อว่าเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ ได้จัดสร้างศาลาอัฏฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง จากยอดเขาชายมาประดิษฐานไว้ในศาลา โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2524 และสำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2525 ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงเป็นวนอุทยานแล้ว บรรพบุรุษชาวสุรินทร์ถือว่า เป็นสถานที่แสวงบุญ โดยการเดินทางไปขึ้นยอดเขาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันหยุดงานตาม ประเพณีของชาวจังหวัดสุรินทร์ มาแต่โบราณกาล

ปราสาทเมืองที ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดจอมสุทธาวาส หมู่ที่ 1 ตำบลเมืองที ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 16 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-ศรีขรภูมิ เส้นทางหลวงหมายเลข 226 จนถึงบ้านโคกลำดวน เลี้ยวซ้ายเข้าวัดจอมสุทธาวาส ปราสาทเมืองทีเป็นปราสาท แบบเขมรที่ได้รับการดัดแปลง ในสมัยหลังเช่นเดียวกับปราสาทศรีขรภูมิ ปราสาทก่อด้วยอิฐฉาบปูน มี 5 หลัง สร้างรวมกันเป็นหมู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 หลังซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง หลังกลางมีขนาดใหญ่สุด มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ตัวเรือนธาตุตันทึบไม่มีประตู เนื่องจากการดัดแปลง ส่วนหลังคาทำเป็นชั้นมี 3 ชั้นเลียนแบบตัวเรือนธาตุ ส่วนยอดบนหักหาย นับเป็นโบราณสถานเขมร อีกแบบหนึ่งที่นิยมสร้าง คือ มีปราสาทหลังกลางเทียบเท่าเขาพระสุเมรุ และมีปรางค์มุมทั้งสี่ตาม ความเชื่อในลัทธิศาสนาพราหมณ์ แต่ไม่พบจารึกหรือลวดลายทาง ศิลปะที่สามารถบอกว่าสร้างขึ้นเมื่อใด

หมู่บ้านทอผ้าไหมบ้านจันรม ตั้งอยู่ที่ตำบลตาอ็อง ทางตะวันออกของตัวเมือง ตามทางสายสุรินทร์-สังขะ (ทางหลวงหมายเลข 2077) ประมาณ กม.ที่ 12 ที่หมู่บ้านจันรมมีการปลูก หม่อนเลี้ยงไหมกันเอง แล้วนำมาทอเป็นผ้าไหม ที่มีลวดลายและสีแบบโบราณ

หมู่บ้านจักสานบ้านบุทม ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองที การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 226 จากตัวเมืองไปทางอำเภอศรีขรภูมิประมาณ 12 กิโลเมตร ในช่วงนอกฤดูทำนาชาวบ้าน จะมีอาชีพเสริมด้วยการสาน ตะกร้าและภาชนะต่าง ๆ ที่ทำจากหวายเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ และเป็นของที่ระลึกจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว

หมู่บ้านหัตถกรรมเขวาสินรินทร์ ตั้งอยู่ทางเหนือของตัวเมืองสุรินทร์ ตามทางหลวงหมายเลข 214 (สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ไปประมาณ 14 กิโลเมตร แยกขวามือไปอีก 4 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียง ในการทอผ้าไหมพื้นเมือง และการผลิตลูกประคำเงิน ที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เรียกกันว่า ลูกปะเกือม นำมาทำเป็นเครื่องประดับ ของสุภาพสตรีที่สวยงาม มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าในบริเวณหมู่บ้าน

ปราสาทบ้านไพล ตั้งอยู่ที่ตำบลไพล ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 22 กิโลเมตร (ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอปราสาท 6 กิโลเมตร) มีทางแยกขวาไปตามถนนลาดยางอีก 3 กิโลเมตร ตัวปราสาทมีลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์ สร้างด้วยอิฐขัดตั้งเรียงเป็นแนวเดียวกัน มีคูน้ำล้อมรอบ ยกเว้นทางเข้าด้านทิศตะวันออก แม้ว่าศิวลึงค์และทับหลัง บางส่วนจะหายไป แต่จากเศษทับหลังที่เก็บรักษาไว้ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ทำให้ทราบว่าปราสาทหลังนี้ คงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16

ปราสาทหินบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลกังแอน ห่างจากที่ว่าการอำเภอปราสาท 4 กิโลเมตรตามถนนสายสุรินทร์-ปราสาท-ช่องจอม (ทางหลวงหมายเลข 214) มีทางแยกซ้ายมือที่กม. 34-35 ไปอีกราว 1 กิโลเมตร ปราสาทหินบ้านพลวงเป็นปราสาทหิน ขนาดเล็กแต่ฝีมือการสลักหิน ประณีตงดงามมาก ได้รับการขุดแต่งบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยวิธีอนัสติโลซิส คือการรื้อตัวปราสาทลง เสริมความมั่นคง และประกอบขึ้นใหม่ดังเดิม ลักษณะของปราสาทหินองค์นี้เป็นปรางค์องค์เดียว ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้า ไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าด้านหน้าเพียงด้าน เดียวส่วนด้านอื่นอีกสามด้าน ทำเป็นประตูหลอก องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง หินทราย และมีอิฐเป็นวัสดุร่วมก่อสร้าง ในส่วนบนของปราสาท โบราณสถานแห่งนี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อ มุมจำหลักลายงดงามมาก แต่องค์ปรางค์เหลือเพียงครึ่งเดียว ส่วนยอดหักหายไป มีคูน้ำเป็นรูปตัวยูล้อมรอบ ถัดจากคูน้ำเป็นบาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ที่เห็นเป็นคันดิน เดิมคงเป็นที่ตั้งของแหล่งชุมชน มาก่อน ลักษณะของทับหลังที่พบส่วนมาก สลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ อยู่ภายในซุ้มเหนือหน้ากาล มีซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ ส่วนทางด้านเหนือสลักเป็น รูปพระกฤษณะฆ่านาค สันนิษฐานได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้น สำหรับพระอินทร์ นอกจากนี้ช่างมักสลักเป็น รูปสัตว์เรียงเป็นแนว เช่น ช้าง กระรอก หมู ลิง และวัว อยู่บนทับหลัง สำหรับด้านทิศตะวันออกสลัก เป็นรูปพระกฤษณะ ยกภูเขาโควรรธนะและเช่นเดียวกัน มีรูปสลักเป็นรูปสัตว์เล็ก ๆ นอกกรอบหน้าบันอันน่าจะแสดง ถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีแหล่งน้ำต่าง ๆ อยู่มาก ที่ผนังด้านหน้ามีรูปทวารบาล ยืนกุมกระบอง ลักษณะ ของปราสาทหินองค์นี้คล้าย กับปรางค์น้อยบนเขาพนมรุ้ง ลวดลายเป็นลักษณะศิลปะขอมแบบ บาปวน กำหนดอายุอยู่ ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 จากลักษณะของฐานรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทางด้านข้างขององค์ปรางค์เหลืออยู่มาก สันนิษฐานว่า แผนผังของปราสาทแห่งนี้น่าจะ ประกอบด้วยปรางค์สามองค์สร้างเรียงกัน แต่อาจยังสร้างไม่เสร็จ หรืออาจถูกรื้อออกไปอย่างใด อย่างหนึ่งก็เป็นได้ ปราสาทหินบ้านพลวงเปิดให้ชมทุกวัน ระหว่างเวลา 07.30 - 18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง เป็นโบราณสถานแบบขอม 3 หลัง ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน ติดแนวชายแดนประเทศไทยและกัมพูชา การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 214 ผ่านอำเภอปราสาท แยกไปตามทางหลวงหมายเลข 2121 ที่จะไปอำเภอบ้านกรวดประมาณ 25 กิโลเมตร มีทางแยกที่บ้านตาเมียง ไปอีก 13 กิโลเมตร

ปราสาทตาเมือน เป็นสิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าคือที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่งใน 17 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเมือง พระนครโปรดให้สร้างขึ้น จากเมืองยโสธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักร ขอมโบราณไปยังเมืองพิมาย ปราสาทตาเมือนสร้างด้วยศิลาแลง เช่นเดียวกับโบราณสถาน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พบในดินแดนประเทศไทย มีลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวมีห้อยยาว เชื่อมต่อมาทางด้านหน้า ผนังด้านหนึ่งปิดทึบ แต่สลักเป็นหน้าต่างหลอก ส่วนอีกด้านมีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด เคยมีผู้พบทับหลังเป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว 2-3 ชิ้น

ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาล สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์ ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยม จัตุรัสมีมุขยื่นทางด้านหน้า ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีบรรณาลัยอยู่ทาง ด้านหน้าเยื้องไปทางขวา ขององค์ปรางค์ ล้อมรอบด้วยกำแพงก่อศิลาแลงเช่นเดียวกัน มีซุ้มประตู (โคปุระ) อยู่ด้านหน้า คือ ด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว นอกกำแพงด้านหน้ามีสระน้ำเช่นเดียวกับ อโรคยาศาลแห่งอื่น ๆ ตรงห้องกลางของโคปุระได้พบศิลาจารึก 1 หลัก จารึกด้วยอักษรขอมภาษาสันสกฤต เป็นจารึกซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างไว้ประจำอโรคยาศาลแห่งนี้ มีข้อความเช่นเดียวกับจารึกที่พบที่ อโรคยาศาลแห่งอื่น ๆ คือ กล่าวนมัสการพระพุทธเจ้าพระไภษัชยคุรุไวฑูรยะ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ประทานความไม่มีโรค แก่ประชาชนผู้นับถือและกล่าวถึง การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำ สถานพยาบาลในแผนกต่าง ๆ เช่น แพทย์ ผู้ดูแลสถานพยาบาล ปัจจุบันจารึกหลักนี้เก็บรักษา ไว้ที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี

ปราสาทตาเมือนธม อยู่ถัดจากปราสาทตาเมือนโต๊ดไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุด ในกลุ่มปราสาทตาเมือน บนแนวเทือกเขาบรรทัด ประกอบด้วยปรางค์สามองค์ มีปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ปรางค์อีกสององค์อยู่ถัดไปด้านหลังทางด้านขวาและซ้าย ปรางค์ทั้งสามองค์สร้าง ด้วยหินทรายหันหน้าไปทางทิศใต้ ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักที่งดงาม แม้ว่าจะถูกลักลอบทำลายและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทางด้านตะวันออกและตะวันตก มีวิหารสองหลังสร้างด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดมีระเบียงคดซึ่งสร้างด้วยหินทรายล้อมรอบ มีโคปุระทั้งสี่ด้าน โคปุระด้านใต้มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีบันไดทางขึ้นจากเชิงเขาด้านนั้น นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือ มีสระน้ำและที่ลานริมระเบียง คดทางมุขด้านทิศตะวันออก เฉียงใต้มีศิลาจารึกภาษาขอม กล่าวถึงชื่อ พระกัลปกฤษณะ จึงสันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะ สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ จากลักษณะทางสถาปัตยกรรม และลวดลายจำหลักต่าง ๆ ทำให้ทราบได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้น ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งเก่าแก่กว่าโบราณสถาน อีกสองแห่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน เนื่องจากโบราณสถานกลุ่มนี้อยู่ ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไปชมควร สอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทหาร ที่ดูแลพื้นที่ที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นก่อน

ตลาดการค้าช่องจอม ตั้งอยู่ที่บ้านด่านพัฒนา ตำบลด่าน ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ 69 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวอำเภอกาบเชิง 13 กิโลเมตร เดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายห้วยทับทัน -ห้วยสำราญและประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2538 ฝั่งตรงข้ามด้านกัมพูชาเป็นชุมชน

โอร์เสม็ด อำเภอสำโรง จังหวัดอุดรมีชัย ช่องจอมเป็นเส้นทางข้ามแดนที่ใหญ่ และสะดวกที่สุดของ จังหวัดสุรินทร์ที่จะไปยังกัมพูชา ทำให้มีการติดต่อสัญจรไปมาและซื้อขายแลกเปลี่ยน สินค้าระหว่างชาวไทย และกัมพูชามาเป็นเวลาช้านาน และเป็นที่มาของแนวความคิด ในการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อประโยชน์ ของประชาชนทั้งสองประเทศตลาด แห่งนี้เปิดทำการค้าขาย และสัญจรไปมาเฉพาะวันเสาร์--จันทร์ ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. ประเภทสินค้ามีทั้งสินค้าที่จำเป็น ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และสิ่งประดิษฐ์จากไม้ เช่น ม้านั่ง หัตถกรรมไม้ เสื่อสาน ตะกร้าสานต่าง ๆ

ปราสาทศรีขรภูมิ ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 226 โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปอีก 1 กิโลเมตร ปราสาทศรีขรภูมิประกอบด้วยปรางค์อิฐ 5 องค์ องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน มีปรางค์บริวารล้อมรอบ อยู่ที่มุมทั้งสี่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันไดทางขึ้นและประตูทาง เข้าเพียงด้านเดียวคือด้านทิศตะวันออก ปรางค์ทั้งห้าองค์มีลักษณะเหมือนกัน คือ องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีชิ้นส่วนประดับทำจากหิน ทรายสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ ทั้งส่วนที่เป็นทับหลัง และเสาประดับกรอบประตู เสาติดผนัง และกลีบขนุนปรางค์ ส่วนหน้าบันเป็นอิฐ ประดับลวดลายปูนปั้น องค์ปรางค์ประธานมีทับหลังสลักเป็นรูปศิวนาฏราช (พระอิศวรกำลังฟ้อนรำ) บนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีรูปพระคเนศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี (นางอุมา) อยู่ด้านล่าง เสาประตูสลักเป็นลวดลาย เทพธิดาลายก้ามปูและรูปทวารบาล ส่วนปรางค์บริวารพบทับหลัง 2 ชิ้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เป็นภาพกฤษณาวตาร ทั้งสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ ส่วนอีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพ พระกฤษณะฆ่าคชสีห์ จากลวดลายที่เสาและทับหลังขององค์ปรางค์ มีลักษณะปนกันระหว่าง รูปแบบศิลปะขอมแบบบาปวน (พ.ศ. 1550-1650) และแบบนครวัด (พ.ศ. 1650-1700) จึงอาจกล่าวได้วา ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 หรือต้นสมัยนครวัด โดยสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และคงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดใน พุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการ บูรณะปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ปราสาทศีขรภูมิเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น. อัตราค่าเข้าชมชาวไทย คนละ 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

ปราสาทตะเปียงเตีย (แปลว่า หนองเป็ด) ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลโชกเหนือ ภายในบริเวณวัดปราสาทเทพนิมิตร หลัก กม. 33 - 34 ทางหลวงหมายเลข 2077 แยกเข้าทางลูกรังอีก 7 กิโลเมตร ลักษณะปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยม มียอดปราสาท 5 ยอด เป็นรูปบัวตูม ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐ ลักษณะการก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมแบบลาว สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

เขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสองใบ อยู่ที่บ้านหนองคู ตำบลโชกเหนือ อำเภอลำดวน เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ไม้สนสอง ใบที่ถือว่าเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุด ที่ขึ้นในที่ราบสูง เป็นโครงการร่วมระหว่างไทย-เดนมาร์ก มีเนื้อที่ 625 ไร่ มีลักษณะเด่นคือ เป็นสนสองใบที่ขึ้นในที่ ราบแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ประมาณ 35 กิโลเมตร ตามเส้นทางสุรินทร์-สังขะ ( ทางหลวงหมายเลข 2077 ) เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของชาวสุรินทร์อีกแห่งหนึ่ง

ปราสาทภูมิโปน ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สายสุรินทร์-สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตร จากแยกอำเภอสังขะ เข้าทางหลวงหมายเลข 2124 (สังขะ- บัวเชด) ตรงต่อไปจนถึงบ้านภูมิโปนอีก 10 กิโลเมตร จะเห็นปราสาทอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วยโบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง และก่อศิลาแลง 1 หลัง มีอายุการก่อสร้างอย่างน้อยสองสมัย ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่ และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาทแบบศิลปะเขมร ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ 13 ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็กที่ตั้งตรง กลางและปราสาทที่มีฐานศิลาแลง ทางด้านทิศใต้นั้นสร้างขึ้นในสมัยหลัง ปราสาทภูมิโปนคงสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถาน ในศาสนาฮินดูไศวนิกายเช่นเดียว กับศาสนสถานแห่งอื่นในรุ่นเดียวกัน แม้ไม่พบรูปเคารพซึ่งควรจะ เป็นศิวลึงค์อยู่ภายในปรางค์ แต่ที่ปรางค์องค์ใหญ่ยังมี ท่อโสมสูตร คือ ท่อน้ำมนตร์ที่ต่อออกมาจากแท่นฐาน รูปเคารพในห้องกลางติดอยู่ ที่ผนังในระดับพื้นห้อง

ปราสาทยายเหงา ตั้งอยู่ที่บ้านสังขะ ตำบลสังขะ ห่างจากที่ว่าการอำเภอสังขะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมถนนสายโชคชัย-เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) ระหว่าง กม. 189-190 แยกไปตามทางลูกรังอีก 800 เมตร เป็นศาสนสถานแบบขอมที่ประกอบด้วยปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่เรียงกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีการแกะสลักอิฐเป็นลวดลายเช่นที่กรอบหน้าบัน เป็นรูปมกร (สัตว์ผสมระหว่างสิงห์ ช้าง และปลา) คาบนาคห้าเศียร จากลักษณะแผนผังของ อาคารน่าจะประกอบด้วยปราสาท 3 องค์ตั้งเรียงกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2 องค์ บริเวณปราสาทพบกลีบขนุนยอดปรางค์ เสาประดับกรอบประตู แกะสลักจากหินทราย จัดแสดงไว้ด้านหน้าปราสาท

ปราสาทจอมพระ ตั้งอยู่หมู่ 4 ตำบลจอมพระ ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 26 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 214 (สายสุรินทร์-ร้อยเอ็ด) เข้าตัวอำเภอจอมพระ มีทางแยกขวามือเข้าวัดป่าปราสาทจอมพระอีก 1 กิโลเมตรปราสาทจอม พระมีลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อโรคยศาล มีโครงสร้างที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก อาคารต่าง ๆ ก่อด้วยศิลาแลงและใช้หินทรายประกอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแบบ อโรคยศาลดังที่พบในที่อื่น คือ ปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขหน้า บรรณาลัยหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยม ผืนผ้าตั้งอยู่ทางด้านหน้า มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูรูปกากบาท และสระน้ำนอกกำแพง โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ เศียรพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร 1 เศียร และรูปพระวัชรสัตว์ 1 องค์เช่นเดียวกับที่พบที่อโรคยศาลในอำเภอ พิมายและที่พระปรางค์วัดกู่แก้ว จังหวัดขอนแก่น โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นรูปเคารพ ในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน มีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบบายน (ราว พ.ศ. 1720-1780) ซึ่งเป็นแบบศิลปะที่เจริญอยู่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม

หมู่บ้านช้างจังหวัดสุรินทร์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 และ 13 บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ ไปทางเหนือตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-ร้อยเอ็ด) ก่อนถึงอำเภอท่าตูม มีทางแยกซ้ายบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 36 ไปตามทางลาดยางอีกประมาณ 22 กิโลเมตร พื้นที่หมู่บ้านเป็นที่นาและป่าละเมาะ สลับกับป่าโปร่งเหมาะกับการเลี้ยงช้าง




Create Date : 09 กันยายน 2552
Last Update : 9 กันยายน 2552 14:30:09 น. 0 comments
Counter : 671 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.