ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
6 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
"จิตสว่าง ผ่องใส ขึ้นมา" มีลักษณะอย่างไร

ขอสอบถามรายละเอียดสักนิดได้ไหมเห็นคุณกล่าวเอาไว้ก็เลยสนใจอยากรู้ครับ

1."จิตสว่าง ผ่องใส ขึ้นมา" ที่คุณกล่าวมา มีลักษณะอย่างไรครับ พอจะธิบายให้ทราบได้ไหมครับ

2."แล้วก็รู้สึกกลวงๆ ในท่ามกลางอกอย่างบอกไม่ถูก เหมือนเป็นรูว่างๆ สูญญกาศทะลุไปข้างหลัง เหมือนคนโดนยิงแล้วทะลุออกข้างหลังอ่ะครับ "

ช่วยอธิบาย ความรู้สึก กลวงๆเป็นอย่างไรครับ เพราะหลายๆคนก็เป็นครับ มีแรงดึงดูดลงไปไหม

พอจะช่วยอธิบายให้ทราบได้ไหมครับ

คุณso cold ตอบว่า

1. ตรงไหนครับ ผมกล่าวไว้หลายจุด

ว่างอันที่ 1
จิตสว่าง ว่าง ผ่องใส ในขั้นแรก สำหรับผม เกิดจาการเห็นอารมณ์หนึ่งดับไปทันที จิตจะเกิดความรู้สึกว่าง ผ่องใส และเป็นสุข ขึ้นมาแทนที่ เพราะเห็นอารมณ์หนึ่งดับไป พอเห็นอารมณ์ว่าง ผ่องใส เป็นสุข บ่อยๆขึ้น จิตจะเริ่มติดในอารมณ์ว่างที่ลึกซึ้งเข้าไปแบบเนียนๆ เพราะอะไร เพราะสัญญาเข้าแทรก และเป็นสัญญาที่แฝงด้วยความยึดมั่นถือมั่น ก็คือลึกๆ จิตมันยึดถืออารมณ์ว่างๆ ไว้แบบเนียนๆ จิตมันถึงรู้สึกว่า เราว่าง

ว่างอันที่ 2
ตอนหลังไม่นานเท่าไรถึงรู้สึกว่า จิตมันไปยึดอารมณ์ว่างแบบเนียนๆ อยู่ลึกๆ เพราะมีความจำได้ในความว่างนั้นอยู่ลึกๆ กิเลสจึงแทรกตรงนั้น อยากฝากให้ท่านทั้งหลายพิจารณาข้อนี้ด้วย พอมันเห็นอารมณ์ว่า “จิตกำลังติดอารมณ์ว่างอยู่” ความว่างที่แฝงไปด้วยความพออกพอใจอยู่ลึกๆ ก็สลายไป กลายเป็นความว่างที่ลึกลงไปแบบเบาๆ สบาย เห็นจิตแยกตัวออกจากความว่างอย่างชัดเจน อารมณ์ว่างนั้นก็ดับไป กลายเป็นอารมณ์อื่น เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปอีก

ทำไมจิตถึงเห็นอารมณ์บ่อยขึ้นๆ ความยึดมั่นถือมั่นบ่อยขึ้นๆ เพราะจิตไม่ติดในอารมณ์แห่งความว่าง จิตไม่ตรึงในอารมณ์แห่งความว่าง

สภาวะอีกอันหนึ่ง จากการที่จิตเห็นข้างบนบ่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง จิตจะรวมเป็นภวังค์แว็บนึง ลักษณะเหมือนเป็นสมาธิแว็บนึง ตรงนี้บอกไม่ถูก จะพูดยังไงดี พูดยากนะเนี่ยะ คือรวมเป็นสมาธิแว็บนึง ในสมาธินั้น มีปัญญาเห็นแจ้งอย่างชัดเจนในจิตเดียวพรึบ ว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่นอกเหนือจากสิ่งทั้งปวง หรืออารมณ์ทั้งปวง หรือความว่างทั้งปวง หรือร่างกายและจิตใจทั้งปวง คือมันเหนือจิตไปอีก ว่าสภาวะนั้นมีอยู่ สงบ นิ่ง ไม่มีรูปร่าง กำหนดไม่ได้ เงียบ สงัด ไม่มีคำพูด ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีกาลเวลา ไม่มีขันธ์ 5 ไม่มีไตรลักษณ์อะไรทั้งปวง แพ็บเดียว สมาธินั้นก็ถอน แล้วกับจิตก็มาสัมผัสกับอารมณ์กันต่อไป ทำให้จิตรู้ชัดเจนอย่างยิ่ง เหมือนอย่างกับตาเห็นรูปว่า อ๋อ สภาวะนั้นมันนอกเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง นอกเหนือความว่างไม่ว่างไปหมด มันจึงเหนือกิเลส เหนืออุปทาน เหนือทุกสิ่งทุกอย่างหมดทั้งปวง ก็แค่นั้น

2. รู้สึกกลวงๆ ในท่ามกลางอกอย่างบอกไม่ถูก เหมือนเป็นรูว่างๆ สูญญกาศทะลุไปข้างหลัง อันนี้เกิดหลังจากถึงที่สุดในข้อ 1 แล้ว คือ มันไม่เห็นแบบนิมิต หรือเห็นแบบสัญญา เอามาจำๆๆ มันไม่มีแรงดึงดูดอะไรเลย จะดึงทำไมครับไม่ทราบ อย่าไปหลงในนิมิตสิ

ความรู้สึกคือ พอนั่งลง หรือยืนก็ได้ แล้วมองดูร่างกายตัวเอง ก็เห็นร่างกายมีอยู่ เห็นว่ามีร่างกายอยู่ พอจะลองบังคับว่า นี้กายเป็นเราหรือเปล่า นี้แหละทั้งร่างกายและจิตใจเห็นเราไปหมด จิตมันไม่ไป มันไม่รู้สึกอย่างนั้น มันเห็นชัดเจนว่า เราของเราไม่มี เราของเราเป็นเพียงอารมณ์ เป็นธรรมชาติหนึ่ง สำคัญตรงที่มันมองเห็นเหมือนเป็นความว่างโบ๋ๆ กลวงๆ อยู่กลางอก เป็นเหมือนสุญญากาศ คือไม่มีอะไรเข้าถึงได้ แม้จิตก็เข้าไม่ได้ อารมณ์ว่างๆ ก็เข้าถึงไม่ได้ อารมณ์ไม่ว่างก็เข้าถึงไม่ได้ อะไรๆ ก็เข้าไม่ได้ สภาวะนั้นเป็นเสมือนนะครับ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่อะไรหมดทั้งสิ้น มันไม่ใช่กลวง ไม่ใช่โบ๋อะไรหรอก แต่มันรู้สึกเสมือนภาวะนั้นเฉยๆ คุณคงต้องผ่านภาวะแรกที่จิตรู้ธรรมเห็นธรรมก่อน จึงเข้าใจภาวะที่ 2 ที่ผมพูด เพราะพูดเท่าไรก็พูดไม่ถูก

ณ ตอนนี้ รู้สึกอย่างไงเหรอ ตอนนี้ จิตเฉยๆ ในสภาวะทั้งหลายทั้งปวงหมด ว่างก็ไม่เอา วุ่นก็ไม่เอา สงบก็ไม่เอา ผ่องใสก็ไม่เอา ติดก็ไม่เอา ไม่ติดก็ไม่เอา อะไรก็ไม่เอาๆ ทั้งนั้น แม้ความไม่เอาๆ นี้ก็ไม่เอาอีก คืออุปาทานความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ นี้ก็ไม่เห็นมีอะไร ไม่เอาอะไรสักอย่างเดียว มีตัณหาก็ไม่เอา ไม่มีตัณหาก็ไม่เอา นิพพานก็ไม่เอา ไม่นิพพานก็ไม่เอา สมมติก็ไม่เอา วิมุตติก็ไม่เอา ในจิตเมื่ออะไรก็ไม่เอาๆ แล้ว มันก็ไม่มีอะไรสักอย่างเดียว อารมณ์ทั้งปวงมีอยู่ รู้สึกเหมือนคนปกติแหละ มีดีใจ เสียใจ ชอบ ชัง รำคาญ เบื่อหน่าย สนุก เพียงแต่อารมณ์เหล่านั้นมันเป็นขันธ์ 5 มันเกิดขึ้นแล้วมันก็จบในตัว อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงจึงเข้าไม่ถึงจิตเลย แต่จิตรับรู้ สัมผัสได้หมด แต่เพียงแค่สัมผัส รับรู้เท่านั้น ไม่ได้ข่มด้วย ไม่ได้เก็บกักด้วย จะข่มจะเก็บกักไปทำไมครับ อึดอัดจะตาย

ตอนนี้ทุกวันนี้ อารมณ์กับจิตมันแยกกันอยู่เหมือนน้ำกับน้ำมันมานานแล้วครับ มันก็อยู่กับโลกได้โดยสงบสันติ ไม่เห็นจะมีอะไร จะกลัวอะไรกันหนักหนา ไม่เห็นจะมีอะไรน่ากลัว จะมีความสุขได้อย่างไร ก็สุขจากการที่จิตไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรสักอย่างเดียว อะไรผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ผ่านไปแล้วก็ผ่านมา

-----------------------------------------------------------

ชัดเจนนะครับ สงสัยอะไรตรงไหนถามมาได้ เชิญ เพราะมนุษย์นี้เป็นลูกช่างสงสัยอยู่แล้ว โดยเฉพาะสงสัยว่าอันนี้จะเป็นของจริงหรือของปลอมกันแน่หว่า นี่สงสัยกันจัง หุหุ


ถ้าไม่มีเหตุก็ผมก็จะไม่พูดแล้วนะครับ การพูดธรรมะมากหากอยู่ในสถานะที่ไม่เหมาะสมส่วนเสียจะมีมากกว่าส่วนดี โดยเฉพาะอาจเพ่งเล็งว่า เป็นวิปัสสนูกิเลสหรือเปล่า คนเราแต่ละคนปัญญามันเหลื่อมล้ำต่างกัน

---------------------------------------------------------------

ทุกท่านครับ เราคือเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรม ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ผมก็ไม่ได้ดีไปอะไรกว่าท่านทั้งหลายเลย สักวันผมก็ตาย ตัวผม สนุข แมว วัว ควาย มันไม่ได้มีอะไรต่างกันเลย อยู่ในสภาวะที่ต้องเปลี่ยนแปลงตายไปด้วยกันทั้งนั้น ผมจึงไม่รู้สึกว่าตัวเองจะอยู่สูงกว่าหรือต่ำกว่า สนุข แมว วัว ควาย รวมทั้งเพื่อนๆ ตรงไหน เพราะมันก็เหมือนๆ กัน

อยากให้เพื่อนๆ เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของการตั้งกระทู้นี้ คือ

1. เพื่อเล่าประสบการณ์ปฏิบัติธรรมเล็กๆ ของคนคนหนึ่งที่มีทั้งผิดและถูกมาแล้วทั้งนั้น ผมเอาหัวใจตัวเองเปิดเผยออกมา ตอนแรกที่ตั้งกระทู้คือ เปิดเผยไปประมาณ 60% ปิดไว้ก่อนอีก 40% เพราะรู้ว่าอีก 40% นั้นลึกซึ้งเกินไป เอาไว้ก่อน พอมาถึงความเห็นนี้มันคงเปิดเผยไปแล้ว 100% แหละครับ

2. เมื่อเล่าประสบการณ์ตัวเองแล้ว จึงเชื่อมโยงไปถึงผลปฏิบัติธรรมที่ในเบื้องต้นไม่คิดจะกล่าวเลยเพราะมองเห็นแล้วว่ามันจะยุ่งยากไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่เป็นไร เมื่อกล่าวเหตุ แล้วก็ต้องกล่าวผลสิ น้ำหนักมันจะได้เท่ากัน ไม่งั้นมันคงไม่มีน้ำหนัก

3. จากนั้นจึงกล่าวถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ที่ทรงสั่งสอน ประธานธรรม ทรงศาสนามาแล้วกว่า 2553 ปี ว่า ผลการปฏิบัติหรือปฏิเวธที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกมีจริงๆ ท้าทายต่อการพิสูจน์ได้ทุกกาล ทุกเมื่อ และทุกสถานที่ มีความเชื่อมั่นแน่นแฟ้นไม่คลอนแคลนแม้แต่น้อย

4. จาก 1 – 3 หวังว่าอาจจะเป็นเพียงแสงเทียนส่องทางเล็กๆ ให้เพื่อนๆ ปลุกใจ ฮึกเหิม เข้มข้น ปลุกระดมการปฏิบัติธรรมให้มากขึ้น และจริงๆ จังๆ กันเสียที อย่าจับจด เลื่อนลอยเพราะผลจะไม่เกิดขึ้น เวลาเราเรียนหนังสือ หากเราเรียนแบบลอยๆ ใจลอยๆ ไม่ตั้งใจเรียน เวลาทำข้อสอบ ผลมักปรากฏว่าเราได้แค่เกรด 1 หรือ 2 ไม่ตกก็บุญแล้ว หากตั้งใจเรียนเข้มข้น ลองทำข้อสอบ ตรงไหนไม่เข้าใจก็ถามอาจารย์ ให้อาจารย์แก้ให้ (เทียบกับการมีกัลป์ยานมิตรในการปฏิบัติธรรม) ลองฝึกซ้อมทำข้อสอบเองบ่อยๆ จนชำนานจนคล่อง (เปรียบเหมือนการปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น มีโยนิโสมนสิการ) ไม่นานก็จะทำข้อสอบผ่าน และได้ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้สอบได้ ได้รับใบประกาศ เป็นต้น (ที่ท่านทั้งหลายคงจะชอบ ติดนักติดหนา ปราบปลื้ม ศรัทธา หากกล่าวว่า บรรลุมรรค ผล เป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ซึ่งจริงๆ ผมไม่นิยมกล่าวคำแบบนั้นเลย เพราะกล่าวแล้วก็ติดกัน ลองมองดูที่ใจตัวเองสิครับ กล่าวคำนี้ปั๊บ ลึกๆ ก็อยากได้กันทันที ไม่ต้องอยากได้หรอกครับ สร้างเหตุให้ดีให้พร้อม ถึงเวลาแล้วไม่บอกให้มามันก็มาเอง ผลคือผลนะครับ ผลไม้มันจะเกิดได้ต้องมาจากลำต้น การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย(พรทิพย์) เป็นต้น)

5. พระพุทธศาสนาจะตั้งมั่น มีอายุยืนยาว มั่นคง แน่นแฟ้น จากการที่มีผู้ปฏิบัติธรรมตามสติปัฏฐาน 4 มรรค 8 ให้ถูกต้อง ไม่ติดกลางทาง แล้วเผยแพร่ธรรมนั้นให้ขจรขจายกว้างไกลไปทั่วฟ้าทั่วแผ่นดิน ผู้ที่ไม่เคยฟังธรรมให้ได้ฟังธรรมนั้น ผู้ที่ไม่เคยได้ยินให้ได้ยินธรรมนั้น ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติให้ปฏิบัติธรรมนั้น ผู้ที่ไม่เคยบรรลุให้บรรลุธรรมนั้น ถ้าทำกันได้แบบนี้แล้ว พุทธศาสนาจะยังไม่ตั้งมั่นอีกก็ให้มันรู้ไปครับ

6. คราวนี้ก็มีทั้งท่านผู้ศรัทธาใส่ใจ ชอบ สงสัยเคลือบแคลง หรือฟันธงว่าผิดทาง เป็นต้น เหล่านี้ผมไม่ได้ติดใจอะไร ไม่ได้สร้างน้ำหนักภาระให้ใจผมฟูขึ้น แฟบลงแต่อย่างใด มันเป็นเพียงแต่ความรู้สึกฟูๆ แฟบๆ เฉยๆ แล้วก้ดับไป ใจไม่ได้ฟูๆ แฟบๆ ด้วย ผมก็นิยมที่จะชี้จุดไปตรงๆ เพราะผมไม่มีเลศนัยอะไร เห็นใครติดก็บอกไปตรงๆ บ้าง เค้าจะรับได้ไม่ได้มันเรื่องของเค้า ถือว่าเราทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ปล่อยอัตตาตัวตนไว้เบื้องหลัง ปล่อยวางทิฏฐิที่เราใกล้ชิดครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่มานาน ปล่อยวางทิฏฐิว่าเราเคยเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานให้คนอื่นๆ มามากแล้ว ปล่อยวางทิฏฐิในหลักปฏิบัติของสายนั้น สายนี้ ที่ชอบเอามาตีกัน แล้วมาปรับทัศนคติ เปิดตา เปิดใจ ร่วมกัน มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน แล้วปฏิเวธธรรมที่ท่านทั้งหลายอยากกันนักกันหนาหน่ะ มันมาแน่ และไม่นานด้วย ไม่จำเป็นต้องถึง 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี ก็มาได้ ถ้าสร้างเหตุแห่งอินทรีย์ให้แก่กล้า ให้พร้อม ในพระไตรปิฎกท่านก็บอกไว้ว่าขิปปาภิญญาเป็นอย่างไร คือ ผู้ที่มีอินทรีย์ 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แก่กล้า แผดเผา จะบรรลุธรรมเร็ว สร้างเหตุให้พร้อม สร้างอินทรีย์ 5 ให้แก่กล้า โดยเฉพาะปัญญานี่สำคัญมาก

7. ดังนั้น นักปฏิบัติเราจึงควรจะเปิดตา เปิดใจกันให้มากนะครับ รวมทั้งตัวผมเองด้วย ใครจะบอกว่าถูก ว่าผิด ให้มีเหตุผลเพียงพอ คุณปฏิบัติมาอย่างไร จิตตอนนี้เป็นอย่างไร คิดว่าไม่เข้าใจตรงไหนบอกกันมาตรงๆ เลย ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเป็นผู้กล้าเปิดเผยตัวเอง จะปิดไว้ทำไม อัตตาตัวตนอันแสนหนา หากคุณบอกว่าผมผิด เป็นต้น แล้วคุณหล่ะครับปฏิบัติมาอย่างไร การดำเนินจิตเป็นอย่างไร พิจารณาอย่างไร เปิดเผยสภาวะจิตกันให้ชัดเจน เช่น คุณศิษย์พระป่าปฏิบัติมาอย่างไร ดำเนินจิตอย่างไร ตอนนี้จิตเป็นอย่างไร เล่าสภาวะกันมาตรงๆ กล้าเปิดเผยกันหน่อยสิครับ พวกเราเคยระดมสมองกันหรือไม่ครับ เช่นจะทำงานใหญ่ๆ สักชิ้นร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ก็เอาคนมารวมกันคุยกัน ใครคิดอย่างไรว่ากันไป สอบถาม idea ความรู้สึก ทัศนะต่างๆ ของแต่ละคน เปิดเผย แล้วมาทำร่วมกัน ร่างร่วมกัน เพื่อให้งานนั้นสมบูรณ์สุดๆ อันนี้เทียบกับการปฏิบัติ หากมีกลุ่มหรือชุมนุมธรรมะเช่นในห้องศาสนานี้ สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อชำระใจให้บริสุทธิ์นะครับ ก็เอามาคุยกัน ทิ้งทิฏฐิความเป็นครูบาอาจารย์ความใกล้ชิดครูบาอาจารย์ พรรษาอ่อนแก่ไว้เบื้องหลัง ธรรมะไม่มีวัยหรอกครับ ธรรมคือธรรมโดยหลักธรรมชาติ พอกล่าวธรรมะไปมากเค้าก็ว่าฟั่นเฟือน เลอะเทอะ เลอะเลือน วิปัสสนูกิเลสแน่ แล้วไม่คิดมุมกลับบ้างหรือครับว่าสมมติหากเป็นของจริงด้วยนิสัยปัญญา ถึงได้ออกแบบนั้น ปุถุชนความเหลื่อมล้ำของอินทรีย์ไม่เท่ากัน แม้พระอริยบุคคล ความเหลื่อมล้ำของอินทรีย์ก็ไม่เท่ากัน ถึงขั้นพระอรหันต์ความบริสทธิ์เหมือนกัน แต่ความเหลื่อมล้ำของปัญญาก็ไม่เท่ากันอีก ยกตัวอย่างพระสารีบุตร พระโมคัลลานะ เป็นต้น

8. ท่านว่าไม่ให้คลุกคลีด้วยหมู่คณะหน่ะใช่ครับ สาธุ แต่หากจำเป็นต้องคลุกคลี ก็ต้องคลุกคลีให้เกิดประโยชน์ เช่นในห้องศาสนานี้ ในสมัยที่หลวงปู่มั่นท่านเป็นประธานใหญ่ ฟังจาก CD หลวงตามหาบัว ท่านว่ามีพระอยู่ 17-18 รูป แยกย้ายกกันปฏิบัติตามกุฏิบ้าง ร่มไม้บ้าง อยู่ภายในวัดนั่นแหละ ถึงเวลา หลวงปู่มั่นท่านก็เรียกประชุม พระท่านก็มารวมกัน ท่านก็เปิดให้ซักถามปัญหากับท่าน หรือเพื่อนภิกษุด้วยกัน ให้คุยกันเป็นเวล่ำเวลาไม่ใช่เพ้อเจอ ใครติดตรงไหนให้ถาม ท่านจะบอก หรือเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมท่านอื่นที่ผ่านไปแล้วท่านก็มาบอกด้วยความเมตตาให้ไม่ติดขัด ทั้ง 17-18 คนเป็นต้น ส่วนใหญ่เหล่านั้น นานวันเข้าก็ได้ออกมาเป็นครูบาอาจารย์ที่น่าเลื่อมใสทั้งปฏิปทาทางดำเนิน ความสามารถในทางธรรม เช่น หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ หลวงตามหาบัว หลวงปู่เหรียญ พระอาจารย์จวน เป็นต้น แล้วก็มีศิษย์รุ่นหลานที่น่าเหลื่อมใสต่อไป เช่น หลวงพ่ออุทัย พระอาจารย์ตั๋น พระอาจารย์อนันต์ หลวงพ่อปราโมทย์ เป็นต้น อันนี้ผมกล่าวโดยความเทิดทูนท่านจริงๆ ครับ ขออนุญาตท่านทั้งหลายด้วย มาถึงพวกเรา ณ ที่นี้ พวกเราก็สามารถดำเนินปฏิปทาตามท่านได้บ้างไม่มากก็น้อย เผื่อในอนาคตพวกคุณทั้งหลายจะได้เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามแบบฉบับของครูบาอาจารย์ แล้วบอกศิษย์ที่เป็นรุ่นเหลนโหลนต่อไปว่ามรรคผล นิพพานมีอยู่ มีจริง เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา ท่านทั้งหลายไม่อยากทำแบบนั้นบ้างหรือครับ

อ่านกระทู้เพิ่มเติมได้ที่

//www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y9315872/Y9315872.html#75



Create Date : 06 มิถุนายน 2553
Last Update : 6 มิถุนายน 2553 0:27:44 น. 0 comments
Counter : 4070 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.