ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
เมษายน 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
1 เมษายน 2554
 
All Blogs
 
5 รถสุดปลอดภัยจาก EuroNCAP ของปี 2010

5 รถสุดปลอดภัยจาก EuroNCAP

ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหน่วยงานอิสระด้านความปลอดภัยในยุโรปอย่าง EuroNCAP หรือ European New Car Assessment Programme ที่ทุกปีจะต้องมีการสรุปผลการทดสอบพร้อมกับจัดอันดับรถยนต์สุดปลอดภัยในแต่ละกลุ่มที่ตัวเองได้ทำการทดสอบในปีนั้นๆ

การทดสอบชนของ EuroNCAP มีมาตรฐานที่ถูกตั้งขึ้นมาและได้รับการยอมรับถึงระดับความเข้มงวด โดยเป้าหมายของการทดสอบคือ การกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่ทำตลาดอยู่ในยุโรปไม่ว่าจะเป็นแบรนด์รถยนต์ไหนก็ตามมีความสนใจในการพัฒนารถยนต์ของตัวเองให้มีความปลอดภัย

5 ดาวคือ ระดับคะแนนสูงสุดที่ทำได้ในการทดสอบ และปี 2010 ที่ผ่านมา ทาง EuroNCAP เผยว่า มีรถยนต์ 65% จากจำนวนที่เข้าทดสอบทั้งหมด สามารถผ่านมาตรฐานนี้ โดยลดลงจากปี 2009 ถึง 25% แต่ไม่ต้องเป็นห่วงว่า ผู้ผลิตรถยนต์ได้ผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพต่ำลง แต่เหตุที่ทำให้ตัวเลขของรถยนต์ที่ผ่านการทดสอบชนโดยได้มาตรฐานระดับสูงสุดลดลงเป็นเพราะทาง EuroNCAP ได้ปรับระดับความเข้มงวดในการทดสอบชนให้สูงขึ้น เรียกว่าโอกาสที่จะได้ 5 ดาวปี 2010 ถ้าไม่เจ๋งจริง ก็ยาก

และนี่คือ 5 รถยนต์ใหม่ในแต่ละกลุ่มที่เปิดตัวขายในยุโรปเมื่อปี 2010 และถูกทดสอบการชนในปีเดียวกันนั้นเพื่อดูถึงระดับและมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมกับได้คะแนนจากการทดสอบสูงที่สุด เรียกง่ายๆ ว่าเป็น Best Picked ในแต่ละประเภท ซึ่งผู้ที่กำลังสนใจซื้อรถยนต์เหล่านี้สามารถนำข้อมูลที่ทาง EuroNCAP เปิดเผยมาใช้ในการพิจารณา

อ้อ...ไม่ได้มีแค่รถยนต์ที่ได้ผลงานดีเยี่ยมเท่านั้น ทาง EuroNCAP ยังนำผลงานยอดแย่สำหรับการทดสอบในปี 2010 มาบอกกล่าวด้วย จะมองว่าแค่บอกกล่าว หรือประจานก็แล้วแต่ ซึ่งในปีที่แล้ว มีอยู่ 2 รุ่นที่ทำผลงานได้แย่สุดคือ ซีตรอง นีโม่ รถตู้โดยสารอเนกประสงค์ ซึ่งทำได้ 3 ดาว และอีกรุ่นคือ แลนด์วินด์ CV9 รถยนต์จากจีน ทำได้ 2 ดาว


วิดีโอการทดสอบ โตโยต้า เวอร์โซ่


Small MPV : โตโยต้า เวอร์โซ่

รถยนต์ของโตโยต้าที่ขายในสยุโรปมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหลายต่อหลายรุ่นสามารถผ่านการทดสอบโดยได้คะแนน 5 ดาวติดมือกลับไป และสำหรับในกลุ่ม MPV ขนาดเล็ก เวอร์โซ่ หรือ เวอร์ชันมินิแวนที่พัฒนาบนพื้นฐานของโคโรลล่ารุ่นปัจจุบัน ก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในการทดสอบ จนได้รับการจัดอันดับให้เหนือจากฟอร์ด ซี-แม็กซ์ทั้งรุ่นธรรมดา และแกรนด์ ซี-แม็กซ์

แน่นอนเมื่อแยกถึงผลงานแบบหมัดต่อหมัดแล้ว แม้บางหมัดของเวอร์โซ่ไม่สามารถสู้กับทางซี-แม็กซ์ของฟอร์ดได้ แต่จากการรวมทั้ง 4 ส่วนของการทดสอบ ซึ่งก็คือ การปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารที่อยู่ภายใน, การทดสอบชนคนเดินถนน, ระบบช่วยเหลือผู้ขับ และการปกป้องผู้โดยสารที่เป็นเด็กภายในรถแล้ว เวอร์โซ่มีคะแนนรวมทั้ง 4 การทดสอบดีกว่าซีแม็กซ์

ในด้านการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารที่อยู่ภายใน แม้ว่าจะได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในเรต 5 ดาว แต่ทว่าในส่วนของเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับแล้ว เวอร์โซ่ทำได้เพียง 89% ซึ่งน้อยกว่าซีแม็กซ์ที่ได้ 95% โดยค่าแรงกระทำที่มีต่อหุ่นดัมมี่ทั้งคนขับและผู้โดยสารด้านหน้ายังมีแรงกระแทกที่ค่อนข้างสูงบริเวณช่วงอก ขณะที่ผู้ขับมีแรงกระแทกในส่วนเท้าทั้ง 2 ข้าง แต่เมื่อทดสอบการชนทางด้านข้าง เวอร์โซ่สามารถปกป้องผู้ขับได้เป็นอย่างดีเมื่อชนเข้ากับรถ

แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการชนเข้ากับเสา ปรากฏว่าความเสี่ยงในการบาดเจ็บของร่างกายมีค่อนข้างสูงมาก เช่นเดียวกับผลงานในเรื่องการลดอาการบาดเจ็บที่กระดูกต้นคอเพราะถูกชนท้าย เวอร์โซ่ทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไร เช่นเดียวกับการปกป้องผู้โดยสารตัวน้อยในห้องโดยสาร เวอร์โซ่ทำผลงานได้ในระดับที่ดี แต่เมื่อดูจากคะแนนแล้วก็ยังเป็นรองผลผลิตจากฟอร์ด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มาช่วยกู้หน้าให้กับเวอร์โซ่คือ การปกป้องคนเดินถนนจากการชน และระบบช่วยเหลือผู้ขับ ซึ่งทำผลงานได้เหนือกว่าซี-แม็กซ์อย่างชัดเจน และทำให้ทาง EuroNCAP เลือกเวอร์โซ่ให้เป็นรถยนต์ที่ทำผลงานได้ดีเยี่ยมในกลุ่มนี้สำหรับปี 2010



Kia Sportage


Small SUV : Kia Sportage

อันนี้เป็นการรวมเอสยูวีในทุกคลาสเลย แต่ดันใช้ชื่อคลาสโดยมี Small นำอยู่ข้างหน้า และแม้ปีนี้จะมี SUV เข้าทดสอบเพียง 5 รุ่นเท่านั้น แต่ต้องยอมรับว่าเกีย สปอร์ตเทจสามารถผ่านด่านสุดโหดมาได้ และทำผลงานรวมในกลุ่มนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยอีก 4 รุ่นที่เข้าร่วมทดสอบ คือ บีเอ็มดับเบิลยู X1, เมอร์เซเดส-เบนซ์ GLK, มาสด้า CX-7 และเพื่อนร่วมสายพันธุ์ของเกียอย่างฮุนได iX35

ยกเว้น CX-7 ทุกรุ่นได้จัดอยู่ในกลุ่ม 5 ดาวหมด โดยในการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสาร ทางด้านเกียทำคะแนนโดยมีจำนวนเปอร์เซ็นสูงสุด คือ 93% เช่นเดียวกับระบบการช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่ติดตั้งอยู่ในตัวรถ ซึ่งได้เปอร์เซ็นต์เท่ากับ GLK และตรงนี้ต้องบอกว่าเป็นการช่วยยกระดับภาพลักษณ์และการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์จากเกาหลีได้เป็นอย่างดี

ในการทดสอบชนทางด้านหน้า โครงสร้างตัวถังทำหน้าที่ในการกระจายและส่งผ่านแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี เสากระจกบังลมหน้ามีการถอยร่นไปทางด้านหลังเพียงแค่ 2 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนค่าแรงกระทำที่เกิดขึ้นกับหุ่นดัมมี่ทั้งคนขับและผู้โดยสารด้านหน้าถือว่ามีแรงกระทำน้อยมาก ยกเว้นท่อนขาส่วนล่างของผู้ขับที่มีแรงกระทำสูงกว่าปกติ แต่ก็ไม่มากจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ



Honda CR-Z


Supermini : Honda CR-Z

อย่าเพิ่งแปลกใจกับการแบ่งกลุ่มแปลกๆ เพราะดูๆ แล้วฮอนด้า CR-Z ไม่น่าจะถูกจับมารวมอยู่ในกลุ่ม Supermini ที่มีความหมายถึงรถยนต์ในกลุ่มซิตี้คาร์อย่าง A-Segment และ B-Segment แต่ด้วยเหตุที่ทาง EuroNCAP ไม่มีการแบ่งกลุ่มในคลาสของรถสปอร์ตอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และตามปกติแล้วการทดสอบรถสปอร์ตมีไม่มาก ก็เลยจับเอามารวมกลุ่มกับเก๋งพวกซิตี้คาร์ ซึ่งในปี 2010 ที่ผ่านมา นอกจาก CR-Z แล้วก็มีรถยนต์ใหม่ที่ถูกนำมาทดสอบอีก 3 รุ่นคือ ออดิ้ เอ1, ซูซูกิ สวิฟต์ใหม่ และนิสสัน ไมครา หรือมาร์ชใหม่ที่ขายอยู่ในบ้านเรา

CR-Z ทำผลงานโดยรวมได้ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม จุดที่ทำให้ CR-Z ได้รับเลือกเป็น Best Picked ในปีที่แล้ว คือ ผลงานที่ดีในส่วนของการชนหุ่นคนเดินถนนที่การออกแบบตัวถังด้านหน้าสามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บได้อย่างโดดเด่นกว่าคู่แข่ง และการติดตั้งระบบช่วยเหลือผู้ขับที่ครบครัน

สำหรับในเรื่องของการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารที่อยู่ด้านหน้า แม้ว่าจะได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่ม 5 ดาว แต่ทว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ทำได้อยู่ที่ 93% เป็นรองสวิฟท์ใหม่ เช่นเดียวกับการปกป้องผู้โดยสารตัวน้อยทำได้ 80% เป็นรองสวิฟต์ด้วยเช่นกัน โดยในส่วนแรก CR-Z ทำผลงานได้ค่อนข้างดี แต่ก็ยังไม่ถึงกับดีที่สุด เพราะจากการตรวจสอบค่าของแรงกระทำบนหุ่นดัมมี่ผู้ขับและผู้โดยสารด้านหน้าพบว่า ในช่วงอกและท่อนขาส่วนล่างมีระดับค่อนข้างสูง ส่วนการทดสอบชนด้านข้างกับรถยนต์ถือว่าปกป้องได้ดี แต่มาเสียคะแนนกับการชนเข้ากับเสา เพราะว่ามีค่าแรงกระแทกเกิดขึ้นบริเวณช่วงอกของหุ่นค่อนข้างสูง



Alfa Giulietta


Small Family : Alfa Giulietta

ในกลุ่มนี้ มีการทดสอบเพียงแค่ 2 รุ่นเท่านั้น ซึ่งก็คือ อัลฟา จุยเลียตตา และซีตรอง ซี4 ใหม่ แม้ว่าทั้ง 2 รุ่นจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของ 5 ดาวเหมือนกัน แต่ดูเหมือนว่าจากการออกแบบตัวถังด้านหน้าซึ่งไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนเดินถนนของซีตรอง ทำให้ C4 ได้คะแนนในส่วนนี้ต่ำมาก แต่ทำให้คะแนนรวมของจุยเลียตตาแซงขึ้นมาเป็นผู้ชนะในกลุ่มนี้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าจะมีคู่แข่งแค่ 2 รุ่นแล้วทำให้จุยเลียตตาได้รับเลือกให้เป็น Best Picked เพราะเรื่องของผลงานที่ผ่านการทดสอบก็ถือว่าจัดอยู่ในระดับที่ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารด้านหน้าจากการชนทางด้านหน้า ด้านข้างเข้ากับรถยนต์หรือเสา และการชนทางด้านท้าย ซึ่งในส่วนนี้รถยนต์ของอัลฟาทำได้ถึง 97% เรียกว่าสูงที่สุดในบรรดารถยนต์ทุกรุ่นที่เข้ารับการทดสอบในปีที่แล้วเลย

ทาง EuroNCAP ให้คำชมในเรื่องของระบบการยึดรั้งผู้ขับและผู้โดยสารด้านหน้า ซึ่งทำงานได้เป็นอย่างดี และทำให้หุ่นดัมมี่ไม่มีการเคลื่อนตัวอย่างผิดทิศทาง ขณะค่าแรงกระแทกที่เกิดขึ้นขณะชนทางด้านหน้า แม้ว่าจะมีค่อนข้างสูงบนอกช่วงบนของผู้ขับแต่ก็ไม่มากถึงขนาดทำให้ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับการยึดรั้งเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กก็ทำได้ดีมาก



BMW 5-Series


Executive Car : BMW 5-Series

ถือเป็นการประชันกันของคู่ปรับ 3 รายในตลาด นั่นคือ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 5 รุ่นล่าสุดรหัส F10/11, เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส W212 และจากัวร์ XF ผลที่ได้คือ ซีรีส์ 5 ใหม่มีคะแนนดีกว่าคู่แข่งในทุกการทดสอบในครั้งนี้ โดยได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่ม 5 ดาวร่วมกับอี-คลาส แต่ในการทดสอบย่อยมีคะแนนมากกว่าคู่แข่ง ส่วน XF เอง ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่ม 4 ดาวเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไร เมื่อมองว่าเป็นรรถยนต์ระดับหรูที่ควรจะมีระดับการปกป้องเหนือกว่ารถยนต์ในคลาสอื่นๆ

ในการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารด้านหน้า ซีรีส์ 5 ทำได้ 95% เป็นรองแค่อัลฟา จุยเลียตตา, โฟล์คสวาเกน ชาราน/เซียท อัลฮัมบรา และฟอร์ด ซี-แม็กซ์ในภาพรวมของการทดสอบปี 2010 โดยทาง EuroNCAP ให้คำชมในเรื่องของระบบการยึดรั้งผู้ขับและผู้โดยสารด้านหน้าซึ่งทำงานได้เป็นอย่างดี และชิ้นส่วนภายในห้องโดยสารอยู่ในสภาพที่แทบจะเป็นปกติ ไม่มีการบิดเบี้ยว หรือเคลื่อนตัวเข้ามาทำอันตรายให้กับผู้ขับและผู้โดยสารด้านหน้า

สำหรับการทดสอบชนทางด้านข้าง ถ้าเป็นการชนเข้ากับรถยนต์ ซีรีส์ 5 ทำคะแนนได้เต็ม และสามารถปกป้องผู้ขับจากการชนในลักษณะนี้ได้เป็นอย่างดี ขณะที่การชนเข้ากับเสาแม้ว่าจะมีค่าแรงกระแทกของร่างกายทั้งช่วงอกและช่องท้องค่อนข้างสูง แต่ก็ไม่อยู่ในระดับที่รุนแรงมากจนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอย่างหนัก

EuroNCAP คือ อะไร?

EuroNCAP หรือ European New Car Assessment Programme เป็นองค์กรอิสระระดับนานาชาติที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาปี 1997 โดยสมาชิก ซึ่งมาจากการรวมตัวกันของสมาคมยานยนต์ในประเทศต่างๆ เช่น สเปน, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี, อังกฤษ และสวีเดน รวมถึงหน่วยงานอย่างสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ หรือ FIA และ ADAC ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ รถยนต์ในเยอรมนี โดยที่มีคณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรปเป็นสมาชิกสังเกตการณ์เพื่อให้ความ ช่วยเหลือ และสนับสนุนในการดำเนินงาน

แรกเริ่มเดิมที EuroNCAP เป็นโปรเจกต์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยหน่วยงาน Transport Research Laboratory ซึ่งอยู่ในสังกัดของกระทรวงคมนาคมของอังกฤษ เพื่อทำหน้าที่ของการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระจากบริษัทรถยนต์แก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย และจากโปรเจกต์นี้บรรดาประเทศต่างๆ เริ่มเห็นชอบกับแนวคิดนี้ จึงได้ขอเข้ามามีส่วนร่วม และพัฒนาจนกลายมาเป็น EuroNCAP ในที่สุด

บทบาทของ EuroNCAP คือ การกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปหรือผู้ผลิตจากต่างแดน ที่เข้ามาทำตลาดภูมิภาคนี้ได้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ด้วยการจัดการทดสอบชนรถยนต์ใหม่ที่เริ่มทำตลาด และนำข้อมูลเหล่านี้เผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างเป็นกลางเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการซื้อรถยนต์ใหม่

สำหรับการทดสอบชนของ EuroNCAP แบ่งออกเป็นการทดสอบชนด้านหน้าแบบครึ่งหน้า หรือ Offset กับสิ่งกีดขวางแบบยุบตัวได้ ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยแบ่ง 40% ของพื้นที่ด้านหน้าตัวรถชนเข้ากับสิ่งกีดขวาง ซึ่งเป็นการจำลองมาจากระดับความเร็วของการชนทางด้านหน้าของรถยนต์ 2 คันบนถนนจริงเทียบเท่าที่ระดับความเร็ว 55 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยเป็นระดับที่สร้างความเสียหายในระดับที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

ส่วนการชนด้านข้างจะใช้ความเร็ว 50 กิโลเมตร/ชั่วโมงในกรณีที่เป็นการจำลองการชนแบบ Car to Car Side Crash test ซึ่งจะเป็นสิ่งกีดขวางที่มีหน้าตัด 1.5 เมตร และหนา 0.5 เมตรพุ่งเข้าชนด้านข้างแบบตรงๆ โดยเปรียบเสมือนกับรถยนต์พุ่งเข้าชน และ 29 กิโลเมตร/ชั่วโมงสำหรับการชนทางด้านข้างกับเสาที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 254 มิลลิเมตร ขณะที่การทดสอบชนที่ขาของหุ่นคนเดินถนนเพื่อหาระดับการสร้างความบาดเจ็บให้กับคนเดินถนนใช้ความเร็ว 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง

นับจากเดือนพฤศจิกายน 2003 EuroNCAP ยังได้จัดทดสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของการ ปกป้องเด็กเล็กที่นั่งอยู่ในห้องโดยสารในกรณีที่เกิดการชน จากนั้นก็มีการยกระดับมาตรฐานความเข้มงวดในการชนเพิ่มเข้าไป เช่น การทดสอบระบบช่วยเหลือผู้ขับอย่าง ESC ซึ่งทาง EuroNCAP รณรงค์ให้รถยนต์ใหม่ทุกรุ่นติดตั้งระบบนี้ให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงานมาตั้งแต่ปี 2008 และประสบความสำเร็จปี 2012 โดยรถยนต์ใหม่ทุกรุ่นที่ขายในยุโรปจะติดตั้งระบบนี้มาจากโรงงาน และการตรวจหาระดับอาการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอเวลาถูกชนทางด้านท้ายหรือ Whiplash ที่ EuroNCAP เริ่มทดสอบมาตั้งแต่ต้นปี 2009

สำหรับการให้คะแนนในแง่ภาพรวมหรือ Overall จะมีการจัดอันดับตามจำนวนดาวที่ได้ โดยมี 5 ดาวเป็นระดับสูงสุด ซึ่งกว่าที่จะได้คะแนนรวมนั้นจะต้องผ่านการทดสอบ 4 ส่วนด้วยกัน คือ การปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารที่อยู่ภายใน, การปกป้องผู้โดยสารที่เป็นเด็กภายในรถ, การทดสอบชนคนเดินถนน และระบบช่วยเหลือผู้ขับ


ที่มา
//www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9540000024604


Create Date : 01 เมษายน 2554
Last Update : 1 เมษายน 2554 14:37:45 น. 0 comments
Counter : 846 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.