ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
20 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 

ทำไม 1 สัปดาห์ต้องมี 7 วัน?

ตั้งกรุ๊ปบล๊อกนี้ขึ้นมา ด้วยข้อสงสัยว่า หลายๆ อย่างต้องมีเลข 7 เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น รุ้งกินน้ำก็ 7 สี 1 สัปดาห์มี 7 วัน เป็นต้น เลยเป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะพยายามหาคำตอบมารวบรวมไว้ที่นี่เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาหาข้อมูลไปใช้ต่อไป

วันนี้เริ่มเรื่องแรกด้วย

ทำไม 1 สัปดาห์ต้องมี 7 วัน?

เขาเขียนไว้ว่า

ผมเคยตั้งคำถามไว้ที่ exteen board ว่า "จะ​เป็น​ยัง​ไง​ ​ถ้า​ 1 ​สัปดาห์มี​ 8 ​วัน​?" เพราะรู้สึกเบื่อเช้าวันจันทร์ แม้ตัวเองจะไม่ต้องรีบร้อนเหมือนคนรอบข้าง แต่ก็ยังคงนึกถึง ความโหดร้ายของเช้าวันจันทร์ได้เป้นอย่างดี โดยเฉพาะบนท้องถนนของ กทม. เลยอยากให้มีวันอื่นมาต่อท้ายวันอาทิตย์ เผื่อจะรู้สึกดีกับวันจันทร์ขึ้นมาบ้าง (ขอบคุณทุกความคิดเห็นที่ทำให้เกิดความสงสัยใหม่ๆ ตามมาอีกเป็นพรวนน...น ดีมั้ยเนี่ย? O_o) แล้วผมก็ได้พบบางอย่างที่น่าสนใจว่า 1 สัปดาห์ไม่ได้มี 7 วัน เสมอไป!

คำนิยามแบบกำปั้นทุบดิน จาก wiki บอกไว้ว่า "สัปดาห์ คือ หน่วยของเวลาที่ ยาวกว่า วัน แต่ สั้นกว่า เดือน..." ฟังดูเหมือนจะกวนโอ้ย แต่มันก็จริง เพราะยังไม่เคยได้ยิน หน่วยนับเวลาที่มาคั่นกลางระหว่าง วัน กับ เดือน เป็นอย่างอื่น (ยกเว้นจะนับเป็น กลุ่มวัน "ข้างขี้น" กับ "ข้างแรม" แบบไทย) แล้ว 1 สัปดาห์มี 7 วัน ได้ยังไงล่ะ?

ค้นต่อไปที่ webexhibits.org ได้้ความว่า ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ทำไมสัมคมสมัยใหม่ยุคนี้จึงพร้อมใจกันนับ 7 วันเป็น 1 สัปดาห์ บ้างก็อธิบายว่า เพราะในพระคัมภีร์ไบเบิล ระบุว่า พระเจ้าทรงสร้างโลกภายใน 6 วัน ส่วนอีกวันทรงเก็บเอาไว้พักผ่อน รวมกันเป้น 7 วันพอดี แต่ย้อนกลับไปก่อนคริสตกาลไม่นานนัก ก็ปรากฏว่าในปฏิทินของจักรวรรดิโรมันกำหนดให้ 1 สัปดาห์มี 7 วัน ไว้ก่อนหน้าพระคริสต์จะประสูตรซะอีก อีกทางนึงก็คาดไปว่า ชื่อดวงดาวทั้ง 7 ที่เอามาตั้งเป็นชื่อวันนั่นแหละคือที่มาของ สัปดาห์ คือ Sun, Moon, Mars, Mercury, Jupiter, Venus, and Saturn (ทั้ง 7 เป็นดวงดาวในระบบสุริยะ ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า บางดวงต้องหรี่ตาดู แต่บางดวงคงต้องถ่างตาดูดีๆ ถึงจะเห็น ชื่อดวงดาวก็เอามาจาก ชื่อของเทพเจ้าในสมัยกรีกและโรมันอีกที ซับซ้อนจัง) ส่วนจากมุมมองของ นักมานุษยวิทยา ก็บอกว่า คำว่า "week" มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "market day" เป็นอย่างมาก ตีความได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่คนในสังคมยุุคเกษรตรกรรมนัดหมายกัน เพื่อแลกเปลี่ยนพืชผลทางการเกษตร แต่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องมี "ตลาดนัด" ทุก 7 วัน นี่นา คนสมัยนั้นคงนัดกันว่า ถ้านับดวงอาทิตย์ขึ้นและตกได้ 7 ครั้ง ก็ค่อยมาเจอกันที่นี่อีกที (อันนี้ผมเดาสุ่มเอาเอง)

ก็เลยยังไม่รู้อยู่ดีว่า ทำไม 1 สัปดาห์มี 7 วัน ทั้งๆที่เลข 7 เป็นเลข "จำนวนเฉพาะ" ที่หารอะไรได้ลงตัวยากซะมัด และเลข 7 ก็สร้างปัญหาให้กับการทำปฏิทินไม่น้อย เพราะ 1 เดือน ไม่ได้มี 4 สัปดาห์ หรือ 28 วัน และ 1 ปีตามปฏิทินสมัยนี้ มี 365.2425 วัน (365 - 366 วัน) ซึ่งหารด้วย 7 ไม่ลงตัว (โอกาสต่อๆไป คงได้พูดถึงความยุ่งยากของการสร้าง "ระบบปฏิทิน" ซึ่งน่าสนใจและสลับซับซ้อนกว่าที่เราเคยรับรู้มาก เพราะมันเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม, สังคม และการเมือง ไปจนถึงวิทยาศาสตร์ขั้นสูงโน่นแน่ะ แล้วมันทำให้เราได้รู้ว่า แต่ละปีนั้น ยาว-สั้น ไม่เท่ากัน หรือแม้แต่ แต่ละวันก็ ช้า-เร็ว ต่างกันด้วย)

แต่... ไม่ใช่ทุกสังคมจะกำหนดให้ 1 สัปดาห์ มี 7 วันนะครับ ยกตัวอย่าง เช่น 1 สัปดาห์ของชาวอียิปต์โบราณ เท่ากับ 10 วัน , 1 สัปดาห์ของชาวมายา มี 13 และ 20 วัน อย่าเพิ่งนึกว่ามันเป็นตัวเลขที่ตลกนะครับ เพราะมันเป็นการคำนวณวันเดือนปีของชาวมายา ที่แม่นยำมาก ผิดเพี้ยนน้อยกว่าปฏิทินที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันซะอีก (มายา - Maya คือชนเผ่าโบราณที่ตั้งรกรากอยู่แถบละตินอเมริกา ปัจจุบันเป็นดินแดนของเม็กซิโก ชาวมายามีอารยธรรมที่รุ่งเรืองและก้าวหน้ามาก ก่อนที่ชาวสเปนจะเข้ามารุกราน นวัตกรรมบางอย่างของชาวมายา ซับซ้อนและล้ำหน้ากว่าสิ่งประดิษฐ์สมัยนี้ซะอีก)

ตัวอย่างที่ไม่ต้องย้อนวันเวลาไปไกลนัก ก็คือ ยุคปฏิวัติฝรั่งเศสมีช่วงเวลาประมาณ 12 ปี (1793 - 1806) เป็นช่วงเวลาแห่งความแปลกประหลาด ในวันที่ 24 คุลาคม 1793 มีการประกาศใช้ปฏิทินใหม่ เรียกว่า the Republican Calendar โดยกำหนดให้ 1 ปีมี 12 เดือน (ยังไม่แปลก) แต่ละเดือนมี 30 วันเท่ากันเป๊ะ! (ก็ยังพอรับได้) รวมแล้ว 1 ปีเท่ากับ 360 วัน กับอีก 5-6 วันพิเศษ (อันสิแปลก เพราะ 5-6 วันพิเศษนั้น อยู่ในปฏิทิน แต่ไม่ถือว่าอยู่ในเดือนใดๆเลย!) ส่วน "สัปดาห์" ก็เปลี่ยนใหม่ให้ 1 เดือนมี "3 décades" ก็คือ 1 สัปดาห์มี 10 วันนั่นเอง แต่เท่านั้นยังไม่สะใจโก๋นักปฏิวัติ พี่แกแบ่งระบบการนับเวลาใหม่หมด โดยกำหนดให้ 1 วันมี 10 ชั่วโมง , 1 ชั่วโมงมี 100 นาที และ 1 นาที มี 100 วินาที หรือ 1 วันมี 100,000 วินาทีพอดีเป๊ะ! (อันนี้ถือว่าแปลกสุดๆ เพราะเปลี่ยนกันแบบสุดขั้วถึงไส้กันเลยทีเดียว!) คนฝรั่งเศสยุคนั้นจะรู้สึกยังไงนา...? หลายคนคงอยากเห็นนาฬิกาของยุคปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วสิ ไปดูที่นี่เลย Republican Clock

ใกล้เข้ามาอีกหน่อย ไม่ถึงร้อยปี ในสหภาพโซเวียตเดิม ช่วงปี 1929-1930 กำหนดให้ 1 สัปดาห์มี 5 วัน ในนั้นจะมีวันหยุด 1 วัน แต่ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะเป็นวันไหน ต่อมาในปี 1931 ก็เปลี่ยนเป็น 1 สัปดาห์มี 6 วัน โดยกำหนดให้มีวันหยุดทุกวันที่ 6, 12, 24 และ 30 ของแต่ละเดือน ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ไม่มีวันที่ 30 ก็ให้หยุดวันที่ 1 มีนาคมแทน แต่ถ้าเดือนไหนมี 31 วัน วันที่ 31 ของเดือนนั้นจะถือเป็นวันทำงานพิเศษเพิ่มขึ้นอีกวัน (ซวยไป!) แต่สงสัยระบบนี้จะไม่เวิร์ค โซเวียตเลยกลับมาใช้ระบบ 7 วันต่อ 1 สัปดาห์ตามเดิม ในปี 1940

สำหรับการนับสัปดาห์ในสังคมไทยนั้น สืบหาต้นตอที่มายากกว่าของฝรั่งซะอีก เพราะเมื่อก่อนเราใช้ ปฏฺิทินแบบจันทรคติ เดาว่าสมัยก่อน คนไทยคงไม่มีหน่วยเรียกสัปดาห์ เพราะนับวันเป็น ข้างขึ้น-ข้างแรม แล้วก็นับเป็นเดือนไปเลย จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ปีจุลศักราช ๑๒๔๐ (ตรงกับ พ.ศ. 2431) จึงเปลี่ยนมาใช้ ปฏิทินสุริยคติไทย ตามแบบสากล โดยถือเอาวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๐๘ เป็นวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2432 แทน (เดือนแรกของปีคือ เดือนเมษายน) ข้อมูลน่าสนใจอีกอย่าง ขออนุญาตลอกมาให้อ่านเลยด้านล่างนี้

"ต่อมาในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัชกาลที่ ๘ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบสากล ตั้งแต่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ (๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๑) เป็นต้นไป ดังนั้นปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงมีเพียง ๙ เดือน คือนับตั้งแต่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๓ และสิ้นปี ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ทำให้มีข้อสังเกตในระบบปฏิทินราชการไทย ดังนี้ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๐ ย้อนไป คริสต์ศักราชจึงคาบปีพุทธศักราช ๒ ปี เช่น ค.ศ. ๑๙๔๐ จะตรงกับ พ.ศ. ๒๔๘๒ (ช่วง ม.ค. ถึง มี.ค.) และ ๒๔๘๓ (ช่วง เม.ย. ถึง ธ.ค.) ไม่มีวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ถึง วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ในปฏิทินราชการไทย เพราะจะเป็น พ.ศ. ๒๔๘๔ แทน

ดังนี้ตามปฏิทินราชการ ผู้ที่เกิด วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ จะมีอายุน้อยกว่าคนที่เกิดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๒ อยู่ ๑ วัน (มิใช่ อายุมากกว่า ๓๖๔วัน) การคำนวณ จาก ค.ศ. เป็น พ.ศ. ในช่วงเดือน มกราคม ถึงมีนาคม เมื่อ เลข ค.ศ. มีค่าต่ำกว่า หรือเท่ากับ ๑๙๔๐ จะต้องบวกด้วย ๕๔๒ มิใช่ ๕๔๓"

อ่านแล้วงงไม่ใช่น้อยครับท่าน แต่จำได้ลางๆว่า ช่วงปี พ.ศ.2543-2544 จะมีข่าวเกี่ยวกับความสับสนเรื่องการนับอายุราชการ และปีเกษียณอายุของคนที่เกิดช่วงปี พ.ศ.2483-2484 คงจะด้วยเหตุนี้แล

ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังไม่สะใจ ก็ลองสืบข้อมูลเพิ่มได้เองนะครับ เพราะผมเองก็เจอเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับปฏิทินมากมายเช่นกัน ใครคิดเห็นอย่างไรก็คอมเม้นต์ไว้นะครับ เพราะผมหยิบข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมาเขียนล้วน ยังไม่ได้เช็คกับข้อมูลพวก hard copy หรือที่เป็นหนังสืออ้างอิง

รู้สึกว่าเขียนยาวเกินไปแล้ว นานๆจะเขียนทีก็อย่างงี้แหละ (แต่รู้สึกว่าหลังๆจะเริ่มเขียน แนววิชาการ ไปซะงั้น ท่าทางจะคิดถึง อาจารย์ประวัติศาสตร์! ^^)

ที่มา
//nosalaryguy.exteen.com/20071130/seven-days-vs-a-week-1-7




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2553
0 comments
Last Update : 20 พฤษภาคม 2553 9:17:34 น.
Counter : 1252 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.