ฟ้ามิได้ลิขิตเรา มีเพียงเราที่ลิขิตตัวเอง
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2553
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28 
 
19 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 

นามพระนคร “ศรีอยุทธยา” มาแต่ไหน

นามพระนคร “ศรีอยุทธยา” มาแต่ไหน : ศาสตราจารย์ จันทร์ฉาย ภัคอธิคม : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง : วารสารเสนาธิปัตย์ : ปีที่ 54 ฉบับที่ 3 กันยายน - ธันวาคม 2548



นามพระนคร “ศรีอยุทธยา” มาแต่ไหน


ศาสตราจารย์ จันทร์ฉาย ภัคอธิคม

นามพระนครมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าการเป็นเพียงนามที่ไพเราะเท่านั้น นามพระนครยังแสดงถึงคตินิยมความเชื่อถือ และประเพณีนิยมของไทยไว้อย่างดียิ่งด้วย

กล่าวนำ

ปัจจุบันย่อมเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า นครหลวงของประเทศไทยมีนามเต็มว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิตศักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ( ๑ )

นับว่าเป็นนามนครหลวงที่มีสร้อยนามยาวมาก ในโลกนี้ มีนครหลวงใดอีกบ้างที่จะมีนามยาวเช่นนั้น จดหมายเหตุของชนต่างชาติที่ได้เยือนหรือพำนักอาศัยในนครหลวงตั้งแต่สมัยอยุธยา ล้วนตั้งข้อสังเกตนามนครหลวงของไทย นอกจากจะมีนามยาวแล้ว นครหลวงยังมีชื่อไว้เรียกประจำว่า “พระนคร” “ยุทยา” หรือปัจจุบันก็มีนามสั้น ๆ เรียกนครหลวงว่า “พระนคร” และ “กรุงเทพ”

นามพระนคร “ศรีอยุทธยา” มาแต่ไหน บทความนี้ใคร่ขอเสนอความเห็นเพื่อพิจารณา

นามของพระนคร : ความเป็นมา

ถ้าจะพิจารณาศักราชเป็นเกณฑ์ของการตรากฎหมายขึ้นใช้ นามของพระนครอันปรากฏในเอกสารกฎหมายย่อมเป็นประจักษ์พยานได้ว่า พระนครมีนามอะไร ได้เขียนกันโดยแบบใด และเปลี่ยนแปลงอย่างไรตามสมัยนิยม กฎหมายสมัยอยุธยาได้ให้นามพระนครเป็นหลายแบบ แต่ทุกแบบล้วนมีคำว่า “อยุธยา” ปรากฏ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ซึ่งเป็นนามที่ปรากฎมากที่สุดในเอกสารกฎหมาย

พระไอยการลักษณภญาน ระบุมีศักราช “ศุภมัสตุศักราช 1894” ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1894 ปีแรกแห่งการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีได้ออกนามพระนครไว้ว่า :

“กรุงเทพมหานครบวรทวาราวะดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานี บุรีรมยอุดมมหาสถาน” ( ๒ )

นามนี้จะปรากฏในกฎหมายอยุธยาโดยระบุนามอย่างยาวเช่นนี้ หรืออย่างย่อ หรือแม้จนเรียกเพียงว่า “กรุงเทพมหานคร” หรือ “พระนครศรีอยุธยา” อย่างใดอย่างหนึ่ง

คำจาฤกที่พระเจดีย์ศรีสองรักษ์เมืองด่านซ้าย พ.ศ.2103 ก็เรียกพระนครว่า:

“กรุงศรีอโยธิยามหาดิลกนพรัตนบุรีศรีมหานครบวรณราชธานีบุรีเลิงรม” ( ๓ )

ศุภอักษรอัครมหาเสนาบดีไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศมีไปถึงอัครมหาเสนาบดีลังการะบุนามพระนครดังนี้ :

“กรุงเทพมหานครทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์” ( ๔ )

คำจารึกที่ระบุศักราชเป็นต้นสมัยอยุธยาก่อนการเสียกรุงครั้งที่ 1 ล้วนใช้คำว่า “อโยชิยา” มากกว่า “อยุธยา” ซึ่งปรากฏในกฎหมายร่วมสมัย ความสับสนนี้มีมากขึ้นเมื่อเอกสารต่างชาติเรียก “Yodhia” บ้าง ซึ่งน่าจะตรงกับ “อโยชิยา” เรียกว่า “Juthia” บ้าง ซึ่งน่าจะตรงกับ “อยุธยา” ที่น่าสังเกตมากก็คือ เอกสารชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่เรียกพระนครว่า สยาม หรือ Siam และ Juthia หรือ “ยุธยา” ก็ดี น่าจะเป็นคำเดียวกัน ชื่อเดียวกัน เพียงแต่ออกเสียงต่างกัน หรือเรียกย่อคำเท่านั้น

การใช้นาม “อยุธยา” นี้มีปรากฏต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ดังสำเนากฎเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี เรียกนามธนบุรีว่า “พระนครศรีอยุธยา” ( ๕ )

เมื่อตั้งราชธานีใหม่ใน พ.ศ. 2325 พระสุพรรณบัฎอันจารึกพระบรมนามาภิไธย ได้จารึกนามพระนครใหม่ตามแบบเดิมว่า :

“กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี ศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานี บูรีรมย์ อุดมนิเวศน์มหาสถาน” ( ๖ )

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี ( ขำ บุนนาค ) แต่งใน พ.ศ. 2412 ได้ให้ข้อมูลว่า หลังจากการสมโภชพระนครและวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว มีพระบรมราชโองการให้ขนานนามพระนครว่า :

“กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยามหาดิลกภพนพรัตน์ ราชธานีบูรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต ศักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

พระราชพงศาวดารได้อธิบายว่า การตั้งนามใหม่ที่มีสร้อยนามยาวกว่าเดิมและมีความหมายลึกซึ้งนั้นมีจุดประสงค์ที่จะให้คล้อยตามความเป็นจริงที่ว่า พระนครใหม่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรัตนปฏิมากร (“โกสินทร์”) ซึ่งถือเป็น “แก้วอย่างดีมีศรีสำหรับพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกรมพระราชวังบวรสถานมงคล) ผู้สร้างกรุงเทพมหานคร” แก้วอย่างดีนี้ โดยเนื้อแท้แล้ว คือ มณีรัตนะ 1 ในแก้ว 7ประการนั้นเอง แก้ว 7 ประการย่อมมาสู่พระบารมีแห่งจักรพรรดิราชเท่านั้น

นามใหม่ของพระนครนั้นยังคงมีหลายส่วนเป็นแบบเดิม และคงนาม “อยุธยา” ไว้ ผู้แต่งพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวได้ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้เปลี่ยน คำเดียวในวรรคแรก จากเดิม “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร” เป็น “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร”

นามใหม่นี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ซึ่งแต่งใน พ.ศ. 2412 และในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงชำระ แต่ฉบับพระราชหัตถเลขานี้ มิได้อธิบายเหตุผลของการขนานนามใหม่ ( ๗ ) เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสามรัชกาลแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ นามเก่า “กรุงศรีอยุธยา” เป็นที่นิยมใช้กันมากกว่านามใหม่ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ในรัชกาลที่ 1

ในบานแพนก พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (จิม) ซึ่งชำระใน พ.ศ. 2338 นามพระนคร คือ “กรุงเทพทวาราวดีอยุธยา” ( ๘ )

ในบานแพนก พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งชำระใน พ.ศ. 2338 นามพระนครคือ “กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา” และเมื่อมีการสถาปนาพระนครใหม่ใน พ.ศ. 2325 พระสุพรรณบัฎอันจารึกพระบรมนามาภิไธยก็ยังคงใช้นามเดิมว่า “กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัฐราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชวิเวศมหาสถาน” ( ๘ )

ในบานแพนก พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งชำระใน พ.ศ.2338 นามพระนครคือ “กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา” และเมื่อมีการสถาปนาพระนครใหม่ใน พ.ศ. 2325 พระสุพรรณบัฎอันจารึกพระบรมนามาภิไธยก็ยังคงใช้นามเดิมว่า “กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัฐราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน” ( ๙ )

ในบานแพนก พระราชพงศาวดารกรุงสยาม หรือ ฉบับบริติช มิวเซียม ซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารฉบับร่างคงชำระต่อจาก ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) จนเรียบร้อยใน พ.ศ. 2350 ก็ระบุนามพระนครว่า “กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา” ( ๑๐ )

สังคีติยวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) แต่งใน พ.ศ. 2332 ว่ามีการตั้งนามพระนครว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินทอโยธยะ” ตั้งแต่เมื่อแรกสถาปนาพระนครใน พ.ศ. 2325 ( ๑๑ ) แต่หนังสือนี้มีหลายแห่งเขียนสะกดแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย อาทิ “กรุงรัตนโกสินทร์อินทอโยธยา” “กรุงรัตนโกสินทร์อินทอยุธยา”

ประกาศพระราชปรารภ ในการชำระ กฎหมายตราสามดวง เรียกพระนครใน พ.ศ. 2347 ว่า “กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์” ( ๑๒ )

“คำปรารภ” ของไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา (แต่งใน พ.ศ.2325) ใช้นามเดิมว่า “กรุงเทพมหานครบวรอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน” ( ๑๓ )

พระราชสาสน์ในรัชกาลนี้และพระราชสาสน์จากต่างประเทศที่แปล ล้วนเรียกพระนครว่า “กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา” ( ๑๔ )

ในรัชกาลที่ 2

พระราชสาสน์และพระราชสาสน์ต่างประเทศ ล้วนเรียกพระนครแบบใดแบบหนึ่งต่อไปนี้ : กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา กรุงพระมหานครศรีอยุธยา บางกอกศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ศรีอยุธยา กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ( ๑๕ )

ศุภอักษรเรื่องหม่อมเหม็นกับพวกเป็นกบฏ จ.ศ. 1171 เรียกพระนครว่า :

“กรุงเทพพระมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมยอุดมพระราชนิเวศมหาสถาน” ( ๑๖ )

ศุภอักษรไทยตอบพม่าใน พ.ศ.2356 ได้ยืนยันพระนครใหม่นั้น คือ กรุงศรีอยุธยาแห่งที่ 2 ว่า “กรุงทวาราวดีนี้เป็นกรุงศรีอยุธยาสืบมาแต่โบราณ” ( ๑๗ )

ประกาศอธิฐานน้ำพระพิพัฒครั้งรามัญมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รัชกาลที่ 2 ได้ประกาศนามพระนครแบบเดิมว่า :

“กรุงเทพพระมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน” ( ๑๘ )

ในรัชกาลที่ 3

พระสุพรรณบัฎอันจารึกพระบรมนามาภิไธยได้จารึกนามพระนครว่า :

“กรุงเทพมหานครศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบูรีรมย์อุดมพระราชมหาสถาน” ( ๑๙ )

สำเนาจารึกเรื่องการสร้างพระสมุทรเจดีย์ พ.ศ. 2370 จารึกนามพระนครว่า :

“กรุงเทพมหานครศรีอยุทธยามะหาดิหลกภพนพรัตนะราชธานีบุริรมอุดมพระราชนิเวศมหาสถาน” ( ๒๐ )

พระราชสาสน์และพระราชสาสน์ต่างประเทศเขียนนามพระนครแบบใดแบบหนึ่งว่า :

“กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา” “มหานครศรีอยุธยา” “กรุงพระมหานครศรีอยุธยา” “กรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยา”

บางฉบับเขียนว่า “กรุงศรีอยุทยา” “กรุงบางกอก” “กรุงไทย” “เมืองไทย” ( ๒๑ )

เอกสารตะวันตก

บรรดาเอกสารตะวันตกล้วนเรียกพระนครว่า “บางกอก (Bangkok)” มิได้เรียกว่า “อยุธยา” ( ๒๒ ) บางฉบับได้แสดงให้เห็นชัดเจนโดยระบุว่า พระนครเดิมชื่อ “อยุธยา (Yuthia,Juthia)” ( ๒๓ )

ตามหลักฐานที่ได้แสดงมานั้นจะสังเกตได้ชัดมากว่าเอกสารราชการใช้นามเดิมแบบ “กรุงศรีอยุธยา” ทั้งแบบเป็นทางการเป็นนามเต็มและนามย่อ ส่วนใหญ่นิยมเขียนในเอกสารราชการว่า “กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา” แม้แต่หลักฐานประเภทพระราชสาสน์ กฎหมายและจารึก ก็นิยมใช้นามเดิม นามพระนครใหม่ใช้กันแพร่หลายตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว ตั้งแต่วันบรมราชาภิเษก นามพระนครในพระสุพรรณบัฏอันจารึกพระบรมนามาภิไธย คือ

“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา” ( ๒๔ )

นามพระนครที่เป็นทางการจนถึงปัจจุบัน เป็นนามพระนครที่นิยมใช้เป็นทางการในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยยังคงนามเดิม เป็นแต่เพียงใช้สร้อยนามที่ไพเราะมีความหมายมากขึ้น ดังนี้

“กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ มหินทราโยทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชมหานคร บวรราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต (พระผู้อวตารสถิต) สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

นามอย่างย่อที่ใช้ทั่วไปในหนังสือราชการ คือ “กรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา” หรือ “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธยาบรมราชธานี” ( ๒๕ )

ถึงกระนั้นหนังสือราชการซึ่งคงเป็นหนังสือข้าราชแต่ง ยังคงนิยมใช้นามพระนครแบบเดิม ดังตัวอย่างพระราชสาสน์และพระราชสาสน์ต่างประเทศฉบับแปลก็นิยมใช้นามเดิมปรากฏบ้าง คือ “กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา” ส่วนนาม “กรุงสยาม” เริ่มเป็นที่นิยมใช้ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( ๒๖ )

ทั้งนี้มีข้อควรพิจารณาว่า เหตุใด 3 รัชกาลแรกไม่นิยมนามพระนครแบบใหม่ เอกสารราชการนิยมใช้แบบเก่าเท่านั้น แม้แต่เอกสารฉบับสุดท้ายเมื่อใกล้เสด็จสวรรคตคือ “พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ก็ยังใช้นามแบบเก่าอย่างสั้นว่า “ศรีอยุธยา” ( ๒๗ )

หรือ นามพระนครแบบใหม่จะมิได้เป็นนามที่ขนานใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1

นามใหม่: ข้อพิจารณา

ข้อมูลเรื่องการตั้งนามพระนครใหม่มีปรากฎในตัวอย่างเอกสารหลักฐานที่แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันดี คือ

1. สังคีติยวงศ์ ผู้แต่ง คือ สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) แต่งใน พ.ศ. 2332 ในรัชกาลที่ 1

2. พระธรรมเทศนา พระราชพงศาวดารสังเขป ผู้ชำระคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ใน พ.ศ. 2394 ในรัชกาลที่ 4

3. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ผู้ชำระคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชำระร่วมกับกรมหลวงวงศาธิราช พระอนุชา ตั้งแต่ พ.ศ. 2398

4. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 หรือ จดหมายเหตุพระราชพงศาวดาร ผู้แต่งคือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) แต่งใน พ.ศ.2412 ในรัชกาลที่ 5

ผู้แต่งทั้งหมดล้วนมีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกล่าวคือ สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ผู้แต่ง สังคีติยวงศ์ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ 1 ได้ให้ข้อมูลเรื่องการตั้งนามพระนครแบบใหม่ ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการชำระพระราชพงศาวดารในรัชกาลนั้นด้วย คือ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงที่เรียกว่า ฉบับพิมพ์ 2 เล่ม หรือ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ซึ่งเป็นแม่แบบสำหรับการชำระพระราชพงศาวดารในรัชกาลต่อมา ( ๒๘ ) สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ผู้ทรงเป็นพระบรมวงศ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพยกย่องยิ่ง สายสัมพันธ์ทางธรรมอันสืบต่อเนื่องยาวนานอย่างลึกซึ้งนั้นเป็นข้อพิจารณาว่า น่าจะมีการสืบทอดประเพณีนิยมการแต่งพระราชพงศาวดาร มีโลกทัศน์และข้อมูลแบบเดียวกัน

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสคงจะทรงนิพนธ์ พระราชพงศาวดารสังเขป (พ.ศ. 2383) และ พระธรรมเทศนา พระราชพงศาวดารสังเขป (พ.ศ. 2394) ตามประเพณีนิยมและข้อมูลเดิมของสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงจะทรงพระราชนิพนธ์ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา โดยคงจะทรงยึดถือ ฉบับพิมพ์ 2 เล่ม หรือ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ เป็นหลัก เป็นทำนองชำระถ้อยคำสำนวนและเพิ่มเติมข้อมูล แต่ยังคงคล้อยตามประเพณีนิยมของสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ข้อมูลเรื่องการตั้งนามพระนครจึงคงจะยึดตามสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) เป็นแนวเดียวกัน นามใหม่ของพระนครจึงน่าจะเป็นความคิดความนิยมของสมเด็จพระพนรัตน์(แก้ว) อันปรากฏใน สังคีติยวงศ์ (พ.ศ.2332) โดยที่ท่านนิยมผูกคำเป็นพระบรมนามาภิไธยอันไพเราะแก่รัชกาลต่าง ๆ ในสมัยอยุธยา การผูกคำเป็นนามพระนครอย่างไพเราะมีความหมายในทางธรรมข้องเกี่ยวกับการมีพระพุทธรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกตในพระนครใหม่ จึงน่าจะมีความเป็นไปได้ว่าเป็นความนิยมของฝ่ายศาสนจักร ฝ่ายอาณาจักรอาจจะคล้อยตามแต่ไม่น่าจะมีการขนานนามพระนครใหม่ เพราะการขนานนามพระนครเป็นพิธีนามมงคล น่าจะต้องเป็นการใหญ่ที่ต้องมีการตั้งพระราชพิธีสำคัญยิ่งกว่าการตั้งพระบรมนามาภิไธยประจำรัชกาล และเอกสารราชการต้องใช้นามใหม่เท่านั้น ไม่น่าจะมีการยินยอมให้ใช้นามเดิม

อีกประการหนึ่ง เมื่อแรกสถาปนาพระนครใหม่นโยบายหลักมุ่งฟื้นฟูบ้านเมืองให้เหมือน “เมื่อครั้งบ้านเมืองดี” เป็นความพยายามที่จะฟื้นอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาใหม่ให้เหมือนเดิม การเปลี่ยนนามพระนครใหม่ไม่น่าจะสอดคล้องกับนโยบายเช่นนั้น ดังนั้น นามพระนครที่ใช้ในปัจจุบัน อาจสันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นนามที่นิยมกันในฝ่ายพุทธจักรแล้วถ่ายทอดความนิยมมาสู่อาณาจักรในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงดำรงอยู่ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์อย่างยาวนานมาก่อน อีกทั้งในรัชสมัยนั้น ก็มีพระราชนิยมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือตั้งชื่อบุคคล สถานที่และราชทินนาม
( ๒๙ ) การใช้นามใหม่อาจจะเป็นพระราชนิยมริเริ่มในรัชสมัยนั้น

อย่างไรก็ตาม แม้เอกสารราชการในรัชกาลที่ 4 ได้ใช้นามใหม่อย่างแพร่หลาย แต่เมื่อเขียนนามเป็นภาษาอังกฤษ กลับใช้คำว่า Bangkok (บางกอก) มากกว่าจะเทียบเสียงตามนามใหม่

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ผู้เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 และเป็นผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ 4 รัชกาลแรก ได้คล้อยตามประเพณีนิยมและข้อมูลของฝ่ายศาสนจักรซึ่งมีผู้แทน คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเอง

ตัวอย่างที่ได้แสดงดังกล่าวล้วนเป็นประจักษ์พยานว่า นามพระนคร “ศรีอยุธยา” เป็นที่นิยมและยึดถือต่อมาแม้จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์อย่างมิต้องสงสัยเลยเป็นการแสดงว่า นามพระนครของกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นนามมงคลที่มิได้มีความเหมาะสมเฉพาะสมัยของตนเท่านั้นหากแต่ยังมีคุณลักษณะอันเหมาะสมสำหรับกาลสมัยต่อมาด้วย

ความหมายของนามพระนคร “ศรีอยุทธยา”

ในสมัยอยุธยา กรุงศรีอยุธยามีนามเต็มตามพระไอยการลักษณภญาน ใน “ศุภมัศตุศักราช 1894” ตรงกับ พ.ศ. 1894 ดังนี้

“กรุงเทพมหานครบวรทวาราวะดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมยอุดมมหาสถาน”

นามพระนครมีความหมายว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศหรือนครที่ยิ่งใหญ่ของเทวดา เป็นประเทศหรือมหานครที่ประเสริฐล้ำเลิศ ตั้งอยู่บนดินแดนชื่อว่า ทวารวดีเป็นประเทศหรือมหานครที่ยิ่งใหญ่ล้ำเลิศของโลก อุดมด้วยแก้ว 9 ประการและมีสถานที่ยิ่งใหญ่มากมาย เป็นประเทศหรือนครหลวงที่มีความบันเทิงเริงรมย์ยิ่ง

นามเต็มของพระนครมีหลายคำที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ คือ “กรุงเทพ” “ทวารวดี” และ “ศรีอยุทธยา”

1. “กรุงเทพ”

กรุงเทพมหานคร มีความหมายตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525
ดังนี้

กรุง น. เมืองหลวง เมืองซึ่งเป็นที่ตั้งรัฐบาลกลางแต่ก่อนหมายถึงประเทศก็ได้ เช่น กรุงสยาม กรุงจีน.

เทพ น. เทวดา

“กรุงเทพ” แปลว่า กรุงแห่งเทพ นครแห่งเทพ หรือเทวนคร มีข้อควรสังเกตว่า ในที่นี้เทพคือใคร เทวดาทั่วไป (Gods) ในเทวโลก หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งเฉพาะ (God) หรือพระเป็นเจ้า (God) ที่เรียกกันว่า บรมเทพ หรือมหาเทพของศาสนาพราหมณ์และศาสนาฮินดู คือ พระวิษณุพระศิวะและพระพรหม ตามที่หนังสือราชการและวรรณกรรมไทยสมัยอยุธยาเรียกว่า “พระเจ้า” หรือ “พระเป็นเจ้า”

เท่าที่ได้ศึกษาค้นคว้ามา น่าจะเป็นไปได้ว่า คนไทยสมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ มิได้นับถือเทพองค์ใดโดยเฉพาะ หรือนับถือบรมเทพหรือมหาเทพองค์ใดโดยเฉพาะไม่น่าจะเป็นไปได้ว่า บรรดานครของไทยมีเทพเจ้าองค์ใดเป็นเทพเจ้าประจำนคร๓๐ ดังเช่นนครรัฐของกรีซในยุคโบราณและบรรดานครใหญ่น้อยของอินเดียโบราณ เทวาลัยของเทพเจ้าในนครของไทยมิได้เป็นศาสนสถานตั้งอยู่ตรงกลางนคร เทพประจำนครหรือประเทศมีปรากฏในสมัยต่อมาเท่านั้น คือ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเทพนั้นคือ พระสยามเทวาธิราช ที่คนไทยนับถือกันในปัจจุบันจนถือว่าเป็น “เทพ” ประจำประเทศ เป็นพระปฏิมา สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นครแห่งเทพ เป็นนครของเทพองค์ใด ยังมีข้อควรคิดอีกว่า เทพ ในที่นี้คือ บรรดาพระบุรพกษัตริยาธิราชเจ้าที่ประชาชนนับถือเป็นเทพโดยถือเป็นต้นบรรพชน (Ancestral god) แห่งนคร หรือเป็นวีรกษัตริย์ที่ประชาชนยกย่องให้เป็นเทพ หรือเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์ผู้ทรงทิพยภาวะและทรงเป็นพระผู้อวตาร หรือเทพ หมายถึง ทวยเทพทั่วไปผู้พิทักษ์รักษาพระนคร หรือ “กรุงเทพ” หมายถึง นครหรือดินแดนแห่งทวยเทพ เป็นนครแห่งความสุขทางโลกหรือโลกียสุขประดุจเมืองแห่งทวยเทพ เทพ ในที่นี้หมายถึง เทพทั่วไป

กรุงเทพมหานคร แปลว่า นครหรือประเทศยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นประเทศหรือมหานครแห่งเทวดา หลักฐานประเภทเอกสารราชการในสมัยอยุธยา ก็ปรากฏคำ “กรุงเทพ” ใช้เรียกทั่วไป “กรุงเทพ” เป็นทั้งนามเฉพาะและน่าจะเป็นทั้งคำนาม 2 คำที่แสดงลักษณะของนครหรือประเทศนั้นว่าเป็นนครหรือประเทศที่ยิ่งใหญ่ของเทพ “กรุงเทพ” ยังเป็นนามเฉพาะที่เป็นนามสั้นเรียกกันทั่วไป เหมือนการเรียก “พระนคร” กัมพูชาในสมัยพระนครหลวง ก็เรียกนครหลวงว่า พระนคร (Angkor) เป็นประเพณีนิยมร่วมสมัย

กรุงเทพ คือ นครหลวงศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นนครหลวงของเทพ อาจถือได้ว่า เป็นนครศักดิ์สิทธิ์อีกสถานหนึ่ง เพราะเป็นที่สถิตของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่นับถือกันยิ่งกว่าเทพ และถือเสมือนเป็นแก้ว 1 ใน 7 ประการมาสู่พระบารมีจักรพรรดิราช

2. “ทวาราวะดี”

ทวาราวะดี น. ชื่อนี้ไม่มีใน พจนานุกรม คำนี้สะกดทั่วไปว่า ทวารวดี ทวารวดีใน
ความหมายทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นชื่อดินแดนที่ปรากฏในบรรดาศิลาจารึกของสมัยพระระหว่างพระพุทธศตวรรษที่ 11-14 ( ๓๑ ) ทวารวดีมีขนาดพื้นที่กว้างขวางเพียงใดไม่มีหลักฐานแน่ชัดสันนิษฐานกันว่า ทวารวดีเป็นดินแดนของชนกลุ่มชาติพันธุ์มอญมาก่อน

ทวารวดีเป็นชื่อศิลปะในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16 ที่ปรากฎหลักฐานเป็นศิลปวัตถุและโบราณสถานกระจายทั่วไปในภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกของประเทศไทยในปัจจุบัน ในแง่ศิลปะแล้ว ทวารวดีมีพื้นที่กว้างขวางครอบคลุมภูมิภาคดังกล่าว

ตามมหากาพย์รามายณะ ทวารวดีเป็นชื่อนครหลวงของท้าวบวรจักรกฤษณ์ ในแคว้นคุชชระราษฎ์ ( ๓๒ ) แต่บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ได้ระบุว่า ทวารวดีเป็นชื่อป่าที่ตั้งของนครของพระราม เป็นนครของสุริยวงศ์ของท้าวอโนมาตัน ชื่อนครว่า “กรุงศรีอยุทธยา” ทวารวดีเขตขัณฑ์๓๓ ทวารวดีเป็นสร้อยนามของนคร

3. “อยุธยา” : ความหมาย

นามเต็มของมหานครหรือประเทศ คือ “ศรีอยุทธยา” คำ “อยุทธยา” ยังสะกดได้อีกแบบ
ว่า “อยุธยา” อยุธยาเป็นชื่อนครที่คล้ายกับนาม “อโยธยา” ซึ่งเป็นนครที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสรยุ ในแคว้นโกศลของอินเดีย อโยธยาเป็นนครของพระรามในมหากาพย์รามายณะ มหากาพย์ได้ลำดับความว่าพระมนูไววัสวัต โอรสในพระสุริยาทิตย์ได้ทรงสร้างนครอโยธยาเป็นนครหลวงสำหรับเหล่ากษัตริย์แห่งสุริยวงศ์ ท้าวอิกษวากุทรงเป็นต้นปฐมวงศ์ ( ๓๔ ) รามเกียรติ์ ว่า “อยุธยา” เป็นชื่อนครมีนามเต็มว่า “กรุงศรีอยุทธยา ทวารวดีเขตขัณฑ์” เป็นนครหลวงของสุริยวงศ์ของท้าวอโนมาตัน ( ๓๕)

การที่สมัยอยุธยามีนามเต็มของนครหลวงว่า “ทวาราวะดีศรีอยุทธยา” น่าจะสืบเนื่องมาจากคตินิยมมหากาพย์รามายณะ ที่ถือว่าอโยธยาเป็นนครของพระรามพระผู้อวตารจากพระวิษณุปางที่ 7 ซึ่งเป็นปางที่นิยมนับถือกันมากในนิกายไวษณพ การมีนามว่า “ทวาราวะดี” นั้นน่าจะสืบเนื่องมาจากการที่ที่ตั้งของนครหลวงเป็นดินแดนดั้งเดิมที่ชื่อ “ทวารวดี” เป็นชื่อพ้องกับชื่อนครทวารวดีของมหากาพย์รามายณะ ซึ่งเป็นนครหลวงของท้าวบรมจักรกฤษณ์แห่งแค้วนคุชชระราษฎร์ชื่อ “ทวารวดี” ยังอาจจะสืบเนื่องมาจากความเป็นจริงที่ว่า ทวารวดีเดิมคงมีภูมิประเทศเป็นป่าตามที่รามเกียรติ์ พรรณนาไว้ว่า ป่าทวารวดีเป็นที่ตั้งของ “กรุงศรีอยุทธยา ทวาราวดีเขตขัณฑ์”

รามเกียรติ์ ยังได้อธิบายว่า “ศรีอยุทธยา” เป็นชื่อตั้งตามฤาษี 4 รูป คือ อจนคาวี ยุคอัคระ ทหะ ยาคะมุนี เป็นชื่อผสมจากตัวอักษรแรกของชื่อฤาษีทั้ง 4 รูป คำอธิบายที่มาของชื่อ “ศรีอยุทธยา” นี้เป็นคำอธิบายที่น่าพิจารณายิ่ง

“ศรีอยุทยา” เป็นชื่อที่มีความหมายทางศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย เพราะเป็นชื่อนครของพระรามผู้เป็นพระวิษณุอวตารปางที่ 7 และเป็นนครของเหล่ากษัตริย์สุริยวงศ์นามนครหลวงของไทยว่า “กรุงศรีอยุธยา” จึงเป็นนามที่แสดงอิทธิพลของคติฮินดู ไวษณพนิกาย ผู้ตั้งนามมงคลแก่พระนครคงจะเป็นพราหมณ์ของนิกายไวษณพ

ชื่อ “อยุธยา” บ่งบอกอยู่โดยนัยว่า กษัตริย์ในอุดมคติในสมัยอยุธยาน่าจะเป็นพระราม พระวิษณุอวตารปางที่ 7 ผู้สืบจากบรรดากษัตริยฺแห่งสุริยวงศ์ ( ๓๖ ) นามนครหลวงจึงดูเสมือนว่าสอดคล้องกับคตินิยมกษัตริย์ไทยสมัยอยุธยานามนครหลวง “ศรีอยุทธยา” จึงน่าจะมีความหมายทางการเมืองด้วย

การตั้งนามมงคลว่า “ศรีอยุทธยา” ไม่น่าจะเป็นความบังเอิญให้สอดคล้องกับคติฮินดู ไวษณพนิกาย ดังปรากฏว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสมัยรัตนโกสินทร์ได้ยอมรับนับถือคตินิยมทางการเมืองดังกล่าวโดยสังเกตได้จากการใช้นามพระนครตามนามกรุงศรีอยุธยาการเฉลิมพระบรมนามาภิไธยในพระสุพรรณบัฎแบบพระบรมนามาภิไธยแห่งพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาการกำหนดนามพระราชวงศ์ว่า พระราชจักรีวงศ์ ซึ่งแปลว่าวงศ์แห่งพระนารายณ์ผู้ทรงจักร และการกำหนดราพระราชวงศ์เป็นรูปจักรมีตรีศูลอยู่ตรงกลาง ย่อมเป็นทีทราบกันอยู่แล้วว่า จักรมีความหมายอเนกประสงค์หลายประการ กล่าวคือ จักรย่อมหมายถึงอาวุธแห่งพระวิษณุ จักร คือ 1 ในแก้ว 7 ประการ ซึ่งเป็นเครื่องเสริมพระบารมีแห่งจักรพรรดิราชและจักรมีความหมายตามคติพุทธเป็นธรรมจักรส่วนตรีศูลคืออาวุธแห่งพระศิวะ ตราจักรและตรีศูลโดยนัยนั้นเป็นประจักษ์พยานอย่างเป็นทางการถึงคตินิยมทางการเมืองแห่งสถาบันกษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ว่า พระราชวงศ์ผู้ครองบ้านเมืองนั้นเป็นพระราชวงศ์แห่งพระผู้อวตารจากพระวิษณุและพระศิวะ แม้จะมีการเน้นย้ำการเป็นพระราชวงศ์แห่งพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าก็ตาม

ดังนั้น ถ้าจะพิจารณาว่า ความคิดเรื่องพระวิษณุอวตารสอดคล้องกับสถาบันการเมืองการปกครองนั้นอาจจะเป็นการโดยบังเอิญในสมัยอยุธยาที่นามพระนคร พระนามพระเจ้าแผ่นดินและนามสถานที่ ล้วนเป็นนามที่มาจากมหากาพย์รามายณะ แต่ความคิดดังกล่าวนั้นปรากฏจริงจังในกรณีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ทำพระแสงศร 3 เล่ม ด้วยไม้หวายเทศ คือ พระแสดงพรหมาตร์ พระแสงประลัยวาต และพระแสงอัคนิบาต โดยได้พระราชเหตุผลว่า:

“กรุงเทพฯ นี้อ้างชื่อศรีอยุธยานารายณ์อวตารมาแต่ก่อน และคำแช่งน้ำพระพิพัฒน์นั้น ก็อ้างพระนารายณ์อวะตารออกพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีอยู่แล้ว ควรจะให้มีศร 3 เล่มไว้สำหรับแผ่นดิน แลจะได้ใช้แทงน้ำพระพิพัฒน์ ปีละ 2 ครั้ง ให้สมกับพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี ( ๓๗ )

การที่สร้างพระแสงศรเพื่อ “ให้สมกับพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี” และเพื่อใช้แทงน้ำพระพิพัฒสัตยาและการที่พระแสงศรนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ โดยมียันต์พรหมยันต์อิศวร ยันต์นารายณ์โองการลงด้วยแผ่นเงินห่อด้ามพระแสงศร อีกทั้งได้โปรดให้มีการตั้งการพระราชพิธีชุบพระแสงศรที่ทะเลชุบศร จังหวัดลพบุรี แล้วโปรดให้มีการมหรสพสมโภชพระแสงศร ตลอดจนโปรดให้ปั้นพระเทวรูปพรหมทรงหงส์ นารายณ์ทรงครุฑ พระอิศวรทรงโคและโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีหล่อพระเทวรูปด้วยนั้น ( ๓๘ ) การดังกล่าวน่าจะเป็นการแสดงชัดถึงการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวน่าจะมีพระราชประสงค์ที่จะให้การบังเอิญเรื่องนามพระนครกับคตินิยมทางการเมืองนั้นกลายเป็นการโดยเจตนา มุ่งหมายให้เห็นว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระผู้อวตาร ผู้ทรงพระแสงศรครองกรุงรัตนโกสินทร์ เสมือนกรุงศรีอยุธยา นามพระนครได้แสดงความหมายเด่นชัดไว้แล้วว่า เป็นพระมหานครที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกต และที่ประทับเสมือนพระวิมานของพระผู้อวตาร พระนครนั้นจึงเป็นมหานครที่สร้างขึ้นโดยเทพผู้ยิ่งใหญ่ คือ พระอินทร์และพระวิษณุกรรมและย่อมมีนามว่า กรุงศรีอยุธยาตามนามแห่งพระมหานครในเรื่องรามเกียรติ์และมหากาพย์รามายณะ ทั้งนี้ย่อมสื่อความหมายชัดแจ้งในนามพรมหานคร

ตามที่ได้วิเคราะห์และเสนอความเห็นมานั้นจะเห็นได้ว่า นามพระนคร “ศรีอยุทธยา” นั้นมีความเป็นมาที่ควรแก่การศึกษามาก นามพระนครนั้นมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าการเป็นเพียงนามพระนครที่ตั้งด้วยคำไพเราะเท่านั้นตามที่เข้าใจกัน นามพระนครได้แสดงความหมายถึงคตินิยม ความเชื่อถือและประเพณีนิยมทางการเมืองไทยไว้อย่างดียิ่ง ทั้งนี้ ยังมีข้อควรสังเกตอีกว่า แม้กรุงเทพจะเป็นนครแห่งเทพ นครแห่งความบันเทิงเริงรมย์ เสมือนสวรรค์บนพื้นพิภพ ถือเป็นนครศักดิ์สิทธิ์และเป็นนครแห่งความบันเทิงเริงรมย์ แต่นครแห่งเทพหรือทวยเทพนี้ก็เป็นนครของทางโลก มิได้นับเนื่องเป็นนครแห่งทวยเทพที่คนไทยผู้เป็นพุทธศาสนิกชนหวังที่จะไปเกิดใหม่เสวยบุญคนไทยนิยมบำเพ็ญการบุญการกุศลด้วยความมุ่งหมายที่จะได้ “เสวยมหาปทโมกษนครนิรพาน ( ๓๙ ) หรือมุ่งหวังที่จะ “เข้าสู่นิพพานเป็นที่แล้ว อันเป็นเมืองแก้ว ( ๔๐ ) ไม่ปรากฏหลักฐานประเภทใดว่า คนไทยหวังจะกลับไปเกิดใหม่เสวยบุญในกรุงเทพ แม้จะมีชื่อที่เต็มไปด้วยความหมายว่าเป็นนครแห่งเทพ “นครนิพพาน” คือเมืองแก้วที่หมายสูงสุดของผู้บำเพ็ญการบุญกุศล
( ๔๑ ) มิใช่ “กรุงเทพ” ซึ่งเป็นนครแห่งเทพประดุจเมืองสวรรค์บนพื้นพิภพ




เชิงอรรถ

๑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ ( ขำ บุนนาค), “จดหมายเหตุพระราชพงศาวดารเล่ม 1 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” (ฉบับคัดลอกของเจ้าพระยาภานุวงษ์โกษาธิบดี คัดลอกเมื่อวันที่ 17/4/127, หอสมุดดำรงราชานุภาพ), หน้า 54.

๒ “พระไอยการลักษณภญาน”, กฎหมายตราสามดวง, เล่ม 2 (พระนคร: คุรุสภา, 2515), หน้า 68 – 69.

๓ “คำจาฤกที่พระเจดีย์ศรีสองรักษ์”, ประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา, ภาคที่ 1, โดยสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี (พระนคร: สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2510), หน้า 1

๔ “ศุภอักษรอัครมหาเสนาบดีไทยมีไปถึงอัครมหาเสนาบดีลังกา”, จดหมายเหตุระหว่างราชทูตลังกาและสยามครั้งกรุงศรีอยุธยา (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายสุบิน สิโรรส; พระนคร: [ไม่ปรากฏแหล่งพิมพ์], 2516), หน้า 71.

๕ สำเนากฎเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี, ประชุมพงศาวดาร, ภาค 2 เล่ม 2
( พระนคร: คุรุสภา, 2506 ).

๖ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ( ขำ บุนนาค), “จดหมายเหตุพระราชพงศาวดารเล่ม 1 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”, หน้า 3 – 4.

๗ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, เล่ม 2 (พระนคร: คลังวิทยา, 2516), หน้า 479.

๘ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ประชุมพงศาวดาร, ภาค 64 เล่ม 38 (พระนคร: คุรุสภา, 2512), หน้า 1. บทความใช้ชื่อย่อว่า ฉบับ พจ.

๙ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), ประชุมพงศาวดาร, ภาค 65 ต่อภาค 66 เล่ม 40 (พระนคร: คุรุสภา, 2512), หน้า 1 และหน้า 135.

๑๐ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม หรือ ฉบับบริติช มิวเซียม (พระนคร: ก้าวหน้า, 2507), หน้า 51 – 52.

๑๑ พระยาปริยัติธรรมดา [แพ ตาละลักษณ์] (แปล.), สังคีติยวงศ์ พงศาวดารเรื่องสังคายนาพระราชธรรมวินัย, โดยสมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลที่ 1 (คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ จัดพิมพ์ถวายเป็นธรรมบรรณาการโดยเสด็จพระราชกุศลในงานพระราชทานเพลิงศพพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ( กมลเถระ ); กรุงเทพมหานคร: วัดพระเชตุพนฯ, 2521), หน้า 428.

๑๒ ประกาศพระราชปรารภ”, ในกฎหมายตราสามดวง, เล่ม 1 (พระนคร: คุรุสภา, 2515), หน้า 1.

๑๓ ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา, วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เล่ม 2 (หมวดศาสนจักร)
( กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร, 2535 ), หน้า 1.

๑๔ ดูตัวอย่างที่เจ้าพระทิพากรวงศ์คัดลอกลงใน “จดหมายเหตุพระราชพงศาวดาร”.

๑๕ ดูตัวอย่างใน เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 (พระนคร: คุรุสภา, 2504). ฉบับนี้คัดลอกต้นฉบับไว้เป็นส่วนใหญ่และดูตัวอย่างเพิ่มเติมในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 2 จ.ศ. 1171 – 1173 (กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์,2514) และจดหมายเหตุ รัชกาลที่ 2 จุลศักราช 1171 – 1174 ( กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์, 2528 ).

๑๖ จดหมายเหตุรัชกาลที่ 2 จ.ศ. 1171 – 1173, หน้า 12.

๑๗ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2, หน้า 58.

๑๘ “ประกาศอธิฐานน้ำพระพิพัฒครั้งรามัญมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รัชกาลที่ 2”, ประกาศการพระราชพิธี, เล่ม 2 (พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 250, หน้า 2.

๑๙ จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3, เล่ม 1 ( จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ ในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพ ครบ 200 ปี; กรุงเทพมหานคร: รัฐบาล, 2530 ) , หน้า 24.

๒๐ จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3, เล่ม 1 (จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ : กรุงเทพมหานคร: รัฐบาล, 2530), หน้า 17.

๒๑ ดูตัวอย่างต้นฉบับเอกสารใน จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3, 5 เล่มและเจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 (พระนคร: คุรุสภา, 2504).

๒๒ ดูตัวอย่างได้ใน Foreign Records of the Bangkok Period up to A.D. 1932 (Bangkok : the Committee for the Publication of Historical Documents, Office of the Prime Minister, 1982).

๒๓ “An Article from the “Singapore Chronicle”, in Foreign Records, p. 2; Mgr. Pallegoix,”Mission de Siam [ecrit 1833]”, in Foreign Records, p. 26.

๒๔ เจ้าพระยาพิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 (กรุงเทพมหานคร: คุรุสภา, 2521). หน้า 20.

๒๕ ดูตัวอย่างต้นฉบับเอกสารใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 และ พระราชสาสน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไปยังประเทศต่าง ๆ (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าสโมสรเกษม เกษมศรี; กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.สัมพันธ์พาณิชย์, 2532).

๒๖ ดูพระราชสาสน์

๒๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชปรารภเรื่องพระสงฆ์ห่มแหวก, ประชุมพงศาวดาร, ภาค 51 เล่ม 30 (พระนคร: คุรุสภา, 2511). หน้า 100

๒๘ ดูผลงานของท่านและการวิเคราะห์พระราชพงศาวดารใน จันทร์ฉาย ภัคอธิคม, “การวิเคราะห์พระบรมนามาภิไธยในสมัยอยุธยา: การสืบค้นและความหมาย” (รายงานการวิจัย, คณะมนุษยศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2532), หน้า 64–65, 71 และ 87-93.

๒๙ ดูพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4, [ระหว่าง พ.ศ. 2394 – 2411], 4 เล่ม (พระนคร: คุรุสภา, 2504).

๓๐ มีข้อควรพิจารณาเรื่องเทวนิยมและลัทธิพิธี (Cult) ของไทยสมัยอยุธยาว่ามีเอกลักษณ์แตกต่างมากน้อยเพียงใดจากรัฐเพื่อนบ้าน อาทิ ศรีวิชัย พม่าและเขมร ซึ่งล้วนมีลัทธิธรรมเนียมตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา ดู Kenneth R. Hall and John K. Whitmore (ed.), Explorations in Early Southeast Asian History: The Origins of Southeast Asian Statecraft (Ann Arbor: Center for South and Southeast Asian Studies, the University of Michigan, 1976). Pp. 1-25, 61-148, 205-302; ดูอารยธรรมอินเดีย อียิปต์และอารยธรรมเมโสโปเตเมียเป็นตัวอย่างใน Arthur Cotterell (ed.), The Penguin Encyclopedia of Ancient Civilizations (England: Penguin Books 1980), pp. 176-96, 58-70, 164-171.

๓๑ ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “จารึกมอญในประเทศไทย”, จารึกในประเทศไทย, เล่ม 2 (กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร, 2529), หน้า 11-13.

๓๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, “บ่อเกิดรามเกียรติ์”, บทละครเรื่องรามเกียรติ์และบ่อเกิดรามเกียรติ์ (พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร, 2509), หน้า 870.

๓๓ รามเกียรติ์, พระราชนิพนธ์บทละครในรัชกาลที่ 1, เล่ม 1 (พระนคร: คุรุสภา, 2507), หน้า 13.

๓๔ “บ่อเกิดรามเกียรติ์”, ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์และบ่อเกิดรามเกียรติ์, หน้า 870.

๓๕ รามเกียรติ์, เล่ม 1, หน้า 13.

๓๖ ดูรายละเอียดในบทที่ 1, “การศึกษาวิเคราะห์ความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยอยุธยา”, โดย จันทร์ฉาย ภัคอธิคม (รายงานการวิจัย, คณะมนุษยศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 252.

๓๗ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. “ว่าด้วยพระแสงศรสามองค์”, วชิรญาณวิเสศ, 3: 286,จ.ศ. 2148 (ไมโครฟิลม์, หอสมุดแห่งชาติ).

๓๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระราชกรัณยานุสร และเรื่องนางนพมาศ (พระนคร: คลังวิทยา, 2507), หน้า 86-88.

๓๙ “จารึกสมเด็จพระมหามุนีรัตนโมลี, จารึกในประเทศไทย, เล่ม 5 (กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร, 2529), หน้า 170.

๔๐ “จารึกวัดใต้เทิง 1”, จารึกในประเทศไทย, เล่ม 5, หน้า 268.

๔๑ ดูตัวอย่างได้ในหลักฐานประเภทจารึก, จารึกในประเทศไทย, เล่ม 1-5 (กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร, 2529).

แก้ไขข้อผิดพลาด

๑๘ “ประกาศอธิฐานน้ำพระพิพัฒครั้งรามัญมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รัชกาลที่ 2”, ประกาศการพระราชพิธี, เล่ม 2 (พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2508 ) , หน้า 2.

๓๖ ดูรายละเอียดในบทที่ 1, “การศึกษาวิเคราะห์ความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสมัยอยุธยา”, โดย จันทร์ฉาย ภัคอธิคม (รายงานการวิจัย, คณะมนุษยศาสตร์, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2528 ) .



เครดิต : ขุนนางอยุธยา 7 มิ.ย. 2550 ; //thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=shalawan&topic=2348&page=1





 

Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2553
4 comments
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2553 23:08:16 น.
Counter : 27983 Pageviews.

 

ยาวมาก ก็อปมาไว้อ่านก่อนเดียวหาย *-* ตอนแรกแค่หาเพลง อยากรู้ว่าแค่ กรุงเทพ ชื่อเต็มๆ ว่าอะไร แค่นั้นเอง

 

โดย: foxloveth 19 กุมภาพันธ์ 2553 23:10:20 น.  

 

สวัสดีค่ะ เข้ามาเยี่ยมชมบล๊อก แล้วก็ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันนะคะ

ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ทุนด้วยค่ะ

ทุนเรียนฟรี 1 ปี พร้อมที่พักระหว่างเรียน IELTS-EFL / PreMaster @Cambridge, UK รวม 30 ทุน

ถ้าผู้ได้ทุนเป็นนักเรียน โรงเรียนจะได้รับเงินบริจาค จากวิทยาลัย 10000 บาท ต่อนักเรียน 1 คนด้วยค่ะ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

Mrs Rachinya Wilson,
International Director & Scholarship Coordinator
Cambridge Seminars Tutorial College
143-147 Newmarket Roead,
Cambridge, CB5 8HA
UK

Tel 00 44 1223 313 464
00 44 1223 300 123
00 44 7940 589 077

E mail camsem@hotmail.co.uk
rachinya@camsem.co.uk
rachinya.wilson@cambridgesemainars.co.uk

Websites: //www.cambridgeSTcollege.com
//www.camsem.co.uk
//www.cambridgeseminars.co.uk

หรือ ติดตามเอกสารประชาสัมพันธ์ทุนนี้ได้ที่สถานศึกษา หน่วยงานราชการทุกแห่งที่สังกัด กรมสามัญการศึกษา สำนักงานการศึกษาเอกชน กรมอาชีวศึกษา สกอ และ กพ

หรือ ติดตามได้ในบล๊อกนะคะ

กรุณาช่วยบอกต่อทุกคนที่รู้จักเพื่อเป็นวิทยาทานด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ


 

โดย: mookyja 19 กุมภาพันธ์ 2553 23:20:56 น.  

 

ุอ่านแล้ว เด็กอยุธยางง เพระามันยาวอิอิ

 

โดย: aromahappy 20 กุมภาพันธ์ 2553 0:54:18 น.  

 

เป็นความรู้มากๆ ครับ ขอบคุณครับ

 

โดย: นาถลดา IP: 223.207.103.38 7 กันยายน 2557 17:17:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


foxloveth
Location :
ยะลา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





Friends' blogs
[Add foxloveth's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.