Group Blog
 
 
มกราคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
15 มกราคม 2554
 
All Blogs
 
แก๊งซ่า กล้าดี(NDR) ไข่บ้าง

NDRมีสมาชิกกว่า5,000คน ประวัติโชกโชนมากว่า10ปีในนามเด็กแก๊งค์ สิ่งที่พวกเขาพยายามทำไม่ใช่การเอาชนะคู่ต่อสู้แต่เป็นชนะใจตัวเองและลดความรุนแร

"ตีกันทำไม" หลายคนคงอยากถาม

"ไม่ตีกันได้มั้ย" พวกเขาตอบแบบฟันธง "ยาก"

แต่จะทำอย่างไรให้พฤติกรรมเสี่ยงและความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่นลดลง...อันนี้มีคำตอบ

เปิดใจ NDR

ชื่อนี้เดิมทีอาจมีคนเข้าใจว่าเป็น "แก๊งค์ซามูไร" วัยรุ่นเลือดร้อนที่ใช้ดาบยาวเอาชีวิตคู่อริเมื่อหลายปีก่อน

แม้จะเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกยัดเยียดโยนบาปให้ แต่ดีกรีความแรงของพวกเขาก็ไม่ได้น้อยหน้า ทั้งชกต่อย ตีรันฟันแทง ถึงขั้นดวลปืนกันกลางถนนก็เคยมาแล้ว โดยมีแก๊งค์ใหญ่น้อยอีกนับสิบเป็นคู่อริที่แค่มองหน้าก็เพียงพอแก่การก่อเหตุ

กลุ่ม NDR ก่อตั้งเมื่อปี 2540 มีที่มาจาก “หน้าดารา” หรือหน้าโรงเรียนดาราวิทยาลัย มี "ดิว" ธัญญเขตต์ ศิริศักดิ์ และเพื่อนๆ ในละแวกบ้านเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิก

“ตอนแรกยังไม่ได้รวมตัวเป็นกลุ่มเป็นแก๊งค์อะไร เป็นเด็กธรรมดามาเล่นกีฬาเล่นบาสด้วยกัน ทีนี้เวลาไปเที่ยวไหนก็มักจะโดนรังแก ก็เลยรวมตัวกัน คนที่รังแกเป็นผู้ใหญ่บ้าง รุ่นพี่บ้าง ตอนหลังเราไม่ยอมก็เลยตอบโต้ไป พอพวกผมชนะ ทำให้คิดว่าถ้าเราสู้จะไม่มีใครเอาชนะเราได้ เป็นอย่างนั้นมาเรื่อยๆ

จากนั้นก็ค่อยๆ แรงขึ้น มีการใช้มีด ใช้ปืน ด้วยความที่เป็นวัยรุ่น เลยมีเรื่องบ่อย มีเรื่องก็ประกาศชื่อกลุ่ม ตอนนั้นชื่อกลุ่มหน้าดารา เป็นที่รู้จักของวัยรุ่น ไม่ถึงปีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยกว่าคน มีเรื่องไม่เคยแคร์ กลุ่มต่างๆ ได้ยินชื่อก็อยากท้าทาย อยากล้มกลุ่ม ล้มไม่ได้พวกผมก็มีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ ไม่สนเรื่องรุ่น ถ้าลุยก็คือลุย ทำให้คนเยอะ ปีสองปีก็ประมาณห้าร้อย”

จุดเริ่มต้นของ NDR อาจไม่ต่างจากฉากชีวิตของแก๊งสเตอร์ทั่วไป เด็กผู้ชายที่ถูกรังแกรวมตัวกันเพื่อปกป้องตัวเอง และพัฒนาไปสู่การต่อสู้เพื่อประกาศศักดาของกลุ่ม เมื่อได้รับการยอมรับ สมาชิกก็เพิ่มมากขึ้น เรื่องทะเลาะวิวาทกลายเป็นภารกิจในชีวิตประจำวัน ...บาดเจ็บ ติดคุก ถึงขั้นเสียชีวิตไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ต้อง "เอาคืน"

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป แก๊งสเตอร์กลุ่มนี้ได้รับโอกาสที่สำคัญ โอกาสในการเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรม ด้วยการก้าวเข้ามาของผู้ใหญ่ใจดีที่อาสามาเป็น “เพื่อนคู่คิด”

“ยายแอ๊ว” หรือ ลัดดาวัลย์ ชัยนิลพันธุ์ อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ ในวัย 65 ปี ให้เหตุผลในการขอเป็นส่วนหนึ่งของ NDR แบบสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “เป็นห่วงหลาน”

“ยายไปเฝ้าดูน้องดิวว่าทำไมไม่กลับบ้าน เลิกเรียนทำไมถึงหายไป ติดเหล้าติดยารึเปล่า ตอนแรกเข้าไปไม่ได้ เด็กไม่ยอมรับ พอยายเริ่มเข้าไปช่วยเคลียร์กับตำรวจ เป็นตัวกลางเจรจาระหว่างแก๊งค์ต่างๆ เขาถึงได้ยอมรับ”


แม้ในสายตาของบางคน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ยายแอ๊ว ถูกมองไม่ต่างจาก "มาเฟีย" แต่การเข้ามาของเพื่อนต่างวัย ก็ถือเป็นจุดหักเหที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ก้าวไปบนถนนนักเลงด้วยความระมัดระวังและมีหลักการมากยิ่งขึ้น บทบาทของยายไม่ใช่การห้ามปราม แต่ช่วยชะลอความเร็วและความแรงในการใช้อารมณ์ ทั้งด้วยการพูดคุยอย่างเข้าใจ ชักชวนทำกิจกรรม และช่วยเหลือในทุกๆ เรื่อง

ทุกวันนี้ NDR จึงเป็นเครื่อข่ายวัยรุ่นกลุ่มใหญ่ในเชียงใหม่ มีสมาชิกกว่า 5,000 คน ทั้งชายและหญิง อายุระหว่าง 12-25 ปี มีประธานกลุ่มคือ ดิว แบ่งการดูแลสมาชิกเป็นสาย ตามโรงเรียนหรือที่อยู่ โดยมีหัวหน้าสายเป็นผู้ดูแลให้ความช่วยเหลือสมาชิก ตั้งแต่เรื่องความปลอดภัย ปัญหาครอบครัว การเรียน เพื่อน รวมถึงปัญหาหัวใจ

แม้ว่าความรุนแรงจะเคยเป็นภาพลักษณ์ของ NDR แต่พวกเขาก็ไม่เคยละความพยายามที่จะนำพาเพื่อนๆ อารมณ์ร้อน และน้องๆ อารมณ์ร้าย ใช้ชีวิตอย่างมีสติในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยความรุนแรง

กฎเหล็ก “No Drug Ruler”

คนส่วนใหญ่มักไม่เชื่อว่าวัยรุ่นที่นิยมการใช้กำลังจะหันหลังให้กับเส้นทางนี้ แต่ยายแอ๊วคือคนหนึ่งที่มั่นใจว่า สามารถทำให้เด็กหนุ่มเลือดร้อนมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นได้ และหากประคับประคองให้พ้นจากวัยคึกคะนอง สังคมอาจได้บุคลากรคุณภาพกลับคืนมา

กฎเหล็กของ NDR จึงเกิดขึ้นบนพื้นฐานของการยอมรับร่วมกัน หนึ่งในข้อห้ามที่ห้ามเด็ดขาดก็คือ ยาเสพติด พวกเขาต้องการเห็น "NDR" ได้รับการยอมรับในความหมายของ "No Drugs Ruler"

ที่มาของความคิดนี้เกิดขึ้นเพราะเด็กแก็งค์ส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่ในวังวนของปืนผาหน้าไม้เท่านั้น แต่ยังข้องเกี่ยวกับยาเสพติดและการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ปัจจุบันกฎเหล็กของ NDR มีอยู่ 8 ข้อ เริ่มตั้งแต่ห้ามยุ่งเกี่ยวกับเสพยาเสพติด เข้าออฟฟิศสม่ำเสมอ ห้ามชู้สาวกับคนในกลุ่ม อย่าส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้าน เวลามีเรื่องกับคนในกลุ่มห้ามคนนอกเข้ามายุ่ง คนที่เข้ามาทีหลังเคารพคนเข้ามาก่อน ห้ามพกอาวุธ และต้องมีความสามัคคีภายในกลุ่ม


กฎนี้แม้จะไม่ได้มีบทลงโทษชัดเจน แต่ก็เป็นสัญญาลูกผู้ชายที่ทำให้ NDR แตกต่างจากแก๊งค์อื่นๆ

"เป้ย" ฤทธิพันธุ์ วิจิตรพร หัวหน้าสายเอราวัณ อายุ 20 ปี ยืดอกยอมรับว่าเป็นคนอารมณ์ร้อน เมื่อก่อนตีกันไม่เว้นแต่ละวัน แต่พอได้มารู้จักกับกลุ่มนี้ ชีวิตเขาก็เปลี่ยนไป

“เมื่อก่อนตีกันบ่อย พอเพื่อนชวนให้เข้ามา NDR มีออฟฟิศด้วย โคตรเท่เลย เหมือนมาเฟียเลย แต่พอเข้ามาเจอบอร์ดเรื่องเพศศึกษาก็อึ้งไปนิดนึง มีครั้งหนึ่งเพื่อนผมไปเคลียร์กับฝ่ายตรงข้าม มียายนั่งอยู่ตรงกลาง นักเลงสองฝ่ายสิบคนยี่สิบคน เรื่องจบลงด้วยดี เขาใช้วิธีไหนถึงยอมเลิกรากันไป ทำให้เราอยากรู้ต่อไปอีก ก็เข้ามาเรื่อยๆ ยายพาไปประชุม ไปทำกิจกรรม มันคนละแบบกันเลย เปลี่ยนเป็นคนละคนเลย จากการทะเลาะวิวาททุกวัน มาเป็นทำกิจกรรมทุกวัน การทะเลาะวิวาทก็เลยหายไป ไปทำกิจกรรมดีกว่า” เป้ย พูดยิ้มๆ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ทุกวันนี้นอกจากจะเป็นหัวหน้าสายดูแลเพื่อนๆ และน้องๆ กิจกรรมที่เป้ยทำได้ดี และมีทีท่าว่าจะ “อิน” มากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการเข้าวัดปฏิบัติธรรม กระทั่งเขามีความคิดว่าอาจจะเปลี่ยนเส้นทางชีวิต หันไปบวชเรียนแบบจริงจังสักครั้ง

“ก่อนจะมานี่ผมก็เพิ่งไปบวชมา” เขาพูดน้ำเสียงเรียบ

เช่นเดียวกับ "อาร์ม" ฉฎากร คชพลายุกต์ หัวหน้าสายสับราง จากเด็กหลังห้องที่เบื่อการสอนของครูที่มักสนใจแต่เด็กเรียน เด็กเก่ง หันมาเอาดีด้านการใช้กำลัง เขาเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวเอง หลังจากมาเป็นสมาชิกของ NDR

“แรกๆ ก็รู้สึกกดดันมากที่มีชื่อเป็นหัวหน้าสาย ลำบากใจมาก ผู้ใหญ่แถวบ้านรู้หมด แต่ต้องอยู่ให้ได้โดยที่เขาไม่รู้ว่าเราทำอะไร ได้ยินคำว่าแก๊งค์ก็เลวร้ายแล้ว วัยรุ่นสามสี่คนมีรอยสักก็น่ากลัวแล้ว เราต้องยอมรับสิ่งนี้ให้ได้ โดยที่รู้ตัวเองว่าเราทำประโยชน์ เราทำงาน 24 ชั่วโมง พร้อมที่จะให้คำปรึกษาให้ความช่วยเหลือปัญหาวัยรุ่นทุกเรื่อง เขาเดือดร้อน พ่อแม่ด่าอยู่บ้านไม่ได้ หนีออกจากบ้าน เวลาที่จะตีกันก็ต้องมาดูแลคนอื่น”

อาร์มบอกว่า “เหมือนถูกฝึกให้เป็นคนช่วยดูแลสังคม” ถึงจะเหนื่อยแต่สิ่งที่ได้รับคือความภาคภูมิใจ

ดูเหมือนว่าความรู้สึกถึง "คุณค่า" ในตัวเองคือผลตอบแทนที่ดีที่สุดที่พวกเขาได้รับ แต่ผลพลอยได้คือรางวัลที่ไม่เคยคาดหวังมาก่อน ล่าสุด อาร์ม เป็นประธานเครือข่ายพิทักษ์เด็กของศาลเยาวชนเชียงใหม่, เป้ย ได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นประจำปี 2550 ขณะที่ ดิว เป็นเยาวชนดีเด่นประจำปี 2549 และยังเป็นประธานกลุ่มเยาวชนของหน่วยงานต่างๆ อีกหลายตำแหน่ง

ต้นร้าย ปลายดี

กว่าสิบปีของการรวมตัวกันในนาม NDR แม้การทะเลาะวิวาทจะยังมีอยู่เป็นรายวัน แต่ความรุนแรงถือว่าลดลงไปมาก ภายใต้เงื่อนไข "ต้องไม่ไปรุกรานใครก่อน"

"ดิว" ในฐานะสมาชิกรุ่นก่อตั้ง มองว่าเรื่องต่อยตีกับเด็กผู้ชายเป็นของคู่กัน การที่จะบอกให้ทุกคนเลิกตีกันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ NDR ทำอยู่คือ ลดความรุนแรง ปรับพฤติกรรมให้รู้จักยับยั้งชั่งใจมากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเข้าค่าย แข่งกีฬา ปลูกป่า ฝึกธรรมะ ฯลฯ

“กิจกรรมในโครงการจะต่อเนื่องกัน เข้าค่ายละลายพฤติกรรม เสร็จแล้วมีประชุม เวลาเราละลายพฤติกรรมแล้วก็จะบอกว่าต่อไปจะมีอะไร ถ้าได้ผลจริง กิจกรรมหน้าเขาก็จะมาร่วม จนถึงกิจกรรมสุดท้าย โดยแนวทางของกิจกรรมที่จัดขึ้นจะเน้นไปที่การระดมความคิด หาวิธีการหาทางออกของความรุนแรง หลีกเลี่ยงและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า"

ส่วนคนที่มาอบรมให้นอกจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญแล้ว บางส่วนรุ่นพี่จะรับหน้าที่เล่าประสบการณ์ให้น้องๆ ฟัง และเปิดให้วิเคราะห์ด้วยตนเอง

"แล้วก็มีการแข่งกีฬา บางปีจัด 2 ครั้ง ถ้าเรามีงบนะครับ มันทำให้คุ้นหน้าคุ้นตากันดี เวลามีปัญหาก็จะนึกถึงว่าเคยแข่งบอลด้วยกัน สมาชิกมันเยอะบางคนก็ไม่รู้จักกัน มาเจอกันตอนแข่งกีฬา แล้วก็จะมีปลูกป่า บางคนก็ไม่เคยปลูกต้นไม้ มาปลูกเป็นครั้งแรกก็จะรู้สึกภูมิใจ รู้สึกดี”

ในมุมมองของดิว ซึ่งผันตัวมาเป็นนักกิจกรรม ทำโครงการเพื่อลดความรุนแรงและพฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น เดินสายเป็นวิทยากรให้กับองค์กรต่างๆ เขาเห็นว่าการทำกิจกรรมนอกจากสร้างความสามัคคีในกลุ่มแล้ว ยังเป็นเวทีในการสร้างผู้นำรุ่นต่อไปด้วย

"ผมอยากจะสร้างแกนนำ เพราะตอนนี้เราทำเรื่องลดความรุนแรงมานานแล้ว แต่ยังขาดแกนนำรุ่นใหม่ๆ มานำในการทำกิจกรรม ในการปรับพฤติกรรม ดูแลน้องๆ ซึ่งเราจะเจอก็ต่อเมื่อมีกิจกรรม ดูจากการพรีเซนต์งานของเขา แต่ถ้าไม่มีเงินทุนก็ทำอะไรไม่ได้"

น่าเสียดายที่องค์กรส่วนใหญ่โดยเฉพาะภาครัฐยังไม่เห็นความสำคัญของการทำงานลักษณะนี้ สิ่งที่พวกเขาทำ จึงเป็นการทำ "เท่าที่ทำได้" เช่น ปลูกป่าในพื้นที่เอกชนที่รู้จักกัน ปลูกผักตามอัตภาพ แต่ถ้าฝันเป็นจริงได้ ดิวบอกว่า อยากให้มีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับความสนใจของเด็กกลุ่มเสี่ยง ส่วนสิ่งที่อยากจะวอนขอจากผู้ใหญ่ ไม่มีอะไรมากไปกว่า "ให้อภัย" และ "ให้โอกาส"

"ผมอยากจะฝากถึงผู้ใหญ่ เมื่อเด็กทำอะไรผิดก็ต้องให้อภัย ให้อภัยไปเรื่อยๆ เหมือนกับเขาเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่ง ผมเชื่อว่าผู้ใหญ่หลายๆ คนก็ต้องเคยผ่านตรงนั้นมา ตอนนี้ที่มันรุนแรงกว่าเพราะว่ายุคมันเปลี่ยน อาวุธเดี๋ยวนี้หาง่าย อาก้ายังมีเลย ขึ้นอยู่กับว่าเรามีเงินรึเปล่า"

"ผมอยากให้ผู้ใหญ่ให้อภัยเด็กแล้วก็ให้โอกาสเด็ก เหมือนกับที่ครอบครัวผมให้โอกาสผมมาตลอดก็เลยทำให้ผมมีทุกวันนี้ได้ เป็นคนดีได้ แล้วผมก็สามารถสร้างคนดีในสังคมได้เยอะแยะ"

เหนืออื่นใดสำหรับ NDR แล้ว แม้คำว่า "แก๊งค์" จะคุ้นปากกันดี แต่ก็มีความหมายในทางลบ ถ้าเป็นไปได้พวกเขาอยากให้เรียกว่า "กลุ่มเด็กและเยาวชน NDR" มากกว่า

"มันทำให้เรามีกำลังใจขึ้นในการทำงาน ถ้าเรียกเราแก๊งค์มันเหมือนเป็นการตราหน้ากัน คำว่าแก็งค์มันเหมือนรวมกลุ่มเพื่อทำผิดกฏหมาย แต่เราไม่ใช่ เรามีหน้าที่สร้างคนดีกลับคืนสู่สังคม ในเวลาที่เขาหลงทางเราจะอยู่กับเขา เพียงแต่พอคนหนึ่งกลับมาได้ ก็จะมีคนใหม่มาแทนเสมอ มันก็เลยไม่จบไม่สิ้น"

ไม่ว่าใครจะมองว่าวัฏจักรของความรุนแรงเหล่านี้เป็นวงจรอุบาทว์ เป็นปัญหาสังคม หรือเป็นปัญหาของใคร แต่ตราบใดที่ปัญหายังไม่จบสิ้น กลุ่มเยาวชน NDR ก็ยังเสนอตัวเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดพฤติกรรมความรุนแรง แต่จะ "ก้าวหน้า" หรือ "ถอยหลัง" ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า...กำลังใจและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่คือเงื่อนไขสำคัญ

........................................

"จับมือ" ไม่ช่วยอะไร

ปัญหานักเรียนนักเลง วัยรุ่นตีกัน บางคนบอกว่าเป็นปัญหาคลาสสิคของสังคมไทย โดยเฉพาะกับบรรดาเด็กอาชีวะต่างสถาบัน แก้เท่าไหร่ก็แก้ไม่ตก (จริงหรือ) ยายแอ๊ว-ลัดดาวัลย์ ชัยนิลพันธุ์ ในฐานะผู้สันทัดกรณีมองว่า ที่แก้ไม่ได้ เพราะแก้ไม่ตรงจุดต่างหาก

"ปัญหาเด็กตีกัน การลดพฤติกรรมความรุนแรงต้องมีคนมาดูแล คอยแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนไปเรื่อยๆ การที่ให้เด็กสองกลุ่มมาจับมือกันมันไม่ใช่การแก้ปัญหา แค่สร้างภาพ เขาไม่ได้เอาเด็กเป็นตัวตั้ง เด็กเป็นยังไงไม่สนใจ ขอให้ฟังคำสั่งก็พอแล้ว มันเลยแก้ไม่ได้ ถ้าจะทำกันจริงๆ ต้องมีคนเข้าไปนั่งศึกษาว่าแต่ละกลุ่มมีอะไร ใครเป็นยังไง พ่อแม่เป็นใคร ต้องหาสาเหตุ ต้องใช้เวลา ต้องมีคนทำจริงๆ คล้ายกับการทำวิทยานิพนธ์ แต่ต้องนานกว่านั้นหลายเท่า ไม่ใช่ฝ่ายตำรวจทำแล้วย้ายไป แล้วคนใหม่มาทำ มันแก้ปัญหาไม่ได้

อีกอย่างต้องเข้าใจว่าความรุนแรงมันจะแรงขึ้นตามอาวุธ อย่างการใช้ปืน ใช้ระเบิด ทำยังไงจะไม่ให้มันมีเท่านั้นเอง แทนที่จะวิ่งไปเอาปืนมาแล้วยิงกัน เราจะทำยังไงให้เขาหยุดคิดได้ว่า เขาไม่ควรจะทำ คือตรงนั้นเราสามารถเอาตัวเราไปแทรกได้ เขาจะคิดถึงหน้าเรา คำสอนของเรา ต้องพยายามปลูกฝังเขาไว้ตลอด"



Create Date : 15 มกราคม 2554
Last Update : 15 มกราคม 2554 20:06:02 น. 0 comments
Counter : 344 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เป้ย ธรรมชาติ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add เป้ย ธรรมชาติ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.