เสพภาพยนตร์เป็นจานหลัก พักสายตาฟังเจป๊อบเป็นจานรอง ให้อาหารสมองด้วยโดระมะ แปลเนื้อเพลงญี่ปุ่นเป็นงานอดิเรก
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2551
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
12 ตุลาคม 2551
 
All Blogs
 

容疑者Xの献身 YogishaXnokenshin กาลิเลโอเวอร์ชั่นภาพยนตร์


ถ้าใครติดตามวงการละครโทรทัศน์ของญี่ปุ่นคงจะทราบดีว่า เมื่อปีที่แล้วละครเรื่อง Galileo (ガリレオ) เป็นละครที่ได้รับเรตติ้งสูงสุดของฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว อีกทั้งทางฟูจิเทเลวิชั่นได้ประกาศสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่ละครออนแอร์ได้เพียงแค่ตอนที่สองเสียด้วยซ้ำ

ละครเรื่องนี้สร้างจากนวนิยายของ Higashino Keigo ในซีรี่ย์สามเล่ม โดยภาคละครสร้างจากสองเล่มแรกที่มีชื่อว่า tantei galileo และ Yochimu สำหรับภาคสุดท้ายนั้นก็คือ YogishaXnokenshin ที่มาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้นี่เอง (สำหรับเมืองไทยนั้น มีแปลเฉพาะเล่มสุดท้าย ในชื่อไทยว่า รัก ลวง ตาย)


ในภาคละครนั้น เล่าถึงนักสืบสาว อุทซุมิ คาโอรุ (ชิบาซากิ โค) ซึ่งต้องเจอกับคดีที่ดูเหนือธรรมชาติ แต่ด้วยการแนะนำของนักสืบรุ่นพี่ คุซานางิ (คิตะมุระ คาซุกิ) ให้รู้จักกับศจ.ยูกาว่า (ฟุกุยาม่า มาซารุ) ซึ่งช่วยเขาไขปริศนาแปลก ๆ ต่าง ๆ ด้วยหลักวิทยาศาตร์มาโดยตลอด


สำหรับจุดเด่นของละครก็คงหนีไม่พ้นการนำเอาหลักวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มาอธิบายปรากฏการณ์ที่ไม่น่าเชื่อต่าง ๆ ซึ่งทุกครั้งก็จะนำไปสู่การหาตัวคนร้าย รวมไปถึงบุคลิกของอ.ยูกาว่าที่ฉลาดและสุขุมราวกับไร้ความรู้สึก และฉากเด่นที่ทุกคนที่ได้ดูละครเรื่องนี้ลืมไม่ได้ เห็นจะเป็นฉากการคำนวณสมการของยูกาว่าในการไขปริศนา

คราวนี้ขอกล่าวถึงภาพยนตร์กันบ้าง เนื่องจากมีผู้ที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แน่ ๆ จึงขอแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกจะกล่าวรวม ๆ และข้อคิดเห็นพื้น ๆ ส่วนหลังจะเป็นการลงรายละเอียดและอาจมีการเปิดเผยตอนจบ


ส่วนแรก (ไม่มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องมากนัก)
ส่วนตัวแล้วต้องยอมรับว่านี่เป็นการอาจหาญเข้าไปชมภาพยนตร์ญ๊่ปุ่นที่ไม่ขึ้นซับไตเติ้ลภาษาใดเลยเป็นครั้งแรก ที่อาจหาญได้ดังนี้ไม่ใช่เพราะภาษาญี่ปุ่นแข็งแรงมากนักหรอก แต่เนื่องจากได้อ่านบทประพันธ์ชื่อเรื่องเดียวกันนี้ (ที่แปลแล้ว) มาก่อนนั่นเอง

ส่วนที่ต่างจากบทประพันธ์ที่ชัดที่สุดเห็นจะเป็นบทของอุทซุมิ ซึ่งไม่มีในบทประพันธ์ (ไม่แน่ใจว่าสองเล่มแรกมีรึเปล่า) และเอาเข้าจริงผู้ที่ไขคดีคือ คุซานางิ (ในละครเป็นนักสืบรุ่นพี่ที่เลื่อนตำแหน่งไปแล้ว และโผล่ออกมาแค่ไม่กี่ตอน) สำหรับในหนังได้นำคุซานางิกลับมาเป็นผู้รับผิดชอบคดี แต่ปรับเปลี่ยนบทเล็กน้อยเพื่อให้ชิบาซากิโคในบทอุทซุมิดูเด่นและมีบทบาทขึ้น (หลายครั้งเอาบทของคุซานางิมาใส่ให้กับอุทซุมิเฉย ๆ)

รวม ๆ แล้วถ้าตัดประเด็นที่กล่าวไป ทุกอย่างเดินตามบทประพันธ์เป๊ะ (แม้กระทั่งการลำดับเรื่องและการแฟลชแบค) จะมีการปรับเรื่องอื่นนิด ๆ หน่อย ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสื่อภาพยนตร์เท่านั้น

หนังเรื่องนี้หากเทียบกับหนังที่สร้างจากการติดลมของละครเรื่องอื่น ๆ แล้วต้องบอกว่าดูดีสุด แต่ต้องยกความดีความชอบไปยังเจ้าของบทประพันธ์ซึ่งแต่งเรื่องไว้ดีอยู่แล้ว (และตัวเรื่องเองก็เหมาะแก่การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เสียด้วย) การดูหนังเรื่องนี้สำหรับผมก็คล้ายกับดูภาพประกอบหนังสือครับ (แม้ว่าภาษาจะอ่อนด้อยแต่ใจรัก)


ส่วนที่สอง (มีสปอยล์)
ใครที่ยังไม่ได้ดูหนัง หรือยังไม่ได้อ่านหนังสือขอให้ทุกท่านไปทำอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นก่อน (แต่แนะนำว่าอยากให้ดูหนังมาก่อนมากกว่า)

ประเด็นที่หนังพยายามดึงออกมาใช้เห็นจะเป็นประเด็นความรักที่บริสุทธิ์มาก ๆ อย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ไม่สามารถอธิบายได้เสียด้วยซ้ำ

คดีในหนังนั้นเกิดจากการที่ฮานาโอกะ (มัตซุยูกิ ยาซุโกะ) แม่ม่ายลูกติดเกิดพลาดพลั้งฆ่าสามีเก่าโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งแม้มันเป็นอุบัติเหตุ อิชิคามิ (สุสุมิ ชินอิจิ) เพื่อนบ้านที่พักอยู่ในอพาทเมนท์เดียวกันซึ่งได้ยินเหตุการณ์ทั้งหมดและยื่นมือเข้ามาช่วยอำพรางคดีให้

ตั้งแต่ต้นจนจบหนังได้แสดงภาพของอิชิคามิได้ภาพที่ดูน่ากลัวคล้ายฆาตรกรโรคจิต แต่มองกันลึก ๆ แล้วตัวละครหลักทุกตัว(ที่ปรากฏในหนังหลังจากสามีเก่าของฮานาโอกะตาย) ไม่มีตัวละครไหนแสดงถึงความเป็นคนเลวเลยแม้แต่น้อย

นั่นเองความซับซ้อนของคดีจึงเกิดขึ้น คดีนี้ต่างจากละครทุกตอนคือ พึ่งทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์น้อยที่สุด แต่กลับนำปรัชญาทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเป็นการเดินเรื่องแทน


วลีเด็ดในหนังที่ยูกาว่าซึ่งเป็นเพื่อนในวัยเรียนกับอิชิคามิว่า การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ยากมากแต่มีคำตอบ กับการคิดปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่มีคำตอบแต่แก้ปัญหาได้ยาก อันไหนทำยากกว่ากัน เปรียบเสมือนกับการที่ยูกาว่าต้องคอยตามไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่อิชิคามิวางเอาไว้

ในโครงเรื่องเองครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ยูกาว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีของคนที่ตนเองรู้จัก และมีการแสดงอารมณ์ของยูกาว่าเป็นครั้งแรก (ในละครแทบไม่มีการพูดถึงเรื่องส่วนตัวของยูกาว่าแม้แต่น้อย) แต่อาจต้องเพิ่มเติมไปอีกนิดนึงว่า บุคลิคของยูกาว่าในหนังสือกับในหนัง(รวมทั้งละคร)นั้นคนละเรื่องกันเลย ในหนังสือจะดูมีความเป็นมนุษย์ธรรมดามากกว่า ส่วนในหนังนั้นอาจจะดูสุขุมไปซะหน่อย

ใครที่ดูแล้วคงจะต้องผิดหวังอยู่อย่างนึงคือฉากการคำนวณสมการของยูกาว่านั้นไม่มีเสียแล้ว (ขนาดตอนออกจากโรงยังมีคุณป้าที่เดินตามหลังออกมายังบ่นเสียดายเลย)

รวม ๆ คือ หนังไม่ได้พยายามมากเกินไปที่จะทำอะไรให้ต่างจากละครหรือเหมือนกับละครจนเกินไป แต่กลับพยายามเคารพบทประพันธ์ที่วางไว้มากกว่า แม้ว่าจะมีการลดทอนความสำคัญของตัวละครบางตัวลงไปบ้าง (คล้ายกับหนังที่สร้างติดลมจากละครเรื่องอื่น ๆ ที่จะลดความสำคัญตัวละครแวดล้อมตัวหลักลง) และการถ่ายภาพ การวางอารมณ์เรียกได้ว่าลงตัวทีเดียว




เพิ่มเติม
๑. บทประพันธ์เรื่อง Yougisha X no Kenshin ได้รับรางวัล Naoki Prize ในปี 2005 (นั่นคือเหตุผลที่ทำไมมีแปลภาษาไทยเพียงเล่มเดียว)
๒. เรื่องนี้ก็ยังได้เพลงนำโดยการโคลาโบเลชั่นของพระนาง ชิบาซากิ กับ ฟุกุยาม่า โดยครั้งนี้ได้เพลงที่ชื่อว่า 最愛 (saiai)





 

Create Date : 12 ตุลาคม 2551
1 comments
Last Update : 12 ตุลาคม 2551 20:09:02 น.
Counter : 2948 Pageviews.

 

อยากดูมั่งจังเลยค่ะ ชอบตั้งแต่ตอนที่ได้อ่านแล้ว แถมยังชอบฟุคุยามาซัง ซึซึมิซัง แล้วก็เจ๊โคด้วย ได้ข่าวว่าที่ญี่ปุ่นออกภาคซีโร่พร้อมกับ Yogisha แต่เราอยากดูเรื่องนี้มากกว่าเหตุผลเพราะชอบดารานำสามคนนั่นแหละ หวังว่าจะมีผู้ใจดีใส่ซับไทยเอามาขาย

 

โดย: แพร (bookofpear ) 15 ตุลาคม 2551 22:45:59 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Filmism
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Filmism's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.