Group Blog
 
 
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
14 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 
ตำนานนางสาวไทย ตอนที่2




ในปีถัดมาแม้ว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นในทวีปยุโรป และเป็นช่วงที่กำลังจะเกิดกรณีปะทะกับฝรั่งเศสในอินโดจีนในปีพ.ศ. 2482 ก็ตาม หากงานฉลองรัฐธรรมนูญของสยามยังดำเนินต่อไปเนื่องจากภายในประเทศยังไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนแต่อย่างไร

เรียม แพศยนาวิน นางสาวไทย ปีพ.ศ. 2482

การประกวดนางสาวสยามในครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อการประกวดจาก นางสาวสยาม ให้เป็น ''นางสาวไทย'' ตามชื่อประเทศที่เปลี่ยนใหม่ รวมไปถึงเรื่องเครื่องแต่งกายของผู้เข้าประกวดซึ่งได้ระบุให้เป็นชุดกระโปรงระดับความยาวครึ่งเข่าเชื่อมติดกับตัวเสื้อซึ่งมีสายโยงโอบอ้อมด้านหน้าไปผูกกันที่ด้านหลังซึ่งเว้าลึกลงมาถึงครึ่งหลัง ผลการตัดสินในคืนประกวดวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2482 โฆษกประจำงานได้ประกาศชื่อ เรียม เพศยนาวิน ซึ่งส่งเข้าประกวดโดยอำเภอยานนาวา ให้เป็นผู้ครองตำแหน่งนางสาวไทย ท่ามกลางรองนางสาวไทยทั้ง 4 อันดับ ประกอบด้วย มาลี พันธุมจินดา รองอันดับ 1 เทียมจันทร์ วานิชขจร รองอันดับ 2 เจริญศรี ปาศะบุตร รองอันดับ 3 และ ลำยอง สู่พานิชย์ รองอันดับ 4 ตามลำดับ


''เรียม'' ได้รับคัดเลือกเป็นนางสาวไทยคนที่ 6 ของประเทศ ขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 16 ปี เป็นบุตรสาวคนโตจากพี่น้องจำนวน 7 คน ของ นายสุมิต ผู้เป็นบิดาชาวอิสลาม แต่มารดาของเธอเป็นชาวจีน เกิดที่อำเภอบางรัก พระนคร สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนมหัสดัมอิสลามวิทยาลัย หลังจากรับตำแหน่งนางสาวไทย กว่า 10 ปี จึงได้เข้าพิธีสมรสกับ เอช เอช ซุดพัตรา ชามา ลุลลาอิล ราชาแห่งรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย มีโอรสธิดารวม 4 องค์ เรียม หรือ รานีซุดพัตรา ชามาลุลลาอิล ตวนมาเรียม ถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลันในปี พ.ศ. 2529 สิริอายุรวม 64 ปี


อนึ่งนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ เรียม นับเป็นสาวมุสลิมเพียงคนแรก และคนเดียวเท่านั้นที่ได้ครองตำแหน่งนางสาวไทย


สว่างจิตต์ คฤหานนท์ นางสาวไทย ปีพ.ศ. 2483

การประกวดนางสาวไทยปีพ.ศ. 2483 ได้เริ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองรอบด้านที่แม้จะเริ่มส่อเค้าของการสู้รบตามแนวพรมแดนด้านอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส หากการดำเนินการประกวดในงานฉลองรัฐธรรมนูญก็ยังคึกคักไปด้วยฝูงชนที่เข้ามาร่วมงานมากมาย ปีนั้นการฉลองเป็นไปอย่างครึกครื้น โดยเฉพาะบนเวทีการประกวดนางสาวไทยที่มีการประกวดถึง 5 คืน ระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม การแต่งกายถูกกำหนดให้ผู้เข้าประกวดต้องใส่ชุดเสื้อแขนกุดเปิดหลังเช่นเดิม แต่เปลี่ยนจากกระโปรงยาวคลุมเข่า มาเป็นกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเพื่อโชว์ส่วนขาอ่อน และแล้วสาวงามผู้ได้รับการคัดเลือกให้ครองตำแหน่งนางสาวไทยด้วยคะแนนชนะเลิศชนิดลอยลำคือ สว่างจิตต์ คฤหานนท์ ผู้ซึ่งคณะกรรมการประชาชนอำเภอยานนาวาส่งเข้าประกวด ส่วนผู้ครองตำแหน่งรองนางสาวไทยอีก 4 คนได้แก่ สมจิตต์ ลิ้มไพบูลย์, อารี ปิ่นแสง, สะอาด ลิ่มสวัสดิ์ และประชิญ ศิวเสน


''สว่างจิตต์'' เป็นธิดาของ พันโท พระแกล้วกลางณรงค์ และ นางสาคร คฤหานนท์ ขณะรับตำแหน่งนางสาวไทยนั้นมีความรู้จบชั้นมัธยมบริบูรณ์ และเป็นนางสาวไทยที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมดังที่หญิงไทยพึงมีหลายประการ สว่างจิตต์ เข้าพิธีสมรสกับ เรืออากาศเอก ระริน หงสกุล มีบุตร ธิดารวม 3 คน ปัจจุบัน คุณหญิง สว่างจิตต์ หงสกุล ใช้ชีวิตอย่างสงบ ในวัย 82 ปีท่ามกลางลูกหลานอย่างมีความสุข


ปี พ.ศ. 2484 งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานประกวดนางสาวไทยกำลังดำเนินไปตามปกติร้านรวงมีการจัดสร้างไว้อย่างสวยงาม สาวงามผู้เข้าประกวดนางสาวไทยทุกคนได้เริ่มเดินขึ้นสู่เวทีประกวดในคืนแรกแล้ว


หากแต่เกิดเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นได้ยกกำลังพลบุกที่บางปู จังหวัประจวบคีรีขันธ์ ตลอดไปจนทั้งแถบจังหวัดภาคใต้ จนถึงมลายู และทั่วไปทุกประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก เพื่อต่อสู้สงครามโดยเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร งานประกวดนางสาวไทยจึงหยุดชะงักกลางคัน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2486 ประเทศไทยจึงได้มีการฉลองขวัญคนไทย และรัฐธรรมนูญด้วยการประกวดนางงาม ดอกไม้ของชาติ ขึ้นมาแทน เนื่องจากไม่ได้มีสาวงามจากต่างจังหวัดเข้าร่วมประกวด ด้วยเหตุผลของการคมนาคมไม่สะดวก จะมีก็เพียงสาวงามจากกรุงเทพฯ และธนบุรีเท่านั้น ผู้ชนะเลิศเป็น ดอกไม้ของชาติ คนแรกและคนเดียวในประเทศไทย คือ ปิยฉัตร บุญนาค


การประกวดนางสาวไทย ยุคที่ 2


<
ลัดดา สุวรรณสุภา นางสาวไทย ปี พ.ศ.2491

หลังจากสงครามเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ในปี พ.ศ.2491 รัฐบาลโดยกองการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย จึงได้มีมติให้จัดการประกวดนางสาวไทยขึ้นอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญหลังจากว่างเว้นการประกวดนางสาวไทยมาถึง 8 ปีได้กำหนดให้มีการประกวดนางสาวไทยขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม มีการเดินประกวดในชุดเสื้อแขนกุดเปิดหลัง กางเกงกีฬา เหมือนดังปี 2483 เวทีประกวดถูกจัดขึ้น ณ สวนอัมพร ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายของลมหนาวสาวงามผู้ที่ชนะใจกรรมการได้รับการตัดสินดำรงตำแหน่งนางสาวไทย คือ ลัดดา สุวรรณสุภา ท่ามกลางรองอีก 4 คน คือ ลักษมี กรรณสูต, อุษา วีรยะวรรธนะ, เรณู ภิบูลย์ภาณุวัธน์ (คุณแม่ แซม ยุรนันทน์) และ ปราณี มาลีพันธุ์สกุล


''ลัดดา'' เป็นนางสาวไทยที่สื่อมวลชนบางฉบับเรียกขานเธอว่า ''บุหงาปัตตานี'' เนื่องจากเธอเข้าประกวดในนามของจังหวัดปัตตานีแม้ว่าแท้ที่จริงเธอจะเป็นชาวกรุงเทพฯ ก็ตาม ลัดดาครองตำแหน่งนางสาวไทยขณะอายุ 16 ปี เป็นธิดาของนายดิเรกข้าราชการนครบาลกรุงเทพฯ สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยม 4 จากโรงเรียนซางตาครูซ คอนแวนด์ ''ลัดดา'' เข้าพิธีสมรสกับนายสนิท พุกประยูร มีบุตรชาย 2 คน


และในปีรุ่งขึ้น พ.ศ. 2492 การประกวดนางสาวไทยและงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญต้องมีอันงดจัดไป 1 ปี เนื่องจากมีคำสั่งของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ด้วยเหตุที่สภาพเศรษฐกิจของบ้านเมืองไม่เอื้ออำนวย



อัมพร บุรารักษ์ นางสาวไทย ปีพ.ศ.2493


ปี 2493 ได้มีการพลิกฟื้นงานฉลองรัฐธรรมนูญคืนมาอีกวาระหนึ่งพร้อมกับความคึกคักในบริเวณงานที่เต็มไปด้วยร้านรวงต่างๆ นานาจากหน่วยงานของราชการและเอกชนในปีนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนเครื่องแต่งกายของผู้เข้าประกวดอีกครั้งหนึ่งและนับเป็นปีแรกของการประกวดที่ผู้เข้าประกวดต้องสวมชุดว่ายน้ำผ้าไหมเดินบนเวที ณ สวนอัมพรนั้นความหนาวเหน็บในปีนั้นก็มิได้ทำให้ผู้ชมงานลดน้อยถอยลงไปแต่ประการใด เนื่องเพราะมีเอื้องเหนือผู้เข้าประกวดหมายเลข 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจากจังหวัดเชียงรายและเป็นขวัญใจของผู้เข้าชมโดยทั่วไปได้รับการขนานนามให้เป็นนางสาวไทย ประจำปี 2493 ได้แก่ นางสาวอัมพร บุรารักษ์ และผู้ได้รับตำแหน่งรองนางงาม ประกอบไปด้วย ศรีสมร อรรถไกวัลวที, วีณา มหานนท์ , โสภิตสุดา วรประเสริฐ และพรทิพย์ จันทโมกข์


''อัมพร'' เกิดที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เธอเป็นบุตรสาวคนโตในจำนวน 7 คน ของ นายบุญส่ง ข้าราชการ อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนราษฎร์ประพันธ์กุลและได้รับจากการทาบทามของผู้ว่าราชการส่งเข้าประกวดในนามของจังหวัดเชียงราย นับเป็นนางสาวไทยคนที่ 9 ของประเทศไทย และเป็นเอื้องเหนือคนแรกที่ได้ครองตำแหน่งนางสาวไทยเธอได้รับตำแหน่งขณะอายุ 18 ปีต่อมาได้สมรสกับร้อยตำรวจตรี วิศิษฐ์ พัฒนานนท์ มีบุตรธิดารรวม 4 คน



อุษณีษ์ ทองเนื้อดี นางสาวไทยปีพ.ศ.2494


การประกวดนางสาวไทย 2494 ยังคงดำเนินต่อเนื่องจากปีกลาย ณบริเวณสวนอัมพรเช่นเดิม มีผู้เข้ารอบสุดท้ายทั้งหมด 30 คน ในคืนประกวดวันสุดท้ายสาวงามผู้อยู่ในความสนใจของประชาชนมีอยู่หลายคน แต่ผู้ที่อยู่ในความสนใจของกรรมการมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งผู้ที่ชนะใจกรรมการในคืนประกวดวันนั้น ได้แก่ อุษณีย์ ทองเนื้อดี สาวงามในชุดว่ายน้ำสีชมพูกลีบบัวท่ามกลางรองนางสาวไทยอีก 4 คน ได้แก่ สุวรรณา กังสดาร, สุภัทรา ทวิติยานนท์, เปล่งศรี โสภาวรรณ และบุหงา วัชโรทัย


''อุษณีษ์'' นางสาวไทยคนที่ 10 ของประเทศไทย เธอเป็นบุตรีคนที่ 4จากจำนวนพี่น้องรวม 8 คน ของ นายเอื้อม ผู้รับราชการเป็นผู้ช่วยสรรพสามิตจังหวัดปราจีนบุรี สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมจากโรงเรียนสายปัญญาเข้าประกวดนางสาวไทยในนามจังหวัดสมุทรสงคราม โดยการทาบทามของ หลวงอรรถไกลวัลวที บิดาของ ศรีสมรอรรถไกวัลวที รองนางสาวไทยเมื่อปีก่อน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของอุษณีษ์ขณะครองตำแหน่งนางสาวไทยเธอมีอายุ 18 ปีเต็มโดยเข้าร่วมประกวดพร้อมกับพี่สาว นวลละออ ทองเนื้อดี ซึ่งผ่านเข้ารอบรองสุดท้ายในการประกวดปีเดียวกันของ ''อุษณีษ์'' ความหมายที่มงคลต่อตัวเธอ อันมีความหมายว่า ''มงกุฎ'' มงกุฎของเธอซึ่งเป็นมงกุฎดิ้นเงินปักบนผ้ากำมะหยี่ดังเช่นปีที่ผ่านมาและยังมีแหวนเพชรเสียบอยู่บนเรือนมงกุฎอีกด้วย อุษณีษ์เข้าพิธีสมรสกับร้อยโท ม.ร.ว. พงษ์ดิศ ดิศกุล มีบุตรธิดารวม 5 คน



ประชิตร์ ทองอุไร นางสาวไทยพ.ศ. 2495

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมในปี 2495 ที่ค่อนข้างระส่ำระสายด้วยเรื่องของการจับกุมบุคคลในแวดวงการเมืองและต่างๆ ในข้อหาคอมมิวนิสต์หากงานฉลองงานรัฐธรรมนูญ 2495 ยังดำเนินต่อไปอย่างคึกคักด้วยผู้คนและห้างร้านต่างๆ ที่มาออกงานมากมายจนกระทั่งมีการเปลี่ยนสถานที่การจัดงานจากบริเวณสวนอัมพรไปยังบริเวณสวนลุมพินีซึ่งมีเนื้อที่กว้างกว่า และในส่วนของเวทีการประกวดนางสาวไทยที่ได้มีการจัดสร้างกันอย่างถาวรสาวงามผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวไทยคนที่ 11 คือตัวเก็งที่อยู่ในสายตาประชาชนตลอดการประกวด ได้แก่ ''ประชิตร์ ทองอุไร'' พร้อมรองอีก 4 นางสาว ได้แก่ ดวงจันทร์ บุญศรี, วิจิตรา วัลลิสุต,
พยุงศรี สาคริกานนท์ และนัยนา ไชยสุต


''ประชิตร์'' เกิดและเติบโตแถวถนนรองเมือง กรุงเทพมหานครบิดาเป็นนายตรวจสายไฟฟ้า กรมรถไฟ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้น จากโรงเรียนโพธิทัตได้รับการชักชวนจาก ภรรยาของ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานในสมัยนั้น โดยเข้าร่วมประกวดนางสาวไทยในนาม กระทรวง
เกษตราธิการหรือกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน


ขณะได้รับตำแหน่งนางสาวไทย ''ประชิตร์'' อายุ 18 ปี ด้วยรอยยิ้มอันงดงามบนใบหน้าอันคมคายทำให้เธอเป็นขวัญใจของวัยรุ่นในสมัยนั้นอย่างไร้ข้อกังขาและนับว่าเป็นนางสาวไทยของประชาชนอย่างแท้จริง



อนงค์ อัชชวัฒนา นางสาวไทย ปีพ.ศ.2496

ปลายปี 2496 งานฉลองรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างราบรื่นท่ามกลางข่าวการตัดสินคดีประทุษร้ายต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งนับเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ตกเป็นข่าวดังต่อเนื่องอยู่ในความสนใจของปวงชนชาวไทยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การประกวดนางสาวไทยก็ได้ สาวงามผู้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมความงามตามแบบฉบับหญิงไทย คือ อนงค์ วัชชวัฒนา ชัยชนะของเธอครั้งนี้อยู่เหนือสาวงามผู้เข้าร่วมประกวดถึง 130 คนท่ามกลางรองอีก 4 คน คือ นวลสวาท ลังกาพินธุ์ นางสาวถิ่นไทยงาม ปี 2496, อมรา อัศวนนท์, มารศรี ยุวนาการ และเลิศลักษณ์ ศิริวิเศษ


''อนงค์'' ครองตำแหน่งนางสาวไทยขณะอายุ 18 ปีเธอเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดเกิดและเติบโตในช่วงปฐมวัย ย่านสวนมะลิ เป็นบุตรสาวคนโตของครอบครัวมีน้องชาย 2 คนในวัยเด็กศึกษาที่โรงเรียนแก้วปัญญา และโรงเรียนสายปัญญาในระดับมัธยมก่อนที่ย้ายไปพำนักที่ สวรรคโลกและลำปาง ตามลำดับเมื่ออายุ 16 ปีขณะอยู่ลำปางเธอได้เข้าร่วมประกวดนางสาวลำปาง และพิชิตชัยชนะเป็นนางสาวลำปางก่อนที่จะเข้าร่วมประกวดนางสาวไทยเพียง 2 ปีต่อจากนั้นจึงเข้าร่วมประกวดนางสาวไทยในนามของกระทรวงการคลังในขณะที่ครองตำแหน่งนางสาวไทย เธอที่ได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นนาน 14 วัน จากการเชิญของธนาคารมิตซุย และเป็นนางสาวไทยคนแรกที่ได้รับการขับกล่อมในคืนวันรับตำแหน่งด้วยเพลง ''นางฟ้าจำแลง'' โดยมี ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ประพันธ์ คำร้องและทำนอง ซึ่งเพลง ''นางฟ้าจำแลง'' นับเป็นเพลงอมตะของการประกวดนางสาวไทยมาจวบจนปัจจุบัน


หลังจากพ้นหน้าที่ในตำแหน่งนางสาวไทย อนงค์ได้เข้าพิธีสมรสกับ นายแพทย์ไพฑูร นาคะเกศ ให้กำเนิดบุตรชาย 2 คน อนงค์ปิดฉากชีวิตลงด้วยการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เมื่อปี 2545 สิริรวมอายุ 68 ปี



สุชีลา ศรีสมบูรณ์ นางสาวไทย ปีพ.ศ.2497


ปี 2497 นับเป็นปีของการปิดตำนานการประกวดนางสาวไทยในยุคที่ 2ซึ่งมีสาวงามแห่เข้าร่วมประกวดถึง 241 คนโดยสวมชุดอาบน้ำสำหรับการประกวดซึ่งออกแบบโดย ยศวดี บุญหลง เช่นเดียวกับปี 2493 ซึ่งนับเป็นปีแรกของการประกวดที่สวมใส่ชุดว่ายน้ำ ท่ามกลางคนดูนับหมื่นและในที่สุด สาวงามในชุดอาบน้ำสีเขียวปีกแมลงทับผู้มาจากแดนไกลทางตอนเหนือของสยามนาม สุชีลา ศรีสมบูรณ์ ก็ได้รับการตัดสินให้เป็นนางสาวไทยประจำปี 2497 สมกับที่เป็นตัวเก็งจากการคาดหมายของสื่อมวลชนแต่แรกเริ่มประกวดในรอบแรกๆ โดยมีรองนางสาวไทยอีก 4 คน ได้แก่ อุทัยวรรณ เทพจินดา, จงดี วิเศษฤทธิ์, ระเบียบ อาชนะโยธิน และวาสนา รอดศิริ ตามลำดับ


''สุชีลา'' หรือ นามเดิม สมบูรณ์ ศรีบุรี พื้นเพเป็นชาวจังหวัดลำพูนเป็นบุตรีคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของครอบครัวเธอเป็นเด็กที่กำพร้าพ่อตั้งแต่เยาว์วัย จึงได้รับการอบรมเลี้ยงดูโดยผู้เป็นยาย เนื่องจากมารดาแยกไปมีครอบครัวใหม่เคยได้รับตำแหน่งรองนางสาวถิ่นไทยงามก่อนครองตำแหน่งนางสาวไทยเพียง 1 ปี ในฐานะตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรม ขณะสวมมงกุฎนางสาวไทยเธอมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และได้รับขนานนามจากหนังสือพิมพ์ว่า ''แสนซนคนสวย'' จากการเทรนของเทรนเนอร์อดีตรองนางสาวไทย 2493 คือ ศรีสมร อรรถไกวัลวที หลังจากครองตำแหน่งนางสาวไทย เธอได้ใช้ชีวิตคู่กับนักธุรกิจเจ้าของโรงแรมชากังราว จังหวัดกำแพงเพชร มีบุตรชายรวม 2 คน


การจัดประกวดนางสาวไทยในยุคที่ 2 นี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องกันมาในระหว่างปี 2493-2497 และนับเป็นยุคสุดท้ายที่รัฐบาลได้เข้ามามีบทบาทในฐานะเป็นผู้จัดการประกวดเพราะต่อมาการประกวดนางสาวไทยก็ถูกยกเลิกไปพร้อมกับงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ และแม้ว่าในปี 2499 จะได้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นอีกเป็นวาระสุดท้าย แต่ก็ไม่มีการจัดประกวดนางสาวไทยด้วยแต่อย่างไร







รูปภาพจาก //www.thaimiss.com


Create Date : 14 มิถุนายน 2550
Last Update : 20 มิถุนายน 2550 16:53:43 น. 2 comments
Counter : 5605 Pageviews.

 


โดย: K_chang วันที่: 15 มิถุนายน 2550 เวลา:17:34:18 น.  

 
ดีจังเลยค่ะ แล้วจะเข้ามาอ่านอีกน๊า....................


โดย: มล IP: 125.24.30.240 วันที่: 22 มิถุนายน 2550 เวลา:19:59:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

K_chang
Location :
ชลบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เฟิร์นคับ เป็นคนภูเก็ต แต่ต้องมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ งานอดิเรกก็มีบ้าง แต่ที่ติดอยู่ตอนนี้คือการทำบล็อก
และก็คงจะไม่เลิกง่ายๆซะด้วย

ยินดีต้อนรับเข้าสู่K_chang BLOG นะคับ…
Kittipong Jarusathorn
Instagram

Google
free counters
New Comments
Friends' blogs
[Add K_chang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.