ตุลาคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
15 ตุลาคม 2558
 

ประตูเข้าออกทางเดียว / วีรพงษ์ รามางกูร

ประตูเข้าออกทางเดียว โดย วีรพงษ์ รามางกูร

(ที่มา:มติชนรายวัน 15 ตุลาคม 2558)
ขอขอบคุณมติชนรายวัน และขอนำเนื้อหานี้มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา



"ทางเข้าออกทางเดียว" แปลมาจากภาษาฝรั่งจากคำว่า "single gateway" ที่เป็นเรื่องอยู่ในขณะนี้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่จะปิดทางเข้าออกของอินเตอร์เน็ต ซึ่งขณะนี้มีช่องทางที่จะเชื่อมต่อทางเข้าออกที่ออกไปสู่ต่างประเทศ หรือช่องหรือทางของข้อมูลข่าวสารที่จะมาจากต่างประเทศได้หลายช่องหรือหลายทางเข้าออก หรือหลาย gateways

ทางเข้าออกเช่นว่านี้มีทั้งของบริษัทเอกชนในประเทศกับเอกชนนอกประเทศ หลายทางเข้าออก โดยแต่ละช่องทางเข้าออก เอกชนที่จะลงทุนทำเครือข่ายเชื่อมกับต่างประเทศต้องขอใบอนุญาตจากทางการ ไม่ได้เปิดเสรี แต่รัฐบาลก็ได้อนุญาตให้เอกชนลงทุนทำไปแล้วหลายเส้นทาง

เปรียบเสมือนหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ที่อยู่ร่วมกันเป็นพันหลังคา ที่อนุญาตให้ทะลุกำแพงเป็นทางเข้าออกได้หลายทาง แต่ละเส้นทางที่เข้าออกก็จะมีด่านตรวจยานพาหนะ ตรวจผู้คนที่เดินทางเข้าออกอยู่แล้ว ถ้ามีสิ่งที่ไม่ต้องการหรือผู้คนที่ไม่ต้องการให้เข้าออก ก็ทำได้อยู่แล้ว แต่อาจจะช้า เพราะต้องรายงานไปศูนย์กลางวินิจฉัย ว่าจะห้ามการเข้าออกนั้นหรือไม่ การวินิจฉัยอาจจะไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตทำผ่านเส้นใยแก้ว หรือที่เรียกว่า "fiber optics" ที่เส้นทางมากมายและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ แต่ในส่วนที่จะเปิดประตูเป็นเส้นทางเข้าออกนอกประเทศ บริษัทเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐก็ต้องขอใบอนุญาตจากทางการ แต่ต้องลงทุนเองที่จะทำประตู เป็นยามตรวจสอบข้อมูลที่เข้าออกได้อยู่แล้ว เอกชนเป็นผู้ลงทุนพร้อมกับเครือข่ายเช่นว่ามีการตรวจสอบหรือปิดกั้นข้อมูลที่ไม่ต้องการเข้าออกแล้วรายงานให้ทางการทราบเหมือนกับยามที่ดูแลทางเข้าออกของหมู่บ้านจัดสรรที่ต้องห้ามบุคคลหรือของบางอย่างผ่านประตูเข้าออก

ด้วยเหตุนี้ข้อมูลทุกอย่างก็อาจจะถูกสกัดไม่ให้เข้าออก หรือให้ลบออกจากระบบอินเตอร์เน็ตได้ โดยการตั้งด่านสกัดที่ประตูเข้าออกเช่นว่านี้ได้อยู่แล้ว แต่ก็ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยากไม่รวดเร็ว ข้อมูลบางอย่างกว่าจะตรวจสอบหรือสกัดกั้นก็ผ่านไปแล้ว มีผู้คนได้อ่าน ได้เห็น หรือแม้แต่ได้เก็บข้อมูลไว้แล้ว

โลกทุกวันนี้ ระบบสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตมีการประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบ มีความแพร่หลายในการดำเนินการทางธุรกิจ ทั้งภาคการเงิน การคลัง การธนาคาร การซื้อขายสินค้า การเบิกจ่ายเงิน ธุรกรรมต่างๆ ทั้งระหว่างกันเองในประเทศและกับต่างประเทศ เพราะทำได้รวดเร็ว บันทึกเวลาที่ทำธุรกรรมกันได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทั่วโลกทำธุรกิจกันได้ เช่น การซื้อขายหุ้น พันธบัตร การสั่งซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จน "โทรเลข" หมดความนิยมและเลิกใช้ไปแล้ว เพราะอินเตอร์เน็ตทำหน้าที่ได้ดีกว่าในราคาที่ถูกกว่า จนระบบอินเตอร์เน็ตนั้นรัฐบาลลงทุนให้ใช้ฟรีเหมือนกับเป็นทางหลวง เป็นทางน้ำสัญจร ให้คมนาคมกันได้อย่างสะดวกและประหยัด

เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทางการได้อนุญาตให้สร้างประตูเข้าออกไปแล้วมากมาย มีที่เกิดขึ้นใหม่และมีการเลิกไปอยู่ตลอดมา เมื่อเจ้าของหมดความจำเป็นหรือไม่ต้องการ การที่ทางการของเราค่อนข้างจะให้เสรีภาพในการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตดังกล่าว ประเทศไทยจึงได้รับความสนใจจากต่างประเทศที่จะเข้ามาทำการลงทุนใช้เป็นศูนย์กลาง หรือชุมทางเข้าออกในภูมิภาคนี้ เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก



เมื่อรัฐบาลมีโครงการที่จะปิดประตูทางเข้าออกปัจจุบัน แล้วจะลงทุน 16,000 ล้านบาทเพื่อสร้างประตูเข้าออกเพียงประตูเดียว เพื่อตรวจสอบ ปิดกั้นการเข้าออก หรือการดักอ่านดูข้อมูลต่างๆ ที่ไหลผ่านประตูเข้าออกกับต่างประเทศ โดยหวังว่าจะทำได้ง่ายรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เหมือนกับการดักฟังทางโทรศัพท์ที่ผ่านชุมสายเพียงชุมสายเดียวก็ย่อมจะง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่าการดักฟังที่มีหลายชุมสาย โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางหรือชุมทางเข้าออกของอินเตอร์เน็ตก็คงจะหมดไป

หลายประเทศ แม้ว่าจะไม่เปิดเผยว่าทางการได้มีการดักฟังดักตรวจสอบข้อมูลผ่านช่องทางประตูต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป รัสเซีย จีน และอื่นๆ ต่างก็หาวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารทางด้านความมั่นคงกันทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายทั้งภายในและระหว่างประเทศ

เหตุการณ์การก่อการร้ายหลายแห่งถูกสกัดได้ทันก่อนจะเกิดขึ้นจริง ก็ได้จากการดักฟังโทรศัพท์ หรือการตรวจสอบข้อมูลที่สื่อสารถึงกันทางอินเตอร์เน็ต

การสกัดกั้นการตั้งเครื่องมือดักอ่าน ดักดู ดักฟัง ย่อมมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยทั่วไปว่า "ความเป็นส่วนตัว" ของตนถูกคุกคาม เพราะเราเป็นสังคมเปิด เป็นสังคมที่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ตราบใดที่ไม่ไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพและความมั่นคงปลอดภัยของสังคม การล่วงล้ำเข้าไปในสิทธิเสรีภาพความเป็นส่วนตัวนี้ต้องออกเป็นกฎหมาย ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

สังคมไทยยังเป็นสังคมที่อนุรักษนิยมอยู่มาก ความเป็นอนุรักษนิยมจึงสะท้อนมาในระเบียบกฎหมาย รวมไปถึงการแสดงออกทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ความหมายของคำว่า "ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน" จึงยังตีความไปในทางที่กว้างขวางกว่าประเทศทางยุโรปตะวันตก สหรัฐ แม้แต่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นลักษณะของสังคมเกือบทุกประเทศในแถบทวีปเอเชีย มีขอบเขตมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่คุณค่าที่สังคมนั้นๆ เห็นว่ามีความสำคัญต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนมากน้อยเพียงใด

เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลจะปิดประตูที่เคยอนุญาตใช้ แล้วนำมารวมกันเป็นประตูทางเข้าออกทางเดียว ก็เกิดการต่อต้านกันอย่างรุนแรงของชาวเน็ต โดยพร้อมใจกันมุ่งเข้าสู่ประตูทางเข้าออกของทำเนียบรัฐบาลจนล่มและก็ทำได้สำเร็จ เป็นการประลองกำลังจนรัฐบาลต้องถอยอย่างมีระเบียบ เรื่องจึงยุติลงได้



เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนความจริงอย่างยิ่งก็คือ คนชั้นกลางและคนชั้นสูงในสังคมไทยให้น้ำหนักและความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัว มากกว่าสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมส่วนรวม หรือสิทธิเสรีภาพทางการเมือง แสดงให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพอย่างหลังนั้นเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนอเมริกันและยุโรปตะวันตก ในสมัยนี้และต่างจากสมัยก่อน เป็นเรื่องภววิสัยมากกว่าอัตวิสัย

อีกเรื่องหนึ่งสำหรับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลก็คือ ถ้ารัฐเคยให้ความรู้สึกว่าสังคมเคยมีสิทธิเสรีภาพจนชินแล้ว ต่อมาทางการกระทำการใดๆ ที่รู้สึกว่าจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นจำนวนมากและใกล้ตัว ความรู้สึกต่อต้านจะเกิดขึ้นทันที เกิดมีการตอบโต้และอาจจะลุกลามกลายเป็นการต่อต้านรัฐบาลไปถึงเรื่องอื่นๆ ได้ เคราะห์ดีที่ไหวตัวทัน เรื่องจึงจบลงด้วยดี

ผลดีผลเสียของการมีหลายประตูทางเข้าออกก็มี หลายคนคิดว่าการมีประตูทางเข้าออกของเว็บต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตจะทำให้ระบบที่แยกกันเข้าออกจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าระบบที่มีประตูทางเข้าออกทางเดียว เช่น ถ้าเกิดมีปริมาณผู้เข้าออกมากกว่าความสามารถที่จะรองรับได้ ประตูเข้าออกประตูเดียวนั้นเกิดล่ม ก็จะทำให้ระบบทั้งระบบที่ติดต่อกับโลกภายนอกล่มทั้งระบบ

บางคนบอกว่าเพื่อจะสกัดกั้นการนัดแนะชุมนุมทางการเมืองของผู้คน ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่สำคัญ เพราะการนัดแนะกันทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งพร้อมกัน ก็ทำได้อยู่แล้วโดยวิธีอื่น เช่น ผ่านปากต่อปาก ผ่านโทรศัพท์มือถือ ผ่านการส่งข้อความทางโทรศัพท์ และช่องทางอื่นๆ ความจริงหากทุกอย่างเป็นไปตามทำนองคลองธรรม เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองก็คงจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นก็เพียงกลุ่มเล็กๆ ชั่วคราว เมื่อรัฐบาลสนองตอบให้แล้วก็น่าจะจบลง

การดักตรวจสอบประชาชนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน เพราะต้องลงทุนกับเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง และยังมีค่าใช้จ่ายประจำในการดำเนินการ ต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก ไม่แน่ใจว่าประโยชน์ที่ได้คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่มากมายนี้หรือไม่

ที่สำคัญ การลงทุน 16,000 ล้านบาทที่จะทำประตูเข้าออกทางเดียวนี้ กว่าโครงการจะเสร็จใช้งานได้ รัฐบาลนี้ก็พ้นหน้าที่ไปแล้ว รัฐบาลที่เข้ามาใช้จะเป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองใดก็ไม่ทราบ อาจจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ รัฐบาลที่เข้ามาใหม่อาจจะใช้เครื่องมือที่ใช้ดักตรวจสอบประชาชน เพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม อาจจะแอบดักตรวจสอบข้อมูลของกองทัพที่ติดต่อกับต่างประเทศด้วยก็ได้ สิ่งใดทำได้ผลในต่างประเทศไม่แน่ว่าจะใช้ได้ผลในประเทศไทย สำหรับประเทศไทยบทบาทอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลมีน้อยน่าจะดีกว่ารัฐบาลที่มีบทบาทมาก

คนไทยชอบความเป็นอิสระ และมีความเป็นส่วนตัวสูง คงไม่ยอม/จบ
.......................................................................................................



Create Date : 15 ตุลาคม 2558
Last Update : 15 ตุลาคม 2558 21:32:01 น. 0 comments
Counter : 911 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com