<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
11 สิงหาคม 2558
 

บุกเมืองโบราณ ซับจำปา′เเหล่งรวยอารยธรรม′ทวารวดี′/อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล

บุกเมืองโบราณ ′ซับจำปา′ เเหล่งรวยอารยธรรม′ทวารวดี′

โดยมติชน 
 อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล
ขอขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน และคุณอรพรรณ จันทาวงศ์ไพศาล
และขออนุญาตนำมารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาต่อไป ดังนี้




ผังเมืองโบราณซับจำปา ที่มีลักษณะเป็นเมืองอกแตก ที่มีการสร้างคูเมืองและกำแพงเมืองสลับเป็นฟันปลา และมีการดึงน้ำจากเทือกเขาดงพญาเย็นให้ไหลเข้าผ่านกลางเมือง


ประเทศไทยเป็นแหล่งร่ำรวยโบราณสถานและโบราณวัตถุ มีร่องรอยทางวัฒนธรรมปรากฏให้เห็นเด่นชัดในหลายพื้นที่

หนึ่งในนั้นคือ "เมืองลพบุรี" เมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ตำนาน และเมืองโบราณ ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป


เมื่อสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ มิวเซียมสยาม ชวนไปสำรวจเมืองโบราณอีกแห่งที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก กับโครงการบัตร "มิวส์พาส" (Muse Pass) ปีที่ 3 ภายใต้คอนเซ็ปต์ "เทรนด์สนุก บุกพิพิธภัณฑ์" จึงไม่พลาดที่จะเข้าร่วมทริปทันที

ก่อนลงพื้นที่ลองหาข้อมูล "เมืองโบราณซับจำปา" คร่าวๆ ในอินเตอร์เน็ต จนพอรู้รายละเอียดอยู่บ้าง แต่เพื่อความแม่นยำของข้อมูลต้องคุยกับผู้รู้ลึกอย่าง จารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี

เริ่มต้นการพูดคุยประเด็นแรก จารึกอธิบายถึงความสำคัญว่า ซับจำปา เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ที่เป็นแหล่งอารยธรรมขนาดใหญ่ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก เป็นชุมชนยุคโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ลักษณะเด่นคือ เมืองมีการสร้างน้ำคันดินรอบกำแพงเมือง และมีการรับวัฒนธรรมจากอินเดีย หลักฐานคือการพบจารึกอักษรปัลลวะมากมาย

ส่วนสาเหตุที่ซับจำปาไม่เป็นที่รู้จักนั้น ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ให้คำอธิบายถึงสาเหตุเพราะเป็นเมืองน้องใหม่ ที่เพิ่งขุดค้นอย่างเป็นทางการไม่ถึง 10 ปี

ก่อนจะขยายความว่า เเรกเริ่มเมื่อปี 2508 ปรีชา กาญจนาคม อดีตหัวหน้าภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาศึกษาขุดค้นเมืองโบราณซับจำปาเป็นครั้งแรกๆ แล้วก็ไม่ค่อยมีใครสนใจอีก ต่อมา ดร.ธนิก เลิศชาญฤทธิ์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาขุดค้นที่นี่อีกครั้ง และเมื่อปี 2549 สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี เข้าไปขุดเป็นทางการค้นพบโครงกระดูกจำนวนมาก อายุประมาณ 2,500-2,700 ปี เป็นโครงกระดูกรุ่นเดียวกับที่ค้นพบในบ้านโป่งมะนาว ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ยังพบเจดีย์สมัยทวารวดี เเละฐานอาคารก่ออิฐ รวมถึงเศียรพระทวารวดี สมัยพุทธศตวรรษที่ 13-14

"การนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯไปทรงเป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์ซับจำปาอย่างเป็นทางในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เชื่อว่าจะทำให้มีคนรู้จักเมืองโบราณซับจำปา และแหล่งชุมชนโบราณที่สำคัญมากมายในลุ่มแม่น้ำป่าสักที่ก่อตัวเป็นเมืองลพบุรีมากขึ้น"

หลังศึกษาข้อมูลและพูดคุยกับผู้รู้ถึงเวลาลงพื้นที่จริงเมืองโบราณซับจำปา ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี


(ซ้ายบน) ตุ๊กตาเสียกบาล ที่ใช้ในการสะเดาะเคราะห์สมัยทวารวดี ที่ขุดค้นพบในบริเวณเมืองโบราณซับจำปา (ขวาบน) เครื่องปั้นดินเผา ที่ถูกขุดพบในบริเวณเมืองโบราณซับจำปา (ซ้ายล่าง) พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณซับจำปา (ขวาล่าง) นิทรรศการ "ทรัพย์ซ้อนทรัพย์ที่ซับจำปา" ที่แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ต.ซับจำปา


ที่นี่เราได้เห็นร่องรอยของเมืองโบราณเด่นชัดหลายจุด เนตรนรินทร์ คำเรืองบุญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลซับจำปา จ.ลพบุรี และประธานชมรมรักษ์เมืองโบราณซับจำปา และป่าจำปีสิรินธร เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นพาชมและให้ความรู้ไปพร้อมกัน

เนตรนรินทร์เล่าประวัติความเป็นมาของเมืองโบราณแห่งนี้ว่าเป็นเมืองโบราณยุคทวารวดีที่สมบูรณ์ปรากฏร่องรอยการอาศัยอยู่ของมนุษย์ มีอายุกว่า 3,000 ปี สิ่งที่ยืนยันว่ามีการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ การพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น กำไลหิน กระดูกมนุษย์ และภาชนะดินเผาก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ 2,500-3,000 ปีมาแล้ว

ต่อมามีการค้นพบผังเมืองที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองโบราณครั้งแรกในปี 2512 โดยหน่วยบินปราบศัตรูพืชกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากช่วงนั้นมีตั๊กแตนระบาดในเขต อ.ชัยบาดาล ช่วงแรกที่นี่มีประชาชนอาศัยอยู่พอสมควร เลยมีการลักลอบขุนโบราณวัตถุออกไปบางส่วน


(ซ้าย) เนตรนรินทร์ คำเรืองบุญ (กลาง) เครื่องปั่นดินเผาที่ถูกค้นพบ (ขวา) เศียรพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดของประเทศ ที่ได้ขุดพบในบริเวณเมืองโบราณซับจำปา จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์


เนตรนรินทร์อธิบายอีกว่า เมืองโบราณซับจำปามีพื้นที่ 350 ไร่ เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ ร่องรอยที่เห็นทำให้เรารู้ว่าเมื่อพันกว่าปีก่อนมีการสร้างผังเมือง และมีระบบชลประทาน คือ ระบบการจัดการน้ำ ทำฝาย ถ้าสังเกตจากร่องรอยที่เห็นคูเมืองของที่นี่มีการทำลักษณะคล้ายเขื่อนธรรมชาติ ส่วนที่เป็นคูน้ำมีการนำไม้มาปักเป็นพนังกั้นน้ำแล้วใช้ช้างลากหินมาเทด้านในป้องกันน้ำเซาะกำแพงเมืองพัง

"นอกจากนี้ ผังเมืองของซับจำปายังมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ และมีแม่น้ำตัดกลางเมืองเป็นเอกลักษณ์พิเศษ ยังมีลักษณะเนินดินที่น่าจะเป็นป้อมปราการด้านนอกคูเมือง 4 จุดด้วยกัน คาดว่าจะเป็นจุดที่มีเวรยามเฝ้าอยู่ อย่างไรก็ตาม ชุมชนแห่งนี้มีผู้คนอยู่อาศัยจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 15 จึงถูกทิ้งร้าง ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรือแสวงหาที่อยู่ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากกว่า" เนตรนรินทร์อธิบาย

ระหว่างชมเมืองโบราณ เนตรนรินทร์เล่าถึงอดีตเมื่อไม่นานของที่นี่ให้ฟังว่า ถ้าย้อนไปประมาณ 40 กว่าปีก่อนพื้นที่ซับจำปา บริเวณนี้ไม่ค่อยมีคนกล้าเข้ามา เป็นพื้นที่น่ากลัว เพราะเป็นดินแดนของชุมโจร กลุ่มเสือต่างๆ หรือพวกหนีคดี อยู่แยกกันเป็นกลุ่มๆ มีการปล้นฆ่าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ท้ายที่สุดทางการก็เข้ามาปราบ ใช้วิธีการให้พวกเสือปกครองกันเอง ให้เลือกผู้นำกันเอง สุดท้ายเสือที่อยู่ตอนนั้นก็ฆ่ากันเอง เป็นวิธีการใช้เสือปราบเสือ

เนตรนรินทร์พูดติดตลกว่า "ผมเองก็เป็นลูกเสือคนหนึ่ง"

สำหรับจุดเด่นของซับจำปา เนตรนรินทร์บอกว่า คือการค้นพบหลักธรรม เจอหลักศิลาจารึกอักษรปัลลวะเก่าแก่ ที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมทางศาสนา ภาชนะดินเผา พระพุทธรูป ตั้งแต่ยังไม่มีการรับศาสนากว่า 1,000 ปี พบเศียรพระพุทธรูปยุคทวารวดีที่งดงามสมบูรณ์ที่สุด พบชิ้นส่วนและเศียรพระพุทธรูป ชิ้นส่วนพระพิมพ์ พระหัตถ์ ธรรมจักรพร้อมเสาและกวางหมอบ ปัจจุบันนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี เพราะเดิมที่ซับจำปาไม่มีที่เก็บรักษา แต่ตอนนี้เรามีพิพิธภัณฑ์ซับจำปาแล้ว อนาคตข้างหน้าตั้งใจจะขอวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบในพื้นที่ซับจำปามาจัดแสดงที่นี่ นำสมบัติกลับมายังท้องถิ่น

เนตรนรินทร์ทิ้งท้ายว่า "พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คิดว่าการมีบัตรมิวส์พาสจะสามารถช่วยกระตุ้นให้คนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจยิ่งไม่ค่อยดี คนเที่ยวกันน้อยลง บัตรนี้ก็จะช่วยให้คนตัดสินใจกันได้ง่ายยิ่งขึ้น"

สำหรับบัตรมิวส์พาสเป็นส่วนหนึ่งโครงการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวสามารถใช้เข้าชมพิพิธภัณฑ์32 แห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จำหน่ายที่มิวเซียมสยามและพิพิธภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ รายละเอียดเพิ่มเติมที่ //www.Museumssiam.org.

แหล่งท่องเที่ยวที่อุดมไปด้วยความรู้ไปพร้อมกัน กำลังรออยู่/จบ
.........................................................................................................



Create Date : 11 สิงหาคม 2558
Last Update : 19 กันยายน 2558 3:05:58 น. 0 comments
Counter : 1126 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com