<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
30 สิงหาคม 2558
 

ขอคว่ำ "รัฐธรรมนูญ" มาตรา 260 อันตราย : วีระกานต์ มุสิกพงศ์

 ประเด็นนี้น่าสนใจขออนุญาตนำข้อเขียนเรื่องนี้

ของคุณวีระ มุสิกะพงษ์ที่เขียนในมติชนรายสัปดาห์
มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาดังนี้

ขอคว่ำ "รัฐธรรมนูญ" มาตรา 260 อันตราย

 : วีระกานต์ มุสิกพงศ์


มติชนสุปสัปดาห์ คลองไม่ได้มีไว้ถอยหลัง วีระกานต์ มุสิกพงศ์  ขอคว่ำ "รัฐธรรมนูญ" มาตรา 260 อันตราย








"มาตรา 260 คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการจำนวนไม่เกินยี่สิบสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้

(1) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

(2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองในแต่ละประเภท ประเภทละหนึ่งคน และ

(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดคนซึ่งแต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง

ให้กรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และการอื่นที่จำเป็น ของคณะกรรมการตามมาตรานี้ รวมทั้งเงินประจำตำแหน่งและผลตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูป และการปรองดอง

ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ฯลฯ



เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า คณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ตกลงใจจะบัญญัติมาตรา 260 ดังความที่ยกมาให้เห็นนี้ไว้ใน รธน.ฉบับใหม่ของไทย ท่านผู้อ่านกรุณาอ่านซ้ำหลายครั้งหลายหน เพื่อจะได้จำไว้เป็นพื้นฐานสำหรับการถกเถียงในโอกาสข้างหน้า เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่ามันดีหรือไม่ดีอย่างไร ก่อนจะมีการประกาศใช้ซึ่งจะสายเกินการ

ข้อแรกที่จะต้องแสดงความคิดเห็นไว้ก็คือ กรรมาธิการยกร่าง รธน. นั้นประกอบไปด้วยบุคคลที่มี มีความรู้ มีเกียติคุณเป็นที่น่าเชื่อถือจากหลายๆ วงการ จำเพาะประธานกรรมาธิการนั้นเป็นที่พูดกันมาว่ามีคุณวุฒิ และวิทยฐานะสูงพอที่จะรับตำแหน่งสำคัญๆ ของบ้านเมืองในอนาคตได้อีกมาก

จึงเป็นที่หวังกันว่า รธน. ที่ออกมาจะไม่ทิ้งหลักการประชาธิปไตยไปไกล และไม่ว่า คสช. จะใช้อำนาจสิ่งการชี้นิ้วให้ทำอะไร อย่างไรก็คงไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดนี้คงไม่โอนอ่อนผ่อนตาม

แต่ทั้งหมดนี้ก็ผิดหวังเพราะกรรมาธิการเป็นที่พึ่งไม่ได้



ข้อที่ 2 พิจารณาจากผลงาน มาตรา 260 นี้แล้วทำให้เห็นว่าพวกเราพากันเข้าใจผิด หลงฝากอนาคตบ้านเมืองไว้กับกรรมาธิการ เหมือนฝากเนื้อไว้กับเสือ กรรมาธิการไม่กินเองดอกครับ แต่ชงให้คนอื่นขย้ำกินคล่องๆ คอ

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ การปฏิรูป และการปรองดองแห่งชาติประกอบด้วยคน 22 คนซึ่งมีที่มาตาม (1)(2) และ(3) ตามร่าง ม.260 จำเพาะที่มาตาม (1) นั้นได้คัดเอาคนจากราชการประจำมาทำหน้าที่ ทางการเมืองสำคัญแบบเนียนๆ จนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าไหนตำแหน่งราชการประจำ ไหนตำแหน่งการเมืองซึ่งนี่ก็คือปัญหาหลักที่แก้ไม่ได้ ของประเทศนี้ มาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง

การยอมรับอำนาจของราชการประจำในตำแหน่งเหล่านี้ จนต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้เข้ามามีบทบาททางการเมือง จะเป็นปมปัญหาทิ้งไว้ให้ลูกหลานต้องแก้กันอย่างดุเดือดเสียเลือดเนื้อ และชีวิตอีกในอนาคต ไม่ใช่การมอบบ้านเมืองเป็นมรดกที่ดี และน่ารักน่าหวงแหนให้ลูกหลานแน่นอน และพวกเราก็ไม่อาจนับเป็นบรรพบุรุษที่น่าเคารพบูชาของลูกหลานด้วย

อาจมีคนอธิบายว่าการเอาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มานั่งในตำแหน่งกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ให้มีอำนาจหน้าที่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะทำให้สามารถป้องกันการปฏิวัติได้ เพราะทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ ก็มีบุคคลเหล่านี้ แหละนั่งเรียงแถวประกอบกันเป็นคณะปฏิวัติ

ข้าพเจ้ากลับมองไปในทางที่ตรงข้ามว่า ทำอย่างนี้ก็เปรียบเหมือนเหมือนเอาหัวหน้ามิจฉาชีพทั้งหลายมาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในราชการตำรวจเสียแล้ว จะทำให้มิจฉาชีพทั้งหลายหยุดการปล้น อันเป็นอาชีพถาวรของพวกเขาลงได้ ซึ่งเป็นยุทธวิธีปราบมิจฉาชีพของนายตำรวจบางคนตามหลักเลี้ยงโจรไว้ปราบโจร

ขอถามตรงไปตรงมาสักคำเถอะ ว่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น ใครผู้ใดจะมีเสียงดังกว่าผู้บัญชาการทหารบกบ้าง?

และในบรรดากรรมการยุทธศาสตร์ทั้งหลาย จะมีใครมีเสียงดังจนสามารถคัดค้านผู้บัญชาการทหารบกบ้าง เห็นมีแต่จะโอนอ่อนนอบน้อม เข้าหาถึงตอนที่ท่านแผลงฤทธิ์ขึ้นมา

ดีไม่ดี จะเป็นการง่ายเสียอีกที่จะทำการยึดอำนาจภายในห้องประชุมกรรมการยุทธศาสตร์นั่นแหละ ไม่ต้องเคลื่อนรถถัง ไม่ต้องเคลื่อนกำลังให้อึกทึกครึกโครม

จากประสบการณ์ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ไม่มีองค์กรใด และไม่มีบุคคลใดจะสามารถยับยั้งไม่ให้เกิดการยึดอำนาจขึ้นในสังคมไทยได้ นอกจากจะมีใครสามารถทำให้กองทัพบกง่อยเปลี้ยเสียขาจนทำปฏิวัติไม่ไหว แต่นั่นก็เป็นการเสี่ยงที่ประเทศจะเสียหายอยู่ไม่น้อย



ทีนี้ มาพิจารณาอำนาจพิเศษที่จะมีอายุเพียง 5 ปีเท่านั้น ขยายไม่ได้ ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล มีความดังนี้

"มาตรา... ภายในห้าปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศหรือมีกรณีที่เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ทั้งการดำเนินการตามปกติของสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรีไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติกรณีดังกล่าวได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมดเท่าที่อยู่ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว"

เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร และให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์และการปรองดองแห่งชาติรายงาน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานวุฒิสภา ประธานศาลปกครองสูงสุด ทราบโดยเร็ว และแถลงให้ประชาชนทราบถึงการใช้มาตรการดังกล่าว

เมื่อได้มีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาโดยไม่ต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุม และให้ถือว่าในระหว่างที่มีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ เป็นสมัยประชุมของสภา"



ทั้งโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์นี้ไม่ทราบว่าจะเหมือนกับ โปลิตบูโร ของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วไปหรือไม่ข้าพเจ้าความรู้ไม่ถึง แต่พอจะบอกได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ในอนาคตคงจะทำให้ลูกหลานไทยต้องออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกจนต้องเสียชีวิตเลือดเนื้อกันอีกไม่น้อยแน่นอน

ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร ข้าพเจ้ายังเห็นว่านี่เป็นการริบอำนาจอธิปไตยของปวงชน ที่ได้มาจากการทำอภิวัฒน์ของคณะราษฎร เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 โน้น เป็นการขัดต่อหลักอำนาจอธิปไตยที่มี 3 คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งก็หมายถึงการทำลายประชาธิปไตย และเป็นการทรยศต่อประชาชน

ใครจะยอมรับข้อ รธน. ฉบับนี้ก็เชิญเถอะ แต่ข้าพเจ้าไม่รับ ขอประกาศเสียงดังฟังชัดว่า ไม่เอา รธน. นี้ ข้าพเจ้า นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ขอคว่ำ รธน. นี้ผู้ใดเห็นด้วย โปรดร่วมด้วยช่วยกัน/จบ

........................................................................................................

ขออนุญาตกรุงเทพธุรกิจรายวัน 

นำเนื้อหาต่อไปนี้มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา

'พิเชษฐ'ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญ 

เชื่อปชช.ไม่เอา

//www.bangkokbiznews.com/news/detail/663831


พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล,สส.กระบี่,ประชาธิปัตย์,ไม่รับ,ร่างรธน.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 6 ข้อว่า 1. ประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญ พร้อมลงมติคว่ำชั้นประชามติ 2. เปรียบนักกีฬาปฏิเสธกติกาเถื่อน 3. นักกีฬามีสิทธิไม่ลงแข่งขัน หากกติกาไม่ชอบมาพากล 4.รัฐธรรมนูญจะสร้างความวุ่นวายเสียหายแก่ระบบการเมืองและประชาธิปไตยในอนาคต 5. สังคมประชาธิปไตยสากลทั่วโลกกำลังจับตาดูและพร้อมจะต่อต้านรัฐบาลไทยที่มาจากการรัฐประหาร และ6. หากยังดันทุรังอยู่เช่นนี้ ประเทศชาติมีแต่จะยิ่งเสียหาย แล ะทีมเทวดาที่ไหนก็จะมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่ได้ 

นายพิเชษฐ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ถ้าผู้ลงสมัครส.ส.หรือนักการเมืองก็เหมือนนักกีฬาลงสนามก็มีสิทธิดูกติกา มีสิทธิไม่ลงแข่งขัน จึงขอฝากเอาไว้ว่า ถึงแม้ในที่สุดรัฐธรรมผ่านไปทุกอย่าง ถ้าถึงวันลงสนามจริง พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา หรือแม้แต่พรรคของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ไม่ลงการเมืองจะเป็นอย่างไร เพราฉะนั้นจะเอาแต่อำนาจอย่างเดียวไม่ได้ ดูเหมือนการเมืองจะสิ้นไร้ไม้ตอก

ถ้าประกาศเลือกตั้งแล้วพรรคการเมืองใหญ่ ไม่ร่วมด้วย ก็จะมีแต่พรรคการเมืองที่จ้างให้มาลง เหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว การเมืองจะเป็นอย่างไร จึงอยากให้เห็นว่า 83 ปี ที่ผ่านมาคนด่านักการเมืองกันมาก แต่เพราะนักการเมืองบ้านเมืองเราถึงได้พัฒนาเจริญก้าวหน้าจนถึงทุกวันนี้ เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เราต้องรักระบอบนี้ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เขียนไว้ว่าประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั่วโลกก็ยอมรับนับถือเรา 

นายพิเชฐ กล่าวอีกว่า วันนี้ดูเหมือนว่าคนเบื่อหน่ายนักการเมืองรังเกลียดประชาธิปไตย แล้วเราจะกลับไปเอา จอมพล พล.อ.มาปกครองประเทศ ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงเลยหรือ วันนี้กลายเป็นว่าเราเป็นประชาธิปไตย กลับไปชื่นชมทหารที่อยู่ๆ มายึดอำนาจแล้วมาตั้งสภาเอง เอาพวกตัวเองมาร่างรัฐธรรมนูญ ตนถึงรับไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีอะไรแตกต่างกัน เพราะดูรายชื่อผู้ร่างแล้วก็เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ดังนั้นถ้าใช้ไม่ได้ พวกนี้ต้องรับผิดชอบหรือไม่ เพราะใช้งบประมาณไปเท่าไหร่แล้วตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญมา ซึ่งคนอื่นในพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ผมทนไม่ได้ เพราะเป็นประชาธิปัตย์แท้จริง

"ร่างรัฐธรรมนูญนี้รับไม่ได้ ตั้งแต่มีการฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว วิธีล้มได้อย่างเดียวคือประชามติ ผมหวังว่าประชามติ จะล้มรัฐธรรมนูญได้ พรรคการเมืองไม่เอา ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอา ดูซิว่าประชามติจะผ่านได้อย่างไร"นายพิเชษฐ กล่าว/จบ

..................................................................................................................................

ขออนุญาตนำข้อมูลจาก บีบีซีไทยมารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา ดังนี้

ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญหลายประการขัดหลักประชาธิปไตยชัดเจน ขณะที่นายกตั้งคำถามความชั่วร้ายในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบก็มี

ศ.ดร. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์ กล่าวในการเสวนาวิชาการที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บ่ายวันนี้ว่าเขาอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บนพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบสากล ซึ่งมีหลักการ 5 ประการ ได้แก่ อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน ต้องมีการปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีหลักนิติธรรมตามหลักการปกครองโดยกฎหมาย ต้องมีหลักการมีส่วนร่วม และต้องมีการความโปร่งใสตรวจสอบได้

ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 3 ของร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งเขาเห็นว่านี่คือหลักการใหญ่ที่สุด ดังนั้นบทบัญญัติขอไหนขัดกับหลักข้อ 3 ถือว่าใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งเขาเห็นว่าบางบทบัญญัตินั้นผิดหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 3 อย่างชัดเจน บทบัญญัติข้อแรกคือที่มาของวุฒิสมาชิก ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนแรกมาจากกการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน ส่วนนี้เป็นประชาธิปไตย แต่อีก 123 คนมาจากการสรรหา ศ.ดร.ลิขิตกล่าวว่าทันทีที่มีการใช้วิธีการสรรหาก็ขัดหลักอำนาจอธิปไตยทันที และจำนวน 123 มากกว่า 77 ดังนั้นเมื่อมีการลงมติก็ไม่สามารถคานกันได้

“แม้จะเป็นคนที่มาเพื่อประโยชน์ชาติ แต่ไม่ใช่ประเด็นเพราะขาดหลักการสำคัญคือการมาจากประชาชน”

ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์กล่าวว่าบทบัญญัติต่อมาที่ผิดหลักอธิปไตยเป็นของปวงชน คือมาตรา 23 ซึ่งเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้หากเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมาวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเป็นวิกฤตที่สร้างขึ้นมาไม่ได้เกิดเองโดยธรรมชาติ แต่เป็นวิกฤตเพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะเอาคนนอกมาเป็นนายก และนี่ขัดกับหลักมาตรา 3 และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตที่หนักที่สุด

ศ.ดร. ลิขิตชี้ว่าบทบัญญัติที่ไม่เป็นไปตามหลักอธิปไตยเป็นของปวงชนข้อที่ 3 คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง ขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดที่สุดเพราะคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถควบคุมฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งได้ กลายเป็นพี่ใหญ่หรือบิ๊กบราเธอร์มากำกับดูแล

“บิ๊กบราเธอร์นี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประชาชนเลย นี่เป็นประชาธิปไตยเสี้ยวใบเท่านั้น คือเป็นประชาธิปไตยเพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์” ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์ทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า ประเทศไทยกับสังคมไทยจะไปทางไหน และประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหน แต่คนที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นักการเมืองทุกฝ่ายต้องคิดดีๆ ผิดพลาดไม่ได้ เพราะจะเสียหายอย่างมหาศาล

อีกด้านหนึ่ง ช่วงเที่ยงของวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านเป็นเรื่องที่ตนสั่งไม่ได้ แต่อยู่ที่ประชาชนว่าเรียนรู้ที่จะอยู่กันอย่างไรในอนาคต และตั้งคำถามกลับด้วยว่า ความชั่วร้ายต่างๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบได้เช่นกัน

“ไม่ใช่ผมสั่งหรือไม่สั่ง แต่อยู่ที่พวกท่านจะเรียนรู้ว่าจะอยู่กันอย่างไรในอนาคต จะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง จะอยู่ท่ามกลางการเมืองที่ไม่เหมือนปัจจุบัน ถ้าจะเอาแบบนั้นก็เอา แต่สิ่งที่จะเตือนไว้คือ รัฐธรรมนูญมีอยู่หลายหมวด หลายมาตรา อย่าไปดูแต่ 1 2 3 4 5 ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าอย่างนั้นมันก็คงจะไม่เป็นประชาธิปไตย ต่อให้พูดให้เป็นมันก็ไม่เป็น แต่ความชั่วร้ายที่มันเกิดขึ้นที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบมันจะมีหรือไม่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

(ภาพ ศ.ดร. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตสาขารัฐศาสตร์ ในงานเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

/จบ

..................................................................................................................................

ขออนุญาตนำข้อเขียนนี้จากกรุงเทพรายวันมารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาต่อไป..

เวทีวิเคราะห์ร่างรธน.ใหม่ ชี้เนื้อหามุ่งปมขยายพื้นที่อำนาจให้ฝ่ายมั่นคง คุมพื้นที่นิติบัญญัติ-บริหาร-ตรวจสอบต่อเนื่อง

//www.bangkokbiznews.com/news/detail/663970

วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฯ 2558 กับทิศทางการปฏิรูปการเมืองไทย : ทางออกหรือทางตัน,ลิขิต ธีระเวคิน,ไพโรจน์ พลเพชร,นิกร จำนง,ฉันทนา หวันแก้ว,อดิสร เกิดมงคล ,บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์,

วิเคราะห์ร่างรธน.ใหม่ ชี้มุ่งขยายพื้นที่อำนาจให้ฝ่ายมั่นคง

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง"วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฯ 2558 กับทิศทางการปฏิรูปการเมืองไทย : ทางออกหรือทางตัน" โดยมีนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายลิขิต ธีระเวคิน นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญคือหลักการจัดสรรอำนาจ โดยมีประเด็นที่เป็นประชาธิปไตยหลายส่วน ที่ให้ประโยชน์กับประชาชน และเป็นปรัชญาที่ดีซึ่งตนไม่ขอพูดถึง เพราะในร่างรัฐธรรมนูญมีหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย ได้แก่ 1.ไม่มีคำปรารภ เท่ากับการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีที่มาที่ไป เป็นแค่การรับจ้าง โดยไม่มีจิตวิญญาณ, 2.มาตรา3 กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ตนถือเป็นหลักใหญ่ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นมาตราใดที่เขียนโดยขัดแย้งหลักการดังกล่าวถือเป็นมาตราที่ใช้ไม่ได้ ได้แก่ ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการสรรหา จำนวน 123คน, เปิดช่องให้มีนายกฯ ที่ไม่เป็น ส.ส. แม้จะกำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบ 2 ใน3 แต่ไม่มีหลักประกันใดว่าไม่มีการสร้างวิกฤตเพื่อเปิดโอกาสให้มีนายกฯ คนนอก, คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เป็นคณะบุคคลที่ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถือว่าขัดกับมาตรา 3และขัดกับหลักประชาธิปไตย ที่คนภายนอกสามารถควบคุมการบริหารราชการได้ แม้จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแต่ยังมีผู้คอยกำกับ หรือ บิ๊ก บราเธอร์ อยู่ การทำงานก็ไปไม่ได้

"ผมมองว่าสปช.จะไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากผ่านแล้วเข้าสู่กระบวนการประชามติ หากประชามติไม่ผ่านจะเกิดผลกระทบเรื่องของการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น และอาจเกิดความขัดแย้งมากขึ้น"นายลิขิต กล่าว

ขณะที่นายไพโรจน์ พลเพชร สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีประเด็นที่ตนเป็นห่วงกรณีที่บทเฉพาะกาลกำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ประเมินผลการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว 4 ปี โดยมีประเด็นให้พิจารณาถึงการควบรวมกสม. เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำให้เห็นว่าแนวคิดของการควบรวมทั้ง 2 องค์กรยังมีอยู่ นอกจากนั้นคือการขยายพื้นที่ของฝ่ายความมั่นคงให้มีอำนาจมากขึ้น ทั้งในทางการเมือง และภาคท้องถิ่น โดยประเด็นดังกล่าว คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายความมั่นคงให้มีอำนาจทั้งการปฏิรูป ด้วยการเข้ามาเป็นผู้นำการปฏิรูป, ผู้นำของการทำยุทธศาสตร์ประเทศ ที่ระบุไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมถึงขออำนาจในการเข้ามาทำหน้าที่สรรหา ส.ว. จำนวน 123 คน เพื่อจะเข้าควบคุมการแต่งตั้งบุคคล ตามที่ส.ว.มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้ง รวมถึงส.ว.ดังกล่าวนั้นยังมีบทบาทที่ทำงานคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎร ในระยะเวลา 3ปี โดยตนมองว่าการขยายอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัตินั้นอาจเป็นชนวนที่นำไปสู่ภาวะขัดแย้งและนำไปสู่รัฐล้มเหลวได้

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน (กกร.) ขยายพื้นที่ให้ตัวแทน กกร. เข้ามาเป็นกรรมการสรรหาองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนั้นตนมองว่าการจัดสรรความสัมพันธ์ทางอำนาจ ฝ่ายความมั่นคงมีพื้นที่ทางอำนาจต่ออีก 5ปี เป็นเจตจำนงที่เขียนไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้เจตจำนงยังถูกออกแบบ วางผังไว้ในกฎหมาย แต่ความสัมพันธ์ทางการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่อยู่ในทัศนคติ ความกลัว ที่จะทำให้เกิดการยอมรับอำนาจ ที่ขยายผลให้ ข้าราชการประจำเข้ามาสู่ในวงการการเมืองมากขึ้น บนความที่ไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมือง

"ผมมองว่าสปช.จะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่กระบวนการต่อจากนั้นคือการทำประชามติ ผมขอให้คสช. เปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ตามระบอบประชาธิปไตยที่ให้เสรีภาพ เพื่อเป็นการให้ความรู้กับประชาชน ไม่ให้สังคมร่วมถกเถียง โดยไปสู่ความขัดแย้ง" นายไพโรจน์ กล่าว

ด้านนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญรอบปัจจุบันมีเป้าหมายคือลดความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ให้มีรัฐบาลผสม หรือให้เป็นพรรคเล็กเหมือนกันหมด เพื่อให้การเมืองไม่มีพรรคใดที่ใหญ่ไปกว่ากัน ให้เป็นรัฐบาลผสม เพื่อให้ควบคุมกันได้ง่าย ส่วนการทำประชามติที่เรียกร้องถือเป็นการหลงเข้าไปตามเกม เนื่องจากการทำประชามติเป็นเรื่องที่ถูกออกแบบให้ไว้แล้ว แต่เมื่อเรียกร้องให้มีการทำประชามติแล้ว จะเป็นผลที่ทำให้ไม่มีทางแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนขอเรียกว่าเป็นการมัดตาชก เพราะไม่มีใครเห็นเนื้อหาระหว่างกระบวนการยกร่าง ได้แก่ 1.กรณีให้นายกฯมาจากคนนอก, 2.กรณีที่ขอตั้งส.ว.สรรหา จำนวน 123 คนด้วยตนเอง แม้จะกำหนดให้มีวาระ 3ปี สิ่งที่เขาต้องการคือ คือ การแต่งตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้กำหนดหรือวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญ, กรรมการ ป.ป.ช., 3.คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งตนมองว่าจะไม่เกิดการยอมรับในอำนาจ หากกลไก หรือฟันเฟืองมีการขับเคลื่อนแล้ว แกนประเทศจะขาด 

"ผมมองว่าหากเราย้อนไปถึงที่มาที่มีปัญหา ดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนแก้ปัญหาไว้หมดแล้ว ทั้งระบบรัฐสภา ที่มีพรรคเล็ก, วุฒิสภาถูกกระจาย, มีการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ เปรียบเหมือนมีกุญแจเพื่อปลดเดทล็อคทั้งในรัฐสภา ทั้งการชุมนุม การลุแก่อำนาจ ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ปัญหาคือตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ทำไม เหมือนกับมีกุญแจล็อคกุญแจอีกชั้น ทำไมไม่ปล่อยให้กระบวนการได้เติบโต นอกจากนั้นแล้วกรณีของการมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นกลไกบริหารการปฏิรูป ทั้งที่ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐวางกติกาแล้ว ขณะนี้สิ่งที่เราดีไซน์ กลัวเกินไป เราสร้างปัญหารัฐบาลซ้อนรัฐบาล และกังวลว่ารัฐบาลจะกลายเป็นเป็ดง่อย หากนายกฯรัฐบาลหน้ามาจากคนนอก และเป็นหัวหน้าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯจากเป็ดง่อย จะเป็นพยัคฆ์ติดปีก ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวและนำไปสู่ความเสียหายยิ่งใหญ่ ผมกลัวว่าสิ่งที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทำแม้จะบริสุทธ์ิใจ แต่อาจกลายเป็นบาปบริสุทธิ์ได้"นายนิกร กล่าว  

นายนิกร กล่าวว่าขอวิเคราะห์แบบการเมืองว่า สปช.จะให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ส่วนเหตุการณ์ หลังจากนั้นจะเกิดความขัดแย้งขึ้น อาทิ อันดับแรก คือการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นของเสียงผ่านประชามติ เพราะในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่1) พ.ศ.2558 กำหนดเสียงที่ผ่านประชามติ คือ เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นไปได้ยาก หากมีผู้ที่นอนหลับทับสิทธิอาจทำให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ, สปช.ที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จะออกมาเป็นผู้นำพรรคการเมืองในการค้านร่างรัฐธรรมนูญที่สื่อสารไปยังประชาชน และทำให้กระแสไหลไปทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจเกิดลักษณะของการคัดค้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมขึ้นได้อีก ทั้งนี้ความขัดแย้งระหว่างประชาชนและอำนาจรัฐอาจเกิดขึ้น ทำให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงได้อีก

"ประชามติ ผ่านไม่ง่าย หากไม่ผ่านก็กลับมาทำใหม่ แต่วันนั้นความเชื่อถือ ความยอมรับ และความไว้ใจจากฝ่ายต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น กรรมการที่เข้ามาดูแลการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือการเลือกตั้งก็จะมีปัญหา ทั้งนี้ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมไทยเรียนรู้ แต่เป็นบทเรียนที่แพงมาก และประเทศบอบช้ำ"นายนิกร กล่าว

ส่วนนางฉันทนา หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปรองดอง ตนมองว่าบทบาทของกองทัพหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากกองทัพมีภาวะผู้นำ ในการปฏิรูป หรือสร้างความสัมพันธ์กับการเเมืองได้ จะเป็นหลักประกันให้องค์ประกอบทางการเมืองที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ นอกจากนั้นในส่วนกลไกการปรองดองและกลไกติดตามความขัดแย้งถือเป็นการปกติ แต่ไม่ใช่ภาคบังคับ หรือกำหนดชี้ชัด โดยหลักการคือการทำงานร่วมกัน เมื่อนำมาเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณาองค์กรประกอบผู้ที่กำกับ เช่น กรรมการที่ไม่มีฝ่ายค้าน ดังนั้นไม่รู้จะปรองดองได้อย่างไร, ที่ระบุว่าแก้รัฐประหารตนมองว่าควรจะแก้เรื่องการปฏิรูปกองทัพจะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯมีความเสี่ยงสูงในเรื่องการใช้อำนาจ และความเกี่ยวพันกับอำนาจอื่นๆ อย่างไร ตนมองว่ากรณีดังกล่าวเป็นจุดที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในองค์กรทางการเมืองและกลายเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ได้  

นายอดิสร เกิดมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำลายสิทธิของกระบวนการแรงงานอย่างไม่ตั้งใจ ในกรณีที่กำหนดให้ผู้ใช้แรงงานตั้งสหภาพแรงงานได้ ไว้ในหมวดสิทธิของปวงชนชาวไทย หากมุมมองการดำเนินงานนั้นถูกเปลี่ยนไปในเรื่องของความมั่นคง ส่วนกรณีที่ให้มีคณะกรรมการประเมินผลฯ เพื่อทำหน้าที่ประเมินในส่วนของหน่วยงาน ทำให้ไม่เกิดการยึดโยงกับประชาชน สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดด้วยการเปิดพื้นที่ให้ประชาชน ตนสงสัยว่าประชาชนอยู่ตรงไหนของการเมือง แม้จะมีการมีส่วนร่วมเสนอกฎหมายหรือประชาธิปไตย เป็นเพียงขนมหวาน ส่วนที่เหลือเป็นการให้รัฐราชการทำหน้าที่กำกับ ทำให้ประชาธิปไตยห่างไกลจากประชาชนไปเรื่อยๆ

"สิ่งที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เหมือนเป็นกล่องที่ให้คือ ความหวังประชาชน แต่จริงๆ แล้วในกล่องคือไม่มีสิ่งใดเป็นความหวังเลย มีแต่ปีศาจ พอประชาชนรับก็มีแต่ปีศาจออกมาเต็มไปหมด ผมจึงกังวลอย่างยิ่ง" นายอดิสร กล่าว  

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีความเห็นต่างอย่างเข้มข้นทั้งจากฝั่งราชการ นักการเมือง และประชาชน ซึ่งแต่ละคนตีความเจตนารมณ์ในต่างมุมกัน เช่น ความเห็นของข้าราชการ มองว่าร่างรัฐธรรมนูญเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากเกินไป และอาจทำให้เป็นอุปสรรคของการทำงาน ขณะที่ประชาชนมองว่าให้สิทธิต่อกระบวนการมีส่วนร่วมน้อยไป ทั้งนี้เข้าใจว่าการเขียนรัฐธรรมนูญนั้นมีความขัดแย้งไม่อยู่ และอยู่จุดสูงสุดที่รอจุดเปลี่ยนแปลง ส่วนกรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ตนเข้าใจว่าเป็นสิ่งใหม่ และแปลกเมื่อเทียบกับมุมมองเสรีประชาธิปไตย และไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แล้วจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ยอมรับว่าได้เขียนเนื้อหาในสัปดาห์สุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญและเมื่อเขียนเสร็จได้แถลงให้สาธารณะรับรู้ทันที ตนมองว่าหลายเรื่องเป็นประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหา และภาคพลเมือง แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเมื่อนำทฤษฎีเสรีประชาธิปไตยมาจับ ทั้งนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีส่วนที่ยึดโยงกับประชาชน คือ มีประธานรัฐสภา มีนายกฯ และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่มาจากรัฐสภาแต่งตั้ง ร่วมเป็นกรรมการ

"ส่วนการทำงานของกรรมการฯ ที่มีทั้งกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง และสภาดำเนินการปฏิรูปนั้น ไม่ใช่เป็นการคิดอะไรใหม่ แต่เป็นไปตามกรอบของแนวทางที่สปช. ได้ทำมา ส่วนอำนาจพิเศษนั้นไม่ใช่ในภาวะปกติ ผมภาวนาใน5 ปีจะไม่เกิดเหตุขัดแย้งจนรัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้ขึ้นมา อาจออกมาอีกมุมคือการระงับความขัดแย้งและนำชาติสู่ความสงบ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ"นายบัณฑูร กล่าว  

เขา กล่าวอีกว่า ขณะนี้สนช.ยังสามารถ ที่จะเสนอคำถามประกอบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งหาก สนช.  ตั้งคำถามว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯหรือไม่ และหากประชาชนเห็นด้วยกับคำถามนี้ตัวร่างรัฐธรรมนูญ  ยังสามารถที่จะกลับมาแก้ไขในเนื้อหาใหม่ได้อีก /จบ

.................................................................................................................................

ขออนุญาตนำข้อเขียนจากกรุงเทพธุรกิจรายวันต่อไปนี้

มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา ดังนี้

จาตุรนต์ ฉายแสง,ร่างรธน.,คสช.,ได้ประโยชน์มากที่สุด

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุค ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ใครเสียประโยชน์ ใครได้ประโยชน์ ?ที่กล่าวว่าประชาชน คือผู้เสียประโยชน์มากที่สุดนั้นก็เพราะแม้ประชาชนจะมีสิทธิ์เลือกสว.ก็เป็นสว.ส่วนน้อย เลือกสส.เข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปคอยออกกฎหมายปฏิรูปตามที่คปป.มอบหมายตั้งใจไปเลือกรัฐบาลก็อาจได้คนนอกเป็นนายกฯ ถ้าได้รัฐบาลก็บริหารประเทศไม่ได้ ตอบสนองความต้องการของประชาชนก็ไม่ได้

เพราะต้องคอยทำตามการมอบหมายของคปป. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอายุเพียงสั้นๆ เพราะมีกงจักรสังหารเต็มไปหมด ประชาชนจะไปอาศัยการลงประชามติ พรบ.ประชามติก็บอกให้ต้องมีคนมาใช้สิทธ์เกินครึ่ง คนไม่เห็นด้วยนอนอยู่บ้าน ประชามติก็ไม่ผ่านแล้ว

ถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี เสนอได้ แต่แก้ไม่ได้ทั้งรัฐบาลและสภาที่ประชาชนเลือกไปจะอยู่ใต้อำนาจของคปป.ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชนเลยและไม่มีใครตรวจสอบได้ด้วย

ส่วนที่กล่าวว่าผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ คสช.และผู้ใกล้ชิดก็เพราะว่าเมื่อสปช.ผ่านร่างนี้แล้ว คสช.จะตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปขึ้นเพื่อทำการปฏิรูป ส่วนคสช.จะคงอยู่และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนืออำนาจอธิปไตยทุกฝ่ายต่อไปจนกว่าจะมีครม. หลังการเลือกตั้ง

ตามบทเฉพาะกาลของร่างนี้ สนช.จะเป็นผู้ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคปป.ซึ่งเมื่อรวมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้วก็จะมีเสียงเกินสองในสาม นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่อดีตนายกฯจะเป็นผู้ที่มาจากคสช.หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับคสช. คปป.จึงเท่ากับการสืบทอดอำนาจของคสช.โดยตรง

ในส่วนของการแต่งตั้งสว.ตามบทเฉพาะกาล คณะรัฐมนตรีก่อนเลือกตั้งจะมีบทบาทสำคัญในการลากตั้งสว. ซึ่งจะมีอำนาจมากมาย รวมทั้งการถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆทุกฝ่ายได้ทั้งหมด

จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่จะทำให้คสช.และผู้ใกล้ชิดมีตำแหน่งและอำนาจมหาศาลจากวันนี้พรุ่งนี้ต่อเนื่องไปจนหลังการเลือกตั้งและต่อไปไม่มีกำหนด ไม่ใช่เพียง 5 ปีอย่างที่มีการพยายามแก้ตัวกันอยู่

ให้ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ผ่านไม่ได้หรอกครับ

โดยก่อนหน้านี้ นายจาตุรนต์ ได้ทวิตเตอร์และนำมาโพสต์เฟซบุค วันเดียวกัน โดยกล่าวถึงการพิจารณาของสปช.ในวันพรุ่งนี้ 6 กันยายนว่า หากสปช.เห็นชอบผ่านร่างรัฐธรรนูญในวันที่ 6 กย.นี้ ก็เท่ากับผลักประเทศไปสู่วิกฤตความขัดแย้งครั้งใหญ่ ที่ว่าขัดแย้งนั้นไม่ใช่เพราะคนที่เห็นแตกต่างจะทะเลาะกัน ไม่ใช่การรณรงค์หรือแสดงความเห็นจะทำให้เป็นวิกฤต เพราะการลงคะแนนย่อมเป็นทางออก


ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าการลงประชามตินั้นจะต้องเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม แต่ฟังจากผู้มีอำนาจแล้วคงไม่เป็นอย่างนั้นและนั่นจะเป็นเหตุให้ขัดแย้งหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็จะมีปัญหาทั้งเนื้อหาไม่เป็นที่ยอมรับและการลงประชามติไม่เป็นที่ยอมรับ

หากร่างรัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุดคือประชาชนทั้งประเทศ ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือคสช.กับผู้ใกล้ชิดหยิบมือเดียว  เมื่อรัฐธรรมนูญนั้นออกฤทธิ์ของความเป็นเผด็จการเต็มที่ ก็จะถึงจุดระเบิดอย่างสมบูรณ์แบบ

การตัดสินใจของสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้จึงมีความสำคัญต่อประเทศอย่างมาก หากยังดื้อดึงกันต่อไปทุกฝ่ายก็คงต้องเตรียมรับการสิ่งที่จะเกิดตามมา ทางที่จะป้องกันไม่ให้สังคมไทยก้าวสู่วิกฤตคือ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่คว่ำก็ให้การลงประชามติเป็นไปโดยเสรีและยุติธรรม แล้วก็ช่วยกันคว่ำ/จบ

...............................................................................................................................

ขออนุญาตมติชนรายวันนำข้อมูลนี้ มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาต่อไป

วันที่ 5 ก.ย. โค้งสุดท้ายก่อนที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติ รับ -ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. มีมุมมองที่น่าสนใจจากทั้ง ฝ่ายของสมาชิก สปช. และคนอื่นๆ  มติชนออนไลน์ รวบรวม มาให้ติดตามอ่าน




โค้งสุดท้าย ยังคงมีการล็อบบี้ขอคะแนนเสียงกัน ถึงขนาดว่า สปช.บางคนถูกโทรตามวันละ 5 เวลา
//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441427669



ความเคลื่อนไหวของ สปช.


กมธ.ยกร่าง "คำนูณ" บอกแบบมีนัยยะเตรียมหานิยายจีนอ่าน
//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441424926


เสรีสุวรรณภานนท์แจงละเอียดยิบเหตุผลไม่รับร่างรธน.
//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441436947


สปช."ดิเรก"เชื่อจบแล้วคะแนนฝั่งโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญชนะ
//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441439002


สปช.สุพรรณบุรีมาแปลกดีใจเสียงโหวตคว่ำรธน.ชนะขาดจะได้โหวตรับตามจุดยืน
//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441439746


"สิระ"เชื่อสปช.245คนหลงเชื่อคนแค่2คนที่ชวนโหวตคว่ำร่างรธน.

//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441443165


สปช.ฝ่ายรับร่างฯยันไม่ต้องล็อบบี้มั่นใจรธน.ดีแก้ไขปัญหาประเทศได้

//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441446049


ความเห็นด้านอื่นๆ


′บิ๊กป้อม′ยัวะมีคนอ้างชื่อสั่งคว่ำร่างรธน.ลั่นถามหาชื่อเตรียมฟ้องร้อง

//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441451244


มุมมองนักวิชาการ สปช.โหวต เป็นแค่โชว์ที่ประชาชนไม่เกี่ยว
//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441431771


"จาตุรนต์"ย้ำถ้าร่างรธน.ผ่านประชาชนหมดหนทาง
//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441438891


หัวหน้าทีมกม.ประชาธิปัตย์เชื่อร่างรธน.ฝ่ากระแสต้านผ่านได้

//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441444496


ความเคลื่อนไหวอื่นๆ


พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ยืนยันไม่อนุญาตให้ นปช.แถลงข่าวเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยสาเหตุหนึ่งมาจากการที่แกนนำกล่าวให้ร้าย คสช.หลายครั้ง
//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441424143


นปช.ยื่นอีกขอคสช.แถลงรธน.-ปัดปลุกปั่นขอหนุนรบ.จนกว่าสร้างยานไปดาวอังคารได้

//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441438338


"จตุพร" ไม่สน คสช.ห้าม เล็งแถลงจุดยืนคว่ำร่าง รธน.พรุ่งนี้

//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441458226/จบ

.....................................................................................................





 

Create Date : 30 สิงหาคม 2558
0 comments
Last Update : 19 กันยายน 2558 3:16:42 น.
Counter : 1624 Pageviews.

 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com