<<
มีนาคม 2559
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 มีนาคม 2559
 

Spotlight กับจริยธรรมแห่งสื่อ

Spotlight กับจริยธรรมแห่งสื่อ

ขอนำเนื้อหานี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา
พรุ่งนี้ 5 มีนาคม วันนักข่าว หัวข้อที่สำคัญที่สุด
เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง “จริยธรรมสื่อ” ซึ่งเป็นหัวใจของการที่จะทำให้สังคมไทยยังคงไว้ซึ่ง “ศรัทธา” ต่อวิชาชีพที่อาสาทำหน้าที่เป็น “กระจกส่องสังคม” และ “หมาเฝ้าบ้าน” ให้กับประชาชนทั่วไป

ผมพานักศึกษาไปดูหนัง Spotlight ซึ่งเพิ่งได้รางวัลออสการ์ในฐานะ Best Picture ตอกย้ำถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในการขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลของสังคม โดยเฉพาะในวงการที่เคยเชื่อว่า “แตะต้องไม่ได้” แต่กลายเป็นแหล่งความชั่วร้ายทำลายศีลธรรมอย่างร้ายแรงเช่นวงการสงฆ์ของอเมริกา

บทบาทสื่อในการทำหน้าที่เป็น “หมาเฝ้าบ้าน” (Watchdog) ด้วยการทำข่าวแนวสืบสวนสอบสวน (Investigative Journalism) จึงเป็น “ความรับผิดชอบ” ในฐานะสื่อสารมวลชนที่ถือเอาผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

การจะทำหน้าที่เช่นนี้ได้คนทำสื่อต้องมีหลักปฏิบัติที่มีจริยธรรม ยึดมั่นในการแสวงหาความจริงอย่างไม่หวั่นไหวต่อการข่มขู่คุกคามและที่สำคัญคือจะต้องไม่มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบเสียเอง

ระหว่างการเสวนาว่าด้วยหนังเรื่องนี้ ก็มีคำถามทันสมัยว่า “มาตรฐานจริยธรรม” ของคนข่าวในการรักษาศรัทธาของสังคมนั้นควรจะอยู่ตรงไหน โดยเฉพาะในทางปฏิบัติ เช่นกรณีคำสั่งตัดสินจำคุกของศาลอาญาต่อสรยุทธ สุทัศนะจินดาที่เป็นข่าวคราวอยู่ในช่วงนี้

คำตอบของผมคือความจริง หากยึดสิ่งที่เรียกว่า “สำนึกแห่งจริยธรรม” ของคนข่าว ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องสลับซับซ้อนอะไรเลย

ในวิชาชีพของคนข่าวนั้น ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่า “ความน่าเชื่อถือ” (credibility) ซึ่งมาจากการทำหน้าที่อย่างปราศจากอคติ ซื่อสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อความจริงและรักษาระหว่างห่างอันเหมาะควรกับแหล่งข่าว

อีกทั้งยังต้องไม่กระทำการใดที่ส่อไปในทางที่อาจตีความไปได้ว่าเป็นการ “ทับซ้อนแห่งผลประโยชน์” (conflict of interest)

มาตรฐานที่ถูกต้องนั้น ไม่ต้องรอให้มีคำพิพากษาของศาลด้วยซ้ำ เพียงแค่หากพฤติกรรมของคนข่าว “ส่อ” ไปในทางทุจริตหรือเป็นที่ครหาว่าเข้าข่ายที่จะทำให้กระทบต่อ “ความน่าเชื่อถือ” หรือ “ศรัทธา” คนข่าวคนนั้นก็จะต้องถอยห่างจากการทำหน้าที่แล้ว

ทำไมคนข่าวต้องมี “ความสำนึกในความรับผิดชอบ” เข้มข้นขนาดนั้น?

เพราะคนที่เสนอตัวเป็น “นักสื่อสารมวลชน” นั้นอาสามาทำหน้าที่นี้เอง และเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องเข้าใจว่าสังคมคาดหวังมาตรฐานแห่งจริยธรรมในการทำหน้าที่ที่สูงกว่ามาตรฐานโดยเฉลี่ยของคนทั่วไป

หาไม่แล้ว ทำไมคนข่าวจึงมีสิทธิมากกว่าชาวบ้านในการเข้าไปในบางสถานที่ ขอสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ และวิพากษ์วิจารณ์ “โดยสุจริต” โดยได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย?

คนข่าวได้รับสิทธิเหนือคนทั่วไป ก็เพราะอาสามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวบ้าน ในการทำหน้าที่รายงานข่าวสารให้กับสาธารณชน

เมื่อคนข่าวมีสิทธิเหนือกว่าคนอื่นในหลายเรื่อง สังคมก็คาดหวังมาตรฐานความรับผิดชอบและจริยธรรมที่สูงกว่า

นี่คือตรรกะแห่งวิชาชีพที่ต้องเข้าใจกัน ตั้งแต่ผู้อาสาเข้ามาทำงานอาชีพนี้ตั้งแต่วันแรกที่เรียกตัวเองว่า “คนข่าว”

ในแวดวงราชการนั้น หากหน่วยงานทางการสอบสวนเรื่องทุจริต “ชี้มูลความผิด” ข้าราชการคนนั้นก็ต้องถูกพักราชการเอาไว้ก่อน เพราะหากเขายังทำหน้าที่อยู่ก็จะทำให้เกิดความสงสัย ในหมู่ประชาชนว่าเขาจะเป็นอุปสรรคในการสอบสวนให้ครบถ้วนกระบวนความหรือไม่ อีกทั้งประชาชนในฐานะเป็นผู้เสียภาษี ก็ย่อมมีความสงสัยคลางแคลงในความสามารถในการทำหน้าที่ของข้าราชการคนนั้น ๆ

ทำไมคนข่าวที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดทุจริตถึงขั้นต้องจำคุก (หรือแม้ถูก “ชี้มูลความผิด” โดยหน่วยงานสอบสวนเรื่องทุจริต) จึงต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการระงับการทำหน้าที่สื่อ?

เหตุผลง่ายมากครับ...คนข่าวต้องตรวจสอบคนอื่นในสังคมว่าทำอะไรที่ไม่ชอบมาพากลหรือไม่? คนข่าวต้องรายงานวิเคราะห์และวิพากษ์ข่าวทั้งสังคม ว่ามีอะไรที่ใครทุจริตประพฤติมิชอบบ้าง และคนฟังคนดูต้องเชื่อว่าคนข่าวคนนั้นทำหน้าที่นั้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากความลำเอียง อคติ และตนเองไม่มีผลประโยชน์หรือความรู้สึกกระอักกระอ่วนในการทำหน้าที่นั้น

ดังนั้น คนข่าวที่ถูกตัดสินโดยกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะในขั้นตอนใดว่ามีความผิดแล้ว สิ่งแรกที่ถูกกระทบทันทีก็คือ “ความน่าเชื่อถือ” และ “ศรัทธา”

การที่มีความเห็นแตกต่างว่าคนข่าวคนนั้นควรจะยังอยู่หน้าจอหรือไม่ หรือมีความเห็นแย้งระหว่างคนที่เรียกร้องให้ “คว่ำบาตร” กับคนที่เห็นอกเห็นใจใน social media ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า

คนข่าวเมื่อถูกตัดสินว่าผิดก็คือผิด และต้องแสดงความรับผิดชอบโดยไม่ต้องให้ใครมาบอก กดดันหรือร้องขอ

การระงับบทบาทในฐานะคนข่าว เพื่ออุทธรณ์ตามกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นการแสดงความเคารพต่อวิชาชีพสื่อสารมวลชน เคารพต่อสาธารณชน เคารพต่อความรู้สึกของเพื่อนร่วมอาชีพ

และที่สำคัญที่สุดคือการเคารพต่อมโนธรรมของตนเอง

จริง ๆ แล้วเรื่องจริยธรรมไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรเลย หากมโนธรรมยังทำงานเป็นปกติในสังคมไทย





 

Create Date : 04 มีนาคม 2559
0 comments
Last Update : 4 มีนาคม 2559 16:50:53 น.
Counter : 887 Pageviews.

 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com