Me, Myself and Formula 1
Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 
24 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
Singapore Grand Prix 2010

มาถึงแล้วค่ะ รายการสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ "Night Race" เพียงรายการเดียวของฟอร์มูล่าวัน







รายละเอียดการแข่งขัน
วันแข่งขัน : อาทิตย์ที่ 26 ก.ย. 53 (รอบจัดอันดับ เสาร์ที่ 25 เวลา 21.00 น.)
เวลาแข่ง (ไทย) : 19.00 น.
ชื่อสนาม : Marina Bay Street Circuit
จำนวนรอบแข่งขัน : 61 รอบ
ความยาวของสนาม : 5.073 กม.
ระยะทางของการแข่งขันทั้งหมด : 309.316 กม.
สถิติสนามต่อ 1 รอบ : 1:45.599 (คิมี่ ไรค์โคเน่น - 2008)
พยากรณ์อากาศวันแข่ง : มีพายุฝน อุณหภูมิ 25-30 องศา



สำหรับใครที่เพิ่งดูฟอร์มูล่าวันปีนี้ปีแรก ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 3 ของสิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ค่ะ แรกเริ่มเดิมทีที่มีการเสนอโปรเจ็คนี้ขึ้นมาทุกคนก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย เพราะนอกจากจะเป็นสตรีทเซอร์กิตแล้วยังต้องแข่งตอนกลางคืนอีกด้วย แต่เมื่อเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2008 ก็แสดงให้เห็นว่าไฟที่มีให้นั้นยิ่งกว่าพอ และยังประสบความสำเร็จมากทีเดียวจนถือเป็นผู้ท้าชิงสนามโมนาโค สตรีทเซอร์กิตที่เป็นสนามเก่าแก่ที่สุดในปฏิทินการแข่งขันของฟอร์มูล่าวันได้เลย

ลักษณะทั่วไปของสนามนี้ก็เหมือนที่โมนาโคค่ะ คือใช้ถนนสัญจรปกติเป็นแทร็ควิ่งทั้งหมด ในเรื่องความสว่างนั้นนักแข่งไม่เคยกังวล ที่พวกเขาประสบปัญหามากกว่าคือพื้นผิวไม่ราบเรียบซึ่งก็เป็นธรรมชาติของสนามแบบนี้ ทิศทางการวิ่งเป็นแบบทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งในการแข่งขันทั้งฤดูกาลจะมีสนามประเภทนี้อยู่ 5 สนาม (ใน 5 สนามสุดท้ายนี้ก็เป็นสนามทวนเข็มนาฬิกาเสีย 4 สนาม) ตัวสนามประกอบด้วย 23 โค้ง ซึ่งปกติก็เรียกชื่อโค้งกันตามเลขลำดับนี่ล่ะค่ะ แต่ก็มีอยู่ 3 โค้งที่มีชื่อแล้ว โค้ง 1 ชื่อว่า "เชียเรอร์ส" ตั้งตามสะพานเบนจามิน เชียเรอร์ส ตรงจุดนั้น ซึ่งเป็นชื่อของอดีตประธานาธิบดีของสิงคโปร์ค่ะ ต่อมาเป็นโค้ง 7 ให้ชื่อว่า "เมมโมเรียล" เพราะโค้งนั้นใกล้กับอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พลเมืองที่เสียชีวิตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และสุดท้ายโค้ง 10 มหัศจรรย์นั่นแหละค่ะ มีชื่อว่า "สิงคโปร์สลิง" ตั้งตามค็อกเทลเลื่องชื่อของประเทศที่เรารู้จักกันดี นอกจากนั้นสิ่งที่สนามนี้ไม่มีใครเหมือนคือเป็นสนามแห่งเดียวที่แทร็คลอดใต้แกรนด์สแตนค่ะ

ในด้านเทคนิค สนามนี้ต้องการไฮ-ดาวน์ฟอร์ซ (ลุงสตีฟประจำบล็อกช่วยเสริมตรงนี้ให้เพื่อนๆ หน่อยซิคะ) นอกจากนั้นนักขับต้องใช้เบรกอย่างหนัก เพราะฉะนั้นต้องรักษาเบรกอย่างดีจนถึงช่วงสุดท้ายของการแข่งขัน ใน 1 รอบพวกเขามีโอกาสใช้คันเร่งเต็มที่ได้เพียง 48% โดยมีอยู่ 6 โค้งที่ใช้ความเร็วต่ำกว่า 100 กม./ชม. ความเร็วเฉลี่ยต่อรอบจึงอยู่ที่ประมาณ 175 กม./ชม. ด้วยลักษณะการเข้า-ออกโค้งที่เหมือนจะเบรกจนหยุดนิ่งแล้วออกตัวใหม่จึงทำให้ต้องทำเกียร์บ็อกซ์ให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องของยาง บริดจ์สโตนเตรียมยางซูเปอร์ซอฟต์และมีเดียมมาให้ค่ะ


***************************************


อย่างที่ทุกคนทราบกันแล้ว สัปดาห์นี้ยังเป็นการกลับมาประจำการในตำแหน่งนักขับตัวจริงของนิค ไฮด์เฟลด์ ด้วยค่ะ




นิค ไฮด์เฟลด์ รีเทิร์นเซาเบอร์



นักขับชาวเยอรมันผู้นี้มีเส้นทางที่ผกผันทีเดียวในปีนี้ (อ่านเรื่องของเขาได้ที่นี่ค่ะ //www.bloggang.com/mainblog.php?id=f1star&month=15-09-2010&group=1&gblog=123 ) ถ้าจำไม่ผิด เขาเป็นคนที่ถือสถิตินักขับที่ลงแข่งมากที่สุดโดยยังไม่เคยชนะเลย ซึ่งถึงแม้จะไม่เคยได้รับถ้วยแชมป์แต่เขาก็เป็นนักขับคนหนึ่งที่มีชั่วโมงบินสูง ประสบการณ์ของเขามีค่ากับทีมอย่างเซาเบอร์จริงๆ ค่ะ

ยินดีกับนิคด้วยนะ^^





*ข้อมูลจาก formula1.com และ redbullracing.com
ภาพจาก formel1.de



Create Date : 24 กันยายน 2553
Last Update : 24 กันยายน 2553 11:06:29 น. 12 comments
Counter : 1029 Pageviews.

 
คุณ Seb's fan คะ

จนป่านนี้พวกเราก็ยังไม่มีใครได้ข่าวคืบหน้าที่ RBR มาสมุยเลยค่ะ สงสัยจะหมดหวัง :(


โดย: finishline วันที่: 24 กันยายน 2553 เวลา:11:11:49 น.  

 
สนามนี้ Safety Car จะออกมาเล่นกลมั้ยเอ่ย


ปล.. ส่วนตัวผมไม่ชอบสนามนี้นะ ได้แต่ขับวนๆๆๆๆๆๆ แซงกันได้ยากมากๆ ผลจาก Qualify แทบจะบอกผลการแข่งขันได้เป็นนัยๆ (ยกเว้นจะมี Safety Car ออกมาป่วน)


โดย: hstgz IP: 57.59.9.172, 57.59.9.172, 202.122.130.31 วันที่: 24 กันยายน 2553 เวลา:13:02:52 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข่าวครับ

ผมว่าที่สิงคโปร์ ยังไงก็มีการชนแน่ๆ แต่จะชนแล้วดราม่าหรือไม่มีผลก็ต้องดูกันต่อไป

ตอนนี้ผล fp1 ออกมาแล้ว ดูแปลกๆดี ฮ่าๆ แต่ยังดีที่ RBR ทำเวลาค่อนข้างดี แต่ก็นะ FP1 มันก็บอกอะไรยังไม่ได้เท่าไหร่


โดย: runtaro IP: 58.137.32.147 วันที่: 24 กันยายน 2553 เวลา:18:41:05 น.  

 
เวลา FP1 ดูแปลก ๆ ไม่ต้องแปลกใจนะครับ เพราะมันมีฝนตกสลับกับหยุดและพื้นแทร็คเดี๋ยวเปียกเดี๋ยวแห้งสลับกันตลอดเวลาครับ

ในวันแข่งพยากรณ์อากาศบอกว่าอาจจะมีฝนตกหนักได้ครับ ต้องรอดูกันต่อไปเพราะจะเป็นการแข่งลุยฝนตอนกลางคืนครั้งแรกของนักขับทุกคน

ตกลงวันนี้ Lotus ประกาศแต่ชื่อทีมที่จะใช้ปีหน้า ยังอุบไม่ยอมบอกรายชื่อนักแข่งรวมทั้งเครื่องที่จะสนับสนุน

ทีม HRT Christian Klien อดีตนักขับ F1 ทีม Jaguar , Red Bull และ Test Driver Honda , BMW จะลงแข่งแทน Sakon Yamamoto ที่เจออาการอาหารเป็นพิษเล่นงานนะครับ

ส่วนเรื่อง high downforce ที่คุณเจ้าของบล็อกขอไว้เดี๋ยวมาต่อรอบดึกครับ ตอนนี้ขอเผางานต่อก่อนครับ = =



โดย: fascinator IP: 10.17.33.147, 124.121.200.63 วันที่: 24 กันยายน 2553 เวลา:19:19:45 น.  

 
High downforce คือ มีแรงกดกระทำบนตัวรถสูงครับ

กาลครั้งหนึ่งเมื่อครั้งเรายังเยาว์วัยจะได้ยินชื่อของชายผู้หนึ่งเป็นที่คุ้นหูนามว่า Newton นายคนนี้ได้คิดค้นสมการของการเคลื่อนที่ของวัตถุต่าง ๆ บนโลกนี้มาเขียนสรุปสั้น ๆ ย่อ ๆ ได้เป็น

แรงที่เกิดขึ้น = มวล (น้ำหนัก) x ความเร่ง (กฏข้อ 2 ของนิวตัน)

หรือก็คือมี 2 ตัวแปร อันได้แก่ มวล กับ ความเร่ง ที่จะทำให้เกิดแรงขึ้น

ในกรณีที่รถเข้าโค้ง แรงที่เกิดจะเกิดจากความเร่งหนีศูนย์กลางโค้งเนื่องจากมวลหรือน้ำหนักรถนั้นมีค่าคงที่

ในขณะเดียวกันรถก็ไม่สามารถไถลหรือหนีออกจากโค้งเป็นเส้นตรงได้

นั่นหมายความว่ามีแรงอีกแรงหนึ่งมาช่วยดึงไม่ให้รถไถลออกจากโค้ง (กฏข้อ 3 ของนิวตัน) ซึ่งก็คือ แรงเสียดทานที่ยางกระทำกับพื้นถนน

เมื่อมาปรับสมการกรณีรถเข้าโค้งให้เข้ากับสมการการเคลื่อนที่จะได้เป็น

แรงเสียดทาน = ค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานของยาง x น้ำหนักรถ

แน่นอนเราไม่ต้องการจะเพิ่มน้ำหนักรถเพื่อเพิ่มแรงเสียดทาน เพราะนั่นหมายถึงเมื่อรถเกิดการไถลแล้ว รถจะไม่สามารถหยุดไถลได้ (กฏข้อ 1 ของนิวตัน)

ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนจากการ "เิพิ่มน้ำหนัก" รถมาเป็น "เพิ่มแรงกด" บนตัวรถเพื่อให้แรงเสียดทานเพิ่มตามที่เราต้องการ แล้วเราจะเพิ่มแรงกดบนตัวรถได้อย่างไร

ปีกหน้าและปีกหลังของรถ F1 จึงเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ครับ

แล้วมันทำงานอย่างไร ลองนึกสภาพปีกของเครื่องบินนะครับ

[url=//uppic.net/show/feffa0c7d173bcd595dc60561c07f223][img]//uppic.net/full/feffa0c7d173bcd595dc60561c07f223[/img][/url]

//uppic.net/full/feffa0c7d173bcd595dc60561c07f223

จากรูปจะเห็นได้ว่าส่วนบนของปีกนั้นนูนขึ้นมีผลทำให้ส่วนบนของปีกมี "ความยาว" หรือ "ระยะทาง" มากกว่าส่วนล่างของปีก

ในระยะทางที่ไม่เท่ากันการที่จะวิ่งไปให้ถึงจุดหมายให้พร้อมกัน คนที่วิ่งในระยะทางที่ไกลกว่าก็ต้องวิ่งให้เร็วกว่าคนที่วิ่งในระยะทางที่สั้นกว่าจริงมั้ยครับ

เช่นเดียวกับอากาศที่ไหลผ่านปีกเครื่องบิน มันพยายามที่จะเข้าด้านหน้าปีกและออกด้านหลังปีกให้พร้อมกันครับ อากาศที่ไหลผ่านด้านบนปีกจึงไหลเร็วกว่าอากาศที่ผ่านด้านล่างปีก

เมื่ออากาศไหลเร็วขึ้นมันจะทำให้ความดันอากาศบริเวณนั้นลดลงครับ มันจึงเกิด "แรงยก" ที่ทำให้เครื่องบินทะยานขึ้นฟ้าได้ทั้งที่มีน้ำหนักตัวมหาศาลเพราะความดันด้านบนปีกมันน้อยกว่าความดันด้านล่างปีก

ปีกรถ F1 ใช้หลักการเดียวกับปีกเครื่องบินครับเพียงแต่กลับทิศทางของปีกเพื่อให้เกิด "แรงกด" แทน

รถ F1 จึงสามารถวิ่งไต่กำแพงหรือเพดานอุโมงค์ได้ที่ความเร็วตั้งแต่ 160 km/h เพราะแรงกดนี้แหละครับ

สนามสิงคโปร์ที่เค้าบอกว่าเป็นสนามที่ต้องใช้ high downforce เพราะเป็นสนามที่มีแต่โค้ง ทางตรงน้อยครับ

รถ Red Bull ที่มีชุด aero dynamic package high downforce จึงเหมาะอย่างยิ่งกับสนามที่มีแต่โค้งอย่างสิงคโปร์

และจะเหมาะยิ่งกว่ากับสนามที่มีโค้งความเร็วสูงอย่าง Catalunya - Spain , Silverstone - GBR , Hungaroring - Hungary และ Suzuka - Japan ครับ (ลองดูตามสนามพวกนี้ครับรถ Red Bull จะ Qualify ได้เร็วกว่าทีมอื่นเป็นวินาทีเนื่องจากดูดโค้งอย่างกับรถไฟ)

แต่จะวิ่งได้แย่มากถ้าเจอกับสนาม Low downforce อย่าง Sakir - Bahrain , Montreal - Canada , Hockenheim - Germany , Monza - Italy

เพราะสนามพวกนี้มีทางตรงยาว โค้งน้อย และเป็นโค้งความเร็วต่ำทั้งนั้นเลยด้วย

แรงกดที่ Red Bull สร้างได้นั้นช่วยให้รถพวกเค้าวิ่งในโค้งได้เร็วกว่าชาวบ้านแต่ขณะเดียวกันทางตรงความเร็วสูงก็สู้ชาวบ้านเค้าไม่ได้เช่นกัน

รถทุกชนิดใด ๆ บนโลกนี้สามารถวิ่งได้ด้วย "แรงเสียดทาน" ครับ แต่ แรงเสียดทาน เองก็ทำให้รถต้องใช้ "พละกำลังเครื่องยนต์" มากขึ้นเช่นกัน

ลองนึกเล่น ๆ ถ้ารถ F1 แต่ละคันมีกำลังเครื่องที่เท่ากัน รถที่สร้างแรงเสียดทานได้มากก็จะวิ่งช้ากว่าชาวบ้านแน่นอนอยู่แล้ว

แล้วเครื่อง Renault ที่ Red Bull ใช้ยังให้กำลังน้อยกว่าชาวบ้านเค้าอีกด้วย

ที่ Monza เราถึงได้เห็นรถ Red Bull ทำผลงานได้แย่เพราะ Monza เป็นสนามที่ใช้ downforce ต่ำที่สุดในจำนวนสนามแข่ง F1 ทั้งหมดบนโลกนี้ครับ

จบภาคแรกครับ เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมา to be continued ภาคสองต่อว่าทำไม๊ทำไมรถ Red Bull ถึงได้สร้าง downforce ได้มากกว่าชาวบ้าน พวกเค้าทำได้อย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ


โดย: fascinator IP: 124.120.113.5 วันที่: 25 กันยายน 2553 เวลา:0:23:36 น.  

 
ง่า อยากอ่านต่อเลยอ่ะ กำลังมันส์
ฟิสิกส์ล้วนๆ เลย
ขอบคุณมากๆครับ


โดย: Cosine IP: 58.9.10.194 วันที่: 25 กันยายน 2553 เวลา:3:18:56 น.  

 
ลุงสตีฟ มาเองเลย


โดย: hstgz IP: 125.24.102.184 วันที่: 25 กันยายน 2553 เวลา:7:19:57 น.  

 
เยี่ยมยอด ลุงสตีฟ

หวังว่า QP วันนี้ RBR จะทิ่งห่างคู่แข่งซักวิครึ่งละกัน 555+


โดย: runtaro IP: 124.121.178.142 วันที่: 25 กันยายน 2553 เวลา:7:58:28 น.  

 
ขอบคุณครับๆๆๆๆๆๆๆ(รอภาค 2 นะครับ)


โดย: yuykit IP: 113.53.224.51 วันที่: 25 กันยายน 2553 เวลา:8:38:22 น.  

 
ขอบคุณมากนะคะลุงสตีฟฟฟฟฟฟ

ขอแล้วไม่ผิดหวังจริงๆ


โดย: finishline วันที่: 25 กันยายน 2553 เวลา:8:41:21 น.  

 
ดูF1ให้สนุกควรจะรู้เรื่องทางเทคนิคด้วยครับ ถืงจะมันครบสูตรไม่งั้นจะงงว่าทำไมรถบางคันเครื่องแรงกว่าแต่แพ้ AerodynamicสำคัญมากในรถF1


โดย: ลำไพล47 IP: 125.25.3.245 วันที่: 25 กันยายน 2553 เวลา:14:52:40 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข่าว+ข้อมูล มากครับ ความรู้ทั้งนั้นเลย


โดย: ลุ่มน้ำตาปี IP: 110.164.157.171 วันที่: 26 กันยายน 2553 เวลา:10:10:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

finishline
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 110 คน [?]




ในประเทศไทยหาข่าวฟอร์มูล่าวันอ่านได้ยากเหลือเกิ๊นนนน...เขียนเองเลยดีกว่า!

**เจ้าของบล็อกเขียนข่าวขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลข่าวและแปลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ ท่านใดที่นำข้อความในบล็อกไปเผยแพร่ต่อ ขอความกรุณาให้เครดิตบล็อกด้วยนะคะ**
Friends' blogs
[Add finishline's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.