Me, Myself and Formula 1
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
16 สิงหาคม 2558
 
All Blogs
 

ดูเหมือนไกล...แต่เป็นไปได้ในที่สุด

การแข่งขันฤดูกาล 2015 ผ่านไปครึ่งทางและกำลังจะเริ่มอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือในสุดสัปดาห์หน้าแล้วนะคะ ขณะนี้ลูอิส แฮมิลตัน เป็นผู้นำในคะแนนสะสมโดยมี 202 คะแนน ตามมาด้วยนิโค รอสเบิร์ก 181 คะแนน และเซบาสเตียน เวทเทล 160 คะแนน

คงจะเป็นนักขับ 1 ใน 3 ชื่อข้างต้นที่จะมีสิทธิ์คว้าแชมป์โลกปีนี้ และหากนับจากผลงานครึ่งฤดูกาลแรก แฮมิลตันเป็นตัวเก็งแน่นอน ถึงแม้เวทเทลเป็นคนที่มีคะแนนน้อยที่สุดในสามคนดังกล่าว แต่ในทางทฤษฎีเขายังมีสิทธิ์ลุ้นแชมป์อยู่ ซึ่งในอดีตก็มีเรื่องราวของสถานการณ์ที่พลิกผันในตอนจบมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เว็บไซต์ formula1.com จึงขอเลือกการลุ้นแชมป์ใน 6 ฤดูกาลที่เร้าใจที่สุดมาให้ได้รำลึกกันอีกครั้งค่ะ


คิมี่ ไรค์โคเน่น แชมป์โลกปี 2007
ตามหลังลูอิส แฮมิลตัน 18 คะแนน (26%) เมื่อถึงครึ่งฤดูกาล






'ดิ ไอซ์แมน' ฉวยตำแหน่งแชมป์โลกไปจากปลายจมูกนักขับของแม็คลาเรนทั้งลูอิส แฮมิลตัน และเฟอร์นันโด อลอนโซ่ ไรค์โคเน่นตามหลังแฮมิลตันอยู่ 18 คะแนน (ตามระบบคะแนนแบบเดิม 10-8-6-5-4-3-2-1) เมื่อผ่านครึ่งทางของปี และยิ่งดูว่าเป็นไปได้ยากเพราะทุกสนามที่ผ่านมา 9 สนามนับตั้งแต่เปิดฤดูกาล นักขับอังกฤษขึ้นโพเดียมได้ทุกครั้ง ในสนามฮังการีซึ่งผ่านกึ่งกลางทางมา 2 สนาม ความห่างเพิ่มเป็น 20 คะแนน ยิ่งทำให้ยากจะคิดว่าไรค์โคเน่นยังมีโอกาสลุ้นแชมป์ ในตอนนั้นหนุ่มฟินน์กล่าวไว้ว่า "ผมรู้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะชนะ 6 สนามรวด แต่เราจะลองดู เราจะยอมแพ้ไม่ได้"

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อันสั่นคลอนของคู่นักขับแม็คลาเรนส่งผลให้ไรค์โคเน่นได้เปรียบไปโดยปริยาย ด้วยชัยชนะ 2 ครั้งและโพเดียมอีก 3 ครั้งใน 5 สนามถัดมา ในขณะที่อลอนโซ่และแฮมิลตันออกจากการแข่งขันที่ญี่ปุ่นและจีนตามลำดับ ทำให้เขาเข้าใกล้หนุ่มๆ จากแม็คลาเรนมากขึ้นแล้ว นำมาซึ่งการลุ้นแชมป์ของนักขับทั้งสามในสนามสุดท้ายที่บราซิล ไรค์โคเน่นมีคะแนนตามหลังแฮมิลตัน 7 คะแนน และตามหลังอลอนโซ่ 3 คะแนน หมายความว่าชัยชนะเท่านั้นจึงจะทำให้นักขับเฟอร์รารี่มีสิทธิ์คว้าแชมป์ พร้อมกับต้องหวังให้คู่แข่งมีปัญหาด้วย

จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ แฮมิลตันเจอกับปัญหาเกียร์บ็อกซ์และเข้าเส้นชัยเพียงอันดับที่ 7 ส่วนอลอนโซ่ได้โพเดียมอันดับที่ 3 ไรค์โคเน่นผู้ซึ่งตามหลังทั้งสองมาตลอดฤดูกาลกลับแซงได้ในสนามสุดท้าย โดยมีคะแนนสะสมมากกว่าแฮมิลตันและอลอนโซ่ที่มีคะแนนเท่ากันเพียง 1 คะแนนเท่านั้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะได้รับความช่วยเหลือจากเฟลิเป้ มาสซ่า เพื่อนร่วมทีม ที่ช่วยเปิดทางให้ทั้งได้เก็บ 10 คะแนนเต็มและคว้าแชมป์โลกในที่สุด


เซบาสเตียน เวทเทล แชมป์โลกปี 2012
ตามหลังเฟอร์นันโด อลอนโซ่ 44 คะแนน (29%) เมื่อถึงครึ่งฤดูกาล





แม้ประวัติศาสตร์ฟอร์มูล่าวันจะแสดงให้เห็นว่าปี 2010-13 เป็นยุคของเซบาสเตียน เวทเทล แต่เส้นทางการคว้าแชมป์โลก 4 สมัยซ้อนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งปี 2012 ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับเขามากที่สุด การแข่งขัน 7 สนามแรกมีผู้ชนะเปลี่ยนหน้ากันไป 7 คนด้วยกัน ทำให้การลุ้นแชมป์สูสีมากที่สุดครั้งหนึ่ง ภายในครึ่งทางการแข่งขันเป็นเวทเทลที่ดูเหมือนตกรอบ เขาตามหลังเฟอร์นันโด อลอนโซ่ 44 คะแนน (ห่างกว่าที่เขาตามหลังลูอิส แฮมิลตันในฤดูกาลนี้เสียอีก)

แต่ชัยชนะ 4 สนามรวดในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย ทำให้เขาได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำและพลิกกลับมาเป็นผู้นำในคะแนนสะสมขณะเหลือการแข่งขันอีก 3 สนามจากทั้งหมด 20 สนามในฤดูกาลนั้น ขณะที่เขาได้โพเดียมอีกจากอาบูดาบีและอเมริกา นักขับเยอรมันมุ่งหน้าสู่บราซิลซึ่งเป็นสนามปิดท้ายด้วยคะแนนนำอลอนโซ่ 13 คะแนน

ความกดดันเริ่มหลังสตาร์ททันที เวทเทลเกิดอุบัติเหตุที่โค้ง 4 ถึงแม้กลับมาวิ่งต่อได้ แต่รถเร้ดบูลได้รับความเสียหายมาก ซ้ำอลอนโซ่ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 3 ได้ในไม่กี่รอบถัดมา หมายความว่าคะแนนของนักขับสเปนเพียงพอที่จะแซงเวทเทลไปคว้าแชมป์ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม นักขับเร้ดบูลยังไม่ยอมแพ้ เขาไล่ขึ้นมาถึงอันดับที่ 6 ภายใน 8 รอบ และแม้ต่อมาฝนมาเพิ่มบททดสอบให้หนักยิ่งขึ้น แต่เขายังคงรักษาอันดับนั้นไว้ได้จนกระทั่งเข้าเส้นชัย เวทเทลคว้าแชมป์โลกครั้งที่ 3 ได้สำเร็จโดยมีคะแนนมากกว่าอลอนโซ่ 3 คะแนน พร้อมทำสถิติเป็นแชมป์โลกสามสมัยที่อายุน้อยที่สุด


เนลสัน ปิเกต์ แชมป์โลกปี 1981
ตามหลังคาร์ลอส รอยเทอมันน์ 11 คะแนน (30%) เมื่อถึงครึ่งฤดูกาล





การแข่งขันฤดูกาลนั้นมี 15 สนามและมีผู้ชนะหมุนเวียนถึง 7 คน โดยนักขับ 5 อันดับแรกมีคะแนนสะสมห่างกันภายในชัยชนะ 1 ครั้ง (9 คะแนน) เท่านั้น ทำให้ปีนั้นเป็นปีที่การแข่งขันที่ดราม่ามากที่สุดปีหนึ่ง

ใน 8 สนามแรก รอยเทอมันน์ทำคะแนนสะสมนำมาตลอดจากชัยชนะ 2 ครั้งและโพเดียม 3 ครั้ง เมื่อถึงครึ่งทางเขาจึงมีคะแนนนำปิเกต์อยู่ 11 คะแนน ซึ่งนับว่ามากสำหรับยุคนั้น สนามที่ 9 ที่อังกฤษสถานการณ์ของปิเกต์ก็ยังไม่ดีขึ้น นักขับบราบัมเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บที่ขาด้วยซ้ำ ขณะที่รอยเทอมันน์ในรถวิลเลียมส์เข้าเส้นชัยอันดับที่ 2 คะแนนของนักขับอาร์เจนไตน์จึงนำเป็น 17 คะแนนแล้ว

แต่สนามต่อไปที่เยอรมัน ปิเกต์กลับมาชนะอีกครั้งพร้อมกับได้มาอีก 2 โพเดียมในจังหวะที่รอยเทอมันน์เริ่มเกิดข้อผิดพลาด จนกระทั่งก่อนลงสนามสุดท้าย ปิเกต์ตามรอยเทอมันน์เหลือเพียง 1 คะแนนเท่านั้น โดยเมื่อมาถึงซีซาร์พาเลส กรังด์ปรีซ์ สนามสุดท้ายซึ่งแข่งขันในอเมริกา รอยเทอมันน์ควอลิฟายได้ตำแหน่งโพล แต่โดนปัญหาจากเกียร์บ็อกซ์เล่นงาน เข้าเส้นชัยได้แค่อันดับที่ 8 ซึ่งไม่มีคะแนน ในขณะที่ปิเกต์จบอันดับที่ 5 หลังสตาร์ทจากกริดที่ 4 คว้า 2 คะแนนสำคัญที่ทำให้เขาคว้าแชมป์โลกครั้งแรกในชีวิตด้วยการเฉือนรอยเทอมันน์ไปเพียงคะแนนเดียว


นิกี้ เลาด้า แชมป์โลกปี 1984
ตามหลังอแลง พรอสต์ 11.5 คะแนน (32%) เมื่อถึงครึ่งฤดูกาล





แชมป์ฤดูกาลนั้นต้องตกเป็นของนักขับแม็คลาเรนแน่นอน แต่จะเป็นของใครระหว่างอแลง พรอสต์ กับนิกี้ เลาด้า

หลังครึ่งทางของการแข่งขันผ่านไป เลาด้าตามหลังพรอสต์อยู่ 11.5 คะแนน แต่ในสนามที่ 10 ที่อังกฤษและสนามที่ 12 ที่ออสเตรีย นับเป็นสนามที่สร้างความดราม่าอย่างมาก เลาด้าคว้าชัยชนะจาก 2 สนามนั้นได้ในขณะที่พรอสต์ไม่ได้คะแนนเลย ทำให้นักขับออสเตรียได้ 18 คะแนนและขึ้นนำในคะแนนสะสม แต่แล้วในอีก 3 สนามถัดมาทั้งคู่ผลัดกันชนะ โดยพรอสต์กวาดไป 2 สนาม ทำให้เลาด้านำห่างพรอสต์เพียง 3.5 คะแนนก่อนลงสนามสุดท้าย ซึ่งเป็นสนามที่ 16 ของฤดูกาล

พรอสต์ควอลิฟายได้กริดที่ 2 ส่วนเลาด้าถอยไปถึงกริดที่ 11 ดูเหมือนว่าโอกาสคว้าแชมป์ของฝ่ายหลังแทบจะหลุดลอยไป แถมนักขับฝรั่งเศสนำการแข่งขันได้ตั้งแต่รอบที่ 9 แทบจะไม่ต้องลุ้นให้ยาก แต่คนอย่างเลาด้าหรือจะยอมแพ้ หลังครึ่งทางของการแข่งขัน เขาไล่ขึ้นไปจนถึงอันดับที่ 3 กระทั่งเหลือ 20 รอบ ไนเจล แมนเซลล์ ที่อยู่ในอันดับที่ 2 หมุนเป็นครั้งที่สองในเรซ เลาด้าจึงได้เลื่อนอันดับขึ้นไปและเพียงพอที่จะคว้าแชมป์โดยมีคะแนนมากกว่าเพื่อนร่วมทีมแค่ 0.5 คะแนน เป็นระยะห่างจากรองแชมป์ที่น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ และฤดูกาลนั้นเป็น 1 ใน 2 ฤดูกาลที่แชมป์โลกไม่เคยควอลิฟายได้ตำแหน่งโพลเลย


เจมส์ ฮันท์ แชมป์โลกปี 1976
ตามหลังนิกี้ เลาด้า 38 คะแนน (50%) เมื่อถึงครึ่งฤดูกาล





8 ปีก่อนหน้านั้น กลับเป็นนิกี้ เลาด้า ที่ทำแชมป์หลุดมือในฤดูกาลที่คลาสสิกที่สุดฤดูกาลหนึ่งของฟอร์มูล่าวัน พร้อมกับตำนานคู่แข่งแห่งยุค 'เลาด้า-ฮันท์'

เลาด้าอยู่กับอยู่กับเฟอร์รารี่เป็นฤดูกาลที่ 3 แล้วและเป็นแชมป์โลกครั้งแรกในปีก่อน เขาจึงเป็นตัวเก็งแชมป์ในปีนั้นและก็แสดงผลงานสมราคาด้วยการคว้าชัยชนะ 4 จาก 8 สนามแรก เมื่อถึงครึ่งทางของฤดูกาลจากทั้งหมด 16 สนาม เลาด้าเก็บไป 52 คะแนน มากกว่าเจมส์ ฮันท์ สองเท่าพอดิบพอดี แม้นักขับอังกฤษจะชนะมา 2 สนามที่สเปนและฝรั่งเศส แต่สนามอื่นๆ เขามีปัญหามาตลอด ดูเหมือนว่าแชมป์จะอยู่ในมือเลาด้าอีกครั้ง

แต่แล้วในการแข่งขันที่นัวร์บวร์กริงได้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เลาด้าประสบอุบัติเหตุหนักและบาดเจ็บสาหัสจากการถูกไฟคลอก ไม่เพียงเฉพาะผิวหนังที่ไหม้เกรียมแต่เขาได้สูดควันเข้าปอดไปเป็นจำนวนมาก ด้วยความรุนแรงของอาการบาดเจ็บที่ได้รับ เขาควรจะพักรักษาตัวเป็นเวลานาน แต่นักขับออสเตรียกลับมาแข่งขันอีกครั้งใน 6 สัปดาห์ต่อมาที่สนามมอนซ่า แถมยังเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 4 อีกด้วย โดยระหว่างที่เลาด้าอยู่ในโรงพยาบาล ฮันท์ชนะไป 2 สนาม และชนะอีก 2 ครั้งก่อนมุ่งหน้าสู่สนามสุดท้ายที่ญี่ปุ่นด้วยคะแนนตามหลังเลาด้า 3 คะแนน สภาพอากาศในสนามฟูจิสปีดเวย์วันนั้นย่ำแย่ ฝนตกน้ำเจิ่งนองทั่วสนาม แต่การแข่งขันยังมีอยู่ จึงเกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากมาย เลาด้าตัดสินใจออกจากการแข่งขัน ส่วนฮันท์ยังไม่ย่อท้อและคว้าโพเดียมอันดับที่ 3 ได้ในที่สุด พร้อมกับแชมป์โลกเป็นของเขาด้วยคะแนนที่เฉือนเลาด้าไปเพียงแต้มเดียว


จอห์น เซอร์ทีส์ แชมป์โลกปี 1964
ตามหลังจิม คลาร์ก 20 คะแนน (67%) เมื่อถึงครึ่งฤดูกาล





ปี 1964 เป็นอีกปีหนึ่งที่ต้องยกเป็นตำนาน ไม่เพียงแต่จอห์น เซอร์ทีส์ เป็นนักขับคนแรกและคนเดียวจนถึงปัจจุบันนี้ที่เป็นแชมป์โลกทั้งสองล้อและสี่ล้อเท่านั้น แต่การคว้าแชมป์โลกของเขายังเป็นการพลิกสถานการณ์จากครึ่งฤดูกาลแรกที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟอร์มูล่าวันอีกด้วย

ฤดูกาลนั้นประกอบด้วย 10 สนามและใน 5 สนามแรก จิม คลาร์ก ชนะมาแล้ว 3 สนาม รวมกับอันดับที่ 4 อีก 1 ครั้ง ทำให้นักขับโลตัสมี 30 คะแนน (จากระบบคะแนน 9-6-4-3-2-1) ตามมาด้วยเกรแฮม ฮิลล์ 26 คะแนน และมีนักขับ 3 คนที่มี 11 คะแนนเท่ากัน ส่วนเซอร์ทีส์ตามกลุ่มนั้น 1 คะแนนในอันดับที่ 7

อย่างไรก็ตาม ใน 4 สนามถัดมา คลาร์กเจอปัญหาทางเทคนิคเล่นงานจนไม่สามารถเก็บคะแนนเพิ่มได้เลย จึงกลายเป็นฮิลล์ที่ขึ้นนำในคะแนนสะสมขณะเข้าสู่การแข่งขันสนามสุดท้ายที่เม็กซิโก ซึ่งถึงขณะนั้น เซอร์ทีส์ของเฟอร์รารี่ชนะมาแล้ว 2 สนามและโพเดียมอันดับที่ 2 อีกครั้งหนึ่ง ทำให้เขาแซงคลาร์กขึ้นไปอยู่อันดับที่ 2 ในคะแนนสะสม ฮิลล์มี 39 คะแนน เซอร์ทีส์ 34 คะแนน ส่วนคลาร์กมี 30 คะแนน ทั้ง 3 คนจึงมีสิทธิ์ลุ้นแชมป์ โดยคลาร์กมีจำนวนชัยชนะในมือมากกว่าคนอื่น

คลาร์กขึ้นนำการแข่งขันในเรซสุดท้าย ขณะที่รถของฮิลล์และเซอร์ทีส์มีปัญหา แต่ไม่นานทั้งคู่ก็ค่อยๆ ไล่อันดับขึ้นมาได้ ฮิลล์มาจนถึงอันดับที่ 3 ซึ่งจะทำให้คว้าแชมป์โลกได้ แต่ต่อมาเขาเกิดอุบัติเหตุ จึงทำให้เซอร์ทีส์เลื่อนขึ้นมา แต่กระนั้นคลาร์กยังมีคะแนนที่จะคว้าแชมป์โลกได้อยู่ดี จนกระทั่งเหลือการแข่งขันอีก 7 รอบ เครื่องยนต์ของคลาร์กเริ่มมีน้ำมันรั่วออกมา และเมื่อถึงรอบสุดท้ายก็เป็นโอกาสของเซอร์ทีส์ ด้วยความช่วยเหลือของลอเรนโซ่ บันดินี่ เพื่อนร่วมทีมเฟอร์รารี่ที่ช่วยหลีกทางให้ขึ้นอันดับที่ 2 ซึ่งเพียงพอแล้วที่เขาจะได้แชมป์โลกมาครอง หลังจากได้คะแนนสะสมมากกว่าฮิลล์ 1 คะแนน











*ข้อมูลจาก formula1.com / wikipedia.org
ภาพจาก formula1.com / theguardian.com / gazettenet.com / grandprix.com




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2558
6 comments
Last Update : 17 สิงหาคม 2558 2:59:37 น.
Counter : 2218 Pageviews.

 

ขอบคุณครับ สำหรับข้อมูล...

 

โดย: Moobin IP: 122.155.64.31 17 สิงหาคม 2558 16:26:35 น.  

 

ยังมีลุ้นนะนี้

 

โดย: ka IP: 180.183.165.126 17 สิงหาคม 2558 19:21:46 น.  

 

ตอนคิมี่ได้แชมป์เป็นอะไรที่ลุ้นสุด ๆ

 

โดย: kazamakung IP: 58.10.33.243 17 สิงหาคม 2558 21:04:56 น.  

 

อ่านแล้วช้ำแทนพี่โซ่...

 

โดย: fa IP: 180.183.100.122 17 สิงหาคม 2558 21:28:37 น.  

 

นึกย้อนกลับไปตอนอีเซ็บได้แชมป์ตอนแรก หึๆ

 

โดย: runtaro IP: 58.137.3.219 21 สิงหาคม 2558 16:15:27 น.  

 


ปี 2007 สุดๆ อ่ะ

ตาม 17 คะแนน เหลือแค่ 2 สนาม
ดูห่างไกลมากเลยครับ แต่ kimi ใจสู้จริงๆนะ เก็บ 2 แชมป์ที่เหลือ
+ ham สติกระเจิง

2010
- นับถือ seb เลย

 

โดย: june-7-14 IP: 118.174.185.158 22 สิงหาคม 2558 1:27:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


finishline
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 110 คน [?]




ในประเทศไทยหาข่าวฟอร์มูล่าวันอ่านได้ยากเหลือเกิ๊นนนน...เขียนเองเลยดีกว่า!

**เจ้าของบล็อกเขียนข่าวขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลข่าวและแปลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ ท่านใดที่นำข้อความในบล็อกไปเผยแพร่ต่อ ขอความกรุณาให้เครดิตบล็อกด้วยนะคะ**
Friends' blogs
[Add finishline's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.