หลายคนเรียนภาษาอังกฤษเพื่อให้พูดภาษาอังกฤษได้เก่งๆ แต่จะเก่งทั้งที การเขียนก็เป็นทักษะภาษาอังกฤษที่ไม่ควรทิ้งขว้าง โดยเฉพาะทักษะการแปลจากภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษ เพราะนอกจากจะทำให้เราเขียนคล่องขึ้นแล้ว ทักษะการแปลก็จะช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนภาษาในหัวของเราเวลาพูดได้อย่างรวดเร็ว มาดูกันดีกว่าว่า กฎเหล็กที่เราควรท่องให้ขึ้นใจเวลาแปลเอกสารมีอะไรบ้าง
1. อย่าลืมเปลี่ยนระบบวันที่ หรือ หน่วยต่างๆ เวลาแปลภาษาจากภาษาไทยไปเป็นอีกภาษาที่อยู่ปลายทาง เราควรคำนึงอยู่เสมอว่าผู้อ่านของเราไม่ได้คุ้นเคยกับระบบที่เราใช้ เช่น เราไม่สามารถใช้ปี พ.ศ.ได้ แต่ต้องใช้ค.ศ.เท่านั้น หน่วยต่างๆเหล่านี้ ยังรวมไปถึง อุณหภูมิ เช่น
ประเทศไทยนิยมใช้องศาเซลเซียส ในขณะที่บางประเทศใช้ฟาเรนไฮต์ ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิในกรุงเทพฯ ร้อนที่สุดของปีอยู่ที่ 43 องศาเซลเซียสในวันที่ 25 เมษายน 2016 อาจแปลได้เป็น
“The highest temperature ever recorded in Bangkok this year was 109.4 °F on April 25, 2016.”
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ความสูง ระยะทาง น้ำหนัก การเอาเดือนหรือวันที่ขึ้นก่อนก็แตกต่างกันในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ การเขียนเรื่องตัวเลขก็ต้องระวัง เช่น ถ้าภาษาไทยบอกว่า 42,000 ล้านบาท ภาษาอังกฤษก็ต้องเป็น 42 billion baht เนื่องจากภาษาปลายทางมีคำเฉพาะให้เราใช้อยู่แล้ว เป็นต้น
2. แบ่งประโยคได้เมื่อจำเป็น เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่า วิธีการแบ่งประโยคของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษไม่เหมือนกัน คนเขียนภาษาไทยเอง บางทีก็จะติดการเขียนไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดเริ่มหรือจบของประโยค และติดนิสัยนี้ไปใช้กับการเขียนภาษาอังกฤษซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำเวลาเจอประโยคยาวเหยียดคือ การหาจุดเริ่มและจุดจบของประโยค เพื่อให้เขียนง่ายขึ้น และคนอ่านเข้าใจง่ายขึ้น พยายามใช้คำเชื่อมต่างๆเข้ามาช่วยเพื่อให้เห็นความต่อเนื่องของประโยค แทนที่ใช้ comma คั่นไปเรื่อยๆ เช่น
เด็กหญิงคนดังกล่าวได้ถูกรถชนและสลบไปบนถนนโดยไม่มีใครช่วยเหลือ รวมทั้งผู้ก่อเหตุก็ได้หลบหนีไปหลังเกิดเหตุอีกด้วย อาจจะสามารถตัดเป็น
“The girl was hit by a car and lying unconscious on the road. No one stepped in to help her while the suspect fled the scene after the accident.”
3. รักษาโทนของภาษาต้นฉบับ เราต้องวิเคราะห์ก่อนเลยว่า บทความที่เราต้องการแปลนั้น เป็นบทความประเภทไหน เราต้องแปลบทความมีสาระ จริงจัง แบบข่าว หรือบทความเบาสมอง เช่น
เนื้อเรื่องกอสสิปต่างๆบนเว็บไซต์ วิธีที่จะช่วยให้เราคุ้นเคยกับสไตล์ของภาษาได้ดีที่สุด คือเราต้องอ่านและคลุกคลีกับภาษาปลายทางแบบที่เราต้องใช้ให้บ่อย
สังเกตวิธีการใช้ภาษา คำ วิธีการจัดเรียงประโยคและบทความ เพื่อให้มีโทนที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับ และคนอ่านเข้าถึงได้มากที่สุด เช่น
ถ้าเราจะบอกว่า สไตล์เป๊ะมาก เราอาจจะเลือกพูดว่า style on fleek ซึ่งเป็นศัพท์วัยรุ่น มากกว่าการพูดว่า fashionable style ซึ่งดูทางการมากกว่า
4. เลือกใช้คำให้เหมาะสมกับสิ่งที่แปล ถ้าเราเริ่มแปลบทความเป็นภาษาอังกฤษในช่วงแรกๆ บทความประเภทที่ง่ายที่สุด คือเราต้องเลือกบทความที่ไม่ได้มีศัพท์เฉพาะมากมาย เป็นบทความเรื่อง lifestyle ทั่วไป
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะต้องการท้าทายตัวเองด้วยการเลือกแปลหมวดที่มีความท้าทายมากขึ้น เช่น เราอาจจะอยากรู้เรื่องการแปลสัญญาต่างๆ ฟังดูแล้วอาจจะดูน่ากลัว แต่ภาษากฎหมายนั้น เราสามารถเลือกเข้าไปดู template ต่างๆเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีมากมายให้เราได้ศึกษา
เช่น สัญญาเช่าบ้าน หรือ Residential Tenancy Agreement ซึ่งในแต่ละวงการ ก็จะมีคำเหมาะสมในการเลือกใช้มากกว่า เช่น คำว่าเจ้าของบ้าน เราอาจจะคิดง่ายๆว่า home owner ก็แปลว่าเจ้าของบ้านเหมือนกัน
แต่ในสัญญา คำที่สวยงามและเหมาะสมกว่าอาจจะเป็นคำว่า landlord เป็นต้น
5. อย่าติดใช้สำนวนของภาษาต้นฉบับเกินไป
ภาษาแต่ละภาษาย่อมแฝงวัฒนธรรมของประเทศหรือสังคมนั้นๆมาด้วย อย่างไรก็ตาม สำนวนการใช้ประโยค หรือการใช้คำ อาจจะไม่สามารถแปลมาเป็นภาษาปลายทางได้ตรงทั้งหมด ถ้าแปลตรงเกินไป คนอ่านก็จะไม่เข้าใจเลย เช่น
สารวัตรหึงโหด “เจอภาพบาดตาของภรรยากับเพื่อน” เราจะแปลภาพบาดตานี้ว่าอะไร การจัดการกับโจทย์แบบนี้ เราอาจจะต้องวิเคราะห์กันสักหน่อย และอาจจะเขียนออกมาว่า
“angered by his wife and friend’s intimacy” ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ มากกว่าพยายามมาคิดคำว่าภาพบาดตาแล้วแปลตรงตัวจนคนอ่านสับสน เป็นต้น
กฎดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถืงเสมอเวลาเราเริ่มแปลบทความจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ และความท้าทายย่อมเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติเวลาเราได้โจทย์ใหม่ๆ ดังนั้น อย่าลืมอ่านให้หลากหลายและลองเขียนเพื่อฝึกฝน แล้วการแปลภาษาอังกฤษก็จะไม่ยากอย่างที่คิดอีกต่อไป
Create Date : 26 กันยายน 2567 |
Last Update : 26 กันยายน 2567 19:24:52 น. |
|
0 comments
|
Counter : 115 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|