กุมภาพันธ์ 2560

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
25
26
27
28
 
 
All Blog
ท้องที่สอง: เข้าห้องคลอดที่เยอรมนี เป็นการคลอดที่ Adventure สุดๆ




เมื่อตั้งครรภ์ครบ 40 สัปดาห์ ใช่ค่ะ วันที่คุณหมอกำหนดคร่าวๆ ให้เป็นวันคลอดสำหรับท้องนี้ เรามีเลือดออก หลังจากที่เจ็บท้องถี่บ้างไม่ถี่บ้างมาหลายสัปดาห์  สามีจึงพาไป รพ. ค่ะ  ใครที่ยังไม่ได้อ่าน เรื่องราวของ 4เดือนแรก และ 5 เดือนหลัง สามารถไปเท้าความเอาได้ค่ะ คลิกได้เลย...

ท้องที่สอง: 4 เดือนแรก กับอาการภูมิแพ้..

ท้องที่สอง: 5 เดือนหลังกับอัลตร้าซาวด์ทุกสองสัปดาห์ 

ประตูลิฟต์เปิดออก... สามีและเรา เดินเข้าแผนกทำคลอด.....หยุดที่หน้าห้องคลอด... หยุดที่หน้าห้องคลอดจริงๆค่ะ ไม่ได้เขียนเพื่อให้ตื่นเต้นใดๆ เราและสามีต้องหยุดยืนอยู่หน้าห้องคลอด ทำไมต้องหยุด? เพราะ ต้องกดกริ่งก่อน T_T  อะไรคือสิ่งนี้คะ ต้องกดกริ่งก่อนเข้าห้องคลอด??? นี่ห้องคลอดหรือตู้เซฟธนาคารคะเนี่ย

เมื่อกดกริ่ง ก็จะมีเสียงออกมาจากสปีคเกอร์โฟนค่ะ ถามว่ามาทำอะไร พอทราบว่าเรามาคลอดก็มีมิดไวฟ์ มาอัญเชิญเราและสามีเข้าไปค่ะ  พาเราไปที่ห้องคลอด มิดไวฟ์บอกว่า เราเป็นคนแรกของวันนี้เลยนะเนี่ย (จะภูมิใจดีมั้ย? มาคลอดเป็นคนแรกของวัน แหม่ พี่มิดไวฟ์พูดเหมือนว่าเรากำลังไปต่อคิวซื้อบัตรเดี่ยวไมโครโฟนของพี่โน้ส อุดม ทีเดียวค่ะ)

ขออธิบายนิดหนึ่งค่ะ ที่เยอรมนี โดยส่วนมาก คนที่ทำคลอดให้ คือมิดไวฟ์นะคะ (หมอตำแย) คือเป็นคนที่คล้ายๆพยาบาล แต่ก็ไม่ใช่พยาบาล ไม่ใช่หมอ แต่เรียนมาด้านสูติกรรมเท่านั้น คือช่วยทำคลอดธรรมชาติให้    มิดไวฟ์จะมีสองอย่างค่ะ อย่างแรกคือทำงานใน รพ. คือช่วยทำคลอด อย่างที่กล่าวไปแล้ว อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นมิดไวฟ์ที่ไม่ได้ทำงานในรพ.  ก็จะตรวจครรภ์แทนหมอในบางกรณี เช่น ตรวจปัสสาวะให้คุณแม่ได้ ว่าติดเชื้อหรือเปล่า คลำดูหัวเด็กได้ว่าลงหรือยัง อะไรแบบนี้ค่ะ

มิดไวฟ์ทั้งสองอย่าง ต้องเรียนมาเหมือนกัน อาจจะมีแตกต่างกันเล็กน้อยเรื่องการทำคลอด (ไม่แน่ใจนะคะ) เพราะมิดไวฟ์ที่ทำงานในรพ. ต้องทำคลอดได้ จะรับมือกับเรื่องคลอดๆเสียส่วนใหญ่  แต่มิดไฟ์ที่ไม่ได้ทำงานในรพ.  บางส่วนก็รับทำคลอดที่บ้านด้วย แต่ส่วนมากจะเป็นงานดูแลครรภ์มากกว่าทำคลอด และยังมาดูแลหลังคลอดด้วยค่ะ  ที่สำคัญ ประกันจ่ายนะจ๊ะ!!!

เราเดินตามมิดไวฟ์เข้าไปในห้องคลอด ครั้งนี้ ได้ห้องฝั่งขวา ตรงข้ามประตูเป็นหน้าต่างบานใหญ่พอที่จะเห็นวิวข้างนอกได้  เตียงรอคลอดถูกวางขนานกับหน้าต่าง ห่างออกมาประมาณ 1-2 ก้าว  ที่ฝั่งตรงข้ามกับปลายเตียง มีเก้าอี้ 1 ตัว ลูกบอลยิมนาสติกลูกใหญ่ 1 ลูก และที่ติดผนังเป็นบันไดยิมนาสติก คล้ายบันไดลิง ที่ทำจากไม้ ติดอยู่ เหนือเก้าอี้และลูกบอล เป็นเชือกให้โหน เหมือนหนังไทยโบราณ ที่ไม่คิดว่าจะมีคนใช้เชือกคลอดอยู่อีก

นี่เราหลุดมาในห้องเรียนยิมนาสติกหรือเปล่า???

แต่ด้วยคอร์สเตียมคลอดที่เคยเข้าร่วมมา ก็ทำให้เราไม่แปลกใจเท่าไร เพราะที่เยอรมนี เน้นคลอดธรรมชาติ คือให้แม่สบายที่สุด  บางคน นั่งเท้าแขนที่เก้าอี้ เบ่ง ออกง่าย บางคนดึงเชือก เบ่ง ออกง่าย บางคนใช้ลูกบอล  เจ้าลูกบอลนี่ มีประโยชน์นะคะ สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บครรภ์ได้ หากใช้อย่างถูกวิธี

แต่สำหรับเรา ของพวกนี้ไม่มีความสำคัญหรือจำเป็นใดๆทั้งสิ้น  ของเรา ต้องเตียง เตียง และ เตียง เท่านั้นค่ะ มิดไวฟ์ก็ถามว่าอยากนั่งเก้าอี้มั้ย ตอบอย่างมั่นใจ ว่าไม่ ขอนอนดีกว่าค่ะ ว่าแล้วก็หยิบบทสวดมนต์ที่ปรินท์มาเรียบร้อย ท่องๆๆๆๆๆๆๆๆๆ 

มิดไวฟ์ฟังไม่รู้เรื่องหรอกค่ะ แต่ก็ชม ว่าทำถูกแล้ว ดีแล้ว บลาบลาบลา 

ระหว่างนี้ คุณหมอ และมิดไวฟ์ก็มาแวะเวียนอยู่เป็นระยะๆ ตอนที่มาถึง มิดไวฟ์ตรวจภายในให้ ปากมดลูกเปิด 6 ซม.แล้วค่ะ  มิดไวฟ์ก็บอกว่า ถ้าจะขอยาแก้ปวดหรือบล็อคหลังก็บอกนะจ๊ะ พี่จะจัดให้ แหม เราก็สวดมนต์เพลินค่ะ  เจ็บท้องไป สวดมนต์ไปไม่ถึง 90 นาทีต่อมา เห้ย พร้อมคลอดแล้ว

การคลอดที่นี่ ทราบมาว่า ทั่วประเทศจะเหมือนกันหมดค่ะ ไม่มีตัดฝีเย็บ หากไม่จำเป็น  (เพื่ออะไรวะหมอ ตัดๆไปเหอะคลอดง่ายกว่านะ)  เคสของเราหมอก็มานั่งเอาใจช่วยพร้อมมิดไวฟ์ค่ะ  ประสบการณ์จากท้องแรกไม่ได้ช่วยอะไรเลยค่ะ เบ่งอย่าให้มีเสียง ลืมหมดค่ะ  เผลอส่งเสียง อึ้บบบบบบ ทุกที จนมิดไวฟ์ต้องเตือน ขนาดว่าเตือนแล้วยังเผลอ อึ้บบบบบบบบบอยู่เรื่อย

เรานอนเตียง ขึ้นขาหยั่งค่ะ ไม่ออกอ้ะ ทำไมไม่ออกวะ เราเลยเปลี่ยนเป็นตะแคง  พอตะแคงเบ่ง หมอกับมิดไวฟ์พูดพร้อมกันเลย ว่าค้างท่านี้ไว้เลยนะ เพราะเหมือนจะออกง่าย 

เรานอนตะแคงเบ่งอยู่ประมาณ 10 นาทีค่ะ  หัวเด็กก็ออกมาแล้ว แต่!!! แต่!! อย่างที่บอกค่ะว่า ที่นี่เขาไม่ตัดฝีเย็บ ก็เลยคาอยู่อย่างนั้น เบ่งสุดท้ายที่ให้คลอดออกมาเลยนี่ลำบากมาก เพราะแสบค่ะ แสบเพราะผิวมันจะฉีก แต่ไม่ได้แสบมากขนาดนั้นนะคะ แค่รู้สึกว่าแสบ พอฝีเย็บฉีก หัวก็ออกมาได้ แต่ยังคาอยู่อย่างนั้น ต้องเบ่งอีกรอบ

ตัวเรา ณ ตอนนั้นคือ ทั้งที่เจ็บท้อง ไม่ได้ใช้ยาอะไรแม้แต่พารา หรือยาฉีดแก้ปวด ทั้งเบ่งจนหมดแรง และเจ็บฝีเย็บ บอกมิดไวฟ์เลยว่า "ดึงลูกออกมาเลยได้มั้ย ไม่เบ่งแล้ว เหนื่อย"   แต่สุดท้ายก็ต้องเบ่งค่ะ คราวนี้ไม่ยากแล้ว

ในที่สุด สนนเวลาได้ราวๆ 90 นาทีตั้งแต่แอดมิท คลอดลูกสาวคนที่สองได้อย่างปลอดภัยค่ะ

เมื่อลูกคลอดออกมาปุ๊บ มิดไวฟ์อุ้มมาไว้ที่อกทันที สายสะดือก็มาด้วย เออ แปลกดีแฮะ ไม่เคยได้สัมผัสสายสะดือ เพราะท้องแรกหมอตัดเลย ท้องนี้กอดลูกก่อน   แล้วเราก็เลยถามว่า เราจะให้ลูกดูดนมเลยได้มั้ย  จริงๆทราบอยู่แล้วว่าควรให้ลูกดูดนมเร็วที่สุดตั้งแต่คลอดออกมา แต่ถามเพราะไม่ทราบว่าเขาจะให้ลูกไว้กับเรานานแค่ไหน คือจะเอาไปเช็ดตัวตอนไหนก็ไม่ทราบ เลยถาม  มิดไวฟ์ก็บอกว่า ตามสบายเลยค่ะ

ระหว่างที่รอคลอดรก มิดไวฟ์ก็เอากรรไกรให้สามี ให้คุณพ่อตัดสายสะดือให้ลูกนะคะ  สุดท้าย ถ่ายรูป(ถ่ายกันเอง) แล้วก็พาเด็กไปเช็ดตัว เช็ดเลือด ขอใช้คำว่าเช็ดนะคะ เราดูอยู่เห็นใช้ผ้าเปียกเช็ดคราบเลือดออก และไม่ได้อาบน้ำให้เลย  ทราบมาว่าเป็นผลดีกับเด็ก ไม่ควรอาบน้ำในเดือนแรก เนื่องจากไขที่ติดดัวเด็กมานั้น มีประโยชน์อย่างมากในการปกป้องผิวของเด็ก แต่ก็น่าแปลกนะคะ กลิ่นน้ำคร่ำที่ติดตัวเด็กทารกออกมา ทำไมมันหอม หอมแปลกๆ ไม่ใช่หอมแบบทารก เป็นกลิ่นน้ำคร่ำจริงๆ

ต่อมา พอคลอดรกแล้ว มิดไวฟ์ถามว่า

"จะเอากลับบ้นมั้ยคะ"

?????

เดี๋ยวซิ เอารกกลับบ้านเนี่ยนะ? เอาไปผสมเครื่องสำอางทาหน้าเหรอคะ???

มิดไวฟ์บอกว่า มีคนเอาไปเก็บเป็นที่ระลึกนะ

ออ...ไม่เก็บค่ะ เอาไปทิ้งเลย ไปทำอะไรก็ตามสบายค่ะ จะเก็บเป็นี่ระลึก จะผลิตเครื่องสำอางขายแข่งกับครีมหอยทาก ก็เอาเลยค่ะยกให้

แล้วคุณหมอก็เข้ามาเย็บแผลฝีเย็บให้...

คุณหมอบอกว่า เจ็บหน่อยนะจ๊ะ ขอฉีดยาชาหน่อย แล้วทันใดเราก็มีความรู้สึกจี๊ดเบาๆที่ตรงใกล้ๆแผล คือตอนนั้น แผลฝีเย็บไม่ได้เจ็บแล้วนะคะ ตอนที่คุณหมอฉีดยาชาก็ไม่เจ็บ แต่รู้สึกจี๊ดๆนิดๆ แล้วคุณหมอก็ใช้เวลาเย็บแผล 5 นาที

เดี๋ยวซิหมอ เสร็จแล้วเหรอ???? 5 นาทีเนี่ยนะ???

ย้อนกลับไปดูท้องแรกซิ (เชิญอ่าน เมื่อถึงคราว..ข้าพเจ้า..เข้าห้องคลอด!!!!!) ท้องนั้น คุณหมอที่ไทย เย็บนอกเย็บใน ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงได้ หมอที่นี่ เย็บแค่แผลฝีเย็บข้างนอกอย่างเดียว 5 นาที เสร็จ... นี่เราต้องกลับไปทำรีแพร์ซ้ำมั้ยวะคะ

ที่นี่ คุณหมอกำชับว่า ให้นั่งหุบขาให้มากที่สุด อย่าเดินมาก แผลจะได้ติดไวๆ เสร็จแล้วพยาบาลก็เสิร์ฟกาแฟเราแก้วใหญ่มาก แล้วพาเราและลูกไปที่ห้องพักค่ะ

ห้องพักครั้งนี้ มี 2 เตียง แต่มีเราพักคนเดียวค่ะ สบายอุรา เราให้ลูกนอนเตียงเราเสียส่วนมาก ยกเว้นช่วงที่เราลุกขึ้นไปไหนมาไหน  ช่วงที่นอนด้วยกันก็เปิดเต้าให้ลูกดูด ดูดตลอดเวลาจริงๆค่ะ  พยาบาลก็ชม ว่าดีแล้ว นมจะมาไวๆ แต่ช่วงแรกๆหัวนมก็แตกค่ะ พยาบาลให้ลาโนลินมาทา เราไม่ใช้หรอก เราใช้นมแม่นี่แหละ หยดแล้วทา มันก็หายเร็วนะคะ  ก็ทนหัวนมแตกอยู่ 1 สัปดาห์ มันก็หายไปเองค่ะ

พักฟื้นหลังคลอด ที่นี่ ทำเองทุกอย่างนะคะ  ไม่มีพยาบามาส่องไฟให้ ไม่มีการส่องไฟเลยด้วยซ้ำ ที่ี่นี่ไม่ใช้ความร้อนค่ะ แต่ใช้ผ้าเย็นจัดที่ออกจากช่องฟรีซ ซึ่งเราต้องเดินไปหยิบเองจากตู้เย็นที่อยู่ในห้องถัดไปอีก 3-4 ห้อง  อาหารเช้า กลางวัน เย็น จะมีถาดมาให้ วางอยู่ที่ชั้นวางถาด หน้าห้องครัว มีชื่อบอกว่าของใครเป็นของใคร น้ำ กาแฟ จัดเองค่ะ   ที่จริง พยาบาลก็มาช่วยบ้างนะคะ แต่โดยมารยาทแล้ว ต้องทำเอง  พยาบาลมีหน้าที่แค่เอายามาให้ ดูแลความผิดปกติทางอาการหลังคลอด หรือตอบคำถาม แนะนำนั่นโน่นนี่  แม้แต่วัดไข้ทารก คนเป็นแม่ต้องทำเองค่ะ แล้วจดให้เขาดู  เด็กฉี่บ่อยไหม แม่ต้องดูเองค่ะ ไม่มีห้องเด็กอ่อนเหมือน รพ.ที่ไทย ซึ่งเราชอบมาก อิอิ

ตอนบ่าย สามีไปรับลูกสาวคนโตที่ รร.อนุบาล แล้วพามาดูน้องค่ะ อลิสาไม่มีทีท่าตื่นเต้น แบบว่า เฮ้ยน้องๆๆๆๆๆ แต่ดูจากสีหน้า เหมือนอลิสายังทำอะไรไม่ถูก แม้จะเตรียมตัวมาบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ทราบว่าจะต้องจับน้องยังไง กอดได้มั้ย จับได้มั้ย แต่ยอมถ่ายรูปกับน้องค่ะ

เรานอน รพ.ได้คืนนึง เย็นของวันถัดไป พยาบาลก็ถามว่า จะออกจาก รพ.วันไหน  คือ เรารู้สึกโอเคหรือยังที่จะกลับบ้าน แข็งแรงพอมั้ย เราก็บอกว่าเราแข็งแรงดีแล้ว เราไม่รู้ว่าออกได้วันไหน แต่ถ้าให้กลับได้ เราก็กลับนะ   พยาบาลก็เลยบอกว่า ให้รออีกสองวันจะดีกว่า เพราะถ้าออกพรุ่งนี้ วันมะรืนก็ต้องพาลูกมาตรวจอีก  เพราะที่นี่จะมี นัดตรวจเป็นรอบๆค่ะ รอบแรกตรวจหลังคลอดทันที รอบสอง 3 วันหลังคลอด    สรุปเราก็โอเค นอน รพ. ก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร อยู่ไหนก็ได้ เลยตกลงอยู่จนครบกำหนดตรวจครั้งต่อไปค่ะ




 



Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2560
Last Update : 4 มกราคม 2564 8:04:37 น.
Counter : 2131 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

elin
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments