ช้าง กะชอ อาเจียง

 
พฤศจิกายน 2552
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
6 พฤศจิกายน 2552
 

การผสมเทียมช้าง

ความสำคัญของการผสมเทียมช้าง
คงมีหลายท่านตั้งข้อสังเกตหรือสงสัยว่า ทำไมถึงได้มีการผสมเทียมช้าง ทั้งๆที่จริงๆแล้ว ช้างยังคงมีมาก จนทำให้เกิดปัญหาช้างเร่ร่อนเดินตามท้องถนน แค่ที่มีอยู่ก็ยังแก้ปัญหากันยังไม่ได้ แล้วจะไปผสมเทียมให้ช้างมันมีมากขึ้นทำไม ???
ครับนั่นก็คงจะไม่ผิดนัก หากเรามองภาพของช้าง ณ ปัจจุบัน เพราะปัญหาที่เกิดและที่มีอยู่มันแก้ยากจริงๆ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ปริมาณช้างที่มีในประเทศไทยนั้น มีโครงสร้างประชากรเป็นอย่างไร มีช้างเพศผู้,เพศเมีย กี่เชือก มีลูกเล็กเด็กแดงกี่ตัว มีช้างแก่ชรา,พิการกี่มากน้อย คงเป็นเรื่องยากที่เราประชาชนทั่วไปจะรับรู้
เรามาดูเฉลยกันเลยดีกว่าเพื่อไม่เป็นการเสียเวลา ช้างในประเทศไทย จากข้อมูลกรมปศุสัตว์พบว่า ช้างเลียงหรือช้างบ้านที่มีการขึ้นทะเบียนโดยกรมปศุสัตว์มีทั้งสิ้น 3,194 เชือก (นับจากหมายเลขไมโครชิพ) และจำนวนช้างป่าโดยกรมอุทยานฯ โดยประมาณ 2,000 ตัว ที่ต้องประมาณเพราะยังไม่มีใครสามารถนับจำนวนช้างป่าได้จริงๆ (รวมถึงช้างเลี้ยงก็นับได้ยากเช่นกัน) ส่วนเปอร์เซนต์ของช้างเมื่อแบ่งตามอายุจะเห็นว่า มากกว่า 50-60 % ของช้างเลี้ยง เป็นช้างที่มีอายุมากกว่า 30 – 40 ปี
ในการทำงานวิจัยโครงการผสมเทียมช้างนั้น เนื่องมาจากเหตุผลหลัก 2-3 ข้อด้วยกันคือ
ข้อแรก เราต้องการทดสอบวิธีการในการผสมเทียมโดยใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่มีอยู่ ให้รู้ถึงขั้นตอนและวิธีการในการผสมเทียมได้อย่างถูกต้อง หากมีความจำเป็นในอนาคตก็สามารถนำวิธีการและอุปกรณ์ดังกล่าว มาใช้ได้เลย ซึ่งนั่นก็คือ สามารถหยิบมาใช้ได้ทุกเมื่อ ที่ต้องการ ไม่ต้องทดลองหรือทดสอบวิธีการใหม่ นั่นคือเหตุผลข้อที่หนึ่ง
ข้อที่สอง เนื่องจากหากมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มจำนวนช้างแต่การขนส่งช้างพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ ไปในระยะทางไกลๆ อาจจะทำให้เกิดปัญหา เสียเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงอาจจะเป็นอันตรายหรือไม่คุ้มค่าในการขนส่งช้างเพื่อมาทำการผสมพันธุ์
ข้อที่สาม ข้อนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก นั่นคือ เป็นการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม หรือ DNA ของช้างให้มีหลากหลาย ลดการเกิดปัญหาผสมเลือดชิด ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตหากมีการผสมพันธุ์ช้างในกลุ่มเดิมๆหลายๆรุ่น ซึ่งจะทำให้ช้างมีพันธุกรรมที่อ่อนแอ และไม่มีความสมบูรณ์
เหตุผลทั้งสามข้อที่ว่ามานี้ก็คงจะเพียงพอที่จะตอบข้อข้องใจของใครหลายๆคนว่าทำไมจึงต้องผสมเทียมช้าง สรุปง่ายๆก็คือ เป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดการสืบสายพันธุ์ช้างไทยให้ยั่งยืนจวบจนลูกหลานนั่นเอง

ต่อไปเรามาทราบถึงอุปกรณ์และวิธีการในการผสมเทียมกันดีกว่านะครับ
มีอุปกรณ์ที่ใช้ที่สำคัญหลักๆอยู่ ดังนี้
1.เครื่องส่องตรวจภายใน (Endoscope) ความยาวที่ต้องการคือ 1.5-2 เมตร เครื่องมือนี้ใช้ในการสอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อส่องดูภายในและมองหาตำแหน่งของปากมดลูกเพื่อฉีดน้ำเชื้อโดย ภานในท่อของเครื่องนี้จะมีช่องสำหรับใส่สายนำน้ำเชื้อเข้าสู่ปากมดลูก และสามารถที่จะเคลื่อนไหวตรงปลายได้รอบทิศทาง ซึ่งภาพที่ได้จะส่งผ่านมายังจอแสดงผล (Monitor) เป็นภาพสมจริงทุกอย่าง ทำให้เราสามารถมองเห็นการเคลื่อนที่ของปลายท่อได้ตลอดเวลา
2.เครื่องอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) อุปกรณ์ชิ้นนี้จะใช้ร่วมกันกับอุปกรณ์อันแรก เพื่อกำหนดตำแหน่งและยืนยันตำแหน่งที่จะปล่อยน้ำเชื้อให้ถูกต้องแม่นยำ โดยผู้ตรวจจะล้วงผ่านทางทวารหนัก และสามารถตรวจดูได้ทางจอแสดงผลเช่นกันแต่ภาพที่ได้จะเป็นภาพสองมิติและเป็นภาพที่จะต้องใช้ความชำนาญในการแปรผลด้วย
3.ถังเก็บน้ำเชื้อแช่แข็ง (Liquid Nitrogen Tank) ถังนี้จะบรรจุหลอดเก็บน้ำเชื้อช้างแช่แข็ง สามารถนำไปยังสถานที่ต่างๆได้สะดวก มีหลายขนาด ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเท่าขนาดกระติกน้ำแข็ง ซึ่งภายในจะควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ ลบ 196 องศาเซลเซียส
4.อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ได้แก่ เครื่องอุ่นน้ำเชื้อ ,อุปกรณ์ตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ,อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆและเวชภัณฑ์ (ยาซึม)

ขั้นตอนการผสมเทียมช้าง
1.เมื่อเราได้ช้างที่ผ่านการตรวจวัดระดับฮอร์โมนที่แสดงถึงการตกไข่ในวันที่จะเริ่มทำการผสมเทียมแล้วนั้น การเตรียมตัวช้าง ช้างจะต้องงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เนื่องจากจะต้องมีการฉีดยาซึม และจะต้องควบคุมช้างให้สงบในขณะที่ทำการผสมเทียม ซึ่ง อาจจะต้องผูกล่ามขาหน้าและหลัง จากนั้นให้ทำความสะอาดช้างทั้งตัวและล้วงเอาอุจจาระออกจากทวารหนักให้หมอแล้วล้างให้สะอาด
2.หลังจากให้ยาซึมแล้วประมาณ 20 – 30 นาที ช้างจะเริ่มซึม ก็ถึงเวลาเริ่มปฏิบัติการได้ โดยทีมงานและอุปกรณ์ที่จะใช้ต้องเตรียมให้พร้อม เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
3.ทีมงานหลักมีดังนี้ 1.ผู้ทำการการสอดเครื่องส่องตรวจภายใน, 2.ผู้ควบคุมทิศทางเครื่องส่องตรวจภายใน, 3.ผู้ตรวจตำแหน่งของปลายท่อเครื่องตรวจภายในโดยใช้อัลตร้าซาวด์, 4.ผู้เตรียมน้ำเชื้อ
4.การสอดเครื่องส่องตรวจภายในจะต้องทำด้วยความนิ่มนวล ซึ่งหากการกำหนดวันผสมไม่ผิดพลาดจะพบว่าช่องทางเดินระบบสืบพันธุ์เพศเมียจะมีเมือกลื่นจำนวนมาก ทำให้การสอดทำได้ง่าย แต่หากไม่ตรงกับวันที่ช้างตกไข่อาจจะพบความยากลำบากในการสอดท่อ ซึ่งอาจจะต้องใช้สารหล่อลื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่ออ่อนช่วย โดยปกติตำแหน่งที่ใช้ในการปล่อยน้ำเชื้อช้างคือหน้าปากมดลูก และหากปากมดลูกเปิดบางครั้งสามารถสอดท่อส่งน้ำเชื้อเข้าไปยังมดลูกได้ โดยทั่วไปแล้วจะมีความยาวหรือความลึกประมาณ 1.4-1.7 เมตรโดยประมาณ
5.ในขณะที่มีการสอดเครื่องส่องตรวจภายใน ผู้ควบคุมทิศทางจะหมุนที่บังคับทิศทางเพื่อหาช่องที่จะทำการสอดปลายท่อเข้าไปให้ได้ลึกที่สุดจนถึงปากมดลูก ซึ่งต้องอาศัยทักษะเป็นอย่างยิ่ง และผู้ที่ตรวจและกำหนดตำแหน่งปลายท่อโดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์นั้นจะต้องทำงานสอดประสานกับผู้สอดเครื่องส่องตรวจฯตลอดเวลา เพื่อกำหนดตำแหน่งปล่อยน้ำเชื้อที่แน่ชัดนั่นเอง
6.หลังจากที่ได้ทำการกำหนดตำแหน่งปล่อยน้ำเชื้อแล้ว ผู้เตรียมน้ำเชื้อจะต้องละลายน้ำเชื้อจากน้ำเชื้อแช่แข็งให้เป็นน้ำเชื้ออุ่นที่อุณหภูมิร่างกายช้างคือประมาณ 37-38 องศาเซลเซียส และทำการตรวจวัดคุณภาพก่อนการฉีดน้ำเชื้อทุกครั้ง โดยทั่วไปแล้วน้ำเชื้อที่อุ่นละลายแล้วจะมีอัตราการมีชีวิตรอดที่ลดลงจากน้ำเชื้อสด ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซนต์ที่ประมาณ 40-50 % เท่านั้น
7.ขั้นตอนการฉีดน้ำเชื้อ ปริมาณน้ำเชื้อที่ใช้ในการผสมเทียมแต่ละครั้งมีประมาณ 20-30 มิลลิลิตร และหลังจากฉีดน้ำเชื้อเข้าไปแล้วจะต้องฉีดอากาศหรือของเหลวเพื่อไล่น้ำเชื้อออกจากท่อส่งให้หมด
8.ขั้นตอนต่อไปคือการถอดอุปกรณ์ทั้งหมดออกจากตัวช้าง ต้องทำอย่างระมัดระวังและนิ่มนวลที่สุด ก่อนที่จะทำการฉีดยาเพื่อให้ช้างฟื้นจากอาการซึม เป็นอันเสร็จสิ้นขบวนการผสมเทียม
ในการผสมเทียมแต่ละครั้งนั้นโดยมากมักจะทำการผสมเทียม 3-4 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในช่วงการตกไข่ของช้างจริงๆ ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากในการผสมเทียมช้าง
ปัจจุบันมีช้างที่เกิดจากการผสมเทียม(ด้วยน้ำเชื้อสด)แล้ว 1 เชือก ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง และถือว่าเป็นความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ไทยและหวังว่าในขั้นต่อไปเราจะมีลูกช้างที่เกิดจากการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อช้างแช่แข็งในอนาคต ต่อไป



Create Date : 06 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2552 23:36:38 น. 0 comments
Counter : 3909 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ronneleph
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ronneleph's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com