Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
5 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
ประวัติโจวอวี๋(จิวยี่)


โจวอวี๋ (AD 175-210)




โจวอวี๋(จิวยี่)มีชื่อเรียกทางการว่ากงจิน มีบ้านเกิดอยู่ที่อำเภอซู เมืองลู่เจียง โจวอวี๋เป็นเชื้อสายของโจวจิ่งและโจวจงซึ่งต่างเคยรับราชการในตำแหน่งไท่เว่ย(ผู้บัญชาการทหารสูงสุด)แห่งราชสำนักฮั่น บิดาของโจวอวี๋เคยรับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองลั่วหยาง(ลกเอี๋ยง) โจวอวี๋เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นชายหนุ่มที่มีรูปโฉมสง่างาม

ครั้งซุนเจียน(ซุนเกี๋ยน)นำทัพบุกตีต่งจวอ(ตั๋งโต๊ะ)1* ได้อพยพครอบครัวไปอยู่อาศัยที่อำเภอซู โจวอวี๋กับซุนเช่อ(ซุนเซ็ก)ผู้บุตรซุนเจียนอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันจึงได้ผูกพันน้ำมิตรกันในครานี้ โจวอวี๋ชักชวนซุนเช่อให้พักอาศัยในตึกตระกูลโจวและเคารพให้เกียรติมารดาซุนเช่อเป็นอย่างสูง

โจวอวี๋มีลุงนามโจวซ่างรับราชการเป็นที่ผู้ว่าราชการเมืองตานหยาง ครั้งโจวอวี๋เดินทางไปเยี่ยมเยียนผู้ลุง ประจวบกับช่วงเวลาขณะนั้นซุนเช่อได้เปิดยุทธการบุกตีเจียงตง(กังตัง)นำทัพข้ามแม่น้ำฉางเจียง(แยงซีเกียง)ตั้งมั่นอยู่ที่ตำบลลี่หยาง ซุนเช่อจึงส่งจดหมายชักชวนโจวอวี๋ให้เข้าร่วม โจวอวี๋ครั้นทราบเนื้อความก็รีบนำไพร่พลเดินทางไปหาซุนเช่อทันที ซุนเช่อถึงกับมีความปีติยินดีเป็นอย่างมาก นับแต่นั้นทั้งคู่ก็ร่วมแรงร่วมใจกันบุกพิชิตพื้นที่เหิงเจียง ตางลี่ แล้วนำทัพข้ามแม่น้ำบุกตีตำบลโม๋หลิงตามลำดับ ยัดเยียดความปราชัยให้แก่เจ๋อหยงกับเสวียหลี่ซึ่งตั้งรับอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น จากนั้นเดินทัพลงใต้ผ่านเมืองหูซูและเจียงเฉิงเข้าตั้งมั่นที่ตำบลฉวี่อา กดดันจนหลิวเหยาต้องเตลิดหนี ขณะนั้นกองทัพของซุนเช่อมีกำลังเพิ่มขึ้นเป็นหลายหมื่นคนอย่างรวดเร็ว ซุนเช่อจึงมั่นใจว่าสามารถยึดครองเมืองอู๋จวิ้น(ง่อกุ๋น)กับฮุ่ยจี(ห้อยเข)ตลอดจนสะกดชนเผ่าซานเอวี้ยได้ ดังนั้นจึงบัญชาให้โจวอวี๋กลับไปตั้งมั่นรักษาการณ์ที่เมืองตานหยาง

โจวอวี๋(ซ้าย),ซุนเช่อ(ขวา)


หลังจากนั้นไม่นาน หยวนซู่(อ้วนสุด)มีบัญชาแต่งตั้งหยวนอิ้นผู้หลานเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตานหยางแทนที่โจวซ่าง โจวซ่างกับโจวอวี๋จึงต้องเดินทางกลับเมืองโซ่วชุน(ฉิวฉุน) หยวนซู่พยายามเกลี้ยกล่อมให้โจวอวี๋สวามิภักดิ์แต่โจวอวี๋เชื่อว่าเขาไม่สามารถสำเร็จการใหญ่ภายใต้การนำของหยวนซู่ ดังนั้นโจวอวี๋จึงร้องขอให้หยวนซู่แต่งตั้งเขาดำรงตำแหน่งนายอำเภอจวี่เจียวที่ซึ่งเขาสามารถหลบหนีกลับแดนเจียงตงได้อย่างสะดวก หยวนซู่ก็ได้อนุมัติแต่งตั้งตามที่ร้องขอเพราะไม่รู้เท่าทันถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของโจวอวี๋

เจี้ยนอันศกปีที่สาม ซุนเช่อต้อนรับการมาของโจวอวี๋อย่างเป็นทางการ แต่งตั้งให้เป็นที่เจียนเหว่ยเจียงจวิน มีพลทหารในสังกัดสองพันนาย ม้าห้าสิบตัว ขณะนั้นโจวอวี๋มีอายุเพียงยี่สิบสี่ปีเท่านั้น ชาวเมืองอู๋(ง่อ)ต่างพากันตั้งสมญาให้เขาว่า “โจวหลาง” (หนุ่มแซ่โจว) ความโอบอ้อมอารีและลักษณะอันโอ่อ่าผ่าเผยของโจวอวี๋เป็นที่เลื่องระบือไปทั่วเขตเมืองลู่เจียง โจวอวี๋ได้รับบัญชาให้ไปรักษาการณ์ที่ตำบลหนิวจู และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ผู้ว่าราชการตำบลชุนกู่ในเวลาต่อมา

ครั้นซุนเช่อตัดสินใจนำทัพเข้าตีมณฑลจิงโจว(เกงจิ๋ว) โจวอวี๋ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่จงฝู่เจียงจวิน(แม่ทัพ)ควบตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเจียงเซี่ย(กังแฮ) ทั้งสองเปิดฉากการบุกจู่โจมจนพิชิตเมืองหว่านเฉิง(อ้วนเซีย) ช่วงเวลานั้นเองทั้งซุนเช่อและโจวอวี๋ได้สมรสกับบุตรีทั้งสองของเฉียวกง(เกียวก๊กโล)ซึ่งมีกิตติศัพท์ความงามเป็นที่เลื่องระบือ จากนั้นทั้งคู่นำทัพเข้าตีเมืองสวินหยางพิชิตหลิวสวิน แล้วเคลื่อนทัพบุกตีเมืองเจียงเซี่ยต่อ แต่พวกเขาจำต้องยกทัพกลับเพื่อไปปราบปรามความไม่สงบในเมืองอวี้จางและลู่หลิง โจวอวี๋จึงได้รับบัญชาให้ยกไปรักษาการณ์ที่ตำบลปาชิว(ปากิ๋ว)

เจี้ยนอันศกปีที่ห้า ซุนเช่อถึงแก่อสัญกรรม ซุนเฉวียน(ซุนกวน)ผู้น้องขึ้นเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง โจวอวี๋จึงเดินทางกลับไปเข้าร่วมพิธีศพซุนเช่อที่เมืองอู๋จวิ้น จางเจา(เตียวเจียว)กับโจวอวี๋ได้รับการมอบหมายให้ร่วมบริหารราชการใหญ่ในแผ่นดิน

เจี้ยนอันศกปีที่สิบเอ็ด โจวอวี๋กับซุนอวี๋นำบรรดาแม่ทัพบุกตีหม่าถุนและเป่าถุน จัดการสำเร็จโทษผู้นำ จับเป็นเชลยศึกได้ประมาณหนึ่งหมื่นคน ต่อมาไม่นานหวงจู่(หองจอ)ผู้ว่าราชการเมืองเจียงเซี่ยบัญชาแม่ทัพเติ้งหลงนำไพร่พลหลายพันคนบุกตีเมืองไฉซ่าง โจวอวี๋นำทัพออกสู้รบและสามารถจับเป็นแม่ทัพเติ้งหลงได้

เจี้ยนอันศกปีที่สิบสาม ฤดูใบไม้ผลิ ซุนเฉวียนแต่งตั้งโจวอวี๋เป็นแม่ทัพหน้าเข้าตีเมืองเจียงเซี่ย ในปีนั้นเฉาเชา(โจโฉ)กรีฑาทัพเข้าปราบปรามแคว้นจิงโจว หลิวฉง(เล่าจ๋อง)และบรรดาขุนนางที่ปรึกษาทั้งทหารและพลเรือนพร้อมใจกันยอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์แก่เฉาเชา ดังนั้นเฉาเชาจึงได้รับมอบทหารหลายแสนคนพร้อมกองทัพเรือจากทัพจิงโจว เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความตื่นตกใจแก่บรรดาแม่ทัพแดนเจียงตงยิ่ง ซุนเฉวียนเรียกประชุมเพื่อสืบหยั่งความคิดเห็นของแม่ทัพทั้งหลาย เสียงข้างมากเสนอแนะให้ซุนเฉวียนยอมสวามิภักดิ์ โดยยกเหตุผลหลักๆดังต่อไปนี้

1) มีบ้างระย่นย่อต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิในความเชี่ยวชาญการณรงค์ของเฉาเชา

2) มีบ้างเห็นว่าเมื่อเฉาเชายึดครองจิงโจวสำเร็จ แดนอู๋ก็ไม่สามารถมีเปรียบในด้านชัยภูมิที่อาศัยพึ่งพาแม่น้ำฉางเจียงเป็นปราการธรรมชาติอีกต่อไป

3) การที่เฉาเชายึดทัพเรือได้จากแดนจิงโจว ส่งผลให้เฉาเชามีกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่มหาศาล จึงอาจมีความเป็นได้ว่าเฉาเชาจะเคลื่อนทั้งทัพบกและทัพเรือกระหนาบเข้าตีเจียงตงพร้อมกัน

4) สถานการณ์ในข้อ1)และ3) ส่งผลให้กองทัพของเฉาเชามีจำนวนมากกว่ากองทัพเจียงตงอย่างเทียบกันไม่ติด

อย่างไรก็ตามโจวอวี๋ไม่เห็นด้วยกับความเห็นเหล่านั้น เขาสันนิษฐานว่ายุทธการบุกแดนใต้ของเฉาเชามีจุดอ่อนอยู่หลายประการ ประการแรกโจวอวี๋ชี้ว่าแม้เฉาเชาจะมีตำแหน่งเฉิงเซี่ยงแห่งราชวงศ์ฮั่น แต่แท้จริงเป็นขบถต่อราชสำนัก อีกทั้งบรรดาหัวเมืองทางแดนเหนือที่ขึ้นต่อเฉาเชาก็ยังมิได้ถูกจัดการจนสงบมั่นคง และเฉาเชายังต้องห่วงพะวงถึงหม่าเชา(ม้าเฉียว)กับหานซุ่ย(หันซุย)จะฉวยโอกาสเข้าตีหัวเมืองต่างๆอีกด้วย ประการที่สองไพร่พลทหารแดนเหนือไม่เชี่ยวชาญยุทธนาวีเยี่ยงชาวแดนใต้ ประการสามเพลานี้เป็นเหมันตฤดู ไพร่พลเฉาเชาย่อมต้องเหนื่อยล้าจากการเดินทัพอันยาวไกล หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศแดนใต้ คงต้องเกิดเจ็บป่วยเป็นโรคระบาดเป็นแน่แท้ ด้วยเหตุผลทั้งสามประการโจวอวี๋เชื่อว่านับเป็นโอกาสอันดีที่จะสามารถจับเป็นเฉาเชาได้ จึงขอให้ซุนเฉวียนมอบทหารหาญสามหมื่นนายให้เขายกไปตั้งมั่นที่เซี่ยโข่ว(แฮเค้า) โจวอวี๋ให้คำรับรองอย่างแข็งขันว่าศึกครานี้เฉาเชาต้องปราชัยเป็นแน่ เมื่อซุนเฉวียนได้ฟังดังนั้นก็มีความเชื่อมั่นในอันจะต่อรบมากขึ้น

ขณะนั้นเป็นเวลาประจวบเหมาะกับหลิวเป้ย(เล่าปี่)ประสบความปราชัยต่อเฉาเชา และได้พบปะกับหลู่ซู่(โลซก)สนทนาวิสาสะถึงแผนการร่วมมือเป็นพันธมิตรต่อต้านอำนาจของเฉาเชา หลิวเป้ยตั้งมั่นอยู่ที่เซี่ยโข่วและได้ส่งจูเก๋อเลี่ยง(จูกัดเหลียง-ขงเบ้ง)ไปเป็นตัวแทนในการหารือกับซุนเฉวียน ผลการหารือปรากฎว่าซุนเฉวียนบัญชาโจวอวี๋และเฉิงผู่(เทียเภา)นำเหล่าแม่ทัพนายกองไปเข้าพบหลิวเป้ยเพื่อยืนยันถึงความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวในอันจะต่อต้านเฉาเชา ดังนั้นกองทัพพันธมิตรซุนหลิวจึงได้เปิดศึกกับเฉาเชาในสมรภูมิชื่อปี้(เซ็กเพ็ก) ระหว่างหน้าศึกสงคราม กองทหารของเฉาเชาเกิดเจ็บป่วยเป็นอันมากส่งผลให้การสัประยุทธ์ในช่วงแรกต้องตกเป็นฝ่ายปราชัย เฉาเชาจำต้องถอยทัพร่นไปตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำฉางเจียง


(เรือรบในสมัยสามก๊ก)


ด้วยเหตุที่เฉาเชายกกองทัพมาครั้งนี้มีไพร่พลมหาศาล หวงไก้(อุยกาย)จึงเห็นว่าหากตั้งยันกันนานไปย่อมไม่ส่งผลดีเป็นแน่ กระนั้นเขาได้สืบทราบมาว่ากองทัพเรือของเฉาเชาถูกผูกโยงจนติดอยู่ด้วยกัน2*จึงออกอุบายเสนอโจวอวี๋ให้ใช้เพลิงเผาผลาญทำลายทัพข้าศึก โจวอวี๋เห็นชอบด้วยตามอุบายและให้มีการจัดเตรียมเรือเพลิงเพื่อใช้ในการทำลายทัพเรือฝ่ายตรงข้าม จากนั้นจึงจัดส่งสาสน์ลวงไปยังค่ายเฉาเชาลวงว่าหวงไก้ตั้งใจเดินทางมาสวามิภักดิ์ อุบายสัมฤทธิ์ผลดังคาด บรรดานายทหารทัพเว่ย(วุย)ต่างมุ่งหวังรอคอยการมาของหวงไก้กันอย่างจดจ่อ ดังนั้นเองหวงไก้จึงฉวยโอกาสออกคำสั่งให้จุดไฟขึ้นบนกองเรือเพลิง ด้วยอำนาจแรงวายุหนุนส่งประกอบกับทัพเรือฝ่ายเฉาเชาถูกล่ามโยงติดกันอัคคีจึงลุกลามเผาผลาญทัพเรือของเฉาเชาพินาศวายวอดอย่างรวดเร็ว ซ้ำยังลุกลามไปถึงค่ายที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำอีกด้วย


(ภาพจำลองกองเรือเพลิงฝ่าเข้าทัพเรือของเฉาเชา)


กองทัพเฉาเชาเกิดความปั่นป่วนเยี่ยงนรกภูมิเกิดการบาดเจ็บล้มตายกันมากมายสุดคณานับ เฉาเชาจำต้องถอยกลับไปตั้งหลักที่เมืองหนานจวิ้น(ลำกุ๋น) ในขณะที่ทั้งหลิวเป้ยกับโจวอวี๋ต่างนำทัพออกไล่ติดตามกันเป็นสามารถ แต่อย่างไรก็ตามเฉาเชาสามารถหนีกลับภาคเหนือไปได้อย่างปลอดภัยและมีบัญชาให้แม่ทัพเฉาเหรินอยู่(โจหยิน)ตั้งมั่นรักษาเมืองเจียงหลิง(กังเหลง)


(ทัพเรือเฉาเชาวายวอดด้วยอำนาจพระเพลิง)


ครั้นแล้วโจวอวี๋กับเฉิงผู่จึงร่วมกันบุกตีเมืองหนานจวิ้นซึ่งเฉาเหรินรักษาการณ์อยู่ กำลังพลฝ่ายบุกตีตั้งประจันกับฝ่ายตั้งรับโดยคั่นด้วยแม่น้ำสายหนึ่ง ก่อนการสัประยุทธ์จะเริ่มเปิดฉาก โจวอวี๋บัญชาให้กานหนิง(กำเหลง)ยกไปตั้งที่ตำบลยีหลิง(อิเหลง) เฉาเหรินจึงมีแบ่งทหารแล้วมีบัญชาให้นายทัพยกไปตีทัพกานหนิง หลู่ซู่จึงส่งสาสน์ไปยังโจวอวี๋เพื่อขอให้ยกทัพไปช่วยกานหนิง หลวี่เหมิง(ลิบอง)แนะนำโจวอวี๋ให้มอบหมายหน้าที่ในการเฝ้ารักษาค่ายแก่หลิงถ่ง(เล่งทอง) ส่วนเขาและโจวอวี๋ให้รีบยกพลไปช่วยเหลือกานหนิง ครั้นช่วยเหลือกานหนิงฝ่าวงล้อมออกมาได้ โจวอวี๋จึงวกกลับไปยกพลข้ามแม่น้ำเพื่อเตรียมทำศึกชี้ขาดกับเฉาเหริน เมื่อสงครามได้เปิดฉากขึ้น โจวอวี๋นำพลบุกจู่โจมเข้าใส่ทัพเฉาเหรินอย่างดุเดือด แต่ตัวเขากลับต้องลูกเกาทัณฑ์ที่ทรวงอกด้านขวา เป็นเหตุให้ต้องรีบถอยทัพ เฉาเหรินทราบว่าโจวอวี๋ได้รับบาดเจ็บจึงคิดฉวยโอกาสอันงามนี้บุกถล่มกองทัพโจวอวี๋ให้พินาศ ด้านโจวอวี๋ทั้งที่ยังอยู่ในอาการบาดเจ็บยังเรียกรวมพลทุกเหล่าทัพกล่าวคำปราศัยปลุกเร้ากำลังใจบรรดานายทหารและไพร่พล กองทัพฝ่ายโจวอวี๋บังเกิดกำลังขวัญเพิ่มขึ้นมากมายอักโข การณ์จึงกลับปรากฎว่าสามารถเอาชัยขับไล่กองทัพเฉาเหรินแตกพ่ายถอยร่นไปได้

ด้วยผลแห่งชัยชนะ ซุนเฉวียนจึงบำเหน็จแต่งตั้งโจวอวี๋เป็นที่ “เปี้ยนเจียงจวิน” รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองหนานจวิ้น และได้รับคำสั่งให้ไปตั้งรักษาการณ์อยู่ที่เมืองเจียงหลิงเพื่อเป็นหน้าด่านป้องกันทัพฝ่ายเหนือ ส่วนหลิวเป้ยในขณะนั้นรับหน้าที่แม่ทัพกองพลปีกซ้ายและผู้ว่าราชการมณฑลจิงโจวเคลื่อนทัพไปประจำการที่ตำบลก้งอัน เมื่อหลิวเป้ยเดินทางไปพบซุนเฉวียนที่ตำบลจิงโข่ว โจวอวี๋ได้เตือนให้ซุนเฉวียนระมัดระวังในตัวหลิวเป้ยให้จงหนัก ด้วยเหตุที่หลิวเป้ยนับเป็นบุรุษที่ความสามารถและยังมีกวนอวี่(กวนอู)กับจางเฟย(เตียวหุย)คอยช่วยเหลือ ทั้งยังแนะนำให้ซุนเฉวียนหาโอกาสแยกตัวหลิวเป้ยออกจากน้องทั้งสองแล้วควบคุมตัวไว้ที่เมืองอู๋จวิ๋น จากนั้นจึงล่อให้หลิวเป้ยหลงใหลในชีวิตอันหรูหราสะดวกสบาย เช่นนี้โจวอวี๋ก็จะสามารถนำกวนอวี่กับจางเฟยออกต่อรบในสมรภูมิ เก็บเกี่ยวผลพวงแห่งชัยชนะในการศึกอนาคต แต่ซุนเฉวียนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องดึงดูดยอดบุรุษเข้ามาอยู่ใต้ร่มธงของเขาเพิ่มในเวลานี้ ทั้งทัพเหนือของเฉาเชาก็ยังเป็นภัยจ่อคุกคามอยู่ การประทุษร้ายต่อหลิวเป้ยในสถานการณ์เช่นนี้หาตรงกับเป้าหมายที่วางไว้แต่แรกไม่ ยิ่งไปกว่านั้นซุนเฉวียนยังไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถครอบงำบุคคลเช่นหลิวเป้ยได้ง่ายๆ ด้วยเหตุนี้อุบายของโจวอวี๋จึงเป็นอันตกไป

ช่วงเวลานั้น หลิวจาง(เล่าเจี้ยง)รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการมณฑลอี้โจวกำลังประสบภัยคุกคามจากจางลู่(เตียวฬ่อ) โจวอวี๋จึงเดินทางไปเข้าพบซุนเฉวียนที่เจียงโข่วเพื่อเสนอแผนการในการยึดครองภาคเหนือ ขั้นแรกโจวอวี๋ต้องการนำทัพร่วมกับซุนอวี๋เข้าตีแดนสู่(จ๊ก) หากบุกตีได้เป็นผลสำเร็จก็จัดการรวมกำลังกับจางลู่ แล้วให้ซุนอวี๋รั้งอยู่ประจำการในแดนสู่เพื่อติดต่อประสานงานกับกองกำลังของหม่าเชา(ม้าเฉียว) ส่วนตัวโจวอวี๋เดินทางกลับมณฑลจิงโจวเพื่อประสานเสริมกับซุนเฉวียนเคลื่อนทัพบุกตีเมืองเซียงหยาง(ซงหยง) ซุนเฉวียนตกลงดำเนินการตามข้อเสนอแนะ โจวอวี๋จึงกลับไปเมืองเจียงหลิงเพื่อเร่งเตรียมการ แต่โจวอวี๋กลับป่วยจนถึงแก่กรรมก่อนเดินทางถึงตำบลปาชิว ขณะนั้นเขามีอายุเพียงสามสิบหกปีเท่านั้น3*

เชิงอรรถ

1) เหตุการณ์ตรงกับช่วงสิบแปดหัวเมืองกรีฑาทัพบุกตีตั๋งโต๊ะในวรรณกรรมสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)

2) การโยงทัพเรือให้ติดกันนั้น ในประวัติศาสตร์ระบุว่าเฉาเชาเป็นผู้ออกคำสั่งโยงเรือด้วยตนเอง ต่างจากวรรณกรรมสามก๊กที่แต่งให้เฉาเชาต้องกลผังถ่ง(บังทอง)ล่ามโยงเรือเข้าด้วยกัน

3) ธรรมเนียมการนับอายุแบบจีนโบราณจะเริ่มนับอายุตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา กล่าวคือเมื่อทารกถือกำเนิดจะถูกนับว่ามีอายุหนึ่งปี ในกรณีโจวอวี๋กำเนิดในปีค.ศ.175 มรณะในปี210 หากนับอายุกันตามหลักสากลย่อมมีอายุเพียงสามสิบห้าปีเท่านั้น ด้วยเหตุผู้แปลยึดหลักแปลตามต้นฉบับ ดังนั้นจึงคงแปลอายุขัยของโจวอวี๋ตามธรรมเนียมจีนโบราณ


Create Date : 05 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2553 22:59:54 น. 1 comments
Counter : 1663 Pageviews.

 
จากกระทู้เรื่อง Amazon Kindle ฝากเพื่อนซื้อจากเมกา ราคา 139 ดอลล่าค่ะ เข้ามาตอบในบล็อกด้วยเผื่อไม่ได้กลับไปอ่านในกระทู้

สวัสดีค่ะ


โดย: settembre วันที่: 27 พฤศจิกายน 2553 เวลา:17:53:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ElClaSsicA
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ElClaSsicA's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.