Group Blog
 
 
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
ประวัติจูเก๋อเลี่ยง(จูกัดเหลียง-ขงเบ้ง)

จูเก๋อเลี่ยง (AD 181-234)


จูเก๋อเลี่ยง(จูกัดเหลียง)มีชื่อทางการว่าข่งหมิง(ขงเบ้ง) เกิดที่อำเภอหยางตู เมืองหลางหยา (ข่งหมิง)เป็นทายาทรุ่นหลังของจูเก๋อฟงซึ่งเคยรั้งตำแหน่งผู้บัญชาการนครหลวงแห่งราชสำนักฮั่น บิดาของเขามีนามว่าจูเก๋อกุยรับราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการเมืองช่วง ปลายสมัยราชวงศ์ฮั่น จูเก๋อเลี่ยงเป็นกำพร้ำตั้งแต่เยาว์วัย อาของเขานามจูเก๋อเสวียนได้รับการแต่งตั้งจากหยวนซู่(อ้วนสุด)ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองอวี้จางจึงให้การอุปการะเลี้ยงดูจูเก๋อเลี่ยงและน้องชายคนสุดท้องนามจูเก๋อจวุน ต่อมาราชสำนักฮั่นมีราชโองการให้จูเฮ่าเข้ารับตำแหน่งแทนที่จูเก๋อเสวียน จูเก๋อเสวียนจึงอพยพไปพึ่งพิงหลิวเปี่ยว(เล่าเปียว)ด้วยเหตุที่ทั้งสองเคยคบค้ากันมาก่อน

หลังจากที่อาของเขาถึงแก่กรรม จูเก๋อเลี่ยงก็ดำรงชีวิตโดยอาศัยกสิกรรมและศึกษาตำรับตำราบทกวีกาพย์กลอนเพื่อประเทืองปัญญา จูเก๋อเลี่ยงมีส่วนสูงราวแปดฉือ(สองเมตร) มักเปรียบเปรยความสามารถตนเองว่าประดุจก่วนจ้งกับเยวี่ยยี่(ขวัญต๋ง,งักเย- สองอัจฉริยะยุคชุนชิวจั้นกว๋อ) ในเวลาขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดประจักษ์ว่าเขามีความสามารถแท้จริงประการใด มีเพียงชุยโจวผิงแห่งป๋อหลิงกับสวีซู่(ชีซี)แห่งอิ่งชวนซึ่งมีการคบหาฉันสหายกับเขาเท่านั้นที่ให้การยกย่องว่าเขามิได้กล่าวเกินเลยไปแม้แต่น้อย

ในช่วงเวลาที่หลิวเป้ย(เล่าปี่)รักษาการณ์อยู่ที่เมืองซินเหย่(ซินเอี๋ย )นั้น สวีซู่ได้เข้าพบหลิวเป้ยและได้รับการนับถือเป็นอย่างสูง เขาได้กล่าวกับหลิวเป้ยว่า “จูเก๋อข่งหมิงได้รับสมญาว่ามังกรนิทรา ท่านขุนพลไม่ต้องการพบเขาหรอกหรือ” หลิวเป้ยกล่าวตอบไปว่า “ท่านช่วยนำเขามาพบข้าฯเถิด” สวีซู่จึงกล่าวว่า “ท่านขุนพลต้องไปเยือนเขาด้วยตนเองเท่านั้น จะเรียกให้เขามาเข้าพบไม่ได้เด็ดขาด” ดังนั้นหลิวเป้ยจึงเดินทางไปเยือนจูเก๋อเลี่ยงด้วยตนเองถึงสามครั้งจึงได้เข้าพบในที่สุด

หลิวเป้ยกล่าวถามจูเก๋อเลี่ยงว่า “ราชสำนักฮั่นกำลังเสื่อมทรุด ขุนนางทุรยศคุมอำนาจเผด็จการ กดขี่ข่มเหงองค์จักรพรรดิ ข้าฯผู้ไม่ประมาณตนแม้จะบกพร่องซึ่งศีลธรรมและกำลังแสนยานุภาพ แต่มีความมุ่งหวังตั้งใจอย่างแรงกล้าในอันจะกอบกู้ความชอบธรรมให้ขจรขจายไปทั่วแผ่นดิน แม้กระนั้นข้าฯขาดไร้ซึ่งสติปัญญา จึงเป็นเหตุให้พ่ายแพ้ในสมรภูมิและต้องตกต่ำเยี่ยงกาลปัจจุบัน แต่อุดมการณ์ของข้าฯก็ไม่เคยลดน้อยถอยลงเลย ขอให้ท่านโปรดช่วยชี้แนะแผนการให้ข้าฯด้วยเถิด”

จูเก๋อเลี่ยงจึงเสนอแผนการว่า “ครั้งต่งจวอ(ตั๋งโต๊ะ)เรืองอำนาจ เหล่าผู้กล้าทั้งแผ่นดินลุกฮือขึ้นก่อการ ฉวยโอกาสยึดครองเมืองต่างๆมากมายนับไม่ถ้วน หากเปรียบกับหยวนเส้า(อ้วนเสี้ยว)แล้ว เฉาเชา(โจโฉ)ด้อยกว่าทั้งชื่อเสียงบารมีและกำลังทหาร การที่เฉาเชาโค่นหยวนเส้าลง แปรสถานภาพจากอ่อนแอเป็นเข้มแข็งนั้น ไม่ใช่เพียงอาศัยซึ่งโอกาสจากกาละฟ้า แต่ต้องอาศัยแผนการของคนด้วย ทุกวันนี้เฉาเชารวบรวมผู้กล้าทั้งแผ่นดิน มีกำลังทหารนับร้อยหมื่น ทั้งยังควบคุมโอรสสวรรค์บัญชาเหล่าขุนศึก ท่านจึงไม่ควรปะทะกับเขาในตอนนี้ ซุนเฉวียน(ซุนกวน)ครอบครองเจียงตง(กังตัง) สืบทอดรากฐานสามชั่วคน ชัยภูมิเข้มแข็ง ใจคนคล้อยตาม สามารถเป็นพันธมิตรอันเข้มแข็งของท่าน จึงไม่บังควรยึดถือเป็นศัตรู แดนจิงโจว(เกงจิ๋ว)มีแม่น้ำฮั่นสุ่ยและเหมี่ยนสุ่ยไหลผ่านเบื้องทิศอุดร เพียบพร้อมบริบูรณ์ด้วยทรัพยากรจากทะเลหนานไห่ เบื้องบูรพาเชื่อมแดนอู๋-ฮุ่ย ทิศประจิมสามารถเคลื่อนเข้าแดนปาสู นับเป็นจุดยุทธศาสตร์อันประเสริฐ บัดนี้ผู้ปกครองแดนจิงโจวไม่มีความสามารถที่จะรักษาไว้ได้ เปรียบเสมือนฟ้าได้ประทานจิงโจวให้แก่ท่านแล้ว หรือท่านขุนพลไม่คิดช่วงชิงไว้เป็นฐานกำลัง? แคว้นอี้โจว(เอ๊กจิ๋ว)มีชัยภูมิคับขัน พื้นที่บริบูรณ์กว้างใหญ่ไพศาล ประดุจแดนแห่งสวรรค์ ครั้งกระโน้น(ฮั่น)เกาจู่ก็เริ่มก่อรากฐาน ณ แดนแห่งนี้ หลิวจาง(เล่าเจี้ยง)ผู้ครองแคว้นอ่อนแอไร้สมรรถภาพ ทั้งมีจางลู่(เตียวฬ่อ)จ่อคุกคามอยู่ทางเหนือ แม้จะมีประชากรมากมายประกอบชัยภูมิดีเลิศ แต่หลิวจางไร้ปัญญาความสามารถ เหล่าขุนนางผู้ปราดเปรื่องต่างเฝ้ารอคอยรับใช้เจ้านายผู้ปรีชา ท่านขุนพลสืบเชื้อสายมาจากราชสำนัก ชื่อเสียงสัตยธรรมโด่งดังเป็นที่ล่วงรู้ ท่านควรรวบรวมเหล่าผู้กล้าและผู้มีสติปัญญา จากนั้นทำการยึดครองแดนจิงโจวและอี้โจว ตรึงจุดยุทธศาสตร์ไว้ให้มั่น เจริญไมตรีกับเผ่าหยงทางตะวันตก ทำนุบำรุงเผ่าอี้และเอวี้ยทางใต้ ภายนอกเชื่อมสัมพันธภาพกับซุนเฉวียน ภายในจัดการบริหารให้มั่นคง เมื่อสถานการณ์ในภาคกลางเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงบัญชาแม่ทัพแกล้วกล้านำทัพจากจิงโจวเข้าตีหว่านเฉิง(อ้วนเซีย)ทะลุลั่วหยาง(ลกเอี๊ยง) ส่วนท่านขุนพลนำทัพอี้โจวด้วยตนเองออกทางพื้นที่ฉิน เมื่อนั้นมีหรือที่ประชาราษฎร์จะไม่คอยต้อนรับท่านขุนพลด้วยความปรีดา? หากท่านดำเนินการได้ดังนี้ก็จะสำเร็จกิจการใหญ่ ฟื้นฟูอำนาจราชวงศ์ฮั่น”

หลิวเป้ยครั้นฟังจบก็กล่าวชมเชยว่ายอดเยี่ยม นับแต่นั้นทั้งสองก็ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้นตามลำดับ กวนอวี่(กวนอู) จางเฟย(เตียวหุย)และขุนนางคนอื่นๆต่างไม่พอใจ หลิวเป้ยจึงอธิบายต่อพวกเขาว่า “ข้าฯได้จูเก๋อเลี่ยงประดุจดั่งมัจฉาแหวกว่ายวารี ข้าฯหวังว่าพวกท่านจะไม่ปริปากถึงประเด็นนี้อีก” ตั้งแต่นั้นกวนอวี่กับจางเฟยจึงไม่พูดถึงเรื่องนี้อีกต่อไป

หลิวฉี(เล่ากี๋)บุตรชายของหลิวเปี่ยวก็ให้การนับถือจูเก๋อเลี่ยงเป็นอันมาก หลิวเปี่ยวเชื่อฟังภรรยารอง(ชัวฮูหยิน) ให้ความเมตตาแก่หลิวฉง(เล่าจ๋อง)ซึ่งเป็นบุตรชายคนสุดท้อง หลิวฉีมักขอให้จูเก๋อเลี่ยงชี้แนะหนทางให้ตนเองรอดพ้นจากภยันตราย แต่จูเก๋อเลี่ยงก็ปฏิเสธบอกปัดอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่งหลิวฉีกับจูเก๋อเลี่ยงท่องชมอุทยานด้วยกัน ทั้งสองขึ้นไปบนหอแห่งหนึ่ง ดื่มสุราโอภาปราศรัย หลิวฉีบัญชาให้ผู้ติดตามยกบันไดออกแล้วกล่าวกับจูเก๋อเลี่ยงว่า “ตอนนี้เบื้องบนไม่ติดฟ้า เบื้องล่างไม่สัมผัสดิน คำพูดของท่านเข้าหูข้าฯแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ท่านคงชี้แนะข้าฯได้แล้วกระมัง?” จูเก๋อเลี่ยงจึงให้คำชี้แนะว่า “ท่านมิเคยได้ยินเรื่องเซินเซิงพำนักอยู่ภายในประสบอันตราย ส่วนฉงเอ่อลี้ภัยกลับอยู่รอดปลอดภัยหรอกหรือ?” หลิวฉีได้ฟังดังนั้นก็เข้าใจในทันทีและวางแผนการลี้ภัยอย่างลับๆ เรื่องราวช่างประจวบเหมาะที่หวงจู่(หองจอ)ถึงแก่ความตาย ดังนั้นหลิวฉีจึงฉวยโอกาสย้ายไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเจียงเซี่ย(กังแฮ)

หลังจากนั้นต่อมาไม่นาน หลิวเปี่ยวถึงแก่อสัญกรรม หลิวฉง(เล่าจ๋อง)ขึ้นสืบทอดตำแหน่ง ได้กิตติศัพท์ว่าเฉาเฉิงเซี่ยง(เฉาเชา-โจโฉ)กำลังมุ่งกรีฑาทัพปราบแดนจิงโจว จึงส่งทูตเดินทางไปขอยอมสวามิภักดิ์ ครั้นหลิวเป้ยซึ่งรักษาการณ์อยู่ที่เมืองฝานเฉิง(ห้วนเสีย)ได้ทราบเรื่องนี้ จึงรวบรวมไพร่พลหนีลงสู่ใต้ ทั้งจูเก๋อเลี่ยงและสวีซู่ก็ติดตามไปในครั้งนี้ แต่กองทัพของเฉาเชาไล่ตามมาทันและบดขยี้กองกำลังของหลิวเป้ยอย่างหนักหน่วง มารดาของสวีซู่ถูกทหารของเฉาเชาจับกุมตัวไว้ได้ สวีซู่จึงจำต้องอำลาหลิวเป้ยอย่างโศกเศร้า เขาชี้นิ้วไปที่หัวใจแล้วกล่าวกับหลิวเป้ยว่า “แรกเริ่มเดิมทีข้าฯตั้งใจไว้ว่าจะรับใช้ท่านขุนพลอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทุกถ้อยคำที่กล่าวนี้ล้วนออกมาจากใจของข้าฯ แต่ตอนนี้มารดาผู้เฒ่าสูญหายถูกจับกุม ดวงใจข้าให้สับสนเร่าร้อนเป็นยิ่งนัก ไม่สามารถคิดการใดๆได้ต่อไป ขอร้องท่านได้โปรดอนุญาตให้ข้าฯไปเถิด” ด้วยเหตุนี้สวีซู่จึงเดินทางไปหาเฉาเชา

เมื่อหลิวเป้ยลี้ภัยไปถึงเซี่ยโข่ว(แฮเค้า) จูเก๋อเลี่ยงก็ได้เสนอแนะว่า “สถานการณ์ตอนนี้คับขันรุนแรง โปรดอนุญาตให้ข้าฯเป็นตัวแทนของท่าน เดินทางไปขอความช่วยเหลือจากซุนเฉวียน(ซุนกวน)เถิด”

ช่วงเวลานั้นซุนเฉวียนยกทัพออกตั้งมั่นที่เมืองไฉซ่างพร้อมทั้งสืบฟังข่าวคราวผลการสู้รบในแดนจิงโจว จูเก๋อเลี่ยงเริ่มหว่านล้อมซุนเฉวียนว่า “ทั่วทั้งแผ่นดินปั่นป่วนเกิดจลาจลวุ่นวาย ท่านขุนพลครอบครองอาณาเขตเจียงตง(กังตั๋ง) ส่วนท่านหลิวเป้ยก็รวบรวมกองทัพตั้งมั่นอยู่ทางใต้ นับเป็นขุมกำลังที่สามารถชิงชัยกับเฉาเชา บัดนี้เฉาเชาทำการปราบจลาจล พื้นที่ส่วนใหญ่สงบเรียบร้อย ทั้งเพิ่งยึดครองมณฑลจิงโจว ชื่อเสียงอานุภาพกึกก้องไปทั่วสี่คาบสมุทร ท่านหลิวเป้ยต้องหลบหนีมาถึงที่นี่เป็นเพราะเหล่าแม่ทัพนายกองไม่สามารถ สำแดงความห้าวหาญได้เต็มที่(หมายถึงไม่มีไพร่พลให้ใช้สอย) ท่านขุนพลควรตรองสถานการณ์ให้จงดี หากใคร่ครวญแล้วเห็นว่าสามารถต้านทัพจงหยวน(ภาคกลาง)ได้โดยอาศัยกำลังไพร่พล ในแคว้นอู๋-เอวี้ย ก็ไม่จำต้องรักษาสัมพันธไมตรีกับเฉาเชาอีกต่อไป แต่หากเห็นว่าไม่อาจต่อกรได้ ก็จงปลดอาวุธถอดเกราะยอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์แก่ทัพเหนือเถิด ขณะนี้ท่านขุนพลแสดงท่าทีคล้ายยอมอ่อนน้อมแก่เฉาเชา ทำให้ภายในแผนการล่าช้าลังเลไม่เด็ดขาด การที่ท่านแสดงท่าทีวางเฉยต่อวิกฤตการณ์นี้ อาจนำมาซึ่งหายนะภัย”

ซุนเฉวียนกล่าวตอบไปว่า “หากเป็นดังที่ท่านว่า แล้วเหตุใดท่านหลิวจึงไม่ยอมอ่อนน้อมแก่เฉาเชาเล่า?”

จูเก๋อเลี่ยงจึงกล่าวสืบต่อ “ท่านหลิวเปรียบเสมือนเถียนเหิงแห่งรัฐฉีผู้ดำรงไว้ซึ่งสัตยธรรมโดยไม่ยอมให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ ยิ่งไปกว่านั้นท่านหลิวยังสืบเชื้อสายราชสำนัก มีความโดดเด่นเหนือผู้ใดในชั้นวงศา จิตใจผู้คนล้วนคล้อยตามประดุจสายนทีไหลหลั่งสู่คาบสมุทร หากแม้นกระทำการไม่สำเร็จ ย่อมต้องกล่าวว่าเป็นเพราะสวรรค์ไม่เป็นใจ แต่ท่านหลิวไม่มีวันยอมอยู่ใต้อาณัติเฉาเชาเป็นอันขาด”

ซุนเฉวียนได้ฟังจึงเกิดความโกรธและกล่าวว่า “ข้าฯไม่มีทางยกแคว้นอู๋ซึ่งประกอบด้วยผู้คนเรือนแสนให้แก่ผู้ใดโดยง่ายดายอย่างแน่นอน ข้าฯได้ตัดสินใจแล้ว บัดนี้ทอดตาทั่วแผ่นดินนอกจากท่านหลิวแล้ว หามีผู้ใดอาจหาญต่อกรเฉาเชาได้อีก แต่กองทัพของท่านหลิวก็เพิ่งประสบความพ่ายแพ้สูญเสีย ไม่ทราบว่าท่านหลิวยังจะสามารถเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ได้หรือไม่?”

จูเก๋อเลี่ยงจึงตอบกลับไปว่า “แม้ว่ากองทัพฝ่ายเราเพิ่งประสบความเพลี่ยงพล้ำที่ฉางปัน(เตียงปัน) แต่บัดนี้เหล่าทหารที่แตกทัพได้ทยอยกลับมารวมตัว ทัพเรือของกวนอวี่(กวนอู)มีไพร่พลไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นนาย ยังไม่รวมทัพเจียงเซี่ยของหลิวฉีซึ่งมีไม่ต่ำกว่าอีกหนึ่งหมื่นนายเช่นกัน ทัพใหญ่ของเฉาเชาเดินทัพมาจากทางไกล ไพร่พลย่อมเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ข้าพเจ้ายังได้ยินมาว่าครั้งที่เฉาเชาส่งทัพไล่กวดท่านหลิว ได้ส่งกองทหารม้าไล่ตามอย่างเร่งร้อนเป็นระยะทางกว่าสามร้อยหลี่ภายในหนึ่งคืน ตรงตามวลีที่ว่า ‘เมื่อเกาทัณฑ์กล้าแข็งยิงทะลุเป้าแล้ว ย่อมไม่อาจระคายเคืองแม้แพรพรรณ’ ดังนั้นพิชัยสงครามมีว่าไว้ ‘เดินทัพทุกระยะห้าสิบหลี่ แม่ทัพมีโอกาสประสบความเพลี่ยงพล้ำเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งส่วน’ ยิ่งไปกว่านั้นทหารภาคเหนือไม่ถนัดการทำยุทธนาวี อีกประการแม้ไพร่พลจิงโจวจะอยู่ในกำมือเฉาเชา แต่พวกเขาถูกบีบบังคับด้วยกำลัง ไม่ได้สวามิภักดิ์ด้วยใจจริง บัดนี้ท่านควรบัญชาขุนพลผู้แกล้วกล้านำไพร่พลเรือนหมื่นร่วมรบกับท่านหลิวอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว กองทัพของเฉาเชาย่อมต้องแตกพ่ายอย่างแน่นอน หลังความปราชัยเฉาเชาต้องกลับสู่ภาคเหนือ พื้นที่จิง-อู๋(เกงจิ๋วและต๋องง่อ)จะกลับสู่ความเข้มแข็งกำเนิดเป็นขุมกำลังสามเส้า การณ์จะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในเวลานี้เท่านั้น”

ซุนเฉวียนพอใจเป็นอันมากจึงบัญชาให้โจวอวี๋(จิวยี่),เฉิงผู่(เทียเภา),หลู่ซู่(โลซก)และเหล่าแม่ทัพนำทัพเรือพร้อมไพร่พลจำนวนสามหมื่นประสานงานกับจูเก๋อเลี่ยง เข้าพบหลิวเป้ยและได้ร่วมเป็นพันธมิตรในอันจะต่อกรกับเฉาเชา

เฉาเชาประสบความปราชัยที่ชื่อปี้(เซ็กเพ็ก)และได้ยกทัพกลับเมืองเยี่ยเฉิง(เงี๊ยบเสีย) หลิวเป้ยจึงเข้ายึดครองหัวเมืองแถบเจียงหนาน จากนั้นแต่งตั้งให้จูเก๋อเลี่ยงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำกองทัพ มีอำนาจควบคุมเมืองหลิงหลิง(เลงเหลง) กุ้ยหยางและฉางซา(เตียงสา)รวมสามหัวเมือง มีหน้าที่โดยตรงในการจัดเก็บภาษีเพื่อใช้ในกิจการกองทัพ

เจี้ยนอันศกปีที่สิบหก หลิวจาง(เล่าเจี้ยง)ผู้ครองมณฑลอี้โจว(เอ๊กจิ๋ว)ส่งฝ่าเจิ้ง(หวดเจ้ง)มาเป็นตัวแทนเข้าพบหลิวเป้ย ร้องขอให้ยกทัพเข้าตีจางลู่(เตียวล่อ) จูเก๋อเลี่ยงกับกวนอวี่รั้งประจำการณ์อยู่ที่จิงโจว ครั้นหลิวเป้ยหันคมหอกเข้าใส่หลิวจางโดยนำทัพออกจากด่านเจียเหมิงเข้าโอบล้อม จูเก๋อเลี่ยงได้นำจางเฟย,จ้าวอวิ๋นและแม่ทัพสังกัดกองกำลังต่างๆเคลื่อนทัพทวนน้ำเข้าตีหัวเมืองต่างๆรอบนอกเขตมณฑลอี้โจว จากนั้นเข้าสมทบกับทัพหลักของหลิวเป้ย พร้อมกันเคลื่อนกำลังเข้าโอบล้อมเมืองเฉิงตู(เชงโต๋)

เมื่อหลิวเป้ยเข้ายึดครองเมืองเฉิงตูไว้ได้แล้ว ก็ได้แต่งตั้งจูเก๋อเลี่ยงเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาประจำกองทัพมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการต่างๆในกองพลซ้าย หากหลิวเป้ยออกตรวจตราหัวเมืองรอบนอก จูเก๋อเลี่ยงมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดูแลความสงบเรียบร้อยในเมืองเฉิงตู รวมถึงการดูแลจัดการเกี่ยวกับกำลังพลและเสบียงอาหาร

เจี้ยนอันศกปีที่ยี่สิบหก เหล่าขุนนางข้าราชการปรึกษาเห็นพ้องแนะนำให้หลิวเป้ยสถาปนาตนเองขึ้นครองบัลลังก์จักรพรรดิ(หวางตี้-ฮ่องเต้) แต่หลิวเป้ยปฏิเสธ จูเก๋อเลี่ยงจึงเสนอแนะว่า “ในอดีตกาล อู๋หั้นกับเก็งชุนและเหล่าขุนนางเร่งเร้าให้(ฮั่น)กวงอู่ตี้สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิ แต่กวงอู่ตี้ทรงปฏิเสธถึงสี่ครั้งครา เก็งชุนจึงถวายคำแนะนำว่า ‘มวลหมู่วีรบุรุษใต้หล้าต่างกำลังกระตือรือร้นรอคอยความหวัง หากท่านเพิกเฉยต่อคำแนะนำของเหล่าที่ปรึกษาไซร้ เมื่อนั้นวิญญูชนจะพร้อมใจกันตีจากท่านเพื่อเสาะแสวงหานายใหม่’ กวงอู่ตี้จึงทรงตระหนักว่าเป็นคำแนะนำอันชาญฉลาดและตกลงใจได้ในที่สุด เหตุการณ์ปัจจุบันนี้ตระกูลเฉา(โจ)ช่วงชิงอำนาจราชวงศ์ฮั่น ราชอาณาจักรไร้ซึ่งผู้ปกครอง บัดนี้ท่านหวาง(อ๋อง-หลิวเป้ยได้สถาปนาตนเป็นฮันต๋งอ๋องแล้วในขณะนั้น)เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในบรรดาเหล่าราชนิกุล มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในอันจะฟื้นฟูอำนาจราชวงศ์ ขณะนี้นับเป็นเวลาอันเหมาะสมที่สุดที่ท่านหวางจะสถาปนาขึ้นครองบัลลังก์ วิญญูชนที่ติดตามท่านหวางฝ่าฟันความยากลำบากก็จะได้บรรลุถึงปณิธาน สมดังคำที่ท่านเก็งชุนเคยว่าไว้” หลิวเป้ยจึงสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งจูเก๋อเลี่ยงให้เข้ารับตำแหน่งเฉิงเซี่ยง(สมุหนายก)ว่า “ราชวงศ์ประสบเคราะห์ร้าย ข้าฯจำเป็นต้องรับหน้าที่สืบทอดราชวงศ์ ข้าฯต้องมีจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่และไม่บังอาจที่จะเลือกกระทำการอย่างรักง่ายสะดวกสบายเป็นอันขาด ข้าฯมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสันติภาพให้แก่มวลชนแต่ก็เกรงว่าจะทำการไม่สำเร็จ ท่านจูเก๋อเฉิงเซี่ยงคงเข้าใจปณิธานแห่งข้าฯเป็นอย่างดีและต้องช่วยกันแก้ไขในข้อผิดพลาด ร่วมกันจรรโลงแสงสว่างแห่งความชอบธรรมให้ส่องไสวไปทั่วราชอาณาจักร ท่านต้องอุทิศตนให้กับภารกิจนี้ให้จงดี” เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว จูเก๋อเลี่ยงยังได้ควบตำแหน่งเสนาบดีว่าการศึกษาธิการพร้อมทั้งได้รับพระราชทานเครื่องยศด้วย ภายหลังจางเฟย(เตียวหุย)ถึงแก่ความตาย จูเก๋อเลี่ยงยังเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพิ่มขึ้นอีกตำแหน่ง

จางอู่ศกปีที่สาม(ศักราชประจำรัชกาลของหลิวเป้ย) ฤดูใบไม้ผลิ จักรพรรดิองค์แรก(หลิวเป้ย)ทรงประชวรประทับอยู่ที่เมืองหย่งอัน ทรงมีพระบรมราชโองการเรียกตัวจูเก๋อเลี่ยงจากเมืองเฉิงตูให้มาเข้าเฝ้าหน้าพระแท่นเพื่อฝากฝังเรื่องหลัง(สั่งเสีย) พระองค์ตรัสแก่จูเก๋อเลี่ยงว่า “ท่านมีความสามารถสูงส่งกว่าเฉาพี(โจผี)ถึงสิบส่วน ย่อมสามารถปกครองดูแลให้รัฐเรามั่นคงสถาพรจวบจนสืบสานปณิธานสำเร็จลุล่วง หากเห็นว่ารัชทายาท(หลิวฉาน-เล่าเสี้ยน)สามารถส่งเสริม ก็จงช่วยประคองส่งเสริม แต่ถ้าเห็นว่ารัชทายาทไร้ความสามารถ ท่านก็จงขึ้นนั่งบัลลังก์จักรพรรดิสืบแทนเถิด” จูเก๋อเลี่ยงได้ฟังดังนั้นก็ร่ำไห้กราบทูลว่า “กระหม่อมจะทุ่มเทสุดความสามารถด้วยความจงรักภักดีจวบจนชีวิตจะหาไม่” จักรพรรดิองค์แรกจึงทรงพระอักษรเป็นพระบรมราโชวาทเพื่อพระราชทานแด่จักรพรรดิองค์หลังมีใจความว่า ‘เจ้าต้องบริหารราชการบ้านเมืองโดยเชื่อฟังท่านเฉิงเซี่ยง(สมุหนายก) และต้องให้ความเคารพดุจเดียวกับที่เคารพบิดา’

เจี้ยนซิงศกปีที่หนึ่ง(ศักราชของจักรพรรดิองค์หลัง-หลิวฉาน) จักรพรรดิองค์หลังพระราชทานบรรดาศักดิ์ “อู่เซียงโหว” แด่จูเก๋อเลี่ยง พร้อมทั้งพระราชทานให้มีการจัดตั้งกระทรวงที่ขึ้นตรงต่อสมุหนายกเพื่อใช้เป็นที่ปรึกษาข้อราชการเมือง ต่อมาไม่นานจูเก๋อเลี่ยงยังได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการมณฑลอี้โจวควบอีกตำแหน่ง ข้อราชการไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเล็กล้วนต้องผ่านการตัดสินใจของเขาก่อน

ขณะนั้นเมืองหนานจงเกิดกบฏ จูเก๋อเลี่ยงเห็นว่ารัฐเพิ่งประสบความสูญเสีย(หมายถึงศึกยีหลิง-อิเหลง) จึงยังไม่สมควรเคลื่อนกำลังทางทหาร ดังนั้นจึงจัดส่งทูตไปรัฐอู๋(ง่อก๊ก)เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี

เจี้ยนซิงศกปีที่สาม ฤดูใบไม้ผลิ จูเก๋อเลี่ยงนำทัพออกปราบปรามกบฏภาคใต้จนสงบราบคาบในฤดูใบไม้ร่วง ทั้งยังสามารถยึดครองยุทโธปกรณ์ตลอดจนทรัพยากรจากพื้นที่ที่ถูกปราบปรามได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้รัฐมีความเข้มแข็งทางเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้นจูเก๋อเลี่ยงจึงเริ่มจัดการฝึกฝนกองทัพเพื่อเตรียมการสู่ยุทธการบุกภาคเหนือ

เจี้ยนซิงศกปีที่ห้า จูเก๋อเลี่ยงเรียกประชุมบรรดาแม่ทัพนายกองที่เมืองฮั่นจง ก่อนออกเดินทางเขาได้ถวายฎีกาแด่จักรพรรดิองค์หลังว่า

‘จักรพรรดิองค์แรกถึงกาลสวรรคตโดยที่ยังไม่บรรลุพระปณิธาน บัดนี้ราชอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ถูกแบ่งแยกออกเป็นสามรัฐ อี้โจวนับเป็นแคว้นเล็ก เวลานี้จึงนับว่ามีอันตรายร้ายแรง เหล่าขุนนางข้าราชบริพารจึงพร้อมใจกันปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน นายทหารก็ร่วมใจกันต่อต้านอริราชศัตรูโดยไม่ย่อท้อ นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นยังไม่ลืมพระมหากรุณาธิคุณที่จักรพรรดิองค์แรกทรงปฏิบัติต่อพวกเขาเป็นอย่างดี จึงต่างพร้อมใจกันถวายงานรับใช้ฝ่าบาทเป็นการตอบแทนในพระมหากรุณาธิคุณของจักรพรรดิผู้ทรงล่วงลับไปแล้ว ฝ่าบาทจึงควรสำแดงพระปรีชาญาณเพื่อเผยแผ่สัตยธรรมอันยิ่งใหญ่ขององค์จักรพรรดิผู้ทรงล่วงลับ ทั้งยังเป็นการปลอบใจเหล่าข้าราชบริพารผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความแน่วแน่อีกด้วย พระองค์ไม่บังควรกระทำในสิ่งที่อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศ โดยการใช้สอยขุนนางประจบสอพลออันเป็นหนทางนำไปสู่การปิดกั้นคำทัดทานด้วยความซื่อสัตย์ภักดี

ราชสำนักควรมีนโยบายรวมประสานขุนนางทั้งฝ่ายกลาโหมและพลเรือนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มาตรฐานในการเลื่อนยศ ลดตำแหน่ง สดุดี และวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของบรรดาขุนนางควรเป็นไปอย่างเสมอภาค ในกรณีที่เกิดการกระทำผิดกฎหมายหรือมีการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม การลงโทษหรือให้บำเหน็จควรกระทำให้เป็นที่ประจักษ์ในพระราชอำนาจ โดยมิบังควรมีฉันทาคติจนก่อให้เกิดความแตกต่างในการปกครองของทั้งฝ่ายกลาโหมและพลเรือน

ด้านตำแหน่งชื่อจงและชื่อหลางนั้น กั๋วโหยวจือ เฟยอี้(บิฮุย) ต่งอวิ๋น(ตังอุ๋น)และพรรคพวก ล้วนเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ภักดีมีอุดมการณ์ในอันจะเชิดชูราชสำนัก ดังนั้นจักรพรรดิผู้ทรงล่วงลับจึงทรงเลือกสรรพวกเขาไว้ให้ถวายการรับใช้ฝ่าบาท กระหม่อมจึงมีความเห็นอันต่ำต้อยว่า ฝ่าบาทควรปรึกษาการณ์ต่างๆภายในราชสำนักกับพวกเขาก่อนที่จะทรงมีพระราชโองการให้นำไปปฏิบัติ ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กเพียงใด ดังนี้พระราชกรณียกิจต่างๆก็จะสำเร็จสมพระประสงค์โดยที่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเสียหายหรือการละเว้นไม่ปฏิบัติอย่างแน่นอน ท่านแม่ทัพเซี่ยงฉ่งมีความเที่ยงธรรมและมีความสามารถในด้านการทหาร เคยรับใช้ในองค์จักรพรรดิผู้ทรงล่วงลับและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ดังนั้นบรรดาขุนนางต่างพร้อมใจกันยกย่องให้เขาเป็นผู้บัญชาการส่วนกลาง ข้าพระองค์จึงมีความเห็นอันต้อยต่ำว่า ในเรื่องการทหารทั้งปวงพระองค์ควรปรึกษาด้วยเซี่ยงฉ่ง เช่นนี้กองทัพก็จะเกิดความสมัครสมานและสามารถเลือกใช้คนได้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่

การใกล้ชิดขุนนางปราชญ์ห่างไกลทรชน เป็นสาเหตุที่ทำให้ราชวงศ์ฮั่นสามารถครองความยิ่งใหญ่ และการใกล้ชิดทรชนห่างเหินขุนนางปราชญ์ ก็เป็นหนทางที่ทำให้ตงฮั่นประสบความหายนะ ครั้งที่จักรพรรดิผู้ล่วงลับยังทรงพระชนม์ชีพก็มักทรงโศกาอาดูรในการกระทำของหวนตี้และหลิงตี้(ฮั่นเต้และเลนเต้) ส่วนขุนนางในตำแหน่งชื่อจง สั้งซู จั๋งสื่อ และซันจวินล้วนเป็นขุนนางสุจริตทะนงเกียรติ กระหม่อมจึงมุ่งหวังให้ฝ่าบาททรงไว้วางพระทัยบุคคลเหล่านี้ ดังนี้แล้วราชวงศ์ฮั่นก็จะรุ่งโรจน์สถาพรสืบไป

กระหม่อมจำเดิมเป็นเพียงสามัญชน ดำรงชีพด้วยการประกอบกสิกรรมที่เขตหนานหยาง มุ่งหวังเพียงให้สามารถมีชีวิตจากห้วงกลียุคโดยมิได้หวังในลาภยศสรรเสริญจากบรรดาขุนศึกทั้งหลาย แต่จักรพรรดิผู้ทรงล่วงลับก็มิได้ทรงรังเกียจกระหม่ีอมผู้ต่ำต้อย ทรงลดพระวรกายเยือนกระท่อมซอมซ่อของกระหม่อมถึงสามคราเพื่อปรึกษาถึงสถานการณ์ใหญ่ในแผ่นดิน กระหม่อมจึงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ยอมถวายกายรับใช้ในองค์จักรพรรดิผู้ทรงล่วงลับ เนื่องจากกระหม่อมได้รับการแต่งตั้งในเพลาที่กองทัพประสบความเพลี่ยงพล้ำ ท่ามกลางยุคสมัยอันสับสนอันตราย มาบัดนี้เวลาก็ได้ผ่านล่วงมาถึงยี่สิบเอ็ดปีแล้ว จักรพรรดิผู้ล่วงลับทรงทราบว่ากระหม่อมมีความรอบคอบจึงทรงมอบหมายภารกิจอันสำคัญแก่กระหม่อมก่อนที่จะเสด็จสวรรคต

นับแต่กระหม่อมได้รับมอบหมายภารกิจเป็นต้นมา ก็ได้ถวายงานรับใช้ด้วยความพากเพียรทั้งเช้าค่ำด้วยเกรงว่าจะไม่อาจสืบทอดพระปณิธานของจักรพรรดิผู้ทรงล่วงลับให้บรรลุผล เป็นที่เสื่อมเสียถึงพระเกียรติยศบารมี ดังนั้นกระหม่อมจึงยอมข้ามแม่น้ำหลู่สุ่ยในเดือนห้า ผจญกับความยากลำบากในถิ่นทุรกันดารจนปราบปรามภาคใต้ได้สงบราบคาบ บัดนี้กำลังพลทั้งอาวุธและชุดเกราะล้วนพรั่งพร้อม เป็นเวลาอันสมควรนำสามเหล่าทัพกรีฑาขึ้นเหนือเพื่อยึดครองแดนจงหยวน กระหม่อมขอให้ปฏิญาณว่าจะทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในอันจะกวาดล้างอริราชศัตรูเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น อัญเชิญฝ่าบาทเสด็จนิวัตกลับสู่พระนครหลวงเดิม(ลั่วหยาง) นี่คือหน้าที่ของกระหม่อมในอันจะตอบแทนในพระมหากรุณาธิคุณของจักรพรรดิผู้ทรงล่วงลับ และถวายความจงรักภักดีต่อฝ่าบาท

ส่วนการตัดสินชี้ขาดข้อราชการรวมถึงหน้าที่ในการถวายคำแนะนำต่อฝ่าบาทควรมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของกั๋วโหยวจือ เฟยอี้และต่งอวิ๋น กระหม่อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฝ่าบาทจะทรงมีพระบรมราชานุญาตให้กระหม่อมนำทัพออกปราบปรามอริราชศัตรูเพื่อฟื้นฟูอำนาจของพระบรมมหาราชวงศ์ มาตรแม้นกระหม่อมไม่สามารถทำการได้สำเร็จ โปรดทรงลงโทษกระหม่อมในความผิดพลาดสูญเสีย ให้พระวิญญาณอันล่วงลับของจักรพรรดิองค์ก่อนได้ทรงประจักษ์ในความผิดของกระหม่อม หากขุนนางในราชสำนักไม่ได้ถวายคำแนะนำอันมีประโยชน์แก่ฝ่าบาท ก็ขอให้พระองค์ทรงโปรดให้มีการลงโทษแก่กั๋วโหยวจือ เฟยอี้ ต่งอวิ๋นและพวก โดยประกาศให้เป็นที่รู้โดยถ้วนทั่ว ทั้งนี้ฝ่าบาทควรมีพระวิจารณญาณตรวจสอบความประพฤติของพระองค์เองให้มีพัฒนาการไปอย่างถูกทำนองคลองธรรม โปรดสดับฟังในคำแนะนำของขุนนางปราชญ์และให้ทรงรำลึกถึงคำสอนขององค์จักรพรรดิผู้ทรงล่วงลับไปแล้วอยู่เสมอ

กระหม่อมได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงจนรู้สึกเต็มตื้นอย่างสุดจะหาถ้อยคำใดมาใช้บรรยายได้ บัดนี้ได้เวลาที่กระหม่อมต้องกราบทูลลาฝ่าบาทไปแดนไกล ณ เบื้องฎีกาฉบับนี้พลันรู้สึกรันทดจนสลดไห้ ไร้ซึ่งวาจาใดๆจะกราบทูลฝ่าบาทได้อีก’

เมื่อทูลถวายฎีกาออกศึกฉบับนี้แล้ว จูเก๋อเลี่ยงก็นำทัพออกไปประจำการที่เหมี่ยนหยาง

เจี้ยนซิงศกปี่ที่หก จูเก๋อเลี่ยงประกาศสงครามโดยนำทัพออกจากช่องเขาเซี่ยเพื่อยึดครองพื้นที่เม่ย จากนั้นบัญชาให้จ้าวอวิ๋น(จูล่ง)และเติ้งจือ(เตงจี๋)เป็นทัพล่อหลอกโดยให้ไปตั้งมั่นที่เนินเขาจี้ ซึ่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งรัฐเว่ยเฉาเจิน(โจจิ๋น)ก็ได้นำทัพออกต้านทานทัพหลอกไว้ จูเก๋อเลี่ยงจึงได้โอกาสนำทัพด้วยตนเองเข้ายึดครองเขาฉีซาน(กิสาน)ไว้ได้ ส่งผลให้สามหัวเมืองอันได้แก่หนานอัน เทียนสุ่ยและอานติ่งแปรพักตร์จากรัฐเว่ยแล้วหันมาสวามิภักดิ์ต่อจูเก๋อเลี่ยงแทน ยุทธการครั้งนี้ส่งผลสะท้านสะเทือนไปถึงภูมิภาคกวนจง

เว่ยหมิงตี้(เฉารุ่ย-โจยอย)องค์จักรพรรดิแห่งรัฐเว่ยทรงแปรพระราชฐานมาประทับที่นครฉางอันเพื่อให้กองทัพเกิดขวัญและกำลังใจ ทั้งทรงมีพระบรมราชโองการให้แม่ทัพจางเฮ่อ(เตียวคับ)นำทัพออกสู้รบกับจูเก๋อเลี่ยง

จูเก๋อเลี่ยงแต่งตั้งหม่าซู่(ม้าเจ๊ก)เป็นผู้นำทัพและได้ปะทะกับจางเฮ่อ ณ สมรภูมิเจียถิง(เกเต๋ง) หม่าซู่ฝ่าฝืนกลยุทธ์ของจูเก๋อเลี่ยงที่ให้ตั้งมั่นประจำการณ์ตามจุดยุทธศาสตร์ แต่กลับเลือกใช้แผนการที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์สู้รบเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้ถูกจางเฮ่อปราบพิชิตลงได้อย่างราบคาบ จูเก๋อเลี่ยงจึงจำต้องยกทัพกลับและได้กวาดต้อนครัวเรือนในเขตแดนซีเซียนได้กว่าหนึ่งพันครอบครัวเข้าสู่เมืองฮั่นจง

เมื่อกลับถึงเมืองฮั่นจงแล้ว จูเก๋อเลี่ยงได้สั่งประหารชีวิตหม่าซู่เพื่อเป็นการปลอบขวัญบรรดาแม่ทัพนายกอง และเขียนฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่จักรพรรดิองค์หลังว่า ‘กระหม่อมใช้สอยคนที่อ่อนความสามารถในการปฏิบัติภารกิจอันคับขันใหญ่หลวง และยังได้ไว้วางใจให้เขาบัญชาการสามเหล่าทัพ โดยกระหม่อมมิสามารถรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของคำบัญชาได้ หรือแม้กระทั่งการระวังป้องกันในเภทภัยอันก่อให้เกิดความเสียหาย ยังผลให้เกิดความผิดพลาดอย่างร้ายแรงในสมรภูมิเจียถิงและการปราชัยอย่างอับโชคที่เนินเขาจี้ ความผิดพลาดทั้งปวงตกอยู่แก่กระหม่อมที่มอบอำนาจหน้าที่ให้แก่ขุนพลอย่างไม่เหมาะสม กล่าวคือกระหม่อมไร้ซึ่งสติปัญญาในการหยั่งรู้ความดีชั่วผู้อื่นนั่นเอง ดังนี้กระหม่อมสมควรถูกลงโทษตามกฎเกณฑ์ของแม่ทัพผู้พ่ายศึก กระหม่อมขอพระราชทานการลงโทษจากฝ่าบาท โดยขอให้พระองค์ทรงลดฐานันดรศักดิ์ของกระหม่อมลงสามขั้นสำหรับโทษอันสะเพร่าอย่างร้ายแรงของกระหม่อม’

จักรพรรดิองค์หลังจึงพระราชทานให้จูเก๋อเลี่ยงดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองพลขวา บริหารราชการต่างๆในฐานะสมุหนายก และอำนาจหน้าที่ต่างๆประดามีก็ยังคงไว้เช่นเดิมมิเปลี่ยนแปลง

เหมันตฤดู จูเก๋อเลี่ยงนำทัพออกทางฉีซานอีกครั้ง แล้วเคลื่อนกำลังเข้าโอบล้อมพื้นที่เฉินชัง เฉาเจินได้นำทัพออกต่อต้านจนจูเก๋อเลี่ยงต้องถอยทัพกลับเพราะเสบียงกองทัพถูกใช้จนหมดสิ้น แม่ทัพแห่งราชสำนักเว่ยนามหวังส่วง(อองสง)นำทัพม้าออกไล่ตามตีแต่พ่ายแพ้แก่จูเก๋อเลี่ยงและถูกตัดศีรษะ

เจี้ยนซิงศกปีที่เจ็ด จูเก๋อเลี่ยงบัญชาแม่ทัพเฉินซื่อให้เข้าตีเมืองอู่ตูและอินผิง ข้าหลวงแห่งยงโจวนามกั๋วไหวตั้งใจจะนำทัพออกตีเฉินซื่อ แต่จูเก๋อเลี่ยงได้นำทัพอีกสายหนึ่งด้วยตนเองเข้าตีพื้นที่เจียนเหว่ย กั๋วไหวจำต้องถอนทัพ เมืองทั้งสองแห่งนี้จึงถูกยึดครอง

ราชสำนักมีราชโองการถึงจูเก๋อเลี่ยงว่า

‘ความผิดพลาดที่เจียถิงสาเหตุเป็นเพราะความผิดของหม่าซู่ แต่ท่านเลือกที่จะรับผิดชอบด้วยการลงโทษตนเอง ซึ่งเราก็ไม่อาจขัดความตั้งใจของท่าน จึงจำต้องคล้อยตามเจตนารมณ์ของท่าน

ปีกลายที่ผ่านมา ท่านนำทัพออกศึกประสบชัย สามารถสังหารแม่ทัพหวังส่วง ปีปัจจุบันสามารถขับไล่กั๋วไหวถอยหนี ชนเผ่าตีและเชียงล้วนอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ ยึดครองได้อีกสองหัวเมือง ด้วยอานุภาพของท่านสามารถปราบอริราช ความเข้มแข็งองอาจเป็นที่ยกย่องกล่าวขวัญ

ปัจจุบันกาลนี้ ใต้ฟ้าปราศจากความสงบสันติ อริราชศัตรูยังไม่ถูกปราบปรามโดยราบคาบ ท่านได้รับภารกิจอันสำคัญยิ่งใหญ่ของรัฐ การที่ท่านกระทำการเป็นที่ดูหมิ่นเกียรติศักดิ์ของตนเองเช่นนี้ มิใช่หนทางอันดีในการจะแผ่อานุภาพให้ภารกิจเป็นที่ประสบผลสำเร็จได้

บัดนี้เป็นต้นไป ข้าฯคืนยศเฉิงเซี่ยงให้แก่ท่าน โปรดอย่าได้ปฏิเสธ’

เจี้ยนซิงศกปีที่เก้า จูเก๋อเลี่ยงยกทัพออกทางเขาฉีซานอีกครั้ง เขาใช้ “วัวไม้” ในการขนส่งข้าวเปลือก แต่เมื่อเสบียงกองทัพหมดสิ้น เขาจึงจำต้องถอยทัพกลับไปอีกครั้ง ระหว่างการถอยทัพจูเก๋อเลี่ยงได้สังหารจางเฮ่อ(เตียวคับ)ด้วยห่าธนู

เจี้ยนซิงศกปีที่สิบสอง ฤดูใบไม้ผลิ จูเก๋อเลี่ยงนำทัพใหญ่ออกทางช่องเขาเซี่ย และได้ใช้ “ม้าไหล” ในการขนส่งเสบียงอาหาร จูเก๋อเลี่ยงเข้ายึดทุ่งอู่จั้งหยวน ตำบลอู่กง เป็นที่ตั้งมั่นเผชิญศึกกับซือหม่าอี้ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เว่ยหนาน จูเก๋อเลี่ยงได้ตระหนักถึงปัญหาของการขนส่งเสบียงอาหารซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับยุทธการครั้งนี้ จึงได้แบ่งกำลังทหารให้ไปทำนา(ระบบถุนเถียน-นาทหาร)เพื่อรองรับการทำศึกระยะยาว โดยให้เหล่าทหารกระจายกำลังออกทำนาร่วมกับราษฎรแห่งรัฐเว่ยตามพื้นที่ที่อยู่ติดริมชายฝั่งแม่น้ำ ราษฎรเหล่านั้นปลอดภัยไร้อันตรายเพราะทหารของรัฐสู่เปรียบเสมือนเกราะป้องกัน ทั้งเหล่าทหารก็ไม่ได้ละเมิดรุกล้ำคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรแต่อย่างใด

กองทัพทั้งสองฝ่ายตั้งยันกันอยู่กว่าหนึ่งร้อยวัน ล่วงมาถึงเดือนแปด จูเก๋อเลี่ยงเกิดป่วยหนักจนถึงแก่อสัญกรรมในค่ายทหารรวมสิริอายุห้าสิบสี่ปี หลังจากทัพสู่ถอยทัพ ซื่อหม่าอี้ได้เข้ามาสำรวจค่ายแล้วเห็นการจัดวางค่ายทหารของจูเก๋อเลี่ยงถึงกับออกปากชมว่า “คนผู้นี้นับเป็นอัจฉริยะแห่งยุคอย่างแท้จริง”

จูเก๋อเลี่ยงมีความปรารถนาครั้งสุดท้ายให้ฝังร่างของเขาไว้ที่ภูเขาติงจวุน ซาน(เตงกุนสัน) เมืองฮั่นจง ให้ตั้งสุสานกลมกลืนตามธรรมชาติ เพียงให้มีขนาดพอบรรจุฝังศพเท่านั้น สิ่งของร่วมกลบฝังเพียงเป็นเสื้อผ้าที่ใช้ประจำวัน ไม่ต้องเพียงเครื่องประดับของมีค่าในการตกแต่งสุสานใดๆทั้งสิ้น

ราชสำนักมีพระบรมราชโองการไว้อาลัยว่า

‘ท่านเปรื่องปราดทั้งการบริหารและพิชัยยุทธ์ แจ่มแจ้งภักดี ท่านช่วยเราบริหารบ้านเมือง ฟื้นฟูราชสำนักที่กำลังเสื่อมทรุด ทุ่มเทสติปัญญาในการกำจัดอริราชจลาจล ปรับปรุงกองทัพให้พรั่งพร้อม ตรากตรำออกศึกไม่เว้นแต่ละปี พลังความกล้าหาญของท่านเป็นที่ส่องไสวไปทั่วพิภพ เสียสละสร้างคุณงามความดีจนถึงวาระสุดท้าย ความดีงามของท่านเปรียบประดุจท่านอีอิ่นและโจวกง ก่อนที่ผลงานอันยิ่งใหญ่จะสัมฤทธิ์ผล ท่านกลับพรากจากเพราะโรคภัย เราเศร้าโศกสะเทือนใจเป็นที่ยิ่ง

เพื่อเป็นการป่าวประกาศสัตยธรรมแห่งท่านให้ผู้คนได้ทราบในคุณงามความดี เราได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ย้อนหลังเพื่อให้เป็นเกียรติศักดิ์แผ่ไพศาลไปถึงยุคของชนรุ่นหลัง คุณงามความดีคงอยู่ชั่วนิรันดร์บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

บัดนี้ขุนนางชั้นสูงรองแม่ทัพกองพลซ้าย-ตู้เฉียงได้รับบัญชาแห่งเรา ให้ดำเนินการพระราชทานยศจงอู่โหวให้แก่ท่านเฉิงเซี่ยงผู้ล่วงลับ หากดวงวิญญาณของท่านมีญาณรับรู้ คงปลื้มปีติในเกียรติยศอันยิ่งใหญ่นี้ ขอจงไปสู่สุขคติด้วยเทอญ’

ก่อนหน้าที่จูเก๋อเลี่ยงจะถึงแก่อสัญกรรม เขาได้ถวายฎีกาแก่จักรพรรดิองค์หลังว่า ‘กระหม่อมมีต้นหม่อนอยู่แปดร้อยต้น ที่นาสิบห้าไร่ เพียงพอให้ทายาทมีเครื่องนุ่งห่มและประทังชีพได้ เมื่อกระหม่อมไม่ได้อยู่ในระหว่างปฏิบัติภารกิจ ทั้งเสื้อผ้าและอาหารก็มีไว้เพื่อประทังชีวิตเพื่อการบริหารราชการ ทั้งหมดนี้ได้มาจากเบี้ยเลี้ยงที่ถวายราชการ มิได้มีทรัพย์สินที่ได้มาจากสิ่งอื่น เมื่อกระหม่อมลาโลกไปเมื่อใด เพื่อเป็นการตอบแทนในพระมหากรุณาธิคุณ ขอพระองค์โปรดอย่าได้พระราชทานทรัพย์สินใดๆอันเกินความจำเป็นแก่ครอบครัวของกระหม่อมเป็นอันขาด’

ภายหลังจูเก๋อเลี่ยงถึงแก่อสัญกรรม ทุกประการเป็นไปดังฎีกาที่ได้ถวายไว้

จูเก๋อเลี่ยงเป็นอัจฉริยะโดยกำเนิด นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาทิ “หน้าไม้กล” โครงสร้างส่วนประกอบของ “วัวไม้” และ “ม้าไหล” ล้วนมาจากความคิดของเขา แนวความคิดด้านการพิชัยสงครามและแผนการบริหารจัดการทั้งแปดของเขาเป็นที่สนใจค้นคว้าในบรรดาสานุศิษย์ บทสนทนา, คำสอน, จดหมาย รวมไปถึงฎีกาต่างๆถูกศึกษาค้นคว้าอย่างมาก และได้มีการรวบรวมเขียนขึ้นเป็นตำรา

จิ้งเหยาศกปีที่หก(ศักราชประจำ รัชกาลที่ถูกเปลี่ยนโดยจักรพรรดิองค์หลัง-หลิวซ่าน) ฤดูใบไม้ผลิ มีพระบรมราชโองการให้มีการสร้างศาลเจ้าจูเก๋อเลี่ยงขึ้น

ล่วงถึงฤดูใบไม้ร่วง แม่ทัพจงฮุ่ย(จงโฮย)แห่งรัฐเว่ยยาตราทัพเข้าปราบรัฐสู่ เมื่อเดินทัพมาถึงทุ่งฮั่นก็ได้ทำการสักการะบูชาที่ศาลเจ้าจูเก๋อเลี่ยง และสั่งห้ามมิให้พลทหารเด็ดพืชผล ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือตัดไม้ฟืนในพื้นที่บริเวณโดยรอบสุสานจูเก๋อเลี่ยงเป็นอันขาด

น้องชายคนเล็กของจูเก๋อเลี่ยงนามจูเก๋อจวุนได้รับราชการในตำแหน่งแม่ทัพฉางสุ่ย บุตรชายของจูเก๋อเลี่ยงนามจูเก๋อจาน(จูกัดเจี๋ยม)เป็นทายาทผู้สืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดา



Create Date : 05 มิถุนายน 2553
Last Update : 10 มีนาคม 2554 21:50:20 น. 3 comments
Counter : 1703 Pageviews.

 
ขอบคุณมากคับเพ่


โดย: สวยงาม IP: 118.172.148.54 วันที่: 4 กันยายน 2554 เวลา:8:01:21 น.  

 
อ่านจบน้ำตาแทบไหล มันซึ้งและการใช้ภาษา ทำให้เข้าถึงสิ่งที่ผู้พูดต้องการอธิบายอย่างชัดเจน สัมผัสได้ความอ่อนน้อมเมตตากรุณา ของ ขงเบ้ง อย่างแท้จิงค่ะ ชอบมาก


โดย: yui IP: 223.204.55.227 วันที่: 12 มิถุนายน 2555 เวลา:15:26:05 น.  

 
ขอบคุณมากครับ
แต่อยากรู้ว่าคติประจำตัวของขงเบ้งคืออะไรอ่ะครับ


โดย: ยาฮีโระ IP: 125.27.197.164 วันที่: 14 ตุลาคม 2555 เวลา:18:44:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ElClaSsicA
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ElClaSsicA's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.