The world around us: My perspective
Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
5 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
บทความจาก Guest Writer "ศักดิ์ศรีและความสำเร็จ" โดยคุณ Monmetis

ผมโพสต์บทความนี้ไว้ใน fan page ของผมแล้ว (//www.facebook.com/dr.ekkasit)แต่ก็อยากนำมาแบ่งปันใน blog นี้ด้วย ก็ขออนุญาตไว้ก่อนเลยนะครับ

บทความเรื่อง "ศักดิ์ศรีและความสำเร็จ" จาก guest writer ของเราในคืนนี้ -คุณ Monmetis- ซึ่งผมขอขอบคุณเป็นอย่างมาก และขอบอกได้คำเดียวว่า บทความชิ้นนี้นั้น แม้จะยาวพอควร แต่ว่าแซ่บเหลือเกิน ;-)
--------------------------------------------------------------
ทุกวันนี้ค่านิยมของการวัดคุณค่าของคนที่ผลลัพธ์หรือความสำเร็จ กำลังถูกกล่าวถึงและนำไปใช้ตัดสินผู้คนอย่างกว้างขวางในทุกๆหน่วยของสังคม ตั้งแต่ปัจเจกไปจนถึงองค์กร ใครๆก็ต้องการความสำเร็จ ใครๆก็ต้องการเป็นคนที่ "ผ่านเกณฑ์" เป็นนักเรียนก็ต้องการเรียนให้จบ เป็นนักศึกษาก็ต้องการได้ปริญญา เป็นคนที่มีครอบครัวก็ต้องการความสามารถในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

เกณฑ์วัดระดับความสำเร็จในสังคมมีอยู่ในทุกชนชั้น ไม่ว่าใครในสังคมจึงต่างดิ้นรนพยายามทำทุกทางเพื่อให้ตนนั้นผ่าน "เกณฑ์" มาตรฐานทั้งหลายที่สังคมกำหนดมาว่าดี ทั้งนี้ทั้งนั้น มิใช่เพื่อสิ่งใดเลยนอกจาก “เป็นที่ยอมรับ”เท่านั้น ค่านิยมที่ให้น้ำหนักกับ “ความสำเร็จและการเป็นที่ยอมรับ” นี้ ขยายความสำคัญต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายมาเป็นทัศนคติที่น่าตระหนกที่สุดในปัจจุบันนี้ ก็คือ ทัศนคติที่ยอมรับได้ว่า

"แม้จะมีการคอร์รัปชั่นและทุจริตบ้าง ก็มิใช่เรื่องใหญ่โตอะไร หากมีการสร้างผลงานที่สามารถวัดความสำเร็จออกมาได้จริง"

ครั้งแรกที่ได้ยินคำนี้ ตกใจมาก สังคมยอมรับทัศนคติแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาจริงหรือ เกียรติ ศักดิ์ศรี และคุณธรรม มโนธรรมล่ะ เอาไปทิ้งไว้ที่ไหน ไม่ต้องมีกันแล้วหรือไร ครอบครัวไม่สอนเรื่องนี้ให้บุตรหลานกันแล้วหรือ หันมองรอบตัว ก็ยิ่งพบคำยืนยันรากลึกของทัศนคติอันตรายนี้อยู่ทั่วไป ตั้งแต่การโกงการสอบของนักเรียน การโกงการสอบเข้ารับราชการของบุคคลที่บอกว่าจะทำงานเพื่อรับใช้ชาติ การเอาตัวแลกเกรดของนักศึกษา การจ้างนักเขียนเงาทำผลงานของอาจารย์เพื่อตำแหน่งผศ. รศ. การจ้างทำวิจัยของเหล่าบัณฑิต มหาบัณฑิต แม้กระทั่งดุษฎีบัณฑิต การฮั้วประมูลในระบบราชการระหว่างทำโครงการ การทุจริตระดับนโยบายของนักการเมือง ฯลฯ ผู้คนในสังคมล้วนใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความเป็นจริงเหล่านี้กันจนเป็นเรื่องแสนธรรมดา ราวกับมองไม่เห็นว่ามีสิ่งผิดปกติใดซ่อนอยู่

สังคมพยายามสร้างกรอบของความดีงาม เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “จรรยาบรรณและจริยธรรม” พยายามกำหนดกรอบแนวทางปฎิบัติที่ดีงามทั้งที่เป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กำหนดมาตรฐานความประพฤติถูก-ผิด สิ่งใดสวมควรหรือไม่สมควรเพื่อเป็นเกณฑ์ในการปฎิบัติ แต่ ถ้าผู้คนล้วนมี ”ทัศนคติ” หรือ “ค่านิยม” ที่ขัดแย้งกับมาตรแห่งความดีงามทั้งหลายเหล่านั้น ทั้งหมดก็กลายเป็นแค่ตัวอักษรที่ว่างเปล่าไปในทันที ทัศนคติที่ปราศจากจริยธรรมเป็นพื้นฐานกำลังเติบโตอยู่ในบ้านของเรา ประเทศของเรา เราจะทำเป็นไม่สนใจไม่รู้ไม่เห็นได้ลงคอ กระนั้นหรือ

ไม่ต้องมองไปไกลที่ไหน เริ่มที่สถาบันที่มีหน้าที่บ่มเพาะบุคลากรที่จะเติบโตออกไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศอย่างสถาบันการศึกษานี่แหละ ทุกวันนี้ เด็กมีเป้าหมายคือ คะแนน คือเกรด ไม่ใช่ความรู้!! และไม่ใช่แค่เด็กที่มีเป้าหมายที่ผิดเพี้ยน ผู้ปกครองก็เช่นกัน ต้องการให้ลูกเรียนยังไงก็ได้ให้จบ จบตามเกณฑ์ได้ยิ่งดี เพราะถือว่าช่วยพ่อแม่ประหยัด ส่วนจะจบด้วยวิธีการใด หรืออย่างไรนั้นไม่มีใครพูดถึง !! ลูกสอบผ่าน ได้ปริญญามาครองเป็นพอ

วิธีการเรียนของเด็กสมัยนี้ก็คือ นอกจากจะต้อง ”จำ” สิ่งทั้งหลายที่อยู่ในวิชาเรียนให้ได้แล้ว ยังต้องแห่กันไปติวเพิ่มเติมเพราะแค่จำได้นั้นยังไม่พอ โรงเรียนกวดวิชาทั้งหลายก็มุ่งติวสิ่งที่เรียกว่า “เทคนิค” การตอบ ทำอย่างไรให้ตอบข้อสอบได้ ถ้าโจทย์มาแบบนี้ต้องใช้เทคนิคนี้ ถ้าเป็นแบบโน้นต้องใช้เทคนิคนั้น สรุปว่า ผู้ปกครองเสียเงิน 2 ต่อ เพื่อให้เด็กไปฝึกการท่องจำ ทั้งจำคำตอบตรงๆ และจำเทคนิคการตอบให้ตรงให้ได้ เด็กทุกวันนี้ต้องคร่ำเคร่งไปติวไปกวดวิชากันอยู่มากมายก็เพราะเป้าหมายเดียวคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เรียนให้ผ่าน เรียนให้ได้เกรดดีๆ สอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาให้ได้ แม้สุดท้ายแล้วจะไม่ได้รับความรู้อะไรกลับมาเลย ก็ไม่มีใครใส่ใจ เพราะเป้าหมายคือความสำเร็จ คือสอบผ่าน คือเกรดงามๆ แค่นั้น ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กสมัยนี้รู้จักแต่การใช้เทคนิค แต่ไม่รู้จักวิธีคิดหาเหตุผลด้วยตัวเอง !!

ผ่านเข้าไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ก็มาเจอมาตรที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริงของตัวเองอีก เพราะในระดับอุดมศึกษานี้ หลายมหาวิทยาลัยกำหนดให้ต้องเด็กผ่านขั้นตอนการเข้าถึงองค์ความรู้ด้วยตนเองผ่านเกณฑ์ของการทำงานวิจัยจึงจะสามารถจบได้ เพราะถือเป็นเกณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงเป็นหน้าเป็นตาของสถาบัน โถๆๆ ความรู้พื้นฐานก็ไม่ค่อยจะแข็งแรง เรื่องที่ต้องใช้ความคิดก็ไม่เคยถูกฝึกฝน โรคปริญญานิยม ( Diploma disease ) ก็กำลังระบาดไปทั่ว แล้วทีนี้จะทำยังไงให้ผ่านเกณฑ์มีผลงานวิจัยกับเขา เมื่อมี demand จึงเกิดเป็น supply เราจึงเห็นธุรกิจใหม่อย่าง ”รับจ้างทำวิจัย” ผุดกันมาเป็นดอกเห็ด เป็นธุรกิจที่โตวันโตคืน เบ่งบานเคียงข้างความก้าวหน้าของการศึกษาไทย ต้องการระดับไหนล่ะ IS หรือวิทยานิพนธ์ ปริญญาตรี โท หรือว่าเอก คุณสามารถ”ซื้อ”ได้ !!

ทุกวันนี้ผลงานการวิจัยทางการศึกษามีปรากฎออกมานับแสนเล่ม ผลงานวิทยฐานะเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาการศึกษานับหมื่นเล่ม ผลงานการวิจัยที่ใช้งบประมาณชาติอีกหลายร้อย (พัน) ล้านบาท มีใครบอกได้ไหมว่างานไหนทำเอง งานไหนจ้างทำ !!

ไหนจะเรื่องคุณภาพของงานวิจัยที่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยก้าวไปไหน ที่พบเห็นกันอยู่ในปัจจุบันก็มักจะเป็นงานวิจัยที่เปลี่ยนเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหรือบริบทที่เป็นบุคคลหรือสถานที่ ที่เหลือยกมาทั้งยวงอย่างหน้าตาเฉย งานวิจัยที่วัดผลจากแบบสอบถามเดิมๆที่คัดลอกรุ่นพี่ต่อๆกันมา (ผลวิจัยก็ออกมาเดิมๆไม่ได้รู้อะไรที่ใหม่ขึ้นเลย) งานวิจัยประเภทตัดแปะ (Copy & paste) ที่กำเนิดมาพร้อมกับความสามารถของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี และเป็นเทรนด์ที่กำลังระบาดและมีผลรุนแรงราวกับอหิวาต์ของ พ.ศ.นี้ งานวิจัยกึ่งสำเร็จรูป ที่มาพร้อมเค้าโครงหลักที่ผ่านการการันตีแล้วว่าเอาตัวรอดได้แน่ เพราะพี่รุ่นก่อนๆยืนยันมารุ่นต่อรุ่นว่า รูปแบบนี้แหละ “ทำ(ตาม)ครบ จบแน่นอน” งานวิจัยเชิงจินตนาการหรือจะเรียกว่านิยายเชิงวิชาการก็คงไม่ต่าง ที่จับบางประเด็นมาจากทฤษฎี (ต่างประเทศ) ต่อยอดด้วยความสามารถในการใช้ภาษาบวกกับจินตนาการอันบรรเจิด แล้วเขียนออกมาให้มีความจริงจังจนคนอ่านต้องคล้อยตาม งานวิจัยที่ต้องยึดตามขนบหรือขั้นตอนบางอย่างอย่างเหนียวแน่นห้ามแหวกกฎโดยเด็ดขาดจนความคิดสร้างสรรค์ใดๆไม่อาจโผล่มาแสดงตนได้ แล้วจะถามหาเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์กันไปทำไม ?

ถามว่า แล้วคุณภาพงานวิจัยที่แท้จริงอยู่ที่ไหน เกียรติและศักดิ์ศรีของงานวิจัยที่ควรค่าแห่งการยอมรับนับถือยังมีคนให้ความสำคัญอยู่หรือเปล่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานไหนทำเอง! งานไหนซื้อมา! และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายได้กรุณาตั้งเกณฑ์ตรวจเช็คเรื่องตัดแปะโดยละเอียดกันบ้างหรือยัง หรือมองว่ามีขอให้มีผลงานมาส่งตามเกณฑ์ก็พอแล้ว เป็นอันจบครบขั้นตอนโดยสมบูรณ์ win-win กันถ้วนหน้าทุกฝ่าย มีแต่ได้กับได้กันทุกคน win ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้รับรอง ผู้ซื้อได้วุฒิ ผู้ขายได้ตังค์ ผู้รับรองได้ผลงาน ได้หน้า สถาบันได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในการผลิตบัณฑิต แล้วทั้งหมดนี้มันเสียหายตรงไหน??? มันคือสิ่งที่ดีสิ่งที่ชอบจริงๆ หรือมันคือวิกฤตของการศึกษา?? ควรจะมองและตัดสินจากมุมของใคร? ผู้ที่ได้ประโยชน์? หรืออนาคตของชาติ? ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีหน้าที่ตัดสินงาน มีใครใส่ใจเรื่องนี้ไหม มีใครสนใจเรื่องการรู้เท่าทันถึงการได้มาซึ่งผลงานของนักศึกษากันบ้างหรือเปล่า ชื่อเสียงสถาบันค้ำศักดิ์ศรีใครอยู่บ้างไหม และใครกำลังใช้ศักดิ์ศรีสถาบันเป็นเกราะคุ้มกันตัวเองอยู่หรือเปล่า

เราอย่าเพิ่งไปพูดถึงเรื่องความไม่ซื่อสัตย์อื่นๆของสังคมเลย ในเมื่อรากฐานของทุกสถาบันที่เริ่มจากที่เดียวกันคือ สถาบันการศึกษา ยังหาความชัดเจนโปร่งใสจริงๆไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นระดับนักเรียนหรือครู

จากการอ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมหลายๆ งาน เห็นความตั้งใจอันดีของผู้วิจัยหลายๆท่าน อย่างงานของ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคณะ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “ธุรกิจ รัฐ และคอร์รัปชั่น” ที่พยายามจะเปิดโปงหาที่มาที่ไปของการทุจริตของ 3 โครงการ โครงการจัดการน้ำเสียที่คลองด่าน โครงการเขื่อนทดน้ำบางประกง โครงการสนามบินสุวรรณภูมิที่หนองงูเห่า งานวิจัยพบว่าทุกอย่างเป็นการ “สมยอม” โดย”สมัครใจ”ทั้งสิ้น

ถ้าจะมองแบบ win-win ก็ win กันทุกฝ่ายจริงๆ บริษัทก็ได้กำไร ผู้มีอำนาจได้เงินใต้โต๊ะ ประเทศชาติได้โครงการดีๆเกิดขึ้น ยกเว้นประชาชนผู้เสียภาษีฝ่ายเดียวที่ไม่ได้ win กับเขา แถมยังต้องก้มหน้าก้มตาจ่ายภาษีเลี้ยงดูชนชั้นที่มีอำนาจอย่างอยุติธรรมต่อไป

งานวิจัยของ รศ. ดร.ขัตติยา กรรณสูตร จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ “เรื่องคุณธรรม พฤติกรรม ความซื่อสัตย์ของคนไทย” (ข้อสังเกต--ได้ทุนอุดหนุนถึง 2,500,000 บาท ) พบว่ากระบวนการขัดเกลาทางสังคม อย่างครอบครัว โรงเรียน ศาสนา และกลุ่มเพื่อน ยังเป็นปัจจัยหลักอยู่ แต่ในแง่ขององค์กรพบว่ามีองค์ประกอบที่มีแนวโน้มนำไปสู่ความไม่ซื่อสัตย์ 3 ประการคือ

1.ปัจจัยดั้งเดิมจากการเติบโตอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว ต้นแบบของความซื่อสัตย์จากผู้ใหญ่ ความใกล้ชิดกับศาสนา
2.การหล่อหลอมจากองค์กร ลักษณะงาน วัฒนธรรมองค์กร ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และกฎระเบียบในการทำงาน
3.ปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น สภาพสังคมรอบตัว ลูกค้าผู้มาติดต่อ

การที่เจ้าหน้าที่ที่ดีมีความซื่อสัตย์เกิดการหวั่นไหวไปสู่การประพฤติมิชอบ เหตุผลหลักนั้นเกิดจากการเห็นต้นแบบหรือผู้บังคับบัญชามีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์เป็นแบบอย่าง บวกกับพฤติกรรมของเหล่าเพื่อนร่วมงาน และการสมยอมของประชาชน รวมไปถึงระเบียบปฎิบัติที่มีช่องโหว่ให้ทำการทุจริตได้

สังเกตได้ว่า การที่ปัญหาเรื่องของความไม่ซื่อสัตย์ทั้งหลายนั้น มีความรุนแรงและขยายทั่วไปในวงกว้าง เนื่องมาจากปัจจัยหลักที่สำคัญนั่นคือ การที่ผู้นำหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่กำกับดูแลรับผิดชอบขององค์กรนั้นๆ ไม่ยอมจัดการอะไรกับความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้น ที่ร้ายที่สุดคือเป็นคนทำซะเอง!!

งานวิจัยทั้งสองพยายามหาทางแก้ไขโดยให้ข้อเสนอแนะไว้ในส่วนท้าย ทั้งการเน้นให้สถาบันครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดี ( แต่..พ่อแม่ดีจริงแล้วหรือ) เสนอให้เพิ่มบทบาทของศาสนา (ศาสนาก็มีปัญหาไม่แพ้กันหรอก ) สร้างข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการกำกับดูแลโดยละเอียด จะเป็นวิธีการใดก็คือ วัวหายล้อมคอกทั้งสิ้น ตราบใดที่ไม่สามารถปลูกฝังค่านิยมหรือทัศนคติที่ถูกต้องให้ได้ตั้งแต่วัยเด็กเป็นเบื้องต้นเสียก่อน

แนวความคิดแบบ “win-win” ก็เช่นกัน แก่นของวิชาการคิดเชิงกลยุทธ์ที่ถูกนำมาอ้างถึงอย่างโก้เก๋ในทุกสถานการณ์ของยุคนี้นั้น ที่จริงแล้วเป็นแนวคิดที่ดีมากในการหาทางออกที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายโดยที่ไม่มีใครต้องพ่ายแพ้หรือต้องสูญเสียสิ่งใด แต่เห็นได้ชัดว่าอันแนวคิดนี้ หากมิได้ตั้งอยู่บนฐานของจริยธรรมหรือมโนธรรม แนวคิดเดียวกันนี้จะกลายเป็นสิ่งอันตรายทันที เพราะมันจะเป็นการผนึกกำลังการเห็นแก่ตัว win บนหายนะของบางคน บางกลุ่ม แม้กระทั่งประเทศชาติ โดยที่กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่ากำลัง win-win ร่วมกันจงใจที่จะลืมหรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นผลด้านที่เป็นลบในการกระทำของตนเองอย่างไม่แคร์สังคม

กลไกที่กำลังขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศเรา ที่กำลังดูคล้ายกับว่ากำลังเดินหน้า win-win ประสบความสำเร็จกันอยู่ทุกฝ่ายนั้น แท้จริงแล้ว เรายังสามารถภูมิใจกับมันได้จริงหรือ เรามีทั้งบัณฑิต มหาบัณฑิต กระทั่งดุษฎีบัณฑิตจบใหม่ออกมาปีละมากมาย มาตรฐานการศึกษาของชาติก็ดูสูงขึ้นทุกปี แต่เรามี “คุณภาพของการศึกษา” “คุณภาพของบุคลากร” ที่จะเป็นอนาคตของชาติเพียงพอที่จะภาคภูมิใจและฝากความหวังไว้กับพวกเขาหรือเปล่า

ตราบใดที่ยังเห็นนักเรียนใส่ใจเทคนิคการทำเกรดมากกว่าการแสวงหาความรู้หรือหาทางพัฒนาสติปัญญาของตน เห็นการรับจ้างทำงานวิจัยเป็นธุรกิจที่ประกาศตนอย่างออกหน้าอยู่รอบรั้วแทบทุกมหาวิทยาลัย แค่ใส่คำว่า ”รับจ้างทำวิจัย” ก็ search หาได้โดยง่ายจากอินเตอร์เน็ต เห็นการปล่อยผ่านผลงานวิจัยทั้งหลายไปโดยง่ายเพื่อหน้าตาของสถาบัน โดยไม่มีการสอบหาที่มาที่ไปทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เห็นการประสานผลประโยชน์แบบ win-win ในหมู่คนเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเราจะแสวงหา ”คุณภาพของสังคม” จากที่ไหน

สังคมที่ขาดค่านิยมของความภาคภูมิใจในเกียรติและศักดิ์ศรี ขาดความยึดมั่นในความถูกต้อง ซื่อสัตย์ และจริยธรรม จะผลิตทายาทที่สามารถสร้างสรรค์สังคมต่อไปให้พัฒนาไปในทางบวกได้อย่างไร อย่าได้พยายามยกความรับผิดชอบไปที่สื่อ หรือหวังให้สื่อเป็นเสาหลักในการรับผิดชอบสร้างสรรค์สังคมเลย ในเมื่อจรรยาบรรณสื่อทุกวันนี้ก็แทบไม่มีให้เห็นแล้ว โลกของสื่อไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ในการรับใช้สังคมเหมือนในอดีต ระบบเงินตราและทุนนิยมต่างหากที่ขับเคลื่อนโลกปัจจุบันของเรา รวมกับเบ้าหลอมของระบบการศึกษาที่ให้คุณค่าเฉพาะผลลัพธ์หรือความสำเร็จโดยไม่สนใจที่มา คงพอเดาได้แล้วว่าคุณภาพของสื่อหรือสังคมในอนาคตของชาติจะเป็นไปในทิศทางใด

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเราฉีดวัคซีนจริยธรรม ความภูมิใจในคุณค่าแห่งเกียรติและศักดิ์ศรีให้อยู่ในจิตวิญญาณของเด็กและเยาวชนของเรากันอย่างจริงจัง เพื่อเป็นแอนตี้ไวรัสไว้ต่อสู้กับค่านิยมอันตรายทั้งหลายที่กำลังแพร่กระจายอย่างน่ากลัวอยู่ในเวลานี้ ชูการปลูกฝังจริยธรรมและการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้เป็นวาระแห่งชาติ

ต่อไปนี้เราไม่ควรมองเพียงผลของความสำเร็จเท่านั้น แต่เราต้องมองด้วยว่าบุคคลนั้นประสบความสำเร็จมาได้ “อย่างไร” มิใช่ให้การยกย่องแค่เพียงเขาประสบความสำเร็จ หากเส้นทางที่เขาใช้เดินก้าวมาไร้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรี บุคคลนั้นก็มิควรได้รับการยอมรับนับถือแม้ว่าเขาจะมีชื่อเพียงใดอยู่ในตำแหน่งใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม เพราะ

“วิธีการหรือเส้นทางที่นำมาซึ่งความสำเร็จต่างหาก คือ ดัชนีชี้วัดศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความสำเร็จนั้น”


Create Date : 05 มกราคม 2555
Last Update : 5 มกราคม 2555 0:11:01 น. 0 comments
Counter : 1154 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

MrET_TK
Location :
พิษณุโลก Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




วิศวกรคอมพิวเตอร์โดยปริญญา แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นอาจารย์ในที่สุด (แถมเป็นคณะวิทยาศาสตร์ด้วย ฮะๆๆ) ปัจจุบันเป็นวิทยากรด้านการตลาดออนไลน์ให้กับสถาบันในเครือกรุงเทพธุรกิจและเว็บ exitcorner รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์ให้บริษัทเอกชน

ปัจจุบันผมเขียนบทความใน fan page เป็นประจำ (http://www.facebook.com/dr.ekkasit กับ http://www.facebook.com/InspireRanger)
Friends' blogs
[Add MrET_TK's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.