วิเคราะห์คำพิพากษา 3

๗. ประเด็นทางเนื้อหาของคดี - การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนกิจการดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ


๗. ๑ สำหรับกรณีการละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนกิจการดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่มีการอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ (iPSTAR) เป็นดาวเทียมสำรอง การอนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคมจากที่จะต้องถือครองหุ้นไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ ๔๐ และกรณีอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจากการที่ดาวเทียมไทยคม ๓ เกิดความเสียหายไปเช่าช่องสัญญานต่างประเทศที่ศาลฎีกาฯเห็นว่าเป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์นั้นจะได้พิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไปดังนี้

๗.๒ กรณีการอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรอง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ได้รับสัมปทานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ สัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาระบุให้บริษัทชินคอร์ปมีสิทธิในการบริหารกิจการและการให้บริการวงจรดาวเทียม (Transponder) เพื่อการสื่อสารภายในประเทศและมีสิทธิเก็บค่าใช้วงจรดาวเทียมจากผู้ใช้วงจรดาวเทียม โดยกระทรวงคมนาคมจะคุ้มครองสิทธิในการดำเนินกิจการและให้บริการวงจรดาวเทียมของบริษัทชินคอร์ปไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามา ดำเนินกิจการแข่งขันทั้งนี้โดยบริษัทชินคอร์ปตกลงจัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดวงที่หนึ่งขึ้นสู่วงโคจรพร้อมกับจัดให้มีระบบดาวเทียมสำรองในลักษณะดาวเทียมภาคพื้นดินรวมทั้งจัดให้มีดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่สองและดวงต่อๆไปขึ้นใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องกับการสิ้นอายุของดาวเทียมดวงก่อนโดยคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองตั้งแต่ ดวงที่สองเป็นต้นไปจะต้องมีคุณสมบัติการใช้งานไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่หนึ่งแต่จำนวนวงจรดาวเทียมและและชนิดย่านความถี่ (C-Band หรือ Ku-Band) ให้เป็นไปตามที่กระทรวงและบริษัทจะตกลงกัน ในการนำวงจรดาวเทียมไปให้ประเทศอื่นใช้ บริษัทรับที่จะให้โอกาสเท่าเทียมกันในการขอใช้วงจรดาวเทียมของผู้ใช้วงจรดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกรายและในกรณีที่มีวงจรเหลือจากปริมาณการใช้ในประเทศ บริษัทด้วยความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคมสามารถนำวงจรดาวเทียมที่เหลือไปให้ประเทศอื่นใช้ได้ นอกจากนี้บริษัทชินคอร์ปยินยอมให้กระทรวงหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานที่กระทรวงเห็นชอบใช้วงจรดาวเทียมแบบ Non Pre-emptible Transponder ของดาวเทียมที่บริษัทจัดตั้งขึ้นซึ่งใช้เป็นดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองในย่านความถี่ C-Band จำนวน ๑ วงจรดาวเทียมโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใดๆ


๗. ๓ ประเด็นปัญหาในเรื่องนี้ก็คือ หลังจากที่บริษัทชินคอร์ปได้ส่งดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม ๑ ดาวเทียมสำรอง คือ ดาวเทียมไทยคม ๒ ดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม ๓ แล้ว กระทรวงคมนาคมได้อนุมัติให้มีการจัดสร้างและส่งดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ คือ ดาวเทียมไทยคม ๔ แต่บริษัทได้ขอเลื่อนการส่งดาวเทียมดังกล่าวหลายครั้ง และต่อมาได้มีการแก้ไขข้อกำหนดด้านเทคนิคโดยเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเทียมสำรองดังกล่าว เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงส่งดาวเทียมดังกล่าว คือ ดาวเทียมไอพีสตาร์ (ไทยคม ๔) ขึ้นสู่วงโคจร ศาลฎีกาฯ เห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ดวงต่อดวงได้ ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน โดยดาวเทียมไอพีสตาร์ใช้ย่านความถี่เคยู-แบน รับและส่งข้อมูลให้ลูกค้าและใช้ย่านความถี่ เคเอ-แบน ในการสื่อสารรับส่งข้อมูลจากสถานีภาคพื้นดินกับดาวเทียมบนอวกาศในการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต โดยไม่มีย่านความถี่ ซี-แบน ที่จะให้กระทรวงคมนาคมใช้จำนวน ๑ วงจรดาวเทียมตามสัญญา และไม่มีข้อตกลงว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อทดแทน ทั้งที่ดาวเทียมไทยคม ๓ ซึ่งเป็นดาวเทียมหลักมีช่องสัญญานย่านความถี่ ซี-แบน และเคยู-แบน และเห็นว่าการลง



มติว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ หรือเป็นดาวเทียมสำรองของคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขัดแย้งกัน กล่าวคือกรมไปรษณีย์โทรเลขและคณะกรรมการประสานงานตามสัญญาสัมปทานในคราวพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติของดาวเทียมไอพีสตาร์เห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่แต่ในการประชุมครั้งต่อมาคณะกรรมการประสานงานตามสัญญาสัมปทานได้อนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองและได้มีการเสนอความเห็นดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่ออนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองซึ่งหากดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ แต่เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่แล้ว บริษัทจะต้องจัดสร้างดาวเทียมสำรองดาวเทียมไอพีสตาร์อีก๑ ดวงตามสัญญา ศาลฎีกาฯเห็นต่อไปว่าเมื่อดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม ๓ได้ ทำให้ความมั่นคงในการสื่อสารดาวเทียมของชาติต้องเสียหายจากการที่ไม่มีดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อเป็นดาวเทียมสำรองจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทผู้รับสัมปทานไม่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนในการส่งดาวเทียมไทยคม ๔ นอกจากนั้นวัตถุประสงค์หลักของดาวเทียมไอพีสตาร์ยังเป็นไปเพื่อมุ่งหวังทางการค้าและรองรับการใช้งานอินเตอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้งานในต่างประเทศและบริษัทยังกำหนดแผนการจำหน่ายในต่างประเทศถึงร้อยละ ๙๔ แต่จำหน่ายในประเทศร้อยละ ๖ ศาลฎีกาฯจึงเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักที่สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลัก การอนุมัติดังกล่าวทำให้บริษัทได้สัมปทานดาวเทียมระหว่างประเทศไปโดยไม่ต้องมีการประมูล จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม๗. ๔ คณาจารย์ทั้งห้าพิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้ว เห็นว่าในการจัดให้มีระบบดาวเทียมสำรองนั้น สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น

จำกัด ข้อ ๖ กำหนดไว้ว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองตั้งแต่ดวงที่สองเป็นต้นไปจะต้องมีคุณสมบัติไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่หนึ่งทั้งนี้โดยมีการกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของดาวเทียมดวงที่หนึ่งไว้ในข้อ ๘ ของสัญญาดังกล่าวรวมทั้งกำหนดไว้ด้วยว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมสำรองดวงที่หนึ่งอย่างน้อยจะต้องไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมดวงที่หนึ่งและทดแทนดาวเทียมหลักดวงที่หนึ่งเพื่อสามารถใช้งานได้โดยต่อเนื่อง สัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองตั้งแต่ดวงที่สองเป็นต้นไปไว้


ในกรณีของดาวเทียมไอพีสตาร์นั้น เห็นได้ชัดว่าบริษัทผู้รับสัมปทานมุ่งประสงค์จะให้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ เพียงแต่ได้พัฒนาเทคโนโลยี่ให้สูงขึ้น ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาว่าดาวเทียมไอพีสตาร์มีคุณสมบัติทางเทคนิคพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะครั้งแรกของโลกตามที่จดสิทธิบัตรไว้และปรากฏชัดเจนว่าคุณสมบัติของดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่ด้อยไปกว่าดาวเทียมดวงอื่นๆ ด้วยเหตุนี้คณาจารย์ทั้งห้าจึงเห็นว่าบริษัทผู้รับสัมปทานได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาแล้ว


ยิ่งไปกว่านั้นคณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าการมีดาวเทียมสำรองที่มีคุณสมบัติทางเทคนิคที่พัฒนาขึ้นใหม่ดีกว่าดาวเทียมหลักเป็นดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพสูงและครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากกว่าย่อมเป็นผลดีต่อการจัดทำบริการสาธารณะที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่ถือว่าเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ดวงต่อดวงได้ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน แต่เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่นั้น คณาจารย์ทั้งห้าไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากในสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศไม่มีข้อใดเลยที่ระบุให้ดาวเทียมสำรองต้องใช้เทคโนโลยีเดียวกับดาวเทียมหลักเพียงแต่ระบุว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียม หลักและดาวเทียมสำรองตั้งแต่ดวงที่สองเป็นต้นไปจะต้องมีคุณสมบัติไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่หนึ่งเท่านั้นนอกจากนี้ที่ศาลฎีกาฯเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่มีย่านความถี่ซี-แบนที่จะให้กระทรวงคมนาคมใช้จำนวน๑ วงจรดาวเทียมตามสัญญา เพราะดาวเทียมไอพีสตาร์ใช้ย่านความถี่เคยู-แบน และย่านความถี่เคเอ-แบน นั้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทางเทคนิคที่ศาลฎีกาฯสามารถค้นหาข้อเท็จจริงได้เองตามหลักการพิจารณาคดีในระบบไต่สวนแล้วจะเห็นได้ว่าดาวเทียมไอพีสตาร์สามารถรองรับความถี่ซี-แบนได้ แต่ต้องมีสถานีสัญญาน และกรณีนี้ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคำพิพากษาที่แสดงว่ากระทรวงคมนาคมโต้แย้งว่าตนไม่ได้ใช้วงจรดาวเทียมเพราะเหตุว่าดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่มีย่านความถี่ซี-แบนแต่อย่างใด


สำหรับกรณีที่ศาลฎีกาฯเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักที่สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลักเนื่องจากเมื่อพิจารณาจากเอกสารขอรับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งหวังทางการค้าต่างประเทศนั้น คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศข้อ ๑๑ ระบุอนุญาตให้บริษัทสามารถนำวงจรดาวเทียมเหลือจากปริมาณความต้องการ



ในประเทศไปให้ประเทศอื่นใช้ได้โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมในการวางแผนการตลาดนั้น เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาความต้องการการใช้วงจรดาวเทียมทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นอย่างไรในคำพิพากษาดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าเกิดความขาดแคลนในการใช้วงจรดาวเทียมของผู้ใช้วงจรดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเมื่อปริมาณความต้องการการใช้วงจรดาวเทียมในประเทศยังมีไม่มากนัก การที่บริษัทนำวงจรดาวเทียมที่เหลือจากความต้องการในประเทศไปให้ประเทศอื่นใช้โดยได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาฝ่ายรัฐจึงชอบแล้ว อีกทั้งการวางแผนการตลาดในการนำวงจรดาวเทียมออกให้บุคคลอื่นใช้บริการนั้นไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศโดยคำนวณตามความต้องการของตลาดก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาทางธุรกิจ ที่ศาลฎีกาฯเห็นว่าการอนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองเป็นการกระทำที่ทำให้รัฐเสียหายและเอื้อประโยชน์นั้นคณาจารย์ทั้งห้าไม่เห็นพ้องด้วย


๗. ๕ กรณีการอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานโดยให้มีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัทไทยคมจากที่บริษัทชินคอร์ปต้องมีสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทไทยคมเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ นั้น กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่าสัญญาดำเนินกิจการสื่อสารดาวเทียมภายในประเทศ ข้อ ๔ ระบุให้บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ (ชินคอร์ป) จะต้องตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อดำเนินการตามสัญญา โดยจะต้องจัดตั้งบริษัทใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๒ เดือน นับจากวันเริ่มให้บริการวงจรดาวเทียม และให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ตลอดอายุสัญญาด้วย คือ (๑) บริษัทที่จัดตั้ง ขึ้นใหม่ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า ๑๐๐๐ ล้านบาท (๒) บริษัทชินคอร์ปจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด (๓) บริษัทชินคอร์ปต้องดำเนินการให้บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่รับผิดตามสัญญาฉบับนี้ต่อกระทรวงร่วมกันและแทนกันกับบริษัท


หลังจากทำสัญญาแล้วบริษัทชินคอร์ปได้ก่อตั้งบริษัทไทยคมขึ้น ต่อมาบริษัทไทยคมได้ขอแก้ไขสัญญาสัมปทานโดยให้เหตุผลว่าต้องใช้เงินลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นจำนวนสูงมากจึงต้องหาพันธมิตรเข้ามาเพื่อร่วมลงทุนทำให้ต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่จะต้องถือหุ้นในบริษัทไทยคมลงต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสารได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว โดยให้อนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัทไทยคมจากไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐


ศาลฎีกาฯเห็นว่าการกำหนดการถือครองหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ เป็นนัยสำคัญที่ทำให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปได้สัมปทาน การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯอนุมัติให้แก้ไขสัญญาดังกล่าวโดยมิได้นำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นการอนุมัติโดยมิชอบและเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปเนื่องจากในกรณีที่บริษัทไทยคมทำการเพิ่มทุนเพื่อดำเนินโครงการใดๆโดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงมากนั้นบริษัทชินคอร์ปไม่ต้องระดมทุนหรือกู้เงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ ๕๑ ของตนเอง แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ การลดสัดส่วนการถือครองหุ้นดังกล่าวทำให้บริษัทชินคอร์ปได้รับเงินทุนคืนจากการโอนขายหุ้นออกไปให้ผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นทั้งมีผลเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัทชินคอร์ปในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้อีกด้วย


๗.๖ คณาจารย์ทั้งห้าพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนั้นปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯได้หารือสำนักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาดังกล่าวสำนักงานอัยการสูงสุดตอบหนังสือกระทรวงเทคโนโลยีว่าการแก้ไขสัญญาเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญจึงควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อมาเมื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯได้ทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องคืน โดยแจ้งว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของเรื่องที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯได้หารือไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบหนังสือว่าเมื่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ใน เกณฑ์ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีจึงมีดุลพินิจที่จะแก้ไขสัญญาได้ แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯจะเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอยู่แต่เพื่อพิจารณาจากขั้นตอนการทำงานแล้ว เห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก่อนจะใช้ดุลพินิจอนุมัติ ลำพังแต่เพียงการไม่เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีจึงยังถือไม่ได้ว่าการอนุมัติดังกล่าวเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป


สำหรับประเด็นที่ว่าการอนุมัติดังกล่าวทำให้บริษัทชินคอร์ปได้ประโยชน์ที่ไม่ต้องไปกู้เงินมาลงทุนนั้น หากมองในทางกลับกันก็จะเห็นได้ว่าบริษัทชินคอร์ปก็เสียประโยชน์ในลักษณะที่สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทไทยคมลดน้อยลงเช่นกันส่วนประเด็นที่ว่าการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคมเป็นสาระสำคัญนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าการแก้ไขสัญญาดังกล่าวไม่อาจกระทำได้ สำนักงานอัยการสูงสุดเองเมื่อครั้งที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯได้หารือไปนั้นก็ไม่ได้โต้แย้งว่าข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ห้ามแก้ไขการจะอนุมัติให้แก้ไขหรือไม่แก้ไขสัญญาจึงเป็นดุลพินิจในทางบริหาร

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทคู่สัญญามีความจำเป็นที่จะต้องลงทุน และรัฐเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวจะนำมาซึ่งประโยชน์ให้การจัดทำบริการสาธารณะ คือ การมีดาวเทียมสำรองดวงใหม่ที่มีดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์โดยร้องเป็นดาวเทียมสำรองเช่นเดิมและต่อมาได้รับการอนุมัตินั้น ก็ได้มีการอนุมัติแผนสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ด้วยในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ดาวเทียมไทยคม ๓ ขึ้น ต่อมาได้เกิดเหตุดาวเทียมไทยคม ๓ เสียหายขัดข้องเกี่ยวกับระบบพลังงานบางส่วน แต่ยังมีบางส่วนใช้งานได้ หลังจากเกิดเหตุดังกล่าว

ได้มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย และได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน และบริษัทไทยคมได้ขออนุมัติสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน และต่อมาบริษัทไทยคมก็ได้ร้องขออนุมัตินำเงินไปเช่าช่องสัญญานดาวเทียมจากต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม๓ พร้อมทั้งใช้เป็นช่องสัญญานสำรอง โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศได้อนุมัติให้ตามที่ร้องขอ โดยระบุว่าหากหากค่าก่อสร้างสูงกว่าวงเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยซึ่งผ่านการอนุมัติจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯบริษัทไทยคมจะรับผิดชอบในส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น


ศาลฎีกาฯเห็นว่า การจัดการกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ดาวเทียมนั้น สัญญาสัมปทานกำหนดให้บริษัทผู้รับสัมปทานรีบซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายหรือจัดหาทรัพย์สินทดแทนทรัพย์สินที่สูญหายโดยทันทีเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและกระทรวงผู้ให้สัมปทานก็จะมอบค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยให้ ถ้าค่าซ่อมแซมหรือราคาทรัพย์สินที่จัดหามีราคาสูงกว่าเงินค่าสินไหมทดแทน บริษัทผู้รับสัมปทานตกลงรับผิดชอบจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด เห็นได้ว่าตามสัญญานั้นหากเกิดความ เสียหายแก่ทรัพย์สินซึ่งกรณีนี้คือดาวเทียมไทยคม ๓ ถ้าเกิดความเสียหายบางส่วน บริษัทผู้รับสัมปทานจะต้องรีบดำเนินการซ่อมแซม แล้วจึงมารับเงินค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าเกิดความเสียหายทั้งดวงจนไม่สามารถใช้งานหรือดำเนินงา

๗. ๘ คณาจารย์ทั้งห้าได้พิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวแล้ว เห็นว่าบริษัทชินคอร์ปได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ มีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ๒๕๔๗ ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ได้เกิดความเสียหายขึ้นกับดาวเทียมไทยคม ๓ บริษัทไทยคมได้เจรจากับบริษัทประกันภัย ได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๓๓,๐๒๘,๙๖๐ ดอลลาร์สหรัฐ บริษัทได้ขออนุมัติกระทรวงผู้ให้สัมปทานสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน และขออนุมัติเงินค่าสินไหมทดแทนส่วนหนึ่งเช่าช่องสัญญานดาวเทียมต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓พร้อมทั้งใช้เป็นช่องสัญญานสำรอง คณาจารย์เห็นว่าการขออนุมัติดังกล่าวเป็นไปตามเหตุผลของเรื่อง ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

การที่ศาลฎีกาฯเห็นว่าบริษัทไทยคมทำผิดสัญญาเพราะไม่มีดาวเทียมสำรองไทยคม ๓ มาโดยตลอดนั้น คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่าในระหว่างที่เกิดความเสียหายกับดาวเทียมไทยคม ๓ เป็นช่วงเวลาที่บริษัทได้รับอนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งขึ้นสู่อวกาศ ในระหว่างเวลานั้นจึงไม่มีดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ เหตุกรณ์ที่เกิดความเสียหายขึ้นกับดาวเทียมดวงหลักในขณะที่ยังไม่มีระบบดาวเทียมสำรองนั้นอาจเกิดขึ้นได้ เพราะการส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่อวกาศนั้นจะกระทำหลังจากส่งดาวเทียมดวงหลักขึ้นไปแล้ว ในระหว่างนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นกับดาวเทียมดวงหลัก ก็จะต้องแก้ไขปัญหาเพื่อให้บริการสาธารณะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง


เมื่อพิจารณาการอนุมัติเช่าช่องสัญญานดาวเทียมต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ แล้ว จะเห็นได้ว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯอนุมัติเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๖,๗๖๕,๒๙๙ ดอลลาร์สหรัฐไปเช่าช่องสัญญาน และอนุมัติเงินอีก ๒๖,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปสร้างดาวเทียมที่ชื่อว่าดาวเทียมไทยคม ๕ หรือ ๓ R ทดแทน เงินที่อนุมัติไปนั้นอยู่ในวงเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย อีกทั้งปรากฏด้วยว่าเงินค่าก่อสร้างดาวเทียมไทยคม ๕ หรือ ๓ R มากกว่าค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งบริษัทไทยคมจะต้องรับภาระส่วนต่างนี้เอง พิเคราะห์แล้วคณาจารย์ไม่เห็นว่าการอนุมัติดังกล่าวของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นการอนุมัติที่ไม่ชอบและเอื้อประโยชน์แก่บริษัทไทยคมและบริษัทชินคอร์ปแต่อย่างใด


๘. ประเด็นทางเนื้อหาของคดี – การอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย


๘. ๑กรณีการอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยได้ส่งหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่าถึงรัฐมนตรีว่าการกะทรวงการต่างประเทศของไทยเพื่อขอให้ประเทศไทยพิจารณาให้สินเชื่อจำนวน๓,๐๐๐ ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่าเพื่อการก่อสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐาน แต่ระหว่างการพิจารณาเรื่องดังกล่าวกระทรวงการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติสหภาพ

พม่าได้มีหนังสือแจ้งว่ากระทรวงสื่อสารและไปรษณีย์แห่งสหภาพพม่ามีโครงการจะพัฒนาการให้บริการระบบโทรคมนาคมในเขตชนบทและพื้นที่ห่างไกล จึงขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในลักษระเงินกู้แบบผ่อนปรน (Soft loan) มูลค่า ๒๓,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และแบบให้เปล่า (Grant aid) มูลค่า ๑,๐๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแก่ประเทศไทยให้เงินกู้ในการซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศแก่รัฐบาลสหภาพพม่าในวงเงิน ๔,๐๐๐ ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ต่อมาจึงได้มีการทำสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กับธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่า


ศาลฎีกาฯเห็นว่าการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการดำเนินการไปตามนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาล อย่างไรก็ตามศาลฎีกาฯเห็นว่าการที่รัฐบาลพม่าร้องขอวงเงินสินเชื่อจากรัฐบาลไทยในครั้งแรกก็ด้วยความประสงค์ที่จะใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาด้านการคมนาคม และเมื่อต่อมารัฐบาลสหภาพพม่าร้องขอวงเงินสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคม ได้มีการรายงานข้อเสียของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอาจมีข้อครหาว่า พตท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และในการพบปะหารือข้อราชการแบบทวิภาคี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ทางฝ่ายพม่าได้ทราบด้วย ต่อมาเมื่อมีการนำเรื่องเสนอต่อ พตท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นแล้ว ปรากฏว่ามีการสั่งการด้วยวาจาอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มจาก ๓,๐๐๐ ล้านบาท เป็น ๔,๐๐๐ ล้านบาท


ศาลฎีกาฯเห็นว่าแม้จะปรากฏว่ามีหนังสือโต้ตอบระหว่างหน่วยงานของไทยและพม่าในเรื่องดังกล่าวประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการให้วงเงินกู้สินเชื่อแก่รัฐบาลสหภาพพม่าว่าเป็นการให้วงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลมาจากการขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาระบบโทรคมนาคมตามที่รัฐบาลสหภาพพม่าร้องขอ การ ระบุวัตถุประสงค์ว่าเพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศมีลักษณะเป็นทำนองหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าเพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมเท่านั้น นอกจากนี้ศาลฎีกาฯยังเห็นว่าบริษัทไทยคมมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะบริษัทไทยคมได้ไปประกอบกิจการด้านโทรคมนาคมในสหภาพพม่ามาก่อนแล้ว และได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการในโครงการต่างๆเกี่ยวกับโทรคมนาคมหลายโครงการ แม้บริษัทไทยคมจะอ้างว่าได้ขายสินค้าให้รัฐบาลสหภาพพม่าตามสัญญาที่มีกันมาแต่เดิม เป็นการซื้อขายตามปกติ

ไม่ว่ารัฐบาลพม่าจะได้รับสินเชื่อหรือไม่ รัฐบาลพม่าก็ต้องซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นประจำอยู่แล้วนั้น ศาลเห็นว่าในการประชุมระดับผู้นำเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อนุมัติให้นายพานทองแท้ ชินวัตร ร่วมเดินทางเป็นคณะเดินทาง และระหว่างการประชุมมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคมและบริษัทเอไอเอส เข้าทำการสาธิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย ทำให้ต่อมาสหภาพพม่าเสนอโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในเขตชนบทและพื้นที่ห่างไกล และขอรับความช่วยเหลือพร้อมกับขอเพิ่มวงเงินกู้สินเชื่อจาก ๓,๐๐๐ ล้านบาท เป็น ๕.๐๐๐ ล้านบาท และต่อมาฝ่ายไทยให้กู้ ๔,๐๐๐ ล้านบาท โดยลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ ๕.๗๕ เป็นร้อยละ ๓ ต่อปี ปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้น ๒ ปี ต่อมารัฐบาลพม่าขอปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นเป็น ๕ ปีซึ่งก็ได้รับการอนุมัติ


ศาลฎีกาฯเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทยฯ จึงต้องขอคุ้มครองความเสียหาย และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้สั่งการให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เงินกู้แก่สหภาพพม่าในวงเงิน ๔,๐๐๐ ล้านบาท หากได้รับความเสียหายให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยแก่ธนาคารตามจำนวนที่เสียหาย และให้ชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยที่ด้รับจากรัฐบาลสหภาพพม่ากับต้นทุนดอกเบี้ยธนาคาร

เมื่อการขอวงเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมเกิดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมระดับผู้นำที่กล่าวข้างต้น ศาลฎีกาฯเห็นว่า การขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทไทยคมนั่นเอง แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าการจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของธนาคารเพื่อการส่งออกฯ แต่ธนาคารก็ตกอยู่ภายใต้กำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล และที่กล่าวอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลให้บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานบ่อแก๊สธรรมชาติที่สหภาพพม่าก็เป็นการนำเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันมาอ้าง การดำเนินการในกรณีนี้จึงเป็นการเอื้อประโยน์แก่บริษัทไทยคมและบริษัทชินคอร์ป






๘. ๒ คณาจารย์ทั้งห้าพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการพิจารณาดำเนินการให้รัฐบาลต่างประเทศกู้เงินนั้น เป็นการดำเนินการตามนโยบายในทางบริหารซึ่งต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย การดำเนินการดังกล่าวฝ่ายบริหารย่อมมีดุลพินิจที่พิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุดซึ่งจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้านประกอบกัน หากในการเจรจาในทางระหว่างประเทศเกี่ยวกับการให้กู้เงินมีการแลกเปลี่ยนประโยชน์ตอบแทนด้านต่างๆ ไม่ว่าการให้สัมปทานบ่อแก๊ส การช่วยปราบปราม ยับยั้งการค้ายาเสพติดตามแนวชายแดน ฯลฯ คณาจารย์ทั้ง ห้าก็เห็นว่าการเจรจาแลกเปลี่ยนตอบแทนดังกล่าวชอบที่ฝ่ายบริหารจะทำได้ หากอยู่ในกรอบของกฎหมาย และเป็นดุลพินิจโดยแท้ในทางบริหาร เป็นเรื่องในทางนโยบาย ซึ่งหากไม่เหมาะสม ก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะตรวจสอบในทางการเมืองต่อไป หากฝ่ายบริหารไม่มีดุลพินิจดังกล่าวนี้ย่อมเป็นการยากอย่างยิ่งที่ฝ่ายบริหารจะปฏิบัติภารกิจในการปกครองประเทศให้สำเร็จลุล่วงลงไปได้


สำหรับกรณีที่เป็นปัญหานี้ แม้จะได้ความว่าบริษัทไทยคมจะได้จำหน่ายสินค้าและให้บริการให้รัฐบาลสหภาพพม่า อันอาจมองได้ว่าการจำหน่ายสินค้าและให้บริการดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้อนุมัติเงินกู้ให้แก่รัฐบาลพม่าก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่าก่อนหน้านี้บริษัทไทยคมก็ได้ขายสินค้าให้แก่รัฐบาลพม่าตามพันธะสัญญาที่มีต่อกันมาแต่เดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้การซื้อสินค้าและบริการด้านคมนาคมนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ชื้อเป็นสำคัญว่าจะซื้อจากบริษัทใด เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ารัฐบาลพม่าไม่สามารถที่จะซื้อสินค้าและบริการดังกล่าวจากประเทศหลายประเทศได้ เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง เมื่อรัฐบาลพม่าเคยซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทไทยคมอยู่ก่อนแล้ว

กรณีจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติวิสัยที่รัฐบาลพม่าจะซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทไทยคมต่อไปอีก ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นคณาจารย์ทั้งห้าจึงเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่พอที่จะฟังได้ว่าคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อนุมัติเงินกู้ให้แก่รัฐบาลพม่าเพื่อให้รัฐบาลพม่าไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทไทยคมโดยเฉพาะอันมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคมและบริษัทชินคอร์ป๙. การดำเนินการตามข้อกล่าวหาทั้งห้ากรณีเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของชินคอร์ปหรือไม่


๙. ๑ หลังจากที่วินิจฉัยว่าการดำเนินการทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนแล้ว ศาลฎีกาฯได้วินิจฉัยต่อไปว่าในช่วงเวลาที่มีการดำเนินทั้งห้ากรณี พตท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับรัฐมนตรีอื่นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และจะต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรียังมีอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนอำนาจสั่งราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ และยังเป็นผู้ถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ในการให้รัฐมนตรีพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีว่ามีขอบเขตกว้างขวาง โดยศาลได้พรรณนาความเกี่ยวพันของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับหน่วยงานต่างๆของรัฐอีกหลายประการ ศาลฎีกาฯเห็นว่าเมื่อพิจารณาถึงที่มา การแต่งตั้ง และการให้คุณให้โทษตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว

ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนทำให้เห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ และนายกรัฐมนตรีย่อมเกี่ยวข้องอยู่ด้วยทั้งสิ้น และได้พิพากษาในที่สุดว่าการดำเนินการตามข้อกล่าวหาทั้งห้ากรณีเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหา นายกรัฐมนตรีผู้ถูกกล่าวหา (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของชินคอร์ป


๙. ๒ ถึงแม้ว่าคณาจารย์ทั้งห้าจะไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลฎีกาฯที่วินิจฉัยว่าการดำเนินการต่างๆตามข้อกล่าวหาเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนก็ตาม แต่ก็สมควรพิจารณาต่อไปด้วยว่าหากถือว่าการดำเนินการต่างๆตามข้อกล่าวหาเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปจริง เมื่อพิเคราะห์ในทางกฎหมายแล้วจะถือได้หรือไม่ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ความข้อนี้เมื่อพิจารณาจากบทกฎหมายศาลฎีกาใช้เป็นฐานในการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จะเห็นได้ว่าตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔ “ร่ำรวยผิดปกติ” หมายความว่า การมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่” คณาจารย์ทั้งห้าเห็นว่า การมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรจะต้องเป็นผลมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งเท่ากับระบบกฎหมายเรียกร้องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (causation) ในเรื่องดังกล่าว หากการมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือการมีหนี้สินลดลงผิดปกติ หรือการได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร ไม่ได้เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่แล้ว ศาลย่อมไม่อาจสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้


เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า การดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา หากไม่อยู่ในรูปของมติคณะรัฐมนตรี ก็เป็นการสั่งการโดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง หรือคณะกรรมการที่มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการ ทศท. เป็นต้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้สั่งการหรืออนุมัติโดยตรง และไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สั่งให้รัฐมนตรีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว หรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่กล่าวหาเลย กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวพันโดยตรงก็คือกรณีที่เรื่องที่อนุมัตินั้นอยู่รูปของมติคณะรัฐมนตรี แต่แม้กระนั้นในทางกฎหมายก็ถือว่าคณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรกลุ่ม (collegial organ) แยกออกต่างหากจากนายกรัฐมนตรี ในการออกเสียงในคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีก็มีคะแนนเสียงหนึ่งคะแนนเสียงเท่ากับรัฐมนตรีอื่น จึงไม่อาจถือว่าการกระทำของ

คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการกระทำของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ หากการกระทำของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมีความไม่เหมาะสมในทางนโยบายอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในทางการเมือง ลำพังแต่ข้อกฎหมายที่ว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในฝ่ายบริหาร มีอำนาจบังคับบัญชา กำกับดูแลหน่วยงานทั้งหลายทั้งปวงของรัฐในฝ่ายบริหารยังไม่เพียงพอที่จะชี้ว่ามีการกระทำ และการกระทำนั้นคือการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่แต่อย่างใด โดยเหตุที่กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ขาดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล คณาจารย์ทั้งห้าจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับการที่ศาลฎีกาฯสั่งให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นของแผ่นดิน


๙. ๓ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่า แม้จะถือตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯในคดีนี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ แต่การที่ศาลฎีกาถือว่าประโยชน์จากราคาหุ้นบริษัทชินคอร์ปส่วนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหา คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระแรก คือวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เป็นต้นไป เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้

อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นั้น ย่อมไม่อาจอธิบายให้รับกับข้อเท็จจริงได้ เพราะแท้จริงแล้วการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งทำให้ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรตามที่ศาลฎีกาฯวินิจฉัยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมานับตั้งแต่วันแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ได้เกิดภายหลังในห้วงเวลาที่แตกต่างกันไป ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ในทางข้อเท็จจริงที่จะถือว่าประโยชน์จากราคาหุ้นในส่วนที่เพิ่มขึ้นของบริษัทชินคอร์ปได้เกิดขึ้นแล้วนับตั้งแต่วันแรกของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พตท.ทักษิณ ชินวัตร ที่สำคัญไม่น้อยกว่านั้น ต้องยอมรับว่าราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นของบริษัทชินคอร์ป สามารถเกิดจากปัจจัยอื่นด้วยก็ได้ อย่างเช่น ภาวะของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


เมื่อศาลฎีกาฯไม่ได้วินิจฉัยแยกแยะว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่เป็นการเอื้อประโยชน์แต่ละกรณีเกิดขึ้นเมื่อใด แต่วินิจฉัยว่าราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั้นได้เกิดขึ้นอย่างไม่สมควรนับตั้งแต่วันที่ พตท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีสาเหตุเพียงประการเดียว คือเกิดจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ จนนำไปสู่การพิพากษาให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นของแผ่นดินรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๖,๓๗๓,๖๘๗,๔๕๔.๗๐ บาท ที่ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาในลักษณะเช่นนี้ คณาจารย์ทั้งห้าไม่อาจเห็นพ้องด้วยได้


คณาจารย์ทั้งห้าขอยืนยันว่าบทวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินนี้ เป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ เพื่อแสดงความไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาฉบับนี้ ตั้งแต่ต้นกำเนิดของคดีซึ่งมีที่มาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, ข้อสงสัยในความเป็นกลางขององค์กรที่มีหน้าที่ไต่สวน, เนื้อหาของคดีเกี่ยวกับข้อกล่าวหาทั้ง ๕ กรณีว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือ, การเชื่อมโยงข้อกล่าวหาทั้ง ๕ กรณีว่าเป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตลอดจนผลลัพธ์ของคดีที่ศาลฎีกาพิพากษาให้ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นของแผ่นดิน


คณาจารย์ทั้งห้ายืนยันว่า ความเห็นต่างของเราเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ยอมรับรัฐประหาร หลักการเคารพกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม หลักดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายตุลาการ หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะและคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจต่อการดำรงอยู่ของกฎหมาย หลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งหลักการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และคณาจารย์ทั้งห้ายืนยันที่ปกป้องหลักการทั้งหลายเหล่านี้อย่างสุดกำลังด้วยความบริสุทธิ์ใจ



รองศาสตราจารย์.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
อาจารย์ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร
อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล



คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑๑ มีนาคม ๒๕๕๓



Create Date : 05 เมษายน 2553
Last Update : 5 เมษายน 2553 18:34:51 น. 1 comments
Counter : 973 Pageviews.

 
บทวิเคราะห์ อ.วรเจตน์ยาวมาก

ตอนนี้มีบทแย้งของทางทีดีอาร์ไอออกมาแล้วครับ


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 5 เมษายน 2553 เวลา:22:18:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nuyect
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




WELLCOME TO PEENUY BLOG

bigoo.ws
ตั้งเว็บนี้เป็นหน้าแรก
บล๊อกพี่หนุ่ย ... ยินดีต้อนรับทุกท่าน..และขอบคุณที่มาเยี่ยมครับ ..
Group Blog
 
 
เมษายน 2553
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
5 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add nuyect's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.