ฝึกมโนมยิทธิสำหรับนักปฏิบัติใหม่

แนะนำการฝึกมโนมยิทธิสำหรับนักปฏิบัติใหม่
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง)

วัตถุประสงค์ของการฝึกมโนมยิทธิ
เพื่อให้นักปฏิบัติทุกท่านพิสูจน์พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ว่า นรก สวรรค์ พรหม นั้นมีจริงหรือไม่ พระนิพพานสูญจริงหรือและเป็นการปฏิบัติทางลัดให้เข้า
สู่พระนิพพานได้โดยเร็วขึ้น ไม่ใช่ฝึกเพื่อความสนุกสนานหรือเพื่อเป็นการโอ้อวดบุคคลอื่น
หรือเพื่อไปเป็นหมอดูให้ชาวบ้าน
จุดประสงค์ให้ทุกท่านตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานโดยเริ่มเป็นพระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์

นักปฏิบัติทุกท่านควรศึกษา สังโยชน์ 10 และบารมี10 ให้เข้าใจ และอารมณ์ของพระอริยเจ้า
ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงปลาย ฉะนั้นนักปฏิบัติเมื่อได้แล้วควรฝึกฝนให้ชำนาญทุกอิริยาบถ
โดยกำหนดจิตของตนไปเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระชินวรอยู่เป็นประจำ
การวางอารมณ์ ขณะเวลาปลอดเสียง

1. ตัดความกังวลห่วงใยใดๆ ทั้งหลายให้หมดสิ้น และตั้งจิตแผ่เมตตาไปในจักรวาลทั้งปวง
ตั้งจิตไว้ว่า เราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย
รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน

2. กำหนดรู้ลมหายใจ เข้า ออก พร้อมทั้งพิจารณาว่าเราเกิดมาเพื่อตายร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
ร่างกายนี้เป็นของสกปรก ไม่เที่ยงเป็นปัจจัยของความทุกข์ทั้งหลายและเสื่อมสลายไปในที่สุด
ดินแดนที่มีความสุขอมตะ คือ พระนิพพาน ให้จิตจับพระนิพานเป็นอารมณ์

3. เมื่อพิจารณาจนจิตสบายแล้ว ก็ใช้คำภาวนาว่า “นะ มะ พะ ธะ” พร้อมกับกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
เวลาหายใจเข้าว่า “นะ มะ” เวลาหายใจออกว่า “พะ ธะ” ภาวนาแบบสบายๆ อย่าบังคับให้ช้าหรือเร็วเกินไป
(เมื่อรู้สึกอึดอัดให้หายใจเข้าช้าๆ หายใจออกช้าๆ 3-4 ครั้ง ก็จะหายเอง)

เมื่อหมดเวลาปลอดเสียงแล้ว ถ้าครูเข้าไปให้คำแนะนำขอให้นักปฏิบัติหยุดภาวนาวางอารมณ์เบาๆ
แบบสบายๆ อย่าปักอารมณ์ สมาธิให้แน่นจะเสียผล ตั้งใจฟังคำแนะนำ และปฏิบัติโดยพิจารณาตามไปด้วยทันที
(ตั้งใจพิจารณาให้เห็นจริงด้วยปัญญา)
เมื่อจิตสามารถเคลื่อนตัวได้แล้วการตอบคำถามให้ตอบตามความรู้สึกสัมผัสทางจิตก่อน
มิใช่ เอาตาไปเห็น หรือ เอาหูไปฟังเสียงถ้าครูถามว่ามีความรู้สึกว่าเห็นอะไร
ความรู้สึกของจิตแรกว่าอย่างไรให้ตอบอย่างนั้นทันที อย่าไปลังเลสงสัย
ถ้ามีอารมณ์ไม่แน่ใจ อารมณ์ลังเลสงสัยที่มาขวางอยู่ ท่านบอกว่าเป็นอารมณ์เลว
ที่กั้นความดี มาขวางอยู่ นักปฏิบัติควรศึกษาให้เข้าใจ และตัดอารมณ์สงสัยให้หมดไป

ขณะฝึกจิตมีสมาธิอารมณ์จิตย่อมเป็นทิพย์
เป็นการสัมผัสจริงไม่ใช่เกิดจากความนึกคิดของเราที่จะสร้างขึ้นขณะฝึกตอบผิดหรือถูกยังไม่สำคัญ
ขณะฝึกขอให้มีความมั่นใจในตนเองถือแบบปฏิบัติแบบโง่ๆ ไปก่อน ถ้าครูถามว่ารู้สึกเห็นเป็นสีอะไร
ความรู้สึก ของจิตแรกบอกสีขาว เราก็ตอบว่าสีขาวทันที อย่าใช้อารมณ์ที่สองหรือคิดต่อจะเกิดอุปาทาน
ข้อนี้ท่านนักปฏิบัติควรศึกษาให้เข้าใจและควรระวังไว้ให้มากเริ่มต้นฝึกไปแบบมืดๆ แบบตาบอดคลำช้างไปก่อน
เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา สมบูรณ์ และชำนาญขึ้นก็สามารถจะสัมผัสความเป็นทิพย์ได้ชัดเจนเหมือนตาเห็น
(สภาพเห็นของจิตมีวงจำกัดมากฉะนั้นจึงต้องขออาราธนาบารมีขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสมอ)

ข้อควรปฏิบัติในเวลาปกติ สำหรับท่านที่ปฏิบัติได้แล้วควรรักษาไว้ให้ดีขึ้นหรืออย่างน้อยก็ให้ทรงตัว
โดยจำอารมณ์ตอนขณะฝึกได้ครั้งแรกๆ และท่านที่กำลังฝึกปฏิบัติอยู่ ควรสำรวจตนเองเสมอว่า
เราบกพร่องในข้อไหนในด้านศีล สมาธิ ปัญญา (สำหรับท่านที่มาปฏิบัติใหม่หัวข้อธรรมะบางข้อ
อาจยังไม่เข้าใจให้ศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน)
ควรระวังอารมณ์ของนิวรณ์ 5 ความพอใจในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัสระหว่างเพศ
ความโกรธความพยาบาท ความง่วง ความฟุ้งซ่านอารมณ์สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอน
ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 5 อย่างนี้ ขณะปฏิบัติให้ละโดยเด็ดขาด



และในเวลาปกติระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน
ควรกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก และภาวนา “นะ มะ พะธะ”
สลับกับการพิจารณาร่างกายให้จิตสะอาดแล้วไปกราบนมัสการพระพุทธเจ้า
ที่แดนพระนิพพาน ทำเสมอๆ หัดทำให้คล่องทุกอิริยาบถได้ยิ่งดี
เพราะหลวงพ่อท่านแนะนำว่าการที่เราจะเคลื่อนจิตไปได้นั้นต้องอาศัยกำลังของสมาธิ
การที่เราจะเห็นภาพได้ชัดเจนต้องอาศัยวิปัสสนาญาณ
นักปฏิบัติทุกท่านที่ต้องการให้ได้ผลดีต้องรักษา ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ทรงตัวในระดับเดียวกันจึงจะได้ผลเต็มที่

เรื่องของมโนมยิทธิ เมื่อครู่อาตมาบอกว่าถ้าใครมีวิสัยเดิมจะสามารถฝึกได้ง่าย บางคนก็มานั่งปลงว่า แล้วชาตินี้ข้าพเจ้าจะได้บ้างไหมนี่ ? ขอยืนยันว่า ถ้าใครคิดอยากจะทำคนนั้นต้องมีพื้นฐานเดิมมาบ้างแล้ว และการฝึกกรรมฐานจริง ๆ การรู้เห็นต่าง ๆ เป็นของอันตรายเพราะว่าส่วนใหญ่พอรู้เห็นแล้วไม่สามารถที่จะจัดการได้ถูกต้อง เมื่อไม่สามารถจัดการได้ถูกต้อง หลงผิดทางไปมากต่อมากการฝึกมโนมยิทธิ ที่อาตมาเจอมานั้น เกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ที่ผิดทาง
ถามว่าผิดแล้วมีอันตรายไหม ? ถ้าอันตรายในทางโลกทั่ว ๆ ไปไม่มี แต่ว่าทำให้เข้าถึงธรรมได้ช้าลงมัวแต่ไปหลงสนุกอยู่กับการรู้เห็น ไปเที่ยวดูว่าคนนั้นเป็นพ่อฉัน คนนี้เป็นแม่ฉัน นั่นพี่ฉัน นี่น้องฉันโน่นเคยเป็นสามี นี่เคยเป็นภรรยา
ปกติแล้วการฝึกกรรมฐานทุกประเภทจุดมุ่งหมายคือ ต้องการความหลุดพ้น ต้องการพ้นทุกข์ ต้องการปลดกิเลสต้องตัดภาระทุกอย่างให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้แต่ว่าแบบนี้กลายเป็นการฟื้นความสัมพันธ์ใหม่ กลายเป็นสร้างภาระเพิ่มขึ้น จึงได้เตือนให้รู้ล่วงหน้า แม้ว่าเราไม่ได้ฝึกสายมโนมยิทธิมาก็ตามแต่ถ้าของเก่าในอดีตของเรามี ภาวนาไป ๆ จิตสงบถึงที่ การรู้เห็นจะบังเกิดเอง จิตเราปกติจะกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลาเหมือนน้ำน้ำที่กระเพื่อมอยู่ เราส่องหน้าตัวเองไม่เห็น หรือว่าเห็นแต่ก็เบลอ..ไม่ชัดเจน
แต่พอฝึกไปถึงระดับหนึ่ง จิตจะค่อย ๆ นิ่ง เหมือนอย่างกับน้ำที่นิ่งพอน้ำนิ่งสามารถสะท้อนเงาทุกอย่างที่อยู่รอบข้างลงไปในน้ำได้สภาพจิตของเราก็นิ่งลักษณะเดียวกัน
ถึงเวลาก็จะสะท้อนภาพทุกอย่างลงไปได้การรู้เห็นก็จะปรากฏขึ้น
คราวนี้เราก็จะลำบาก ลำบากตรงที่ว่า เวลารู้นั้นรู้เยอะมากแต่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าควรพูดแค่ไหน ? แล้วก็จะได้รับคำสรรเสริญจากเพื่อนเวลาเราไปเล่าให้เขาฟังว่าบ้า..! เพราะฉะนั้นใครที่เป็นนักปฏิบัติ ถ้ายังไม่ได้รับการสรรเสริญจากคนรอบข้างว่าบ้านั่นยังเอาดีได้ยาก ขอยืนยัน..!

คราวนี้มโนมยิทธินั้น ลักษณะการรู้เห็น รู้เห็นแบบไหน ? การรู้เห็นนั้นเป็นการเห็นด้วยใจ ไม่ใช่สายตา โปรดลืมสายตาของเราไปได้เลย แล้วถามว่าใจเห็นเห็นแบบไหน ? อย่างเช่นว่าเรานึกถึงบ้าน นึกถึงคนที่เรารู้จักก็จะชัดเจนในความรู้สึกของเรา แต่ถามว่าเห็นหรือไม่ ? ไม่ใช่ตาเห็นแน่นอน..ใช่ไหม? ลักษณะของมโนมยิทธิจะเป็นแบบนั้น แต่คราวนี้บ้านของเราหรือว่าคนที่เรารู้จัก เราสามารถกำหนดรู้ได้ชัดเจนมาก เพราะเราคุ้นชินกับสิ่งนั้น
แต่ว่าในเรื่องอื่น ๆถ้าเทียบการฝึกมโนมยิทธิ ครูฝึกถ้าต้องการพิสูจน์ อาจจะนำเราไปยังสถานที่ต่าง ๆที่เราไม่เคยไป หรือว่าไปนรกไปสวรรค์โน่นเลย เราไม่เคยชินกับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เพราะฉะนั้น..ความรู้สึกแรกที่ปรากฏขึ้นกับใจจะสำคัญที่สุด..!เราต้องเชื่อความรู้สึกนั้น เอ๊ะ..แม้แต่นิดเดียว แปลว่าพลาดอย่างแน่นอน
ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แรก ๆมองไม่เห็นภาพหรอก มืดสนิท..! คุยในเรื่องความรู้สึกล้วน ๆ น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้หรือว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ตอบส่งไปได้เลย แล้วตอบไปก็ถูกด้วย แต่ว่าเราต้องจำอารมณ์นั้นเอาไว้ให้ได้เหตุที่ต้องจำอารมณ์นั้นเอาไว้ให้ได้ก็เพราะว่าถ้าทุกครั้งเรากำหนดกำลังใจลักษณะอย่างนั้น การรู้เห็นจะสามารถรู้ได้ถูกต้องพอทำไป ๆ ความมั่นใจเริ่มมี คราวนี้จิตจะนิ่งได้ระดับหนึ่ง ภาพก็จะปรากฏ

ตอนภาพปรากฏนี่เสียคนอีกเยอะเลย เพราะว่าทันทีที่ภาพปรากฏอยู่ตรงหน้า ความที่อยากรู้เห็นอย่างชัดเจน เราจะใช้สายตาเพ่งเอา อย่าลืมว่ามโนมยิทธิเป็นการส่งใจออกปกติการส่งใจออกนอก เป็นสาเหตุของทุกข์อย่างแน่นอนแต่มโนมยิทธิไม่สร้างทุกข์ให้ในช่วงนั้นเพราะว่าเป็นการส่งออกด้วยการควบคุมของสมาธิ ไม่ใช่ส่งออกไปฟุ้งซ่านแบบไม่มีกำลังสมาธิควบคุมถ้าหากว่าส่งออกแบบฟุ้งซ่านนั้น จะเป็นต้นเหตุของทุกข์ที่เรียกว่า สมุทัย
เมื่อจิตส่งออกไปถึงที่นั้นจะรู้เห็นสิ่งนั้น แต่ทันทีที่เราเห็นเราใช้สายตาเพ่งเพราะต้องการให้ชัดขึ้น การนึกถึงตา คือนึกถึงตัวเอง เป็นการดึงกำลังใจกลับมาในเมื่อใจพ้นจากตรงนั้น ภาพที่เห็นจะหายไป ฉะนั้น..ทันทีที่เราเพ่ง ภาพจะหายทันที แล้วเราก็จะมากลุ้มใจว่า เอ๊ะ..! ทำไมเมื่อกี้เห็น แต่ตอนนี้หายไปแล้ว
พอใจนิ่งใหม่ ก็เห็นอีกเพ่งอีกก็หายอีก หลายต่อหลายท่านติดอยู่ตรงขั้นตอนนี้เป็นปี ๆจนกว่าเราจะวางกำลังใจได้ว่าการรู้เห็นครั้งแรกที่มีแค่ความรู้สึกโดยไม่ต้องเห็นภาพ ก็ถูกต้องดีแล้ว.

เพราะฉะนั้น..ภาพจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ตาม เป็นเรื่องของมันถ้าหากเราทำกำลังใจอย่างนี้ได้ เขาเรียกว่ามีอุเบกขา สมาธิทุกขั้นตอนต้องมีอุเบกขาถ้าไม่มีก็ไม่ทรงตัวอุเบกขาในที่นี้จะสรุปง่าย ๆ ว่า คือการที่เรามีหน้าที่ภาวนามีหน้าที่ทำตามที่ครูฝึกบอก ก็ทำไป จะเห็นหรือไม่เห็น เป็นเรื่องของมันถ้าตัดใจอย่างนี้ได้ ก็จะง่าย
โดยเฉพาะอาตมาอยากจะบอกว่า คนเราทุกคน ถ้าคิดเป็น ได้มโนมยิทธิทุกคน เพียงแต่เราใช้ความคิดเป็นไหม? อย่างตอนนี้เราคิดถึงบ้านถ้าบุคคลที่ได้อภิญญาจะเห็นเราไปอยู่ที่บ้านแล้ว ถามว่าต้องใช้ยานพาหนะอะไรบ้างไหม? จะต้องไปเปิดประตูออกไปไหม ? ต้องไปขึ้นรถต้องเสียเวลาขับรถอีกเป็นชั่วโมง ๆ กว่าจะถึงหรือเปล่า ?
แต่ว่ามโนมยิทธินั้นแค่คิดก็ถึงแล้วไม่โดนจำกัดด้วยขั้นตอนของร่างกายใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นกำลังใจ เราคิดถึงดวงอาทิตย์ตอนนี้กำลังใจเราก็อยู่ที่ดวงอาทิตย์ คิดถึงดวงจันทร์ กำลังใจของเราก็อยู่ที่ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ห่างจากโลกของเรามาก แสงที่ใช้เวลาเดินทาง ๑๘๖,๐๐๐ ไมล์ต่อวินาที ใช้เวลา ๘นาทีกว่าจะถึงโลกเรา แต่เราคิดถึงดวงอาทิตย์ กำลังใจเราไปจ่ออยู่ที่นั่นเดี๋ยวนั้นเลยไม่ติดด้วยขั้นตอนของการเดินทาง หรือว่ารูปแบบของร่างกายเพราะเป็นกำลังใจอย่างเดียวจริง ๆ...

ข้อห้าม..! ในการฝึกมี ๔ ข้อด้วยกัน
ข้อที่หนึ่ง ต้องไม่กลัว ส่วนใหญ่กลัวว่า การถอดจิตออกไปจะกลับได้หรือเปล่า ? ถ้ากลับไม่ได้ก็แย่เลย..! หรือว่าออกไปแล้วจะเจอสิ่งที่น่ากลัว เช่น เจอผีเป็นต้น ถ้าหากว่ากลัว กำลังใจของเราไม่มั่นคง ฝึกไปก็ไม่ได้ผล

ข้อที่สอง ต้องไม่อยาก อยากมากจนเกินไปก็ไม่ได้ จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นสิ่งที่จะรู้เห็นเหมือนกับช่องกลม ๆ อยู่ตรงหน้าพอดี ๆยืดคอเลยช่องจะไปมองอะไรเห็น

เวลาครูฝึกบอกเราว่า ให้เลิกการภาวนา ขอให้เลิกจริง ๆ ท่านใดที่มีพื้นฐานการภาวนามาก่อนฝึกมโนมยิทธิจะได้ยากเย็นเข็ญใจที่สุด

เนื่องจากว่าการรู้เห็นมี ๒ ระดับ ระดับแรกเรียกว่า อุปจารสมาธิ ซึ่งก็คือดวงปฐมมรรคของธรรมกาย ภาพจะปรากฏตอนนั้นระดับที่สองเป็นฌานสี่ไปเลย ในระหว่างกลางคือ ฌาน ๑,,๓ นั้นจะไม่เห็นอะไร

เหมือนกับมีห้องสองห้อง อยู่ชั้นบนกับชั้นล่างการตกแต่งทุกอย่างเหมือนกันหมด เราอยู่ชั้นบนก็สามารถบรรยายได้ว่าห้องนั้นมีสภาพอย่างไร อยู่ชั้นล่างก็สามารถบรรยายได้ ว่าห้องนั้นมีสภาพอย่างไรแต่ถ้าเราอยู่ระหว่างบันไดจะไม่รู้เห็นอะไรเลย..!
เพราะฉะนั้น ถ้าบอกให้เลิกภาวนา คนที่มีพื้นฐานเก่าขอให้เลิกจริง ๆลดกำลังใจลงมาสบาย ๆ เหมือนเราจะคุยกับใครสักคน หลับตาลงเบา ๆกำหนดรู้ตามที่ครูฝึกบอก มีความรู้สึกอย่างไร ? ให้ตอบไปตามนั้นเลย

ข้อที่สาม อย่าเป็นคนขี้สงสัย ส่วนใหญ่พวกเรา รับรู้เรื่องต่าง ๆ มามากต่อมากด้วยกันแล้วจะเป็นคนขี้สงสัย การรู้เห็นนั้น เรารู้เห็นตามสภาพปัจจุบัน ตอนนั้นเดี๋ยวนั้น แต่สิ่งที่เรารับฟังมานั้นไม่ใช่ ถ้าเราไปเอาสิ่งที่เรารับฟังมาไปเปรียบเทียบเขาเรียกว่า ติดอุปาทาน
ขอยกตัวอย่างตัวเองให้ฟังว่าอาตมาฝึกครั้งแรก เพราะอยากเห็นพระอินทร์ เคยดูลิเกมาเยอะ พระอินทร์ต้องตัวเขียว ๆใส่ชฎาด้วย ปรากฏว่าพอไปเข้าจริง ๆ ถึงบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ไม่ได้เจอพระอินทร์อย่างที่ตัวเองรู้จัก
เจอลุงกำนันท่านหนึ่ง อ้วนพุงปลิ้นเลยใส่กางเกงขาสามส่วน มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ แถมสูบบุหรี่มวนโตอีกต่างหาก ก็ไปยืดคอมองนี่หรือพระอินทร์ ? ท่านก็ลุกขึ้นนั่งถามว่าแล้วเอ็งอยากดูแบบไหน ? ในช่วงไม่กี่วินาทีท่านเปลี่ยนให้ดูเป็นร้อย ๆ แบบ แล้วท้ายสุดก็คือแบบที่เราคิดว่าใช่ ก็คือต้องตัวเขียวๆ แล้วใส่มงกุฏแหลม ๆ ด้วย
ดังนั้นถ้าหากเราเป็นคนขี้สงสัยยึดเอาอุปาทานจนเกินไป อย่างเช่น นางฟ้าไม่ใส่เสื้อ ยุ่งแน่ ๆ เลย อย่าลืมว่าท่านรวยกว่าเราเยอะถึงขนาดไม่มีเสื้อใส่นี่หมดสภาพเลยอันนั้นเป็นเทคนิคของโบราณที่เขาวาดภาพในแนวอีโรติก เพื่อจะดึงดูดความสนใจของคนเลยไม่ใส่เสื้อให้นางฟ้า

ข้อที่สี่ ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ส่วนใหญ่คนที่ขาดความมั่นใจพอฝึกได้ในช่วงอยู่ต่อหน้าครูฝึก ลับหลังไปแล้วก็สงสัยว่า เอ๊ะ..!เมื่อกี้จะจริงหรือเปล่า ? โดยเฉพาะกลับบ้านไปแล้วทำต่อไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นวิธีเดียวกันนั่นเอง
อย่าลืมข้อสรุปนะ
๑.ต้องไม่กลัว
๒.ต้องไม่อยากจนเกินไป ต้องคลายสมาธิของตัวเองลงมาให้หมดก่อน ยกเว้นว่าใครทรงฌาน ๔ ได้คล่องตัวก็ไม่ต้อง
๓.ต้องไม่เป็นคนติดสงสัย เอาของเก่ามาปะปนกับเรื่องที่พบในปัจจุบัน ตอนนั้น เดี๋ยวนั้น
๔.ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง

ถ้าใครสามารถทำได้ดังนี้ โดยเฉพาะเคล็ดลับตรงที่ว่า มโนมยิทธิแค่คิดก็ถึงแล้ว ถ้าหากครูฝึกท่านบอกว่าให้ยกกำลังใจขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ให้กำหนดความรู้สึกของเราทั้งหมดว่าที่อยู่ตรงหน้านี่คือดาวดึงส์
ถ้าครูฝึกถามว่า มีสภาพอย่างไร ? ความรู้สึกตอนนั้นบอกว่าอย่างไร ?ให้ตอบไป เห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไร เอาความรู้สึกแรกเข้าว่าพอครูฝึกบอกเราให้ทำตามไปเรื่อย ๆ สภาพจิตที่ตื่นเต้นตอนแรก ก็จะค่อย ๆ นิ่งลงเหมือนกับน้ำนิ่ง การรู้เห็นจะชัดขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนที่สำคัญก็คือ เมื่อทำได้แล้วอย่าทิ้ง ให้ซักซ้อมเอาไว้บ่อย ๆจะได้เกิดความคล่องตัว ถึงเวลาจะได้ใช้งานได้จริง อย่างเช่นมีปัญหาในหน้าที่การงาน เราคิดหาทางแก้ไขไม่ได้ก็ยกจิตขึ้นไปกราบถามพระ หรือ ถามพรหมเทวดาองค์ใดก็ได้ที่เราคุ้นเคย อย่างที่หลวงปู่สดวัดปากน้ำท่านว่า "มีอะไรให้ถามพระธรรมกายเอา.." บางทีวิธีแก้ไขที่ท่านบอกมา ก็ง่ายจนเราคิดไม่ถึงช่วยประหยัดเวลาของเราไปได้มาก
โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาถ้าติดขัดเรื่องเรียน สามารถที่จะถามได้ทันที แม้แต่เวลากำลังทำข้อสอบอยู่ก็ยกจิตไปถามพระได้เดี๋ยวนั้น ถ้าคล่องตัวจริง ๆ จะตอบได้ถูกต้องและถูกใจผู้ตรวจข้อสอบด้วย อาตมาเองทำคะแนนเต็มร้อยมาจนนับครั้งไม่ถ้วนแล้วก็ด้วยการใช้มโนมยิทธินี่เอง แต่ควรที่จะอ่านหนังสือเอาไว้เป็นพื้นฐานด้วยเพราะถ้าไม่อ่านหนังสือเลย เวลาที่คำตอบออกมาแล้วไม่คุ้นเคย เราอาจจะไม่กล้าตอบเพราะไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือเปล่า

แต่ที่สำคัญที่สุด และเป็นจุดประสงค์ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำจริง ๆในการสอนมโนมยิทธินั้นก็คือการที่เราสามารถยกจิตขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพานได้นั้นทำให้เราคุ้นเคยกับสภาพจิตที่ปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง ถ้าเราจำอารมณ์นั้นมาแล้วพยายามประคับประคองรักษาเอาไว้ จิตใจเราก็จะผ่องใสมาก

ยิ่งสามารถเอาจิตเกาะพระนิพพานได้นานเท่าไรจิตของเราก็จะผ่องใสได้นานเท่านั้น เมื่อสภาพจิตคุ้นชินกับการปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง ไปนาน ๆในที่สุดกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ไม่สามารถที่จะงอกงามต่อไปได้ ก็จะเหี่ยวเฉา หมดสภาพตายไปเอง ทำให้เราสามารถบรรลุถึงพระนิพพานได้อย่างแท้จริง บาลีเรียกว่า เจโตวิมุตติ เป็นการหลุดพ้นด้วยการใช้กำลังใจในการกดกิเลสเอาไว้จนกิเลสหมดสภาพ ดับสิ้นไปเอง

เมื่อเห็นประโยชน์ชัดเจนแล้วก็ขอให้ทุกคนตั้งใจฝึกฝน โดยการวางกำลังใจไว้ว่า วันนี้เราจะฝึกมโนมยิทธิ ครูฝึกว่าอย่างไรเราจะปฏิบัติตามจะได้ผลหรือไม่ก็ไม่เป็นไร ขอให้เราได้ฝึกก็แล้วกัน ถ้าทำใจอย่างนี้ได้การฝึกก็จะมีผลกับทุกท่านอย่างแน่นอน
ท้ายนี้ขอบารมีคุณพระศรีรัตนตรัยและครูบาอาจารย์ทุกท่าน อำนวยพรให้ท่านทั้งหลาย สามารถฝึกมโนมยิทธิได้คล่องตัวสามารถรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ถ้วนทั่วทุกตัวคนด้วยเทอญ...จากนี้ไปขอให้ทุกท่านเตรียมสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานจ้ะ




 

Create Date : 03 มีนาคม 2557
0 comments
Last Update : 3 มีนาคม 2557 22:43:11 น.
Counter : 848 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


nuyect
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




WELLCOME TO PEENUY BLOG

bigoo.ws
ตั้งเว็บนี้เป็นหน้าแรก
บล๊อกพี่หนุ่ย ... ยินดีต้อนรับทุกท่าน..และขอบคุณที่มาเยี่ยมครับ ..
Group Blog
 
 
มีนาคม 2557
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
3 มีนาคม 2557
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add nuyect's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.