Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2549
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
การค้าต่างตอบแทนกับการเมืองแบบการตลาด

มองมุมใหม่ : การค้าต่างตอบแทนกับการเมืองแบบการตลาด

8 ธันวาคม 2548 14:11 น.


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มาตรการทางการค้าประการหนึ่งที่รัฐบาลนี้นำมาใช้โฆษณาเป็นผลงานครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ประสบความสำเร็จอย่างสูงและมีคุณประโยชน์อนันต์คือ การค้าต่างตอบแทน ซึ่งหมายความว่า หากหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศ จะต้องทำสัญญากับคู่สัญญาในต่างประเทศให้ซื้อสินค้าจากประเทศไทยเป็นการตอบแทนในจำนวนที่กำหนด

โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มีนาคม 2541 ระบุให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศของราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่าตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจัดซื้อโดยมีเงื่อนไขการค้าต่างตอบแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสินค้าบริการต่างประเทศ ยกเว้นโครงการที่ใช้เงินกู้และเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์กรรัฐบาลต่างประเทศที่ให้กู้โดยมีเงื่อนไขผ่อนปรน

หน่วยราชการที่เป็นผู้ประสานงานคือ กรมการค้าต่างประเทศ มีข้อกำหนดรายการสินค้าที่ต้องใช้ในการค้าต่างตอบแทนไว้ 14 กลุ่ม รวมสินค้า 41 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป

ข้ออ้างของรัฐบาลคือ การค้าต่างตอบแทนช่วยลดการขาดดุลการค้า และแก้ปัญหาผลผลิตเกษตรล้นเกินในประเทศ ซึ่งฟังดูก็น่าจะจริง เพราะแทนที่จะต้องจ่ายเงินดอลลาร์ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ก็เอาสินค้าเกษตรไปแลกมา ใช้เงินน้อยลง ขายสินค้าเกษตรไปต่างประเทศได้มากขึ้น ราคาในประเทศสูงขึ้น เกษตรกรย่อมได้ประโยชน์

การค้าต่างตอบแทนมีมานานแล้วตั้งแต่ปี 2524 แต่ในเวลานั้น ยังมีไม่บ่อยครั้ง แต่ละปีมีมูลค่ารวมไม่กี่พันล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อพรรคไทยรักไทยขึ้นเป็นรัฐบาลปี 2544 การค้าต่างตอบแทนได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาผลงานที่สำคัญของรัฐบาล ดังจะเห็นได้ว่า จำนวนสัญญาได้เพิ่มขึ้นมากจาก 24 สัญญา วงเงิน 2,600 พันล้านบาทในปี 2544 เป็น 51 สัญญา วงเงิน 21,300 ล้านบาทในปี 2547 แต่ถ้าพิจารณาดูข้อมูลจริง ก็จะพบว่า ข้ออ้างเรื่องช่วยแก้ดุลการค้าและช่วยเกษตรกรนั้น น่าสงสัย

ประการแรก ถึงแม้มูลค่าการค้าต่างตอบแทนจะเพิ่มขึ้นมากในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนน้อยนิดในการส่งออกรวมของไทย เช่น ปี 2547 การค้าต่างตอบแทนมีมูลค่า 21,300 ล้านบาท แต่ก็เป็นเพียงร้อยละ 0.6 ของการส่งออกทั้งหมด การค้าต่างตอบแทนจึงไม่มีผลแต่อย่างใดต่อดุลการค้าของประเทศ

ประการที่สอง แม้รายการสินค้าที่กำหนดมี 14 กลุ่ม รวมสินค้า 41 รายการ แต่ในการค้าต่างตอบแทนจริงส่วนใหญ่กลับเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญเพียงไม่กี่รายการ เช่น ปี 2544 เป็นไก่แช่แข็ง อาหารแช่แข็ง และมันสำปะหลัง ปี 2545 เป็นไก่แช่แข็ง น้ำตาล กุ้งแช่แข็ง ปี 2547 เป็นข้าวหอมมะลิ แป้งมันสำปะหลัง กุ้งแช่แข็ง เป็นต้น สินค้าอื่นมีมูลค่าน้อยมาก เช่น เหล็ก ยางพารา

ข้อสังเกตคือ สินค้าเกษตรต่างตอบแทน เช่น ไก่แช่แข็ง มันสำปะหลัง กุ้งแช่แข็ง ข้าวหอมมะลิ เหล่านี้ล้วนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยอยู่แล้ว มีตลาดในต่างประเทศที่เข้มแข็งยาวนาน ขายได้ดีมาตลอด ไม่มีปัญหาส่งออก และไม่มีปัญหาล้นเกินในประเทศ การค้าต่างตอบแทนจึงเพียงแต่บิดเบือนรูปแบบการค้าจากการที่ลูกค้าต่างประเทศซื้อสินค้าเหล่านี้จากประเทศไทยในตลาดเปิด เปลี่ยนมาซื้อผ่านการค้าต่างตอบแทนกับหน่วยงานรัฐของไทยเท่านั้น จึงมิได้เป็นการขยายตลาดและมูลค่าการค้าสินค้าเหล่านี้ และก็ไม่ได้สร้างประโยชน์เพิ่มให้กับเกษตรกร

ประการที่สาม การค้าต่างตอบแทนที่หน่วยงานราชการเป็นตัวกลางนั้น กระทำผ่านบริษัทตัวแทน ซึ่งมีรายชื่อทางการอยู่ทั้งหมด 17 บริษัท กระจายในหลายธุรกิจ ทั้งสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป วัสดุก่อสร้าง เคมี เหล็ก เป็นต้น แต่เนื่องจากสัญญาการค้าต่างตอบแทนมูลค่าสูงที่ผ่านมาวนเวียนอยู่กับสินค้าเกษตรแปรรูปเพียงไม่กี่รายการ ได้แก่ ไก่แช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง อาหารแช่แข็ง ข้าว ทำให้ในทางเป็นจริง มีบริษัทตัวแทนเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่ได้ประโยชน์จากการค้าวิธีนี้

และหากเราตรวจดูรายชื่อบริษัทตัวแทนเหล่านี้ก็จะพบว่า ล้วนเกี่ยวพันกับกลุ่มธุรกิจเกษตรแปรรูปยักษ์ใหญ่และมีอิทธิพลทางการเมืองของไทยทั้งสิ้น

ล่าสุด ผู้นำรัฐบาลภาคภูมิใจกับการค้าต่างตอบแทนมากถึงกับคุยว่า โครงการรถไฟฟ้ามูลค่าหลายแสนล้านบาทก็จะใช้วิธีการเดียวกัน เช่น เอายางพาราไปแลกรถไฟ ด้วยการเร่งปลูกยางพาราอย่างขนานใหญ่ตั้งแต่วันนี้ ครบ 5 ปี พอดีโครงการรถไฟเสร็จสิ้น ก็เริ่มกรีดยางไปแลกมา เมื่อหมดโครงการแล้ว ยังกรีดยางขายต่อไปได้ ครบ 20 ปีก็เอาไม้ทำเฟอร์นิเจอร์

สำหรับการเมืองแบบการตลาดแล้ว ฟังดูช่างวิเศษอัศจรรย์ เหมือนเป่าเสกโครงการรถไฟมาได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินจริง เพียงเร่งปลูกยางมากๆ เข้าไว้ แล้วเอาผลผลิตไปแลก ที่ยิ่งวิเศษคือ ท้ายสุด ยังมีไม้ยางเหลือไปหาประโยชน์ได้ทอดหนึ่ง!

แต่เศรษฐศาสตร์สอนว่า ไม่มีอะไรง่ายๆ ฟรีๆ และบางทีสิ่งที่เราจ่ายไปอาจแพงกว่าที่คิด พื้นที่เพาะปลูกของประเทศไทยมีจำกัด การขยายพื้นที่ปลูกต้นยางอย่างขนานใหญ่ต้องไปแย่งพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งให้ผลผลิตเพื่อส่งออกและอาจได้ราคาดีกว่าปลูกยางเสียอีก ต้นยางเมื่ออายุ 5 ปี เริ่มกรีดยางได้ก็จริง แต่ผลผลิตยังไม่สูง ต้องกรีดไปอีกระยะหนึ่งกว่าจะได้ผลผลิตสูงสุด อายุการกรีดยางยาวนานถึง 20 ปี เกิดปัญหาผลผลิตล้นเกินได้ง่าย

ถ้าราคายางตกต่ำ คนที่เดือดร้อนคือชาวสวนยางที่หลงเชื่อรัฐบาล ส่วนตลาดเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางก็ยังแคบมาก ถ้าดื้อดึงขยายพื้นที่ปลูกเพียงเพื่อเอายางไปแลกรถไฟในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็จะเกิดความเสียหายอย่างมากในระยะยาวต่อเกษตรกร ภาคเกษตรและเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ข้อแนะนำคือ ผู้นำรัฐบาลควรเลิกดูถูกนักวิชาการ ดูถูกนักเศรษฐศาสตร์ ลดเลิกคุยถึง "ทฤษฎีใหม่" ของตน ซึ่งเป็นเพียงการเมืองแบบการตลาดที่ผิวเผินและแยกส่วน

ควรตระหนักว่า ทรัพยากรของประเทศมีจำกัด หันมาดูเนื้อหาเชิงลึกของมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลเสียบ้างว่า มีผลกระทบระยะยาว ประโยชน์และต้นทุนทางเศรษฐกิจที่แท้จริงอย่างไร คุ้มกันหรือไม่ บนพื้นฐานของภาพรวมการใช้ทรัพยากรในสาขาเศรษฐกิจต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ



Create Date : 04 สิงหาคม 2549
Last Update : 4 สิงหาคม 2549 19:51:22 น. 0 comments
Counter : 879 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

eaglenews
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






[ ลงสมุดเยี่ยม ]
eaglenews's blog

" ข่าวเด่นวันนี้ "


"แจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม"


Friends' blogs
[Add eaglenews's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.