Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2549
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
โลกาภิวัตน์กับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม

มองมุมใหม่ : โลกาภิวัตน์กับมาตรฐาน แรงงานและสิ่งแวดล้อม

27 ตุลาคม 2548 09:15 น.


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามชาติในโลกปัจจุบันได้ถูกโจมตีอย่างหนักจากกลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์ ด้วยข้อหาประการหนึ่งว่า การลงทุนข้ามชาติได้ลดทอนอำนาจและทางเลือกเชิงนโยบายของรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาลงอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนคนยากจนได้

เพราะหากต้องการดึงดูดเงินทุนให้เข้าประเทศ รัฐบาลก็ต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสังคมที่เอื้อประโยชน์แก่ทุนต่างชาติ แต่เป็นผลร้ายต่อประชาชนส่วนใหญ่ เช่น รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาจำต้องลดมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้ต่ำลง เพื่อดึงดูดบรรษัทข้ามชาติให้เคลื่อนย้ายเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมสูง เข้ามาขูดรีดแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาในราคาถูก ไม่มีต้นทุนสวัสดิการคนงาน ตักตวงประโยชน์จากทรัพยากร ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ตามใจชอบ ทำให้บรรษัทข้ามชาติมีต้นทุนแรงงานและสิ่งแวดล้อมต่ำสุด ได้กำไรสูงสุด

แต่ข้อคัดค้านเหล่านี้ก็เพียงแต่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจของกลุ่มต่อต้านโลกาภิวัตน์ว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและกระบวนการทางธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติมีความสลับซับซ้อนและอาศัยเหตุปัจจัยหลายด้านประกอบกัน

หากบรรษัทข้ามชาติตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุนในโลกโดยดูจากมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศเท่านั้น สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ บรรดาอุตสาหกรรมในประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องพากัน "แห่" เข้ามาลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเต็มไปหมดด้วยมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่า

แต่ข้อเท็จจริงได้ปฏิเสธภาพดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง จากข้อมูลการลงทุนที่หน่วยงานสากล เช่น ธนาคารโลก และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) รวบรวมไว้ล้วนแสดงภาพเดียวกันคือ การลงทุนระหว่างประเทศกว่าร้อยละ 80 เป็นการลงทุนข้ามชาติภายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันเอง เช่น อเมริกาไปลงทุนในยุโรป ญี่ปุ่นไปลงทุนในสหรัฐอเมริกาและยุโรป หรือยุโรปไปลงทุนในสหรัฐ เป็นต้น มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 ที่เป็นการลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศกำลังพัฒนา

ยิ่งกว่านั้นคือ ประเทศกำลังพัฒนา 49 ประเทศที่มีมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุดในโลก กลับได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศน้อยนิดเพียงร้อยละ 0.3 ของเงินทุนระหว่างประเทศทั้งหมด

อาจมีข้อแย้งว่า แม้เงินทุนข้ามชาติที่มาลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาจะมีสัดส่วนน้อย แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและขูดรีดแรงงานอย่างหนัก ข้อนี้ก็มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้น ส่วนใหญ่ให้ภาพคล้ายกันคือ อุตสาหกรรมที่ย้ายจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศกำลังพัฒนามักเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหนาแน่น และบางกรณีก็เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลภาวะจริง ซึ่งสะท้อนว่า อัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าในประเทศกำลังพัฒนาและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นแรงจูงใจประการหนึ่งในอุตสาหกรรมเหล่านี้

แต่การศึกษาก็ให้ภาพอีกด้านหนึ่งคือ เมื่อเปรียบเทียบอุตสาหกรรมข้ามชาติเหล่านี้กับอุตสาหกรรมท้องถิ่น จะพบว่าอุตสาหกรรมข้ามชาติจ่ายค่าจ้างและให้สวัสดิการแรงงานสูงกว่า มีปัญหาขัดแย้งกับแรงงานน้อยกว่าอุตสาหกรรมท้องถิ่น รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นๆ ได้ดีกว่า

เป็นความจริงว่า อุตสาหกรรมข้ามชาติที่ก่อปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมนั้นมีอยู่จริง แต่หากเทียบสัดส่วนกับปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุตสาหกรรมท้องถิ่นแล้ว ก็ยังน้อยกว่ามาก เพราะเหตุใด?

บรรษัทข้ามชาติเป็นองค์กรที่บริหารโดยนักธุรกิจที่ลงทุนไปทั่วโลก เพื่อสร้างกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นและสร้างเงินเดือนโบนัสสูงสุดให้กับตนเอง ถึงกระนั้น การตัดสินใจลงทุนในประเทศใด ก็ไม่ใช่คำนึงแต่ต้นทุนแรงงานและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ของประเทศนั้น

ได้แก่ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ความเข้มแข็งของกฎหมายคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในทรัพย์สินและดอกผลการลงทุน ความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเงินทุนและกำไร โครงสร้างภาษี ระบบศุลกากร กฎหมายธุรกิจเฉพาะที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือ คุณภาพของแรงงานที่ต้องการ

การที่บรรษัทข้ามชาติมักจะจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการแรงงานสูงกว่าธุรกิจท้องถิ่น เพราะอุตสาหกรรมที่ย้ายเข้ามานั้นใช้เทคโนโลยีที่ต้องการแรงงานที่มีการศึกษาและทักษะระดับหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างสูงสำหรับมาตรฐานท้องถิ่น บรรษัทข้ามชาติจึงต้องจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการสูงกว่าท้องถิ่นเพื่อดึงดูดแรงงานกลุ่มที่ต้องการ

ในส่วนของสิ่งแวดล้อมนั้น บรรษัทข้ามชาติก็มักจะมีทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีที่ดีกว่าในการปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายในท้องถิ่น ฉะนั้น หากเจ้าหน้าที่รัฐมีกำลังพอและไม่ละเลยฉ้อฉลแล้ว ทั้งธุรกิจข้ามชาติและธุรกิจท้องถิ่นล้วนต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศนั้นโดยเคร่งครัดเหมือนกันหมด

ในหลายกรณี บรรษัทข้ามชาติกลับปฏิบัติตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่ากฎหมายท้องถิ่นเสียอีก เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีผลบังคับใช้กับบริษัทของตนที่ไปลงทุนในต่างประเทศด้วย เช่น บริษัทเหมืองทองแห่งหนึ่งของออสเตรเลียถูกสั่งปรับเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ในศาลออสเตรเลีย เพราะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียในการทำเหมืองในปาปัวนิวกินี เป็นต้น

ฉะนั้น ประเด็นสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา จึงไม่ใช่การดึงดูดเงินทุนด้วยการลดมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมดังที่บางคนเข้าใจผิด

หากแต่เป็นตรงข้าม คือ ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ ทักษะ และการศึกษาของแรงงาน ยกมาตรฐานคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้สูงขึ้นตามระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจสังคม เสริมสร้างหน่วยงานรัฐและเอกชนด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและทั่วถึง ประกอบกับการปฏิรูปกฎหมาย ภาษี กฎเกณฑ์และการเมืองให้ทันสมัย โปร่งใส ประกอบกันเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเอื้อแก่การประกอบธุรกิจทั้งโดยทุนท้องถิ่นและทุนข้ามชาติ



Create Date : 04 สิงหาคม 2549
Last Update : 4 สิงหาคม 2549 19:32:43 น. 0 comments
Counter : 657 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

eaglenews
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






[ ลงสมุดเยี่ยม ]
eaglenews's blog

" ข่าวเด่นวันนี้ "


"แจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม"


Friends' blogs
[Add eaglenews's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.