Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ไม่คืบหน้า

มองมุมใหม่ : การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ไม่คืบหน้า

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2548


รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การเจรจาอย่างเป็นทางการ เพื่อทำความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทย-สหรัฐ ที่พัทยาในต้นเดือน เม.ย.นี้ นับเป็นรอบที่ 3 หลังจากหยุดชะงักไปเป็นเวลา 6 เดือน เนื่องจากทั้งสหรัฐ และไทยมีการเลือกตั้งผลัดเปลี่ยนรัฐบาล

แต่คาดว่า การเจรจารอบนี้คงจะไม่มีอะไรคืบหน้าไปกว่าการเจรจาอย่างเป็นทางการรอบที่แล้ว เนื่องจากจุดยืนเริ่มต้นของทั้งสองฝ่ายที่แตกต่างกันมาก

ฝ่ายไทยยังคงไม่ยอมเจรจาในหัวข้อแรงงาน และสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐจะต้องเจรจาให้ได้ เพราะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายเอฟทีเอที่ผ่านรัฐสภาของสหรัฐ

การที่คณะผู้แทนฝ่ายไทยไม่ยอมเจรจาเรื่องแรงงาน และสิ่งแวดล้อม ก็เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะไม่เอาการค้ามาผูกโยงกับประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อม สาเหตุเพราะทั้งรัฐบาลไทย และสาธารณชนยังไม่เข้าใจจุดประสงค์ และรายละเอียดของข้อบท ว่าด้วยแรงงาน และสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ และมองว่า สหรัฐจะเข้ามาบังคับให้ฝ่ายไทยแก้ไขกฎหมายแรงงาน และสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานของสหรัฐ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งออกสินค้าไปขายในสหรัฐได้น้อยลง

ความจริง ข้อบทว่าด้วยแรงงาน และสิ่งแวดล้อมที่ฝ่ายสหรัฐเสนอนั้น ยอมรับมาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน และไม่ได้กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายแรงงาน และสิ่งแวดล้อมของประเทศภาคีแต่อย่างใด

จุดประสงค์หลักของข้อบทนี้คือ สหรัฐเรียกร้องให้ประเทศภาคีต้องมีการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้วอย่างจริงจังมีประสิทธิภาพเท่านั้น และต้องไม่จงใจละเลยการบังคับใช้กฎหมายของตัวเอง เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วผลิตสินค้าไปขายในสหรัฐ

ปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีกฎหมายแรงงาน และสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยพอสมควรเข้าหลักเกณฑ์ของสหรัฐอยู่แล้ว แต่ยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ฉะนั้น ผู้นำรัฐบาลควรจะมีท่าทียืดหยุ่นให้คณะผู้แทนไทยได้เปิดการเจรจาในหัวข้อแรงงานและสิ่งแวดล้อมกับฝ่ายสหรัฐ โดยมีจุดประสงค์ที่จะปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายไทยให้เข้มงวดจริงจัง และมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งฝ่ายสหรัฐก็มีนโยบายสนับสนุนประเทศภาคีอยู่แล้ว ด้วยการผนวกความตกลงร่วมมือด้านแรงงาน และสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเอฟทีเอ โดยจะร่วมมือกับประเทศภาคีในด้านความรู้ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อบริการทางการเงิน ซึ่งฝ่ายสหรัฐต้องการให้ประเทศไทยเปิดเสรีทางการเงินอย่างเต็มที่ แต่ผู้แทนฝ่ายไทยอันประกอบด้วยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ยอมเจรจาและใช้วิธีเตะถ่วงมาตลอด โดยอ้างเสถียรภาพของระบบการเงินไทย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย หวงอำนาจของตนในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

การเปิดเสรีทางการเงินภายใต้เอฟทีเอ ถ้ากระทำอย่างถูกต้องก็จะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ฉะนั้น แนวทางการเจรจาที่ถูกต้องของไทยคือ จะเปิดเสรีระบบการเงินไทยอย่างเป็นขั้นตอนอย่างไร ไม่ใช่ยืนกรานไม่เจรจา และไม่เปิดเสรี แล้วปล่อยให้ระบบการเงินไทยอยู่ในสภาพที่ล้าสมัย ไม่มีประสิทธิภาพ และยังมีการรวมหัวกันผูกขาดดังเช่นปัจจุบันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

แต่ความดื้อดึงหวงอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ อุปสรรคสำคัญ ฉะนั้นผู้นำรัฐบาลก็ควรจะแสดงท่าทีที่ชัดเจนให้มีการเจรจาในหัวข้อนี้

แต่หัวข้อเจรจาที่ยุ่งยากที่สุดคือ ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งข้อเรียกร้องของฝ่ายสหรัฐมีลักษณะครอบคลุมกว้างขวางมาก และหากฝ่ายไทยยอมรับ ก็จะต้องแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทยทั้งระบบ และจะส่งผลกระทบตั้งแต่ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ สื่อบันเทิงดิจิทัล (ภาพยนตร์ ดนตรี) ไปจนถึงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และยารักษาโรค

แรงต่อต้านในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากความเข้าใจผิด ทั้งในรัฐบาล และสาธารณชน โดยเห็นว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายให้เข้มงวดขึ้น สินค้าทรัพย์สินทางปัญญาก็จะมีราคาแพงขึ้น และประเทศไทยจะเสียประโยชน์แต่ถ่ายเดียว เพราะประเทศไทยยังเป็นเพียงผู้ซื้อผู้ใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์คิดค้น

แต่ประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกับการเปิดเสรีทางการเงินคือ จะมีต้นทุนการปรับตัวในระยะสั้น แต่มีผลดีมากในระยะยาว เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยก็มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบการศึกษาและการวิจัยค้นคว้าให้สามารถคิดค้นเทคโนโลยีของตนขึ้นมาได้ ซึ่งนอกจากจะต้องเร่งผลิตนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และบุคลากรแพทย์ที่มีคุณภาพสูงแล้ว ยังต้องยกระดับการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้าสู่มาตรฐานสากลอีกด้วย

ระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ดี และมีการเชื่อมต่อกับระบบของสากลจะช่วยให้บุคลากรไทยสามารถเข้าถึงเนื้อในของเทคโนโลยีต่างประเทศ เรียนรู้ให้เข้าใจ แล้วต่อยอดด้วยการปรับปรุงให้ดีขึ้นจนสามารถจดลิขสิทธิ์เป็นของคนไทยเองได้ในที่สุด และนี่ก็เป็นวิธีการที่ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวันกระทำสำเร็จมาแล้ว คือ ยอมซื้อลิขสิทธิ์ของชาติตะวันตกเอามาศึกษาเพื่อต่อยอดเป็นของตนเอง

ไทยจึงควรยอมเจรจาหัวข้อทรัพย์สินทางปัญญา เพียงแต่จะต้องระวังในการต่อรองเรื่องขั้นตอนวิธีการขยายขอบเขตการคุ้มครอง การเพิ่มระดับความเข้มงวดในการคุ้มครอง และตารางเวลาในการดำเนินการให้นานพอที่ระบบการค้นคว้าวิจัยของไทยจะปรับตัวได้อย่างราบรื่น

ตราบใดที่ผู้นำรัฐบาลยังไม่แสดงจุดยืนที่ชัดเจน และยืดหยุ่นมากขึ้นในประเด็นแรงงาน สิ่งแวดล้อม บริการทางการเงิน และทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ก็ป่วยการที่จะเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐ และป่วยการที่จะพูดถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม และระบบการเรียนรู้ของประเทศไทยให้ทันสมัยทัดเทียมสากล



Create Date : 31 กรกฎาคม 2549
Last Update : 31 กรกฎาคม 2549 22:28:33 น. 0 comments
Counter : 223 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

eaglenews
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






[ ลงสมุดเยี่ยม ]
eaglenews's blog

" ข่าวเด่นวันนี้ "


"แจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม"


Friends' blogs
[Add eaglenews's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.