กันยายน 2562

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
พระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง

พระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง

พระมหามณเฑียร เป็นหมู่พระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2325 เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับและใช้ในพระราชพิธีปราบดาภิเษก

แรกเริ่มเดิมทีเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน 3 องค์ ชื่อว่า พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

เป็นสถาปัตยกรรมไทย ก่ออิฐถือปูน สร้างเป็น 3 องค์แฝด ภายนอกเป็นระเบียงรายล้อมด้วยเสานางจรัลอยู่ทุกด้าน เป็นพระวิมานที่บรรทมตลอดรัชกาลที่ 1

ต่อมารัชกาลที่ 3 พระราชทานนามเป็น พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งต่อกับท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทางทิศเหนือ ทรงใช้เป็นที่ประทับทรงพระสำราญหรือให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และใช้ในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกในทุกรัชกาล

พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานของปูชนียวัตถุสำคัญ 3 อย่าง คือ

1. พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานอยู่ในพระวิมานตอนกลางองค์พระที่นั่ง ตรงพระทวารเทวราชมเหศวร 2. พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงประทับรับน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่เกือบสุดองค์พระที่นั่ง ด้านทิศตะวันออก 3. พระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นที่ประทับรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชูปโภคอันเป็นโบราณมงคล รับพระแสงราชศัสตราวุธ และพระแสงอัษฎาวุธในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่ตอนหน้าสุดองค์พระที่นั่ง ด้านทิศตะวันตก

 

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน อยู่ติดกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทางทิศเหนือ เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกว่าราชการฝ่ายหน้า หรือประกอบพระราชพิธีการกุศล มีพระราชบัลลังก์ตั้งอยู่ 2 องค์ คือ

1.พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน เป็นบุษบกประกอบท้ายเกรินทั้ง 2 ข้าง ที่ท้ายเกรินปักฉัตรลายทอง 7 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นประทับ ในวโรกาสเสด็จออกฝ่ายหน้าในงานมหาสมาคม หรือประดิษฐานปูชนียวัตถุในพระราชพิธี ปัจจุบันใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระมหากษัตริย์ อัครมเหสี ในการพระราชพิธีสำคัญ

2. พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ พระราชบัลลังก์ทองภายใต้พระนพปฏลมหาเศวตฉัตร พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์นี้ เพื่อเสด็จออกมหาสมาคมครั้งแรกในรัชกาลของพระองค์ และในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี เพื่อรับการถวายพระพรชัยมงคล

 

พระมหามณเฑียรได้ใช้ในพระราชพิธีมณฑลสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีสำคัญอื่น ๆ ในพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรีสืบเนื่องกันมา

พระมหามณเฑียรเป็นพระที่นั่งขนาดใหญ่ สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวัง หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างเป็นแนวตรง และแนวขวางต่อเนื่องกัน โดยมีมุขแล่นถึงกันโดยตลอด ประกอบด้วย หมู่พระวิมานที่บรรทมและท้องพระโรงสำหรับเสด็จออก มีท้องพระโรงหลัง พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา

หมู่พระมหามณเฑียรนี้สร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ ตั้งอยู่ต่อเนื่องในเขตพระราชฐานชั้นในและชั้นกลาง

 

เรือนพระปรัศว์ซ้ายและขวาที่ต่อกับท้องพระโรงหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ใช้เป็นที่ประทับของฝ่ายใน รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า พระที่นั่งเทพยสถานพิลาศ และพระที่นั่งเทพอาสน์พิไล

ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งเป็นสถาปัตยกรรมไทยเลียนแบบพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ยกพื้นสูงกว่า 50 เซนติเมตร หลังคามุงกระเบื้องไม่เคลือบสี พระทวารและพระบัญชรไม่มีซุ้มเรือนแก้ว พระปรัศว์ทั้งสองมีกำแพงแก้วล้อมรอบ กำแพงด้านนอกมีหอน้อยเป็นศาลาเล็ก ๆ

วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ประสูติ ณ พระที่นั่งเทพยสถานพิลาศแห่งนี้ ซึ่งนับเป็นพระหน่อพระองค์แรกและเป็นเพียงพระองค์เดียวที่ประสูติในหมู่พระมหามณเฑียร

 

พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงพระคชาธารหรือทรงพระราชยาน เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา นอกจากนี้ ยังใช้เป็นพิธีมณฑลในการพระราชพิธีต่าง ๆ ในบางโอกาสด้วย

พระที่นั่งราชฤดี เป็นพระที่นั่งทรงไทยแบบพลับพลาตรีมุข ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้งปิดทอง หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี หน้าบันเป็นไม้จำหลักลายรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ มีกระหนกก้านขดหัวนาคเป็นลายประกอบบนพื้นกระจกสี มีชานยื่นเลยจากองค์พระที่นั่งสองด้าน ด้านเหนือทำพิธีสังเวยเทพยดา ด้านทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งแท่นสรงพระมูรธาภิเษกสนาน

พระที่นั่งสนามจันทร์ ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ด้านหลังเป็นหอพระธาตุมณเฑียร รัชกาลที่ 2 สร้างเป็นที่ประทับสำราญพระอริยาบถ ทรงงานช่างตามที่โปรดปรานเป็นนิจ

หอพระสุราลัยพิมาน ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตองค์น้อย พระชัยเนาวโลหะ พระชัยวัฒนประจำรัชกาล และพระพุทธปฏิมากรสำคัญอื่น ๆ

หอพระธาตุมณเฑียร ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ก่อสร้างและตกแต่งเหมือนกับหอพระสุราลัยพิมานทุกประการ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1, 2, 3

ระหว่างหอพระธาตุมณเฑียรกับองค์พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีมุขกระสันต่อเนื่องกัน ผนังด้านเหนือเจาะเป็นช่องพระบัญชรเปิดออกสู่ลานข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้านทิศตะวันตก เรียกว่า "สีหบัญชร" ใช้เป็นที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกให้เข้าเฝ้าเป็นการฉุกเฉินในเวลาวิกาล และใช้ตั้งเครื่องนมัสการ สำหรับถวายบังคมพระบรมอัฐิในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

หอศาสตราคม หรือ หอพระปริตร เพื่อให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกาย ทำพิธีสวดพระพุทธมนต์สัตปริตรคาถาเสกน้ำพระพุทธมนต์ สำหรับสรงพระพักตร์ และ น้ำสรง น้ำประพรมรอบพระมหามณเฑียร

เมื่อมีการศึกสงครามได้ประกอบพิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เพื่อมอบเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหารในการรบ ด้วยเหตุนี้จึงเขียนลายเครื่องอาวุธโบราณไว้ที่บานประตูหน้าต่างทุกบาน

เก๋งนารายณ์ รัชกาลที่ 2 ใช้สำหรับเป็นที่ทรงงานศิลปกรรม เป็นอาคารโถงขนาดเล็ก ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปแบบสถาปัตยกรรมจีน มีฝาสามด้าน ด้านหลังเป็นด้านประธาน มีแท่นก่ออิฐฉาบปูน ภายในประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่ทับทิม และบริวารหมู่พระที่นั่ง

หอพระสุลาลัยพิมานใช้ประดิษฐานวัตถุมงคล พระพุทธรูป เพื่อสักการบูชา ตั้งอยู่ใกล้ที่ประทับจะได้สะดวกต่อการมาเคารพบูชา

พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์เป็นพลับพลาเปลื้องเครื่องใช้ในการเสด็จขบวนแห่ มีเกยช้างสำหรับเทียบช้างต้นและสำหรับประทับพระราชยาน และเคยใช้เป็นที่พระสงฆ์ทำน้ำพระมุรธาภิเษก

 

วันนั้นกับวันนี้แตกต่างกัน ช่วงแรกพระราชมณเฑียรสร้างด้วยเครื่องไม้ มีเสาระเนียดรายรอบพระราชวัง ภายหลังจึงก่อกำแพงอิฐ และสร้างประตูรายรอบ

เมื่อแรกสร้างมีพระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถาน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเนื้อที่ 132 ไร่ แบบแผนการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังเก่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ไว้ในบริเวณพระราชวัง เพื่อประดิษฐานพระคู่บ้านคู่เมือง

พระสยามเทวาธิราช เทวรูปยืนหน้าซุ้มไม้จันทน์ สลักลวดลายเป็นหงส์และมังกร ประดิษฐานในพระวิมานไม้และแกะสลักปิดทอง พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระในท่าประทานพร ขนาดสูง 8 นิ้ว ทรงเครื่องต้นจากทองคำแท้ ประดิษฐานที่พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระมหามณเฑียร ด้วยความเชื่อของรัชกาลที่ 4 ว่ามีเทวดาที่คอยปกปักรักษาแผ่นดินไทย

รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้า ฯ อัญเชิญพระสยามเทวาธิราช พระเทพารักษบดี ผู้เป็นประมุขแห่งเทพารักษ์ มีเทพบริวารที่สำคัญได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมืองไปประดิษฐานที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระวิมานทองสามมุขซึ่งทำเป็นลับแลกั้นบังพระทวารเทวราชมเหศวรที่จะไปยังพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย




Create Date : 24 กันยายน 2562
Last Update : 24 กันยายน 2562 14:09:16 น.
Counter : 688 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 4665919
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ดร.พรรณี เกษกมล นักเขียน ข้าราชการบำนาญ ครูซี 9 แนะแนว
New Comments