Group Blog
 
 
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
20 กันยายน 2553
 
All Blogs
 
อารมณ์สุดท้ายของหลวงพ่อฤษี...ก่อนท่านมรณะภาพเพียง 2 วัน

อารมณ์สุดท้ายของหลวงพ่อฤษี...ก่อนท่านมรณะภาพเพียง 2 วัน

//www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1027
ธรรมะข้อเดียว
________________________________________
ถาม : ลูกหลานอยู่ไกลขอธรรมะ ?
ตอบ : ให้ข้อเดียวจ้ะ ว่า
ให้ตั้งหน้าทำความดีอย่าประมาท พอแล้ว ไม่ต้องเอาอะไรมากมาย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์อยู่หัวข้อเดียวเท่านั้นน่ะ (หัวเราะ) ไปเปิดตำราอ่านได้ ทั้งหมดรวม ๆ แล้วมันเหลือนิดเดียว

ศรัทธาหนึ่ง ถ้าไม่ศรัทธานี่มันไม่คิดทำความดีใช่ไหม...

อันที่สองก็สติ สตินี่แก่นธรรมแท้ ๆ เลย ตามล่าหาแก่นธรรมน่ะให้มันไปหาเถอะถ้ามันยังไม่เจอสติ

อันดับสามก็คือ อย่าประมาท สตินี่ควบคุมปัญญา ปัญญาควบคุมสติ แล้ว ๒ อย่างสรุปรวมกันได้ว่าทุกอย่างจงทำโดยไม่ประมาท อย่าคิดว่าเป็นความดีเล็กน้อยแล้วไม่ทำ แล้วขณะเดียวกันก็ประมาทว่าเป็นความชั่วเล็กน้อยแล้วไปทำ

ความชั่วแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลให้เกิดทุกข์เกิดโทษ ขณะเดียวกันความดีแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถส่งให้เราไปสู่สุคติได้
จริง ๆ แล้วเหลืออยู่นิดเดียว

สิ่งที่ทำตอนแรก ๆ มันเหมือนกับเหวี่ยงแหทีหนึ่งเอาปลาทั้งทะเล แต่พอทำไปทำมามันจะรวบ ๆ เข้า จนในที่สุดเหลืออยู่นิดเดียวบอกว่า
กายนี้ไม่ใช่ของเรา


.....หลวงพ่อท่านบอกอารมณ์สุดท้ายของท่านก่อนมรณภาพเพียง ๒ วัน บังเอิญว่าอยู่ใกล้ก็เลยได้ยิน

ท่านบอกว่าไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก เอากำลังใจเกาะนิพพานไว้ที่เดียว ทำอะไร ๆ ก็ไม่ต้องไปใส่ใจมันมากมาย เอากำลังใจเกาะนิพพานไว้ที่เดียว อะไรเกิดขึ้นกับเราก็ช่างมัน การเกิดแบบนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก ตายเมื่อไหร่ขอไปนิพพานแห่งเดียว ท่านบอกไว้สั้นแค่นี้เอง
สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๔

กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับที่ 72
//www.grathonbook.net/book/72.html
ถาม :
การที่นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์
หนูคิดเอาเองว่าต้องรบกวนคนที่ได้มโนมยิทธิ พาไปนิพพานเมืองแก้วหรือเปล่าเจ้าคะ ?
ตอบ : ไม่ต้องจ้ะ
ถาม : เพราะปุถุชนอย่างหนู ถ้าพูดถึงนิพพาน หนูก็นึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ?
ตอบ : ไม่จำเป็น
นึกถึงพระพุทธรูปไว้ ว่าคือองค์แทนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านไม่อยู่ที่ไหนหรอก นอกจากพระนิพพาน เราเห็นท่านคืออยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน คิดแค่นี้พอ


ถาม : อย่างวันนี้ที่ผมฝึกนี่ ครูฝึกเขาบอกว่าทั้งหมดตอนนี้ไปอยู่ข้างบน แล้ว อยู่ในแดนพระนิพพาน แสดงว่าจริง ๆ นี่ไปได้จริง ๆ
ตอบ : ถ้าเราคิดถึงตรงไหน จะไปถึงตรงนั้นเลย เพียงแต่ว่าเราเองจะรับรู้ ได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง
บอกแล้วว่าไม่มีอะไรกั้นจิตได้
จิตคิดถึงตรงไหน จะไปถึงตรงนั้นเดี๋ยวนั้นเลย

ขั้นตอนการใช้ร่างกายทำไม่เกี่ยวกับจิตเลย บอกแล้วไม่ต้องเปิดประตู ไม่ต้องลงบันได ไม่ต้องขับรถ ไม่ต้องขึ้นรถอะไร ทั้งนั้น แค่นึกก็ถึงแล้ว

ถาม : แต่ในความรู้สึกสัมผัสของเรา มันไม่ถึง
ตอบ : คราวนี้สำคัญตรงขยันซ้อม ต้องขยันซ้อม ทำบ่อย ๆ ทำทุกวัน ซ้อม ทุกวัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว
ก่อนจะไปทำงานกำหนดใจสบาย ๆ นึก เลย วันนี้เราไปถึงที่ทำงานจะเจอใครก่อน คน ๆ นั้นผู้หญิงหรือผู้ชาย ใส่เสื้อ ผ้าสีอะไร แล้วก็จดไว้ พอถึงเวลาก็ไปดู ถ้าหากผิดก็ไม่ต้องสนใจ แต่ถ้าถูก พยายามนึกให้ได้ว่าเราทำกำลังใจอย่างไร? แล้วก็จำกำลังใจช่วงนั้น แล้ว ใช้ช่วงนั้นบ่อย ๆ จะคล่องตัวมาก อาตมาเองซ้อมบ่อย จะออกบิณฑบาตนึก ก่อนเลย วันนี้ใครจะใส่บาตรก่อน ผู้หญิงหรือผู้ชาย ใส่เสื้อผ้าสีอะไร มากลุ่ม นี้กี่คนอย่างนี้ นี่ขนาดนี้แล้วยังต้องซ้อมอยู่นะ ไม่อย่างนั้นสนิมกิน

ถาม : แก้ทุกข์ได้อย่างไร?
ตอบ : ถ้าเราไปนิพพานได้ ทุกข์ทุกอย่าง จบ! การที่กำลังใจเกาะอยู่บนนิพพาน รัก โลภ โกรธ หลง ทุกอย่างกินใจของเราไม่ได้ ในเมื่อ รัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราไม่ได้ ก็แปลว่าไม่สามารถสร้างทุกข์ให้เราได้อีก มโนมยิทธิคุณค่ามหาศาลที่สุดก็คือ อันดับแรก เรารู้จักนิพพาน อันดับที่สอง เราไปนิพพานได้ อันดับที่สาม เป็นการตัดกิเลสอัตโนมัติ
ถ้าเราซ้อม จนคล่องตัว ชนิดนึกก็ถึงแล้ว
ถ้ารู้สึกว่าจะโกรธ อย่าเพิ่งให้โกรธขึ้นมา รีบพุ่งกำลังใจไปกราบพระบนนิพพาน

ถ้ารู้สึกราคะจะเกิด ให้รีบพุ่งกำลังใจ ไปกราบพระบนนิพพาน ถ้าใจเราอยู่ตรงจุดนั้น จะตัดกิเลสอัตโนมัติ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ทุกอย่างเป็นสมบัติของร่างกายนี้ สมบัติชิ้นนี้จะเจริญ เติบโตงอกงามได้ ต้องมีคนเอาไปออกดอกออกผล ก็คือไปช่วยมันคิดช่วยมันปรุง
คราวนี้เราส่งจิตขึ้นข้างบน ไม่มีจิตเป็นตัวคิด ตัวปรุง ตัวแต่ง รัก โลภ โกรธ หลง เจริญงอกงามไม่ได้ จะตั้งได้อยู่พักเดียวแล้วสลายไป ถ้าเราทำอย่างนั้นบ่อย ๆ มันก็จะขาดไปโดยอัตโนมัติ เข้าถึงความเป็น พระอริยเจ้าได้ง่าย ๆ นี่คือคุณประโยชน์มหาศาลที่สุดของมโนมยิทธิ


แต่ปัจจุบันที่เขาไปใช้อยู่ส่วนใหญ่ใช้ผิด ไปดูอดีต ไปดูอนาคต ไประลึกชาติ แล้วแทนที่จะรู้สึกเข็ด
รู้จักเห็นว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ ก็กลับไปนั่งฟื้น ความสัมพันธ์ใหม่ เธอเป็นอย่างนั้นกับฉัน เธอเป็นอย่างนี้กับฉัน แทนที่จะ "ละ"กลับไป"ยึด"ก็ยิ่งทุกข์หนักขึ้น ปัจจุบันเขาใช้ผิดกันเยอะ
จำไว้ว่าที่ หลวงพ่อต้องการคือต้องการจุดนี้
อันดับแรก รู้จักพระนิพพาน
อันดับสอง ไปนิพพานได้
อันดับสาม ตัดกิเลสอัตโนมัติได้


ถาม : เป็นสมถะ? ตอบ:เป็นสมถะ ถ้าหากบรรลุ เขาเรียกว่า บรรลุโดยเจโตวิมุติ คือใช้ กำลังใจข่มกิเลสไว้ ไม่ใช่วิปัสสนาที่เป็นปัญญาวิมุติ ใช้ปัญญาคิดจน กระทั่งจิตยอมรับ
ถาม : (ไม่ชัด)
ตอบ :
พยายามบ่อย ๆ ทำให้ต่อเนื่อง ต้องรักษาอารมณ์ให้เป็น ส่วนใหญ่ พวกเราพอนั่งภาวนาอารมณ์ใจทรงตัวเรียบร้อย ลุกขึ้นก็เลิกเลย เลิกไม่ได้ ลุกขึ้นต้องรักษาอารมณ์นั้น ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ โดยเฉพาะอารมณ์ที่เกาะนิพพาน

อารมณ์ที่ชินกับการว่างกิเลส แรก ๆ ก็อยู่ได้แป๊บหนึ่ง ก็พังไป
พยายามบังคับจิตของเราให้นิ่งอยู่อย่างนั้น
แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งซัก ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์เกาะพระนิพพานไว้เสมอ
อีก ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ของเรา เราก็ประกอบหน้าที่การงานของเราไป
พอสภาพจิตของเราเกาะอยู่ข้างบนตลอด ก็จะสุขจะเย็นอยู่ตลอด

ในเมื่อ สุขเย็นอยู่ตลอด นานไป ๆ กิเลสงอกงามไม่ได้นี่ เพราะกำลังของฌานกดอยู่ งอกงามไม่ได้ก็เหี่ยวไปเรื่อย เฉาไปเรื่อย จนหมดสภาพก็ตายไปเอง
ถาม : ถ้าทรงได้อยู่เรื่อย ๆ ทรงได้อยู่บ่อย ๆ จะได้เป็นพระโสดาบัน ไหมครับ?
ตอบ : ดีไม่ดี ก็เป็นพระอรหันต์ไปเลย(หัวเราะ) ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่พระ โสดาบัน บางทีอาจโดดเป็นสกิทาคามีไปเลย จากปุถุชนเป็นอนาคามี หรือ จากปุถุชนเป็นอรหันต์ไปเลยก็มี น้อยคนที่จะไปตามขั้น คราวนี้มาว่าต่อ
การทำจิตให้ต่อเนื่อง คือเราต้องรักษาอารมณ์นั้นให้ได้

พอเริ่มได้น้อย ค่อย ๆ นานขึ้น ๆ เราเคยชินกับการประคับประคองอารมณ์นั้น อยู่ในท่าม กลางกระแสกิเลส

คือต้องชนกับคนนั้น ต้องปะทะสังสรรค์กับคนนี้ เมื่อถึงวาระถึงเวลา เราประคองอารมณ์ของเราให้นิ่งอยู่ได้ ไปเรื่อย ๆ จากชั่วโมงก็จะเป็นวัน จากวันก็จะเป็นอาทิตย์ จากอาทิตย์ก็จะเป็นครึ่งเดือน เป็นเดือน เป็นปีไล่ไปเรื่อย
เพราะจิตเคยชินกับการที่ทรงอารมณ์ในลักษณะนั้นนาน ๆ ไป กิเลสจะหมดเอง

พราะว่ามันโดนทับเอาไว้ตายแหงไปเอง แต่ว่าอย่าเผลอนะ เผลอมันตีกลับเมื่อไหร่ สาหัสเลยล่ะ เหมือนกับหญ้าที่โดนหินทับไว้ จะตายแหล่มิตายแหล่ พอเปิดหินเปิดไม้ขึ้นมาเมื่อไหร่ คราวนี้มันงอกงามใหญ่โตเลย เพราะมันกลัวตัวเองจะตาย เพราะฉะนั้นอย่าเผลอปล่อยให้ขาดช่วง ต้องพยายามรักษาอารมณ์ให้ต่อเนื่องให้ได้

ถาม : ถ้าไม่ต่อเนื่อง ปัญญาจะไม่เกิดเองหรือครับ?
ตอบ : อย่าลืมว่า จุดนี้คือตัวปัญญาเลยแหละ เรารู้อยู่ถ้าปล่อยมันเมื่อไหร่ กิเลสทำอันตรายเราได้ ก็อย่าปล่อยมัน
ใช้กำลังของมันเกาะนิพพานเอาไว้

ตัวรูปราคะ อรูปราคะ ที่เป็นกิเลสใหญ่ คือการติดในรูปและอรูป ไม่มี อะไรที่ติดได้ง่ายกว่าการใช้กำลังของฌานสมาบัติอีกแล้ว เราก็แค่ใช้กำลัง ของฌานสมาบัติจะเป็นรูปฌาน หรืออรูปฌานเกาะนิพพานแทน ถ้าเรา เกาะถูกจุดไม่ถือว่าติด
ถาม : (ไม่ชัด)
ตอบ :
เอาอารมณ์จับอยู่อย่างนั้นตลอด ที่บอกแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง นึกอยู่เสมอนิพพานอยู่แค่นี้ พระพุทธเจ้าอยู่แค่นี้ไม่ได้อยู่ไกลเลย


ถาม : ลมหายใจ?
ตอบ : ลมหายใจ ถ้ารู้อัตโนมัติก็รู้ไป ถ้าไม่รู้ ให้ความรู้สึกอยู่แค่นี้ก็ใช้ได้
แต่ถ้าทำขนาดนั้นได้ ส่วนใหญ่จะรู้ลมอัตโนมัติอยู่แล้ว
ถึงเวลาทำอะไร นึกถึงก่อน พระพุทธเจ้าอยู่นี่ ใสแจ๋วเลย ถ้ามัวเมื่อไหร่ ให้รู้เลยจิตของเรา ตอนนี้ความดีน้อยแล้ว
รีบพยายามตั้งใจ นึกถึงท่านให้ชัดเจนแจ่มใสขึ้นมาใหม่ ชนไปชนมา เหลือพระพุทธรูปดำปี๋เลย เออ...ดำก็ยังดี ยังเหลืออยู่ อย่าให้หายไปก็แล้วกัน

ถาม : (ไม่ชัด)
ตอบ :
พยายามนึกถึงลมหายใจเข้า-ออกใหม่ การนึกถึงลมหายใจเข้า- ออก เป็นการตั้งต้นในลักษณะควบคุมสติสัมปชัญญะของเราให้ทรงตัว พอทรงตัวถึงระดับฌานเมื่อไหร่ จะผ่องใสตามเดิม
เพราะตอนนั้นแสดงว่า เราเผลอหลุด เผลอหลุดปล่อยให้กิเลสกินใจได้
ถาม : อย่างวันนี้ที่ไปฝึก เขาให้นึกถึงพระ แต่ว่านึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก
ตอบ : พระพุทธรูปก็นึกไม่ได้? น่าจะนึกได้
ถาม : ไม่ได้ครับ สว่างไปหมด แล้วก็มองอะไรไม่เห็น
ตอบ : อย่างนั้นไม่ต้อง ถ้าหากว่าสว่างไปหมด มองอะไรไม่เห็น ไม่ต้องไปนึก เรามั่นใจไหมว่าพระพุทธเจ้าอยู่ตรงหน้า ถ้ามั่นใจกราบลงตรงนั้นเลย


ถาม : ถ้าไม่มั่นใจล่ะครับ?
ตอบ : ถ้าหากว่าไม่มั่นใจว่ามี ก็ใช้วิธีหน้าด้าน เรามั่นใจตรงนี้เป็นนิพพาน พระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่ไหนหรอก ต้องอยู่ตรงนี้แน่ ๆ ก็ตั้งใจกราบลงตรงนั้นเลย


//www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=693
มโนมยิทธิหลวงพ่อท่านสอนเราให้รู้เพื่อละ ไม่ใช่รู้แล้วยึด
________________________________________
พระเดชพระคุณหลวงพ่อของเรา สอนมโนมยิทธิมานานเหลือเกิน ถ้านับเวลาก็ตั้งแต่ปี ๒๕๐๘ เป็นต้นมา คนที่ได้มโนมยิทธินับเป็นแสน ๆ มีใครบ้างที่ซักซ้อมอยู่ทุกวันโดยไม่ทอดทิ้ง...หายาก...ใช่ไหม ?

อาวุธแม้เกียจคร้านการขัด เกิดสนิมจับถนัด หนักตื้อ ถึงเวลาชักไม่ออกติดแหง็กอยู่แค่ฝักนั่นแหละ ต้องซ้อมบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลวงพ่อท่านสอนเราให้รู้เพื่อละ ไม่ใช่รู้แล้วยึด

ปัจจุบันนี้อาตมาเวทนาโยมเหลือเกิน หลายต่อหลายคน รู้แล้วนำไปใช้ผิด ๆ ไปดูการระลึกชาติ ไปดูย้อนอดีต แล้วก็ไปภาคภูมิใจว่า คนนั้นเป็นพี่เรา คนนั้นเป็นน้องเรา นั่นผัวเรา เมียเรา ลูกเรา พ่อเรา แม่เรา
แล้วก็กอดกันตายพร้อมกับเรา

ดูก็ดูอย่างมีปัญญาสิ ดูแบบที่เรียกว่าใช้ปัญญาประกอบ แต่ละชาติที่เราเกิดมา มีชาติไหนไม่ทุกข์บ้าง ? ลำบากยากเข็ญมาจนขนาดนี้ไม่เข็ดใช่ไหม ? ยังไปฟื้นความสัมพันธ์ใหม่ ไปกอดคอตายรวมกันทั้งพรวนอีกใช่ไหม ? ยังลงสู่อบายภูมิไม่เพียงพอใช่ไหม ?

อาตมาที่ไม่ยอมสอนเพราะสงสารโยม อยากจะบอกว่า มโนมยิทธิจริง ๆ แล้วง่ายมาก แค่คิดเป็นก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าอาตมาสอนไป อาจจะพาโยมทั้งหลายติดเพิ่มขึ้นอีกเยอะ สงสารก็เลยไม่สอน นั่งอยู่ตรงนี้แค่ว่าใครติดขัดตรงไหนมาสอบถาม อาตมาจะชี้แจงให้
หลวงพ่อท่านให้เรารู้เพื่อละ
ตัวการเข้าสู่มรรคผลนิพพาน จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องได้อภิญญา ไม่จำเป็นต้องได้วิชชาสอง ไม่จำเป็นต้องได้สมาบัติแปด
หากแต่ท่านบอกว่า ให้เคารพพระพุทธเจ้าจริง ๆ เคารพพระธรรมจริง ๆ เคารพพระสงฆ์จริง ๆ
ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ คิดว่าตายเมื่อไรเราจะไปนิพพาน มีข้อไหนที่บอกว่าต้องได้มโนมยิทธิ ? ไม่มี..

กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับปฐมฤกษ์
เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗
________________________________________
หันไปสนุกกับมโนมยิทธิเกือบสามปี คืนหนึ่งที่บ้านสายลม “หลวงพ่อ” เทศน์เหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจว่า “วิชชาสอง...อภิญญาห้า...สมาบัติแปด...กรรมฐาน ๔๐...ต่อให้คล่องแค่ไหน ก็ยังแช่อยู่ในนรกทั้งตัว...!” ตายละวา...ที่ท่านเทศน์มาเราไม่มีซักอย่าง แบบนี้คงมิดหัวไม่ต้องผุดต้องเกิดซะละมั้ง...!? กำลังคิดว่าทำอย่างไรถึงจะพ้นนรกได้ “หลวงพ่อ” ท่านก็เทศน์ต่อว่า

“...บุคคลที่จะพ้นอบายภูมิได้ อย่างน้อยต้องเป็นพระโสดาบัน การจะเป็นพระโสดาบันก็ไม่ยาก ให้ทรงอารมณ์ดังนี้...

๑. เคารพในพระพุทธเจ้า
๒. เคารพในพระธรรม
๓. เคารพในพระสงฆ์
๔. รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์
๕. คิดว่าตายเมื่อไร เราต้องการไปที่เดียวคือนิพพาน

ถ้าอารมณ์เหล่านี้ทรงใจได้แน่นอน ท่านก็เป็นพระโสดาบัน คนที่เป็นพระโสดาบัน อบายภูมิจะปิดสำหรับท่าน...”

(ที่มา อดีตที่ผ่านพ้นตอนที่ ๖๐. คาถาอภิญญา)
__________________

การใช้มโนมยิทธิที่ถูกต้องอย่างที่หลวงพ่อต้องการ คือ ใช้ในการตัดกิเลส
________________________________________
การปฏิบัตินะ อภิญญา แปลว่า รู้ยิ่ง
อภิ-ยิ่งกว่า อัญญา คือ ความรู้ ไม่มีอะไรรู้ยิ่งกว่าการตัดกิเลส อดีต...มีชาติไหนที่เราไม่ทุกข์บ้าง ปัจจุบันนี้เราทุกข์อยู่ อนาคตถ้าเกิดอีกก็ทุกข์อีก เพราะฉะนั้น อตีตังสญาณ ปัจจุบันนังสญาณ อนาคตังสญาณ มันไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทุกชาติที่เกิดมารวยที่สุดก็รวยมาแล้ว จนที่สุดก็จนมาแล้ว มีอำนาจที่สุดก็มีมาแล้ว ด้อยวาสนาที่สุดก็เป็นมาแล้ว มีชาติไหนที่พาให้เราพ้นทุกข์ได้? จุตูปปาตญาณ คนและสัตว์ก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน ถ้าเราทำดีเราได้ดีแน่นอนถ้าเราทำชั่วเราได้ชั่วแน่นอนไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ เจโตปริยญาณ รู้ใจคนอื่น ไอ้นั่นแหละตัวระยำเลย สำหรับคนใช้ผิด

ดูมันต้องดูใจตัวเอง แก้ต้องแก้ที่ตัวเอง ไม่ใช่ไปเที่ยวดูคนอื่น ตำหนิคนอื่น


บางคนมานั่งตรงหน้านี่ อธิษฐานมาตั้งแต่บ้านแล้ว เออ...ถ้าหลวงพี่แน่จริงให้บอกสิว่าผมคิดอะไร ไม่ถีบให้ก็บุญแล้วนะ
อยากจะบอกกับเขาให้ชัด ๆ ว่าใจของกูยังดูไม่ไหวเลย กูจะเสียเวลาไปดูใจมึงทำไม (หัวเราะ) คราวนี้ชัดไหม? ปกติไม่ค่อยพูดนะ แต่บทจะพูดแล้วไม่ค่อยยั้ง

สำคัญที่สุดก็คือดูใจตัวเอง ใจของเรามีความชั่วไหม? ถ้ามีไล่มันออกไประมัดระวังไว้อย่าให้มันเข้ามาอีก
ใจของเรามีความดีอยู่ไหม? ถ้าไม่มีสร้างมันขึ้นมา ถ้ามีอยู่แล้วทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป นี่คือตัวเจโตปริยญาณที่สำคัญที่สุด


แต่ละวันดูสีดูจิตของตัวเองมันผ่องใสไหม? ถ้าไม่ผ่องใสเร่งทำความดีขับจิตให้ผ่องใสที่สุดเ่ท่าที่จะพึงทำได้ แล้วก็รักษามันไว้อย่าให้มันขุ่นมัวอีกนี่คือ เจโตปริยญาณที่แท้จริง ไม่ใช่เที่ยวไปดูคนอื่นไปรู้คนอื่น บางคนมาถึงก็แหม...หลวงพี่พูดเหมือนตาเห็นเลย อาจารย์พูดเหมือนตาเห็นเลย หลวงพ่อพูดเหมือนตาเห็นเลย ไม่อยากจะเห็นหรอก
แต่บางทีถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันก็ไม่เชื่อ พอเห็นเสร็จก็เลิกดู ไม่รู้จะดูต่อไปทำไมมันไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าทั้งหมดก็ทุกข์ เขาก็ทุกข์ เราก็ทุกข์ ดูความทุกข์ของตัวเองก็ดูไม่ไหวแล้ว ดูใจของตัวเองก็ระวังไม่ไหวยังไปดูเขาอีก

ใช้ให้ถูกนะ ยถากัมมุตาญาณ รู้กรรมของคนและสัตว์ ถ้าเราเชื่อที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้
ตกลงญาณ ๘ ต้องใช้ไหม? ...เออ ไม่ต้อง อภิญญา อภิ-ยิ่งกว่า , อัญญา-ความรู้ ไม่มีอะไรรู้เกินกว่าการตัดกิเลส อย่างต่ำ ๆ ให้รู้ว่าพระโสดาบันมีคุณสมบัติอย่างไรแล้วตั้งหน้าตั้งตาทำในคุณสมบัตินั้นไป นั่นแหละถึงจะเป็นลูกที่ดี ถึงจะเป็นลูกที่แท้จริงของหลวงพ่อ ถึงจะพูดได้อย่างเต็มคำว่าเราเป็นศิษย์วัดท่าซุง เราเป็นศิษย์หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ

แล้วบุคคลที่ได้ล่ะ บุคคลที่ปฏิบัติได้ แต่ระวัง
ให้ใช้กำลังใจเกาะพระนิพพานไว้ ถ้าเราดูใจตัวเองเป็น สังเกตใจตัวเองเป็นจะรู้ว่า

ราคะ-อารมณ์ระหว่างเพศก็ดี โทสะ-อารมณ์โกรธ เกลียด อาฆาต พยาบาทก็ดี
โลภะ-อารมณ์ความโลภอยากได้ใคร่มีก็ดี โมหะ-อารมณ์ความหลงก็ดี มันเป็นคุณสมบัติของร่างกายนี้
ถ้าหากว่าจิตใจของเราไม่ไปปรุงไปแต่งกับมันด้วย มันก็ไม่สามารถทำอันตรายเราได้


ในเมื่อเราได้มโนมยิทธิ เราได้อภิญญา
เกิดราคะขึ้นมา ใช้อารมณ์ของมโนมยิทธิ ใช้อารมณ์ของอภิญญาพุ่งจิตขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพาน หน้าด้านเข้าไว้ กำลังของสมาธิของเราเข้มแข็งพอ

ถ้ารู้ระวังตัวอยู่มันมาเราเผ่นพรวดหนีไปเลย ไปอยู่ข้างบนโน่น
โกรธขึ้นมาหนีไปอยู่ข้างบน โลภขึ้นมาหนีไปอยู่ข้างบน หลงขึ้นมาหนีไปอยู่ข้างบน ไปอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้า

ร่างกายเมื่อไม่มีจิตใจคอยปรุงแต่งอยู่
มันก็เหมือนกินอาหารไม่ได้ใส่เกลือ ไม่ได้ใส่น้ำปลา ไม่ได้ใส่น้ำส้ม ไม่ได้ใส่น้ำตาล มันไม่มีรสไม่มีชาติมันจืดชืดไม่เป็นท่า มันเซ็งมัน
ไม่มีใครไปปรุงแต่งให้อารมณ์จิตมันตั้งอยู่เดี๋ยวเดียวความชั่วเหล่านั้นมันก็สลายไป เพราะว่าความชั่วเหล่านั้นเป็นสมบัติของร่างกายไม่ใช่สมบัติของใจ

การที่เราไปเกาะพระนิพพาน เกาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่บนวิมานของเรานั่นแหละ คือการใช้มโนมยิทธิที่ถูกต้องอย่างที่หลวงพ่อต้องการ


เพราะว่ามันจะไม่พลาดไปไหน อย่างไร ๆ เราก็อยู่ตรงนั้นแล้ว มันเป็นการตัดกิเลสที่อัตโนมัติที่สุด

เราอยู่ตรงนั้นให้ชินกับอารมณ์ละเอียด อารมณ์สงบ อารมณ์เยือกเย็นของพระนิพพานอันนั้น พอจิตใจมันชินรับอารมณ์นั้นมาเต็มที่แล้วประคับประคองให้ดี ส่วนใหญ่ลุกปั๊บเลิกเลย ต้องรู้็จักรักษาประคับประคองระมัดระวังสภาพจิตใจของเราให้ทรงตัวอยู่ในอารมณ์นั้นให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ได้ครึ่งชั่วโมง ให้ได้หนึ่งชั่วโมง สามชั่วโมง ครึ่งวัน วันหนึ่ง สามวัน อาทิตย์หนึ่ง สิบวัน ครึ่งเดือน เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ...ว่าไปเลย ยิ่งนานเท่าไรกิเลสยิ่งกินใจเราได้น้อยลง ๆ

กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับปฐมฤกษ์
เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗

ถ้ารู้ระมัดระวังรักษาอารมณ์ใจอย่างนี้เอาไว้ได้ กดกิเลสเอาไว้อย่างนี้ตลอดเวลา ก็เหมือนกับหินที่ทับหญ้า ทับไปนาน ๆ หญ้ามันตายหมด นี่คือตัวมโนมยิทธิที่หลวงพ่อต้องการให้พวกเราปฏิบัติ ที่หลวงพ่อเคี่ยวเข็ญ สั่งสอนเรามากี่ปีต่อกี่ปี การใช้ที่ถูกต้องใช้กันอย่างนี้ เท่าที่อาตมาดูมาส่วนใหญ่ใช้ผิดหมด ในเมื่อใช้ผิด มันก็จะมีแต่โทษมากกว่าประโยชน์์ทั้งนั้น แทนที่จะรู้เพื่อละก็รู้เพื่อหลง เพื่อยึดเพื่อติด แล้วสิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้เป็นการรู้ในปัจจุบัน อนาคตสิ่งเหล่านั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยเฉพาะหน้า

ดังนั้นคำทำนายหลาย ๆ อย่างเมื่อถึงวาระถึงเวลา เมื่อมีปัจจัยเฉพาะหน้ามาให้เปลี่ยนแปลง อย่างเช่น บอกว่าเมื่อเดือนมิถุนายนมันจะดี แต่ถ้าหากว่าทั้งหมดรามือเสียจากการทำดีปล่อยให้ความชั่วเข้ามาครอบงำจิตใจ กำลังของความชั่วมีสูงกว่า ถึงวาระถึงเวลามันก็ไม่ดีไปตามนั้น ดังนั้น กระทั่งความเป็นทิพย์ ความรู้ เหล่านี้มันก็ยังไม่เที่ยง เราจะไปยึดถือมั่นหมายเชื่อปักมันลงไปว่าจะเป็นดั่งนั้นดั่งนี้นั้นไม่ได้
เพียงแต่เอาเป็นแนวทางไว้คอยระมัดระวังเท่านั้น

รู้ ต้องรู้อย่างคนมีสติ ใช้ ต้องใช้อย่างคนมีปัญญา สติกับปัญญาเป็นของคู่กัน

ถ้าสติเกินปัญญา จะเป็นคนไม่กล้าทำอะไรจด ๆ จ้อง ๆ
ขี้กลัว ขี้ระวังจนเกินไป ถ้าปัญญาเกินสติก็จะบุ่มบ่าม โฉ่งฉ่างจนกระทั่งพลาดได้ง่าย สติกับปัญญาจะต้องไปพร้อม ๆ กัน ไปเท่า ๆ กันธรรมะจึงจะเจริญ

กระโถนข้างธรรมาสน์ ฉบับปฐมฤกษ์
เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗




Create Date : 20 กันยายน 2553
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2557 15:22:51 น. 0 comments
Counter : 2334 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

doraeme
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add doraeme's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.