Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2559
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
17 พฤศจิกายน 2559
 
All Blogs
 

การปฎิบัติต้องต่อเนื่อง

สาธุขอขอบพระคุณที่มาจาก เพจแชร์ธรรมะ พ่อแม่ครูบาอาจารย์
https://m.facebook.com/pagesharedhamma/photos/a.222538334749952.1073741828.222529628084156/375503302786787/?type=3
...
“การปฏิบัติต้องต่อเนื่อง”

การปฏิบัติธรรม การเจริญจิตตภาวนา ถ้าต้องการจะให้เกิดผลอย่างต่อเนื่องก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติ ต้องเจริญอย่างต่อเนื่อง เพราะเวลาใดที่ไม่ได้เจริญเวลาใดที่ไม่ได้ปฏิบัติ เวลานั้นก็จะเป็นเวลาของคู่ต่อสู้ ของข้าศึกศัตรู ถ้าเราต้องการที่จะทำลายข้าศึกศัตรูคู่ต่อสู้ที่เป็นอุปสรรคต่อมรรคผล นิพพาน เราก็จำเป็นที่จะต้องต่อสู้ทำลายข้าศึกศัตรูอยู่ทุกระยะอยู่ทุกเวลา เวลาใดที่เราไม่ได้ปฏิบัติ เวลาใดที่เราไม่ได้ เจริญจิตตภาวนา คือเวลาใดที่เราไม่ได้เจริญสติ ไม่ได้เจริญสมาธิ ไม่ได้เจริญปัญญา เวลานั้นก็จะเป็นเวลาของ ข้าศึกศัตรูปฏิบัติการของข้าศึกศัตรู ถ้าเราไม่มีสติใจเราก็จะลอย ใจเราก็จะคิดไปตามกำลังของอวิชชา ปัจจยา สังขารา คิดไปในทางกิเลสตัณหา คิดไปในทางฟุ้งซ่าน คิดไปในทางความทุกข์ แต่เวลาใดที่เราได้เจริญสติ หรือได้เข้าไปในสมาธิหรือถ้าไม่ได้อยู่ในสมาธิออกมาจากสมาธิ ได้เจริญปัญญาเวลานั้นก็ถือว่าเป็นเวลา ที่เรากำลังปฏิบัติกำลังเจริญจิตตภาวนา

ดังนั้นขอให้เราเจริญสติ สมาธิ ปัญญาอย่างต่อเนื่อง ส่วนศีลนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นพื้นฐานของจิตใจ ของผู้ปฏิบัติอยู่แล้ว ผู้ปฏิบัติถ้าปฏิบัติเจริญสติ สมาธิ ปัญญา ก็จะไม่มีเวลาที่จะไปทำผิดศีลอยู่จึงไม่ได้ พูดถึงมากนัก เพราะว่าเป็นส่วนที่มีควบคู่ไปกับการเจริญจิตตภาวนา ส่วนเรื่องการทำทานนี้ก็ควรที่จะแยก ออกไปจากการเจริญภาวนา ถ้าจะทำทานก็ทำให้มันเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ไปเลย คือให้มันหมดเรื่องหมดราว เกี่ยวกับเรื่องทานไปเลย มีอะไรที่เราไม่ต้องเก็บเอาไว้ มีอะไรที่เรายกให้คนอื่นได้ ก็ยกให้เขาไปเลย เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องกลับมาวุ่นกับการทำทาน ในขณะที่เราปฏิบัติธรรม ในขณะที่เราเจริญจิตตภาวนา เพราะไม่เช่นนั้นมันจะไม่ได้เจริญจิตตภาวนาเวลาที่มาทำทาน เวลาทำทานก็จะต้องใช้ความคิด ไปเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ก็อาจจะทำให้ไม่ได้ควบคุมความคิดไม่ได้เจริญสติ ไม่มีเวลาที่จะเข้าไปในสมาธิได้ ที่พูดถึงนี้หมายถึงผู้ที่ไม่มีปัญหาหรือไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำทานแล้ว เช่นนักบวชทั้งหลาย ผู้ที่ได้สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง สละเพศของฆราวาสไปแล้ว ก็จะไม่มีภาระเกี่ยวกับการหาเงินหาทอง ใช้เงินใช้ทองหรือทำบุญทำทานกับเงินทองที่หามาได้ ก็จะมีแต่การรักษาศีลคือกาย วาจาให้เป็นปกติแล้ว ก็มาควบคุมใจให้สงบด้วยการเจริญสติ ด้วยการเข้าไปในสมาธิด้วยการเจริญปัญญา

ดังนั้นพื้นฐานของการปฏิบัติในขั้นแรกก็อยู่ที่การเจริญสติ ต้องเจริญสติให้มาก ถ้ายังไม่มีสมาธิเพราะว่าสมาธินี้ จะเกิดได้จากการมีสติ ส่วนปัญญาถึงแม้จะมีแต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นปัญญาที่จะเป็นอาวุธที่จะทำลายข้าศึกศัตรูได้ เรียกว่าเป็นปัญญาระดับสุตมยปัญญา และจินตามยปัญญา สุตมยปัญญาคือปัญญาที่ได้รับจากการได้ยินได้ฟัง พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จินตามยปัญญาก็คือการได้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เนืองๆ เช่นทรงสอนให้พิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ จากบุคคลต่างๆ ไปอยู่เนืองๆ ปัญญาแบบนี้ยังไม่มีกำลังพอที่จะทำลายข้าศึกศัตรู คือกิเลสตัณหา โมหะอวิชชาให้ตายไปได้ ต้องมีสมาธิก่อนถึงจะเป็นปัญญาที่เรียกว่า “ภาวนามยปัญญา” ถ้าเป็นภาวนามยปัญญานี้ก็จะสามารถทำลาย ข้าศึกศัตรูได้อย่างถาวร

ภาวนาก็คือสมถภาวนานี่เองที่เรียกว่า “ภาวนามยปัญญา” ก็คือปัญญาที่มีสมถภาวนาเป็นคู่มือเป็นผู้ให้กำลัง เป็นผู้สนับสนุน ดังนั้นผู้ที่จะบำเพ็ญจิตตภาวนาจึงมองข้ามการเจริญสมถภาวนาไปไม่ได้ ถ้ามีเป้าหมาย ในการทำลายกิเลสตัณหาโมหะอวิชชาให้หมดไปจากใจ จำเป็นที่จะต้องมีทั้งสมถภาวนา และปัญญาคือ วิปัสสนาภาวนาควบคู่กันไป สนับสนุนกันถึงจะเรียกว่ามีภาวนามยปัญญา แต่ก่อนที่จะมีสมถภาวนาได้ มีความสงบ มีสมาธิได้ก็จำเป็นจะต้องมีสติก่อน เพราะสตินี้เป็นเหตุ เป็นผู้ที่จะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ ให้เข้าสู่สมาธินั่นเอง ดังนั้นการปฏิบัติที่เป็นพื้นฐานของนักปฏิบัติก็คือการเจริญสติอย่างต่อเนื่องทุกเวลานาที ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนถึงเวลาที่หลับไป จะไม่ให้มีการเผลอไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในอดีต ที่ผ่านแล้วก็ดี หรือเรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตก็ดี จะควบคุมจิตให้อยู่ในปัจจุบัน อยู่กับการเคลื่อนไหว ของร่างกายเป็นหลัก ไม่ว่าร่างกายกำลังจะทำอะไรก็ให้เฝ้าดูจดจ่อดูการเคลื่อนไหวดูการกระทำของร่างกาย เหมือนกับผู้ควบคุมนักโทษ เวลาปล่อยให้นักโทษออกมาทำงานนอกคุกนอกตะราง

ผู้ควบคุมนักโทษนี้ จะต้องเฝ้าดูตลอดเวลา ไม่ให้นักโทษนี้คาดจากสายตาไป ฉันใดผู้ที่ต้องการที่จะควบคุมจิต ควบคุมความคิด ไม่ให้คิดเตลิดเปิดเปิงไปกับเรื่องราวต่างๆ ก็จะเป็นจะต้องดึงจิตให้มาอยู่กับการเคลื่อนไหว ของร่างกาย อยู่กับการกระทำของร่างกาย เพราะถ้าต้องจดจ่อดูการเคลื่อนไหวดูการกระทำของร่างกาย ก็จะไม่สามารถ ที่จะไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้หรือถ้าว่ายังมีกำลังมากสามารถไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ก็จำเป็นจะต้องสติอีก เชือกอีกเส้นหนึ่ง เช่นการบริกรรมพุทโธๆ มาดึงให้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่นร่างกายกำลังทำอะไร แล้วเผลอไปคิดถึงคนนั้นคนนี้เรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ให้ใช้การบริกรรมพุทโธควบคู่ไป กับการกระทำของร่างกาย

เช่นกำลังอาบน้ำแล้วเผลอไปคิดถึงคนนั้นคนนี้เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ให้ใช้พุทโธดึงกลับมา บริกรรมพุทโธๆควบคู่ ไปกับการอาบน้ำ หรือถ้าจะหยุดการกระทำก่อนเพื่อที่จะดึงใจให้กลับมาก่อนก็ได้ เช่นกำลังอาบน้ำอยู่แต่ใจ ไม่ได้อยู่กับการอาบน้ำ ไปอยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้ ก็ให้หยุดการอาบน้ำแล้วก็ตั้งสติใหม่ ดึงใจกลับมาให้อยู่กับการอาบน้ำใหม่ นี่คือการควบคุมความคิดไม่ปล่อยให้ใจคิดไปเรื่อยเปื่อย เพราะว่าความคิดนี้จะทำให้ใจไม่สงบ ใจจะสงบเป็นสมาธิได้นี้ ต้องไม่คิดอะไรหรือคิดอยู่กับเรื่องเดียว เช่นการบริกรรมพุทโธๆ นี่คือขั้นพื้นฐานของการปฏิบัติที่จำเป็นจะต้องเจริญสติอยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังต้องทำภารกิจการงานต่างๆ พอไม่มีภารกิจที่จะต้องทำ พอมีเวลาว่างก็ต้องนั่งสมาธิให้ได้ ต้องพยายามนั่งให้มากๆ นั่งให้บ่อยๆ พอไม่ต้องทำภารกิจทางร่างกายก็หยุดนั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวให้ตรง หลับตาแล้วก็ใช้การดูลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ

การดูลมหายใจก็ไม่ต้องไปบังคับลม ให้ดูอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งที่ปลายจมูกก็ได้ หรือที่กลางอกก็ได้แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่ความชัดเจน ถ้าชัดเจนที่ปลายจมูก ก็ให้เฝ้าดูอยู่ที่ปลายจมูกหายใจเข้าก็รู้ว่าลมสัมผัสที่ปลายจมูก หายใจออกก็รู้ว่าลมสัมผัสอยู่ที่ปลายจมูก ไม่ต้องไปควบคุมบังคับลมให้หายใจสั้นหรือหายใจยาว ปล่อยให้เป็นเรื่องของลมไป เราใช้ลมเป็นที่ผูกใจดึงใจให้ยุติการคิดปรุงเเต่งให้เข้าสู่ความสงบ ถ้าดูลมแล้วยังไป แว๊บคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ก็อาจจะต้องใช้การบริกรรมพุทโธๆขึ้นมาแทนก็ได้ บางท่านเวลาเริ่มต้นนั่งใหม่ๆ อาจจะไม่สามารถนั่งดูลมได้ เพราะความคิดยังคิดอยู่มาก ก็ให้ใช้การสวดมนต์บทใดบทหนึ่งไปพลางๆก่อนก็ได้ สวดไปจนกว่าใจจะรู้สึกเย็นสบายสงบหรือไม่อยากจะสวด ก็หยุดสวดได้แล้วก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออกต่อไป อันนี้ก็จะทำให้ใจเข้าสู่ความสงบได้ เวลานั่งใหม่ๆ นี้ใจอาจจะยังมีความคิดมาก เพราะไม่สามารถที่จะ ควบคุมความคิดได้ในขณะที่ยังไม่ได้นั่ง พอมานั่งเรื่องราวต่างๆมันก็ยังติดคาอยู่ในใจอยู่ บางทีก็ต้องใช้การสวดมนต์ สวดพระสูตรเพื่อให้ลบล้างความคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ไป พอสวดไปได้สักพักหนึ่ง แล้วเรื่องราวต่างๆที่ใจคิดอยู่ก็จะจางหายไป ใจก็จะว่างปราศจากความคิด ตอนนั้นก็สามารถใช้การดูลมหายใจ เข้า-ออกหรือการบริกรรมพุทโธอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อที่จะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ ถ้ามีสติต่อเนื่องอยู่กับการ ดูลมหายใจเข้าออก หรืออยู่กับการบริกรรมพุทโธไม่นานจิตก็จะรวม เข้าสู่ความสงบ รวมเป็นหนึ่ง เรียกว่า “เอกัคคตารมณ์” มีสักแต่ว่ารู้เป็นอารมณ์มีอุเบกขาเป็นอารมณ์ คือความว่างนั่นเอง คือไม่มีอารมณ์อะไร มีแต่ความว่าง มีแต่อุเบกขา มีแต่สักแต่ว่ารู้หรือผู้รู้ปรากฏขึ้นมา

เวลาได้เข้าสู่จุดนั้นแล้วก็เป็นเวลาที่ไม่ต้องทำอะไร เพราะตอนนั้นความคิดก็จะหยุดทำงาน กิเลสตัณหา โมหะอวิชชาก็จะหยุดทำงาน ผู้รู้ก็จะปรากฏเด่นขึ้นมาให้เห็น ก็อยู่กับผู้รู้ไป อยู่กับอุเบกขาไป จนกว่าผู้คิดเริ่มกลับเข้ามาทำงานต่อ พอเริ่มมีความคิดแล้วก็แสดงว่าจิตได้ถอนออกจากสมาธิแล้ว พอถอนออกจากสมาธิแล้วมีความคิดแล้วก็ต้องเจริญสติต่อ ถ้ายังเจริญปัญญาไม่เป็นก็ให้เจริญสติ หรือว่ายังไม่ชำนาญต่อการเข้าสมาธิ เช่นเข้าได้ครั้งแรกแล้วพอออกมาเริ่มมีความคิดปรุงเเต่ง ก็ยังไม่ต้องไป ทางปัญญาก็ได้ ให้ควบคุมความคิดต่อไป เหมือนกับตอนที่ยังไม่ได้เข้าไปในสมาธิ ให้เจริญสติต่อไป เช่นบริกรรมพุทโธไปหรือจดจ่อเฝ้าดูการเคลื่อนไหวการกระทำของร่างกายใหม่ ทำใหม่อีกรอบหนึ่ง พอออกมาแล้วก็เจริญสติต่อแล้วพอมีเวลาที่จะนั่งได้ก็กลับเข้าไปนั่งต่อ ตอนที่ออกมานี้ก็อาจจะลุกขึ้นมา เดินจงกรมก็ได้ถ้าไม่มีภารกิจการงานที่ต้องทำ ถ้ามีภารกิจการงานที่ต้องทำก็ต้องทำด้วยทำ มีสติคอยควบคุมความคิดอยู่ตลอดเวลาให้อยู่กับการกระทำของร่างกาย เช่นออกมาจากสมาธิก็ได้ เวลาที่จะต้องทำความสะอาดปัดกวาด กวาดถูศาลา หรือกุฏิที่อยู่อาศัย หรือซักเสื้อผ้าหรืออะไรก็ตามก็ต้องมีสติ อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ ถ้าไม่มีงานทำก็เดินจงกรมไป

การเดินจงกรมนี้ก็มีผลทางร่างกายและทางจิตใจ ผลทางร่างกายก็คือช่วยผ่อนคลายความเจ็บเมื่อยของร่างกาย ที่เกิดจากการนั่งนานๆ นั่งอยู่ในสมาธิ พอนั่งไปแล้วร่างกายก็จะมีอาการเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ เพราะเลือดลม ไม่มีโอกาสที่จะได้ไหลเวียนอย่างปกติ ก็จำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาเดินจงกรมเพื่อเป็นการผ่อนคลายความเจ็บปวด เมื่อยของทางร่างกาย อันนี้คือประโยชน์ทางร่างกายที่จะได้จากการเดินจงกรม ส่วนประโยชน์ทางจิตใจ ก็คือการเจริญสติ หรือการเจริญปัญญา ถ้าเจริญสติก็ให้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย ให้ใช้ร่างกาย เป็นเครื่องผูกใจไว้ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆหรือจะใช้การบริกรรมพุทโธๆก็ได้ ก็ใช้การบริกรรมพุทโธไป เพื่อดึงใจไว้ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ จนกว่าจะรู้สึกเมื่อยอยากจะนั่งก็หยุดเดินจงกรมแล้วก็กลับมานั่งสมาธิ ใหม่ต่อ เข้าไปในสมาธิเหมือนครั้งที่เคยเข้าไปครั้งแรก ถ้าทำอย่างนี้เวลาเข้าสมาธิก็จะเข้าได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว ถ้าสามารถเข้าในสมาธิได้อย่างรวดเร็วได้ทุกเวลาที่ต้องการก็ถือว่าเรามีความชำนาญในสมาธิแล้ว เราก็ควรที่จะออกทางปัญญาได้แล้ว ถ้าเวลาออกจากสมาธิมาก็ให้ดึงความคิดนี้มาคิดในทางปัญญา

ธรรมะบนเขา วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๗

“การปฏิบัติต้องต่อเนื่อง”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2559
0 comments
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2559 15:30:46 น.
Counter : 1434 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


doraeme
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add doraeme's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.