Dr.Danai @ DNT Consultants
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2549
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
21 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
ทันสมัยจริงๆ เลย! : A Modernized Country

เวลาของคนเรามีเหลือไม่มากนักนับตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลก แม้กระทั่งว่ามนุษย์จะมีความสามารถสุดล้ำเลิศเพียงใดในการสร้างเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ก็ไม่อาจเอาชนะ “เวลาแห่งธรรมชาติ” (Biological Clock) ได้เพราะมนุษย์ยังไม่สามารถโคลนนิงคนแล้วกลายเป็นอมตะหรือไม่รู้จักตาย


ทุกครั้งที่เดินทางไปต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มักพบเห็นสิ่งที่แตกต่างเป็นอย่างมากจากสิ่งที่พบและผ่านเข้ามา และเมื่อย้อนนึกหรือหันกลับมามองประเทศไทย เราก็รู้สึกหวานอมขมกลืนกับการพัฒนาประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการในบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า ประเทศที่ทันสมัย

ในทศวรรษนี้คนไทยเราอาจจะเข้าใจศัพท์แสลงที่ใช้กับคำว่า “ทันสมัย” อย่างไม่ถูกต้องก็ได้

ความทันสมัยคงไม่ได้หมายถึง คนที่ทำอะไรอย่างหลีกเลี่ยงกฎหมาย หรือทำอะไรที่เป็นสีเทาๆ ทั้งบุคคลนั้น คนในครอบครัวแม้กระทั่งลูกหลาน ญาติพี่น้อง พรรคพวก เพื่อนสนิทมิตรสหาย

ความทันสมัยคงไม่ได้หมายถึง การนำสมบัติของชาติไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ทางปัญญา หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิทธิในความเป็นไทยไปเร่ขายหรือเปิดให้ชาติอื่นเข้ามารุกครอบครองกิจการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งไฟฟ้า โทรศัพท์ น้ำประปา คมนาคม ฯลฯ

"ความทันสมัย" น่าจะมีความหมายที่ดีกว่านั้น

ความทันสมัย น่าจะหมายถึงประเทศชาติมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกๆ ด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติ

ความทันสมัย คือวิธีการคิด วิธีการทำ ต้องคิดและทำอย่างคนที่มีวัฒนธรรมแห่งความศิวิไลซ์ (Civilization)

สิ่งเหล่านี้มีตัวอย่างให้เห็นอย่างดาษดื่น อาจจะหาดูง่ายๆ จากภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ก็ได้ ไม่ว่าหนังภาพยนตร์เรื่องใดของสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่ทันสมัย แม้จะมีอารยธรรมไม่นานเท่ากับอียิปต์และจีน แต่เราจะพบว่า หากคนของเขาทำผิดกฎหมาย คนที่พบเห็นจะมีสำนึกในการแจ้งตำรวจถือว่าเป็นหน้าที่ที่เขาต้องปฏิบัติ

คนในครอบครัวของเขาทำผิดกฎหมาย เช่นในภาพยนตร์เรื่อง CSI Lasvagus มีเด็กคนหนึ่งแกล้งเพื่อน โดยในขณะที่เพื่อนเข้าไปอยู่ในตู้อบเสื้อผ้าเด็กคนนั้นหยอดเหรียญให้เครื่องทำงาน ปรากฏว่าเพื่อนตายอยู่ในตู้อบเสื้อผ้า ตำรวจสืบคดีพบว่า เด็กคนนั้นเป็นคนทำ

เมื่อทุกอย่างชัดเจนด้วยหลักฐานแม่ของเด็กถามลูกตนเองว่า "ลูกคิดอะไรถึงทำเช่นนั้น"

แต่ถ้าเป็นครอบครัวคนไทยก็จะคิดอีกแบบ ซึ่งอาจจะด้วยความรักลูกและไม่เคยคิดว่าลูกเป็นคนเลว แม้ว่าจะฆ่าคนตายก็มีให้เห็นเป็นข่าวในทีวีอยู่เสมอๆ

นี่ล่ะครับ! ความต่างของความทันสมัยในประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา

เมื่อประเทศทันสมัยก็ต้องยอมรับความเป็นหมู่บ้านโลก (Global Village) การมีบริษัทระดับโลก (Global Company) หรือแม้กระทั่ง เมืองระดับโลกหรือมหานคร (Global City)

สิ่งนี้หมายความว่าอย่างไร อธิบายอย่างง่ายๆ คือว่าโลกนี้เป็นเสรีนิยม ไร้พรมแดน ใครจะใคร่ค้าก็ค้า ใครจะใคร่ขายก็ขาย แต่อยู่ที่ว่าใครมีเงินทุนมากกว่ากัน

ดังนั้นคนที่มีเงินมากก็สามารถวิ่งไปซื้อบริษัทในโลกนี้มาครอบครองได้ คนที่ด้อยกว่าในทุกๆ ด้านก็จะเป็นเพียง “คนทำงาน” หรือ เรียกให้โก้หน่อยว่า “ผู้ใช้บริการ” ก็มีเพียงเท่านี้เอง

อย่างธุรกิจโทรคมนาคมของเราที่เป็นของต่างชาติไปแล้วบางส่วนทั้งนอร์เวย์และสิงคโปร์ ไม่ต้องตื่นเต้นหรอกครับ! เดี๋ยวก็ถูกชาติอื่นที่มีบริษัทใหญ่กว่าซื้อไปในอนาคต เพราะขนาดที่ออสเตรเลียทันสมัยกว่าเราเป็น 100 เท่า ประเทศไทยเราเซ็น FTA ไปเมื่อ 5 ก.ค.2547 เพื่อเปิดเสรีทางการค้าด้านโทรคมนาคม รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ (ที่ได้รับประโยชน์) รวมถึงด้านเกษตร (ที่สู้ไม่ได้) ยังมี Vodafone (ของเยอรมัน) เข้าไปได้สัมปทานในบางรัฐ (ประเทศออสเตรเลียมี 6 รัฐ)

ความทันสมัยเป็นเพียงสิ่งที่ท่านรับทราบและรับรู้ว่า ถ้าเราเป็นลูกจ้างหรือพนักงาน สำคัญอย่างไรที่มีเจ้านายเป็นคนไทยหรือชาติไหนๆ

อีกหน่อยอาจเป็นอินเดียหรือจีนก็ได้ครับ เพียงแต่บางครั้งคนในชาตินั้นจะยอมหรือไม่ หรือรัฐบาลเขาเห็นเป็นภัยคุกคามชาติก็จะไม่ยอม

เช่น ในกรณีธุรกิจน้ำมันของจีนที่ต้องการซื้อ Unocal ธุรกิจของชาติอเมริกัน ปรากฏว่ารัฐบาลและคนในชาตินั้นไม่ยอมตกลงในที่สุด ก็เป็นธุรกิจชาติเดียวกันเข้าไปซื้อแทนคือ Chevron

เพียงแต่ประเทศ เช่น เราอาจทันสมัยกว่าคือ รัฐบาลเราเป็นโต้โผเมกะเซลส์ไทยแลนด์เสียเองเท่านั้น!

ผู้นำธุรกิจของประเทศที่ทันสมัย

ในปี 2001 ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ได้รวบรวมและนำบางตอนของหนังสือที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ผลิตออกมาเป็นหนังสือ สุดยอดด้านการจัดการที่ดีเล่มหนึ่งคือ The Essential Drucker

สิ่งที่ดรักเกอร์ นำเสนอไว้จนกลายเป็น ทฤษฎีการบริหารสมัยใหม่ โดยสรุปได้ว่า

งานสำคัญที่ผู้บริหารหรือผู้นำธุรกิจ หรือเหล่าบรรดาซีอีโอทั้งหลายจะต้องปฏิบัติเพื่อให้องค์กรของผู้บริหารเหล่านั้นสามารถทำงานและสร้างสรรค์ความทันสมัยและประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติจะประกอบด้วย

งานที่ 1 :การกำหนดจุดประสงค์และภารกิจของสถาบันที่เฉพาะเจาะจงไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือธุรกิจประเภทใด

งานที่ 2: การทำให้งานมีผลิตภาพและคนทำงานมีประสิทธิภาพด้วยอีกเช่นกัน

งานที่ 3: การจัดการหรือบริหารสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อสังคมและความรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อธุรกิจเป็นผู้สร้างกระแสบริโภคนิยม ธุรกิจจึงต้องให้ความสนใจผลกระทบของธุรกิจต่อสังคม แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหมายถึง การที่ผู้บริหารแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูดหรูๆ หรือป้ายประกาศ ซึ่งมีให้เห็นกันอยู่ทั่วไปในโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์และด้วยคำถามต่อผู้นำธุรกิจ หรือบุคคลที่เป็นเพียงผู้นำประเทศที่ทันสมัยคือ

- จะต้องไม่ถามว่า สิ่งที่เราทำไปนั้นถูกต้องหรือไม่? แต่ควรจะเป็นคำถามที่ว่า สิ่งที่เราทำไปนั้นคุ้มค่ากับเงินของคนในชาติในสังคมและลูกค้าของบริษัทหรือไม่ ? (The question is not, Is what we do right? It is, Is what we do what society and the customer pay us for?; Drucker 2001: The Essential Drucker)

น่าคิดให้มากๆ ครับ สิ่งที่ดรักเกอร์ย้ำไว้เป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิตว่า ผู้นำธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม มิฉะนั้นจะกลายเป็นทันสมัยแต่ไม่ศิวิไลซ์ครับ



Create Date : 21 พฤษภาคม 2549
Last Update : 22 มกราคม 2551 17:29:22 น. 0 comments
Counter : 631 Pageviews.

dnt
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




ที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำด้านจัดการกลยุทธ
( ผู้นำและริเริ่มการจัดทำ Balanced
Scorecard & KPIs)
การบริหาร HR ที่เน้นความสามารถ
(Competency Based Approach)
การพัฒนา HRD-KM และ
การจัดการสมัยใหม่
*************************
Friends' blogs
[Add dnt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.