Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 

มหาวิทยาลัยนี้คิดอย่างไรกันหนอ ออกหลักสูตรเพื่อแกล้งให้เด็กจบไปตกงานกันชัด ๆ

เมื่อวานผมไปคุมสอบที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มีโอกาสได้คุยกับอาจารย์ที่คุมสอนด้วยหลายเรื่อง

สัปดาห์ที่แล้วผมได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สอนเรื่องเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ในงานสื่อสารมวลชน อาจารย์ท่านที่คุมสอบกับผมก็ได้ไถ่ถามว่าเป็นเช่นไรบ้าง สอนสนุกไหม เลยไปถึงหลักสูตรต่าง ๆ

เพื่อนผมเป็นอาจารย์อยู่ที่แม่โจ้ เข้าไปสอนได้ไม่ถึงเทอม เป็นอาจารย์ใหม่ไฟเกือบแรง ระหว่างรอสอน เธอก็เอาหลักสูตรมาให้ผมดู พร้อมกับบ่น ๆ เรื่องเด็กไม่ตั้งใจเรียนตามธรรมดาของเด็กทั่วไปให้ฟังไปพลาง ๆ

ผมไม่รู้ว่าคนคิดหลักสูตรนี้คิดอย่างไรจึงผลิตหลักสูตรนี้ออกมา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อย่างที่เราทราบกันดีว่าเน้นไปที่เรื่องของเกษตรกรรม แม้จะมีคณะสายศิลป์บ้างแต่ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังจนเด็กต้องแย่งกันเข้ามาเรียน

นิเทศศาสตร์เป็นชื่อหลักสูตรที่หอมหวาน เวลาเด็กนักเรียนได้ยินมักคิดยาวไปไกลนึกภาพฝันอย่างสวยงาม เป็นนักข่าวหัวเห็ด ตัดต่อทำหนังสั้นมีชื่อเสียง เป็นดีเจชื่อดัง นักโฆษณาลือชื่อ หรือนักหนังสือพิมพ์เปี่ยมอุดมการณ์ มีเด็กจำนวนมากมายอยากเรียนสายนิเทศศาสตร์ และแน่นอนว่ามหาวิทยาลัยที่ปรับตัวสู้การเป็นตลาดแรงงานอย่างเต็มตัว รับใช้ทุนนิยมอย่างเต็มที่ มีหรือจะผลิตหลักสูตรที่ไม่เอาเงิน อย่างพวก ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์ หรือสังคมวิทยา

นิิเทศศาสตร์คือคำตอบที่ดึงดูดเงินทองมาให้มหาวิทยาลัยปี ๆ หนึ่งจำนวนมหาศาลไม่ต่างอะไรกับหลักสูตร MBA ที่มีหลายคนคิดอะไรไม่ออกก็ไปเรียนต่อกัน

การปรับกระบวนทัศน์เรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยจากการมอบความรู้แก่สังคมและรับใช้ชุมชน กลายเป็นการมุ่งหวังกำไรสูงสุด ทำให้อะไร ๆ ในมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไป มหาวิทยาลัยแม่โจ้เองก็ปรับตัวเพื่อรองรับในเหตุนี้

นิเทศศาสตร์ของแม่โจ้พึ่งเปิดมาได้เพียงสามปี รุ่นแก่สุดตอนนี้ก็อยู่เพียงปีสาม ถือว่าเป็นน้องใหม่มากในวงการการศึกษาด้านนี้ ยิ่งเทียบกับนิเทศ จุฬา วารสาร ธรรมศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นอย่าง การสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ เอง ก็ถือว่าเป็นน้องที่เกิดห่างกันมาก ดังนั้นจุดสำคัญที่จะทำให้ขายได้คือต้องสร้างจุดขายที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น โดยเฉพาะกับ การสื่อสารมวลชน มช. นิเทศ ราชภัฎเชียงใหม่ หรือ นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่ครองพื้นที่เดิมอยู่แ้ล้ว

หลักสูตรที่นี้เรียนกันเพียง 3 ปีครึ่งเท่านั้น ตอนปีสี่ เทอมหนึ่ง นักศึกษาจะไปฝึกงานแล้วจบเลย เหตุที่ผู้ผลิตหลักสูตรมองอาจจะคิดว่าเพื่อให้นักศึกษามีโอกาสในการเข้าถึงตลาดงานก่อนสถาบันอื่น เท็จจริงอย่างไรประเด็นนี้ผมก็มิทราบได้

ส่วนที่ผมมองว่าเป็นการแกล้งเด็กก็เพราะว่า หลักสูตรที่เข้าคิดขึ้นมา เป็นนิเทศศาสตร์บูรณาการ เน้นการผสมผสานศาสตร์ทุกสิ่งของนิเทศศาสตร์เข้าด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องเรียนเจาะลึกอะไรมากนัก จากหลักสูตรที่เห็น แต่ละสายอาชีพก็เรียนกันเพียง 2 วิชา เช่นเรียนทำรายการวิทยุ ก็มีวิชาเขียนบทและการผลิต อย่างละหนึ่งวิชา

ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่พอ

คุณผู้อ่านอาจสงสัยว่าแล้วที่เหลือเขาไปเรียนอะไรกัน เนื่องจากนิเทศศาสตร์ที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของคณะศิลปศาสตร์ ดังนั้นจึงเรียนความรู้ศาสตร์ต่าง ๆ ของศิลปศาสตร์ด้วย ซึ่งผมก็คิดว่าดี เพราะเด็กจำเป็นต้องมีซอฟแวร์อยู่ในหัวเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ที่นี้เน้นเรียนเหมือนเป็ดคือรู้ทุกอย่าง แต่ทำไม่เก่งเลยสักอัน ทำไมผมถึงฟังธงเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่แค่ได้อ่านหลักสูตร เหตุเพราะผมเคยเรียนมาก่อนครับ ประสบการณ์รู้ได้เลยว่า การที่คุณจะผลิตรายการวิทยุที่มีคุณภาพสักรายการ มันไม่อาจจะใช้เวลาเพียงแค่สองวิชาแล้วทำได้ดีเลย แต่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนทั้งสมองและทักษะ ซึ่งตอนผมเรียนปริญญาตรีผมก็เรียนอย่างน้อยสี่ตัว

หลักสูตรอย่างของนิเทศ จุฬา ก็มีการแบ่งนิสิตออกเป็นเมเจอร์ย่อยอีก เช่น mc เรียนด้านโทรทัศน์และวิทยุ เป็นต้น แต่ละคนก็จะได้ทำงานในสาขาที่ตนเรียนอย่างช่ำชอง มีทักษะพอสมควรในการออกไปประกอบอาชีพได้ (ซึ่งพอออกไปทำงานจริง ที่เก่ง ๆ ต่างก็พบว่าตัวเองนั้นอ่อนด้อยมาก)

การเรียนการสอนนิเทศศาสตร์จำเป็นจะต้องควบคู่ทั้งเรื่องทฤษฎีและปฎิบัติ ทฤษฎีนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องทางสื่อสารมวลชน เพราะสื่อสารมวลชนหยิบยืมองค์ความรู้มาจากศาสตร์อื่นทั้งนั้น ไม่ว่าจะเิป็นสังคมวิทยา จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯลฯ ถ้าไม่รู้ก็เอาอะไรไปผลิตรายการไม่ได้ ขณะเดียวกันถ้าไม่เน้นเทคนิค บัณฑิตที่ผลิตออกมาก็ไร้ฝีมือออกไปสู้ใครไม่ได้ ดังนั้นทั้งสองสิ่งจึงต้องควบคู่กัน แม้ในความจริงสถาบันส่วนใหญ่จะสนใจแต่ประเด็นหลังกันก็ตาม

ผมไม่ได้คิดมากไปเอง เพราะวันที่ผมไปสอน เจ้าหน้าที่ภาควิชาก็มาเล่าให้ฟังว่า มีเด็กปีสามมาบ่นให้ฟังว่าเขากำลังจะเรียนจบไปฝึกงานแล้ว แต่ดูเหมือนเขายังไม่รู้อะไรเลย จะทำทีวีก็ทำไม่เป็น ทำวิทยุก็ไม่เก่ง หนังสือพิมพ์งู ๆ ปลา ๆ

นี้คือเสียงสะท้อนอันนี้จากตัวผู้เรียนเอง

ที่ร้ายกว่านั้นบางวิชาเด็กอยากเรียนแต่เปิดไม่ได้เพราะคนเรียนน้อย ไม่คุ้มทุน ได้ยินแ้ล้วเศร้า

ผมว่านี้คือการทำร้ายนักศึกษาตัวเองทางอ้อม บางที่การผลิตหลักสูตรออกมาเพื่อมุ่งแต่จะขายและเอาเงินโดยลืมไปว่ามันเวิร์คจริงหรือเปล่า มันก็จะย้อนมาทำร้ายตัวเองเข้าสักวัน

ลองคิดกันดูเล่น ๆ นะครับว่าวันหนึ่งข้างหน้า หากไม่มีบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไป ชื่อเสียงภาควิชาหรือคณะก็ไม่เกิด แล้วเด็กที่ไหนมันจะมาเรียน

จริงไหมครับ




 

Create Date : 04 ตุลาคม 2550
20 comments
Last Update : 4 ตุลาคม 2550 14:05:41 น.
Counter : 1622 Pageviews.

 

เห็นด้วยเลยครับ ว่าถ้าเรียนจบสายนี้ไป แล้วไปทำงาน ต้องรู้ลึกและรู้จริง และ Apply ได้ ถ้ารู้ผิวเผิน รู้ไม่ลึก เด็กที่จบไปรับรองไม่ได้งานตรงกับสายนักหรอกครับ เพราะการแข่งขันสูงจะตายสำหรับคนที่จบมาสายนี้ แถมเรียนแค่3 ปีครึ่ง มันจะได้อะไรล่ะครับสำหรับเด็ก ไม่มีทางหรอก แถมส่งผลเสียต่อมหาลัยอย่างเห็นได้ชัดเลย

จะว่าไปก็เหมือนผมเลยน่ะครับ เรียนสายบริหารธุรกิจมา ด้านการจัดการทั่วไป รู้หมดทุกอย่างทางด้านบริหารจัดการ แต่รู้เบื้องต้นเท่านั้น ต้องมาลงดีเทลล์กับวิชาเลือกเอา ที่จะเป็นวิชาที่เราต้องเรียนรู้ และรู้ลึกจริงๆ ถึงเอามา Apply ได้ และเป็นความรู้เชิงลึก (ในระดับป.ตรี) ที่เรารู้จริงด้วย การศึกษาของไทย ยังคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ ในเรื่องของ โครงสร้างหลักสูตรน่ะครับ

 

โดย: null (เข็มขัดสั้น ) 4 ตุลาคม 2550 14:27:01 น.  

 

เห็นด้วยกับคุณจขบ. ทุกประการ

 

โดย: hummer IP: 124.120.159.95 4 ตุลาคม 2550 14:49:04 น.  

 

อืม...

เรียกได้ว่า ต่างคนต่างความคิดนะคะ

สำหรับเรา เรียนนี้ ก็ถือได้ว่ามันหางานยากอยู่แล้ว จบไหนคงต่างไม่มาก เรียนแบบไหนคงต่างกันไม่มาก

เพื่อนเราเรียนม. ที่เขามีชื่อเสียงทางนิเทศก็บ่นอุบ.. ว่าไม่รู้จะเรียนไปทำไม แต่ชอบ ไปแล้วก็เลยต้องเรียน เอาให้จบสักวุฒิ

เป็นสาขาที่ขายฝันเอามากๆ

 

โดย: หวานใจนายโหด 4 ตุลาคม 2550 14:58:10 น.  

 

"บางวิชาเด็กอยากเรียนแต่เปิดไม่ได้เพราะคนเรียนน้อย ไม่คุ้มทุน"



...sounds like some subject in Human Fac. of CMU what a heck!

 

โดย: แพนด้ามหาภัย IP: 125.25.200.52 4 ตุลาคม 2550 15:34:25 น.  

 

อืม ... เราก็รู้ๆ กันอยู่ ตามประสาคนเคยเรียนสายนี้ ขนาดว่าเรียนแยกเมเจอร์ตั้งแต่ปี 2 ยังเอาตัว(เกือบ)ไม่รอดกันตั้งเยอะแยะ

ว่ามะ

 

โดย: พี่เอฟ IP: 58.137.121.130 4 ตุลาคม 2550 18:03:02 น.  

 

แต่เรื่องวิชาเปิดไม่ได้เพราะไม่มีคนเรียนก็พูดยากนะครับ เพราะว่าต้นทุนในการเปิดวิชาหนึ่งก็ไม่ใช่น้อยๆ ยิ่งเป็นมหาลัยของรัฐที่มีการอุดหนุนให้นักศึกษาอีก

ตอนเรียนตรีเคยอภิปรายในวิชาสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เท่าที่พอจำได้ มีคนเสนอ (หรือผมก็เสนออันนี้หว่า) ว่ารัฐควรอุดหนุนเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประถมถึงมัธยม) ส่วนการศึกษาในระดับมหาลัย ผู้เรียนควรจ่ายเอง

แต่อันที่จริงมันก็พูดยากอีกนั่นแหละครับ ปัญหาแบบนี้มันระดับชาติแฮะ ถ้ามีคนแก้ได้ เขาก็คงทำกันไปนานแล้วล่ะ

 

โดย: strawberry machine gun IP: 202.41.167.246 5 ตุลาคม 2550 10:47:10 น.  

 

คุณปิ๊ก

ผมเข้าใจนะว่าถ้ามองตามหลักเศรษฐศาสตร์จุดคุ้มทุนมันคงไม่โอเคในบางวิชา โดยเฉพาะวิชาอย่างยิ่งสายเสิรมสร้างความเป็นมนุษย์ อาทิเช่น ปรัชญา

ถ้ามองโลกแบบหนังเรื่อง The Modern Time ของชาลี แชปปลินที่ผลิตคนออกไปเป็นผู้ชำนาญเฉพาะด้าน ทำหน้าที่ช่ำชองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็โอเค แต่ผมว่ามหาวิทยาลัยคือสถานที่ที่สามารถให้ทางเลือกกับคำตอบของชีวิตได้ (ซึ่งนักศึกษาอาจจะต้องค้นหากันหน่อย) มีวิชาเรียนมากมายที่ถูกมองข้าม คนลงน้อย ในที่สุดก็ปิดตัวลงไป

ถ้ามนุษย์เป็นเพียงคนไขน๊อตผมคงไม่ว่าอะไร แต่มนุษย์เป็นมากกว่านั้น ความเป็นมนุษย์อันสมบูรณ์แบบพึงมีได้ไหม มหาวิทยาลัยเลิกคิดเรื่องนี้ไปแล้ว

เหตุด้วยเพราะมันไม่คุ้มทางเศรษฐศาสตร์นั้นเอง

 

โดย: I will see U in the next life. 5 ตุลาคม 2550 11:30:30 น.  

 

ประเด็นเริ่มน่าสนใจคุณดอง

อย่างที่คณะผม ถ้ามีคนเรียนห้าคนขึ้นไป เขาก็เปิดวิชานั้นแล้วนะ แต่ปัญหาคือวิชาพวกนี้มันไม่ค่อยมีคนลงอยู่แล้วนะซิ บางทีอาจารย์อยากสอนแต่ไม่มีเด็กเรียนซะงั้น

ผมคิดว่าเรื่องจุดคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์นั้นอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันบ้าง ถ้าให้ชัดเจนก็ต้องบอกว่า ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์นั้นสูงกว่าต้นทุนทางบัญชี กล่าวคือ ทางบัญชีจะคิดเฉพาะต้นทุนและกำไรที่เป็นตัวเงิน ส่วนในทางเศรษฐศาสตร์นั้น จะมีต้นทุนที่เรียกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสเพิ่มขึ้นมา

การพิจารณาความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์จึงไม่ได้คิดเฉพาะว่าต้นทุนในการจ้างอาจารย์ ค่าไฟ ค่าน้ำว่าเป็นเท่าไหร่ แต่ยังต้องคำนึงถึงค่าเสียโอกาส เช่น การที่ต้องเปิดสอนวิชาหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถเปิดสอนอีกวิชาได้ เป็นต้น

เช่นเดียวกัน กำไรทางเศรษฐเศาสตร์ ก็ไม่ใช่กำไรที่เป็นตัวเงินเท่านั้น แต่คือกำไรที่อาจวัดในรูปของประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น (เช่น นักศึกษาห้าคนที่ลงเรียนมีคุณภาพมากขึ้น) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พวกต้นทุนและกำไรที่มองไม่เห็นเหล่านี้ไม่อาจวัดเป็นปริมาณได้ง่ายในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็แล้วแต่ ความคิดว่ารัฐควรให้การอุดหนุนการศึกษาที่สูงกว่าการศึกษาพื้นฐานหรือไม่นั้น ยังเป็นประเด็นที่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ซึ่งผมคิดว่ามันเกี่ยวพันไปถึงการออกแบบระบบการศึกษาในเมืองไทยเลยล่ะ

เห็นด้วยว่าเดี๋ยวนี้มหาวิทยาลัยเลิกคิดเรื่องความเป็นมนุษย์อันสมบูรณ์ไปแล้วมั้ง เพราะเห็นเปิดโครงการเอาตังค์คนเรียน (ที่อยากได้ปริญญามากกว่าความรู้) เต็มไปหมด

 

โดย: strawberry machine gun อีกที IP: 202.41.167.246 5 ตุลาคม 2550 12:15:11 น.  

 

บางทีอาจารย์อยากสอนแต่ก็ไม่ยอมเปิด ผมว่าอาจารย์หลายคนไฟเยอะน่ะ

หลายประเด็นผมก็เห็นด้วยนะคุณปิ๊ก ผมไม่แปลกใจเท่าไรที่มหาวิทยาลัยเป็นแบบนี้ เพราะตั้งแต่ปฎิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยก็ถูกก่อตั้งเพื่อรับใช้มันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

 

โดย: I will see U in the next life. 5 ตุลาคม 2550 13:01:11 น.  

 

ตอนเราเด็กๆๆ ใครๆๆกะคิดว่า เราต้องเรียนนิเทศน์ แน่เลย หรือตอนนี้ ใครกะนึกว่าเราจบนิเทศน์มาเหรอ หรือ สายแปล

เปล่าเลย ตอนเรา เรียนจบ เรารู้เราชอบดูหนัง ชอบเพลง ชอบหนังสือ แต่เราเลือกเองที่ไม่เข้าเรียน สายนิเทศน์ หรือสายมนุษย์ อักษร

เพราะอะไร

อัตราการเกิด เงินเดือนดีดี มั่นคงในอนาคต สมมุติ จบมา สี่ร้อย เกิดอย่างมากไม่เกิน 40 คน อันนี้เราคิดน๊ะ เพราะคนเราศักยภาพไม่เท่ากัน


กับการที่ชอบ ดูหนัง ฟังเพลง งานศิลปะ เรามองเป็นงานอดิเรก พักผ่อนหย่อนใจอ่า


เราอยากให้มีวิชา Skill สามขาที่เกิดขึ้นในบ้านเราเยอะๆๆ ไม่ต้องเอาวุติ ตรี โท เอก เอาชำนาญ จบมา กะทำมาหากิน ได้อ่า


แต่สิ่งที่เราใช้ในอาชีพ จริง คือสายเกษตร อ่า รากหญ้าของประเทศไทยอย่างแท้จริงอ่า ตอนนี้กะมึน กะออร์แกนนิคแว๊วววว


 

โดย: Bernadette 5 ตุลาคม 2550 13:57:35 น.  

 


อ้า วันนี้ทำไม หนีไปบล็อกไหนเจอแต่เรื่องหนักๆ 555555

เราเพิ่งคุยเรื่องนี้ไปเบื่อวันก่อนกับ อาจารย์และ นศ. หลายๆคน อย่างเรื่อง นิเทศ (เน้นภาคฟิลืมแล้วกันนะ) ตอนนี้มีหลาย มหาลัย ที่เน้นว่าตัวเอง หรู เริ่ด อุปกรณ์ไฮโซ แต่แบบ อาจารย์ หรือตัวเด็กเองมันก้ยอมรับอ่ะ ว่าเด็กก็ง่อยเหมือนเดิม อาจารย์ก็พูดเลยว่า ไม่ค่อยได้เรื่องกันเท่าไรหรอก

พี่เราคนนึงไปเป็น อจ.พิเศษ เค้าบอกว่า "พอได้ไปเรียนเมืองนอกมา ชั้นขอบอกเลยว่า อาจารย์สอนฟิล์มทุกคนในเมืองไทย สอบตก" เพราะไม่อัพเดทข้อมูลอะไรกันเลย (esp. อาจารย์มีอายุ) ง่ายๆ ฉายหนังยังฉายด้วย VDO เนี่ย ไม่ไหวนะ (ภาพแบบเน่าๆ)

เออ รู้สึกว่าธรรมศาสตร์ยังดีว่า คนน้อยๆ ก็ยังเปิดเรียน บางวิชาก็บ้าอ่ะ คนเรียน คนเดียวก็ยังเปิด หรือไป sit-in เค้าก็ไม่ว่าอะไร เรียนข้ามสาขาค่อนข้างง่าย อย่างน้อยก้ยังมีความเป้น ตลาดวิชา หลงเหลือนิดๆ

 

โดย: merveillesxx 5 ตุลาคม 2550 14:41:21 น.  

 

อืมม สมัยนี้อะไรมันก็ยากทั้งนั้นเลยเนอะ เรียนก็ยาก หางานก็ยาก ทำงานก็ยาก

ส่วนเรื่องหลักสูตรนี่คงแล้วแต่มหาวิทยาลัยนะคะ อย่างตอนเราเรียนเนี่ย อยากเรียนวิชานี้มากๆก็ไปรวบรวมเพื่อนๆได้ซักกลุ่มเล็กๆแล้วไปขออาจารย์เปิดสอนเอาก็ยังได้ อันนี้มันก็คงแล้วแต่นโยบาย แล้วแต่มหาลัย แล้วแต่อาจารย์ด้วยแหละ

 

โดย: perfect blue 5 ตุลาคม 2550 16:11:50 น.  

 

เรื่องหลักสูตรในเมืองไทย คงไม่ได้มีเฉพาะสถานศึกษาที่คุณ จขบ บอกมา แต่ว่าน่าจะมีในหลายที่และมีมานานแล้ว พวกหลักสูตรหาเงินเข้าคณะ เข้าภาค เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งบางทีผู้เรียนก็รู้ตัวอยู่แล้วว่ากำลังเรียนในหลักสูตรแบบนี้ ซึ่งอาจเป็นหลักสูตร ป โท

แต่เมื่อไรที่เป็นหลักสูตร ป ตรี ก็น่าจะเครียดได้มากกว่า เพราะว่าเป็นการเรียนเพื่อไปหางานและทำงานจริง

จะว่าไป มีหลายที่ที่เป็นแบบนั้น ออกไปทำงานก็ต้องไปเรียนกันใหม่ ใบปริญญาที่ได้มาเป็นแค่กระดาษจริงๆ

 

โดย: cottonbook 6 ตุลาคม 2550 11:21:13 น.  

 

 

โดย: เจ้าชายไร้เงา 6 ตุลาคม 2550 12:53:09 น.  

 

เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาวเลยละครับ วิชาชีวิตอย่างปรัชญาก็จะถูกทอดทิ้งด้วยระบบการตลาดอย่างที่คุณเจ้าของบล้อคว่านั่นแหละ

 

โดย: Johann sebastian Bach 6 ตุลาคม 2550 19:42:15 น.  

 

คงต้องใช้เวลา พัฒนาปรับปรุง ทั้ง หลักสูตร และคน..
อาจจะดีกว่าที่คิดก็ได้
อิสระทางความคิด ของ อะไรใหม่ๆที่ไม่เหมือนชาวบ้าน เป็นเรื่องดี..
..
แม้กรณีนี้จะเสี่ยงสักหน่อย..

 

โดย: แร้ไฟ 7 ตุลาคม 2550 1:30:46 น.  

 

การเอามหาวิทยาลัยไปผูกกับระบบทุนนิยม

สุดท้ายก็ต้องเจอผลลัพท์เช่นนี้แล...

 

โดย: ฟ้าดิน 7 ตุลาคม 2550 6:33:34 น.  

 

กวนนิดหนึ่ง รับแถก แถก อาคุงคู Michiruด้วยจ้า

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=michiru&date=06-10-2007&group=32&gblog=17

 

โดย: Bernadette 7 ตุลาคม 2550 8:27:20 น.  

 


ในฐานะคนที่เรียนการสื่อสารมวลชน และทำงานในแวดวงการสื่อสารมาตลอดตั้งแต่เรียนจบมา รับเด็กมาฝึกงานด้วยก็หลายรุ่น ขอบอกเลยว่าสิ่งที่เราเรียนมาในมหาวิทยาลัยเอามาใช้ได้ ในแง่ของแนวคิด แต่การทำงานเป็นสิ่งที่เด็กจะต้องคิดเอง ทำเอง ตื่นตัวอยู่เสมอ ซึ่งที่ผ่านมามีเด็กเพียง 2 คนในจำนวนกว่าสิบคนที่มาฝึกงานกับเรามีคุณสมบัตินี้ และตอนนี้เด็กทั้งสองคนนั้น คนหนึ่งทำงานในหนังสือพิมพ์รายวันหัวสีแดง อีกคนทำงานกับวิทยุคลื่นดังในกรุงเทพ

ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหน ก็สอนเด็กออกมาด้วยหลักสูตรไม่แตกต่างกัน คือ สอนให้เราเป็นเป็ด สอนทุกอย่าง ให้รู้ทุกเรื่อง ทั้ง นิติศาสตร์ จิตวิทยา ปรัชญา สังคมศาสตร์ เศรษฐศาตร์ ฯลฯ แต่ใครจะออกมาเป็นเป็ดง่อย หรือเป็ดที่ให้บินก็บินได้ ว่ายน้ำก็ได้ วิ่งก็ได้ แม้จะทำไม่ได้ดีนัก แต่ก็ฉลาดที่จะเอาสิ่งที่เรียนรู้ในมหาวิทยาลัยมาปรับใช้ เด็กคนนั้นจะไปได้ดีในวิชาชีพ

ส่วนเรื่องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ขอยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรู้ ความสามารถของเด็กที่จบออกไป หากคุณสอนให้เด็กของคุณพร้อม และเตรียมตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เชื่อว่าเด็กของคุณถึงแม้จะตกงานในวงการสื่อสาร แต่เขาจะไปได้ดีแน่นอน

 

โดย: tana IP: 58.147.18.179 20 ตุลาคม 2550 20:59:37 น.  

 

ทำงานอยู่แม่โจ้
แต่พออ่านการวิจารณ์แม่โจ้ก็แอบปวดใจ
คิดว่าการทำอะไรใหม่ๆมันก็คงจะทำให้เด็กรุ่นแรกๆต้องมีผลกระทบแน่ๆ อย่าว่าแต่สถาบันที่คุณพูดถึงว่าไม่เด่นด้านนิเทศที่ จขกท . ว่ามาเลยค่ะ แม้แต่สถาบันที่มีประสบการณ์มากมายด้านนี้ ก็มีเหมือนกัน ดิฉันเรียนนิเทศ ป.โทในสถาบันมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่เพิ่งเปิดมาได้ไม่นาน เพิ่งรับรุ่น 4 ไม่กี่เดือนมานี้ ทำให้ได้รู้ว่าจริงๆอะไรที่ใหม่ๆมันก็มีปัญหา มากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าผู้รับผิดชอบช่วยกันพัฒนา ในอนาคตก็คงได้เห็นคุณภาพที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามประสบการณ์ที่สั่งสม ให้กำลังทุกคน รวมถึงสถาบันที่ดิฉันกำลังเรียนอยู่นี้ด้วย

เป็นกำลังให้กับคณะทำงานนิเทศศาสตร์บูรณาการทุกท่าน ขอให้พัฒนางานต่อไปค่ะ เด็กๆจะได้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
และขอบคุณสำหรับการวิจารณ์ของ จขกท. ด้วยค่ะ

 

โดย: คนในแม่โจ้ IP: 202.69.139.194 15 สิงหาคม 2552 18:30:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


I will see U in the next life.
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add I will see U in the next life.'s blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.