มุมดีดี มีอยู่มากมาย อยู่ที่เราจะมองเห็นมันหรือไม่..เท่านั้น
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2549
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
3 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 

ปฏิจจสมุปบาท




ชาติ คำนี้ดูเหมือนทุกคนจะรู้จักในหลายๆ ความหมาย เช่นประเทศชาติ ชาตินี้ ชาติหน้า เป็นต้น จริงๆ แล้วคำว่าชาติ จะแปลว่า "เกิด" ประเทศชาติ ก็คือ ประเทศที่เกิด ชาตินี้ ก็คือ เกิดครั้งนี้ เอาเป็นว่าเรามองความหมายของชาติ ในความหมายนี้แล้วกัน ถ้าถามว่า หนึ่งชาติที่เกิดขึ้นมา ยาวนานเท่าไร ก็คงจะตอบแตกต่างกัน เราก็คงจะนับตั้งแต่ เกิด ออกจาทท้องแม่ จนถึง ตาย เข้าโลงไป ถือเป็นหนึ่งชาติ ดังนั้น ชาติหนึ่งของแต่ละคน จะสั้น ยาว ไม่เท่ากัน เพราะคนเราคงจะเกิด-ตาย ไม่พร้อมกัน บางคนอาจจะ 60-70 ปี บางคนสั้นหน่อย ตายตั้งแต่หนุ่มๆ สาวๆ ชาติก็อาจจะสั้นแค่ 20-30 ปี

ทีนี้ถ้าผมจะบอกว่า เราลองมามองชาติกันอีกแบบหนึ่ง มองในแง่มุมของความคิด มองตั้งแต่เกิด จนถึงตายเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เกิด หรือตายอย่างที่เราเข้าใจกัน ชาติหนึ่งที่ผมกำลังจะพูดถึง อาจจะสั้นแค่ 1 นาที หรือแค่ไม่กี่วินาที ซึ่งนับตั้งแต่เกิด จนตายเหมือนกัน เพียงแต่ต่างกันที่ สิ่งที่เกิด และสิ่งที่ตาย ลองติดตามต่อไปนะครับ





ปฏิจจสมุปบาท คำนี้อ่านว่า "ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด" เป็นหัวใจของพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่มีหลักของตัวเองว่า"เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับ" อาการที่สิ่งหนึ่งอาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้น แล้วก็มีการทยอยอาศัยกันเกิดต่อไปเป็นทอดๆนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท เพื่อให้เข้าใจคำนี้ เราลองพิจารณาถึง น้ำที่อยู่ในโลก ซึ่งเมื่อถูกความร้อนก็จะระเหยเป็นไอน้ำไป จะเห็นว่าไอน้ำเป็นของที่พึ่งเกิดเนื่องจากมีน้ำและความร้อน เมื่อไอน้ำระเหยไปลอยขึ้นสู่ที่สูงก็ไปรวมตัวกันกลายเป็นเมฆ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พึ่งทยอยเกิดขึ้นหลังจากน้ำกลายเป็นไอน้ำ เมื่อเมฆจับตัวกันหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะกลายเป็นน้ำฝนตกกลับมาเป็นน้ำ กลับเข้าไปสู่วงรอบเดิมได้อีก สิ่งต่างๆที่อาศัยกันแล้วก็ทยอยๆกันเกิดขึ้นเหมือนอย่างน้ำ ไปเป็นไอน้ำ ไปเป็นเมฆ แล้วก็กลับมาเป็นน้ำฝนนี้ เรียกว่าเป็นอาการของ ปฏิจจสมุปบาท

ถ้ามองเทียบเรื่องไอน้ำกับเรื่องทุกข์ หรือสุข เราก็อาจจะมองเห็นอาการที่คล้ายๆกัน เพราะมีทุกข์หรือสุข จึงมีตัวตนขึ้นมาให้รู้สึกทุกข์หรือสุข พอตัวตนมีทุกข์หรือสุขได้ที่แล้วคือมีความสุขจะถึงที่สุดแล้ว หรือเสียใจจนถึงที่สุดแล้ว ความทุกข์หรือสุขนั้นมันก็จะดับไปกลับมาเป็นภาวะปกติ ตัวตนที่พึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อสุขหรือทุกข์เมื่อตะกี้ก็จะดับลงไป มีทุกข์มีสุขอีก ก็เกิดอีก ดับอีก เป็นวงรอบไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าการเกิดหรือดับ จะเกิดขึ้นเนื่องจากมีตัวตนที่จะเกิด ตัวตนที่จะเกิดมีได้เนื่องจากมีทุกข์หรือสุข ทุกข์หรือสุข เกิดขึ้นเนื่องจากมีสิ่งมากระทบทุกอย่างจะเกิดต่อเนื่องกัน ไปเรื่อยๆ เป็นวงรอบ ถ้าเราสามารถหยุด ที่จะยึดติดกับ ทุกข์หรือสุข เราก็จะไม่ทำให้เกิดตัวตนขึ้น เมื่อไม่มีเกิด ก็ไม่มีการดับ ไม่มีภพ ไม่มีชาติ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ดังนี้




วงรอบของปฏิจจสมุปบาท เป็นวงรอบของอาการที่เกิดขึ้นเกือบจะพร้อมๆ กัน เหนี่ยวนำกัน อาการหนึ่ง จะเป็นเหตุ ให้เกิดอีกอาการหนึ่ง ประกอบไปด้วยอาการ 11 อย่าง ซึ่งวงรอบของอาการทั้ง 11 อย่างนี้เนื่องจากมันเป็นวงอยู่ เราสามารถที่จะเริ่มจับที่อาการใดอาการหนึ่ง แล้วไล่ไปข้างหน้า หรือไล่ย้อนหลังให้ครบทั้งวงรอบได้ อาการบางอย่างอาจจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันเร็วมากจนเราจับไม่ทันก็เป็นไปได้


  1. อวิชชา คือความไม่รู้ ความโง่ หรือภาวะที่ปราศจากความรู้ ไม่รู้ในเหตุที่เกิดทุกข์ อวิชชาบ่อเกิดของความอยาก เป็นปัจจัย ให้เกิดสังขาร

  2. สังขาร คือการปรุงแต่ง ไม่ยอมให้สิ่งต่างๆหยุดนิ่ง เป็นการปรุงแต่งที่ทำให้เกิดหน้าที่ทางกาย ทางวาจา และทางใจ การปรุงแต่งที่เกิดจากความไม่รู้หรืออวิชชานี้ จะน้อมนำให้เกิดวิญญาณ

  3. วิญญาณ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว ซึ่งวิญญาณนี้จะประกอบด้วยหน้าที่ของต่างๆ ของสังขาร คือวิญญาณ 6 ได้แก่ จักษุ โสต ฌาน ชิวหา กาย มโน วิญญาณทั้ง 6 นี้จะทำให้เกิดเป็นนามรูปขึ้น

  4. นามรูป นามคือร่างกาย และรูปคือจิตใจ กายคือเนื้อหนัง ตา หู จมูก ลิ้น ใจคือสิ่งที่จะอำนวยความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กายกับใจ หรือนามกับรูปนี้ต้องอยู่ด้วยกันเสมอถึงจะทำอะไรได้ ถ้าแยกจากกันแล้วก็จะทำอะไรไม่ได้ ถ้าใจไม่อำนวยความรู้สึกให้กาย สิ่งที่เข้ามากระทบกาย ก็ไม่สามารถถูกปรุงแต่งต่อไปให้เกิดเป็นสิ่งอื่นๆได้

  5. อายตนะหก อายตนะแปลว่าส่วน จุดหรือตำแหน่งสำหรับการกระทบ ซึ่งหมายถึงอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (โผฏฐัพพะ) และธรรมารมณ์ เป็นสิ่งที่เข้าคู่กัน รูปก็จะกระทบกับตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก เป็นเช่นนี้ไปเป็นคู่ๆ

  6. ผัสสะ คือการกระทบกันของสิ่งที่เป็นคู่ๆทั้ง 6 คู่ของอายตนะภายใน และอายตนะภายนอก ได้แก่ลิ้นสัมผัส รส จมูกสัมผัสกลิ่น หูกับเสียง ตากับรูป และคู่สุดท้ายคือ ใจกับความรู้สึกนึกคิด การอาศัยกระทบกันของคู่เหล่านี้จะทำให้เกิดเวทนา

  7. เวทนา คำว่าเวทนา ไม่ได้แปลว่าสงสาร หรืออะไรทำนองนั้น เวทนาหมายถึงรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ หรือรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข เช่นเรารู้สึกพอใจ สนุกสนานในใจ ก็เรียกว่าเป็น สุขเวทนา ถ้าเป็นทุกข์ ขัดใจ เดือนร้อน กลัดกลุ้ม หวาดกลัว ก็เป็น ทุกข์เวทนา เวทนาเกิดจากกระทบกัน ของอายตนะทั้งหก แล้วก็ปรุงแต่งต่อเกิดเป็นความรู้สึกสุขหรือทุกข์ เช่น ลิ้นสัมผัสรสเกิดปรุงแต่งเป็นความรู้สึกอร่อย จมูกสัมผัสกลิ่นเกิดปรุงแต่งเป็นความรู้สึกหอม

  8. ตัณหา คือความอยาก เมื่อเกิดปรุงแต่งเวทนา เกิดความรู้สึก แล้วไปเกาะติดเข้าก็จะเกิดความอยาก อยากมี อยากเป็น รสอร่อยก็อยากกินอีก ผู้หญิงสวย ก็อยากรู้จัก อยากใกล้ชิด จริงๆแล้วตัณหาหรือความอยากนี้ มีความหมายถึงสามอย่างคือ

    • ความอยากในกาม หรือกามตัณหา หมายถึงอยากได้ อยากเอาในวัตถุสิ่งของที่ตัวรักตัวชอบ
    • อยากเป็น หรือ ภวตัณหา คือการอยากเป็นโน่น อยากเป็นนี่ อยากเป็นดารา อยากเป็นเจ้านาย
    • ความอยากไม่เป็น หรือวิภวตัณหา เช่นความอยากไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ป่วย ไม่ไข้ ไม่อยากจน

    ตัณหา หรือความอยากนี้จะชักนำให้เกิดอุปาทาน

  9. อุปาทาน คือการเข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นของตน คือมีการเกิด "ตัวกู" ขึ้นมา เพื่อเป็นแกนให้ตัณหา หรือความอยากใช้เป็นหลักอาศัยยืดแขนขาออกไปยึดถือสิ่งต่างๆกลับมาว่าเป็น "ของกู" ขึ้นได้

  10. ภพ เมื่อเป็นตัวกูขึ้นมา ก็ถือว่าเกิดเป็นภพขึ้นอย่างสมบูรณ์

  11. ชาติ เมื่อมีภพ มีการเกิดของ "ตัวกู" ก็จะมีการตายของ "ตัวกู" เหมือนกัน เป็นชาติขึ้นมาหนึ่งชาติ

วงรอบทั้ง 11 อาการของ ปฏิจจสมุปบาทนี้ อาจจะเกิดขึ้น ในช่วงเวลาพริบตาเดียว และเกิดขึ้นพร้อมๆ กันต่อเนื่องกันเป็นสาย เช่นเหตุการณ์ที่เด็กทำตุ๊กตาตกแตก แล้วร้องไห้ เพียงแค่นี้ ก็เกิดปฏิจจสมุปบาทเต็มรอบแล้วโดยเริ่มจาก ตากับรูปกระทบกันเป็นผัสสะ เกิดเป็นจักษุวิญญาณขึ้นมา มองเห็นตุ๊กตาตกแตก เกิดมีเวทนาคือความรู้สึก รับรู้ว่าตุ๊กตาตกแตก เกิดกามตัณหาความอยากในสิ่งที่รักคือตุ๊กตา เกิดอุปาทาน ปรุงแต่งกายและใจเกิดเป็นตัวกูขึ้นมาจนเป็นทุกข์เนื่องจากเป็นตุ๊กตาของกู ตกแตกไปเสียแล้ว เมื่อถึงขึ้นนี้ภพของตัวกู เกิดขึ้นมาเป็นหนึ่งชาติ จนครบอาการของปฏิจจสมุปบาทเรียบร้อยไปแล้ว




ทีนี้เราจะเอาหลักนี้ไปใช้ได้อย่างไร ผมอยากลองถามว่า เคยมั๊ยครับที่พอมีคนมาวิจารณ์งานของเราว่า "ดูไ่ม่ค่อยได้เรื่อง ห่วย" แล้วเราจะรู้สึกร้อนๆขึ้นมาในใจ เริ่มไม่พอใจ อยากจะพูดหรือด่าอะไรออกไปแรงๆ ซึ่งจริงๆแล้วงานของเราอาจจะห่วยจริงๆก็ได้ แต่วินาทีนั้น เพราะเราเริ่มตีความคำพูดซึ่งเป็นเสียงที่มากระทบ (ผัสสะ) หูของเรา พอตีความเราก็จะเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ (เวทนา ตัณหา อุปาทาน) ขึ้นเพราะคนอื่นกำลังด่าว่างาน "ของกู" ไม่ดี ซึ่งเมื่อถึงขึ้นนี้ก็ถือว่าเกิดเป็นภพ เป็นชาติหนึ่งขึ้นมาสมบูรณ์แล้ว

ลองมองอีกแบบหนึ่ง ถ้าเราไม่ตีความเสียงนั้นไปก่อนล่ะ ถ้าเรามีสติ หยุดการตีความเสียง (อายตนะภายนอก) ที่มากระทบหูเรา (อายตนะภายใน) ให้กลายไปเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต แต่หยุด เพื่อที่จะใช้สติ ใช้ปัญญา (วิชชา) ที่เรามี คิดว่าสิ่งที่คนอื่นเค้าพูดมา มันจริงไม่จริงแค่ไหน ถ้าจริงเราก็จะได้แก้ไข ถ้าคิดว่าไม่จริงเราก็ชี้แจงสอบถามให้ชัดเจนได้ จะเห็นว่าถ้าเรามีสติรู้อาการของสิ่งที่จะเกิดขึ้น เราจะสามารถทำงานของเราได้ดีขึ้น สามารถจะจัดการกับสิ่งต่างๆที่จะเข้ามากระทบ (ผัสสะ) แทนที่จะตีความให้เกิดเป็นทุกข์ เป็นเรื่องเป็นราวใช้วาจาห้ำหั่นกัน คนที่สามารถจะทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นคนที่ต้องการของบริษัท เพราะเค้าจะสามารถจัดการกับงานต่างๆได้ดีกว่า คนที่มัวแต่ตีความ


หนังสืออ้างอิง

  • "เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัท ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ" โดย พุทธทาสภิกขุ จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา ปี 2542
  • คำบรรยายหลักพระพุทธศาสนา ประจำปี 2504 เรื่อง "หลักธรรมที่แสดงความว่าง " โดย พุทธทาสภิกขุ จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา ปี 2542, ISBN:974-8415-90-2





 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2549
9 comments
Last Update : 4 พฤษภาคม 2549 0:09:04 น.
Counter : 1648 Pageviews.

 

สาธุครับ

ขอแนะนำเพิ่มเติม การอธิบาย ปฏิจจสมุปบาทธรรม ในอีกมุม ครับ

ปฏิจจสมุปบาทธรรม
ตามแนวพระราชนิพนธ์ ของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ตามลิ้งค์นี้ครับ
//www.mahamakuta.inet.co.th/T-BOOK/Rama4Paticca.html

 

โดย: คนโบราณ IP: 203.144.219.214 3 พฤษภาคม 2549 9:17:38 น.  

 

คำถาม ให้คิดเล่นๆ

หางจิ้งจก เมื่อหลุดจากตัวจิ้งจก แล้วดิ้นกระแด่วๆ อยู่
เราเอาไม้ไปเขี่ย แล้วปรากฏว่าหางจิ้งจกดิ้นหนีไม้

ถามว่า

หางจิ้งจกมี ผัสสะ หรือไม่

 

โดย: คนโบราณ IP: 203.144.219.214 3 พฤษภาคม 2549 9:21:35 น.  

 

เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท นี้เป็นเรื่องที่ผมอ่านเท่าไหร่ไม่เข้าใจซักที
ถ้าแยกแยะเป็นข้อ ๆ อ่านพอเข้าใจ แต่ถ้ามองเป็น วงรอบของปฏิจจสมุปบาท เมื่อไหร่มึนทันทีครับ
ปัญญายังน้อยอยู่ต้องมาอ่านบ่อย ๆ ขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของบล๊อกด้วยครับ

 

โดย: 90210 3 พฤษภาคม 2549 10:24:24 น.  

 

ขอบคุณทุกคนที่มาเยี่ยมครับ.. แล้วจะตามไปดูที่ลิงค์นะครับ



 

โดย: dharma 3 พฤษภาคม 2549 17:27:56 น.  

 

เอามาทำเป็น link ให้ครับ
เข้าไปอ่านดูนิดนึงแล้ว.. น่าสนใจมากๆ
เดี๋ยวต้องหาเวลาเข้าไปอ่านในจบ
ขอบคุณ คุณคนโบราณ มากครับ

ปฏิจจสมุปบาทธรรม
ตามแนวพระราชนิพนธ์ ของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4



 

โดย: dharma 3 พฤษภาคม 2549 17:37:44 น.  

 


สวัสดีครับ วันนี้ผมได้รับความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยครับ ขอบคุณที่นำสิ่งดีๆมาฝากครับ

 

โดย: หนุ่มร้อยปั (หนุ่มร้อยปี ) 3 พฤษภาคม 2549 21:58:04 น.  

 

สาธุค่ะ

 

โดย: กิ่งไม้ไทย 4 พฤษภาคม 2549 1:59:57 น.  

 

สาธุครับ

 

โดย: คนโบราณ IP: 203.144.219.214 4 พฤษภาคม 2549 9:45:15 น.  

 

ขออนุโมทนาด้วยครับ

 

โดย: gvlFaj IP: 124.157.166.66 10 เมษายน 2551 15:24:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


NETA Dad
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]














ไหนๆก็มาแล้ว แวะไป
เซ็นสมุดเยี่ยม
หน่อยนะครับ

วันเกิด blog นี้ : 2 กุมภา 49
















Friends' blogs
[Add NETA Dad's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.