ท่านทั้งหลายจงดูดาบสผู้มีตบะอันรุ่งเรืองนี้
ดาบสนี้กระทำความปรารถนายิ่งใหญ่เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า
ความปรารถนาของเขาจักสำเร็จ ในที่สุดแห่งสี่อสงไขยกับเศษแสนกัปนับแต่นี้

... บล็อคง่ายๆ ของนายอังคาร ...

Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
24 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
๕. ปาฏิหาริย์เคลื่อนพระธรรมจักร

เสวยวิมุติสุข
หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงเสวยวิมุติสุขอยู่ ๗ สัปดาห์ ใน สัตตมหาสถาน คือ สถานที่ ๗ แห่งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันนั้น คือ

สัปดาห์ที่ ๑ โพธิบัลลังค์
พระพุทธองค์ยังคงประทับนั่งขัดสมาธิเข้าฌานสมาบัติอยู่ใต้ร่มโพธิพฤกษ์ เสวยวิมุตติสุขตลอด ๗ วัน เทวดาเห็นพระพุทธองค์ยังคงประทับนั่งอยู่ เกิดสงสัยว่าพระพุทธองค์ตรัสรู้หมดสิ้นแล้วหรือยัง พระพุทธองค์จึงทรงคลายความแคลงใจโดยเสด็จขึ้นไปในนภากาศ ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์เป็นครั้งแรก

สัปดาห์ที่ ๒ อนิมิสเจดีย์
หลังจากแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปประทับยืนอยู่บนพื้นในทิศอีสาน ทอดพระเนตรดูโพธิบัลลังก์ที่ประทับนั่งจนตรัสรู้ โดยไม่กระพริบตาเลยตลอด ๗ วัน
จุดที่พระพุทธองค์ประทับยืนอยู่นี้ เรียกว่า อนิมิสเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๓ รัตนจงกรมเจดีย์
ลำดับถัดมา พระพุทธองค์ได้เสด็จเดินจงกรมระหว่าง โพธิบัลลังก์ กับ อนิมิสเจดีย์ ทางเสด็จเดินจงกรมนี้เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๔ รัตนฆรเจดีย์
สัปดาห์ถัดมา เทวดาได้เนรมิตเรือนแก้วถวายทางทิศตะวันตก พระพุทธองค์จึงเสด็จเข้าไปประทับนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้ว ทรงพิจารณาอภิธรรมปิฎก คือ สมันตปัฏฐาน เรือนแก้วนี้เรียกว่า รัตนฆรเจดีย์

สัปดาห์ที่ ๕ อชปาลนิโครธ
พระพุทธองค์เสด็จออกจากเรือนแก้วไปประทับนั่งใต้ต้นนิโครธที่คนเลี้ยงแพะชอบมานั่งพัก จึงเรียกว่าต้น อชปาลนิโครธ
ฝ่ายพระยามารที่ยังเฝ้าดูอยู่รู้สึกเสียใจที่พระองค์พ้นบ่วงมารไปแล้ว ไม่มีช่องทางใดเลยที่จะทำลายพระพุทธองค์ได้อีก จึงนั่งอยู่ริมทางใหญ่ คิดถึงเหตุ ๑๖ ประการที่ตนพ่ายแพ้พระพุทธองค์ด้วยความเสียใจ

พระยามารเสียใจว่า
เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญทานบารมี เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๑ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญศีลบารมี เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๒ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญเนกขัมมะบารมี เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๓ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญปัญญาบารมี เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๔ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญวิริยะบารมี เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๕ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญขันติบารมี เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๖ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญสัจจะบารมี เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๗ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญอธิษฐานบารมี เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๘ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญเมตตาบารมี เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๙ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญอุเบกขาบารมี เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๑๐ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่มีอาสยานุสยญาณ เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๑๑ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่มีอินทริยปโรปริยญาณ เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๑๒ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่มีมหากรุณาสมาปัตติญาณ เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๑๓ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่มียมกปาฏิหาริยญาณ เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๑๔ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่มีอนาวรณญาณ เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๑๕ ลงบนแผ่นดิน
เพราะเราไม่มีสัพพัญญุตญาณ เราจึงพ่ายแพ้สิทธัตถะ
แล้วพระยามารก็ขีดเส้นที่ ๑๖ ลงบนแผ่นดิน


ขณะนั้น ธิดาพระยามาร ๓ นาง คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา เห็นบิดานั่งโทมนัสอยู่ จึงอาสาจะนำตัวพระพุทธองค์มาให้ได้ พวกนางใช้มายาหญิงจำแลงกายเป็นหญิงงาม ๓ วัยที่บุรุษหลงใหล คือ หญิงปฐมวัย หญิงมัชฌิมวัย และหญิงปัจฉิมวัย เข้าไปยั่วยวนพระพุทธองค์ด้วยเสน่ห์ราคะ แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงสนพระทัย ตรัสว่า
“พวกเธอจงหลีกไป เสน่ห์และราคะหญิงนี้จะมีผลแก่คนผู้ยังไม่ปราศจากราคะเท่านั้น แต่ตถาคตละราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ตถาคตชนะแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ใดเมื่อชนะแล้วจะไม่กลับแพ้อีก”
ธิดามารทำลายพระพุทธเจ้าไม่ได้จึงกลับไปหาพระยามาร พระยามารจึงเข้าไปกราบทูลพระพุทธองค์ขอเชิญเสด็จปรินิพพาน แต่พระพุทธองค์ตรัสบอกมารว่าตราบใดที่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ยังไม่ได้รับการแนะนำ และสืบทอดพระธรรมต่อไปได้อย่างมั่นคง พระองค์ก็จะยังไม่ปรินิพพาน

สัปดาห์ที่ ๖ ต้นมุจลินท์
พระพุทธองค์เสด็จจากต้น อชปาลนิโครธ ไปประทับเสวยวิมุตติสุขภายใต้มุจลินท์ต้นจิก ครั้งนั้น ฝนส่งท้ายฤดูร้อนก็ตกพรำตลอด ๗ วัน พระยามุจลินทนาคราชมีความศรัทธา จึงมาเนรมิตตนให้ใหญ่วงเป็นขนดล้อมพระพุทธองค์ไว้ ๗ รอบ และแผ่พังพานไว้เบื้องบนป้องกันละอองฝนไว้ให้

สัปดาห์ที่ ๗ ต้นราชายตนะ
พระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขอีก ๗ วัน ใต้ต้นราชายตนะหรือต้นเกดทางทิศใต้ เมื่อทรงออกจากฌานสมาบัติแล้ว ท้าวสักกะเทวราช ได้นำผลสมอ ไม้สีทนต์นาคลดา และน้ำบ้วนพระโอษฐ์จากสระอโนดาต มาถวาย



อธิษฐานประสานบาตร
เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุตติสุขแล้ว ๗ สัปดาห์ เทพธิดานางหนึ่งซึ่งอยู่แถวนั้นคิดว่าพระพุทธองค์ทรงอดพระกระยาหารมาแล้วถึง ๔๙ วัน ไม่อาจดำรงพระชนมชีพอยู่ได้ จึงดลใจบุตรสองคนในอดีตชาติซึ่งบัดนี้เกิดเป็นพ่อค้าชาวอสิตัญชนนครในอุกกุลาชนบท พี่ชายชื่อ ตปุสสะ น้องชายชื่อ ภัลลิกะ ให้คุมขบวนเกวียนสินค้า ๕๐๐ เล่มหลงทางผ่านเข้ามาใกล้ แล้วทำให้ขบวนเกวียนหยุด ประสงค์จะให้บุตรทั้งสองได้ถวายพระกระยาหาร
ตปุสสะและภัลลิกะตรวจหาสาเหตุไม่พบว่าทำไมขบวนเกวียนจึงหยุด เข้าใจว่าถูกภูตผีกลั่นแกล้ง ขณะนั้นเทพธิดาได้สิงร่างบุรุษคนหนึ่งบอกว่า เราเป็นมารดาของพวกเจ้าเมื่อ ๕ ชาติล่วงมาแล้ว บัดนี้เป็นภุมเทวดาอยู่ที่นี่ มาเพื่อบอกว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ขณะนี้ประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นเกด ให้พวกเจ้าไปถวายบิณฑบาตเป็นครั้งแรกแด่พระองค์เถิด
ตปุสสะและภัลลิกะดีใจ นำข้าวสัตตุผงและข้าวสัตตุก้อน เข้าไปถวายพระพุทธองค์ แต่ขณะนั้นพระพุทธองค์ไม่มีบาตร ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ต่างองค์จึงต่างนำบาตรศิลามาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับบาตรทั้งสี่ใบซ้อนกันแล้วอธิษฐานประสานบาตรทั้งสี่ให้เป็นบาตรเดียว
เมื่อถวายภัตตาหารเสร็จแล้ว พ่อค้าทั้งสองก็ประกาศตนเป็นอุบาสกคู่แรกที่เข้าถึงพระพุทธและพระธรรม (เรียกว่าเทววาจิกอุบาสก) และทูลขอสิ่งควรระลึกถึง ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงลูบพระเศียรมอบเส้นพระเกศาที่ติดพระหัตถ์ออกมาให้ ๘ เส้น สองพ่อค้ารับพระเกศาธาตุนั้นแล้วบรรจุลงในผอบทองคำนำกลับไปนครของตน พระเกศธาตุทั้ง ๘ เส้นนี้ประดิษฐานอยู่ที่ประตูอสิตัญชนนคร ทุกวันอุโบสถจะมีรัศมีสีนิลเปล่งออกมาให้เห็นเป็นอัศจรรย์



พระพรหมอาราธนา
พระพุทธองค์ทรงพิจารณาทบทวนพระสัทธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ ปริวิตกว่าธรรมที่ตรัสรู้นั้นลึกซึ้งยิ่งนักยากจะหาสัตว์เข้าใจได้ พระองค์จึงน้อมพระทัยไปว่าจะไม่แสดงธรรม ท้าวสหัมบดีพรหมทรงทราบปริวิตกของพระพุทธองค์ จึงลงมาจากพรหมโลกกราบทูลว่าสัตว์โลกผู้มีปัญญานั้นมีอยู่ ขออาราธนาให้พระองค์เทศนาสั่งสอนสรรพสัตว์ด้วยเถิด
พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาสรรพสัตว์อีกครั้ง ดำริว่าคนบางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า คือ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา สามารถบรรลุธรรมได้นั้นมีอยู่ แต่คนบางพวกก็เขลาเบาปัญญาหนักหนาด้วยกิเลสไม่อาจสั่งสอนได้ ทรงจำแนกสัตว์เป็น ๔ เหล่า คือ

๑. อุคฆติตัญญู
คือ สัตว์ผู้มีปัญญามาก เข้าใจได้รวดเร็วเฉียบพลันเพียงแค่ยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง
เหมือนดอกบัวพ้นน้ำ เพียงได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ก็จะบานในวันนี้
๒. วิปจิตัญญู
คือ สัตว์ผู้มีปัญญาปานกลาง เข้าใจได้ต่อเมื่อขยายความให้ละเอียด
เหมือนดอกบัวเสมอน้ำ พร้อมจะบานในวันพรุ่งนี้
๓. เนยยะ
คือ สัตว์ผู้มีปัญญาน้อย เข้าใจได้เมื่อขยายความให้ละเอียด และสั่งสอนซ้ำแล้วซ้ำอีก
เหมือนบัวใต้น้ำที่จะโผล่พ้นน้ำและเบ่งบานในวันต่อๆ ไป
๔. ปทปรมะ
คือ สัตว์ผู้ไม่มีปัญญา แม้ฟังถ้อยพระธรรมจนจำตัวบทได้ แต่ไม่มีความเข้าใจ
เหมือนบัวอยู่ใต้โคลนตมเป็นได้เพียงภักษาของเต่าและปลา


เมื่อพิจารณาสรรพสัตว์แล้วทรงเห็นว่าสัตว์ที่สั่งสอนได้มีอยู่ พระพุทธองค์จึงรับอาราธนาท้าวสหัมบดีพรหมเพื่อแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ผู้สั่งสอนได้ต่อไป



โปรดอุปกาชีวก
ลำดับแรกพระพุทธองค์ดำริว่าจะแสดงธรรมแก่ใครก่อนดี ทรงรำลึกถึงอาฬารดาบสก็รู้ด้วยพระญาณว่าดาบสทำกาละไปอุบัติเป็นอรูปพรหมแล้วเมื่อ ๗ วันก่อน ส่วนอุทกดาบสก็เพิ่งทำกาละไปแล้วเมื่อพลบค่ำเย็นวานนี้ จึงรำพึงถึงปัญจวัคคีย์ ทรงทราบว่าปัญจวัคคีย์ขณะนี้อยู่ที่ป่าอิสิปตนะ พระองค์จึงเสด็จไปเพื่อแสดงธรรม
พระพุทธเจ้าในอดีตนั้นเมื่อจะแสดงปฐมเทศนา มักจะแสดงปาฏิหาริย์เสด็จไปทางอากาศ แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นปริพาชกผู้หนึ่งชื่อ อุปกาชีวก มีวาสนาบารมีจะได้บรรลุธรรมในอนาคต พระองค์จึงเสด็จไปโดยพระบาทเพื่อพบอุปกาชีวกระหว่างทาง
อุปกาชีวกได้พบพระพุทธองค์ระหว่างทางโพธิพฤกษ์กับตำบลคยา เขาเห็นพระพุทธองค์มีอินทรีย์ผ่องใส มีผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงทูลถามพระองค์ว่า ท่านบวชอุทิศใคร? ใครเป็นศาสดาของท่าน?
พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่มีใครเป็นอาจารย์ พระองค์ตรัสรู้ธรรมเอง พระองค์เป็นผู้ชนะกิเลสทั้งมวลแล้ว เป็นพระพุทธเจ้าผู้หาใครเสมอเหมือนมิได้ อุปกาชีวกแลบลิ้นทูลว่า เป็นให้พอเถิดพ่ออนันตชิน แล้วส่ายศีรษะเดินจากไป
อุปกาชีวกผู้นี้เดินทางต่อไปจนถึงนิคมแห่งหนึ่ง นายพรานคนหนึ่งเลื่อมใสคิดว่าเป็นพระอรหันต์จึงสร้างที่อยู่ให้และนิมนต์ให้พักอยู่ที่นั้น ต่อมาอุปาชีวกได้ลาสึกและได้ธิดานายพรานเป็นภรรยา จนกระทั่งมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง ภรรยานายอุปกะชอบร้องเพลงกล่อมบุตรกระทบกระเทียบว่านายอุปกะเป็นคนไม่มีวิชา เป็นได้แค่กรรมกรแบกเนื้อ นายอุปกะโกรธจึงคิดหาข้อดีเอาชนะภรรยา
ขณะนั้นชื่อเสียงของพระพุทธองค์บรรลือไกลแล้ว นายอุปกะจึงยกเอาพระศาสดาขึ้นมาข่มภรรยาว่า ถึงตัวเขาจะเป็นแค่คนแบกเนื้อ แต่เขาก็มีเพื่อนเป็นถึงพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ชื่อว่า อนันตชิน ในเมื่อภรรยาดูถูก เขาก็จะกลับไปหาเพื่อนคนนั้น แล้วนายอุปกะก็ทิ้งภรรยาหนีออกจากเรือนไปตามหาพระพุทธองค์ นายอุปกะได้ฟังธรรมจากพระศาสดาซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่สาวัตถี ฟังธรรมจบแล้วสำเร็จเป็นพระอนาคามี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทันทีเมื่อทำกาละไปอุบัติเป็นพระพรหมในสุทธาวาสพรหมโลก



ปฐมเทศนา
หลังจากพบอุปกาชีวกแล้ว พระผู้มีพระภาคก็เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสีในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกลจึงนัดหมายกันว่า พระสมณะโคดมคลายความเพียรแล้ว กลายเป็นผู้มักมากแล้ว คงมาหาเราเพื่อให้พวกเราปรนนิบัติเหมือนแต่ก่อน พวกเราจงพร้อมใจกันอย่าไหว้ อย่าลุกขึ้นต้อนรับ อย่ารับบาตรและจีวร เราแค่วางอาสนะไว้ให้พระองค์ประทับนั่งให้เหมาะสมกับวรรณะเท่านั้นก็พอ
พระผู้มีพระภาคทรงทราบดำรินั้นจึงทรงแผ่พระเมตตาไปให้ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปถึงพวกปัญจวัคคีย์จึงพากันหลงลืมข้อตกลง ลุกขึ้นต้อนรับพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรจีวร รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งนำน้ำมาล้างพระบาท รูปหนึ่งตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย ทำเหมือนที่เคยอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคมาก่อน เพียงแต่ไม่ได้ทำด้วยความนอบน้อม แต่ทำด้วยกิริยากระด้างกระเดื่อง
เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับนั่งแล้ว ปัญจวัคคีย์ได้ทูลถามว่า
สมณโคตมะ ท่านมีธุระสิ่งใดจึงมานี่ ?
อาวุโส ท่านเลิกบำเพ็ญเพียรแล้วหรือ ?
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า ดูกรภิกษุ พวกเธออย่าเรียกตถาคตโดยชื่อ หรือใช้คำว่าอาวุโส ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว พวกเธอจงสดับธรรมอันยอดเยี่ยมเถิด
ปัญจวัคคีย์กล่าวว่า อาวุโส แต่ก่อนท่านบำเพ็ญทุกรกิริยายากลำบากเห็นปานนั้นยังไม่ได้บรรลุอมตธรรม บัดนี้ท่านกลายเป็นผู้มักมาก คลายความเพียรแล้ว ไฉนเลยจักบรรลุอมตธรรมได้เล่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ได้เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว พวกเธอจงสดับธรรมอันยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่ผู้ออกจากเรือนทั้งหลายปรารถนาเถิด
ปัญจวัคคีย์ฟังแล้วยังไม่เชื่อ ทูลค้านถึงสามครั้ง จนเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า พวกเธอเคยได้ยินตถาคตพูดว่าตรัสรู้ธรรมแล้วมาก่อนหรือ ตถาคตไม่เคยพูดคำเหล่านี้เพราะตถาคตยังไม่ได้บรรลุธรรม แต่บัดนี้ตถาคตตรัสรู้แล้วจึงกล้ายืนยันกับพวกเธอ ปัญจวัคคีย์พิเคราะห์ตามก็เห็นจริง จึงสงบนิ่งฟังธรรม
พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนนั้นมักหลงสุข ติดอยู่กับสุขในกามคุณอารมณ์ คือ ติดรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส อันอ่อนนุ่ม อ่อนหวาน สบายกาย สบายใจ น่าใคร่ น่าพอใจ ส่วนบรรพชิตผู้ออกบวชก็หลงทางไปปฏิบัติทรมานตนด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยาอันหาประโยชน์มิได้ คำของปัญจวัคคีย์เมื่อสักครู่ก็ชี้ชัดว่ายังมีความเชื่อมั่นในการบำเพ็ญทุกรกิริยาว่าเป็นหนทางพ้นทุกข์ แต่พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้วด้วยพระองค์เองว่าความสุขสบายจนเกินควร และความทุกข์ทรมานกายจนสุดโต่งนั้นเป็นส่วนสุดสองอย่างที่ไม่ใช่หนทางสู่การหลุดพ้น จึงทรงเริ่มต้นแสดงธัมมจักกัปวัตนสูตรเป็นปฐมเทศนา ทรงชี้ว่าส่วนสุดสองอย่างนั้นเป็นหนทางที่ผิดควรละเสีย แล้วปฏิบัติด้วยทางสายกลางอันเป็นหนทางที่ถูก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ส่วนสุดสองอย่างนี้บรรพชิตผู้หวังโมกขธรรมไม่ควรเสพ คือ กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้พัวพันด้วยความสุขในกามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสอันน่าใคร่น่าพอใจ กามคุณเหล่านี้เป็นของเลว การหลงพัวพันในกามคุณนั้นเป็นหนทางที่หย่อนเกินไป ทำให้ติดสุข เกิดราคะและโมหะ ไม่เกิดประโยชน์ เป็นวิถีของปุถุชน ไม่เหมาะแก่พระอริยะ และ อัตตกิลมถานุโยค การประกอบความเพียรในการทรมานตนให้ลำบาก เป็นหนทางที่ตึงเกินไป เพราะนำมาซึ่งความทุกข์ ลำบากเปล่า หาประโยชน์ไม่ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ฟุ้งซ่าน เกิดโทสะและโมหะ เป็นวิถีของเดียรถีย์ ไม่เหมาะแก่พระอริยะ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ทางที่พอเหมาะพอดีแก่พระอริยะ คือ มัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติในทางสายกลางให้สม่ำเสมอพอดี ไม่ดิ่งไปหาส่วนสุดสองอย่างนั้น ทำให้เกิดความสงบ เกิดจักษุญาณ เกิดปัญญารู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน


ทรงขยายความว่าทางสายกลางนั้นคือ มรรค ๘

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปฏิปทาสายกลางที่ทำให้เกิดความสงบ เกิดจักษุญาณ เกิดปัญญารู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น ชื่อว่า อริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ ความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑

เห็นชอบเป็นไฉน ?
ความเชื่อที่เป็นกุศล คือ เชื่อว่าการให้ทานมีผล วิบากของกรรมดีมีผล วิบากของกรรมชั่วมีผล เชื่อว่าโลกหน้ามี ตายแล้วไม่สูญ รู้เคารพบิดามารดาและสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นี้แลเป็นความเห็นชอบหรือสัมมาทิฐิ

ดำริชอบเป็นไฉน ?
ความดำริเพื่อออกจากกาม ตัดความพยาบาท ตัดความเบียดเบียน นี้แลคือดำริชอบหรือสัมมาสังกัปปะ

เจรจาชอบเป็นไฉน ?
ความสำรวมในการพูด เว้นจากการพูดเท็จ พูดยุให้แตกกัน พูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อ นี้แลคือเจรจาชอบหรือสัมมาวาจา

การงานชอบเป็นไฉน ?
การเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย นี้แลเรียกว่าการงานชอบคือสัมมากัมมันตะ

เลี้ยงชีวิตชอบเป็นไฉน ?
การละการเลี้ยงชีพด้วยทุจริต แต่เลี้ยงชีพด้วยสุจริต บำเพ็ญจิตให้ไกลจากข้าศึก เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แลเรียกว่าเลี้ยงชีวิตชอบหรือสัมมาอาชีวะ

พยายามชอบเป็นไฉน ?
การปรารภความเพียร พยายามประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้อกุศลธรรมลามกที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมลามกที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น และเพื่อยังกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่ ไพบูลย์ขึ้น นี้แลคือพยายามชอบหรือสัมมาวายามะ

ระลึกชอบเป็นไฉน ?
การมีปกติระลึกพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ เห็นจิตในจิตอยู่ เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ ตัดความพอใจและไม่พอใจในโลกเสียได้ นี้แลคือระลึกชอบหรือสัมมาสติ

ตั้งจิตชอบเป็นไฉน ?
การตั้งจิตให้มีสมาธิ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงฌานทั้งสี่ คือปฐมฌานอันมีวิตก วิจาร ปีติ และสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ เข้าถึงทุติยฌานอันผ่องใส มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ วิตกวิจารระงับไป เข้าถึงตติยฌานอันมีสุขอยู่ด้วยนามกาย มีปีติสิ้นไป มีความรู้ตัวทั่วพร้อม และเข้าถึงจตุตฌานอันละสุขและทุกข์เสียได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา นี้แลคือตั้งจิตชอบหรือสัมมาสมาธิ


ทรงชี้ทางต่อไปว่าเมื่อปฏิบัติตามมรรค ๘ แล้ว จิตจะเข้าสู่ฌานและสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิแล้วย่อมเกิดปัญญาพิจารณาเห็นธรรมแท้ คือ อริยสัจ ๔

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ปฏิปทาสายกลางนี้แหละ เมื่อเจริญให้มากเจริญให้ยิ่งแล้ว ย่อมตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ เข้าถึงความจริงแท้ ๔ อย่าง เรียกว่า อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
ทุกขอริยสัจ ความจริงแท้ของความทุกข์ ทุกข์กาย คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ ทุกข์ใจ คือ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่ออุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตนของเรานี่แหละเป็นทุกข์
สมุทัยอริยสัจ ความจริงแท้ของเหตุให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหาอันทำให้เกิดชาติภพใหม่ไม่มีสิ้นสุดทั้ง ๓ อย่าง คือ กามตัณหา-ความกำหนัด ภวตัณหา-ความอยากได้อยากมี ความรัก ความชอบใจ ความพอใจ วิภวตัณหา-ความไม่อยากได้ไม่อยากมี ความเกลียดชัง ความไม่ชอบใจ ความไม่พอใจ ตัณหานี้แหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
นิโรธอริยสัจ ความจริงแท้ว่าความดับทุกข์ คือ ความดับสนิทของตัณหาด้วยความจางไป คลายไป สละไป ปล่อยวางไป สำรอกไป ไม่หลงเหลือตัณหาใดๆ อีก เมื่อตัณหาดับไปไม่มีเหลือนั่นแหละคือทุกข์ดับ
มรรคอริยสัจ ความจริงแท้ว่าหนทางดับทุกข์ คือ การไม่ยึดมั่นถือมั่น การสละ ละ วาง ปล่อยไปไม่พัวพัน เป็นหนทางให้ดับทุกข์ได้ไม่มีเหลือ

พระพุทธองค์ทรงขยายความว่าการเข้าถึงอริยสัจ ๔ นี้ ต้องเป็นไปด้วยรอบ ๓ หรือปริวัฏฏ์ ๓ คือใช้ สัจจญาณ เพื่อรู้อริยสัจ เมื่อรู้อริยสัจแล้วก็ใช้ กิจจญาณ พิจารณาว่าควรทำอย่างไรกับอริยสัจที่ได้รู้ และเมื่อทำแล้วก็ใช้ กตญาณ พิจารณาว่าได้ทำในสิ่งที่ควรทำสำเร็จแล้ว
การปฏิบัติโดยรอบ ๓ ในอริยสัจ ๔ นี้รวมเรียกว่าปฏิบัติโดยรอบ ๓ อาการ ๑๒

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า
ทุกข์ทั้งหลายมีอยู่
ทุกข์ทั้งหลายควรกำหนดรู้
ทุกข์ทั้งหลายเรากำหนดรู้แล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า
สมุทัยมีอยู่
สมุทัยควรละเสีย
สมุทัยเราได้ละแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า
นิโรธมีอยู่
นิโรธควรทำให้แจ้ง
นิโรธเราทำให้แจ้งแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า
มรรคมีอยู่
มรรคควรทำให้เจริญ
มรรคเราทำให้เจริญแล้ว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ญาณทัศนะอันบริสุทธิ์เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ด้วยการวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ เราจึงปฏิญาณตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว วิมุติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นที่สุด บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก


ในที่สุดแห่งปฐมเทศนา โกณฑัญญะพราหมณ์และพระพรหม ๑๘ โกฏิ เกิดปัญญาสว่างไสวรู้เท่าทันสภาวธรรมว่ามีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และมีความดับไปเป็นธรรมดา เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เทวดาทั้งหลายพากันบันลือเสียงแซ่สร้องขึ้นไปถึงสรวงสวรรค์ แม้พระพรหมก็บันลือเสียงขึ้นไปจนถึงสุทธาวาสพรหมโลก
จากนั้นพระพุทธองค์ทรงประธานเอหิภิกขุแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นภิกษุชุดแรกในพุทธศาสนา และวันต่อๆ มาทรงแสดงปกิณกธรรมจนพระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ สำเร็จเป็นพระโสดาบันตามลำดับ



พระอรหันต์ชุดแรกในโลก
เมื่อพระปัญจวัคคีย์สำเร็จเป็นพระโสดาบันหมดแล้ว ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นว่าพระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว ถึงพร้อมแล้วด้วยพละ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา พระองค์จึงทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรสำหรับเจริญวิปัสสนาให้รู้เท่าทันไตรลักษณ์เพื่อวิมุติสุขเบื้องสูงต่อไปว่า

ดูกรภิกษุ
สัตว์ทั้งหลายมีอุปาทานในขันธ์ ๕ ยึดมั่นถือมั่นว่าขันธ์ ๕ เป็นอัตตา ยึดถือว่า รูป คือสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายนั้นเป็นเรา เป็นตนของเรา ปรารถนาให้ เวทนา คือความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือความรู้สึกเฉยๆ เป็นไปดังใจหวัง อยากได้ สัญญา คือความจำได้หมายรู้แต่ความรู้สึกดีๆ ที่ชอบใจ พยายามสร้าง สังขาร คือปรุงแต่งความคิดอยากเป็นโน่นอยากเป็นนี่เรื่อยไปไม่สิ้นสุด และยังหลงใหลอีกว่า วิญญาณ คือจิตรับรู้ความรู้สึกของทวารทั้งหลายเป็นของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั้นแท้จริงเป็นอนัตตา ไม่เป็นตนอะไรของเราเลย หากขันธ์ ๕ เป็นอัตตา เป็นตนของเรา เราพึงบังคับได้ว่าขันธ์ ๕ จงเป็นอย่างนี้เถิด ขันธ์ ๕ อย่าเป็นอย่างนั้นเลย แต่เพราะขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ขันธ์ ๕ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ เราบังคับไม่ได้เลยว่าขันธ์ ๕ จงเป็นอย่างนี้เถิด ขันธ์ ๕ อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย
ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั้นไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยงย่อมเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนว่านั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแล ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ เธอทั้งหลายพึงใช้ปัญญาอันชอบเห็นตามเป็นจริงว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกผู้มีปัญญาเห็นจริงแล้วอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เบื่อหน่ายในเวทนา เบื่อหน่ายในสัญญา เบื่อหน่ายในสังขาร และเบื่อหน่ายในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อสิ้นกำหนัดจิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้วก็มีญาณทัศนะรู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นย่อมสิ้นชาติ อยู่จบพรหมจรรย์ กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี


จบพระสูตรนี้แล้วพระปัญจวัคคีย์ก็เห็นความจริงแท้ในธรรมทั้งหลาย ปล่อย สละ ละ วาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งปวง สำเร็จเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด





ยมกปาฏิหาริย์เป็นปาฏิหาริย์สำคัญที่มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงแสดงได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์นี้ทั้งหมด ๔ ครั้ง คือ ครั้งแรกที่กล่าวไว้แล้วในพุทธประวัติตอนนี้คือหลังจากตรัสรู้แล้ว ๗ วันเพิ่อคลายความแคลงใจให้เทวดา ครั้งที่สองก่อนเข้าพรรษาที่ ๖ เพื่อย่ำยีเดียรถีย์ ครั้งที่สามหลังออกพรรษาที่ ๖ เมื่อเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และครั้งที่สี่ จะทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์เป็นครั้งสุดท้ายในวันธาตุอันตรธานอันเป็นวันสิ้นสุดพุทธศาสนา
อีกหลายตอนข้างหน้าจะเล่ายมกปาฏิหาริย์นี้โดยละเอียดในตอนที่ดังที่สุดคือยมกปาฏิหาริย์ที่ควงไม้มะม่วง แต่ก็จะเล่าตอนที่เสด็จกลับจากสวรรค์รวมทั้งปาฏิหาริย์ในวันธาตุอันตรธานด้วย เผื่อใครตั้งใจจะดูปาฏิหาริย์วันนั้นจะได้รีบทำบุญ ตายแล้วรีบไปเกิดเป็นเทวดา รับรองว่าได้ดูแน่นอน

เรื่องพ่อค้าสองคนที่เป็นอุบาสกคู่แรกกับพระเกศาธาตุ ๘ เส้น ในตำนานเจดีย์ชเวดากองกล่าวว่าพ่อค้าทั้งสองคนนั้นได้นำพระเกศาธาตุมาบรรจุที่เจดีย์ชเวดากองนี้เอง

เรื่องบัว ๔ เหล่า
จริงๆ พระพุทธเจ้าตรัสถึงบัวแค่ ๓ เหล่า แต่ตรัสถึงคน ๔ จำพวก แล้วอรรถกถาจารย์ท่านได้ขยายเป็นบัว ๔ เหล่าเพื่อให้สอดคล้องกับคน ๔ จำพวกพอดี
คำถามคือพวกเราเป็นคนจำพวกไหนใน ๔ จำพวก หรือเป็นบัวประเภทไหนกันแน่ ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นพวกเนยยะ คือ เป็นพวกที่มีโอกาสบรรลุธรรมได้
แต่เมื่ออ่านคำอธิบายแล้วต้องบอกว่าคำตอบนี้เป็นการเข้าข้างตัวเอง แท้จริงแล้วพวกเราเป็นแค่ ปรปรมะ ให้เรียนให้ท่องกันแทบตายก็ไม่บรรลุธรรม (แล้วส่วนใหญ่ทั้งไม่เรียนทั้งไม่ท่อง แล้วจะเป็น เนยยะ ได้อย่างไร

เรื่องอุปกาชีวก
เรื่องนี้ยกมาเล่าให้ฟังเพราะเคยสงสัยว่าทำไมหนอ.. พระพุทธเจ้าจึงไม่เหาะไปแสดงปฐมเทศนา อ่านพุทธประวัติพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ส่วนใหญ่ก็จะเหาะไปแสดงปฐมเทศนาทั้งนั้น ก็มาพบว่ามีเหตุมาจากนายอุปกะนี่เอง
มีบางคนสงสัยว่า ตกลงอุปกาชีวกฟังพระพุทธเจ้าแล้ว เขาเชื่อหรือเปล่า ทำไมจึงแลบลิ้นและส่ายหน้า อันนี้ต้องวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของคนอินเดียจึงจะเข้าใจ

คำว่าอาวุโส
ตอนที่พระปัญจวัคคีย์เรียกพระพุทธเจ้าว่าอาวุโสนั้น เป็นคำเรียกที่ถือได้ว่าดูถูก เพราะคำนี้เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้น้อย ส่วนคำที่เรียกด้วยความเคารพจะใช้คำว่า ภัณเต

มรรค ๘
มีความพยายามจะอธิบายว่า มรรค ๘ เป็นวิธีการเลี้ยงชีวิต แต่จริงๆ แล้วมรรค ๘ เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงมรรคผลนิพพาน เป็นวิธีการปฏิบัติกาย วาจา และใจ เพื่อให้มีความสงบ จิตเป็นสมาธิได้ง่าย พระพุทธเจ้ากำลังสอนพระปัญจวัคคีย์ให้เข้าถึงนิพพาน พระองค์จึงไม่ได้สอนวิธีการเลี้ยงชีวิตทางโลกเป็นแน่


อ่านแล้วต้องพยายามทำความเข้าใจครับว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร ชาตินี้อาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ธรรมนี้จะเป็นบาทเป็นฐานให้สามารถบรรลุธรรมได้ง่ายในชาติต่อๆ ไป (ตัวอย่างค้างคาว ๕๐๐ ฟังพระสวดอภิธรรม ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดา พอมาเกิดอีกทีได้ฟังอภิธรรมแล้วเข้าใจสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกองค์



เสาร์อาทิตย์นี้จะเดินทางไปถวายพระพุทธรูปที่วัดป่าค้อน้อย จ.กาฬสินธุ์ องค์พระพุทธรูปเดินทางไปล่วงหน้าแล้ว ลงพระเสร็จเมื่อหกโมงเย็นที่ผ่านมา และจะทำพิธีถวายกันเช้าวันอาทิตย์ กลับมาจะนำเรื่องนำรูปมาเล่าให้ฟังเพื่ออนุโมทนากันครับ


Create Date : 24 มีนาคม 2554
Last Update : 24 มีนาคม 2554 20:48:34 น. 7 comments
Counter : 784 Pageviews.

 




โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 25 มีนาคม 2554 เวลา:15:13:42 น.  

 


ขอให้เดินทางไปกลับปลอดภัยนะคะ


โดย: ข้ามขอบฟ้า วันที่: 26 มีนาคม 2554 เวลา:2:35:11 น.  

 
image by free.in.th
ฝากรูป
ขอโทษที่หายไปเสียหลายวันมาก พาเด็กตะลอนแสดงงานทุกวันเลย งานหมดเมื่อคืน วันนี้หลังพักพอหายเหนื่อยก็รีบแวะมาเยี่ยมเยียนทันทีเลยค่ะ วันนี้อากาศขมุกขมัวชอบกล พักผ่อนและมีความสุขมากๆนะคะคุณอังคาร


โดย: เกศสุริยง วันที่: 26 มีนาคม 2554 เวลา:15:37:05 น.  

 
สวัสดีครับนายอังคาร ผมเข้ามาอ่านได้บางส่วนแล้ว
แต่ยังไม่หมดนะครับ

เมื่อวันก่อนผมเข้าไปปฏิบัติธรรมมา 3 วัน สองครั้งแล้ว
ได้ฟัง และปฏิบัติแล้ว ทำให้เกิดความรู้ ความปล่อยวาง
ดีเหมือนกันครับ.


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 28 มีนาคม 2554 เวลา:14:44:24 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...
แวะมาทักทายหลังฝนตกค่ะ ค่อยคลายร้อนขึ้นมานิด มีความสุขและหลับฝันดีนะคะคุณอังคาร


โดย: เกศสุริยง วันที่: 4 เมษายน 2554 เวลา:21:28:18 น.  

 
เรียน คุณอังคาร
ดิฉันเข้าดูเวบลานธรรม แล้วอยากทำบุญสร้างศาลาปฎิบัติธรรม วัดป่าภูเขาน้อน ก็เลย
ทำบุญโดยโอนเงินเข้าบัญชี
บัญชี พระกมล กันตธัมโม
เลขที่บัญชี 402-309809-4
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขากระนวน (ขอนแก่น)
จำนวน 999.00 บาท เมื่องวันที่ 1-3 เมษายน นี้

พอจะแจ้งคูรอังคารที่ลานธรรมก็แจ้งไม่ได้ (ไม่รับสมาชิก)
จึงใคร่ขอโทษที่ตามมาที่นี้

ดิฉันใคร่ขอแจ้งให้พระอาจารย์กมลทราบ และขอ
ใบอนุโมทนาบัตร ออกในนาม จันทร์ฉาย กรรภิรมย์
ที่อยู๋ 48/20 ซอยพจนา ถนนศิลปสนิท ต. ในเมือง อ. เมือง ขอนแก่น e-mail- chanchaikan@gmail.com

ขอขอบคุณล่วงหน้า


โดย: จันทร์ฉาย IP: 49.48.145.208 วันที่: 6 เมษายน 2554 เวลา:20:55:35 น.  

 
ขออนุญาตนำข้อมูลบางส่วนไปประกอบบทความนะคะ กำลังค้นคว้าเรื่องยมกปาฏิหาริย์พอดี ได้มีข้อมูลจากบทความนี้ประกอบทำให้เข้าใจและได้รับความสมบูรณ์ขึ้นมากเลย

ขออนุญาตนะคะ โดยจะใส่อ้างอิงลิ้งค์บทความไว้ตอนท้ายบทความค่ะ

ขอบคุณค่ะ


โดย: สิ่งสำคัญ คือ ใจ วันที่: 1 มิถุนายน 2556 เวลา:14:33:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Siri_waT_bkk
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




บางครั้ง เธอเข้าใจไหม
ว่าทำไม จิตใจต้องเพ้อฝัน
ฝันมีสุขร่วมกัน ฝันมีส่วนผูกพัน
สิ่งเหล่านั้น ฉันเองเข้าใจ

   ความหมาย คงคลี่คลายโดยง่ายดาย
   หากได้ระบาย ออกมาให้เธอฟัง
   ก็เพราะเธอเป็นต้นเหตุ ก็เพราะเธอนั้นพิเศษ
   เกินกว่าฉัน จะควบคุมใจ

ยามใดเธอมีทุกข์ อยากหยุดโลกกลับไปช่วยเธอ
ใจมันคอยเสนอ ไม่เคยคิดห่วงใคร
ต่อให้ไกลจะไกลแค่ไหน ก็จะไปยกหัวใจให้
เพียงแต่ตอบรับ หากเธอยอมรับ กับฉัน

   ว่าเธอนั้น มันก็เป็นเหมือนกัน
   ส่วนฉันยืนยัน ประกันได้เลยเธอ
   ไม่ใช่เรื่องหนักใจ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่
   เพียงแค่สามคำ ฉันรักเธอ...

   
    [เพลงจาก http://www.fileden.com]


[ stat since Sep24, 2009 ]
Friends' blogs
[Add Siri_waT_bkk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.