ถึงจะเขียนไม่เก่งแต่ก็ฝันอยากเป็นนักเขียนกับเค้าบ้าง อิอิอิ

 
ตุลาคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
29 ตุลาคม 2552
 

ตะลุยเคนยา ตามล่าบิ๊กไฟส์ ตอนที่7

อัศจรรย์ทะเลสาปสีชมพู





พวกเรานัดเจอกับรถของทีมงานบนเขาลูกหนึ่ง ชื่อหุบผาบาบูน (Baboon Cliff) ซึ่งก็เป็นจุดชมวิวที่สวยงามที่สุดของอุทยานแห่งนี้ กว่าพวกเราจะมาถึงบนยอดเขาก็ทุลักทุเลพอสมควร เพราะทางเป็นทางลูกรังและชันมาก มีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มแวะจอดพักกินข้าวพร้อมชมวิวที่สวยงาม ผมแอบเห็นฝรั่งบางคู่จูงมือกันไปในที่ลับตา (คาดว่าคงจะไปส่องสัตว์กัน) มองไปทางด้านล่างมองเห็นทะเลสาปสีชมพู มองเห็นนกฟลามิงโก้เป็นจุดเล็กๆสีชมพูอยู่บริเวณขอบทะเลสาป นกพิลิแกนว่ายน้ำเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ บางคนบ่นว่า “ไม่รู้สิงโตกับเสือดาวโดดข้ามรั้วหนีไปเที่ยวในเมืองหรืองัย เราถึงไม่แห็นเลยซักกะตัว” ที่หน้าผาเราเห็นกิ้งก่าสีออกน้ำเงินม่วงหัวสีชมพูดูสวยดีเกาะอยู่ เค้าคือเจ้ากิ้งก่าอากามา (Agama) ตัวใหญ่กว่ากิ้งก่าบ้านเราเล็กน้อย ทำท่าผงกหัวให้พวกเราถ่ายรูปกัน



เมื่อเราถ่ายรูปจากมุมสูงกันพอแล้ว เราก็นั่งรถลงมาที่ริมทะเลสาปสีชมพูกันอีกครั้ง ซึ่งวันนี้อากาศก็เป็นใจกว่าเมื่อวานมาก มองเห็นนกฟลามิงโก้เป็นสีชมพูอย่างชัดเจน จนเห็นแยกได้ว่านกฟลามิงโก้ในทะเลสาปนั้นมี 2 ชนิดด้วยกัน คือชนิดแรกนั้นมีขนาดเล็ก ชอบอยู่บริเวณน้ำที่ตื้นและมีสีชมพูเข้มกว่า มีชื่อว่า Lesser Flamingo มีความสูงราว 100 เซนติเมตร อีกชนิดหนึ่งตัวใหญ่ อยู่ในน้ำที่ลึกมีชื่อว่า Greater Flamingo มีความสูงราว 140 เซนติเมตร ทั้งสองชนิดก็จะเดินออกทำท่าทางที่สวยงาม บางกลุ่มก็เดินตามกัน บางตัวก็ยืดหดคอ ขยับปีกเป็นจังหวะ เหมือนนักบัลเล่ย์กำลังเต้นรำอยู่บนฟลอร์ไม่มีผิด ขนาดนักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่เข้าใจว่ามันทำไปเพื่ออะไร



ว่ากันว่าสาเหตุที่นกฟลามิงโก้มีสีชมพูนั้น ก็อาจจะมาจากสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวที่เจริญเติบโตอยู่ในทะเลสาป เมื่อนกฟลามิงโก้กินเข้าไปก็ได้ทำปฏิกิริยากับเม็ดสีทำให้เกิดสีชมพูที่สวยงามเช่นนี้ เวลากินอาหารมันก็จะใช้ปากบนที่มีขนาดใหญ่วักน้ำ ภายในปากของมันจะมีขนและฟันซี่เล็กๆคล้ายกับฟันของวาฬ ช้อนจับอาหารจำพวกปลาและแพลงตอนขนาดเล็กกินเป็นอาหาร

นกฟลามิงโก้นอกจากพบอยู่ในทวีปแอฟริกาแล้ว ก็ยังพบเห็นได้ทั้งในยุโรป และในเอเซียอีกด้วยครับ ปริมาณของนกฟลามิงโก้นั้นก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของอาหารและน้ำในทะเลสาป รวมถึงโรคระบาดด้วย ปีไหนน้ำท่าดีหากมองจากระยะไกลเราก็จะเห็นทะเลสาปสีชมพูมีสีเข้มเต็มพื้นที่ไปหมด นิโคลัสบอกว่าน่าเสียดายที่ช่วงก่อนหน้าที่เราไปมีนกตายเพราะโรคระบาดเยอะ เราจึงเห็นนกบางตาไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา หากปีไหนแล้งจัดนกฟลามิงโก้แห่งนี้ก็จะบินอพยพไปทางเหนือที่ทะเลสาปโบโกเรีย (Lake Bogoria) หรือทะเลสาปบาริงโก (Lake Baringo) แทน

เคยนึกสงสัยกันมั้ยครับว่าทำไมตามสวนสัตว์ในบ้านเราเอานกฟลามิงโก้มาเลี้ยงแล้วมันถึงไม่บินหนีไปไหน หากใครได้มาเห็นที่นี่ก็คงจะรู้ครับว่า ก่อนที่มันจะเทคออฟ ต้องมีพื้นที่รันเวย์ที่ยาวพอสมควร มันจะวิ่งพร้อมกับกระพือปีกไปด้วย สวนสัตว์จึงทำที่ไว้จำกัดเพื่อไม่ให้นกมีพื้นที่พอที่มันจะวิ่งเพื่อบินได้ นกตามสวนสัตว์สีก็ดูซีดกว่านกที่อยู่ตามธรรมชาติเยอะ ก็อาจเป็นเพราะว่าไม่ได้กินสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวอาหารโปรดของมันก็เป็นได้

นอกจากกลิ่นอึและซากนกที่อยู่บนบกแล้วเรายังได้กลิ่นเหม็นตุโชยมาจากน้ำในทะเลสาป ถ้าสังเกตดีๆก็จะเห็นฟองเดือดปุดๆขึ้นมาด้วย จนบางคนตั้งฉายาว่า Soda Lake ก็เกิดจากแผ่นดินไหวในสมัยก่อนทำให้แผ่นดินยุบตัวจนเป็นแอ่งกระทะ เมื่อฝนตกน้ำก็จะไหลพาเอาพวกแร่ธาตุและเถ้าภูเขาไฟลงมารวมอยู่ตรงกลาง ในน้ำจึงมีแร่ธาตุและกำมะถันที่มีความเข้มข้นมาก บางตำราบอกว่าน้ำที่นี่มีความเข้มข้นสูงจึงทำให้ปลาอาศัยอยู่ไม่ได้ แต่ผมก็เห็นเจ้านกตะกรามมาราบู กำลังคาบปลาตัวน้อยจากทะเลสาปขึ้นมากินอย่างสบายใจเฉิบ ขนาดของทะเลสาปก็จะเปลี่ยนแปลงทุกปี ขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำฝนที่ตกลงมาอีกด้วย

จากนั้นพวกเราก็เดินทางลัดไปตามขอบทะเลสาป เพื่อไปยังแหล่งดูนกน้ำแห่งอื่นๆ ระหว่างทางเราก็เจอเข้ากับแรดขาวอีกหลายตัว พวกเรารู้สึกเบื่อแรดขาว จนไม่มีใครอยากจะถ่ายรูปแรดขาวอีก ลิงบาบูนฝูงใหญ่บ้างก็อยู่บนต้นไม้ บางตัววิ่งเล่นอยู่บนถนน บางตัวก็ไม่อายฟ้าดินแสดงบทรักกันบนต้นไม้ พวกเราก็ไม่อายที่จะมองมัน ดูไปหัวเราะไป บางช่วงมีพวกมันอยู่ใกล้รถมากเกินไป เมื่อรถเฉียดไปพวกเราก็ต้องรีบหลบเข้ามาในรถ กลัวว่ามันจะกระโดดเข้ามาทักทาย



ไม่นานเราก็มาถึงจุดกางเต็นท์อีกแห่งหนึ่งทางด้านทิศเหนือของอุทยาน มีลำธารน้ำไหลจากด้านบนลงไปในทะเลสาป น้ำที่ไหลก็มีควันโชยขึ้นมา เดินลงรถไปมาเอามือจุ่มดูก็รู้สึกอุ่นๆ จึงรู้ว่าเป็นน้ำร้อนที่ผุดขึ้นมาเหมือนกับทะเลสาปอีกหลายแห่งในเคนยา เคยเห็นในสารคดีนกฟลามิงโก้บางตัวไม่ดูตาม้าตาเรือ แลนดิ้งจอดลงบนน้ำร้อนที่กำลังเดือดปุดๆ เป็นอันสุกทันทีก็มี อาจเป็นเพราะมีน้ำร้อนไหลลงทะเลสาป จึงเป็นแหล่งชุมนุมของปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ทำให้บรรดานกชนิดต่างๆมารวมกันอยู่ที่นี่เพื่อคอยกินปลาอีกต่อหนึ่ง เท่าที่มองเห็นตอนนี้ก็จะมีนกตะกรามมาราบู (Marabou Stork)



เดินเอาขาจุ่มน้ำรอจับปลาที่ว่ายไปมา เมื่อสังเกตุดูดีๆแล้วนกชนิดนี้ก็แทบไม่มีความสวยงามเอาซะเลย หากเปรียบกับนกกระเรียนหงอนมงกุฏเทา ก็เปรียบดั่งทิวากับซาตานไม่มีผิด บริเวณหัวมันก็ไม่มีขน มีแต่หนังสีชมพูอมแดง ปีกมีขนสีกรมท่า หน้าอกและท้องมีสีขาว ปากยาวดูแข็งแรง เป็นนกที่มีขนาดใหญ่มากครับสูงถึง 150 เซนติเมตร อาหารนอกจากปลาแล้วก็ชอบกินไข่นก ลูกนกชนิดต่างๆ บางครั้งก็ร่วมโต๊ะจีนกินซากสัตว์พร้อมกับอีแร้งด้วย และที่อยู่ด้านหลังนกตะกรามมาราบูคือ นกพิลิแกนขาว (Great White Pelican) ได้ชื่อว่าเป็นนักจับปลาตัวฉกาจ มันมีสีขาวทั้งตัว มีปากยาวใหญ่สีเหลือง เมื่อกางปีกแล้วกว้างได้ถึง 3 เมตร มีความสูง 165 เซนติเมตร ชอบอาศัยอยู่ตามทะเลสาปเป็นฝูงๆ นกชนิดนี้พบเห็นได้ก็ตามสวนสัตว์บ้านเราเยอะแยะเลย



คนขับรถทีมงานที่ผมไม่ทราบว่าแกชื่ออะไร บอกว่าให้ระมัดระวังควายป่า 4 ตัวเอาไว้ให้ดี มันเดินอยู่ห่างเราออกไปแค่ราว 300 เมตร เพราะถ้าเกิดมันหงุดหงิดหรือได้กลิ่นพวกเราขึ้นมาระยะแค่นั้นไม่ได้ไกลเลย ถ้าหากเค้าไม่บอกพวกเราก็คงไม่มีใครรู้กันเลย ด้านหลังผมได้ยินเสียงนกร้องมาแต่ไกล ดังแสบหูมาก เค้าคือนกอินทรีกินปลา (African Fish Eagle) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Haliacctus Vocifer แปลว่า “ผู้มีเสียงร้องก้องกังวาล” ผมว่าฉายานี้เหมาะกับมันเหลือเกิน มันมีขนคอสีขาวสะอาดตา ลำตัวมีสีน้ำตาล จะพบเห็นได้ไม่ยากเพราะชอบอาศัยอยู่ริมทะเลสาปเพื่อกินปลา


ที่มา //www.birdsasart.com/bn186.htm

ออกจากจุดนี้รถของเราก็ยังลัดไปตามทะเลสาปมายังจุดดูนกน้ำแห่งที่สาม ที่มีนกน้ำอยู่เยอะมากบินข้ามหัวอยู่เต็มไปหมด มีควายป่าโทนตัวหนึ่งท่าทางทุกข์ใจนอนหัวห้อยอยู่ท่ามกลางวงล้อมของนกกระยางและนกพิลิแกน เมื่อจอดรถได้พวกเราก็เดินลงไปถ่ายรูปทันที แต่ก็ต้องรีบขึ้นรถเพราะคนขับรถของทีมงาน(อีกแล้ว) บอกว่าไม่ปลอดภัย เมื่อควายป่าเซื่องๆตัวนั้นมองมาทางเราแล้วทำท่าจะลุกขึ้น ห่างไปแค่ลำคลองขวางกั้นเท่านั้นเอง แต่เอ๊ะนั่น!!แรดดำไม่ใช่เหรอ เพื่อนในรถชี้มือไปทางด้านหน้า ก็มองเห็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่สีดำ กำลังเดินมุ่งหน้ามาทางเรา เมื่อขับรถเข้าไปใกล้ๆก็พบว่าเป็นฮิปโปตัวใหญ่ ตามปกติเราจะเห็นฮิปโปอยู่ในน้ำในตอนกลางวัน และเดินขึ้นจากน้ำมาหาอาหารในเวลากลางคืน แต่นี่เราเห็นฮิปโปเดินออกมากินหญ้าในตอนกลางวันก็เป็นภาพที่พบเห็นได้ยาก พวกเราเลยถายรูปกันใหญ่ มันเดินต้วมเตี้ยมน่ารักเข้ามาจนห่างจากรถเราแค่ 10 เมตร นิโคลัสบอกอย่างร้อนรนว่า “เราต้องไปแล้วถ้ามันเข้าใกล้รถเรามากเกินไป” ตอนนั้นผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องกลัวเจ้าฮิปโปตัวนี้ด้วย แต่ผมจะเล่าให้ฟังทีหลังครับว่าเจ้า “คิโบโกะ” Kiboko ชื่อน่ารักๆของเจ้าฮิปโปในภาษาพื้นเมืองตัวนี้ มันมีอะไร ทำไมนิโคลัสถึงได้กลัวมันนัก



ตอนกลับที่พักในช่วงเย็นเราก็ได้เจอกับเจ้าลิงโคโลบัสอีกฝูงใหญ่ นับได้ถึง 6 ตัว แสงตะวันกำลังจะลับขอบฟ้า ด้านหน้าผมมองเห็นฝูงม้าลาย กวางอิมพาลา เดินเล็มหญ้าอยู่ ควายป่านอนแช่โคลน ด้านหลังผมเห็นลำแสงสีทองสาดส่องลอดผ่านกิ่งไม้ ช่างเป็นภาพที่สวยงามจริงๆครับ บอกได้ว่าเป็นเวลาสิ้นสุดของวันของสัตว์กินพืช แต่สำหรับสัตว์กินเนื้อมันเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

เมื่อเดินมาถึงรีสอร์ทผมก็เดินเล่นชมนกชมไม้ไปเรื่อยเปื่อย มองเห็นใต้ต้นไม้ในสวนมีเมล็ดสนตั้งใจจะเดินเข้าไปเก็บกลับบ้านเป็นที่ระลึก ตาก็มัวก้มมองแต่ลูกสนอย่างไม่ทันระวังตัว ผมได้ยินเสียงสัตว์อะไรบางอย่าง ส่งเสียงขู่มาจากด้านหน้าห่างไปไม่ถึง 5 เมตร ผมรู้สึกเสียวสันหลังวาบเมื่อเห็นลิงบาบูนขนาดโตเต็มที่ 2 ตัว กำลังหมอบแยกเขี้ยวยาวทำท่าจะกระโดดเข้ามาใส่ผม ผมคงจะเดินเข้าไปขัดจังหวะขณะที่มันกำลังจู๋จี๋กันอยู่ มันทำตาโต ขนทั้งตัวตั้งชัน บ่งบอกว่าถ้าผู้บุกรุกก้าวเข้ามาอีกแค่หนึ่งก้าว มันคงจะไม่ลังเลเลยที่จะโดดเข้าขย้ำ มันขยับเข้ามาหาเรื่อยๆ ส่วนผมขยับถอยพร้อมกับจ้องตามัน เพราะได้ยินมาว่ายิ่งเราแสดงอาการหวาดกลัวมันก็จะยิ่งได้ใจ
ขณะจ้องตามันผมก็พยายามเหลือบมองหาไม้ที่เหมาะมือซักท่อนเอาไว้ป้องกันตัว

ต้องขอบคุณทางรีสอร์ทที่รักษาความสะอาดเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ไม้สักท่อนยังหาไม่ได้เลย ผมค่อยๆเดินถอยหลังแต่ไม่ได้วิ่ง รู้ได้เลยว่าถึงอากาศจะเย็นสบายแต่ก็มีเหงื่อผุดออกมาตามใบหน้าและฝ่ามือ สมองสั่งให้เท้าวิ่งแต่ถ้าวิ่งมันจะกระโดดกัดผมแน่ๆ เมื่อผมเดินถอยหลังมาถึงที่จอดรถออกนอกเขตของมัน มันก็หยุดตามแล้วเดินหันหลังกลับ

ผมคิดว่าหากโดนมันกัดแผลคงจะยิ่งกว่าโดนหมากัด เพราะมีคนบันทึกเอาไว้ว่าเขี้ยวของมันมีขนาดใหญ่กว่าสิงโตซะอีก จากที่นี่ไปโรงพยาบาลคงไม่ใช่ใกล้ๆแน่ เคยมีคนเห็นแล้วบันทึกเอาไว้ว่าลิงบาบูนขนาดโตเต็มที่แค่ 2-3 ตัวก็สามารถฆ่าแล้วฉีกเสือดาวเป็นชิ้นๆได้อย่างสบาย นับประสาอะไรกับมนุษย์สองมือสองเท้าอย่างผม มวยไทยกับเทควันโด (สายเหลืองเข้ม) ที่เคยเรียนมาสมัยมัธยมก็คงช่วยอะไรไม่ได้ ทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาบอกตามตรงว่าไม่ถูกกับลิงเลยจริงๆ ผมเคยโดนลิงล้อมหน้าหลังตอนไปไหว้พระที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานี โดนลิงกระโดดเกาะที่ถ้ำจอมพลจังหวัดราชบุรี ไม่ต้องพูดถึงเขาสามมุขที่บางแสน ทำไมลิงมันเกลียดผมนักก็ไม่รู้ ตั้งแต่นั้นที่ไหนมีลิงผมไม่เคยเดินเฉียดลิงเลย นึกแล้วก็น้อยใจลิง

ได้เวลาอาหารเย็นที่เป็นมื้อที่ผมชอบเหมือนเดิม วันนี้ก็มีปาร์ตีบาร์บีคิวคึกคักไม่แพ้เมื่อวาน อาหารมีเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย ซี่โครงแกะย่างนี่มันอร่อยจริงๆ ดีที่บางคนติดน้ำจิ้มน้ำปลา พริกป่น และมะนาวสำเร็จรูปมาจากเมืองไทยด้วย ทำให้มื้อนี้มีรสชาดขึ้นอีกเยอะเลย ผมเล่าเรื่องที่เจอลิงบาบูนให้คนอื่นๆฟัง คนอื่นก็โล่งใจว่าดีที่ผมยังพอมีสติเอาตัวรอดออกมาได้ ว่าแล้วก็รินวิสกี้แบ่งปันกัน พี่ทีมงานพูดอย่างโกรธแค้น บอกให้พวกเราดื่มเหล้ากันเยอะๆเดี๋ยวจะพาไปเตะลิงบาบูนแก้แค้นให้ผมกัน

“เมื่อดื่มเหล้าแล้วคงจะทำให้ใจกล้าขึ้นเหรอครับพี่” ผมถาม
“เปล่า... เวลามันกัดตอบจะได้รู้สึกแค่ชาๆ ไม่เจ็บมาก” พี่ทีมงาน
“……” ผม

ก่อนนอนในคืนนั้น ผมตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ เพราะพรุ้งนี้เช้าเราจะออกเดินทางไปยังเขตอนุรักษ์มาไซมารากันแล้ว ทีมงานเล่าให้ผมฟังว่าครั้งที่แล้วเค้าเห็นเสือชีต้าร์วิ่งไล่กวางอยู่ข้างรถเลย สิงโตเราจะต้องได้เห็นแน่นอน เค้าเคยถ่ายรูปสิงโตกำลังกินม้าลายมาแล้วด้วย ผมนึกไปถึงภาพสัตว์ป่าเยอะแยะในดินแดนทุ่งหญ้าสะวันนา หวังว่าจะได้เพบห็นบิ๊กไฟว์ที่เหลืออีก 3 ตัวคือช้างป่า สิงโต และเสือดาว ให้ได้



Create Date : 29 ตุลาคม 2552
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2552 12:48:18 น. 1 comments
Counter : 2425 Pageviews.  
 
 
 
 
น่าตื่นเต้นดีนะคะ แต่ก็น่ากลัวด้วยอ่ะ
 
 

โดย: moccachan วันที่: 29 ตุลาคม 2552 เวลา:17:06:46 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Devilkae
 
Location :
ตาก Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




กำลังศึกษาปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ แต่รักการถ่ายภาพการเขียน และการท่องเที่ยว อยากให้เพื่อนมีเวลาว่างๆมาจับกล้องถ่ายรูปกันครับ
[Add Devilkae's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com