Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
8 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
ขอความสุขจงคืนกลับมา

นิติพงษ์ ห่อนาค



แม่ชีศันสนีย์



อ.ชานนท์



พิริยา กับ การะเกด



ขอความสุขจงคืนกลับมา เรื่องและภาพโดย เดชา เวชชพิพัฒน์
(ตีพิมพ์ใน รีดเดอร์ไดเจสท์ สรรสาระ ก.ค. 2553 – ปก ดวงพร ทรงวิศวะ)

น้ำใจไม่เคยแห้งเหือดไปจากสังคมไทย คำกล่าวนี้เป็นจริงมากน้อยแค่ไหน เห็นได้จากการร่วมมือ ร่วมใจครั้งล่าสุดของคนไทย หลังเหตุการณ์ความไม่สงบที่ยาวนานร่วมสองเดือน (12 มีนาคมถึง 19 พฤษภาคม 2553) ซึ่งนอกจากจะมีอาคารสถานที่ถูกวางเพลิง 28 แห่ง ตลอดการชุมนุมยังมีผู้เสียชีวิต 89 คน บาดเจ็บ1,884 คน
นอกจากการทำงานอย่างไม่ย่อท้อของผู้มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือโดยตรง เช่น หน่วยงานด้านพยาบาล บรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ฯลฯ หลังเหตุรุนแรงผ่านพ้นไป คนไทยหลากหลายสาขาอาชีพ ร่วมกันแสดงออกด้วยความมุ่งหวังที่จะคืนรอยยิ้มให้สังคมไทยอีกครั้ง ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของน้ำใจงดงาม

เด็กไทยใจอาสา
การะเกด นรเศรษฐาภรณ์ วัย 17 ก็เช่นเดียวกับคนไทยจำนวนมากที่ต้องการเห็นสี่แยกราชประสงค์ และบริเวณที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมกลับมาสะอาดตาและคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด ในวันที่ 20 พฤษภาคม เธอชวนเพื่อนอีกสองคนคืออาทิพย์ธิดา หงวนศิริและพิริยา แย้มนิล ซึ่งทั้งหมดเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เอกภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มาทำกิจกรรมทำความสะอาดในพื้นที่ชุมนุม
จากนั้น ความคิดก็ขยายไปถึงขั้นการรวมตัวกันเองในหมู่เพื่อนนักเรียน โดยใช้ชื่อ Student Let’s Clean “ช่วงแรกมีเพียงเพื่อนที่เรียนสายศิลป์ฝรั่งเศส แล้วบอกต่อกันจนมีหลายสิบคน เมื่อเห็นว่าคนมากขึ้นจึงตั้งเป็น กิจกรรมในเฟซบุ๊ก” พิริยากล่าว ปรากฏว่ามีคนลงชื่อสนับสนุนจำนวนมาก และในวันที่ 23 พฤษภาคมมีผู้ร่วม กิจกรรมกว่าสองร้อยคนบริเวณแยกราชประสงค์และศาลาแดง ซึ่งมาช่วยกันขัดลอกสติกเกอร์ เก็บขยะ ทำความ สะอาดคราบต่างๆบนถนนและทางเท้า
การทำกิจกรรมในพื้นที่ซึ่งยังค่อนข้างเสี่ยงอันตรายเช่นนี้ แน่นอนว่านักเรียนเช่นพวกเธอต้องได้รับ อนุญาตจากผู้ปกครอง ขณะเดียวกัน เมื่อต้องทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย พวกเธอถามพ่อแม่ผู้ใหญ่เกี่ยวกับการทำความ สะอาด จากนั้นจึงนำไปบอกเพื่อนๆเพื่อช่วยกันเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ ไม้กวาดทางมะพร้าว น้ำยาปรับผ้านุ่ม คัตเตอร์ แปรง และผงซักฟอก การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มช่วยลอกกาวสติกเกอร์ การแยกแยะคราบประเภทต่างๆ เพื่อใช้น้ำยาที่เหมาะสม การใส่ถุงมือเพื่อป้องกันของมีคม และวิธีการเก็บขยะกองใหญ่ที่อาจมีระเบิดซุกซ่อนอยู่
“ดีใจที่ได้ทำงานนี้ ได้ผลเกินคาด มีอาสาสมัครจากหลายโรงเรียน มีทั้งรุ่นเดียวกัน รุ่นพี่ พ่อแม่ก็มา ด้วย พวกเราเป็นแค่เด็กนักเรียน มีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมาก แต่ที่แน่ๆคือหลังผ่านเรื่องร้ายๆ มาแล้วได้ทำแบบนี้ ทำให้รู้สึกดี เหมือนเป็นการเยียวยาจิตใจตัวเอง” อาทิพย์ธิดากล่าว
การะเกดกล่าวว่าเครือข่ายที่เกิดขึ้นจะทำให้การรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมง่ายขึ้น “ในอนาคตหากมีเรื่อง อะไรที่ช่วยได้เราก็พร้อมที่จะช่วย”

บทเพลงแห่งความสุข
“เพลงนี้ใช้เวลาแต่งน้อยมาก แค่คืนเดียว แต่ผมสะสมอารมณ์ความรู้สึกมานาน เห็นคนไทยแบ่งฝ่าย มาหลายปี กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุด ไม่มีครั้งไหนในประเทศไทยที่เป็นเช่นนี้” นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงและ ผู้บริหาร ค่ายจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ วัย 50 ผู้แต่งเพลง “ขอความสุข...คืนกลับมา” กล่าว
ที่มาของเพลงนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อธิติพร จุติมานนท์ ผู้ผลิตของรายการไนน์เอนเทอร์เทนติดต่อนิติพงษ์ในตอนเช้าของวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2553 ให้แต่งเพลงเพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจคนไทย ปรากฏว่านิติพงษ์ สามารถตั้งชื่อเพลงได้ก่อนเที่ยงของวันนั้นแล้วส่งให้รายการนำไปใช้ทำงานอื่นๆ เช่น ตราสัญลักษณ์ และ เสื้อยืด ก่อนแต่งเพลงนี้เสร็จตอนกลางคืน โดยภรรยาเขาเป็นคนแรกที่ได้ฟังพร้อมคำชมเชย
วันรุ่งขึ้น อภิไชย เย็นพูนสุข นำคำร้องและทำเพลงที่ นิติพงษ์ ห่อนาค แต่งไปเรียบเรียงเพื่อทำเป็น เพลงสาธิต ซึ่งออกอากาศแล้วได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี พอวันพุธที่ 19 พฤษภาคม เกิดเหตุจลาจลเผาสถานที่ ต่างๆในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด วันพฤหัสบดีที่ 20 ทั้งๆที่ยังมีการยิงต่อสู้กันระหว่างเจ้าหน้าที่และฝ่ายตรงข้าม ปรัชญา ปิ่นแก้วนำกองถ่ายออกไปเก็บภาพสถานที่จริง เพื่อใช้ทำภาพยนตร์ประกอบเพลง เมื่อถึงวันเสาร์และ อาทิตย์ที่ 21 กับ 22 พฤษภาคม นักร้องค่ายต่างๆทยอยมาร้องเพลง
“จากตอนแรกที่วางตัวดาราและนักร้องไว้เพียงห้าถึงหกคน ปรากฏว่าเพิ่มเป็น 300 กว่าคนภายในไม่กี่ วัน ทั้งผู้ที่ทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทุกคนมาด้วยใจ ทำให้ผมซาบซึ้งในน้ำใจของคนบันเทิงมาก” นิติพงษ์กล่าว
วัตถุประสงค์ที่แต่งเพลงนี้คือสร้างกำลังใจให้แก่คนไทย หลังผ่านความสลดหดหู่ ที่สำคัญคือช่วยลด ความโกรธแค้น ความเกลียดชัง และช่วยลดอารมณ์ด้านลบ
“ผมดีใจที่อย่างน้อยเพลงๆหนึ่งจะมีส่วนช่วยให้สภาพจิตใจคนไทยดีขึ้นได้” นิติพงษ์กล่าว

โครงการฟื้นฟูจิตใจ
จากประสบการณ์ที่เคยทำกิจกรรมช่วยเหลือชาวบ้านผู้รอดชีวิตจากอุบัติภัยสึนามิตั้งแต่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่สี่ เมื่อเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชานนท์ โกมลมาลย์ วัย 27 จึงอดไม่ได้ที่จะริเริ่มทำโครงการ “จิตอาสาฟื้นฟูสภาพจิตใจ” เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนต่างๆ ที่ได้รับ ผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2553
“โครงการนี้เกิดขึ้นโดยอาจารย์ของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายลูกศิษย์และรุ่นพี่ รุ่นน้อง โดยเริ่มเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม มีพันธมิตรคือเสถียรธรรมสถาน บางกอกฟอรั่ม อาสาสมัครจากเฟซบุ๊ก และสมาชิกชุมชนต่างๆ ได้แก่ เคหะฯบ่อนไก่ ชุมชนซอยพระเจน ชุมชนซอยงามดูพลี ชุมชนกุหลาบแดง สภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และประชาคมสงขลา ทั้งหมดกว่าร้อยคน ร่วมกันทำงานเพื่อ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง โดยขั้นแรกสำรวจว่าใครได้รับผลกระทบอะไรบ้าง เพื่อหากิจกรรม ที่ตรงกับความต้องการของแต่ละชุมชนซึ่งต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกันไป” ชานนท์กล่าว
บางชุมชนอาจต้องการที่ดับเพลิงเพราะยังเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย ขณะบางชุมชนต้องการฟื้นฟูสภาพ จิตใจ เพราะเต็มไปด้วยความโกรธแค้น ช้ำใจ หดหู่ และหวาดกลัว
เมื่อทราบความต้องการของแต่ละชุมชนแล้ว ขั้นต่อไปคือชานนท์และอาจารย์ท่านต่างๆ จะร่วมกัน อบรมอาสาสมัครฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยอบรมเรื่องทักษะการให้คำปรึกษาเบื้องต้น ให้อาสาสมัครรู้ว่าจะฟัง อย่างไร อาสาสมัครต้องทำงานด้วยความรู้สึกที่เป็นกลาง รวมทั้งการอบรมการสำรวจตัวเองของอาสาสมัครด้วย เพื่อให้เข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่น โดยอาสาสมัครมีสองกลุ่มคือกลุ่มทั่วไป กลุ่มนี้เน้นเรื่องการฟังและการ สำรวจตัวเอง กับกลุ่มที่สองคือกลุ่มนักวิชาชีพ เป็นนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา กลุ่มนี้เน้นการประเมิน การวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งเป็นการดำเนินงานระยะยาว
“ปัจจุบัน เรามีอาสาสมัคร 120 คน วิทยากรกว่าสิบคน เราพร้อมตลอดเวลาที่จะให้ความช่วย เหลือคนในสังคม ไม่ว่าความเดือดร้อนนั้นจะเกิดจากภัยธรรมชาติหรือความขัดแย้งใดๆก็ตาม” อ.ชานนท์กล่าว

ธรรมะรับใช้สังคม
ในวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม 2553 หนึ่งวันหลังการชุมนุมยุติลง แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้ง เสถียรธรรมสถาน เชิญผู้นำศาสนาต่างๆมาประชุมเพื่อหาแนวทางการให้ ช่วยเหลือด้านจิตใจแก่สมาชิกใน ชุมชนต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะ ตามด้วยการเชิญผู้นำชุมชนที่ได้รับผลกระทบและเครือข่ายจิต อาสามาร่วมพูดคุยเพื่อหาข้อมูลและเตรียมแผนการทำงานในวันต่อมา วันเสาร์เช้ามีอาสาสมัครนับพันคนเดิน ทางมาที่เถียรธรรมสถาน เพื่ออบรมก่อนออกไปทำกิจกรรมเยียวยาฟื้นฟู จากนั้นจึงคัดกรองแล้วแบ่งเป็นเจ็ด กลุ่มคือกลุ่มเยี่ยมชุมชน เยี่ยมผู้ป่วย สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ การทำงานมวลชน การดูแลความปลอดภัย และ ประสานงานทั่วไป
กระบวนการทำงานเริ่มด้วยการพูดคุยกับผู้นำชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชุมชน สำรวจเอง ทั้งเรื่องการบาดเจ็บ การสูญเสีย และการเสียขวัญ เช่น ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ในแต่ละ ชุมชน รวมถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเช่นเด็ก ผู้หญิง และคนชรา และรู้กระทั่งว่าคนในชุมชนใดยังมี ความเห็นขัดแย้งกัน
“อาสาสมัครของเราทำงานบนพื้นฐานความคิดว่า ความชอบและความชังล้วนเป็นอนิจจัง
อาสาสมัครหนึ่งคนจะดูแลหนึ่งครอบครัวไปนานอย่างน้อยสองปี จนกระทั่งความทุกข์หมดสิ้นไป อาสาสมัครทุกคนต้องทำใจตนเองให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนทำหน้าที่ด้วยความรู้สึกขอบคุณงาน ขอบคุณโอกาส และขอบคุณบุคคลที่เข้าไปรับใช้ ตามหลักคนตัวเล็กทำงานที่ยิ่งใหญ่ อนาคต ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็พร้อมจะ ช่วยเหลือผู้คนในสังคม จะทำจนกว่าจะหมดลมหายใจ” แม่ชีศันสนีย์กล่าว

ขอความสุข...คืนกลับมา
คำร้อง / ทำนอง: นิติพงษ์ ห่อนาค
เรียบเรียง: อภิไชย เย็นพูนสุข

เราเคยมีรอยยิ้ม ยิ้มให้กันยังจำได้ไหม
เจอคนไทยที่ไหน ก็ยิ้มให้กัน
เราเคยมีน้ำใจ บ้านเราเหมือนเมืองในฝัน
อยู่ตรงไหนสุขใจทั้งนั้น บ้านคนไทย

จนไม่นานมานี้ เหมือนมีลมแห่งความขัดแย้ง
คอยพัดความแห้งแล้ง เข้ากลางใจ
ลมยังคงพัดพา ความสุขและความสดใส
กับรอยยิ้มจากใจคนไทย ไม่มีเหลือ

*ขอความสุข ของเราจงคืนกลับมา
ขอความสุข รอยยิ้มที่เคยเหลือเฟือ
คืนน้ำใจที่แน่นหนัก คืนความรักที่จุนเจือ
กลับมาเป็น เมืองไทยสงบดังเดิม

ลองมองดูดอกไม้ หลายพงศ์พันธุ์ตระการต่างสี
ในสวนเดียวกันนี้ คละเคล้าไป
มันจึงดูงดงาม เพราะความที่ต่างความหมาย
ต่างก็สวยแตกต่างกันไป ไม่เดียดฉันท์
ซ้ำ*

เรายังมีหนทาง ถ้าเราต่างยังมีน้ำใจ
ยังคงไม่สายหากเริ่มวันนี้
เราจะผ่านเรื่องราว ที่มันบาดใจไปด้วยดี
ยังมีความหวังกลับมาสดใส
ซ้ำ*



Create Date : 08 กรกฎาคม 2553
Last Update : 8 กรกฎาคม 2553 11:46:19 น. 2 comments
Counter : 1929 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะ..
สนับสนุนเต็มที่ค่ะ..


อ้อมแอ้มหาผู้สวมกุงเกงเอว 56 นิ้วได้แล้วนะค่ะ
เป็นใคร มาจากไหน ดูได้ที่blogเจ้าค่ะ

เมื่อคืนเสียดายเยอรมันจัง..
แพ้สเปนตามแผนของปลาหมึกพอล..ฮือๆๆ


โดย: คนผ่านทางมาเจอ วันที่: 8 กรกฎาคม 2553 เวลา:16:08:31 น.  

 
อยาก
กิน
ไอ้พอล
ปิ้ง

(เชียร์
เยอรมัน)


โดย: เดชา เวชชพิพัฒน์ (dejaboo44 ) วันที่: 9 กรกฎาคม 2553 เวลา:8:57:55 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

dejaboo44
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add dejaboo44's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.