Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
18 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
จากบวรนิเวศสู่ศาลายา

ตีพิมพ์ในนิตยสารกุลสตรี
ฉบับปักษ์หลังมิ.ย. 2553



พระเทพปริยัติวิมล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย



อาคารสมเด็จพระอริยวงศาสคตญาณ











จากบวรนิเวศสู่ศาลายา
เรื่องและภาพโดย เดชา เวชชพิพัฒน์

สถานที่ตรงหน้ามีขนาดห่างไกลจากจากแหล่งกำเนิดเป็นอย่างยิ่ง ความกว้างขวางสุดลูกลูกตาของผืนดิน กอปรกับอาคารหลังใหญ่หลายหลังที่ตั้งกระจายเต็มบริเวณ ซึ่งล้วนมีขนาดใหญ่โตและออกแบบ อย่างเรียบง่ายสง่างาม เมื่อนึกเปรียบเทียบกับบริเวณส่วนหนึ่งในวัดบวรนิเวศ จึงรู้สึกเหมือนชมมายากลหรือภาพที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ทำให้มือเด็กที่กำไว้แบออกเป็นมือผู้ใหญ่วัยฉกรรจ์ ซึ่งก็คือที่ดิน 180 ไร่อันเป็นที่ตั้งใหม่ล่าสุดของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
อาคารหลังแรกที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้านั้น เป็นพระอุโบสถองค์สูงและใหญ่ขนาดแหนงหน้าคอตั้งบ่าจึงมองเห็นยอด โครงสร้างภายนอกเป็นไปตามสถาปัตยกรรมของศาสนาสถาน มีศาลารายอยู่ซ้ายขวา เสาวิหารตระหง่านสูงชนเพดานของทางเดินรอบ
นอกจากนี้ยังเป็นพระอุโบสถที่ค่อนข้างทันสมัยแปลกตา กระเบื้องมุงหลังคาแทนที่จะใช้สีส้มหรือน้ำเงิน กลับเป็นสีน้ำตาลเข้มออกม่วง อีกทั้งหน้าบัน ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ล้วนสะท้อนการออกแบบอย่างมีรสนิยม ทำให้นึกถึงแนวการออกแบบ Minimalist ที่เน้น “เห็นน้อยแต่คิดได้มาก” โดยเฉพาะช่อฟ้าที่ออกแบบอย่างลดทอนลีลา จากรูปหัวนาคชูขึ้นเบื้องบนที่คุ้นตา กลายเป็นนาคสำรวม หลบหูหลบตาก้มหัวลงหมอบราบ
อาคารหลังอื่นๆเช่นกัน ทั้งอาคารเรียน หอพักนักศึกษา และอาคารสำนักงาน ล้วนออกแบบอย่างมีวิญญาณของสถาปัตยกรรมต่างๆในวัดบวรนิเวศ ทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฏิ ดูราวกับสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นพองตัวเองขึ้นแล้วเคลื่อนย้ายมาตั้งอยู่บนพื้นที่นี้ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล
และนี่คือที่มาของชื่อบทความจากบวรนิเวศสู่ศาลายา

หลังชื่นชมกับบรรยากาศภายนอกอาคารที่ยังมีต้นไม้บางตาและร้อนระอุ แต่ความตระหนักว่าอยู่ในบริเวณที่เปรียบประดุจเขตพัทธสีมา ทำให้รู้สึกเย็นกายเย็นใจได้อย่างประหลาด ยิ่งก้าวเข้าไปพระอุโบสถก็ยิ่งรู้สึกสงบเย็นราวชโลมใจด้วยน้ำฝน มองเห็นพระประธานโดดเด่นอยู่สุดสายตา องค์พระสีทองส่องประกายสง่างาม อีกทั้งยังสะท้อนเงาบนพื้นหินอ่อนสีขาว ซ้ายขวาเป็นผนังสีขาวบริสุทธิ์ ปราศจากภาพวาดบนกำแพงเฉกเช่นพระอุโบสถทั่วไป
พระประธานองค์นี้จำลองมาจาก "พระนิรันตราย" เป็นพระพุทธรูปหนึ่งในจำนวน 18 องค์ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างสำหรับพระราชทานแด่วัดในสังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย จำนวน 18 วัด ตามพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปทองคำ ปางสมาธิเพชร ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ขนาดหน้าตักกว้าง 12 เซนติเมตร สูง 20.5 เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่บนฐานสูง 24 เซนติเมตร ขุดพบที่ชายป่าที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โปรดให้อัญเชิญไว้กับพระกริ่งทองคำองค์เล็กที่หอเสถียรธรรมปริตร ต่อมามีผู้โจรกรรมเฉพาะพระกริ่ง แต่มิได้เอาพระพุทธรูปองค์นี้ ทพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า พระองค์นี้แคล้วคลาดถึงสองครั้ง จึงถวายพระนาม "พระนิรันตราย" แล้วโปรดให้หล่อพระพุทธรูปสวมไว้ชั้นหนึ่ง
ความรู้สึกที่แน่วแน่เป็นเช่นใดเพิ่งตระหนัก ด้วยการออกแบบและตกแต่งภายในเช่นนี้ ทำให้ผู้ก้าวเข้ามาล้วนเกิดสภาวะเอกจิต ... ความคิดจำเพาะถึงสิ่งอย่างเดียว ผู้เขียนเองถึงกับหยุดหายใจชั่วขณะ ทรุดตัวลงก้มกราบพระประธานตรงหน้าด้วยจิตใจอันเป็นสมาธิ สงบ นิ่ง และใสเย็น
ต่อจากนั้นจึงมีโอกาสได้กราบนมัสการพระเทพปริยัติวิมล อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งพระคุณเจ้ากรุณาเจริญพรเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่แห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยดังหัวข้อต่างๆดังนี้

ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
“เมื่อปี 2436 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระดำริจัดตั้ง มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นภายใน วัดบวรนิเวศวิหาร โดยวิธีจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ มีลักษณะแตกต่างจากการเล่าเรียนภาษาบาลีตามประเพณีแบบเดิม ในขณะเดียวกัน ก็นำเอาวิธีวัดผลแบบข้อเขียนมาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศไทยด้วย
ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยจึงเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดการศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่
สถาบันการศึกษาเก่าแก่แห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวและผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องปิดการเรียนการสอนนานหลายสิบปี ก่อนรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในปี 2488 และดำเนินการต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่มีหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ ประกอบด้วยวิทยาเขต วิทยาลัย และศูนย์การศึกษา”

“มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ มีทั้งหมด 7 วิทยาเขต 3 วิทยาลัย 12 ศูนย์การศึกษา มีนักศึกษาทั้งสิ้น 15,000 คน มีทั้งพระ แม่ชี และฆราวาส ทางใต้มีที่หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี และสงขลา ทางเหนือมีเชียงใหม่และกำแพงเพชร ทางอีสานมีมากที่สุด มีในอำเภอด่านซ้าย อำเภอชุมแพ จังหวัดเลย มีที่ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู ยโสธร ศรีสะเกศ นครราชสีมา ภาคกลางมีพระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ชลบุรี เพชรบุรี และที่นี่ ศาลายา นครปฐม”
“หน่วยงานของมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นหน่วยงานที่อยู่ในวัดเป็นส่วนมาก ทำให้ติดขัดเรื่องการขยายพื้นที่ พัฒนาสถานที่ไม่ได้ พื้นที่จำกัด ส่วนหนึ่งก็พยายามหาที่เพิ่ม ซื้อบ้าง รับถวายบ้าง ที่ดิน 180 ไร่ผืนนี้เป็นของวัดมกุฏกษัตริยาราม จึงต้องเช่าใช้เพราะเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์และระเบียบวินัยสงฆ์
ในต่างจังหวัดมีการเรียนการสอนเฉพาะปริญญาตรีกับโท ยังไม่มีปริญญาเอก ซึ่งมีเฉพาะส่วนกลาง พระก็มีทุนเล่าเรียนหลวงเหมือนฆราวาสนะ แต่จำนวนไม่มาก แค่ครึ่งหนึ่งของฆราวาส เช่น ฆราวาสได้ทุนสิบคน พระได้ห้ารูป”

การออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายสบายตา
“หลังอาตมาทำโครงร่างผังแม่บท โครงการย้ายมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อาตมาแบ่งพื้นที่การใช้สอยตามพระพุทธมณฑลที่เป็นพระพุทธรูปยืน มีสี่ส่วนคือเศียร อกพระ องค์พระ และพระบาท
เศียรพระเป็นกลุ่มอาคารธรรมสถาน พระเจดีย์ และหอพระไตรปิฎก โดยหลักที่รัชกาลที่สี่ทรงวางไว้คือมีโบสถ์ กุฏิ และวิหาร อาตมาแปลงโบสถ์เป็นธรรมสถาน เจดีย์เป็นพิพิธภัณฑ์เจดีย์ วิหารก็เป็นหอพระไตรปิฎก ทำหมดนี้ดำเนินการโดยใช้หลักสามป. ประยุกต์ ประหยัด และประโยชน์ใช้สอย ที่ยึดตามหลัก 3 ท.คือทยอยใช้ ทยอยเรียน และทยอยสร้าง อะไรเสร็จก่อนก็ใช้ก่อน ทั้งหมดนี่ดำเนินการไปแล้วสี่ปี ปี่ที่แล้วปริญญาโทกับเอกย้ายมาที่นี่ ปีนี้จะเป็นปริญญาตรีชั้นปีที่สามกับสี่ ปีหน้าเป็นชั้นปีที่หนึ่งกับสอง
เจดีย์ที่นี่เป็นเจดีย์กลวง ภายในใช้สอยได้ มีการจำลองพระพุทธรูปสี่ภาค เพราะจิตใจของฆราวาสยังยึดติดกับที่เกิดที่อยู่ จึงทำให้ครบสี่ภาค ให้จิตใจของคนแต่ละภาคได้มุ่งมั่น เหมือนที่นี่ พวกโยมจะเห็นว่าไม่มีภาพวาดบนผนัง อาตมาต้องการให้จิตใจของผู้เข้ามามุ่งอยู่ที่พระประธาน เพราะคนใจคอวอกแวกจะมองโน่นมองนี่ก่อนถึงพระ”

“นอกจากนี้คือเน้นให้เย็นกาย อาตมาพยายามปลูกต้นไม้ให้ทั่วบริเวณ ทำสระน้ำเป็นรูปแผนที่ประเทศไทย จากนั้นจะนำไม้ประจำจังหวัดปลูกรอบสระ จังหวัดละสามต้น จะมีการจัดท่องเที่ยวไทยห้านาทีไม่มีระเบิด มีการปลูกไม้ไทย ไม้ในวรรณคดี ไม้ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา และสมุนไพร ที่คือศาลายา อาตมาจะทำประวัติท้องถิ่นด้วย
ลำดับต่อไปคืออกพระซึ่งเป็นที่อยู่ของหัวใจ แทนด้วยกลุ่มอาคารบริหาร เช่น อาคารหอประชุมใหญ่
องค์พระเป็นความศักดิ์สิทธิ์ แทนด้วยกลุ่มอาคารเรียน 4 กลุ่ม 8 หลัง การออกแบบอาคารก็มีแนวคิด ฐานอาคารคือศีล ตัวอาคารคือสมาธิ หลังคาคือปัญญา แต่ต้องเรียบ ไม่หวือหวา โดยหลักสูตรมีทั้งปริยัติและปฏิบัติ อาตมาก็วางไว้แล้วว่าเป็นอาคารสี่กลุ่มมีวงเวียนอยู่ตรงกลาง สำหรับสี่กลุ่มนี้ ทางโลกหมายถึงสี่ภาคที่รวมเป็นหนึ่งเดียว ทางธรรมหมายถึงอริยสัจสี่ ในสี่กลุ่มนี้มีอาคารแปดหลังเรียกว่ามรรคแปด ในเชิงปฏิบัติก็ออกแบบให้เป็นเกาะเสริมยุทธศาสตร์ มีต้นไม้เป็นสื่อ ส่วนพระบาทหรือฐานพระพุทธรูปก็คือบุคลากร”

พระคุณเจ้าผู้มากด้วยหน้าที่รับผิดชอบ
“นอกเหนือจากหน้าที่รับผิดชอบในประเทศแล้ว อาตมายังทำหน้าที่เป็นธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนอีกด้วย ล่าสุดอาตมาเป็นประธานฝ่ายบรรพชิต ร่วมกับท่านเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศสวีเดน ประกอบพิธีเปิดวัดสังฆบารมี โดยในสหภาพยุโรปมีวัดในเครือคณะธรรมยุต รวม 14 วัด การสร้างวัดเหล่านี้ ถือว่าเป็นผลงานที่เด่นชัดของคณะพระธรรมทูตที่เดินทางไปประจำที่ต่างประเทศ เป็นศาสนกิจที่ปฏิบัติร่วมกัน ระหว่างสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และคณะพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูต
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและคณะสงฆ์ไทยทำงานนี้มาตั้งแต่ปี 2509 อาตมาจึงต้องเดินทางไปครบทุกทวีปเพื่อทำงานหน้าที่พระธรรมทูต โดยทำมาตั้งแต่ปี 2529 รับผิดชอบการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ การเทศนาอบรม การร่วมประชุมระดับนานาชาติ และการสนองศรัทธราญาติโยมในต่างประเทศ จึงมีวาระงานทุกปี ปีละหลายครั้ง ปัจจุบันมีวัดไทยสองร้อยกว่าวัดในประเทศต่างๆทั่วโลก ประสบการณ์ในประเทศต่างๆของอาตมา ได้แก่ การศึกษาดูงานคณะสงฆ์และการบริหารมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาประเทศไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น ดูงานด้านการสอนศาสนาและปรัชญาในมหาวิทยาลัยประเทศอินเดีย พม่า ดูงานด้านการบริหารและกิจการคณะสงฆ์ในประเทศออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา ดูงานด้านการบริหารและกิจการพระพุทธศาสนาในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศอินโดนีเซีย
ในหลายประเทศที่อาตมาเยือนมา อาตมาเห็นว่าพุทธมามกะในไทยกับในต่างประเทศไม่แตกต่างกัน เราใช้หลักการเดียวกับในประเทศไทย แต่แตกต่างกันด้านสถานที่ โอกาส และเวลา อาศัยการประยุกต์ให้เข้ากัน แต่หลักการทางพุทธศาสนาเหมือนกัน
นอกจากนี้ ฝรั่งสนใจการปฏิบัติกรรมฐานมากที่สุด เขาศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยตนเองมาก่อน จากนั้นมาปฏิบัติในวัด เพื่อให้พระธรรมทูตแนะนำ
โยมอาจสงสัยว่าฝรั่งมีจิตแพทย์มากมาย ค่อนข้างพอเพียงกับจำนวนประชากร แต่มีฝรั่งไม่น้อยที่สนใจใช้ปฏิบัติกรรมฐานเพื่อเยียวยาโรคทางใจ ทั้งนี้เป็นเพราะวัตถุธรรมที่เขามีอยู่ยังไม่มากพอเป็นสัจจธรรมแห่งชีวิต ยังไม่ให้ความสุขที่แท้จริงแก่ชีวิต เขาจึงเข้ามาหาทางธรรม”

ความคิดเห็นที่มีต่อการเรียนการสอนและสถานการณ์ในบ้านเมือง
“น้ำพริกแต่ละถ้วยมีรสชาติต่างกัน ประยุกต์ทำประยุกต์ใช้ต่างกัน หลักสูตรการเรียนการสอนที่นี่ก็เช่นกัน ทุกวิชาของที่นี่มีหลักพุทธศาสนาเป็นแกน เช่น รัฐศาสตร์ก็มีการบริหารการปกครองในเชิงพุทธศาสตร์ ที่เราทำเราพูดเราคิดนี้เป็นหลักธรรม แต่เราไม่รู้ว่าเป็นหลักธรรมอะไร พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บอกเรา ว่าคือหลักธรรมเช่นนี้ๆ เหมือนที่นักวิทยาศาสตร์คิดโน่นคิดนี่ได้แล้วบอกเรา
อาตมายืนยันว่าหากนักศึกษารัฐศาสตร์ของที่นี่บริหารบ้านเมือง รับรองว่าประเทศเราสงบสุขกว่านี้ ลองให้อาตมาเป็นนายกรัฐมนตรีดูไหมล่ะ
ถ้าผู้นำประเทศมีธรรมะ หรือสมมุติตัวเราเป็นผู้มีธรรมะและเป็นผู้นำประเทศ เราเป็นผู้นำทาง เรามีไฟฉายอยู่ในมือ แต่ถ้าคนไม่เดินตามก็ไม่มีประโยชน์ ทางหลวงสร้างทางไว้สี่เส้นทางไปเหนือ ใต้ ออก ตก นี่คือสี่เส้นหลักของประเทศ แต่ถ้าคนไม่ใช้มันก็ไม่มีประโยชน์ เหมือนกฎหมาย มีแล้วไม่เคารพมันก็ไม่มีประโยชน์ ผู้นำประเทศถ้ามีจิตใจดีแล้ว มันก็ทำอะไรๆดีไปหมด กายดี งานดี หรือแค่มีดีมากกว่าเสียก็อยู่ได้แล้ว ไม่มีใครมีแค่ดีไม่มีเสีย ยกเว้นพระพุทธเจ้า
คนเรา ถ้าชอบกันก็มองว่าดี ถ้าไม่ชอบกันก็มองว่าไม่ดี ความดีไม่ดีอยู่ตรงไหน อยู่ที่ใจ อยู่ที่ตาของเราหรือของเขา คนๆเดียวกันนี่แหละ วันนี้บอกว่าเขาดี วันรุ่งขึ้นอาจบอกว่าไม่ดี นี่คือนานาจิตตัง ถ้าชอบเสียอย่าง ไม่ดีก็บอกว่าดีได้ แต่ถ้าไม่ชอบกันเมื่อไร ดีก็บอกว่าไม่ดี ด้วยเหตุนี้จึงต้องนำธรรมะเข้าไปจับเข้าไปพิจารณาคนว่าดีหรือไม่ดี
สำหรับอาตมา รัฐธรรมนูญคือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปัญหาอยู่ที่ตัวอนัตตา คือต้องไม่มีตัวตน
สำหรับอาตมากระทรวงที่สำคัญที่สุดของประเทศคือกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าไม่มีกระทรวงนี้ประเทศชาติอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ หลักการ เก้าอี้สี่ขา เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศชาติพัฒนา ขาที่หนึ่งคือครอบครัว ขาที่สองคือรัฐบาล ขาที่สามคือการศึกษา ขาที่สี่คือศาสนา สี่ขานี้ทำให้เยาวชนอยู่ได้ แต่ปัจจุบันสี่ขานี้โยนกลองกัน เกิดมาก็ไม่ได้เรียนเพราะรัฐบาลไม่จัดสรรให้ โตเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้คุณภาพ
ผู้ใหญ่ชอบว่าเด็กสมัยนี้ดื้อ อ้าว แล้วคนที่เคยเป็นเด็กล่ะว่าอย่างไร ระหว่างผู้ใหญ่ดื้อกับเด็กดื้ออะไรน่ากลัวกว่ากัน อาตมาเคยอบรมนักเรียนนายร้อย บอกพวกเขา ไม่ว่าจะถูกย้ายไปไหนก็ไม่ต้องกลัว ขอเพียงให้ปลูกความดีไว้ในทุกที่ที่ไปอยู่”

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษา 4 คณะ ได้แก่ ศาสนาและปรัชญา มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ คุณสมบัติของผู้สมัครคือเป็นบรรพชิตผู้จบเปรียญธรรม5 หรือคฤหัสถ์ผู้จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่ 0 2282 8303 หรือดูที่ //www.mbu.ac.th

ประวัติพระเทพปริยัติวิมล โดยสังเขป
เกิดวันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2494 ณ บ้านเลขที่13 หมู่ที่ 3 บ้านน้ำตาล ตำบลน้ำตาล อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ตอนเด็กมีชื่อ-นามสกุลว่า แสวง ลูกอินทร์
ตอนอายุสิบเอ็ดขวบ พระครูสังฆรักษ์ แกลต อนาลโย วัดศรีสำราญ ไปที่บ้านเพื่อขอลูกชายบวช จึงได้บรรพชาเมื่อปี 2505 ณ วัดศรีสำราญ ผ่านไปสี่ปีจึงลาสิกขา แต่ลาได้เพียงสองเดือนก็ไปบรรพชา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2509 และอุปสมบทในปี 2514
เรียนจบเปรียญธรรม 5 ประโยค นักธรรมชั้นเอก ศาสนบัณฑิต หรือปริญญาตรี สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และท้ายสุด M.A. หรือรัฐศาสตร์บัณฑิต หรือปริญญาโท มหาวิทยาลัยปันนารัส ฮินดู เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย
เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้รับสนองงานและหน้าที่งานต่างๆ ในสมัยเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
เมื่อปี 2531 ได้รับบอบหมายให้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายเผยแผ่และวิเทศสัมพันธ์ ได้มีโอกาสสนองงานคณะธรรมยุต คณะสงฆ์ ทำงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เป็นกรรมการบริหารและเลขานุการสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นกรรมการบริหารและเลขานุการสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ
ต่อมาได้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดี และอธิการบดี จนกระทั่งเมื่อกว่าห้าปีที่แล้ว ได้รับมอบหมายให้ทำโครงการย้ายมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย”





Create Date : 18 มิถุนายน 2553
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 13:50:35 น. 2 comments
Counter : 3355 Pageviews.

 



แวะมาทักทาย ก่อนวันหยุด ไปเที่ยวไหนเอ่ย



โดย: หน่อยอิง วันที่: 18 มิถุนายน 2553 เวลา:19:44:49 น.  

 
ติดงาน
อดเที่ยวอีกแล้วครับ


โดย: เดชา เวชชพิพัฒน์ (dejaboo44 ) วันที่: 19 มิถุนายน 2553 เวลา:7:33:23 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

dejaboo44
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add dejaboo44's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.