space
space
space
 
ธันวาคม 2562
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
30 ธันวาคม 2562
space
space
space

อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์

อุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ในประเทศไทยเกิดขึ้นจากการที่หลายบริษัทด้าน system integrator ที่รับติดตั้งอุปกรณ์ ICT จากต่างประเทศ ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่อบริหารความเสี่ยงให้มีรายได้มากกว่าการรับจ้างติดตั้งแต่เพียงอย่างเดียว จึงเริ่มผันบางส่วนของบริษัทมาเขียนโปรแกรมขาย โดยในระยะแรก เขียนตามความต้องการของลูกค้า แต่การให้บริการตามความต้องการของลูกค้ามีต้นทุนต่อหน่วยสูง เพราะการทำงานแต่ละครั้งก็ใช้ได้เฉพาะกับลูกค้าแต่ละราย หรือแต่ละการใช้งาน ทำให้ผู้ผลิตซอฟท์แวร์ต้องผันตัวเองไปเขียนโปรแกรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ของตัวเอง มีสิทธิบัตร (Intellectual Property: IP) ของตัวเอง ซึ่งเขียนครั้งเดียว แต่ขายให้ได้หลายราย ทำให้เกิดการประหยัดแรงงาน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสิทธิบัตรเป็นของตัวเอง แต่เมื่อการแข่งขันมากขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ และด้วยธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ซอฟท์แวร์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันสมัยและทันคู่แข่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทั้งนักลงทุนและบริษัทซอฟท์แวร์ต่างก็เริ่มผันตัวเองมาสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็น Licensed Product (LP) กล่าวคือ แทนที่จะขายขาดเหมือนกรณี IP จะขายในลักษณะของการเก็บค่าบริการเป็นรายช่วงเวลา เช่น รายเดือน รายไตรมาส รายปี ราย 3 ปี หรือเก็บตามจำนวนครั้งที่ใช้ และเนื่องจากการขายซอฟท์แวร์ในลักษณะนี้ เป็นการขายซอฟท์แวร์ที่ต้องมีการให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง การให้บริการนี้จึงถูกเรียกว่า software as a service หรือ SaaS ซึ่งตัวอย่างของ SaaS รายใหญ่ของโลกที่ขาย LP ได้แก่ Microsoft, Oracle, Adobe

นอกจากการปรับตัวด้านการตลาดและการขายแล้ว ด้านคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ก็ถูกปรับตัวไปตามบริบทของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน เช่น ลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล ลูกค้ากลุ่มโรงแรม ลูกค้ากลุ่มร้านค้าและห้างสรรพสินค้า ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ได้ทำให้เกิดพัฒนาการของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่แตกต่างกัน และต้องการการติดตั้งระบบที่มีความเฉพาะทางและซับซ้อนมากขึ้นตามการพัฒนาของลูกค้า ซึ่งพัฒนาการนี้ทำให้เกิดผู้ประกอบการต่อเนื่องเป็น SI รายย่อยๆ ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่รับผลิตภัณฑ์ของบริษัทซอฟท์แวร์ไปขายและติดตั้ง ทำให้กลุ่ม SI รายย่อยเหล่านี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากลูกค้าที่เป็น end users ที่ซื้อซอฟท์แวร์จากบริษัททั้งโดยตรงและผ่านตัวแทนจำหน่าย

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งแรกของอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ในประเทศไทยเกิดขึ้นหลังปี ค.ศ. 2011 เมื่อ application บนโทรศัพท์มือถือและเทคโนโลยี cloud computing ก้าวเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์จำนวนมากต้องขยายการผลิตไปผลิต application เพิ่มเติมด้วย การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ทำให้ความต้องการทักษะของคนทำงานด้านซอฟท์แวร์ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย กล่าวคือ เดิมมีความสามารถในการเขียนโปรแกรมที่ใช้งานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ต้องเพิ่มกลุ่มที่มีความสามารถด้านการเขียน code หรือเรียกว่า coder เพื่อทำ application บนโทรศัพท์มือถือ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2018 เมื่อ Machine Learning, AI และ blockchain ก้าวเข้ามามีบทบาท ทำให้เกิดอาชีพใหม่เช่น ด้าน data science ได้แก่ data analytic, data engineer และ data scientist และโปรแกรมเมอร์ที่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับ Machine Learning และ AI ส่วนโปรแกรมเมอร์ฝั่งที่ทำงานกับ blockchain ก็ต้องมีความรู้เรื่อง blockchain

การเกิดขึ้นของ AI ยังจะทำให้เกิดอาชีพรูปแบบใหม่เช่น ที่ปรึกษาการเปลี่ยนแปลงบ้านเป็น smart home, ที่ปรึกษาในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเป็น smart business เพราะเป็นผู้ที่ต้องมีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับ behavior หรือเรียกว่า behavior architecture

แน่นอนว่า เมื่อมีอาชีพใหม่ ก็จะต้องมีอาชีพที่จะหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพที่ AI ทำแทนได้ ได้แก่ กลุ่มนักวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ในวงการการเงินการธนาคาร กลุ่มที่มีความเสี่ยงคือกลุ่มผู้วิเคราะห์สินเชื่อ กลุ่มนักวิเคราะห์หุ้น แม้แต่ในวงการเกษตรกรรม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการคัดคุณภาพผลไม้ก็จะถูกแทนด้วย Machine Learning ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ จะต้องปรับตัวเองมาเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์แทน

ในอนาคต ความต้องการซอฟท์แวร์ที่เป็น AI จะมากขึ้น และการจะเป็น AI ได้นั้น จำเป็นต้องมี data center ที่อยู่บน cloud เป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่เนื่องจากประเทศไทยมีข้อกฎหมายกำหนดว่า cloud จะต้องอยู่ในประเทศไทย ทำให้กลายเป็นข้อจำกัด เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่เช่น google, amazon, facebook ไม่เข้ามาตั้ง data center ในไทย หาก ประเทศไทยต้องการให้ผู้ประกอบการไทย และอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของไทย มีพัฒนาการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จะต้องเข้าไปวิเคราะห์และหาเหตุที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เหล่านี้ไม่เข้ามาแต่เลือกที่จะไปตั้งในประเทศเพื่อนบ้านแทน แล้วปรับปรุงกฎระเบียบและแรงจูงใจเพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ เข้ามาให้บริการ data center ในประเทศไทย

จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ปัจจุบัน มีแรงงานด้านโปรแกรมเมอร์ประมาณ 6,000 คน และมีความต้องการแรงงานด้านโปรแกรมเมอร์เพิ่มประมาณ 20,000 คน ซึ่งผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการฝึกโปรแกรมเมอร์ที่จบออกมาจากมหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี จึงจะปล่อยมือได้ จึงมีข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ ดังนี้
1.) สถาบันการศึกษาร่วมกับผู้ผลิตซอฟท์แวร์ในการสอนและฝึกนักศึกษาในภาควิชาที่เกี่ยวข้อง
2.) สถาบันการศึกษาร่วมกับผู้ผลิตซอฟท์แวร์ในการเปิดหลักสูตรระยะสั้นฝึกอบรมการเขียนโปรแกรมกับผู้สนใจทั่วไป (ผมเคยถามผู้ประกอบการหลายท่านว่า คนที่จะมาฝึกเรียนกับเค้าเพื่อให้เขียนโปรแกรมได้ใน 6 เดือน ต้องมีพื้นฐานอย่างไร เค้าบอกว่า มีแค่ตรรกะก็พอ เค้าบอกว่า ไม่สนใจใบปริญญา)
3.) เปิดหลักสูตรโปรแกรมเมอร์และ coding ในระดับอาชีวะศึกษา

ทั้งนี้ ภาครัฐ ต้องรีบส่งเสริมให้มีการเปิดหลักสูตรเพื่อสร้างโปรแกรมเมอร์ที่มีความสามารถในระดับ basic ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทันต่อความต้องการ แล้วธุรกิจจะนำโปรแกรมเมอร์เหล่านี้ไปต่อยอดตามความต้องการของตลาดเอง ซึ่งในอนาคต ความต้องการโปรแกรมเมอร์ที่มีความรู้ด้าน AI และ blockchain จะมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI แล้วรัฐก็ต่อยอดด้วยการออกมาตรการสนับสนุน ส่งเสริม ให้ผู้ผลิตซอฟท์แวร์ ปรับตัวเองให้มีความสามารถในการทำ AI และ blockchain และเป็น AI และ blockchain ที่ตอบโจทย์เฉพาะทางของลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง ทำนองเดียวกับการพัฒนาของผลิตภัณฑ์ซอฟท์แวร์ประเภท LP ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้มีความเหมาะสมกับความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละธุรกิจ




Create Date : 30 ธันวาคม 2562
Last Update : 30 ธันวาคม 2562 15:27:21 น. 0 comments
Counter : 464 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

คนชวนคิด
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add คนชวนคิด's blog to your web]
space
space
space
space
space