<<
มิถุนายน 2555
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
12 มิถุนายน 2555
 

เรื่องเล่า ร้านเช่าหนังสือ ตอนที่ 2 เช่าหนังสือไปอ่านเถอะ ที่รัก

ทิ้งห่างจากตอนล่าสุดไปเกือบๆครึ่งปี ในที่สุดซีรี่ส์ร้านเช่าหนังสือตอนที่ 2 ซึ่งถ้านับบทนำด้วยก็ต้องถือว่าเป็นตอนที่สาม ทั้งที่เนื้อหาของมันน่าจะเป็นตอนที่หนึ่ง (แล้วกูจะเขียนให้มันสับสนไปทำไม) ก็คลอดเสียที เชื่อว่าถึงวันนี้ผู้อ่านที่เคยติดตามก็น่าจะเลิกและหลงลืมไปหมดแล้วว่ามีซีรี่ส์เรื่องนี้อยู่บนโลก ขนาดตัวผู้เขียนเองยังต้องย้อนกลับไปอ่านตอนที่แล้วอีกทีว่าเขียนอะไรไปถึงไหน กว่าจะระลึกได้ว่าต้องเขียนอะไรต่อไปก็เล่นเอาไมเกรนแทบจับ เวิ่นเว้อได้หนึงย่อหน้าแล้วก็มาเข้าเรื่องกันเถิด จริงๆจะเข้าเรื่องเลยก็ได้นะ ไม่รู้จะอารัมภบทไปทำไม

 

 

ในตอนนี้จะเล่าถึงกระบวนการกำเนิดร้านฮะเก๋า ตั้งแต่ขั้นตอนการหาทำเล หาหนังสือ ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมากมาย (จริงๆแบบที่มันยุ่งยากก็มี แต่ผมก็พยายามเลือกแบบที่มันสบายที่สุดล่ะ) หลังจากที่ตกลงปลงใจแน่นอนว่าจะทำแล้วโว้ย (ไปหาอ่านที่มาของความอยากได้ที่ “บทนำ” นะจ๊ะ) ผมก็เริ่มต้นหาข้อมูลจากอากู๋ จนไปค้นพบว่าทุกวันนี้มันมีรูปแบบสำหรับคนที่อยากเปิดร้านเช่าหนังสือหลักๆอยู่สามสี่แบบ ทั้งแบบแฟรนไชส์ แบบผู้รับเหมา แบบเสี่ยลุยเอง และแบบรับสืบทอดความฝัน ดังจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆทีละแบบ ดังนี้ (ดูวิชาการมากๆ)

 

 

  1. แบบแฟรนไชส์ สบายจริงๆ – รูปแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่มีตังค์ แต่พลังน้อย เป็นรูปแบบที่เหนื่อยน้อยสุดแล้ว (แต่แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายก็สูงที่สุดด้วย เมื่อเทียบกับรูปแบบอื่นๆในจำนวนเงินที่เท่ากัน ในประเทศไทยมีเจ้าใหญ่ๆอยู่เจ้าเดียว เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้จัก) วิธีทำก็ไม่ยาก เริ่มจากการเลือกซื้อแพคเกจตามกำลังทรัพย์ ทุนน้อยก็ซื้อชุดเล็ก ทุนหนาหน่อยก็ซื้อแบบคอมโบจัดเต็ม จ่ายตังค์แล้วเดี๋ยวพี่เค้าทำให้ทุกอย่าง ตั้งแต่การตบแต่งร้าน วางระบบ คีย์ข้อมูล ทำบัตรสมาชิก แจกเสื้อทีม ของที่ระลึก ช่วยแจกใบปลิว ฯลฯ ถือว่าเป็นรูปแบบที่สะดวกสบายที่สุด เสี่ยงน้อยสุด เพราะชื่อของแฟรนไชส์ก็แข็งแรงในระดับนึงอยู่แล้ว นักอ่านมาเห็นก็คุ้นเคย เดินเข้าร้านมาสมัครสมาชิกกันได้ง่ายๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก (แม้จริงๆแล้วอัตราค่าเช่า-ค่าปรับอาจจะแพงกว่าร้านเช่าท้องถิ่นก็ตาม) ก็ต้องยอมรับว่าพี่เจ้าของแฟรนไชส์เค้าวางรากฐานมาดีจริงๆ ตอนแรกผมก็กะจะเอาแบบนี้แหละ ดูไม่เหนื่อยดี แต่ติดที่ไม่อยากได้ชื่อและโลโก้ของร้านเค้า แบบมั่นใจว่าตัวเองคิดเองทำเองได้สวยกว่า (ความเชื่อส่วนบุคคล) เอ่อ... กับเหตุผลอีกอย่างก็คือตังค์ไม่พอน่ะ ทุนที่มีถ้าซื้อพี่เค้าก็ได้หนังสือนิดเดียว (จริงๆบอกเหตุผลนี้แต่แรกก็จบนะ) แต่หลังจากผมเปิดร้านไปได้แป๊บเดียว ก็มีคนเปิดแฟรนไชส์นี้ขึ้นมา เล่นเอาแทบสะอื้น (รายละเอียดเรื่องนี้จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป) มาเร็วกว่านี้ก็ไม่ได้ กูจะได้ไม่เปิด เหี้ย...

     

 

  1. แบบผู้รับเหมา เราจัดให้ – นี่คือแบบที่ผมเลือก (เพิ่งรู้ว่าโลกนี้มีธุรกิจแบบนี้ก็ตอนจะทำร้านนี่แหละ) รูปแบบก็คือบริการให้คำปรึกษา จัดหาหนังสือที่เราต้องการ ชั้นวางหนังสือ โปรแกรมเช่า พลาสติกห่อปก ฯลฯ คือบริการทุกสิ่งอย่างที่จำเป็นสำหรับการเปิดร้านนั่นแหละ มีรูปแบบเป็นแพคเกจเหมือนกัน แต่ถ้าเทียบกับแฟรนไชส์ก็ถือว่าถูกกว่าเยอะ เพราะในราคาเท่าๆกันจะได้หนังสือเยอะกว่า อีกทั้งยังสามารถตั้งชื่อร้านและตบแต่งตามใจชอบได้ จะทาร้านสีเหลือง สีแดง  (ถ้ายังไม่เลือกข้างจะทาอย่างละครึ่งก็ได้) ตั้งชื่อประหลาดหลุดโลกยังไงก็ไม่มีใครว่า (ก็ใครจะว่าล่ะเนอะ ตังค์มึงนี่) ไม่จำกัดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ แต่เราต้องมานั่งคีย์ข้อมูลเอง สมมติสั่งหนังสือมาหมื่นเล่มก็นั่งคีย์เข้าระบบไปเถอะ หมื่นเล่ม (ดีที่โปรแกรมดึงข้อมูลจาก Excel ได้ ไม่งั้นกูตายแน่ กว่าจะทำระบบเสร็จอาจจะใช้เวลากว่าครึ่งปี) ไหนจะต้องทำบัตรสมาชิก ติดบาร์โค้ด ห่อปก ฯลฯ เรียกว่าวิญญาณบรรณารักษ์เข้าสิงกันเลยทีเดียว เจ้าที่ผมใช้บริการก็ถือเป็นลำดับต้นๆในวงการ (วัดจากการเสิรช์กูเกิ้ลแล้วเจอมันเป็นเจ้าแรกๆ ไม่ได้วัดจากฝีมือใดๆทั้งสิ้น) บริการดีก่อนขาย แต่ตามตัวยากฉิบหายหลังขายเสร็จ ไว้จะเขียนถึงเรื่องนี้โดยละเอียดอีกครั้งในบทต่อๆไป (หลายคนบอก ยังจะมีอีกเรอะ!)

     

 

  1. แบบเสี่ยลุยเอง บรรเลงบรรลัย ใครๆก็ไม่รัก (คือไม่รู้จะต่อคำสร้อยว่าอะไร มั่วซั่วไปเรื่อยเลยกู) รูปแบบนี้ถือเป็นรูปแบบที่ถูกที่สุด แต่ก็เหนื่อยที่สุด โหดหิน ไม่รักหนังสือจริงอย่าริทำ เพราะคุณต้องเหน็ดเหนื่อยตั้งแต่การหาหนังสือเอง ต้องไปเดินกระเซอะกระเซิงตามย่านหนังสือมือสองอย่างผ่านฟ้า สะพานควาย จตุจักร ตลาดรถไฟ สวนลุมฯ โรงแรมสยาม (อันหลังนี่เริ่มไม่ใช่แล้ว) ต้องรู้จักหนังสือดีราวกับลายเส้นบนฝ่ามือตัวเอง รู้ว่าเรื่องนั้นฮิต เรื่องนี้แป้ก เรื่องนั้นโดนดอง เรื่องนี้หมดลิขสิทธิ์ ไหนจะต้องไปหาร้านทำชั้นวางหนังสือ ตอนสั่งทำชั้นต้องกะให้ขนาดและจำนวนพอดีกับพื้นที่ของร้านด้วย แถมยังจะต้องคิดชื่อร้าน ออกแบบโลโก้ บัตรสมาชิก ฯลฯ คือต้องมีทักษะหลายอย่างมาก ที่สำคัญ ต้องเป็นคนขยันและมุ่งมั่น (ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ผมมีน้อยมาก นี่จึงเป็นรูปแบบที่ไม่เหมาะกับผมด้วยประการทั้งปวง) คือกว่าจะได้เปิดร้านนี่ใช้คำว่า “สายตัวแทบขาดได้เลย” แต่ข้อดีคือคุมค่าใช้จ่ายได้ทุกเม็ด โอกาสจะเสียตังค์ไปกับหนังสือที่ไม่มีคุณค่า (หมายถึงหนังสือที่วางทั้งปีก็ไม่มีคนเช่า) หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นมีน้อย ถือเป็นขั้วตรงข้ามกับการซื้อแฟรนไชส์เลยทีเดียว

     

 

  1. รูปแบบสุดท้าย สืบทอดความฝัน ตั้งชื่อให้ดูงดงามโลกสวย แต่จริงๆมันคือการเซ้งต่อร้านเช่าหนังสือที่มีอันต้องปิดตัวลง (ซึ่งจำนวนร้านที่ปิดกับร้านที่เปิดปัจจุบันก็สูสีกันมาก เข้าทำนองคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า หมูไม่กลัวน้ำร้อน ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา เราไม่ลงนรก ใครจะลงนรก ฯลฯ) ใครสนใจรูปแบบนี้ลองเสิร์ชอากู๋พิมพ์คำว่า “ร้านเช่าหนังสือ” จะเห็นประกาศเซ้งกิจการขึ้นเป็นตับเต็มไปหมด (เห็นแล้วความอยากเปิดจะลดลงไปประมาณสามพันฮวบ เผลอๆอาจถอดใจเลิกคิดไปเลยก็ได้) มีทั้งเซ้งเฉพาะหนังสือ เซ้งชั้นวางหนังสือ เซ้งคอมพิวเตอร์ เซ้งทั้งร้าน ฯลฯ ถือเป็นรูปแบบที่ก้ำกึ่งระหว่างความสะดวกกับความลำบากใจ เพราะหนังสือที่ได้บางทีก็จะแปะตราร้านเก่าอยู่ เห็นแล้วก็สะท้อนใจว่ามึงยังไม่รอดแล้วกูจะไหวเหรอ?... แต่เอาเถอะ ของอย่างนี้ไม่ลองไม่รู้ การรับเซ้งแบบนี้ถ้าได้เซ้งต่อร้านที่ขายทั้งกิจการแถมสมาชิกให้ด้วยนี่จะทุ่นแรงไปเยอะ ไม่ต้องคอยมาลุ้นเรื่องยอดสมาชิก (แต่มีสมาชิกแล้วไม่เช่าก็ไม่ช่วยอะไรนะ ไม่งั้นร้านเดิมเค้าจะขายเหรอ?) แล้วตกลงรูปแบบนี้มันดีมั๊ย บอกตรงๆว่าหนูก็ไม่รู้เหมือนกัน นี่มันธุรกิจนะโว้ย มีสูตรตายตัวเค้าก็รวยกันขี้แตกหมดแล้วดิ เสี่ยงๆกันเองบ้างเถอะ ชีวิตจะได้มีสีสัน

     

 

นั่นคือรูปแบบหลักๆของการเปิดร้านเช่าหนังสือในปัจจุบัน ผมคงไม่สามารถจะฟันธงได้ว่าแบบไหนดีที่สุด มันขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละคน ทั้งเรื่องเงิน เวลา ความรู้ โอกาส และที่สำคัญ “ใจ” ของแต่ละคนว่าพร้อมจะโดดเข้าสู่สนามรบที่มีเค้กชิ้นเล็กๆอยู่ก้อนเดียว (แต่คนแย่งกันกินเยอะฉิบหาย) มากน้อยแค่ไหน แต่จากประสบการณ์คิดว่าเอาหลายๆรูปแบบมาผสมผสานกันน่าจะเข้าท่าที่สุด ถ้าคุณมีความรู้เรื่องหนังสืออยู่พอตัว การได้เลือกรายชื่อหนังสือเองก็ดีกว่ายกหน้าที่นี้ให้คนอื่นตัดสินใจ เพราะเขาอาจจะเอาหนังสือที่ขายไม่ออกมาให้คุณก็ได้ หรือการตั้งชื่อร้านที่เป็นของตัวเอง ได้คิดตั้งแต่รูปแบบ จะทาสีอะไร จะวางชั้นหนังสือตรงไหน บัตรสมาชิกควรจะมีหน้าตายังไง ฯลฯ เมื่อทุกอย่างมันออกมาเป็นรูปเป็นร่าง อาจจะได้อย่างที่คิดหรือบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่เชื่อเถอะว่ามันจะทำให้หัวใจของคุณพองฟูแน่ๆ (แล้วเดี๋ยวค่อยไปเหี่ยวอีกทีตอนที่เห็นว่าลูกค้าแม่งก็ไปเข้าร้านที่แต่งห่วยๆ ทำบัตรสมาชิกเห่ยๆ และคิดค่าปรับแพงกว่าคุณนั่นแหละ บางครั้งดีไซน์ก็ไม่ช่วยอะไร)

 

 

ตอนหน้าจะมาว่ากันถึงเรื่องรายละเอียดการทำร้าน ตั้งแต่ทำเล การตบแต่ง สั่งของ คิดโปรโมชั่น ฯลฯ แบบลงลึก อ่านแล้วถ้ายังอยากเปิดก็เอาไปทำตามได้เลย ไม่สงวนลิขสิทธิ์ แต่จะเล่าให้ฟังว่าซีรี่ส์ตอนนี้นั่งเขียนที่ร้านรวดเดียวจบ คิดเอาแล้วกันว่าว่างขนาดไหน 55555555555555v




 

Create Date : 12 มิถุนายน 2555
5 comments
Last Update : 17 มิถุนายน 2555 13:03:31 น.
Counter : 2579 Pageviews.

 
 
 
 
เชื่อแล้วค่ะว่าว่างจริงๆ ^^

เพิ่งรู้ว่ามีเป็นเฟรนไชน์ด้วย
แถมบ้านเวเลซไม่มีร้านหนังสือเลยค่ะ
ร้านขายก็ไม่มี ร้านเช่าก็ไม่มี
มีแต่ 7-11 ที่ขายคู่สร้างคู่สม
 
 

โดย: VELEZ วันที่: 2 กรกฎาคม 2555 เวลา:22:29:42 น.  

 
 
 
ติดตามอยู่. ตอน3มาไวๆนะคะ อยากเปิดกิจการเหมือนกัน
 
 

โดย: อยากอ่านอีกค่ะ IP: 27.55.8.160 วันที่: 25 กรกฎาคม 2555 เวลา:23:26:10 น.  

 
 
 
เมื่อไหร่จะอายุ ถึงซักที จะไปสมัครเป็นพนักงานร้านนนน
ปล.เขียนสนุกดีค่ะ
 
 

โดย: คนรักหนังสือ IP: 171.4.45.83 วันที่: 20 สิงหาคม 2555 เวลา:22:16:41 น.  

 
 
 
กำลังจะเปิดแบบเซ๊งเหมือนกัน รออ่านตอนสามครับ
 
 

โดย: กำลังจะเปิด IP: 124.122.226.164 วันที่: 15 กันยายน 2555 เวลา:8:44:27 น.  

 
 
 
ร้านเป็นไงบ้างคะ
ช่วงนี้ไม่มีอัพเดทเลย
 
 

โดย: VELEZ วันที่: 21 ตุลาคม 2555 เวลา:15:41:14 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

แฟนผมตัวดำ
 
Location :
ระยอง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




[Add แฟนผมตัวดำ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com