ให้ธรรมะนำชีวิต แล้วจะเดินไม่หลงทาง
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
29 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

อนุปุพพิกถา 5

ทานกถา กล่าวถึงทาน
สีลกถา กล่าวถึงศีล
สัคคกถา กล่าวถึงสวรรค์
กามาทีนวกถา กล่าวถึงโทษแห่งกาม
เนกขัมมานิสังสกถา กล่าวอานิสงส์แห่งการออกจากกาม
________________________________________
อนุปุพพิกถานั้น เป็นธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเพื่อฟอกอัธยาศัยของบุคคล ผู้ฟังให้มีความประณีตขึ้นไปโดยลำดับ ถ้าหากว่าผู้ฟังสามารถที่จะชำระกิเลสของตนให้เบาบางลงได้ ตามที่ทรงแสดงแล้ว ต่อไปก็จะแสดงอริยสัจ ๔ ธรรมะทั้ง ๙ ข้อนี้ จึงเรียกว่า พหุลานุศาสนี คือพระธรรมที่พระองค์แสดงมากที่สุด เนื่องจากเป็นการค่อย ๆ ขัดเขลาจิตใจของผู้ฟังไปโดยลำดับ แต่เวลาแสดงจริง ๆ นั้น ไม่จำเป็นแสดงครบหมดทั้ง ๕ ข้อ ผู้ฟังสามารถจะเรียนรู้ประพฤติปฏิบัติได้ในระดับใด ก็จะทรงแสดงไปในระดับนั้น

ประการแรก ก็จะทรงแสดงประโยชน์ของการให้ เพื่อขจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวของบุคคลให้เจือจางลงไป บังเกิดมีน้ำใจเผื่อแผ่ เอื้อเฟื้อต่อบุคคลอื่นจนถึงกับพร้อมที่จะเสียสละและบริจาคทาน จากนั้นก็จะทรงแสดงศีล เพื่อให้บุคคลตระหนักที่จะควบคุมกาย วาจาของตนให้ประพฤติเรียบร้อย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนและผู้อื่น ไม่ทำตนให้เป็นพิษเป็นภัยต่อหมู่คณะที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ จนถึงพร้อมที่จะยอมรับนับถือบุคคลอื่น และทำตนให้เป็นประโยชน์ เป็นศักดิ์ศรีแก่หมู่คณะ จากนั้นก็จะแสดงผลดีงามที่เกิดขึ้นจากการให้ทานและการรักษาศีลที่บุคคลจะพึงประสบ ทั้งในปัจจุบันและในภายภาคหน้า คือการอุบัติบังเกิดในสวรรค์ และเมื่อบุคคลเห็นชื่นชมเพลิดเพลินกับความสุขในสวรรค์ อัธยาศัยของบุคคลนั้นสามารถที่จะเรียน รู้ปฏิบัติสูงขึ้นไปพระองค์ก็จะแสดงถึงโทษแห่งกาม คือการที่ใจของบุคคลไปกำหนดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ วัตถุกามเหล่านั้น จะเป็นของมนุษย์หรือของทิพย์ก็ตาม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นของที่มีโทษ ก่อให้เกิดความหมกมุ่น ยึดติด ผ่อนคลายได้ยากสลัดได้ยาก จิตใจจะกำหนัดเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์เหล่านั้น แต่เมื่อบุคคลมีความเบื่อหน่ายในกามก็จะแสดงเนกขัมมานิสงส์คือ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม นี่เป็นหลักที่ทรงแสดงไปตามลำดับดังนี้.

เพื่อจะให้ทราบอรรถาธิบายในอนุปุพพิกถา ซึ่งตามปกติแล้ว ในพระไตรปิฎก จะไม่ให้รายละเอียดไว้โดยตรง เวลาแสดงอนุปุพพิกถาจะบอกแต่ชื่อไว้เท่านั้น รายละเอียดจึงอยู่ในพระสูตรอื่น ๆ ที่แสดงถึงเรื่องของทานหรือเรื่องของศีล โทษแห่งกาม เป็นต้น

1.ทานกถา กถาว่าด้วยทาน คือการให้ ท่านแสดงว่า ทานนี้นี้เป็นต้นเค้าแห่งความสุขทั้งหลาย เป็นมูลแห่งสมบัติทั้งหลาย เป็นที่ตั้งแห่งโภคะทั้งปวง เป็นที่ต้านภัย เป็นคตินำไปข้างหน้าของบุคคลที่ยังประพฤติลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ ทานเป็นที่พำนักพักพิงอาศัย ที่ยึดเหนี่ยวอันเสมอเหมือนทานไม่มีทั้งในโลกนี้และในโลกอื่น ดุจสีหบัลลังก์ อันล้วนแล้วด้วยรัตนะ เป็นที่พำนักอาศัย ดุจเชือกผูกห้อยไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ทานเป็นดุจทาส เพราะเป็นเครื่องกั้นทุกข์เป็นดุจเกราะของผู้กล้าหาญในสงคราม เป็นเครื่องทำให้อุ่นใจ เป็นดุจเมืองที่ตกแต่งไว้ดีแล้วเพราะเป็นที่ป้องกัน เป็นดุจดอกปทุม เพราะไม่เปื้อนมลทิน คือความตระหนี่เป็นดุจอสรพิษเพราะความตระหนี่เป็นต้น ไม่อาจเข้าใกล้ เป็นดุจราชสีห์ สมมติว่าเป็นมงคลยิ่งและเป็นดุจพญาม้าวลาหกเพราะพาให้ถึงภูมิอันเกษม ทานนี้เป็นมรรคาที่เราตถาคตได้ดำเนินมาแล้ว เป็นเชื้อวงศ์ของเราโดยแท้ เมื่อเราเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบารมีอยู่บำเพ็ญมหายัญเป็นอันมาก ทานนี้ย่อมให้สวรรค์สมบัติจนถึงอภิสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อบุคคลทำทานได้ จึงอาจสมาทานศีลได้ ในขณะเดียวกันก็ทรงแสดงอานิสงส์ของทานอย่างที่ทรงแสดงไว้ในทานานิสงสสูตรว่า
1) ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก
2) สัปบุรุษ ผู้สงบ ย่อมคบหาผู้ให้ทาน
3) เกียรติคุณของผู้ให้ทาน ย่อมขจรไป
4) ผู้ให้ทานย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์
5) ผู้ให้ทานเมื่อล่วงลับไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ และเมื่อทรงแสดงทานไป ตามสมควรแล้ว อัธยาศัยของบุคคลพร้อมที่จะปฏิบัติธรรมเบื้องสูงขึ้นไปก็จะแสดงในเรื่องศีล

2.สีลกถา คือกถาที่ว่าด้วยคุณของศีล การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ไม่มีโทษ เช่น ทรงแสดงว่า ชื่อว่าศีลนี้เป็นที่พำนัก เป็นที่อาศัยที่ต้านภัย เป็นที่ยึดเหนี่ยว ต้านทาน เป็นที่หลบภัย เป็นคติที่เป็นไปในเบื้องหน้า ศีลเป็นเชื้อวงศ์ของเราตถาคต ได้บำเพ็ญศีลบารมีในภพนั้น ๆ เป็นอเนกอนันต์ ศีลเป็นที่อาศัย เป็นที่ตั้งแห่งสมบัติทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น ไม่มีที่พำนักอาศัยอื่นเสมอเหมือน เครื่องอลังการก็ดี ดอกไม้ก็ดี เครื่องประทินผิวก็ดีที่เสมอเหมือนเครื่องอลังการคือศีล ดอกไม้คือศีล เครื่องประทินคือศีล หามีไม่ แท้จริง ชาวเทวโลกย่อมนิยมบูชาท่านผู้ประกอบด้วยศีลอลังการ ทัดดอกศีลโกสุมลูบไล้ประทินคือศีลเสมอไม่รู้เบื่อ และอย่างที่ทรงแสดงว่า ศีลเป็นอาภรณ์อย่างประเสริฐ ศีลเป็นอาวุธอย่างยอดเยี่ยม ศีลเป็นเกราะอย่างมหัศจรรย์ ศีลอันเป็นกำลังหาที่เปรียบมิได้ เป็นต้น เมื่อบุคคลอาศัยศีลนี้แล้ว ก็ย่อมจะได้สวรรค์ อย่างที่ทรงแสดงอานิสงส์ของศีลไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า
1) ผู้มีศีลย่อมได้โภคสมบัติ
2) เกียรติคุณอันงามของผู้มีศีล ย่อมขจรไป
3) ผู้มีศีลเมื่อเข้าไปในสมาคมใด ย่อมองอาจ กล้าหาญ ไม่ครั่นคร้านขามเกรง ไม่เก้อเขินในสมาคมนั้น
4) ผู้มีศีล เมื่อจะตาย ก็ไม่หลงตาย คือมีสติตาย หรือตายอย่างมีสติ
5) ผู้มีศีล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ศีลจะประณีตมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับว่า ท่านรักษาศีลได้ดี ได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไรเหมือนกัน เช่น ทรงแสดงคุณของสวรรค์ว่า อันสวรรค์นี้เป็นที่น่าใคร่ น่าพอใจในสวรรค์นั้น มีการเล่นเป็นเนืองนิตย์ สมบัติทั้งหลายก็เกิดมีอยู่แล้วไม่ได้ขาด เหล่าเทพชั้นจาตุมหาราชิกา ได้เสวยทิพยสุขสมบัติอยู่นานถึง ๙ ล้านปี เหล่าเทพชั้นดาวดึงส์เสวยสุขด้วยทิพยสมบัติอยู่นานถึง ๓ โกฏิ ๖ ล้านปี และท่านยังได้บอกว่า ถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพรรณาสวรรค์สมบัติ ก็เหลือพระโอษฐ์ที่จะพรรณาให้สิ้นสุด ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงกล่าวเรื่องสวรรค์ได้โดยอเนกปริยาย มีนัยต่าง ๆ

3.สัคคกถา คือ สวรรค์ แปลว่า อารมณ์เลิศ ซึ่งอาจหมายถึงสภาพชีวิตของบุคคลที่มีความสุขกายสบายใจ ไม่เดือดร้อนในการเป็นอยู่ หมายถึง การมีคุณธรรมภายในใจของบุคคลผู้นั้น เช่น มีหิริ มีโอตตัปปะอยู่ภายในใจ ชื่อว่าเป็นเทวดา บางทีก็หมายถึงสภาพจิตที่มีความเพลิดเพลิน สนุกสนานอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ที่มุ่งหมายจริง ๆ นั้น หมายถึง ปรโลก คือโลกที่บุคคลจะไปอุบัติบังเกิดด้วยผลแห่งกุศลกรรมที่เขาได้กระทำเอาไว้.

4.กามาทีนวกถา กถาว่าด้วยโทษแห่งกามทั้งหลาย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประโลมใจผู้ฟังด้วยเรื่องสวรรค์ จนเกิดความเพลิดเพลินยินดีสนุกสนานและปรารถนาที่จะเสพสุข ก็ทรงชี้ให้เห็นว่า สวรรค์นั้นเป็นกามสุข แม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ หรือเป็นทิพย์ก็ตาม แต่ว่าที่แท้จริงแล้วก็มากไปด้วยเวร มากไปด้วยภัย ทิพยสุขเหล่านั้น ก็มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แม้สวรรค์เองก็เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ไม่ควรจะไปหลงนิยมยินดี และทรงชี้ให้เห็นโทษของกามไว้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น อุปมาเหมือนหัวฝีที่กลัดหนองบ้าง อุปมาเหมือนการถือคบเพลิงทวนลมบ้าง อุปมาเหมือนศีรษะอสรพิษ เมื่อบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องก็ต้องระมัดระวังอันตรายที่เกิดขึ้นแก่ตน เปรียบเหมือนกับชิ้นเนื้อนาบไฟ เปรียบเหมือนกับผลไม้ซึ่งเป็นที่ต้องการของสัตว์ทั้งหลายด้วย และก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วเป็นต้น

5.เนกขัมมานิสงส์ คืออานิสงส์แห่งการออกจากกามว่าเป็นที่ปลอดเวรปลอดภัย ยุติเวรภัยด้วยประการต่าง ๆ มีความสงบมีความโปร่งเบา มีความเป็นอิสระ ไม่ไปเกี่ยวเกาะผูกพันกับกามคุณทั้งหลายมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทรงแสดงประเภทของเนกขัมมะคือการออกซึ่งแปลว่าการออกจากกาม หรือ การออกเพื่อคุณอันใหญ่นั้น คนในโลกนี้ก็มีอยู่ ๔ ประเภทคือ
1) กายก็ไม่ออก ใจก็ไม่ออก หมายถึงคนที่มัวเมาหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของกามทั้งหลาย
2) กายออก แต่ว่าไม่ออก หมายถึงคนที่ออกบวชเป็นนักบวชประเภทใดประเภทหนึ่งแล้ว แต่ว่าใจก็ยังหมกมุ่นวุ่นวายครุ่นคิดอยู่กับเรื่องของกามทั้งหลาย
3) ใจออก แต่กายไม่ออก หมายถึงคนที่แท้จะอยู่ในบ้านในเรือน แต่ว่าจิตใจไม่เกี่ยวเกาะห่วงใยอาลัย โหยหาถึงกาม จิตใจของบุคคลนั้นก็เป็นอิสระจากกามทั้งหลาย กามไม่สามารถจะโยกคลอนสร้างความหวั่นไหวให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของท่านได้ แม้จะอยู่ในบ้านในเรือนก็ตามแต่ว่าจุดประสงค์ในพระพุทธศาสนานั้น ก็เน้นไปที่เป้าหมายสูงสุด
4) ออกทั้งทางกายและใจ คือกายตนเองก็ออกไปจากการเกี่ยวเกาะกับวัตถุกามทั้งหลาย จิตใจก็จะไม่หมกมุ่นคิดห่วงใยอาลัยหาอยู่กับวัตถุกามนั้นอีกต่อไป ท่านที่จะออกจากกามได้ทั้งกายและใจเช่นนี้จำต้องอาศัยการปฏิบัติจนเกิดความรู้ความเข้าใจรู้แจ้งเห็นจริงตามหลักของอริยสัจทั้ง ๔ ประการ จากนั้นก็จะทรงแสดงอริยสัจ ๔ ประการเป็นลำดับไป.




 

Create Date : 29 ธันวาคม 2552
3 comments
Last Update : 29 ธันวาคม 2552 10:34:42 น.
Counter : 1095 Pageviews.

 

มีเรื่องมากมายอยากบอกไปส่งปีเก่า
ยังคงเงียบเหงาไม่มีเงาข้างกายฉัน
ขอให้สุขีสิ้นปีที่ผ่านไป
ย่างเข้าวันใหม่กำลังใจให้กันขอจงมี
ไม่มีทุกข์ภัยสุขมาเบียดเบียนกัน
พบแต่สุขสันตืตลอดวันที่ผ่านไป
เมื่อวันใหม่มายิ้มเต็มหน้าด้วอิ่มใจ
ปีหน้าฟ้าใหม่เป็นกำลังใจให้แก่กัน

 

โดย: chabori 29 ธันวาคม 2552 11:58:04 น.  

 

 

โดย: ไม่รวยสักที 29 ธันวาคม 2552 14:05:25 น.  

 

แวะ มาทักทาย กันครับ

 

โดย: bigjinbook 21 มีนาคม 2553 18:18:22 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ศาลาลอยน้ำ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ศาลาลอยน้ำ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.