Group Blog
 
 
ตุลาคม 2548
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 
กรรมาชน


เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน


บทกวีนี้ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙ มักจะได้ยินเสียงโฆษกหนุ่มนักศึกษาผิวขาวผมยาวกล่าวก่อนที่สมาชิกในวงจะเริ่มบรรเลง
ท่วงทำนองของเพลง“เพื่อมวลชน”ซึ่งขึ้นต้นเนื้อเพลงว่า

"ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน
ติดปีกบินไปให้ไกลไกลแสนไกล
จะขอเป็นนกพิราบขาว
เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี”


อันถือว่าเป็นเพลงที่แรก จิ้น/กรรมาชน และนพพร ยศถา ได้ร่วมกันประพันธ์ขึ้น
อันเป็นเพลงที่กล่าวได้ว่าตรงกับความรู้สึกมากที่สุดของพวกเราในขณะนั้น

“กรรมาชน”เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ก่อเกิดจากนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๖
มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่นักศึกษาประชาชนลุกขึ้นมาร่วมกันขับไล่เผด็จการทหารได้สำเร็จ
อันเป็นประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่ยิ่งใหญ่

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนในหมู่นักศึกษาและประชาชนมากมาย
ช่วงนั้นผมและเพื่อนๆยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ เรียก ม.๑(เป็นนักศึกษาปี ๑ ที่เรียนรวมกัน ยังไม่แยกคณะชัดเจน ทั้ง แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช และวิทยาศาสตร์)
โดยจะไปแยกคณะอีกทีตามคะแนนสอบรวมในปี ๒ ในช่วงนั้นมีวงดนตรีเพื่อชีวิตต่างมหาวิทยาลัยได้ก่อเกิดขึ้นมาก่อนหน้าแล้ว
ที่จำได้ก็มีวง “คาราวาน”และ”ไดอะเลคตริก”
พวกเราเป็นกลุ่มเพื่อนๆที่มักจะแวะเวียนไปฝึกซ้อมดนตรีที่ชมรมดนตรีของมหาวิทยาลัยอยู่ก่อนแล้ว
โดยบางกลุ่มเล่นเพลงสตริง แต่ผมถนัดเล่นเพลงลูกทุ่ง
มีครั้งหนึ่งจำได้ว่า เป็นงานรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นใต้ตึกฟิสิกส์ข้างสระน้ำ (อยู่ติดกับโรงพยาบาลรามา)
คุณจิ้น(กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ) ได้มาเตี้ยมกันก่อนขึ้นเวที ว่าจะเล่นเพลง คนกับควาย และเพลงเปิบข้าว สองเพลง เพื่อให้เพื่อนๆนักศึกษาได้ฟัง
จากความมีทักษะทางดนตรีของจิ้น(ชื่อนี้ได้มาจากการที่เขาเคยเป็นมือแซกโซโฟนของวง “ดิ อิมเมจิ้น” ซึ่งเป็นวงสตริงชื่อดังวงหนึ่งในขณะนั้น)
ทำให้การผสมผสานเสียงดนตรีเป็นไปอย่างเร่าร้อนโดยใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้าเล่นในแนวฮาร์ดร็อกจึงสามารถตรึงอารมน์นักศึกษาทุกคนได้เป็นอย่างมาก
ประกอบกับเนื้อหาของเพลงที่กระแทกแดกดันชวนให้คิด
และในยุคนั้นงานรับน้องหรืองานทั่วๆไปของมหาวิทยาลัยมหิดลส่วนใหญ่จะเป็นวงดนตรีประเภทลีลาศ รำวงเสียเป็นส่วนใหญ่
ไม่น่าเชื่อว่าการแสดงในครั้งนั้นจะสะกดและตรึงตรานักศึกษาแทบทุกคน
และส่งผลให้เกิดการรวมตัวขึ้นเป็นวงอย่างจริงจังในชื่อ”กรรมาชน” ในเวลาต่อมา



Create Date : 27 ตุลาคม 2548
Last Update : 27 ตุลาคม 2548 23:51:06 น. 7 comments
Counter : 1088 Pageviews.

 
(ตอนที่ 2)
นักดนตรีและนักร้องตลอดจนผู้ร่วมกิจกรรมของวงกรรมาชนในช่วงแรกได้แก่ จิ้น(กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ)หัวหน้าวงและมือคีย์บอร์ดผู้มีความเร่าร้อนรุนแรงจนบางทีเพื่อนๆตามอารมณ์ไม่ทัน ,
นพ(นพพร ยศถา) บุรุษนิ่งเงียบที่มีความคิดที่ล้ำลึก เป็นที่ปรึกษาทางด้านความคิดให้เพื่อนๆ ผู้มากมายปัญหาอยู่เสมอ ผู้ซึ่งเป็นผู้ชี้นำด้านความคิดทางการเมืองและเขียนบทกวีและแต่งเพลง แต่ตนเองร้องเพลงไม่เป็น ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วที่เขตชายแดนกัมพูชา
บัติ (สมบัติ ศรีสุขอัยกา)มือกลองผู้มีกำลังวังชาชาวเป็นชาวอยุธยาแต่มักจะมีแนวคิดแปลกๆ
เริญ (จำเริญ วัฒนศรีสิน)มือเบสยามยาก บุรุษซึ่งใจเย็นเป็นน้ำแข็งแต่ลุ่มลึกในปรัชญา ,
อี๊ด (พงษ์สันต์ ทองเนียม)มือเบสแพทย์ทหารที่มีรอยยิ้มพิฆาตใจสาว
บื๋อ(บุญลือ วงศ์ท้าว)แพทย์ทหารอีกคนเป็นได้ทั้งโฆษกและนักร้องที่เพื่อนๆรัก
เตี้ย(วิโรจน์ สิงห์อุตสาหะ)มือเบสและกลองยามยากอีกคนผู้รักความเป็นธรรม ,
อ๊อด(พิชัย สุธาประดิษฐ์)โฆษกผิวขาวผมยาวประบ่าชาวใต้ที่มีบทกวีมาฝากให้แฟนเพลง
หมู(พลศิลป์ ศิวีระมงคล)มือกีตาร์คอร์ดผู้ซึ่งมีความละเอียดเป็นเลิศ ,
ปู่ (ปรีดา จินดานนท์)จิ๊กโก๋กางเกงขาบานหลุดก้นผู้เป็นผู้ดูแลควบคุมระบบเสียงให้น่าฟังซึ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว ,
นิด(มาลี แสงมณี)สาวร่างเล็กแต่ใจแกร่ง นักศึกษาด้านกายภาพบำบัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ด.ร. อมร ทวีศักดิ์เป็นสาวนักร้องหญิงคนเดียวของวง"กรรมาชน"ในช่วงนั้น และเป็นผู้ร้องเพลง"เพื่อมวลชน"ที่รู้จักดี
ตี้(กิติพงษ์ บุญประสิทธิ์)นักร้องและมือแอคคอร์ดเดี้ยนหนุ่มที่เสรีกว่าเพื่อน
นอกจากนี้ก็ยังมี จอก ผู้ขับร้องเพลงเจ้าพระยาฮาเฮในเทปกรรมาชนชุดที่ ๑ และ หมอแก่ผู้ที่เป็นเสมือนผู้จัดการด้านวางแผนจัดจำหน่ายเทปให้กับวง

จากการที่วงกรรมาชนได้รับการต้อนรับจากเพื่อนนักศึกษาอย่างดีประกอบกับมีพี่(อาทิหมอเหวง หมอหงวน)ที่ให้ความสนับสนุนทั้งในด้านความคิดและเครื่องไม้เครื่องมือ
ทำให้วงกรรมาชนยิ่งมีกำลังใจและก่อเป็นวงดนตรีที่มีศักยภาพได้ในเวลาต่อมา
ในช่วงแรกยังไม่มีเพลงที่แต่งเองของวงมากนัก ก็อาศัยเพลงที่วงดนตรีรุ่นพี่เช่น คาราวานหรือไดอะเลคตริก
โดยนำมาเรียบเรียงใหม่เป็นสไตล์ของตัวเอง ต่อมาก็ค่อยๆสร้างบทเพลงของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผลงานของ จิ้น
เช่นเพลง กรรมาชน,แสง,กูจะปฏิวัติ,อินโดจีน,สลัมและเพื่อมวลชน เพลงนี้นิด-มาลี(ปัจจุบันชื่ออมร)เป็นคนขับร้องคนแรกที่ขับร้องได้อย่างไพเราะจับใจ
นอกจากนั้นก็เป็นเพลงที่รุ่นเก่าๆได้ประพันธ์ไว้ เช่น คนกับควาย(สมคิด สิงสง),เปิบข้าว,แสงดาวแห่งศรัทธา,เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ(จิตร ภูมิศักดิ์),หาบเร่(วงไดอะเลคตริก),ชาวนารำพึง(สมบัติ)
ช่วงนั้นพวกเรามีการใช้ชีวิตรวมหมู่ที่ดีมากโดยนอนรวมกันอยู่บนชั้นหกตึกฟิสิกส์ซึ่งเป็นห้องเก็บเครื่องดนตรีของวง ห้องน้ำก็เป็นห้องทดลองทางชีวภาพซึ่งอยู่ติดกับห้องดนตรี
เวลาจะเดินเข้าห้องน้ำต้องผ่านกรงของสัตว์ทดลองหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นลิง กระต่าย หนู จนบางครั้งพวกเรายังสงสัยว่าไม่แน่อาจจะติดเชื้อหรือสารเคมีจากสัตว์ทดลองเหล่านี้ก็ได้ทำให้เรามีความบ้ามากกว่าปกติ
เพลงสลัมที่จิ้นแต่งทำนองมาก่อนก็มาช่วยกันต่อเติมเนื้อร้องกันในห้องแห่งนี้


โดย: LONESOME COWBOY วันที่: 27 ตุลาคม 2548 เวลา:22:48:47 น.  

 
(ตอนที่ 3)

ในช่วงปี ๒๕๑๗ กรรมาชนตระเวนเล่นดนตรีแทบไม่มีวันพัก ไม่ว่าจะเป็นงานของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆหรืองานประท้วงของกรรมกร
ประมาณปี ๒๕๑๘ เล่นในงานชุมนุมรวมพลังและการต่อสู้ของกรรมกรสาขาต่างๆเพิ่มมากขึ้น ที่จำได้มี งานประท้วงของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ที่สนามหลวง
(กรรมาชนได้มีโอกาสรู้จักกับวงดนตรีต่างมหาวิทยาลัย เช่นวง”ต้นกล้า”และ”กงล้อ”และกลุ่มละคอนตะวันเพลิง ก็ในช่วงนี้เอง)
นอกจากนี้ยังแสดงในการประท้วงการขึ้นค่ารเมล์ตลอดจนการประท้วงของกรรมกร
โรงงานต่างๆ และช่วงนี้เองที่เสมือนเป็นการหล่อหลอมพวกเราให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงดนตรีตามปกติแล้วยังต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกทำร้ายจากฝ่ายตรงข้าม
ไม่ว่าจะเป็นการตะโกนด่า , ขว้างปา ,ยิงปืน หรือโยนระเบิดใส่ เพราะในช่วงนั้นกลุ่มพลังประชาชนถูกคุกคามอย่างหนักโดยปราศจากการเหลียวแลของเจ้าหน้าที่โดยอำนาจรัฐ

ช่วงนี้วงกรรมาชนมีโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนต่างสถาบันมากขึ้น เราจึงได้สมาชิกต่างสถาบันเข้ามาร่วม
ได้แก่ นิต(นิตยา โพธิคามบำรุง)สาวนักไฮปาร์คจากศูนย์ครู มาร่วมเป็นทั้งโฆษกและนักร้อง ,
มด(วนิดา ตันติศรีพิทักษ์)นักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แอ๊ด , ไหม , วา จากศูนย์นักเรียน และมือเทคนิกที่มาช่วยควบคุมเครื่องเสียงจากศูนย์ครู
อีกคน คือ หนู(พิทักษ์ เรืองรังสี)ผู้ซึ่งถือว่าการยิ้มและหัวเราะไม่ต้องซื้อหา
พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นเพื่อนต่างสถาบัน แต่ด้วยเหตุที่มีอุดมการณ์ร่วมที่ต้องการรับใช้สังคมและประชาชนส่วนใหญ่ผู้ยากไร้ ทั้งทนไม่ได้กับการเห็นความอยุติธรรมต่างๆ
ทำให้สมารถมาร่วมงานกันได้อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ช่วงนั้นไม่ว่าจะมีการต่อสู้ที่ไหนจะต้องมีการติดต่อให้พวกเราไปแสดงและพวกเราจะพยายามไปให้ได้มากที่สุดเพื่อไปให้กำลังใจพวกเขา
การต่อสู้ของกรรมกรบางแห่งยืดเยื้อบางครั้งอาจเป็นเดือนๆ ไปๆมาๆพวกเราเลยไปกินนอนที่นั่นเลยเรียกว่าอยู่กันคุ้นเคยเสมือนญาติสนิท
เช่นที่โรงงานที่อ้อมน้อย ฮาร่า โมวเลม สแตนดาร์ดการ์เม้นท์ เช้าขึ้นมาก็ตื่นไปเรียนหนังสือ ตกเย็นก็กลับมาร่วมประท้วงต่อ
บางครั้งมีการยืมตัวกันระหว่างนักดนตรีกับนักละคอน รวมทั้งต้องหัดเล่นตลกด้วยเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด


โดย: LONESOME COWBOY วันที่: 27 ตุลาคม 2548 เวลา:22:58:18 น.  

 
(ตอนที่ 4)
การเดินสายต่างจังหวัด ในช่วงปิดเทอมใหญ่ วงกรรมชาชนจะมีแผนเดินทางไปแสดงต่างจังหวัดครั้งละหลายๆวัน
โดยครั้งแรกเราได้ไปทางภาคเหนือ เริ่มต้นที่เชียงใหม่ การไปก็ประสานกับศูนย์นักศึกษาภาคเหนือ การเดินทางก็ใช้รถเชฟโรเลตรุ่นเก๋ากึก
ที่มีผู้ใจดีบริจาคให้ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(หลัง ๑๔ ต.ค.๑๖) เป็นรถกระบะเปิดประทุน(เอ้ยเปิดท้าย)สีขาวหม่นคันใหญ่มากเกือบเท่ารถหกล้อ
เสียงเครื่องยนต์ดังกระหึ่มฟังน่ากลัว แต่ความแข็งแกร่งปลอดภัยไม่ต้องห่วง(เคยผ่านการพิสูจน์กับรถทัวร์ประจำทางมาแล้ววว) ดูสภาพไม่น่าจะไปถึงเชียงใหม่
แต่ด้วยโชเฟอร์ของเราซึ่งเป็นนักศึกษาอาชีวะเรียนที่ช่างกลพระรามหก ชื่อ สรยุทธ์ทำให้ค่อยซ่อมค่อยไปจนภาระกิจลุล่วงไปได้
เราขนทั้งเครื่องเสียงเครื่องดนตรี ตลอดจนเครื่องปั่นไฟไปเองทั้งหมด เมือ่ประสานงานกันได้ก็เริ่มตระเวนแสดง(แหมทำยังกับวงลูกทุ่งดังงั้นแหละ นี่ถ้าเขาจ้างไปเล่นคงรวยแย่)
เปิดฉากที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อน นักศึกษาให้ความสนใจจนแน่นหอประชุม พวกเราช่วงนั้นก็แต่งตัวตามสมัย คือกางเกงยีนส์เสื้อยืดคลุมด้วยเสื้อเขียวแบบทหาร
อีกทั้งหน้าตา ผมเผ้าก็ค่อนข้างรกรุงรังแถมบางคนไว้หนวด ทำให้น้องนักศึกษาบางส่วนไม่กล้าเข้ามาชมการแสดง
จากมหาวิทยาลัยเราก็เข้าแสดงตามหมู่บ้านต่างๆ เท่าที่จำได้มีหมู่บ้านของพ่อหลวงอินถา สีบุญเรือง(ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ)ซึ่งต่อมาถูกลอบสังหารเสียชีวิต
และหมู่บ้านแกนนำสมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือทั้งหมด โดยมีนักศึกษาเชียงใหม่รุ่นพี่ชาวอิสลามชื่อ พี่บัง เป็นผู้ประสานและนำทาง
มีพี่สถาพร ศรีสัจจัง เป็นที่ปรึกษา ช่วงนั้นกรรมมาชนไปตระเวนแสดงที่เชียงใหม่อย่างน้อย ๒ ครั้ง ทั้งแสดงพักกับชาวบ้าน เกี่ยวข้าว พูดคุยแลกเปลี่ยน
และจากการที่ได้ใกล้ชิดกับชาวบ้านยิ่งทำให้เห็นปัญหาต่างๆของชาวบ้านมากขึ้น ประเพณีต่างๆของชาวบ้านเราก็ได้มาพบเห็นที่นี่
เช่นวันนั้นเป็นวันลอยกระทงพอดี พอช่วงกลางคืนชาวบ้านจะถือกระทงมายืนรวมกลุ่มกันในวัด พอกลุ่มใหญ่พอสมควรก็จะทำการแห่ไปลอยที่ริมแม่น้ำพร้อมกัน
ใครมาไม่ทันกลุ่มนี้ก็รอไปรอบต่อไป ดูน่ารักและเป็นกันเองดีมากนี่แหละคือวัฒนธรรมชาวบ้านอันทรงคุณค่า มีครั้งหนึ่งที่วงกรรมาชนได้ไปแสดงที่เมืองพร้าว
พบแพทย์รุ่นพี่ที่มีอุดมการณ์สูงและทุ่มเทให้กับงานพัฒนาอย่างเอาจริงเอาจัง หลังจากการตระเวนแสดงเราได้ทั้งกำลังใจและบทเรียนในการเคลื่อนไหวเป็นอย่างดี


โดย: LONESOME COWBOY วันที่: 27 ตุลาคม 2548 เวลา:23:08:45 น.  

 
(ตอนที่ 5)
หลังจากขึ้นภาคเหนือแล้วกรรมาชนมีโครงการล่องใต้ในปีถัดมา(ประมาณปี ๒๕๑๙) คราวนี้เรามีวงดนตรีไทยเดิม “ต้นกล้า”
ซึ่งนำโดย ป่อง(รังสิต จงฌานสิตโธ) , ป้อม(นิธินันท์ ยอแสงรัตน์) ร่วมเดินทางไปด้วย อ้อ! ช่วงนี้เนื่องจากกรรมาชนมีงานแสดงมากขึ้น
ทำให้ต้องเลือกรับเป็นบางงาน ทำความลำบากใจให้ทั้งพวกเราและผู้ที่มาติดต่อ เราจึงไปชวนนักศึกษารุ่นน้องซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะสาธารณสุขมาร่วม
โดยมีโครงการแยกเป็น ๒ วงเพื่อให้รับงานได้ทัน น้องที่มาร่วมใหม่ได้แก่ หมี , อาดิษฐ์ , ป๊อก , ริน และ เฉา(เสียชีวิตแล้วที่บริเวณป่าเขาเขตแดนกัมพูชา)แต่เอาไปเอามาก็เป็นการรวมเป็นวงใหญ่ขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถแยกเป็น ๒ วงได้ ตามวัตถุประสงค์
พูดเรื่องล่องใต้ต่อ การเดินทางของพวกเราในครั้งนั้นเราเดินทางโดยรถไฟ โดยอาศัยขนเครื่องดนตรีขึ้นตู้สัมภาระ ส่วนพวกเรานั่งนอนกันแถวบันไดประตู
จอดสถานีทีก็ตื่นขึ้นแล้วลุกเปิดทางให้ผู้โดยสารขึ้นลง พอรถวิ่งก็ขอตัวลงนอนใหม่ ดังนั้นจึงถือว่าแทบไม่ได้นอนกันทั้งคืน
เราไปลงกันที่สถานีช่องช้าง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นก็เดินทางต่อโดยรถยนต์เข้าไปยังหมู่บ้าน(จุดที่เขาประสานให้พวกเราไปแสดง)
ทีแรกก็นึกสงสัยเหมือนกันว่าทำไมชาวบ้านที่นี่ถึงดูสุขุมลุ่มลึกแปลกๆ เราอยากพูดถึงเหตุผลที่พวกเขาลำบากยากแค้นและปลุกให้เขาว่าต้องต่อสู้
แต่พวกเขากลับอมยิ้มเหมือนว่าเห็นว่าเราไร้เดียงสา แต่พอก่อนการแสดงเล็กน้อยมี ปาฐกฐาของผู้นำชาวบ้านขึ้นมากล่าวบนเวที โดยร่ายยาวประมาณ ๑ ชั่วโมงเห็นจะได้
ซึ่งเนื้อหาที่พูดนั้นอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาและความชัดเจนในแนวทางการต่อสู้ ทำให้พวกเราพากันตั้งใจฟังอย่างอ้าปากค้างก็ว่าได้
และก็ถึงบางอ้อ ว่าที่แท้พวกชาวบ้านที่นี่ไม่ธรรมดา ซึ่งพวกเขาอยู่ในที่ๆพวกเราไม่ควรได้พบ หากเขาให้เกียรติพวกเราเหลือเกิน
เขาชี้ไปบนภูเขาสูงบอกเป็นนัยว่าอยากเชิญชวนพวกเราไปเที่ยว คืนนั้นพวกเราพากันนอนไม่หลับทั้งคืน เฝ้าแต่พูดคุยสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ข้างบน
ความยากลำบากไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การกินอยู่ และการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปกระบวนการหล่อหลอมทางความคิด พวกเราจะเข้าไปเที่ยวได้เมื่อไหร่?ฯลฯ
โดยที่ไม่คาดคิดเลยว่าในที่สุดพวกเราก็ถูกขับไสไปจนได้หลังช่วงเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

พอรุ่งเช้าพวกเราตื่นขึ้นมาซ้อมบทเพลงแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน และถือโอกาสต่อเพลงปฏิวัติที่พวกเราแกะเนื้อร้องจากสถานีวิทยุ ส.ป.ท.ไม่ค่อยชัด
กำลังเพลิดเพลินอยู่ในห้องเรียนของโรงเรียนที่เราพักนอนเมื่อคืน ขณะที่กำลังม่วนชื่นอยู่กับการร้องเพลงปฏิวัติอยู่นั้น พลันมีปากกระบอกปืน M 16 ยื่นออกมาทางหน้าต่างจิ้มเข้ามาที่ข้างแก้มของผมเข้าพอดี
พร้อมกับการปรากฎกายของทหารเป็นหมวดโดยอาวุธประจำกายครบครันทุกคน ทำให้พวกเราหลายคนพากันหน้าซีดเป็นไก่ต้ม
พวกทหารพากันสำรวจพื้นที่และสอบถามพวกเราอยู่สักพักก็พากันถอยกลับไป หลังจากพวกทหารหายลับไปพวกชาวบ้านก็เข้ามาปลอบขวัญพวกเราและเล่าให้ฟังว่า
เป็นเหตุการณ์ปกติทางพวกเขารู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะเข้ามาแต่พวกเขาไม่บอกพวกเราล่วงหน้าโดยกลัวว่าพวกเราจะไม่กล้ามาแสดง
สรุปว่าพวกชาวบ้านรู้มาก่อนและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อยู่แล้ว เฮ้อ! โล่งอกไปที เหตุการณ์ในครั้งทำให้พวกเราหลายคนสับสนว่าเอ เราอยู่ในประเทศไหนกันแน่ และหมู่บ้านนี้มีความเป็นมาอย่างไร


โดย: LONESOME COWBOY วันที่: 27 ตุลาคม 2548 เวลา:23:37:34 น.  

 
(ตอนที่6 ตอนจบ)

หลังจากเราเดินทางออกจากที่นั่นพวกเราก็เดินทางต่อลงใต้ไปแสดงดนตรีอีกหลายแห่ง ผ่าน นครศรีธรรมราช ไล่ไปจนถึงยะลา
ที่นี่เราได้รู้จักภาษายะวี ได้กินน้ำบูดู ได้หลับนอนโดยใช้โสร่งแทนผ้าห่มคลุมกาย ได้เดินทางไปแสนดงในป่าจริงๆ
บางแห่งแทบไม่มีหมู่บ้านให้เห็น บ้านคนก็แทบไม่มี ไม่มีไฟฟ้า แถมยังมีแมลงหลากชนิดหลากพันธุ์ ทั้งกัดทั้งบินวนที่หน้ารบกวนขณะที่พวกเรากำลังแสดง
ดังนั้นนักดนตรีจำต้องมีความสามารถพิเศษ นั่นคือทั้งเล่นและต้องคอยไล่ปัดแมลง เช่น ป่อง-ต้นกล้า ต้องสีซอด้วย
มือข้างเดียว ผมก็ต้องร้องเพลงพร้อมกับเอามือป้องปากกันแมลงเข้า อากาศที่นี่ก็ชื้นแฉะแต่ออกอบอ้าวในช่วงหัวค่ำและหนาวเย็นในช่วงดึก
ที่ทางใต้เขาเรียกว่า “ควน” กว่าการแสดงจะเข้าที่เข้าทางก็เล่นกันจนดึก คืนนั้นหลังการแสดงพวกเราได้ลิ้มรสแมลงเม่าคั่วไฟเป็นครั้งแรก
ขั้นแรกชาวบ้านจะเอากะละมังใบเขื่องใส่น้ำแล้วนำไปตั้งไว้ใกล้ๆแสงตะเกียง สักพักแมลงเม่าจะบินตกลงไปเป็นสาย คืนนั้นพวกเราเลยได้กินแมลงเม่าคั่วไฟกันจนอิ่มแปร้
ที่หมู่บ้านนี้เองที่กรรมาชนได้ท่วงทำนองเพลงพื้นบ้านชื่อ “เอ็นด๋ง” จนขณะเรานั่งรถไฟเดินทางกลับ เราก็พากันฮัมท่วงทำนองเพลงนี้เพื่อความทรงจำอันดี
จนหลังจากนั้นอีกประมาณปีเศษ หลังเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ส่วนหนึ่งของกรรมาชน คือ จิ้น นิต และผม ได้เดินทางเข้าป่าเขาและได้พบกับวิสา คัญทัพ ที่สำนัก A 30 เราจึงช่วยกันแต่งเติมเนื้อเพลงจนเกิดเป็นเพลง “บินหลา”ขึ้นมา

ช่วงที่พวกเราเดินทางกลับจากภาคใต้ การต่อสู้ทางการเมืองในช่วงนั้นแหลมคมและรุนแรงมาก พวกที่พยายามฟื้นระบอบเผด็จการพยายามสร้างสถานะการณ์ให้เกิดความวุ่นวายแล้วโทษว่าเป็นการกระทำของนักศึกษา
โดยพยายามตั้งกลุ่มทางการเมืองมาชนหลายกลุ่ม อาทิ กระทิงแดง นวพล ให้ต่อต้านขบวนนักศึกษาโดยใช้ความรุนแรง(ตามนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง)
ไม่ว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ไหนจะต้องมีความรุนแรงและมีผู้บาดเจ็บล้มตายตลอด มีครั้งหนึ่งที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยร่วมกับแนวร่วมประชาชนเดินขบวนไปประท้วงสถานฑูตสหรัฐอเมริกา
ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๑๙ ขบวนเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผ่านมาทางถนนหลานหลวง ขณะที่ขบวนผ่านมาที่บริเวณสยามสแควร์ มีเสียงตูมดังสนั่นเนื่องจากมีระเบิดโยนลงมาจากอาคารสูงบริเวณนั้น
หลังจากเสียงระเบิดปรากฎว่ามีพวกเราบาดเจ็บและล้มตายกันไปหลายคน หมู(พลศิลป์)สมาชิกคนหนึ่งของวง ได้ช่วยอุ้มพาคนเจ็บส่งโรงพยาบาลจนเนื้อตัวเต็มไปด้วยด้วยเลือด
อย่างไรก็ตามพวกเราก็พากันเคลื่อนขบวนต่อและไปปักหลักอยู่หน้าสถานฑูตอเมริกาจนได้
ณ.ที่ตรงนั้นเราตั้งเวทีบนหลังคารถหกล้อ มีการไฮปาร์คสลับกับการเล่นดนตรี โดยมีวัตถุประสงค์ในการไล่ฐานทัพของอเมริกาให้ออกไปให้พ้นแผ่นดินไทย
การประท้วงยืดเยื้อสลับพูดสลับเพลงกันไปมาจนถึงเช้า ผู้คนที่อยู่กันมากมายไม่ยอมถอยหนี แต่วัฒนธรรมในการต่อสู้หรือฟังเพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้นจะไม่มีการลุกขึ้นมาดิ้นหรือเต้นประกอบเพลงเหมือนปัจจุบัน
ผู้คนจะนั่งฟังเพื่อซึมซับเนื้อหาของเพลงอย่างตั้งใจ วงกรรมาชนจะเป็นวงที่ยืนพื้นในการประท้วงที่ยืดเยื้อจริงๆ เพราะสมารถอยู่โยงได้
ยามใดขาดคนไฮปาร์ค หรือ ยามดึกดื่นจนผู้คนพากันอ่อนเพลียแล้ว วงกรรมาชนจะต้องเป็นผู้ปลุกเร้าวิญญาณแห่งการต่อสู้ขึ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นเสียงปืนหรือเสียงระเบิดพวกเราแทบจะชาชินกับมันไปแล้ว จึงไม่น่าแปลกเลยว่าช่วงที่ประชาชนนักศึกษาถูกล้อมปราบและถูกยิงกระหน่ำในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงประมาณ ตี ๒ ถึง ๖ โมงเช้าของวันที่ ๖ ตุลาคม ทั้งนิตยาและผมนอนหลับไหลอยู่ข้างๆเวทีท่ามกลางเสียงปืนและเสียงระเบิดนั่นเอง

วงกรรมาชนมีการบันทึกเทปครั้งแรก ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้าปกจะเป็นรูปหน้าผู้หญิงชาวบ้านมีผ้าโพกศีรษะมีลักษณะครุ่นคิด
ชุดนี้มีเพลง กรรมาชน , คนกับควายข้ายคอยฝน, เปิบข้าว , เพื่อมวลชน , กูจะปฏิวัติ , ชาวนารำพึง , แสง , เจ้าพระยาฮาเฮสู้ไม่ถอย , มาร์ชประชาชนเดิน
ช่วงนั้นเทปคาสเสทท์ยังเป็นของใหม่สำหรับบ้านเรา ไม่น่าเชื่อว่าเทปผลิตขายไม่ทันรายได้จากเทปเราใช้สำหรับเคลื่อนไหวและสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชน
วงกรรมาชนมีการบันทึกเทปครั้งที่ ๒ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ชุดนี้มีเพลง อินโดจีน,รักชาติ , ใช้ของไทย , โปสเตอร์ , เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ , รำวงเมย์เดย์ , บ้านเกิดเมืองนอน , ศักดิ์ศรีแรงงาน
และวงกรรมาชน มีการบันทึกเทปชุดที่ ๓ ในเวลาไร่เรี่ยกัน ชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นเพลงมาร์ชซึ่งเป็นผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์

เหตุการณ์ประทับใจ

๑.ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ วันนั้นขณะแสดง อยู่ดีๆเครื่องแอมป์ตัวหนึ่งเกิดระเบิดขึ้นการแสดงต้องหยุดชะงักลง มีผู้ชมคนหนึ่งตะโกนว่าช่วยกันบริจาคซื้อแอมป์ใหม่ให้กรรมาชน
แล้วก็เปิดหมวกเดินรับกันเดี๋ยวนั้นเลย ไม่ถึง ๑๐ นาทีเราก็มีเงินพอที่จะซื้อ ปู่(ปรีดา)และหนู(พิทักษ์)รีบนั่งแทกซี่ไปบ้านหม้อแล้วกลับมาพร้อมกับแอมป์ตัวใหม่ผู้ชมก็ไม่หนีรอจนกระทั่งเราสามารถเปิดการแสดงต่อได้

๒.ที่ท้องสนามหลวง วันนั้นเป็นการรวมพลังรณรงค์ให้ใช้สินค้าไทย ปรากฎว่าฝนตกหนัก(ต้องเข้าใจก่อนว่าเครื่องเสียง ยุคนั้นไม่มีมิกซ์)
ผู้ชมที่อยู่ไกลๆก็ฟังจากเสียงฮอลล์ที่พ่วงไปเท่านั้น ผู้คนเต็มลานท้องสนามหลวงแทบไม่มีที่ยืนพวกเราที่แสดงบนเวทีถูกไฟฟ้าดูดกันทุกคนเพราะเป็นเครื่องดนตรีไฟฟ้าทั้งหมด
แต่มวลชนไม่ยอมถอย บอกให้เล่นต่อ พวกเราก็ลุยกันอย่างไม่กลัวจำได้ว่าเวลาจิ้นรูดคีย์บอร์ดแต่ละครั้งมีน้ำฝนสาดกระจายออกจากแป้นคีย์ ยังงงอยู่ว่าเครื่องดนตรีก็อาจจะถูกหล่อหลอมเหมือนพวกเรา

สุดท้ายนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่า บันทึกนี้เกิดขึ้นจากความทรงจำที่พอจะระลึกได้ เพราะเวลาได้ห่างกันประมาณ ๒๙ ปี (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๔๕) ถ้ามีเหตุการณ์ใดที่มีความผิดเพี้ยนไป
ผมขอน้อมรับความคิดเห็นด้วยความยินดี และหวังให้สมาชิกวงกรรมาชน และอดีตแฟนเพลงวงกรรมาชน ช่วยกันเสริมต่อประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไปไปครับ

ที่มา : บทบันทึกความทรงจำในอดีต เกี่ยวกับวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ชื่อ “กรรมาชน”
โดย กิติพงษ์ บุญประสิทธิ์ (ตี้/กรรมาชน)
จาก //www.thaioctober.com


โดย: LONESOME COWBOY วันที่: 27 ตุลาคม 2548 เวลา:23:49:10 น.  

 
เยี่ยมครับ


โดย: คนเดินดินฯ วันที่: 8 ธันวาคม 2548 เวลา:4:44:08 น.  

 
อุดมการณ์ น่าชื่นชมคะ เสียงเพลงทุกเพลง ช่างทราบซึ้ง


โดย: เหลืองทั่วหล้า IP: 202.149.25.197 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:15:32:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

LONESOME COWBOY
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add LONESOME COWBOY's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.