<<
พฤษภาคม 2559
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
3 พฤษภาคม 2559

ตอนที่ 6 เทคนิคแห่งการใช้ธรรมในเวลาฝึกสมาธิ



คนส่วนมากที่ไม่เคยฟังข้าพเจ้าสอนในเวลาฝึกสมาธิมักจะเข้าใจผิดว่าข้าพเจ้าคงจะสอนแต่เรื่องที่จะให้คนได้สมาธิเพื่อการติดต่อกับโอปปาติกะซึ่งการสอนนั้นก็คงจะมุ่งไปแต่ในทางสมถะเป็นส่วนมากแต่ความเป็นจริงแล้วในเวลาฝึกสมาธิจริงๆไม่มีใครสนใจในเรื่องโอปปาติกะเลยเพราะทุกคนรู้ดีว่าถ้าฝึกสมาธิเพื่อหวังผลอย่างนั้นความอยากที่จะได้ก็จะเกิดขึ้นมากีดขวางทำให้จิตใจฟุ้งซ่านเป็นสมาธิไม่ได้

ข้าพเจ้าได้แนะนำเสมอว่าการฝึกสมาธิจะต้องมุ่งหวังความบริสุทธิ์มุ่งหวังที่จะทำกิเลสให้น้อยลงมุ่งหวังที่จะให้พ้นจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในชีวิตประจำวันส่วนความสามารถในการติดต่อกับโอปปาติกะนั้นให้ถือเป็นเพียงผลพลอยได้จะได้หรือไม่ได้ อย่าได้คำนึงถึง และอารมณ์ใดๆที่จะก่อให้เกิดความอยากในเวลาฝึกสมาธิจะต้องตัดออกไปให้หมดไม่เช่นนั้นจะฝึกสมาธิไม่ได้อันนี้เป็นหลักการสำคัญอันหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะต้องย้ำอยู่บ่อยๆ

อุปสรรคที่สำคัญและเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในเวลาฝึกสมาธิก็คือความฟุ้งซ่านสำหรับคนที่นั่งสมาธิแล้วไม่ง่วงนอนแต่จิตใจฟุ้งซ่านแก้ไขได้ไม่ยากนักถ้าหากรู้จักเทคนิคแห่งการใช้ธรรมในเวลาฝึกสมาธิส่วนคนที่นั่งสมาธิทีไรง่วงทุกทีแม้จะให้นอนหลับมาแล้วจนเต็มอิ่มก็ยังง่วงอยู่คนประเภทนี้แก้ยากและมีรายละเอียดที่จะต้องแนะนำกันมากมาย

สำหรับในระยะแรกนี้ข้าพเจ้าจะรวบรวมเฉพาะเทคนิคแห่งการใช้ธรรมในเวลาฝึกสมาธิเพื่อแก้ปัญหาความฟุ้งซ่านมาเสนอท่านเป็นตอนๆก่อนอนึ่ง ข้าพเจ้าขอทำความเข้าใจกับท่านเสียก่อนว่าสำหรับผู้แรกฝึกใหม่ๆท่านควรจะติดตามอ่านในหัวข้อเรื่องสมาธิและวิปัสสนาในชีวิตประจำวันเสียก่อนเพราะนั่นสำหรับผู้แรกเริ่มและผู้ที่ไม่ค่อยจะมีเวลาฝึก

ส่วนในหัวข้อนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ฝึกสมาธิมานานและมีความเข้าใจธรรมมาดีแล้วยังขาดอยู่แต่เพียงไม่รู้จักเทคนิคในการใช้ธรรมเท่านั้นโปรดจำไว้อย่างหนึ่งว่าคนที่รู้ธรรมมากว้างไม่ใช่หมายความว่าจะใช้ธรรมเป็นหรือใช้ธรรมได้ผลเสมอไปเพราะเหตุนี้คนที่ฝึกสมาธิส่วนมากจึงฝึกไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควรหลักสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยให้จิตเป็นสมาธิก็คือในขณะที่เรากำลังนั่งสมาธิถ้าหากสามารถทำให้ปีติหรือความสังเวชอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นได้ก็จะทำให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย เพราะปีติเป็นองค์อันหนึ่งของฌาน

คำว่าเป็นองค์หมายความว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญถ้าผู้ใดสามารถที่จะนึกคิดอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้โดยเฉพาะโดยที่จิตไม่ฟุ้งซ่านเลยและเรื่องที่กำลังนึกคิดนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดกิเลสตรงกันข้ามกลับเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปีติในธรรมหรือเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความสังเวชผู้นั้นก็จะสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้

ความนึกคิดที่ไม่ฟุ้งซ่านหมายถึง ความนึกคิดที่มีระเบียบและมีสติกำกับอยู่ทุกขณะจิตผู้ที่ทำได้อย่างนี้ปีติและสุขก็จะเกิดขึ้นนี่คือหลักสำคัญคำว่านึกคิดอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะซึ่งเมื่อพูดในทางหลักวิชาก็คือมีวิตก มีวิจาร และมีเอกัคคตา วิตกแปลว่านึก วิจารแปลว่าคิดเอกัคคตาแปลว่ามีอารมณ์อันเดียวโปรดสังเกตุว่าวิตกวิจารที่จะนับว่าเป็นองค์ของฌานได้ก็ต่อเมื่อต้องมีสติกำกับอยู่ทุกขณะด้วยกล่าวคือจะนึกและคิดถึงเรื่องอะไรก็รู้สึกตัวได้ทุกขณะจิตว่ากำลังนึกกำลังคิดอะไรอยู่ความนึกคิดอย่างนี้เรียกว่ามีสติกำกับและโปรดสังเกตุอีกอย่างหนึ่งว่าผู้ที่สามารถจะมีสตินึกคิดอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้โดยเฉพาะนั้นแม้ว่าจะทำได้นานๆโดยไม่มีการเผลอสติ แต่ถ้าหากปีติและสุขยังไม่เกิดจิตจะแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวอย่างแท้จริงไม่ได้ฉะนั้น ปีติและสุขจึงนับว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ จิตจะแน่วแน่จริงหรือไม่นิวรณ์ทั้ง 5 จะสงบได้อย่างเด็ดขาดจริงหรือไม่นั้น สำคัญอยู่ที่ปีติและสุขเพราะฉะนั้นเทคนิคของการฝึกสมาธิก็คือต้องพยายามพิจารณาธรรมชนิดที่จะทำให้เกิดปีติเกิดขึ้นแก่ตนและพึงทราบด้วยว่าถ้าปีติเกิดสุขย่อมเกิดด้วยเสมอ

เทคนิคของการพิจารณาธรรมที่จะทำให้ปีติเกิดขึ้นอยู่ที่ จะต้องรู้จักคุณธรรมที่มีอยู่ในสันดานของตัวเพราะโดยธรรมดาธรรมที่จะนำมาพิจารณาในขณะที่กำลังเข้าสมาธินั้นแม้ว่าตนเองจะเข้าใจเป็นอย่างดีแต่ถ้าหากธรรมนั้นไม่สัมพันธ์กับคุณธรรมที่มีอยู่ในสันดาน หรือไม่กระตุ้นให้คุณธรรมที่มีอยู่ให้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้วปีติจะเกิดขึ้นไม่ได้เท่าที่กล่าวมานี้เป็นการแนะแนวโดยสังเขปและพูดแต่เฉพาะเรื่องปีติก่อน

ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่าหลักสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิง่ายก็คือในขณะที่กำลังฝึกสมาธิถ้าสามารถพิจารณาธรรมจนทำให้เกิดปีติเกิดขึ้นหรือทำให้เกิดความสังเวชเกิดขึ้นได้จิตก็จะเป็นสมาธิทันที

พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า

ในขณะใดนึกถึงธรรม ในขณะนั้นเรียกว่า เจริญสติสัมโพชฌงค์

ในขณะใดพิจารณาธรรม ในขณะนั้นเรียกว่า เจริญธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์

ในขณะใดใช้ความเพียรนึกถึงธรรม และพิจารณาธรรม ในขณะนั้นเรียกว่า เจริญวิริยะสัมโพชฌงค์

ในขณะใดใช้ความเพียรนึกถึงธรรม และพิจารณาธรรมแล้วเกิดความแจ่มแจ้งในธรรม ปีติก็ย่อมเกิด ในขณะนั้นเรียกว่า เจริญปีติสัมโพชฌงค์

และเมื่อปีติเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้ปัสสัทธิเกิดขึ้น

และเมื่อปัสสัทธิเกิดขึ้นแล้ว จิตก็เป็นสมาธิง่าย

และเมื่อจิตเป็นสมาธิดีแล้ว จิตก็จะเกิดความวางเฉยคือไม่ต้องขวนขวายในอันที่จะทำอะไรอีก เพราะจิตได้ดำเนินไปในสมาธิดีแล้ว

โดยประการฉะนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์สมาธิสัมโพชฌงค์ และ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

จากหลักในเรื่องโพชฌงค์โดยสังเขปนี้จะทำให้เราได้หลักในเรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับสมาธิ เพราะจุดสำคัญอยู่ที่ถ้าสามารถทำให้เกิดปีติได้สมาธิก็เกิดได้และวิธีที่จะทำให้ปีติเกิดก็คือการนึกถึงธรรมและพิจารณาธรรรมด้วยความเพียรไม่ใช่ทำด้วยความขี้เกียจเพราะถ้าทำด้วยความขี้เกียจแล้วปีติจะเกิดขึ้นไม่ได้และหลักสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือการนึกถึงธรรมและพิจารณาธรรมนั้นอย่าทำแบบส่งเดชหรือทำสักแต่ว่าทำก่อนที่จะนึกถึงธรรมหรือพิจารณาธรรมข้อใดจะต้องใคร่ครวญถึงคุณธรรมที่มีอยู่ในสันดานเสียก่อนเพราะการพิจารณาธรรมนั้นถ้าหากไม่มีส่วนสัมพันธ์กับคุณธรรมที่มีอยู่ในสันดานปีติจะเกิดไม่ได้ตัวอย่างเช่นถ้าตนเองเป็นคนมีนิสัยเสียสละก็จะต้องพิจารณาธรรมที่กล่าวถึงอานิสงค์แห่งการเสียสละในเมื่อเห็นอานิสงค์แจ่มแจ้งตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ปีติก็จะเกิดทันทีส่วนคนที่ไม่มีนิสัยเสียสละพื้นเดิมเป็นคนมีมัจฉริยะมากหรือเห็นแก่ตัวมากคนประเภทนี้แม้จะเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าการเสียสละมีอานิสงค์อย่างไรปีติก็ยากที่จะเกิดและในทำนองเดียวกันผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์เมื่อพิจารณาอานิสงค์ของศีล ปีติก็ย่อมเกิดผู้ที่มีความศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้งเมื่อเจริญพุทธานุสติ ปีติก็ย่อมเกิดดังนี้ เป็นต้น

เทคนิคของการพิจารณาธรรมดังที่กล่าวมานี้โปรดใส่ใจไว้ให้มากและเทคนิคอีกข้อหนึ่งก็คือ ก่อนที่จะพิจารณาธรรมจงนึกถึงจุดเสียในสันดานของตนก่อนเมื่อรู้แจ้งว่าจุดเสียในสันดานมีอะไรบ้างแล้วจึงค่อยหยิบธรรมที่สามารถจะแก้จุดนั้นขึ้นมาพิจารณาโดยวิธีนี้ก็สามารถจะทำให้เกิดปีติขึ้นได้ในบางครั้งแต่ในบางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดความสังเวช ตัวอย่างเช่น สมมติว่าโดยสันดานเราเป็นคนที่ติดในเรื่องความงามของร่างกายหลงใหลมัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านี้มากจะโดยวิธีใดก็ตามถ้าสามารถทำให้เกิดความรู้สึกว่าความหลงใหลในสิ่งเหล่านี้เป็นความไร้สาระอย่างน่าสังเวชถ้าความรู้สึกอันนี้เกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดความสังเวชขอให้ท่านพิจารณาดูจากตัวอย่างดังต่อไปนี้

พระนางรูปนันทาเป็นคนที่มีนิสัยหลงใหลในความงามของตัวหยิ่งในตัวเองเสมอว่าตัวเองเป็นคนสวยกว่าใครๆความภูมิใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยๆในเมื่อนำตัวเองไปเทียบกับคนอื่นและต่อมาเมื่อพระนางรูปนันทาออกบวชแล้วความสำคัญผิดว่าตัวเองงามยิ่งกว่าใครๆก็ยังคงมีอยู่เสมอฉะนั้นเมื่อคราวที่พระนางรูปนันทาได้มาฟังธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้าโดยตรงพระพุทธองค์ทรงทราบนิสัยของพระนางรูปนันทาดีและเพื่อจะแก้นิสัยอันนี้พระองค์จึงได้ทรงเนรมิตผู้หญิงคนหนึ่งให้พระนางรูปนันทาเห็นเพียงผู้เดียวหญิงคนนั้นนั่งอยู่เบื้องหลังพระพุทธเจ้าใกล้ๆกับพระพุทธเจ้าคอยทำหน้าที่โบกพัดให้กับพระพุทธเจ้าเมื่อพระนางรูปนันทาได้แลเห็นก็รู้สึกตะลึงในความงามและนึกไม่ถึงว่าพระพุทธเจ้าจะมีหญิงซึ่งงามกว่าตนเองคอยรับใช้ในขณะนั้นในใจของพระนางรูปนันทาหมดความหยิ่งและความภูมิใจในตัวเอง รู้สำนึกตัวได้อย่างเต็มที่ว่าตนเองมิได้งามอย่างที่เคยภาคภูมิใจมาก่อนเพราะหญิงที่งามที่สุด งามกว่าตัวเองทุกๆด้านก็คือผู้หญิงที่กำลังเห็นอยู่เบื้องหลังของพระพุทธเจ้าในขณะนี้

โปรดสังเกตว่าในขณะที่พระนางรูปนันทากำลังตะลึงในความงามของหญิงเนรมิตนั้นความภาคภูมิใจในตัวเองได้หมดลงและทันใดนั้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงบันดาลให้รูปเนรมิตนั้นค่อยๆแก่และเหี่ยวแห้งลงความงามค่อยๆลบเลือนหายไปเป็นลำดับจนกระทั่งในที่สุด ไม่มีความงามอะไรเหลือไว้เลย และแล้วหญิงนั้นก็ได้เกิดตายลงต่อหน้าต่อตาและชั่วระยะเวลาไม่นานหญิงนั้นก็พองอืดมีน้ำเหลืองไหลออกมาตามทวารต่างๆ ราวกับว่าได้ตายมาแล้วหลายวัน

ในขณะนั้น พระนางรูปนันทาไม่รู้สึกตัวแม้แต่น้อยว่าภาพที่เห็นนั้นไม่ใช่ของจริงและก็ไม่ได้เฉลียวใจด้วยว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่หญิงกำลังสาวแล้วจะเกิดแก่ขึ้นมาราวกับคนอายุ80 ปีในชั่วระยะเวลาเพียงไม่นานเท่าไร และก็เป็นไปไม่ได้ที่ยังไม่ทันจะข้ามวันคนตายจะเกิดพองอืดขึ้นมาขนาดนั้นการที่พระนางรูปนันทามิได้ฉุกใจในเรื่องนี้แม้แต่น้อยก็เพราะพระนางตกอยู่ภายใต้อำนาจอภิญญาจิตอันประกอบไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์โดยสิ้นเชิง

อนึ่ง จงสังเกตว่าการที่พระนางรูปนันทาได้เกิดความสังเวชอย่างลึกซึ้งเช่นนั้นก็เพราะได้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าความงามมิใช่ของยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งที่มีสาระและในขณะที่พระนางรูปนันทากำลังเกิดความสังเวชเช่นนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสเป็นคาถาออกมาว่า

“อาตุรัง อะสุจิง ปูติง ปัสสะ นันเท สะมุชะยัง อะคัฆรันตัง ปะคัฆรันตังพาลานัง อะภิปะชิตัง”

“นันทา เธอจงดูซิ กายนี้อาดูร ไม่สะอาด เป็นของเน่าเปื่อยมีของปฏิกูลไหลออกมาอยู่เสมอ คนพาลเท่านั้นที่ปรารถนาอยากได้”

ข้อที่น่าสังเกตก็คือคนทั่วๆไปเมื่อได้เห็นสภาพของร่างกายที่กำลังเน่าพองอืดมีน้ำเหลืองไหลออกมาบางคนก็จะรู้สึกขยักแขยง หรือรู้สึกทุเรศดูไม่ได้ บางคนก็กลัวอกสั่นขวัญหนีแต่น้อยคนเมื่อเห็นร่างกายอยู่ในสภาพเช่นนี้แล้วเกิดความสังเวชทำไมบางคนจึงไม่เกิดความสังเวช แล้วทำไมบางคนจึงเกิดความสังเวชจุดนี้เป็นจุดสำคัญมาก ถ้าหากเราสามารถแยกธาตุของความสังเวชออกได้ว่าประกอบไปด้วยความรู้สึกอะไรบ้างเราก็สามารถสร้างความสังเวชให้เกิดขึ้นได้ตามความต้องการเสมอ

(ยังมีต่อ)




 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2559
0 comments
Last Update : 10 พฤษภาคม 2559 21:34:37 น.
Counter : 612 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


อรุณรุ่งแห่งธรรม
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add อรุณรุ่งแห่งธรรม's blog to your web]