Group Blog
สิงหาคม 2556

 
 
 
 
1
2
3
4
5
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
All Blog
ทนายอ้วนทัวร์ - ควันหลงทริปหัวหิน - เที่ยววัดเก่าเมืองเพชร - วัดใหญ่สุวรรณาราม ตอนที่ 1
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี, เพชรบุรี Thailand
พิกัด GPS : 13° 6' 31.38" N 99° 57' 11.42" E





วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร นี้ได้ไปเที่ยวมานานแล้วครับ มัวแต่หลงระเริงกับการโพสทำกับข้าว และร้านอาหารที่ได้ไปกินในทริปสั้นๆทุกอาทิตย์เลยก็เลยดองเอาไว้นานมากๆครับ

วันที่ได้ไป วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร จำได้ว่ามีทริปไปเที่ยวหัวหินกันครับ ขากลับจะต้องมาทำธุระที่แถวๆดอนหอยหลอดก็เลย check out โรงแรมตั้งแต่เช้าแล้วมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพเลย ไอ้จะกลับบ้านเลยก็กลัวว่าจะถึงบ้านเร็วเกินเหตุ ก็เลยแวะเที่ยว 2-3 ที่ตามรายทางครับ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารก็เป็น destination อันนึงของเราในทริปนั้นครับ



 photo DSC04834_zps0235f8b8.jpg



เราใช้เส้นทางแยกออกจากถนนเพชรเกษมตัดกับถนนบันไดอิฐ เข้าวงเวียนมาทางขวา วิ่งตรงตามถนนบันไดอิฐเข้ามานิดเดียวก็เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำเนิน แล้วมาเลี้ยวขวาที่ไฟแดงแรกเข้าถนนชีสระอินทร์ แล้ววิ่งตรงไปเรื่อยๆ พอข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเพชรบุรีถนนเส้นนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็นถนนพงษ์สุริยาครับ วัดจะอยู่ทางขวามือไม่ห่างจากไฟแดงแรกหลังจากที่ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำมากครับ เราสามารถเอารถเข้าไปจอดในลานวัดได้เลยครับ



 photo DSC04772_zps25864e84.jpg


ทราบประวัติของวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารคร่าวๆกันก่อน ที่จะไปเดินชมโบราณสถานภายในวัดกันนะครับ

วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารเป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง 1 ใน 4 วัด ของจังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่บริเวณถนนพงษ์สุริยา ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพรชบุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดใหญ่” เป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยาหรือมากกว่านั้น เล่ากันว่าเดิมชื่อ “วัดน้อยปากใต้” หรือ “วัดน้อยปักษ์ใต้” เพราะอยู่ริมแม่น้ำด้านทิศใต้หรือนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ซึ่งเคยมีอีกวัดหนึ่งที่มีคล้องจองกันคือ “วัดในไก่เตี้ย” แต่ได้ร้างลงนานแล้ว

วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ไม่ปรากฎหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ โดยพระสุวรรณมุนี ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแตงโม และได้มีการบูรณะอีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (มีพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) เป็นเจ้าอาวาส)




 photo DSC04773_zps5ddd1cbc.jpg



โบราณสถานที่สำคัญในวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารที่จะพามาชมในตอนแรกนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดของ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ซึ่งก็คือ ศาลาการเปรียญสมัยอยุธยา พระอุโบสถและจิตรกรรมสีฝุ่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจิตรกรรมที่สวยงามที่สุดของประเทศไทยด้วย หอไตรสามเสากลางน้ำ นอกจากนี้บริเวณด้านในและด้านนอกพระอุโบสถศาลาการเปรียญยังเคยเป็น location ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท” ด้วยครับ สถาปัตยกรรมต่างในวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ล้วนแล้วแต่สวยงาม ประณีตเป็นอย่างยิ่ง จากพระราชหัตถ์เลขาในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บันทึกเอาไว้ว่า…

"ผู้ใดออกมาเที่ยวเมืองเพชรบุรี มีน้ำใจที่จะดูการช่าง จะหาที่อื่นดูให้ดียิ่งกว่าวัดใหญ่เป็นไม่มี"


แสดงให้เห็นว่า ฝีมือช่างที่ปรากฏอยู่ ณ วัดใหญ่ จังหวัดเพชรบุรี มีความงดงามเป็นอันมาก


เมื่อเข้ามาในวัดสิ่งแรกที่เห็นได้สะดุดตาก็คือ ศาลาการเปรียญสมัยอยุธยา หลังนี้เลยครับ มีขนาดใหญ่มากๆ จริงๆแล้วที่เลือกมาวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารเพราะว่าจำชื่อวัดแห่งนี้ฝังใจมาตั้งแต่เด็กๆครับ เพราะเคยได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์บอกว่าที่ศาลาการเปรียญที่วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารแห่งนี้ มีรอยที่พม่าเอาขวานจามบานประตูเอาไว้ตอนพม่าบุกเมืองเพรชบุรีครับ ก็เลยอยากจะมาดูให้เห็นกับตา


ศาลาการเปรียญ สันนิษฐานว่าเดิมน่าเป็นพระตำหนักของเจ้านายชั้นสูงเดิม สังเกตได้จากสิ่งประดับตกแต่งเช่น ช่อฟ้า ใบระกา และเขียนลายทอง พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยาได้พระราชทานแด่พระสังฆราชแตงโมเพื่อทำเป็นศาลาการเปรียญเมื่อคราวที่พระสังฆราชแตงโมได้กลับมาบูรณะวัดใหญ่สุวรรณาราม เนื่องจากเป็นอารามที่ท่านได้เคยศึกษาเล่าเรียนเมื่อครั้งยังเป็นสามเณร โดยพระเจ้าเสือได้พระราชทานนายช่างแผนกต่างๆมาเพื่อทำการก่อสร้างด้วยโดยพระสังฆราชแตงโมเป็นแม่กองคุมการก่อสร้าง


ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เคยเล่าไว้เมื่อ ตอนที่มาปาฐกถาที่วิทยาลัยครูเพชรบุรีว่า ศาลาการเปรียญวัดใหญ่ฯ จึงน่าจะเป็นตำหนักของ เจ้าพระขวัญ พระราชโอรสของพระเพทราชา ที่ถูกพระเจ้าเสือ (กรมพระราชวังบวรขณะนั้น) ลวงไปสำเร็จโทษขณะกินผลอุลิต (แตงโม) ค้างอยู่ครึ่งลูก และผีเจ้าพระขวัญก็เวียนกลับมาร้องขอแตงโมกิน จนตำหนักนั้นไม่มีใครกล้าอยู่ พระเจ้าเสือจึงต้องรื้อตำหนักมาถวายวัดเป็นการแก้อาถรรพ์ ยังมีเรื่องเล่ากันอีกว่าพอตอนที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าเรื่องนี้จบลง หมาที่อยู่ในบริเวณนั้นก็หอมรับกันเป็นการใหญ่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชยังพูดสัพยอกว่า “ใครไม่เชื่อ แต่หมามันเชื่อก็แล้วกัน” เรื่องนี้มาได้อ่านตอนที่หาข้อมูลเขียนบล็อกนะครับ ถ้าทราบมาก่อนหน้าที่จะไปสถานที่จริง รับรองว่าไม่กล้าขึ้นไปบนศาลาการเปรียญแน่ๆ ........ น่ากลัวอะครับ


**** ขอเอาข้อมูลของศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามมาประกอบซักนิดนะครับ จะได้ดูว่าบล็อกนี้มีความรู้นิดนึงก็ยังดี ฮี่ๆๆๆ ****



ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นอาคารทรงไทยฝาปะกนทำด้วยไม้สักทั้งหลังขนาด 10 ห้อง กว้าง 5 วา ยาว 15 วา (ประมาณ 10 x 30 เมตร) บานประตูสลักลายก้านขดปิดทอง ทิศตะวัตกเป็นมุขประเจิด มีหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มีหลังคาในประธาน 1 ตับ และมีปีกนกลาดลงมาอีกด้านละ 3 ตับ ด้านข้างมีชั้นลด 4 ชั้น ชั้นสุดท้ายมีทวยรับเชิงชาย มุงกระเบื้องกาบกล้วย แล้วฉาบปูนทับกระเบื้องโดยตลอด ประดับช่อฟ้า ใบระกาติดกระจกสี เชิงชายหลังคาประดับกระเบื้องดินเผาแบบกระเบื้องหน้าอุดมีลวดลายต่างๆ หน้าบันเป็นลายกนกช่อหางโต หน้าบันมุขประเจิดมีสาหร่ายรวงผึ้ง ประดับหัวนาค แสดงว่าอาคารหลังนี้เป็นอาคารสำหรับผู้สูงศักดิ์เท่านั้น ทางด้านมุขประเจิดมาช่องประตู 2 บาน แต่ทางที่ประจันพระอุโบสถมี 3 บาน สำหรับช่องประตูกลางด้านหน้ายกพื้นยื่นออกมารับบันไดขึ้นจากชาน ล้อมรั้วไม้ฝากรุอยู่ตอนล่าง มีเสาประตูเล็ก เสาประตูไม้กลึง มีคันทวยทั้งหมด 34 ตัว แต่ละตัวใช้ไม้ทั้งแผ่นจำหลักเป็นแบบที่เรียกว่า ทวยหน้าตั๊กแตน ฝาด้านข้างทำเป็นหน้าต่างด้านละ 9 ช้อง ด้านเหนือทำเป็นช่องพระบัญชร 2 ช่อง

นอกชานสกัดหัวท้าย มีบันไดปูนเป็นรูปครึ่งวงกลม (อัฒจรรย์) สุดด้านหัวท้ายชานมีบันไดทำเป็นรูปอัศวมัจฉา ส่วนหัวเป็นม้า ลำตัวมีเกล็ดและครีบคล้ายปลา ทาสีเขียวอ่อน



 photo DSC04778_zpsdc644622.jpg

 photo DSC04783_zps4dcd5762.jpg


บานประตูเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นบานประตูไม้จำหลักเป็นลายก้านขดปิดทองงดงาม ประณีตบรรจง ฝีมือคล้ายบานประตูพระวิหารวัดพนัญเชิง หรือวัดหน้าพระเมรุ

ประตูอีกบานหนึ่งมีรอยแตกเป็นช่องยาวเล่ากันว่า ถูกพม่าซึ่งยกทัพมาฟัน เพื่อค้นหาคนที่หนีไปซุกซ่อนตัวอยู่ในศาลาหลังนี้



 photo DSC04779_zpsabc42e91.jpg

 photo DSC04781_zps03d5a538.jpg



กระจังพรึงวัดใหญ่สุวรรณรามแตกต่างจากที่อื่นเพราะส่วนบนแกะเป็นกระจังปฏิญาณขนาดใหญ่ ด้านล่างลอกเป็นบัวลึกลงไปในเนื้อไม้ ลายกระจังพรึงแต่ละตัวไม่ซ้ำกัน ด้านเหนือมีทั้งหมด 119 ตัว บางตัวยังมีกระจกสีที่ประดับที่ตัวกระจังหลงเหลืออยู่บ้าง ตัวพรึงแปลกตากว่าที่อื่น เพราะไม่ได้ตั้งอยู่บนหัวรอด เซาะร่องบากหัวครึ่งหนึ่ง ส่วนฝาปะกนศาลานั้นมีคานอีกตัวหนึ่ง โดยมีเสาทำหน้าที่ประกบฝาให้แนบสนิท พรึงจึงมีหน้าที่ปิดหัวรอดและพื้นกระดาน เดิมกระจังพรึงมีแต่ทิศเหนือ เล่ากันว่ากระจังพรึงสำหรับด้านทิศใต้ก็ล่องแม่น้ำมาจากอยุธยาพร้อมๆกันกับกระจังพรึงส่วนของทางทิศเหนือ แต่ไม่ได้เอาขึ้นมาติดตั้ง คงปล่อยให้แช่น้ำอยู่อย่างนั้นเพราะมีน้ำหนักมาก นานวันเข้าก็เกิดการผุพังไป เมื่อปี 2524 กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามได้มีการสร้างกระจังพรึงสำหรับทางด้านทิศใต้ขึ้นมาใหม่



 photo DSC04775_zpsdeb385f1.jpg

 photo DSC04776_zps47858c44.jpg


ศาลาการเปรียญหลังนี้เดิมด้านนอกเขียนลายทองทั้งหมด ในสมัยพระครูญาณสาคร (มุ่ย) เป็นเจ้าอาวาสได้ใช้ดินแดงจากบ้านหนองหว้าผสมน้ำมันยางทาทับทั้งหลัง และเมื่อทำการบูรณะอีกครั้งจึงทาทับด้วยสีน้ำมัน

ภายในศาลาการเปรียญ มีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นผสมกาวอยู่ในสภาพลบเลือนมาก เป็นภาพเทพชุมนุม เทพทวารบาล ภาพชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ด้านหลังบานหน้าต่าง เขียนภาพเทพทวารบาล ยืนประนมมืออยู่ใต้ฉัตรสามชั้น กับด้วยเส้นฟันปลา บานประตูขวาที่ด้านหน้าเขียนภาพทวารบาลคู่เดียว



 photo DSC04789_zpsc323900d.jpg

 photo DSC04790_zpsba605110.jpg

 photo DSC04797_zpsba23bde5.jpg


มีธรรมาสน์เทศน์สมัยอยุธยา ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทอง รูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์



 photo DSC04796_zpsc3e6c3e4.jpg

 photo DSC04799_zps3c215872.jpg

 photo DSC04798_zps78f0edf4.jpg


ภายในศาลาโถมีเสาจำนวน ๑๔ ต้น เป็นเสาแปดเหลี่ยม เสาในประธานปิดทองลายฉลุตลอดทั้งเสา ลายคล้ายกันเป็นคู่ ๆ ไม่ซ้ำกัน เครื่องบนหลังคาทั้งขื่อ แป กลอน เขียนลายตลอดทุกชิ้น



 photo DSC04791_zps7bd65bf6.jpg

 photo DSC04786_zpsbb368d5b.jpg



เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสวัดใหญ่ ฯ พระองค์ได้ทอดพระเนตรฝีมือการรักษาของเก่าว่าตัวไม้อันไหนควรเปลี่ยนหรืออันควรรักษาไว้ ทรงพอพระราชหฤทัยมาก ทรงรับสั่งให้เว้นหัวเสาต้นหนึ่งด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นเสาต้นที่แปดไว้ไม่ให้ลงรักหรือทาสีทับ เพื่อให้คนชั้นหลังได้ศึกษา ยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้ ปรากฏพระราชหัตถเลขาของพระองค์ มีความตอนหนึ่งว่า

"หลังพระอุโบสถตรงกันแนวเดียว มีการเปรียญยาว เสาแปดเหลี่ยม เขียนลายรดน้ำ ลายไม่ซ้ำกันทุกคู่ ฝากระดานประกน ข้างนอกเขียนลายทอง ข้างในเขียนลายน้ำกาว บานประตูสลักซับซ้อน ซุ้มเป็นคูหางามเสียจริง"


 photo DSC04784_zps57a4bfc3.jpg

 photo DSC04788_zpsfae6d639.jpg

 photo DSC04794_zps6cf52c62.jpg


ขอแบ่งบล็อกนี้เป็น 2 ตอนนะครับ เนื่องจากหาข้อมูลในเนทได้เยอะมากๆครับ เกรงว่าจะเบื่อกันซะก่อน เดี๋ยวพรุ่งนี้จะพาไปชมพระอุโบสถและหอไตรของวัดกันครับ



ขอขอบคุณท่านเหล่านี้ที่กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูลนะครับ


วัดใหญ่สุวรรณาราม - mit.pbru.ac.th


เว็บไซต์วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร


วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี.....หลวงพ่อหกนิ้ว


วัดใหญ่สุวรรณาราม - touronthai.com


สมเด็จเจ้าแตงโม วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี - dharma-gateway


วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดใหญ่ - travel.maximuz.net


วัดใหญ่สุวรรณาราม - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



ทัวร์ทนายอ้วน ........ เที่ยวไป .... ตามใจฉัน









Create Date : 06 สิงหาคม 2556
Last Update : 6 สิงหาคม 2556 8:55:44 น.
Counter : 3946 Pageviews.

7 comments
  
ตามมาไหว้พระด้วยค่ะน้องบอล
ภาพถ่ายสวยมาก กล้องตัวใหม่ใช่มั๊ยเนี่ย
โดย: เนินน้ำ วันที่: 6 สิงหาคม 2556 เวลา:9:13:21 น.
  
สวัสดีตอนสายๆค่ะคุณบอล
ตามมาไหว้พระด้วยคนค่ะ
โดย: phunsud วันที่: 6 สิงหาคม 2556 เวลา:9:22:58 น.
  
1 ไลค์สำหรับเอ็นทรี่นี้ค่ะคุณทนาย
สวย ขลัง ดูอลังการ
ขออนุญาตแชร์ไปหน้าเพจนะคะ
ขอบคุณค่ะ
โดย: ณ ปลายฉัตร วันที่: 6 สิงหาคม 2556 เวลา:10:53:27 น.
  
สวยมากเลยค่ะ คุณบอล ^^

ขอบคุณมากๆนะคะ
โดย: lovereason วันที่: 6 สิงหาคม 2556 เวลา:15:56:47 น.
  
โหวตค่าา

บ้านเกิดดิช้านนนน
โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 7 สิงหาคม 2556 เวลา:9:38:11 น.
  
thx u crab
โดย: Kavanich96 วันที่: 7 สิงหาคม 2556 เวลา:11:09:00 น.
  
วัดสวยมากเลยครับ ^^
ธรรมดาผมเป็นคนชอบวัดเก่าๆ อยู่แล้ว ชอบๆ
โดย: กาแฟเย็นใส่นมเยอะๆ วันที่: 10 สิงหาคม 2556 เวลา:13:21:28 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทนายอ้วน
Location :
นนทบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 156 คน [?]