Group Blog
พฤษภาคม 2566

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
ทนายอ้วนชวนเที่ยว - วัดกำแพงแลง เพชรบุรี
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดกำแพงแลง เพชรบุรี, เพชรบุรี Thailand
พิกัด GPS : 13° 6' 20.10" N 99° 57' 21.13" E










 
วัดกำแพงแลง  เพชรบุรี



 

วัดกำแพงแลง  หรือ  วัดเทพปราสาทศิลาแลง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าราบ  อำเภอเมือง  จังหวัดเพชรบุรี  อยู่ห่างแม่น้ำเพชรบุรีมาทางตะวันออกประมาณ  1  กิโลเมตร  ชื่อดั้งเดิมไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด  สำหรับชื่อที่เรียกกันว่า  วัดกำแพงแลง  นั้นคงเป็นชื่อที่ผู้คนในสมัยหลังเรียกกันตามลักษณะที่พบเห็น  เนื่องจากภายในวัดมีปราสาทขอมก่อด้วยศิลาแลงและมีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ  จากลักษณะดังกล่าวจึงเป็นที่มาของชื่อวัดนี้ว่า  วัดกำแพงแลง  หมายถึง  กำแพงวัดที่ก่อด้วยศิลาแลง



 
 
ในส่วนของโบราณสถานจะอยู่ในพื้นที่สำหรับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน  โดยมีเขตของกำแพงศิลาแลงกั้น ส่วนพื้นที่ทำสังฆกรรมอยู่นอกเขตกำแพงศิลาแลง


 
 
แต่เดิม 
วัดกำแพงแลง  เป็นวัดร้าง มีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่โดยเช่าที่ดินจากกรมการศาสนาเพื่อใช้ทำสวน ต่อมาเมื่อตั้งเป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษาผู้ที่อาศัยอยู่จึงอพยพออกไป และพระภิกษุในวัดได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาวัดและโบราณสถาน  ซึ่งต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม 52  ตอนที่  75  หน้า  3692  วันที่  7  มีนาคม  พ.ศ.  2478 
 



 








ปราสาทวัดกำแพงแลง  มีผังพื้นล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ภายในกำแพงศิลาแลงเป็นที่ตั้งของปราสาทศิลาแลงแบบศิลปะขอมทั้งหมด  4  องค์  ปราสาท  3  องค์ทางด้านหน้าวางตัวเรียงกันในแนวเหนือ - ใต้  โดยปราสาทประธานมีขนาดสูงใหญ่กว่าอีก  2  องค์  ส่วนปราสาทองค์ที่  4  ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานด้านทิศตะวันออก  และมีโคปุระ  (ซุ้มประตูทางเข้า)  1  หลังที่มียอดเป็นปราสาท  ภายในกำแพงศิลาแลงยังพบสระน้ำอยู่ชิดขอบกำแพงทางทิศตะวันออกด้วย


 
 
 
การวางผังของปราสาท  พบการวางแนวปราสาทคล้ายคลึงกับปราสาทเขมรทั่วไป  คือพบยอดปรางค์ปราสาท  5  หลัง  เรียงประจำตามทิศทั้ง  4  ซึ่งที่  วัดกำแพงแลง  แห่งนี้พบว่าปราสาททางทิศตะวันออกเป็นโคปุระหรือซุ้มประตูทางเข้ามีการวางแนวของปราสาทสำคัญ  3  หลังในแนวเหนือ - ใต้  โดยมีปราสาทประธานองค์กลางเป็นแกน  ทางทิศตะวันตกพบปราสาทอีกหนึ่งหลัง  เมื่อมองเพียงรูปของการวางผังอาจเทียบคล้ายกับการวางผังของปราสาทเขมรโดยทั่วไป  การวางแนวของปราสาทสำคัญ  3  หลังเทียบได้กับที่พระปรางค์สามยอด  จังหวัดลพบุรี  ซึ่งมีผังการวางแนวปรางค์ประธานเรียงกันสามองค์เช่นกัน  โดยการวางผังนี้อยู่ภายใต้คติความเชื่อของศาสนาพุทธ  ลัทธิวัชรยาน  คือการสร้างปราสาท  สามหลัง  เพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ  ดังนี้



 
ปราสาททิศใต้ สร้างถวายแด่ พระโลเกศวรสี่กร



 
ปราสาทองค์กลาง สร้างถวายแด่พระวัชรสัตว์นาคปรก
 


ปราสาททิศเหนือ สร้างถวายแด่พระนางปรัชญาปารมิตา
 



ปราสาททิศตะวันตก ที่สร้างขึ้นพิเศษเพื่อสร้างถวายแด่พระโลเกศวรเปล่งรัศมี
 



 
จากลักษณะของ  ปราสาทวัดกำแพงแลง  เมื่อเทียบกับปราสาทเขมรแล้วมีความใกล้เคียงกันมาก  ตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอดนั้นมีองค์ประกอบที่คล้ายกัน  กล่าวคือองค์ประกอบในส่วนของการสร้างต่างๆ  เช่น  บราลีบนสันหลังคา  ชั้นภูมิของปรางค์  ยอดพินทุ  กลีบขนุน  ก็เป็นไปตามระเบียบวิธีการสร้างปราสาทเขมร  แต่การวางผังปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ พบเพียงส่วนของเรือนธาตุและมุขที่ยื่นออกมาเท่านั้น ไม่มีส่วนของมณฑป  มุขสันตามแบบปราสาทเขมรหลังอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย
 


 
การกำหนดอายุเวลาของโบราณสถานวัดกำแพงแลง  กำหนดอายุเวลาในการสร้างอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18  ระหว่างปี  พ.ศ. 1724 – 1773  ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7  ครองราชย์ 












 


 

โคปุระ  หรือซุ้มประตูทางเข้าก่อด้วยศิลาแลง  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน  ลักษณะเป็นปราสาทขอม  ศิขระหรือส่วนยอดยังคงสภาพของแต่ละส่วนไว้อย่างสมบูรณ์  ตัวเรือนธาตุของปราสาทเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม  มีมุขยื่นออกมาจากเรือนธาตุทั้ง  4  ด้าน  เป็นจตุรมุขลดหลั่นกัน  2  ชั้น  สันหลังคามุขประดับด้วยบราลี  มุขแต่ละด้านมีหน้าต่างหลอกเป็นลูกกรงมะหวดที่ผนังด้านข้างด้านละ  1  แห่ง ประตูทางเข้ามีเพียงทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเท่านั้นที่สามารถเดินเข้าไปได้  ส่วนประตูทางด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นประตูหลอกปิดทึบ  รอบโคปุระพบบัวเชิงผนัง  ส่วนฐานโคปุระ  มีผังเป็นรูปกากบาทตัดกัน  เนื่องจากเป็นซุ้มประตูทางเข้าจึงทำเป็นฐานทรงเตี้ยสำหรับเดินเข้าได้อย่างสะดวก  ปัจจุบันที่โคปุระไม่พบลวดลายปูนปั้นหลงเหลืออยู่แล้ว คงเหลือแต่ร่องรอยของปูนที่ฉาบอยู่ด้านนอกเท่านั้น  ปัจจุบันภายในโคปุระประดิษฐาน  หลวงพ่อนิล
 
 














ปราสาทประธาน  ก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่บนฐานที่ซ้อนกันอย่างน้อย  2  ชั้น  ศิขระหรือส่วนยอดของปราสาทได้หักพังลงมาแล้วแต่ยังคงเหลือชั้นรัดประคดและชั้นอัสดงอยู่รวมทั้งมีนาคปักและกลีบขนุนตามอยู่ตามส่วนยอดอยู่บ้าง
 


 
เรือนธาตุของปราสาทประธานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม  มีประตูทางเข้าทั้ง  4  ทิศ  ซุ้มหน้าบันเหนือประตูทางเข้าด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของปราสาทยังมีลวดลายปูนปั้นหลงเหลืออยู่เช่นเดียวกับบริเวณฐาน



 
พบ 
พระวัชรสัตว์นาคปรก  เป็นพระพุทธรูปนาคปรกทรงเครื่อง  ลักษณะที่พบเหลือเพียงส่วนของพระพักตร์และพระอุระ  ด้านหลังมีแผ่นหินสลักติดเป็นตัวนาคแผ่พังพาน  ถ้าสมบูรณ์จะเป็นพระพุทธรูปนาคปรก  บนฐานพญานาคขด  ปางสมาธิ  เป็นพระวัชรสัตว์ในลัทธิวัชรยานของกัมพูชา  คำว่า  วัชรสัตว์  เป็นพระนามที่เขมรใช้เรียกพระอาทิพุทธะหรือพระมหาไวโรจนะ  พระพุทธเจ้าองค์ที่  6  ของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน  ซึ่งศิลปเขมรนิยมสร้างออกมาในรูปแบบพระพุทธรูปนาคปรก  ปัจจุบันภายในประสาทประธานประดิษฐาน  หลวงพ่อเพชร


















 

ปราสาททิศเหนือ  ก่อด้วยศิลาแลง  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปราสาทประธาน  ปัจจุบันหักพังลงเหลือเพียงผนังปราสาทส่วนด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเท่านั้น  ลักษณะคงเป็นเช่นเดียวกับปราสาทประธานแต่มีขนาดเล็กกว่า  มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก  ส่วนด้านทิศเหนือและใต้เป็นประตูหลอกสลักปิดทึบไว้  2  ชั้น
 
 



พบ 
พระโพธิสัตว์โลเกศวรสี่กร  ในสภาพชำรุดเหลือเพียงส่วนพระวรกายและท่อนแขน 4 ท่อน ทรงภูษาสมพตในศิลปะเขมรแบบบายน ถ้าสมบูรณ์ จะมี  4  กร  กรซ้ายหน้าถือดอกบัว  กรขวาหน้าถือหม้อน้ำ  กรซ้ายหลังถือประคำ  กรขวาหลังถือคัมภีร์ 
 







 






 

ปราสาททิศใต้  ก่อด้วยศิลาแลง  อยู่ทางทิศใต้ของปราสาทประธาน  มีลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทองค์อื่นและคงมีขนาดสูงใหญ่เช่นเดียวกับปราสาททิศเหนือ  โดยยังคงไว้ซึ่งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของส่วนยอดหรือศิขระได้ค่อนข้างสมบูรณ์  ส่วนเรือนธาตุและฐานบางส่วนได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ในสมัยหลัง  มีประตูเข้าทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก  ด้านทิศเหนือและใต้เป็นประตูหลอกปิดทึบ  ที่สันของประตูหลอกปั้นปูนเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัยทั้งสองด้าน  ปัจจุบันชำรุดไปมากเหลือเพียงส่วนโกลนของศิลาแลง


 
 









 
 

ปราสาททิศตะวันตก  ตั้งอยู่ด้านหลังของปราสาทประธานทางด้านทิศตะวันตก  ปัจจุบันอยู่ในสภาพพังทลายลงมาเกือบหมด  เหลือเพียงผนังทางด้านทิศเหนือและส่วนฐานซึ่งมีความสูงกว่าปราสาททุกองค์เท่านั้น ลักษณะคล้ายกับปราสาททางด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ส่วนด้านทิศเหนือและใต้เป็นประตูหลอก



 
 
พบ 
พระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมี  ตรงบริเวณปราสาททิศตะวันตก  ลักษณะประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวรเปล่งรัศมีที่พบทำจากวัสดุศิลาทรายขาว  วรกายชำรุดหักพังในส่วนศีรษะ  แขน  และขา  แต่ยังคงพบศีรษะในบริเวณใกล้เคียงอยู่ ลวดลายบริเวณพระวรกายท่อนบนตรงบริเวณพระอุระปรากฏพระพุทธรูปปางสมาธิองค์เล็กประดับเรียงเป็นแถว  ถ้าสมบูรณ์ จะมี 8 พระกร มีพระพุทธรูปปางสมาธิประดับเหนือกระบังหน้า สวมพระธำมรงค์ที่มีหัวเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่นิ้วพระบาททั้งสิบ อันแสดงถึงภาวะเหนือพระพุทธเจ้าทั้งปวง









 
 


เนื่องจาก 
ปราสาทวัดกำแพงแลง  ก่อสร้างด้วยศิลาแลง  ซึ่งคุณสมบัติของศิลาแลงจะมีความแข็งแต่มีรูพรุนไม่สามารถแกะสลักได้  ดังนั้นเมื่อมีการสร้างเสร็จจะมีการฉาบปูนทั่วทั้งปราสาทประมาณสองรอบเมื่อฉาบปูนเสร็จก็จะมีการทำลวดลายต่างๆ ด้วยปูนปั้นประดับตามตัวปราสาท   ซึ่งจากการศึกษาของเหล่านักวิชาการนั้นพบว่าร่องรอยลวดลายที่ปรากฏอยู่บนตัวปราสาทนั้นเป็นลวดลายคล้ายกับศิลปะเขมรแบบบายน  (พ.ศ. 1720 - 1733)  ลวดลายปูนปั้นนั้นพบที่ปราสาทองค์กลางมากที่สุดและยังมีหลงเหลือที่ปราสาททิศใต้อีกเล็กน้อย ลักษณะลวดลายมีดังต่อไปนี้
 
 




ลวดลายปูนปั้นปราสาทองค์กลาง
 


 
พบอยู่บริเวณด้านหลังของปราสาท  ลวดลายที่เหลืออยู่  คือ  บริเวณหน้าบัน  บริเวณลายลวดบัวหัวเสา  บัวผนังเชิง  และกลีบขนุน  จากลวดลายข้างต้นสามารถนำมาเปรียบเทียบกับลวดลายจากปราสาทบายนสร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7  (มีอายุเวลาในช่วง พ.ศ. 1720 - 1773)  โดยสามารถนำมาเปรียบเทียบลวดลายได้ดังนี้
 



จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของลวดลายนั้นเหมือนกับที่พบที่ปราสาทบายน  เห็นได้ชัดจากส่วนของใบระกา ลักษณะเป็นปลายแหลมสอบขึ้นแต่เนื่องจากฝีมือช่างของปราสาทแห่งนี้เป็นฝีมือช่างพื้นบ้านจึงอาจมีลักษณะที่ต่างออกไป  นอกจากนี้ปลายหน้าบันยังเป็นรูปพญานาค  5  เศียร  สวมกระบังหน้า ซึ่งเป็นอิทธิพลในช่วงปลายศิลปะสมัยนครวัดที่ยังคงส่งอิทธิพลต่อศิลปะสมัยบายน  แต่ที่ปราสาทกำแพงแลงแห่งนี้ฝีมือช่างอาจต่างกันเนื่องจากเป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 
วัดกำแพงแลง – วิกิพีเดีย

 

วัดกำแพงแลง – ชิลไปไหน

 

วัดกำแพงแลง – สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร


 
 

 


 



Create Date : 26 พฤษภาคม 2566
Last Update : 26 พฤษภาคม 2566 12:30:16 น.
Counter : 931 Pageviews.

12 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณกะว่าก๋า, คุณปัญญา Dh, คุณnonnoiGiwGiw, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณtoor36, คุณhaiku, คุณสองแผ่นดิน, คุณหอมกร, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณNENE77, คุณSweet_pills, คุณnewyorknurse, คุณmariabamboo, คุณJohnV, คุณ**mp5**

  
ชอบภาพที่มีดอกลาละ สวยดีค่ะ

โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 26 พฤษภาคม 2566 เวลา:14:09:41 น.
  
*** ดอกสาละ
โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 26 พฤษภาคม 2566 เวลา:14:10:12 น.
  
ศิลปะขอมมีความงดงามมาก
ขนาดไม่ค่อยเหลือลวดลายตกแต่งแล้ว
โครงสร้างก็ยังสวยเลยครับ

ผมเพิ่งกลับมาจากโรงพยาบาลครับ
คิดว่าเป็นลองโควิด
แต่คุณหมอบอกว่าเป็นไซนัสอักเสบ
แล้วก็เกิดจากการเป็นโควิดนี่ล่ะครับ
กินยาฆ่าเชื้อต่อครับ

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 26 พฤษภาคม 2566 เวลา:15:11:56 น.
  
ขอบคุณที่พาไปเที่ยวนะคุณบอล

โดย: หอมกร วันที่: 26 พฤษภาคม 2566 เวลา:15:23:49 น.
  
ตั้งแต่เรียบจบมายังไม่ได้กำแพงเพชรเลย
คิดถึงตอนรับน้องที่น้ำตกคลองลานอ่า
โดย: nonnoiGiwGiw วันที่: 26 พฤษภาคม 2566 เวลา:17:32:31 น.
  
ยังไม่เคยไปน้ำตกชาติตระกาลเลย
ของรุ่นเค้ามีขึ้นเขาหลวงกับน้ำตกคลองลานนี่แหละ 55
โดย: nonnoiGiwGiw วันที่: 26 พฤษภาคม 2566 เวลา:20:20:13 น.
  
อ่าวต้องเจาะด้งยหรอ..เราก็ไม่ได้เจาะเลยนะ555
โดย: nonnoiGiwGiw วันที่: 26 พฤษภาคม 2566 เวลา:20:26:27 น.
  
ตามเที่ยว ไหว้พระด้วยครับ
โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 26 พฤษภาคม 2566 เวลา:23:35:26 น.
  

อรุณสวัสดิ์ครับคุณบอล

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 27 พฤษภาคม 2566 เวลา:5:24:28 น.
  
ตามมาเที่ยวด้วยค่ะ ปราสาทยังดูสมบูรณ์สวยงาม

โดย: NENE77 วันที่: 27 พฤษภาคม 2566 เวลา:21:01:15 น.
  
ไม่ค่อยได้เที่ยวเพชรบุรีนอกจากขึ้นเขาวังค่ะคุณบอล
โบราณสถานเก่าแก่และงดงามอย่างวัดกำแพงแลงอยู่ในจังหวัดนี้ด้วย
ขอบคุณคุณบอลที่พาเที่ยวนะคะ
ภาพสวยมากค่ะ

โดย: Sweet_pills วันที่: 28 พฤษภาคม 2566 เวลา:0:18:38 น.
  
แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจครับ
โดย: **mp5** วันที่: 29 พฤษภาคม 2566 เวลา:9:36:29 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทนายอ้วน
Location :
นนทบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 156 คน [?]