ขอมีส่วนช่วยเด็กพิเศษ
Group Blog
 
 
กันยายน 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
28 กันยายน 2551
 
All Blogs
 
เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology)


 เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก  (Assistive Technology)


 เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก
หมายถึง เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาขึ้นหรือดัดแปลงจากที่มีอยู่เดิม
นำมาผลิตเป็นอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่
เพื่อนำมาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้พิการให้สามารถทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ
ในชีวิตประจำวันได้แบบพึ่งพิงตัวเอง(Independent living)
หรือพึ่งพิงผู้อื่นน้อยที่สุด  และมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่ 
ทั้งนี้ครอบคลุมไปถึงการให้บริการ การประยุกต์ใช้ 
และการนำไปปฏิบัติเพื่อลดอุปสรรคในการทำกิจกรรมของผู้พิการ

 
กฎหมายสาธารณะของสหรัฐอเมริกา [Public Law (PL)] ว่าด้วยเรื่อง Technology
Related Assistance for Individuals with Disabilities Act (Tech Act) และ
Individuals with Disabilities Education Act (IDEA) ได้ให้คำจัดความของ
อุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology Device)
และการบริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology Service)
ดังนี้



อุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก 


หมายถึง
"อุปกรณ์ต่างๆ ชิ้นส่วนของอุปกรณ์  หรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งวางจำหน่ายทั่วไป 
ดัดแปลง  หรือผลิตขึ้นมาเฉพาะบุคค  เพื่อนำมาใช้ในการเพิ่มเติม 
ดูแลรักษา  หรือพัฒนาความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ
ของผู้พิการที่ใช้อุปกรณ์นั้น ๆ"
ซึ่งอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกนี้หมายรวมถึงเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน
(Low Technology) ไปจนถึงเทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology)



การบริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก 


หมายถึง "การให้บริการใด
ๆ ก็ตามที่ช่วยเหลือผู้พิการโดยตรง ในการเลือก การจัดหา การหาความรู้
และการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก"
การให้บริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกรวมไปถึง



  1. การตรวจประเมินถึงความต้องการจำเป็นของผู้พิการแต่ละคน
    ซึ่งรวมไปถึงการประเมินความสามารถหรือศักยภาพในการทำงานในสิ่งแวดล้อมเฉพาะของแต่ละบุคคล 

  2. การซื้อ การเช่า หรือการจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับผู้พิการแต่ละบุคคล

  3. การเลือก
    การออกแบบ การผลิตอุปกรณ์เฉพาะบุคคล การปรับแต่ง
    และการประยุกต์ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับผู้พิการแต่ละบุคคล
    ตลอดจนการบำรุงรักษา  การซ่อมแซม และการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เหมาะสม 

  4. การประสานงานและการหาความร่วมมือในการให้บริการอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้รักษา
    นักวิชาชีพ ผู้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น หรือบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

  5. การฝึกหรือให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ
    ในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการแต่ละบุคคล
    หรือครอบครัวของผู้พิการ  หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ
    รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ
    ทั้งผู้ที่ให้บริการด้านการศึกษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้พิการ
    นายจ้างหรือหรือบุคคลอื่นๆ ซึ่งทำหน้าที่ให้การบริการ การจ้างงาน
    หรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตส่วนใหญ่ของผู้พิการแต่ละบุคคล


ประเภทของเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก


อุปกรณ์ช่วยในการดำรงชีวิตประจำวัน (Aids for Daily Living)


อุปกรณ์ช่วยเหลือตนเอง
( Self help aids ) ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ได้แก่
อุปกรณ์ช่วยในการรับประทานอาหาร การอาบน้ำ การทำอาหาร การแต่งตัว
การขับถ่าย การทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น


การสื่อสารเสริมและทางเลือกอื่น (Augmentative and  Alternative Communication: AAC)


อุปกรณ์ต่างๆ
ทั้งที่เป็นระบบที่ใช้และไม่ใช้อิเล็กทรอนิกส์
ที่จัดทำหรือพัฒนาขึ้นมาเพื่อนำมาใช้สำหรับเสริมหรือทดแทนการติดต่อสื่อสารด้วยการพูด 
ทั้งในด้าน  การแสดงออก และการรับข้อมูลสำหรับบุคคลต่าง ๆ
ที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร


การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ (Computer Access)


อุปกรณ์/โปรแกรมต่างๆ
ที่ดัดแปลง ปรับปรุง หรือพัฒนาขึ้นมาเฉพาะ
เพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้
ทั้งการป้อนข้อมูลและการแสดงผลข้อมูล เช่น เมาส์และคีย์บอร์ดแบบพิเศษ
แป้นคีย์บอร์ดที่แสดงผลเป็นอักษรเบรลล์ โปรแกรมสังเคราะห์เสียง เป็นต้น


ระบบควบคุมสิ่งแวดล้อม (Environment Control Systems)


เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้บุคคลที่มีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว
สามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบรักษาความปลอดภัย ฯลฯ
ที่อยู่ในห้อง บ้าน หรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้ด้วยตนเอง เช่น การเปิด-ปิดไฟ
การควบคุมการทำงานของโทรทัศน์


การดัดแปลงบ้านหรือสถานที่ทำงาน (Home/Worksite Modifications)


เป็นการดัดแปลงโครงสร้าง
หรือการสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นในบ้าน สถานที่ทำงาน หรือในพื้นที่อื่นๆ เช่น
ทางลาด ลิฟต์ การปรับเปลี่ยนห้องน้ำ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็นการโยกย้าย
หรือการลดอุปสรรคทางกายต่าง ๆ สำหรับผู้พิการแต่ละประเภท


กายอุปกรณ์เทียมและกายอุปกรณ์เสริม (Prosthesis and Orthosis) 


เป็นการแทนที่
การทำหน้าที่แทน หรือการเสริมส่วนที่ขาดหายไป
หรือเสริมการทำงานที่ผิดปกติของส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ด้วยการใช้กายอุปกรณ์เทียมต่างๆ เช่น แขนขาเทียม หรือกายอุปกรณ์เสริมอื่น
เช่น อุปกรณ์ประคองเท้า/ข้อเท้า อุปกรณ์ประคองแขน
นอกจากนี้ยังมีกายอุปกรณ์เทียมที่ช่วยผู้ซึ่งมีความบกพร่องหรือมีข้อจำกัดทางการรับรู้
ซึ่งรวมถึงเทปที่ใช้ในการรับฟังหรือเพจเจอร์


ที่นั่งและการจัดท่าทาง (Seating and Positioning)


เป็นระบบการจัดความสะดวกสบายบนรถเข็น
(Wheelchair)  หรือที่นั่งต่างๆ  ซึ่งจัดให้ส่วนต่าง ๆ
ของร่างกายไม่ว่าจะเป็นศีรษะ ลำตัว แขนขา
ให้อยู่ในท่าทางที่เหมาะสมและถูกต้อง เพื่อเป็นการลดแรงกดผิวหนัง 
หรืออาการเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือช่วยให้ทรงท่าได้ดีขึ้น เช่น
การเสริมเบาะรองนั่ง การเสริมอุปกรณ์พยุงด้านข้างลำตัว
หรืออุปกรณ์ประคองศีรษะ เป็นต้น นอกจากนี้รวมถึงการจัดท่าทางอื่นๆ
ให้เหมาะสมด้วย เช่น การยืน การนอน เป็นต้น


อุปกรณ์สำหรับช่วยผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น (Aids for Vision Impaired ) 


อุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็นสามารถเห็นภาพต่างๆ
ได้ดีขึ้น หรือสามารถรับรู้ข้อมูลต่างๆ แทนการเห็น ได้แก่
อุปกรณ์ช่วยในการขยาย (แว่นขยาย กล้องส่องทางไกล ฯลฯ)
อุปกรณ์ที่แสดงผลเป็นอักษรเบรลล์ หรือเสียง หรือตัวอักษรขนาดใหญ่
เครื่องโทรทัศน์วงจรปิดสำหรับการขยายตัวอักษร/ภาพบนเอกสาร เป็นต้น


อุปกรณ์สำหรับช่วยผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน (Aids for Hearing Impaired)


อุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถรับฟังเสียงได้ดีขึ้น
หรือสามารถรับรู้ข้อมูลต่างๆ แทนการได้ยินเสียง ได้แก่ เครื่องช่วยฟัง
อุปกรณ์ช่วยการฟังที่เป็นระบบอินฟราเรด หรือระบบ FM อุปกรณ์ช่วยขยายเสียง
โทรศัพท์ข้อความ ระบบสัญญาณเตือนต่างๆ ทั้งนี้เป็นระบบที่ใช้การมองเห็น
หรือการสัมผัส เป็นต้น


รถเข็น และ อุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อนที่ (Wheelchairs / Mobility Aids)


รถเข็นทั้งที่เป็นระบบที่ใช้มือและใช้อิเล็กทรอนิกส์
(Manual and Electric Wheelchair) เก้าอี้แบบเคลื่อนที่ได้  
เครื่องช่วยเดิน  รถสกูตเตอร์แบบ 3 ล้อ   เครื่องช่วยยกและเคลื่อนย้าย
และยานพาหนะอื่นๆที่ช่วยในการเคลื่อนที่เฉพาะบุคคล


การดัดแปลงยานพาหนะ (Vehicle  Modifications )


ยานพาหนะที่ดัดแปลงเพื่อช่วยให้คนพิการขับเคลื่อนยานพาหนะได้ด้วยตนเอง 
เช่น 
การดัดแปลงอุปกรณ์เพื่อช่วยในการควบคุมยานพาหนะโดยใช้มือแทนการใช้เท้า  
การดัดแปลงรถตู้หรือยานยนต์อื่นๆ  ซึ่งใช้สำหรับการคมนาคมขนส่งผู้พิการ 
เช่น  การติดเครื่องช่วยยกและเคลื่อนย้าย


อุปกรณ์ช่วยด้านการศึกษาและการเรียนรู้  (Academic and Learning Aids)


เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก
ตลอดจนสื่อการเรียนรู้ต่างๆ
ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของนักเรียนพิการให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการทำกิจกรรมต่างๆ
ในโปรแกรมการศึกษาที่จัดขึ้น
ทำให้นักเรียนพิการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการเรียนได้ดีขึ้น
ตัวอย่างเช่น


อุปกรณ์ช่วยการอ่าน (Reading Aids)


เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการอ่านให้แก่นักเรียนพิการที่มีความยากลำบากในการอ่าน
ที่มีทักษะพื้นฐานการอ่านคำและประโยคไม่ดี
มีปัญหาในการรับรู้ข้อมูลสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ผ่านการมอง
อาจทำให้มีความยากลำบากในการสะกดคำ การตัดคำ
หรือบางคนอาจเห็นตัวหนังสือหัวกลับ  เป็นต้น เช่น
นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้  เป็นต้น
อุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกช่วยในการอ่าน เช่น  



  • กรอบบรรทัดช่วยการอ่าน
    (Reading Window) 
    เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยทำให้นักเรียนที่มีความยากลำบากในการกวาดสายตาอ่านคำหรือประโยคในแต่ละบรรทัดที่ติดกัน 
    สามารถใช้กรอบบรรทัดช่วยอ่านแยกบรรทัดของคำหรือประโยคแต่ละบรรทัดที่ติดกันให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น 
    ทำให้สามารถอ่านคำหรือประโยคที่ปรากฎในแต่ละบรรทัดได้ง่ายและสะดวกขึ้น 
    เช่น นักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นที่เห็นเลือนราง  เป็นต้น

  • โปรแกรมประมวลผลคำที่มีเสียงสังเคราะห์
    (Talking word processing program)
    ช่วยให้นักเรียนที่มีความยากลำบากในการรับรู้ข้อมูลจากการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยการมอง
    เปลี่ยนมาใช้การฟังเสียงผ่านโปรแกรมประมวลผลคำที่มีเสียงสังเคราะห์แทน
    โดยเปิดไฟล์ข้อมูลที่ต้องการให้นักรเรียนอ่านผ่านโปรแกรมนี้

  • โปรแกรมประมวลผลคำที่มีภาพประกอบ
    (Graphic-based word processing program)
    เป็นโปรแกรมที่สามารถแสดงผลข้อมูลเป็นภาพและคำประกอบกัน
    ทำให้ง่ายต่อการเริ่มต้นการอ่าน
    ซึ่งการอ่านจากภาพจะทำให้นักเรียนที่มีปัญหาในการรับรู้ข้อมูลจากการอ่านตัวอักษร
    สามารถอ่านคำจากภาพที่เห็นได้ง่ายขึ้น 

  • ปากกาแถบสี 
    ใช้สำหรับลากแถบสีบนคำหรือข้อความสำคัญที่เน้นให้อ่าน
    เพื่อช่วยให้นักเรียนที่มีปัญหาในแยกแยะข้อมูลในการมอง
    สามารถแยกแยะคำที่ต้องอ่านได้ดีขึ้น

  • โปรแกรมอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบมัลติมีเดียระบบเดซี 
    นักเรียนที่มีความบกพร่องในการอ่านหนังสือที่ใช้การมองข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ
    สามารถเปลี่ยนวิธีการรับรู้ข้อมูลผ่านการฟังเสียงประกอบกับข้อความที่ต้องการอ่านผ่านโปรแกรมอ่านหนังสือเสียงอิเล็กทรอนิกส์แบบมัลติมีเดียระบบเดซีได้ง่ายและสะดวกขึ้น
    ซึ่งโปรแกรมนี้สามารถแสดงข้อมูลเป็นทั้งเสียง  ข้อความ และภาพไปพร้อมๆ กัน
    อีกทั้งยังสามารถแสดงแถบสีไปยังคำหรือประโยคที่โปรแกรมกำลังอ่านให้เห็นด้วย
    ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้การอ่านคำและประโยคได้ดีขึ้น


อุปกรณ์ช่วยการสะกดคำ (Spelling Aids) 


เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเขียนสะกดคำให้แก่นักเรียนที่มีความยากลำบากในการเขียน
เนื่องจากมีความบกพร่องในการรับรู้และการวิเคราะห์ข้อมูล
ทำให้มีความยากลำบากในการเขียนสะกดคำ ตัวอย่างเช่น



  • รายการคำศัพท์หรือพจนานุกรมคำศัพท์ (Personal word list or dictionary)

  • โปรแกรมประมวลผลคำที่มีฟังก์ชันเช็คการสะกดคำ 

  • โปรแกรมประมวลผลคำที่มีเสียงสังเคราะห์ร่วมกับมีฟังก์ชันเช็คการสะกดคำ

  • โปรแกรมเดาคำศัพท์


อุปกรณ์ช่วยการเขียน (Writing Aids) 


อุปกรณ์ที่เน้นช่วยกลุ่มนักเรียนพิการที่มีความยากลำบากในการควบคุมการใช้กล้ามเนื้อแขนและมือทั้งสองข้างในการจับอุปกรณ์การเขียนปกติในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเขียน
ตัวอย่างอุปกรณ์ เช่น อุปกรณ์ช่วยจับดินสอหรือปากกา
กรอบบรรทัดสำหรับเขียนข้อความ เครื่องจดบันทึกอิเล็กทรอนิกส์
ตลอดจนการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยพิมพ์แทนการเขียน เป็นต้น


อุปกรณ์ช่วยการคำนวณ (Math Aids) 


สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องในการคำนวณ เช่น เครื่องคิดเลข โปรแกรมที่ช่วยในการคำนวณคณิตศาสตร์ เป็นต้น


อุปกรณ์ช่วยกิจกรรมนันทนาการและเวลาว่าง(Recreation and Leisure Aids)


เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้พิการในการทำกิจกรรมนันทนาการต่างๆ เช่น การเล่นกีฬา การเล่นของเล่นของเด็กพิการ เป็นต้น






Free TextEditor


Create Date : 28 กันยายน 2551
Last Update : 28 กันยายน 2551 16:07:13 น. 7 comments
Counter : 11602 Pageviews.

 
การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกการให้ความช่วยเหลือผู้พิการโดยตรง สำหรับเด็กที่มีความบกบ่ง ดีมากค่ะ


โดย: เพ็ญศิริ ภุชฌงค์ IP: 111.84.129.39 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2553 เวลา:5:05:35 น.  

 
การใช้เทคโนโลยีช่วยสอน ทำให้ครูไม่เหนื่อย


โดย: พนิดา ปัดชา IP: 223.206.19.200 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2553 เวลา:21:46:02 น.  

 
เทคโนโลยีทำให้เด็กมีความกระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้ทำให้เกิดความหลากหลาย


โดย: คำพร โพธิ์อามาตร์ IP: 110.49.193.90 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2553 เวลา:0:06:58 น.  

 
การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเป็นเครื่องมือหรือสื่อในการสอนการจัดการเรียนรู้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษนั้นเป็นสิ่งที่ดีช่วยให้ผู้สอนไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมสื่อการสอนมากช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ให้เร็วขึ้นสะดวกสบาย สื่อเหล่านี้ก็ทำมาโดยเฉพาะกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยตรง


โดย: หทัยทิพย์ อัมหธร IP: 110.49.224.228 วันที่: 22 เมษายน 2555 เวลา:11:06:48 น.  

 
ขอบคุณคราฟ


โดย: จิรายู เจริญลาภ IP: 180.183.208.184 วันที่: 15 กรกฎาคม 2555 เวลา:14:06:18 น.  

 
คิดว่า ถ้าเมืองไทยเรานำเทคโนโลยีที่หลากหลายมาใช้ในการพัฒนาเด้็กที่มีความต้องการพิเศษในด้านต่าง ๆ อย่างจริงจัง คุณภาพชีวิตของคนในประเทศคงจะดีขึ้น


โดย: นางวิไลวรรณ ใจนวน IP: 101.51.253.160 วันที่: 19 สิงหาคม 2555 เวลา:11:48:43 น.  

 
อยากทราบชื่อของ เจ้าของบทความนี้อะคะ


โดย: เอ๋ IP: 203.155.126.237 วันที่: 15 มีนาคม 2559 เวลา:16:05:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

chotirosj
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ขอมีส่วนช่วยเด็กพิเศษ
Friends' blogs
[Add chotirosj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.