งานเขียนหลากลีลา ไพลิน รุ้งรัตน์
จาก...นิตยสารศรีสยามปีที่ 1 ฉบับที่ 8

ประจำวันพฤหัสบดีที่  10  เมษายน  พ.ศ. 2540  (หน้า 18-19)


สัมภาษณ์พิเศษ                    

                          เรื่อง : เอื้องผึ้ง
           ภาพ  : อาณัติ  ตั่นอนุพันธ์



   ง า น เ ขี ย น ห ล า ก ลี ล า  
ไพลิน รุ้งรัตน์

นักเขียนไทยหลายท่านล้วนมีเอกลักษณ์เด่นในงานเขียนแต่ละด้านต่างกันไป บางท่านมีชื่อเขียนนวนิยายยอด หรือเป็นนักเขียนเรื่องสั้นมือเยี่ยม บางท่านได้ชื่อว่าเป็นกวี และบางท่านเป็นนักวิจารณ์หนังสือ ที่มีบทวิจารณ์เข้มข้นเป็นที่ติดตามของบรรดาหนอนหนังสือ

แต่คนรักหนังสือ คนหลงใหลบทกลอนต่างก็รู้กันดีว่า ‘ชมัยภร แสงกระจ่าง’ ซึ่งเป็นชื่อจริงนามสกุลจริงของ ‘ไพลิน รุ้งรัตน์’ หรือ ‘ชมจันทร์’ สามารถผลิตงานเขียนทั้งสามอย่างออกมาได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน

ในฐานะนักกลอน นาม ‘ชมจันทร์’ เป็นที่รู้จักมานับแต่เธอยังเรียนอยู่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์จนกลายเป็นคอลัมนิสต์มีชื่อในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ คอลัมน์ ‘ลมหายใจกวี’ และถึงบัดนี้คอลัมน์ ‘คมคิด คำกวี’ ในนิตยสารศรีสยาม รายสัปดาห์ แน่นอนกำลังใจหลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย

“คอลัมน์คมคิด คำกวี เป็นการให้โอกาสคนที่เขียนงานด้านกวีนิพนธ์ คนที่รักงานเขียนด้านนี้มีเวที โดยไม่จำกัดว่าเป็นฉันทลักษณ์หรือไม่ คือเป็นอะไรก็ได้ เสียงตอบรับตอนนี้ก็เยอะ มีทั้งที่ส่งงานกับตัวดิฉันเอง คือ พอไปเจอในงานเขาก็เอามาใส่ตะกร้าก็มี หรือส่งมาที่ตู้ไปรษณีย์ที่ดิฉันเช่าเอาไว้ซึ่งเขารู้อยู่ก่อนแล้วก็มี มีจดหมายน่ารัก ๆ เยอะค่ะ

“คุมคอลัมน์นี้มีความสุขมากเพราะเป็นงานที่เรารัก ดิฉันเกิดมาก็ได้ยินพ่อพูดเรื่องกลอน ได้ยินพ่อท่องกลอนให้ฟังแต่เล็ก พ่อชอบกลอนเวลาเมาก็ต้องเขียนกลอน ความผูกพันอันนี้อยู่ในใจมานาน แต่เราไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน พอเราได้มาเกี่ยวข้องกับกลอน ดิฉันมีความสุขมาก แต่เป็นความสุขที่อยู่ข้างใน ไม่เหมือนกับเรื่องแต่ง เพราะกลอนนี้มันแวบมาเอง และเวลาดิฉันอ่านจดหมายจะรู้สึกดีมากๆ ที่รู้ว่ามีคนรักกลอนเยอะ แล้วการที่ไปค้นบทกวีมาทำวรรคทอง เราจะรู้สึกว่า เด็กรุ่นหลานไม่เคยอ่าน เดี๋ยวมันจะหายไปแน่ ๆ เลย ดิฉันก็ค้นมาให้ เป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ”

ในบทของนักวิจารณ์ ซึ่งเป็นการเริ่มงานเขียนของไพลิน รุ้งรัตน์ ช่วงแรก ๆ และทำให้นามปากกานี้ถูกกล่าวถึงหลายต่อหลายครั้ง

“ทีแรกดิฉันว่าจะไม่ทำงานด้านวิจารณ์แล้ว เสียเส้นไปหลายรอบ แต่ว่าทีนี้ที่ยังต้องเขียนอยู่ก็เพราะพี่ที่เป็น บ.ก.อาวุโส ในหนังสือพิมพ์บ้านเมืองขอร้องให้เขียน เลยเขียนคอลัมน์ที่มันสบาย ๆ สำหรับคนอ่านหนังสือ ทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นคอลัมน์อ่านหนังสืออะไรดีนะ ไม่ได้เขียนแบบจริงจัง เป็นภาษาวิชาการ เป็นการเขียนจดหมายถึงนักเขียนหรือนักอ่านหรือใครก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ ที่เราเขียนถึงมันก็จะเบา ๆ ตอนแรกที่ไปเขียนนี่ก็จะเขียนอย่างสบายอกสบายใจ ตอนหลังเจอใครเขาก็บอกอ่านที่คอลัมน์นี้ ตอนนี้ดิฉันรู้สึกกลัว ๆ คือ ดิฉันเป็นโรคกลัวว่า เขาไม่ชอบให้วิจารณ์ แต่ว่าเราอยากเขียนถึงหนังสือเล่มนั้นก็อยาก

“งานวิจารณ์เป็นความอยากบอก พอเราอ่านแล้ว เราอยากบอกว่าหนังสือเล่มนี้ดีนะ มันเป็นความอยาก ซึ่งเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง อยากพูด พอพูดไม่ได้ก็จะอึดอัด ถ้าดิฉันไม่ได้ทำบทวิจารณ์ในส่วนที่เราอยากทำ ก็เสียดาย เพราะอยากพูดถึง”

สำหรับเรื่องแต่งที่ต้องใช้จินตนาการสรรค์สร้าง ก่อนหน้านั้น ชมัยภร แสงกระจ่าง มีงานเขียนเรื่องสั้นรวมเล่มแล้วหลายเล่มด้วยกัน ส่วนงานเขียนนวนิยาย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเพิ่งเริ่ม แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่งดงาม เธอเล่าให้ฟังว่า

“เริ่มเขียนนวนิยายมาได้สัก 2-3 ปี แต่จริง ๆ แล้วเคยเขียนมาก่อนแล้ว สักปี 2521  เขียนมาเรื่องหนึ่ง แต่เป็นแบบเรื่องสั้นๆ เขียนด้วยความอยากที่มีอยู่ดั้งเดิม คือ เด็ก ๆ เราเป็นคนชอบอ่านนวนิยาย เพราะฉะนั้นก็อยากเขียน แต่ทีนี้พอการเขียนไปเริ่มที่การวิจารณ์ คือไม่ได้เริ่มที่นวนิยายทั้งที่อยากเขียน เรื่องสั้นที่เขียนก็ไม่ได้ต่อเนื่อง พอเริ่มวิจารณ์คนก็ไปรู้จักไพลิน รุ้งรัตน์ กันหมด ในฐานะที่เป็นนักวิจารณ์ เมื่อมีโอกาสได้มีเวลาเขียนนวนิยายเรื่องแรกที่เขียนคือ เรื่อง บันทึกจากลูกผู้ชาย อันนี้นับมาแต่ปี 2521-2522 เขียนเพราะว่าฟังลูกเล่าเรื่องมาก รู้สึกว่าอยากจะถ่ายทอดสิ่งที่เขาเล่าผูกเป็นเรื่อง แสดงความเห็นใจ เข้าอกเข้าใจเด็กวัยรุ่น โดยเขียนเป็นตอน ๆ ซึ่งจบในตอน แต่ว่าพอเอามารวมกันแล้วก็เป็นนวนิยายขนาดสั้นได้อันนั้นเป็นเรื่องแรก

“ต่อมาถูกยุให้เขียนนวนิยายโดย บ.ก.สกุลไทย คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ ซึ่งสังเกตดูว่าดิฉันเป็นคนพูดตลก ๆ ลองเขียนเรื่องตลกดูซิ ลองเขียนมาซิเรื่องสนุก ๆ เห็นเล่าเหลือเกิน ดิฉันเลยเขียนเรื่องบ้านไร่เรือนตะวัน กลายเป็นเรื่องออกมา ซึ่งก็ยังงง ๆ ว่าทำไมมีคนคิดว่าชมัยภร เป็นคนตลก ๆ ไปได้ จากนั้นเขียนอีกสองเรื่อง คนก็จะงง เพราะว่าเรื่องมันหนักขึ้น ในขวัญเรือนที่เป็นเรื่องของสามสาว (จดหมายถึงดวงดาว) ต้นเรื่องจะเศร้า ตอนนี้ไม่เศร้าแล้วเพราะมีคนข่มขู่ว่าถ้าเธอทำให้เศร้าทั้งเรื่องจะไม่อ่าน”

เพราะงานเขียนนวนิยายดูเป็นงานที่หนักไม่น้อย เธอบอกว่า ยังไม่เชี่ยวชาญงานเขียนพอที่จะเขียนเรื่องยาวหลายๆ เรื่องในคราวเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องจำกัดตัวเองไว้ที่การเขียนทีละสองเรื่องเท่านั้น และด้วยงานเขียนเป็นงานที่ต้องอิงเรื่องจริงบ้างประกอบกับจินตนาการของผู้เขียนพาไป เรื่องต่อไปที่จะเขียนเธอมีโครงเรื่องอยู่ในใจแล้ว และที่มานั้นน่าประทับใจเหลือเกิน

“สำหรับโครงการต่อไปคิดไว้ว่าจะเขียนคือเรื่องป่า เพราะว่าไปดูคน ไปดูสถานที่ ไปสัมผัสชีวิตมาแล้ว คือตอนที่เริ่มเขียนนวนิยายเรื่อง  ‘อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ...ที่รัก’  เป็นเรื่องที่หมอซึ่งเป็นพระเอกไม่ชอบอ่านหนังสือ แล้วไปเจอบรรณารักษ์ที่ชอบอ่านหนังสือ บรรณารักษ์ก็ให้หนังสืออ่านมาเรื่อย ๆ หมอก็อ่านไปเรื่อย ๆ ในที่สุดเรียกว่าหมอก็ชอบอ่านหนังสือไปเลย เรื่องก็แฮปปี้เอ็นดิ้ง ในเรื่องนี้นี่ มีน้องคนหนึ่งที่อยู่ในป่า เป็นพนักงานป่าไม้เขาได้อ่านจากที่แฟนเขาส่งให้ เขาชอบมาก เขาเลยแต่งเพลงเกี่ยวกับตัวละครมาประมาณแปดเพลง แล้วร้องใส่เทปมาให้ดิฉันฟัง เราก็ตื่นเต้นกันใหญ่ น่ารักมาก เลยนัดเขา แล้วไปดูที่ที่เขาอยู่ ที่ภูเขียว ดิฉันไปดูมาเรียบร้อย เลยว่าจะเขียนเรื่องป่าเป็นเรื่องต่อไป แต่คงต้องไปอีกหลายครั้ง ไปครั้งแรกนี่ประทับใจมาก”

แม้จะทำงานทั้งสามอย่างไปพร้อม ๆ กัน แต่ก็เป็นงานที่ทำไปด้วยความรักคนละแบบ แต่ถ้าจะให้เลือกถึงความสุขระหว่างการเขียนแล้ว เธอบอกว่า เธอเลือกที่จะเขียนเรื่องแต่ง

“ถ้าให้เทียบระหว่างสามงาน คือเขียนแล้วมีความสุขที่สุด รู้สึกอยากเขียน จะเป็นเรื่องแต่ง ทั้งเรื่องสั้น และนวนิยาย เพราะว่าเรื่องแต่งนี้มีตัวละครทำให้เรามีความรู้สึกอยากไปค้นหา ว่าตัวละครจะไปไหนต่อไป มีคนถามถึงนวนิยายเรื่องล่าสุด ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กที่ไม่รู้ว่า ตัวเองเป็นลูกใคร เพราะแม่ของเขาเอามาใส่มือคนแก่ไว้เฉย ๆ แล้วไปเลย คนอ่านถามดิฉันว่า แล้วตกลงรู้ไหมว่าตอนจบเป็นลูกใคร ดิฉันตอบว่า ไม่รู้จริง ๆ ว่าเป็นลูกใครเพราะในสังคมเรานี้มันไม่มีคำตอบไปตลอดชีวิตหรอก บางอย่างก็ตอบได้ บางอย่างก็ตอบไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรู้หมดทุกเรื่อง รู้เท่าที่เราสมควรรู้ มันสนุกตรงนี้ ตรงที่ต้องค้นหา”

และคนอ่านก็คงรู้สึกสนุกตรงนี้ ตรงที่ได้ค้นหาสิ่งที่นักเขียนซ่อนเอาไว้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมนักเขียนถึงเป็นขวัญใจผู้อ่านได้ไม่ยากนัก




Create Date : 17 ธันวาคม 2556
Last Update : 17 ธันวาคม 2556 20:59:12 น.
Counter : 6642 Pageviews.

2 comments
  
แวะเข้ามาสวัสดีปีใหม่ค่ะ


โดย: มาโซคิส วันที่: 1 มกราคม 2557 เวลา:20:37:42 น.
  
คุณได้ทำการแปะ ให้กับคุณ พ ชมภัค เรียบร้อยแล้วนะคะ

คุณเหลือ อีก 4 ดวง สำหรับวันนี้ค่ะ
โดย: มาโซคิส วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา:10:14:07 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ ชมภัค
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



เป็นคน...ยาก
ยากเป็น...คน
คน...เป็นยาก

โดยเฉพาะถ้าคิดจะบรรลุจุดมุ่งหมาย
...ยากยิ่งกว่ายาก

หนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ล้วนจำเป็นต้องเสียสละ เสียสละ...และเสียสละ

--------------------พระสนมเฉียนเฟย-----------


** ** ** ** **

อย่าได้คิดจะยอมแพ้และละทิ้งไปง่าย ๆ แบบนี้...

ก็อย่างที่ฉันบอกนั่นแหละ

ถ้าไขว่คว้าความฝันนี้ไม่ได้...
ก็เปลี่ยนเป็นความฝันอื่นเสียก็สิ้นเรื่อง

ยิ้มสักครั้งสิ ความสำเร็จ ชื่อเสียงไม่ใช่ปลายทาง

ทำให้ตัวเองมีความสุขต่างหาก... ถึงจะเรียกว่าคุณค่าและความหมาย

....ไม่ต้องกลัวหัวใจจะแหลกสลาย....

----------------โจว เจี๋ยหลุน (Jay Chou)-------
ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
MY VIP Friends