ในความเป็น...มาลา คำจันทร์
จาก...นิตยสารศรีสยามปีที่ 1 ฉบับที่ 14

ประจำวันพฤหัสบดีที่  13  มีนาคม  พ.ศ. 2540  (หน้า 18-19)


สัมภาษณ์พิเศษ         

                              มุติ




หลายคนอาจเริ่มรู้จักชื่อของ มาลา คำจันทร์ เนื่องเพราะรางวัลซีไรต์ที่ได้รับจากเรื่อง ‘เจ้าจันทร์ผมหอม’ ซึ่งในช่วงเวลานั้นค่อนข้างจะสร้างทั้งความสนใจและแปลกใจอยู่ไม่น้อย ด้วยหลายกระแสเสียงที่กล่าวถึงเนื้องานมักว่าภาษาของเขาแปลก ยากนักต่อการเข้าใจได้ถ่องแท้

และเมื่อวันเวลาผ่านไปกระแสเสียงนั้นจึงสรุปว่างานเขียนส่วนใหญ่ของ มาลา คำจันทร์ โดดเด่นอยู่ที่การใช้ภาษาที่ไม่เหมือนใคร จนอาจเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของนักเขียนผู้นี้ก็ว่าได้--

“ใคร ๆ เขาก็ว่าอย่างนั้นนะ คือมันออกมาเป็นอย่างนั้นเอง ไม่ได้ตั้งใจเพราะเราโตมากับภาษาแบบนั้น แต่มันก็ไม่ได้ตัดขาดโดยสิ้นเชิงกับภาษาไทยกลาง ก็เลยลำบากหน่อย เวลาคิดเวลาเขียนอะไรออกมาก็เป็นภาษาพื้นบ้านทั้ง ๆ ที่พยายามจะเบรกตัวเองอยู่ เหมือนกับว่าผมเติบโตมากับความเป็นพื้นบ้าน อย่างเวลาได้ยินเสียงเพลงแทนที่เราอยากจะเต้น จะดิ้นส่าย แต่กลับกลายเป็นฟ้อนแบบบ้านเรา ห้ามไม่ได้ พยายามจะดัดก็ดัดไม่ไป งานก็คงจะเป็นอย่างนี้ พยายามจะฝืนตัวเองเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยราบรื่น ประดักประเดิด เหมือนไม่ใช่เรา เป็นอะไรก็ไม่รู้

“...ส่วนคำวิจารณ์ ตลอดมานี่ก็แทบจะไม่มีผลอะไร จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่นะ แต่ผมก็เป็นผมเอง ตรงไหนเห็นด้วยกับเขา ก็เออออ ใช่นะมันอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องหน้าจะได้ไม่แสดงข้ออ่อนด้อยอย่างนี้ออกมาอีก แต่ถ้าตรงไหนเราไม่เห็นด้วยก็ผ่านไปเฉย ๆ แต่ผมก็ขอบคุณนักวิจารณ์นะว่าเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เราเห็นภาพตัวเอง”

ปัจจุบัน มาลา คำจันทร์ ใช้ชีวิตนักเขียนอิสระอย่างสมถะอยู่ ณเมืองเหนือ ในจังหวัดซึ่งใครหลายคนใฝ่ฝันถึงอย่างเชียงใหม่

“ช่วงนี้ผมก็เขียนหนังสืออย่างเดียว ชีวิตที่นี่สงบสุขดีมากครับ สิ่งแวดล้อมที่บ้านก็เอื้อต่อการเขียนหนังสือมาก จะนั่งเขียนทั้งวันก็ได้ แต่ส่วนมากผมจะทำงานตั้งแต่ตีสามถึงหกโมงเช้า หลังจากนั้นร่างกายจะล้าต้องพักผ่อน นอนบ้างอ่านหนังสือบ้าง สาย ๆ ก็จะงีบสักพัก หรือไม่ก็เที่ยวป่าเที่ยวเขา”




และเมื่อถามถึงนวนิยายเรื่อง ไพรอำพราง ที่มานั้นกลับไม่ได้มาจากป่าเขาเพียงประการเดียวอย่างที่เข้าใจ เขาเล่าว่า

“แรกสุดก็สงสัยเกี่ยวกับเรื่องโรคฝีดาษ ไข้ทรพิษที่ระบาดในสมัยนั้น คือเราเกิดไม่ทัน แต่ก็สงสัยว่าทำไมมันร้ายกาจรุนแรงขนาดนั้น เลยไปค้นคว้าศึกษาจากเรื่องไข้ทรพิษ ทีนี้จากความสนใจตรงนี้ก็ขยายกว้างออกไปอีก เกี่ยวกับชีวิตชาวบ้านป่าเขาสมัยนั้น เขามีความเป็นอยู่กันอย่างไร ทีนี้พอเกิดแรงบันดาลใจจากจุดนี้ เมื่อกลายเป็นไพรอำพราง ก็แทบไม่เหลือเค้าของแรงบันดาลใจเดิม

“คือที่เปลี่ยนก็เพราะ จากจุดบันดาลใจมันทำให้เรา...ก็เหมือนจุดเริ่มต้นของการระเบิด พอมันระเบิดออกไป เราก็ยังควบคุมทิศทางของพลังงานไม่ได้ พอมันเบิกกว้างออกไปมาก ๆ เราก็หากรอบไปใส่ ว่าเราอาตรงนี้ ๆ มาสร้างเป็นเรื่องดีกว่า อย่างไพรอำพรางนี่ จากจุดแรกที่สนใจเรื่องไข้ทรพิษหรือฝีดาษ เมื่อสมัย 70-80  ปีก่อนก็เลยเริ่มเอามาเขียน จนกลายเป็นว่าเราแสดงถึงวิถีชีวิตของคนสมัยนั้น ในเรื่องของความเชื่อ ความล้าหลัง อะไรต่าง ๆ ดีกว่า”

ความเป็นนักเขียนแม้จะผ่านงานเขียนมามากมาย ก็มักอยากทดลองคิดทดลองเขียนเรื่องในแนวอื่นหากเป็นไปได้ สำหรับ มาลา คำจันทร์ เองก็เช่นกัน นอกเหนือจากงานแนวสะท้อนวิถีชีวิตพื้นบ้าน ความรู้สึกนึกคิดแล้ว...

 “อยากเขียนนิยายที่ไม่อิงพล็อต คือไม่ต้องอาศัยเหตุการณ์สำคัญที่ฟาดฟันต่อเนื่องกัน หรือปะทุอารมณ์ อยากเขียนถึงสังคมวิทยาชนบท ในยุคสมัยปัจจุบันที่อะไรต่าง ๆ ประดังประเดเข้ามา และความเป็นชนบทจะต้านไหวหรือไม่ จะทรงตัวอยู่ในสภาพอย่างไร อยากเขียนนะ แต่เข้าใจว่ามันคงไม่มีจุดดึงดูดอะไร ก็ยังพยายามที่จะเอามาผสมผสาน ทำอย่างไรจึงจะน่าสนใจจุดนี้ยังคิดกับมันไม่ลงตัว

“...ทุกวันนี้ยังรักที่จะเขียนนิยายอยู่นะ งานอื่น ๆ ก็รัก แต่รักไม่เท่า ความสุขของเราอยู่ตรงนี้มากกว่า คิดว่าจะเขียนไปเรื่อย ๆ จนกว่าวันหนึ่งคนอ่านจะบอกว่า-ลุง พอเถอะ ก็คงจะต้องวาง แก่ตัวลงอีกหน่อยอยากบวช คือเป็นความคิดฝันตั้งแต่สมัยเด็ก ๆว่าอยากเป็นนักเขียนแล้วก็บวช...อาจจะเป็นแบบเพ้อฝัน

“คือความตั้งใจอยากจะธุดงค์ไปเรื่อย ๆเข้าป่าแล้วก็หายไปเลย ที่คิดอย่างนี้อาจจะเป็นเพราะ แต่ก่อนที่ช่วงเหตุการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบ ยังมีพรรคคอมมิวนิสต์ ผมก็อยากเข้าป่า แต่ก็กลัวว่าไปอย่างนี้จะไม่ปลอดภัย ถ้าห่มผ้าเหลืองไปคงปลอดภัยกว่า...อยากจะอยู่กับป่าเขาลำเนาไพร อยากใช้ชีวิตที่สุขสงบ ตายเมื่อไหร่--ช่างมัน

“ตอนนี้ก็อ่านหนังสือธรรมะไปเรื่อย ๆไม่ได้ไปวัดไปวาอะไรหรอก เห็นหนังสือธรรมะก็อ่านทุกเล่มเท่าที่จะพบ ส่วนใหญ่จะสนใจงานเชิงความคิดที่บอกกล่าวเรื่องราวความคิดของคนประวัติศาสตร์ หลาย ๆ คนที่ผมอ่านก็เช่น งานของกลุ่มนักคิดของพวกอินเดียนแดง เผ่านั้นเผ่านี้ของทิเบต งานไทยก็อ่านของท่านธรรมปิฎก พุทธทาส อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

“ผมว่างานเหล่านี้ตอบคำถามบางคำถามที่เราแสวงหามาตลอดแล้วไม่พบ ก็มาพบในงานเหล่านี้ ความฉงนฉงายต่อความเป็นมนุษย์ ความมืดดำก่อนกำเนิด เราหาคำตอบไม่เจอในงานอื่นๆ ก็เรียกว่าสามารถสนองตอบความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่ลึกลับมืดมนแก่เราได้”

เมื่อมนุษย์ผจญชีวิตมาถึงจุด ๆ หนึ่งมักมองเห็นการดิ้นรน แสวงหา หรือเสพสุขคือความว่างเปล่าไร้แก่นสาร--หาใช่ความต้องการที่แท้จริง เพราะคนเราจะสุขอย่างอิ่มเอมได้ก็เพียงแค่มีคำตอบว่า ‘พอ’ อยู่ในจิตใจ





Create Date : 09 ธันวาคม 2556
Last Update : 9 ธันวาคม 2556 20:31:00 น.
Counter : 3154 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ ชมภัค
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



เป็นคน...ยาก
ยากเป็น...คน
คน...เป็นยาก

โดยเฉพาะถ้าคิดจะบรรลุจุดมุ่งหมาย
...ยากยิ่งกว่ายาก

หนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ล้วนจำเป็นต้องเสียสละ เสียสละ...และเสียสละ

--------------------พระสนมเฉียนเฟย-----------


** ** ** ** **

อย่าได้คิดจะยอมแพ้และละทิ้งไปง่าย ๆ แบบนี้...

ก็อย่างที่ฉันบอกนั่นแหละ

ถ้าไขว่คว้าความฝันนี้ไม่ได้...
ก็เปลี่ยนเป็นความฝันอื่นเสียก็สิ้นเรื่อง

ยิ้มสักครั้งสิ ความสำเร็จ ชื่อเสียงไม่ใช่ปลายทาง

ทำให้ตัวเองมีความสุขต่างหาก... ถึงจะเรียกว่าคุณค่าและความหมาย

....ไม่ต้องกลัวหัวใจจะแหลกสลาย....

----------------โจว เจี๋ยหลุน (Jay Chou)-------
ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
MY VIP Friends