จินตนาการข้ามขอบฟ้า...ประภัสสร เสวิกุล
จาก...นิตยสารศรีสยามปีที่ 1 ฉบับที่ 13

ประจำวันพฤหัสบดีที่ 6  มีนาคม  พ.ศ. 2540  (หน้า 18-19)


สัมภาษณ์พิเศษ         

                             มุติ






จินตนาการข้ามขอบฟ้า


เวลาในขวดแก้ว....ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน....ขอให้รักเรานั้นนิรันดร....ลอดลายมังกร........  ชี้ค....หิมาลายัน และอีกมากมายที่ยังอยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน ล้วนถ่ายทอดผ่านปลายปากกาของนักเขียนท่านนี้...ประภัสสร เสวิกุล

และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าประภัสสร เสวิกุล คือนักเขียนนวนิยายแถวหน้าอีกคนหนึ่งของเมืองไทยด้วยตัวหนังสือที่เขาสร้างสานขึ้นนั้นราวกับมีชีวิตมีเลือดเนื้อและลมหายใจโลดแล่นอยู่ ณ มุมใดมุมหนึ่งของสังคม

แม้ช่วงเวลาที่เขาต้องเดินทางไปพำนักยังต่างประเทศ ในฐานะเลขานุการเอกกงสุลไทยประจำเมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ จินตนาการนั้นก็ไม่เคยหยุดนิ่งเรื่องราวมากมายยังคงไหลบ่าส่งทอดข้ามฟ้ามาสู่ผู้อ่าน...

“ผมมาอยู่ที่นิวซีแลนด์เมื่อเดือนมิถุนายน 2536 ถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาสี่ปีแล้วชีวิตทั่วไปก็อยู่ในชั้นดี เพราะนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่สวยงาม ประกอบกับมีประชากรไม่มากนัก จึงไม่ค่อยมีปัญหาต่างๆ เหมือนอย่างเมืองใหญ่ ๆ ทั่วไปที่ประสบกันอยู่แต่ถ้าพูดถึงความสะดวกสบายหรือความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆอาจจะยังสู้ทางยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่นไม่ได้

“ส่วนเรื่องการงาน สถานทูตไทยในนิวซีแลนด์เป็นสถานทูตเล็ก ๆ มีข้าราชการน้อย แต่ปริมาณงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะในระยะหลังมีคนไทยเข้าไปประกอบอาชีพหรือพำนักอยู่ในนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นจำนวนนักเรียนไทยในระดับต่าง ๆ ก็มากขึ้นกว่าเดิม ยังไม่รวมถึงนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวอีก ซึ่งมีเป็นจำนวนมากเช่นกันทำให้ปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมากตามไปด้วย”

ประภัสสรเล่าอีกว่า การมาอยู่ต่างถิ่นต่างที่ไม่ได้สร้างปัญหาให้งานเขียนของเขาต้องหยุดชะงักแต่ประการใด เพราะ...

“ก่อนที่ผมจะเขียนเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้มีการตระเตรียมเอกสารและข้อมูลล่วงหน้ามาก่อนแล้วนิยายบางเรื่องผมวางแผนงานไว้ล่วงหน้ามาสี่ห้าปีแล้ว

“พล็อตเรื่องของผมนั้นมีทั้งที่เป็นจินตนาการและเรื่องจริงแต่เมื่อลงมือสร้างเรื่องแล้วจินตนาการต้องมีบทบาทนำ ส่วนการเก็บข้อมูลของผม จะเก็บเกี่ยวจากหลาย ๆ ทาง ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ คำบอกเล่า การพูดคุย และประสบการณ์ที่พบเห็นด้วยตนเอง”




เมื่อถามถึงต้นสายปลายเหตุของนวนิยายเรื่องซิงตึ้ง ประภัสสรเล่าว่า

“ซิงตึ๊งเกิดจากแรงบันดาลใจในตัวของผมเองที่อยากจะเขียนถึงชีวิตของวัยรุ่นที่ต่อสู้ชีวิตด้วยตนเอง ด้วยจิตใจที่มั่นคงเข้มแข็ง แม้จะตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สามารถชักนำไปในทางที่ไม่ดีและแรงกดดันต่าง ๆ ก็สามารถที่จะผ่านพ้นเรื่องราวเลวร้ายไปสู่ทิศทางที่ดีได้”

จากการที่นวนิยายหลายต่อหลายเรื่องมักถูกนำไปดัดแปลงสร้างเป็นบทละครแน่นอนที่ว่าการตีโจทย์ระหว่างมุมมองของผู้กำกับการแสดง ผู้เขียนบท กับเจ้าของบทประพันธ์อาจแตกต่างกันจนนวนิยายบางเรื่องถูกมองว่าเสียอรรถรสอย่างน่าเสียดายเมื่อปรากฏอยู่บนจอโทรทัศน์ ประภัสสรให้ความเห็นว่า

“สำหรับผม มีทั้งผิดหวังและสมหวัง มีทั้งดีใจและเสียใจ ซึ่งก็คงจะเป็นความรู้สึกที่คล้าย ๆ กันกับนักเขียนท่านอื่น ๆเมื่อชมผลงานของตนเองซึ่งถูกแปรรูปเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์”

และนวนิยายเรื่องซิงตึ๊งก็เช่นกัน ที่ ณเวลานี้ถูกติดต่อขอซื้อไปเพื่อสร้างเป็นละครโทรทัศน์เรียบร้อยแล้ว

“...รายละเอียดต่าง ๆ ผมขออนุญาตที่จะไม่เปิดเผยในตอนนี้ อยากให้ผู้สร้างเป็นฝ่ายให้ข่าวเอง แต่ผมก็หวังว่าผู้สร้างคงจะรักษาแนวเรื่องท่วงทำนองเนื้อเรื่อง และอรรถรสของเรื่องเอาไว้ให้ได้มากที่สุด และทำความเข้าใจได้ตรงกันกับผู้เขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ผู้ประพันธ์ต้องการนำเสนอ”

สำหรับนักอ่านที่ติดตามผลงานของนักเขียนท่านนี้ อาจมีถ้อยคำถามทุกครั้งที่อ่านเรื่องจบด้วยงานของประภัสสรนั้นมักเป็นเรื่องเศร้าสะเทือนอารมณ์เสียส่วนใหญ่

“เอกลักษณ์ในงานเขียนของผมน่าจะอยู่ที่ความหลากหลายในรูปแบบและแนวเรื่อง การนำเสนอเรื่องราวและแนวคิดในทัศนคติและวิสัยทัศน์ที่นำสมัยรวมทั้งการเชิดชูคุณธรรมและการให้กำลังใจในการต่อสู้กับปัญหาชีวิต

“งานของผมต้องการนำเสนอสัจธรรมให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่า ชีวิตมิได้มีเพียงด้านที่มีความสุขสมหวังเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นมีทั้งความทุกข์และความผิดหวังปะปนอยู่ด้วยเสมอ”

จากความสมจริงสมจังของตัวละครที่ประภัสสรสร้างขึ้น บางครั้งก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตหรือคนใกล้ตัวบ้างหรือไม่ ประภัสสรว่า

“เท่าที่เขียนมาส่วนมากก็จะเป็นเรื่องใกล้ ๆ ตัวจะมีที่เฉียด ๆ ตัวเองหน่อยก็คือเรื่อง ‘เด็กชายมะลิวัลย์’ ซึ่งจำลองสภาพแวดล้อมของเสาชิงช้าสมัยที่ผมเคยอยู่เมื่อตอนเด็กๆ”

แน่นอนที่ว่าการสร้างงานแต่ละชิ้นของนักเขียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเขียนชื่อดังเช่นเขา เสียงวิพากษ์วิจารณ์ย่อมมีมากเป็นเงาตามตัว

“...ผมว่าขึ้นอยู่กับตัวผู้วิจารณ์มากกว่า ถ้าผู้วิจารณ์มีจิตใจที่บริสุทธิ์ยุติธรรม วิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นหลักเป็นเกณฑ์ มีเหตุมีผลในทางวิทยาศาสตร์ ไม่เอาความพอใจส่วนตัวเป็นที่ตั้งงานวิจารณ์นั้นก็จะมีคุณค่าในทางสร้างสรรค์ ผู้ถูกวิจารณ์นั้นก็จะมีคุณค่าในทางสร้างสรรค์ซึ่งผู้ถูกวิจารณ์จะสามารถยอมรับนับถือความคิดเห็นของผู้วิจารณ์ได้

“สำหรับผมความสำเร็จอยู่ที่คุณค่าของงานที่เขียนและการยอมรับในจุดนั้นจากผู้อ่าน ผู้เขียนไม่สามารถตอบเองได้...และผมก็ไม่เคยเขียนเพื่อมุ่งหวังรางวัลใดๆ แต่หากงานชิ้นไหนได้รับรางวัลก็เป็นเรื่องของรางวัลกับงานชิ้นนั้น”

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำด้วยหัวใจ มิมุ่งหวังสิ่งใดมากไปกว่าความสุขในชีวิตรางวัลที่แท้จริงก็คือความอิ่มเอม แม้ทรัพย์เงินทองมากมายเพียงใดก็มิอาจเทียบค่าได้...




Create Date : 06 ตุลาคม 2556
Last Update : 6 ตุลาคม 2556 12:36:24 น.
Counter : 1305 Pageviews.

2 comments
  
ชอบคุณประภัสสรมากเลยค่ะ
เป็นนักเขียนที่ติดตามงานท่านหลายเรื่องมากๆค่ะ

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆค่ะ
โดย: lovereason วันที่: 6 ตุลาคม 2556 เวลา:18:09:20 น.
  
เจอแล้ว แฟนคลับของคุณประภัสสร
อยู่ตรงนี้อีกหนึ่งเสียง คุณนุ่น-lovereason นี่เองจ้า
โดย: พ ชมภัค วันที่: 7 ตุลาคม 2556 เวลา:21:02:32 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ ชมภัค
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



เป็นคน...ยาก
ยากเป็น...คน
คน...เป็นยาก

โดยเฉพาะถ้าคิดจะบรรลุจุดมุ่งหมาย
...ยากยิ่งกว่ายาก

หนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ล้วนจำเป็นต้องเสียสละ เสียสละ...และเสียสละ

--------------------พระสนมเฉียนเฟย-----------


** ** ** ** **

อย่าได้คิดจะยอมแพ้และละทิ้งไปง่าย ๆ แบบนี้...

ก็อย่างที่ฉันบอกนั่นแหละ

ถ้าไขว่คว้าความฝันนี้ไม่ได้...
ก็เปลี่ยนเป็นความฝันอื่นเสียก็สิ้นเรื่อง

ยิ้มสักครั้งสิ ความสำเร็จ ชื่อเสียงไม่ใช่ปลายทาง

ทำให้ตัวเองมีความสุขต่างหาก... ถึงจะเรียกว่าคุณค่าและความหมาย

....ไม่ต้องกลัวหัวใจจะแหลกสลาย....

----------------โจว เจี๋ยหลุน (Jay Chou)-------
ตุลาคม 2556

 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog
MY VIP Friends