วันเวลาที่พิสูจน์นามปากกา...กิ่งฉัตร

จาก...นิตยสารศรีสยามปีที่ 1 ฉบับที่ 8

ประจำวันพฤหัสบดีที่ 30  มกราคม  พ.ศ. 2540  (หน้า 18-19)


สัมภาษณ์พิเศษ               

                  ธันวา   นราธรรม





วันเวลาที่พิสูจน์นามปากกา

กิ่งฉัตร


หากเทียบรุ่นกับนักเขียนอาวุโสทั้งหลายกิ่งฉัตร   มิได้น้อยหน้ากว่าใครในเรื่องการประพันธ์ ทั้งที่อายุอา-นามเพียง 28 ปี  เธอสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยการยึดการเขียนนวนิยายเป็นอาชีพหลัก แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้เธอต้องใช้ความอดทนไม่น้อยที่จะมานะความหวังให้เป็นจริงขึ้นมาได้

กิ่งฉัตรได้เขียน “มนต์จันทรา” ฝากไว้ในศรีสยาม ซึ่งเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนหนึ่งของเธอเอง เมื่อครั้งที่เคยเป็นนักข่าวสาวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ปริทรรศน์ และด้วยความผูกพันกับอาชีพแรกของเธอ

“ที่มาของเรื่อง มนต์จันทรา คงได้จากตอนที่ฝึกงานและตอนที่ทำงานเป็นนักข่าว ซึ่งดิฉันจะพบกับเหตุการณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสลดหดหู่ของชีวิต เคยไปทำข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องโสเภณีการฆาตกรรม

“เป็นพล็อตเรื่องที่มีมานานแล้วตัวนางเอกจะเป็นนักข่าวเจาะแบบบู๊ ๆ หน่อย ไปทำข่าวคาสิโน ตรงส่วนนี้ดิฉันได้จากประสบการณ์เลยจับจุดนี้มาเป็นประเด็นของนวนิยายเรื่องนี้ ในการทำงานช่วงหนึ่งที่มีข่าวการเปิดตัวคาสิโนที่เขมรกับที่พม่าแต่ว่าคนไทยเป็นคนลงทุน แล้วก็จะสอดแทรกเรื่องการทำข่าวลงไปด้วย ส่วนที่ตั้งชื่อว่าสยามสารคล้าย ๆกับศรีสยาม เพราะว่าอยากจะสื่อออกมาง่าย ๆ สารก็คือหนังสือ สยามก็เป็นไทย ๆ ดี พยายามที่จะไม่ให้ตรงกับชื่อของคนอื่นหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมาค่ะ”

ความภูมิใจของนักเขียนส่วนหนึ่งคือการได้รับฟังคำติชมจากคนอ่าน และเธอเองก็เช่นกัน เมื่อมีผู้อ่านเข้ามาทักทาย นั่นคือความสุขส่วนหนึ่งแล้ว



“สำหรับเรื่องมายาตวัน ดิฉันค่อนข้างท้อแท้ไม่อยากจะเขียนเพราะว่าที่นำเสนอในโทรทัศน์ค่อนข้างจะออกมาผิดประเด็นไปเลยจากที่ดิฉันตั้งไว้ เผอิญมีทั้งคนอ่านและนักเขียนทักว่าเมื่อไรที่จะเขียนเรื่องนี้อีกเขียนต่อให้อ่านหน่อย ก็รู้สึกว่ายังมีคนอยากอ่านงานของเราอยู่นะ มีกำลังใจที่จะเขียนขึ้นมาอีกครั้ง”

เรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เข้ามากระทบต่อการเขียนหนังสือซึ่งกิ่งฉัตรเล่าว่า--มีผลต่อการเขียนเป็นอย่างมากเพราะทำให้สูญเสียสมาธิส่วนหนึ่งไป เธอชอบที่จะทำงานภายในห้องเงียบ ๆ ไม่ว่าในตอนกลางวันหรือหลังเที่ยงคืน

“ดิฉันเป็นคนที่ไม่ค่อยมีสมาธิไม่สามารถที่จะทำใจโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้างได้เพราะฉะนั้นเวลาทำงานจะต้องเงียบไม่มีเสียงวิทยุ ไม่มีเสียงโทรทัศน์ไม่มีเสียงอะไรทั้งนั้นเลย ถึงจะทำงานได้ดี

จะว่าไปก็ยึดการเขียนหนังสือเป็นอาชีพนะคะเพราะว่าไม่ได้ทำอย่างอื่น ทุกวันนี้ก็มีความสุขช่วงที่เราเขียนหนังสือได้สบาย ไม่ต้องออกไปรบกับรถติดหรือฝุ่น  แต่ว่าเวลาที่เขียนไม่ได้ขึ้นมาก็ไม่สุขเอาเสียเลย เอาเป็นว่าดิฉันยังไม่เป็นนักเขียนมืออาชีพที่พอนั่งปุ๊บก็เขียนได้ทันที”

เธอเล่าว่าการเขียนนวนิยายสักเรื่องหนึ่งต้องมีอารมณ์ที่อยากจะเขียน  มีบางเรื่องที่ต้องหยุดการเขียนไปเป็นเดือนเพื่อที่จะคิดประโยคเพียงประโยคเดียวหรือคิดตอนต่อไป เธอมักจะหาเวลาช่วงที่ขัดสนจินตนาการในการเขียนหนังสือด้วยการออกไปเที่ยวบ้างปลูกต้นไม้บ้าง เลือกหาหนังสือตามประสาคนรักการอ่านบ้างแต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละทิ้งความคิดไปเสียเลย เมื่อเขียนเรื่องนี้ไม่ได้ก็เลือกที่จะหยิบงานเขียนอีกเรื่องขึ้นมาเขียนต่อ

“ตอนที่อารมณ์ยังทำเรื่องนี้ไม่ได้ก็จะหยุดแล้วไปเขียนเรื่องอื่นก่อน เพราะว่าตอนนี้ดิฉันเขียนถึง 3 เรื่องพร้อม ๆ กัน แต่ตลอดเวลาก็ต้องคิดตลอดนะคะว่ามันจะเป็นยังไงต่อไปบางทีก็ทำให้เครียด บางคืนนอนไม่หลับเพราะว่าคิดไม่ได้บางครั้งที่คิดได้ถ้ามันแรงมากจะลุกขึ้นมาเขียนตอนตีสามตีสี่

“เรื่องส่วนมากที่เขียนครึ่งหนึ่งมาจากคนรอบข้างและส่วนหนึ่งมาจากจินตนาการของเราเอง ส่วนเรื่องที่ต้องเขียนเกี่ยวกับความรักจะหาข้อมูลจากคนรอบข้างนะคะ เพราะว่าตัวเองยังไม่มีความรัก เคยมีเพื่อนคนหนึ่งเขาบอกว่าวันใดสักวันหนึ่งที่เธอเริ่มต้นมีความรักมีครอบครัว เธอก็จะไม่สามารถเขียนอย่างนี้ได้อีก เพราะว่าความจริงในอีกระดับหนึ่งมันจะเข้ามา คือเราจะได้รับความจริงในแก่นลึกอะไรอย่างนี้งานอาจจะเปลี่ยนไป”

เมื่อถามถึงค่าตอบแทนของการเป็นนักเขียน

เธอว่า--ค่าตอนแทนของนักเขียนในปัจจุบันดีกว่าแต่ก่อน กับการทำงานที่ดูไม่เป็นเวลาและหมกมุ่นอยู่กับตัวหนังสือ นักเขียนในวันนี้มีโอกาสเรียกร้องมากขึ้นคำว่า นักเขียนไส้แห้ง คงใช้ไม่ได้เสียแล้ว

“นักเขียนในปัจจุบันสามารถดำรงอยู่ได้ถ้าใช้เงินเป็นไม่ถึงกับไส้แห้งเหมือนแต่ก่อน แต่ถ้าอยากร่ำรวยก็ต้องขยันอดทนให้มาก ต้องทำให้การเขียนหนังสือเป็นงานจริงๆ

“ไม่ใช่ทุกคนที่คิดอยากจะเป็นนักเขียนก็เป็นได้ มันต้องมีองค์ประกอบอย่างอื่นด้วยนะคะ อย่างดิฉันก้าวมาครึ่งหนึ่งแล้วและอยากแนะนำคนอื่นที่คิดจะเป็นนักเขียนว่า ควรจะมีอาชีพหลักไปก่อนแล้วเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรกจนกระทั่งแน่ใจว่าเราสามารถอยู่ได้กับตรงนี้แล้วก็ค่อยออกมา”

ความแตกต่างของนักเขียนรุ่นใหม่ที่เห็นได้ชัดเจนตามความคิดของเธอคือ  แนวความคิดที่เปลี่ยนไป  การใช้ภาษาที่มีความแตกต่าง  อาจจะเป็นเพราะการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเขียนรุ่นใหม่ใช้ภาษาที่กระชับรวบรัด  ซึ่งผิดกับนักเขียนรุ่นอาวุโสที่ยังคงความละเมียดละไมในการเขียนมากกว่า

“ถ้าดูจากลักษณะงานดิฉันไม่ทราบนะคะว่านักเขียนรุ่นใหม่มีผลงานที่ดีขึ้นหรือเปล่า  แต่ว่าแนวคิดของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป  ดิฉันหมายถึงรุ่นน้อง ๆ นะคะ เพราะดิฉันก็ยังถือว่ายังใหม่อยู่ เคยมีน้องคนหนึ่งมาสัมภาษณ์แล้วพูดคำ ๆ หนึ่งว่า หนูอยากเป็นนักเขียนเพราะว่าหนูอยากดัง ทำให้ดิฉันมาถามตัวเองว่าเราอยากดังหรือที่เป็นนักเขียนอยู่ทุกวันนี้     แล้วดิฉันก็ไปถามนักเขียนท่านอื่นๆ นะคะ ทุกคนบอกว่ามันไม่ใช่      เท่า ๆ ที่คุยกันมาร้อยละเก้าสิบทุกคนเริ่มต้นจากการรักการอ่านจนกระทั่งมีความรู้สึกว่าฉันอยากจะทำบ้าง  อยากให้คนอื่นได้อ่านบ้างให้ได้รับความรู้สึกเหมือนกับที่เรารู้สึกอยู่ในขณะนี้หรือบางครั้งที่คนเขียนเขียนไม่ถูกใจ เราอยากเขียนใหม่ให้ดีกว่านี้”

การจะเริ่มต้นเป็นนักเขียนต้องมีความอดทน เธอเล่าว่า--แม้จะไม่ได้รับการตอบรับหรือถูกทิ้งลงตะกร้า ก็ขอให้อย่าละทิ้งความพยายาม ใครก็ตามที่คิดจะก้าวรอยเท้ามาทางนี้เธอแนะว่า--ถ้าอยากเป็นนักเขียนต้องอ่านหนังสือให้มากเพื่อที่จะได้รับรู้แนวความคิด ลักษณะการใช้ภาษาของผู้อื่น

“ปัจจุบันตลาดหนังสืออาจจะเพิ่มมากขึ้น แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว การที่ใครจะยอมรับงานของเราคงต้องดูที่ฝีมือ  ดิฉันยอมรับว่านามปากกาเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้เราอาจจะยังไม่มีชื่อ ไม่โด่งดัง นามปากกายังไม่ติดหู แต่ถ้าเรายังมีความอดทนส่งงานอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องสักวันหนึ่งนามปากกานี้ก็จะติดหู จำไว้อย่างหนึ่งว่าทุกคนที่จะเป็นนักเขียนต้องเริ่มต้นที่หนึ่งหมดไม่มีใครเริ่มต้นที่ห้า มีชื่อเสียงเลย ต้องค่อยๆ เป็นค่อย ๆ ไป สิ่งแรกที่จะพิสูจน์คือผลงานเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งนามปากกาจะเป็นเรื่องที่สนับสนุนเราเอง”

จริงอย่างเธอว่า--ระยะเวลาแห่งความอดทนคือสิ่งที่ดีที่สุดในการพิสูจน์ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เช่นนั้นชื่อ กิ่งฉัตร คงไม่เป็นที่รู้จักในวงการนวนิยายอย่างในวันนี้





Create Date : 25 สิงหาคม 2556
Last Update : 25 สิงหาคม 2556 13:11:36 น.
Counter : 1677 Pageviews.

4 comments
  
เป็นนักเขียนอีกคนที่เป็นไอดอลของนักเขียนรุ่นใหม่หลายๆ คนเลยครับ
โดย: อุ้มสม วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:14:09:50 น.
  
ยินดียิ่งที่น้องอุ้มสมมาเยี่ยมเยือนค่ะ แอบชื่นชมน้องมานานแล้วที่เป็นนักอ่านตัวยง

เชื่อว่าสักวันคงถึงจุดที่น้องอุ้มสมจะจับปากกาขึ้นมาสร้างสรรค์เรื่องราวให้นักอ่านท่านอื่น ๆ ได้เดินทางท่องไปในสวนอักษรของน้องนะคะ
โดย: พ ชมภัค วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:18:45:32 น.
  
หนทางการเป็นนักเขียนดังต้องใช้ความอดทนพยายามมากเลยนะคะ

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวของคุณกิ่งฉัตรค่ะ

โดย: lovereason วันที่: 25 สิงหาคม 2556 เวลา:23:22:47 น.
  
คุณนุ่น - lovereason

เห็นด้วยอย่างสุดใจค่ะ
โดย: พ ชมภัค วันที่: 27 สิงหาคม 2556 เวลา:11:20:58 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ ชมภัค
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



เป็นคน...ยาก
ยากเป็น...คน
คน...เป็นยาก

โดยเฉพาะถ้าคิดจะบรรลุจุดมุ่งหมาย
...ยากยิ่งกว่ายาก

หนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ล้วนจำเป็นต้องเสียสละ เสียสละ...และเสียสละ

--------------------พระสนมเฉียนเฟย-----------


** ** ** ** **

อย่าได้คิดจะยอมแพ้และละทิ้งไปง่าย ๆ แบบนี้...

ก็อย่างที่ฉันบอกนั่นแหละ

ถ้าไขว่คว้าความฝันนี้ไม่ได้...
ก็เปลี่ยนเป็นความฝันอื่นเสียก็สิ้นเรื่อง

ยิ้มสักครั้งสิ ความสำเร็จ ชื่อเสียงไม่ใช่ปลายทาง

ทำให้ตัวเองมีความสุขต่างหาก... ถึงจะเรียกว่าคุณค่าและความหมาย

....ไม่ต้องกลัวหัวใจจะแหลกสลาย....

----------------โจว เจี๋ยหลุน (Jay Chou)-------
สิงหาคม 2556

 
 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
All Blog
MY VIP Friends