ยินดีต้อนรับ......สู่เส้นทางปริศนา วัฒนธรรมแห่งภาษา
Group Blog
 
<<
เมษายน 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
7 เมษายน 2551
 
All Blogs
 

ปริศนาร้อยกรอง 11



สวัสดีทุกท่านครับ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่บ้านปริศนา เข้ามาพูดคุยทักทายกันเรื่องสัพเพเหระ
ส่วนปริศนามีไว้ต้อนรับผู้ที่ชอบเอาความปวดหัวไว้เป็นเพื่อน อิ อิ

สำหรับปริศนาชุดที่แล้ว มีผู้ที่ตอบถูกดังนี้
แม่นางไลเดเลีย
แม่นางปลิว
แม่นาง D*U*A*N


ขอเสนอปริศนาชุดใหม่ให้เพื่อนร่วมอนุรักษ์กัน

ป.152
ไม้นั้นผันบอกที
เขตคามนี้เมืองกรุงหา
สวิสฯคิดทายมา
ถ้าขึ้นคงต้องลงเอย

ป.153
ไอเลิฟยูกู่พร่ำรำพันซึ้ง
บรรยายถึงความดีมิมีว่า
กินบนเรือนขี้รดบนหลังคา
จึงต้องร้องเรียกหาแต่ยาดม

ป.154
เป็นสัตว์จำพวกหนอน
ผู้ใหญ่สอนส่อสกุล
ชุดนี้มีญี่ปุ่น
บั่นคอคุณลุ้นทายที

ป.155
ร้องลูกทุ่งมุ่งลง"วงศ์เทวัญ"
ยอมแพ้กันไม่สู้รู้บ้างไหม
อัศวินควบมาอาชาไนย
ละครใบ้คณะมีที่โด่งดัง

ป.156
ซา หนึ่งนี้ที่เห็นเป็นพิมแน่
ซา หนึ่งแก้กลากเกลื้อนเหมือนคุ้นหู
ซา หนึ่งพบอบกันผันมาดู
ซา หนึ่งรู้เรียกหาเต้นบราซิล


ประวัติความเป็นมาการทายปริศนาร้อยกรอง
การละเล่นพื้นบ้านของ จังหวัดชลบุรี


การทายปริศนาร้อยกรอง (ทายโจ๊ก) เป็นการละเล่นประเภทหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมทางด้านภาษา ที่สืบเนื่องต่อกันมาถึงปัจจุบัน การทายปริศนาร้อยกรองเป็นการนำคำตอบมาซ่อนไว้ในปริศนาที่ผูกขึ้นเป็นร้อยกรองชนิดต่างๆ ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และนำมาให้คนทั่วไปทายเพื่อฝึกสมอง ทดลองสติปัญญา เมื่อทายถูกก็จะมีรางวัลให้

ตามประวัติแล้วการทายปริศนาร้อยกรอง เกิดขึ้นใน พ.ศ.ใดไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่สันนิษฐานว่าเกิดในสมัยรัชกาลที่ 4
หรือรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสมัยนั้นคนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยได้นำการละเล่นชนิดนี้เข้ามาเล่นในเมืองไทยด้วย ครั้งแรกเล่นในย่ายคนจีนที่สำเพ็งเรียกว่า ผะหมี
ผะ แปลว่า ตี หมี แปลว่า ปัญหา ผะหมีจึงหมายถึง การตีปัญ
หาหรือแก้ปัญหาที่อำพรางไว้ให้กระจ่าง ตัวปริศนาในการเล่นครั้งแรกนั้นคนจีนที่มีความรู้ได้นำเอาคำประพันธ์ของจีนมาเป็นตัวปัญหาให้ทาย คนไทยที่ร่วมดูอยู่ด้วยเห็นวิธีการเล่นจึงนำมา
ดัดแปลงโดยยึดวิธีการต่างๆ เช่น การตั้งโรง การแขวนปัญหาอย่างชาวจีน แต่ตัวปริศนาที่เขียนเป็นฉันทลักษณ์ของไทย คือ
เป็นร้อยกรอง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ที่เป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป
จึงเกิดเป็นการละเล่นผะหมีแบบของไทยขึ้น การเล่นผะหมีของไทยจึงกล่าวได้ว่าได้รับอิทธิพลและรูปแบบมาจากการเล่นผะหมี
ของจีนในระยะต้น แล้วพัฒนารูปแบบทั้งการเล่นและการประพันธ์ต่างๆ มาสู่ความเป็นไทยได้อย่างกลมกลืนและมีศิลปะ
จนถือได้ว่าเป็นศิลปะวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอีกแขนงหนึ่ง
การเล่นผะหมี เป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไปในหมู่ราษฎร
และเจ้านายชั้นสูงในราชสำนัก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน
ฤดูหนาวที่วัดเบญจมบพิตร ในงานนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธมกุฏราชกุมาร ได้ทรงจัดให้มีการเล่นทายปริศนาที่เรียกว่า ผะหมี ขึ้นด้วย และยังทรงพระนิพนธ์ปริศนาส่วนหนึ่งให้ทายด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ยังทรงพระราชนิพนธ์บทปริศนาต่างๆ ไว้อีกจำนวนมาก

การเล่นผะหมี เริ่มจากในรั้วในวังแล้วแพร่หลายออกสู่ประชาชน
ในพื้นที่ต่างๆ เท่าที่ปรากฏคือจากในพระนครออกสู่สมุทรปราการย่านปากน้ำ บางพลี และเลยไปที่แปดริ้ว ชลบุรี
จนถึงระยอง โดยจะเป็นการเล่นในรูปของมหรสพในงานประจำปี
งานวัด จนกระทั่งถึงงานศพ การเล่นทายปริศนาของเดิมที่ชาว
จังหวัดชลบุรีได้รับมาจากกรุงเทพมหานครคือ การรับเอาการเล่น
ผะหมี จากการเรียกของชาวจีนแต้จิ๋ว หรือโคลงทายจากหนังสือ
พิมพ์วชิรญาณ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2429 โดยนายปริศนาหรือนายโจ๊กในสมัยนั้นมีความสามารถในการประพันธ์ จึงลอกเกลียน
แบบแล้วนำมาเล่นตามงานวัด งานโรงเรียน งานศพ อาจารย์
บุญรอด ปาณปุณนัง ผู้มีความสนใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา
ของการทายโจ๊ก ได้กล่าวถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโจ๊กชลบุรีว่า
"ในเมืองชลผู้ที่นำผะหมีมาเป็นโจ๊กจนเป็นที่นิยมตราบเท่าทุกวัน
นี้คือ ท่านพระครูวุฒิกรโกศล (วัดกำแพง) และ นายสรวย จันทร์ถิระ (อดีตเทศมนตรีเทศบาลเมืองชลบุรี) และเล่ากันว่าการทายโจ๊กได้จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในงานฌาปนกิจศพ
พ่อหมอสุข ที่วัดกำแพง แต่ไม่ทราบปี พ.ศ." ในแต่ละพืนที่ที่มี
การละเล่นชนิดนี้ก็จะมีการเรียกชื่อปริศนานี้แตกต่างกันไป เช่น
ผะหมีบ้าง โคลงทายบ้าง ปริศนากวีบ้าง สำหรับชลบุรีเรียกปริศนากวี อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาจึงเปลี่ยนเรียกสั้นๆว่า โจ๊ก สำหรับที่มาของคำดังกล่าวว่ากันว่า ในตอนแรกๆที่มีการเล่นชนิดนี้ มีผู้ช่วยในการดำเนินงานคนหนึ่งต้องการสร้างความสนุก
สนานกับผู้ชม จึงได้แต่งเป็นตัวตลกแบบ "โจ๊กเกอร์" สร้างความ
สนใจและความสนุกสนานให้กับผู้ร่วมทายได้มาก จึงได้ทำเช่นนี้
เรื่อยมาทุกครั้งที่มีการเล่น จนเป็นที่รู้จักและเรียกกันในหมู่ผู้เล่น
ทั่วไป เวลาที่จะไปเล่นหรือดูการเล่นนี้จะพูดกันว่า "ไปเล่นโจ๊ก
ไปดูโจ๊ก" ทำนองนี้ จนกลายเป็นการเรียกการเล่นนี้ว่า "โจ๊ก"
จนทุกวันนี้ ประเพณีในท้องถิ่นแสดงถึงวัฒนธรรมอันดีงามของ
กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งฉันใด การเล่นทายโจ๊กปริศนาของชาวจังหวัด
ชลบุรี ก็เป็นสิ่งแสดงถึงประเพณีอันดีงามที่กระทำสืบเนื่องกันมา
ช้านานแล้วฉันนั้น


รูปแบบการทายปริศนาร้อยกรอง คือ การทายปริศนาซึ่งนำมาผูกไว้ในลักษณะคำประพันธ์ชนิดต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นร้อยกรอง 1 บท แต่ละบรรทัดของคำประพันธ์จะมีคำตอบซุกซ่อนอยู่ คำตอบจะมีความพ้องสัมพันธ์กันในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

1.*พ้องคำเดี่ยว*ก.คำเดี่ยวพ้องเสียงพยัญชนะ
คำตอบจะเป็นพยัญชนะตัวเดียวกัน ผสมด้วยสระที่ต่างกัน ถ้าสระเสียงสั้นก็สั้นทั้งชุด สระเสียงยาวก็ยาวทั้งชุด และ
มีระดับเสียงวรรณยุกต์ หรือตัวสะกด (ถ้ามี) ต้องเหมือนกัน เช่น

=ปริศนา 02= ( คำตอบ)
หน้าที่ผีหรือ ( หลอก)
ก็คือมากไง ( หลาก)
ยับเยินคงใช่ ( แหลก)
ทำได้ที่ตา ( เหลือก)

ข.คำเดี่ยวพ้องสระ
คำตอบจะต้องเป็นสระเสียงเดียวกัน ผสมด้วยพยัญชนะใดก็ได้ แต่จะมีระดับเสียงวรรณยุกต์ และตัวสะกด (ถ้ามี) ต้องเหมือนกัน เช่น

=ปริศนา 03= ( คำตอบ)
เห็นอยู่บนหัวไก่ ( หงอน)
มีคำไขใช่ว่าหลอก ( หลอน)
นำหนุนคุณเชิญบอก ( หมอน)
ผีเสื้อดอกตอนอ่อนวัย ( หนอน)

2.*พ้องคำหน้า*คือ ปริศนาที่มีคำตอบ 2 พยางค์ขึ้นไป ในลักษณะ
พยางค์แรกของคำตอบจะเหมือนกันทั้งชุด เช่น

=ปริศนา 04= ( คำตอบ)
ลงสีให้รูปสวย ( ระบาย)
บอกมาด้วยช่วยกันเต้น ( ระบำ)
อาวุธยุทธนึกเน้น ( ระเบิด)
โรคที่เป็นเชื้อแพร่มา ( ระบาด)

3.*พ้องคำหลัง*คือ ปริศนาที่มีคำตอบ 2 พยางค์ขึ้นไป ในลักษณะพยางค์หลังของคำตอบจะเหมือนกันทั้งชุด เช่น

=ปริศนา 05= (คำตอบ)
เด็กเอาไว้เป่ากบ (หนังยาง)
แมกไม้พบประโยชน์มี (ต้นยาง)
โยนรับจับเหมาะดี (ห่วงยาง)
ที่ครูใช้ไว้ปั๊มดาว (ตรายาง)

4.*พ้องคำกลาง*คือ ปริศนาที่มีคำตอบ 3 พยางค์ขึ้นไป คำกลางจะเหมือนกันทั้งชุด เช่น

=ปริศนา 06= (คำตอบ)
ประเพณีเมืองเลยเฉลยแห่ (ผีตาโขน)
จังหวัดแน่แต่อยู่ใต้ให้ค้นหา (ปัตตานี)
น้ำถั่วเหลืองที่อยู่กล่องลองทายมา (ไวตามิลค์,แลคตาซอย)
หรือผลาเคยหาทานจักขานทาย (แคนตาลู้ป)

5.*คำผัน*คือ ปริศนาที่มีคำตอบเป็นการผันเสียงวรรณยุกต์ของตัวอักษรตัวใดตัวหนึ่ง เช่น

=ปริศนา 07= (คำตอบ)
สีนั้นสะอาด (ขาว)
เอาพาดหัวกัน (ข่าว)
ธัญญาเสกสรร (ข้าว)
เชิญผันคำทาย (ขาว ,ข่าว,ข้าว )

6.*คำผวน*คือ ปริศนาที่มีคำตอบเป็นการผวนคำ โดยสลับเสียงสระ ระหว่างพยางค์หน้าและพยางค์หลัง คำต้นจะเป็นตัวตั้งไว้ให้ผวน แผ่นปริศนาของจริงจะมีการเน้นสีคำต้นให้แตกต่าง แต่ในที่นี้จะใช้การแยกคำออกมา เช่น

=ปริศนา 08= (คำตอบ)
วา ไหว้ให้หา (วาทัน = วันทา)
วา ขาคล้องหู (วาแต้น = แว่นตา)
วา เพียรเรียนรู้ (วาชิ = วิชา)
วา ดูมิรอ (วาเล = เวลา)

7.*สำนวนสุภาษิต คำพังเพย*คือ ปริศนาที่มีคำตอบในแต่ละบรรทัดจะไม่พ้องกันเลย แต่เมื่อนำคำตอบมารวมกันจะเป็น สำนวน สุภาษิต คำพังเพย เช่น

=ปริศนา 09= (คำตอบ)
ไม่ห่างอย่างแนบชิด (ใกล้)
ก้อนน้อยนิดเค็มนักหนา (เกลือ)
รับประทานนานมา (กิน)
ค่าต่างกรดบทพังเพย (ด่าง)

8.*คำพันหลัก*คือ ปริศนาที่มีการพ้องในลักษณะ พยางค์สุดท้ายของคำตอบในแต่ละบรรทัด จะเป็นคำแรกของคำตอบในบรรทัดต่อไป เช่น

=ปริศนา 10= (คำตอบ)
น้าหรือคือใครหนา (น้องแม่)
เจ้าพระยาทั้งป่าสัก (แม่น้ำ)
ดีเซลโซล่าทัก (น้ำมัน)
มีค่านักจักทายดู (มันนี่)

9.*คำตัด คำต่อ*คือ ปริศนาที่เล่นกับรูปเขียนของคำ โดยการเพิ่มคำ อักษร หรือสระในแต่ละคำตอบ เช่น

=ปริศนา 11= (คำตอบ)
ไม่ได้ไปแน่นอนขอให้เชื่อ (มา)
ครั้นพบเรือกลับกลายคล้ายยักษา (มา+ร = มาร)
ทำเสแสร้งดัดจริตเพราะติดยา (มาร+ยา = มารยา)
เมื่อทหารตามมาจึงเรียบร้อย (มารยา+ท = มารยาท)

=ปริศนา 12= (คำตอบ)
ไม่ไปนะไม่ไปใบ้นะน้อง (มา)
หมวกไปพ้องอีกคำจำได้ไหม (มาลา)
เฉลิมพลค้นมาว่ากันไป (มาลาคำ)
กวีซีไรท์ใครเอ่ยเฉลยนาม (มาลา คำจันทร์)

10.*ภาพปริศนา*คือปริศนาที่ซ่อนอยู่ในภาพ อาจจะซ่อนไว้ในสีสันหรือรายละเอียดของภาพ ซึ่งคำตอบอาจจะเป็นคำตรงหรือคำผวนก็ได้

มีกฏที่สำคัญในการทายปริศนา คือ คำที่นำมาเป็นปริศนาในแต่ละบรรทัดจะนำคำนั้นมาเป็นคำตอบไม่ได้ เรียกว่าการ "ทับบาท"นอกจากนี้ยังมีอีกหลายลักษณะที่พอจะเล่นกัน จะรวบรวมนำเสนอในโอกาสต่อไป

# ชมรมปริศนาร้อยกรอง ชลบุรี #

ใครสนใจก็ขอเชิญตอบตามอัธยาศัย









 

Create Date : 07 เมษายน 2551
8 comments
Last Update : 7 เมษายน 2551 15:11:34 น.
Counter : 4011 Pageviews.

 

สวัสดีทุกท่านครับ

ปริศนาชุดที่แล้วก็ทายถูกจนครบหมดแล้ว
จึงลงชุดใหม่โดยพลัน

วันที่ 7 - 15 เม.ย. 51 เป็นงานประจำปีของ จ.ชลบุรี ชมรม ปริศนาร้อยกรอง ชลบุรี
ก็ประจำอยู่ในบริเวณ หอพระพุทธสิหิงค์ทุกคืน เพื่อเผยแพร่กิจกรรมนี้ โดยเฉพาะคืนวันที่ 12 จะมีการแข่งขันทายปริศนาร้อยกรอง โดยเปิดโอเพ่น จะทายเดี่ยวหรือทายเป็นทีมก็ได้
เราเคยมีผู้ชนะเลิศ ทีมศิษย์บุญชู ซึ่งสมาชิกในทีมเป็นแชมป์กลอนสด รายการคุณพระช่วย แต่ปีที่แล้วผู้ชนะเลิศคือทีมหว้ากอ ซึ่งเป็นสมาชิกในพันทิพนี่เอง ปีนี้ก็คงมาลุ้นป้องกันแชมป์

ใกล้ได้เวลาพิธีเปิดงานขอไปร่วมงานก่อนครับ

 

โดย: ปิดตาหารัก 7 เมษายน 2551 15:29:00 น.  

 

เพิ่งผ่านมาแถวนี้ค่ะ เห็นแล้ว โอ้วววว....ใช้หมองอย่างแรง อ่านปัญหาแรกก็งงค่ะ ทายไม่ถูก ปัญหาที่สองยิ่งเข้าไปใหญ่

เอาเป็นว่า ขอทายปัญหานี้ละกันนะคะ

ป.154
เป็นสัตว์จำพวกหนอน (กิ้งกือ)
ผู้ใหญ่สอนส่อสกุล (กิริยา)
ชุดนี้มีญี่ปุ่น (กิโมโน)
บั่นคอคุณลุ้นทายที (กิโยติน)

ถูกหรือผิดยังไงก็แวะมาบอกกันที่บ้านได้นะคะ อิอิ

 

โดย: อ้อแอ้ (cadeau ) 7 เมษายน 2551 16:47:05 น.  

 

 

โดย: sawkitty 7 เมษายน 2551 21:46:59 น.  

 

ขอบคุณอีกครั้งที่แวะไปตอบถึงบ้านนะคะ
โอว...มันเป็นอะไรที่ยากมากค่ะ แต่ว่า...แอ้รู้คำตอบแล้วล่ะ (ไม่สามารถนึกได้ด้วยตนเองค่ะ) "กิมิชาติ" ใช่มั้ยล่า...ขนาดเรียนจบด้านภาษามานะคะเนี่ย ยังไม่เคยรู้จักคำนี้มาก่อนเล้ยเรา

ไปละค่า..

 

โดย: อ้อแอ้ (cadeau ) 7 เมษายน 2551 23:42:41 น.  

 


คุณอ้อแอ้
ตอบถูกต้องแล้วครับ

เชิญใหม่ได้นะครับ

 

โดย: ปิดตาหารัก 7 เมษายน 2551 23:57:27 น.  

 

 

โดย: sawkitty 8 เมษายน 2551 8:23:25 น.  

 


สวัสดีทุกท่านที่เข้ามาครับ

สงสัยปริศนาอาจจะเข้มข้นไปนิด
เหล่าสหายจึงไม่ยอมไข

ปริศนาบางทีถ้าโป๊จนเห็นหมดก็ไม่น่าสนุก
ก็เลยนำประเภทเปลือยเล็กน้อย
เหมือนจะเห็น เหมือนจะไม่เห็น
ถ้าไม่เห็นเลยก็เรียกปริศนาปิด
สมัยโบราณปริศนาส่วนใหญ่จะเป็นประเภทนี้
จนกว่าจะเห็นคำเฉลย ถึงจะร้อง อ๋อ

ปริศนาบางทีแกะได้ 1 บรรทัด แต่พอ
ไปแกะบรรทัดอื่นมันเหมือนจะไม่เข้าชุด
คำตอบว่า พ้องอย่างไรกันแน่
นี่เป็นความสนุกอย่างหนึ่ง(สำหรับคนชอบคิด) หรือหาได้ 3 บรรทัด ติด 1 บรรทัด
ต้องค้นหาก็เป็นความสนุกอย่างหนึ่ง

ปริศนาบางทีเห็นบรรทัดเดียวก็หลุดหมด

ป.152 บรรทัดแรกน่าจะง่ายสุด
ไม้ที่ผันเสียงได้ มีไม่กี่ไม้

ป.153 บรรทัดที่ 3 ความหมายตรงตัว

ป.155 น่าจะเริ่มจากบรรทัดแรก
นักร้องชื่อดังที่ใช้นามสกุล วงศ์เทวัญ
มี 2 คน เอาคนที่เป็นผู้หญิง

ป.156 คำผวน บรรทัดแรกเธอเป็น
ดารานางแบบชื่อดัง น่าจะเพิ่งแต่งงานไป

ใบ้ให้พอท้วมๆ

ติดขัดยากง่ายยังไงแนะนำได้ครับ

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาแม้ไม่เม้นท์ก็ตาม

ใครใคร่ไข
ขอเชิญชวนตามอัธยาศัย

 

โดย: ปิดตาหารัก 8 เมษายน 2551 12:20:47 น.  

 

ป.152
ไม้นั้นผันบอกที...........จัตวา
เขตคามนี้เมืองกรุงหา...ยานนาวา
สวิสฯคิดทายมา...........เจนีวา
ถ้าขึ้นคงต้องลงเอย......สักวา

ป.153
ไอเลิฟยูกู่พร่ำรำพันซึ้ง..........ผมรักคุณ
บรรยายถึงความดีมิมีว่า..........สรรพคุณ
กินบนเรือนขี้รดบนหลังคา......เนรคุณ
จึงต้องร้องเรียกหาแต่ยาดม....ท่านเจ้าคุณ

ป.155
ร้องลูกทุ่งมุ่งลง"วงศ์เทวัญ"...จิ้งหรีดขาว
ยอมแพ้กันไม่สู้รู้บ้างไหม......ยกธงขาว
อัศวินควบมาอาชาไนย.........ขี่ม้าขาว
ละครใบ้คณะมีที่โด่งดัง.........คนหน้าขาว

ป.156
ซา หนึ่งนี้ที่เห็นเป็นพิมแน่................ซาย่อน = ซอนย่า
ซา หนึ่งแก้กลากเกลื้อนเหมือนคุ้นหู..ซามี่ = ซีม่า
ซา หนึ่งพบอบกันผันมาดู.................ซาน่าว = ซาวน่า
ซา หนึ่งรู้เรียกหาเต้นบราซิล.............ซาแบ้ม = แซมบ้า



 

โดย: ตาเชย 8 เมษายน 2551 20:33:52 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


ปิดตาหารัก
Location :
ชลบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]












Google


มือใหม่เรื่องคอมฯ อยากรู้จัก ทักทายทุกท่านที่แวะเข้ามา
ขอฝากเนื้อฝากตัว ผิดพลาดสิ่งใดขออภัย ณ ตรงนี้



Color Codes ป้ามด

Friends' blogs
[Add ปิดตาหารัก's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.