|
| 1 | 2 |
3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 |
10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 |
17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 |
24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 |
31 | |
|
|
|
|
|
|
|
๖ วันจากการสัมมนา "การพัฒนาภาวะผู้นำเพื่อชุมชนและสังคม" (BCL รุ่น ๑๖)
Entrepreneur ผมได้ยินคำนี้ครั้งแรกตอนที่เรียนปี ๑ ในหลักสูตรปริญญาตรี พออาจารย์ที่สอนเขาขยายความหมายให้ฟังว่าคำนี้หมายความว่าอะไร..ยิ่งชื่นชอบมากๆ มีคนพยายามแปลความหมายคำนี้เป็นภาษาไทยเชิงวิชาการได้คำไทยๆว่า "ผู้ประกอบการ" แต่ถ้าแปลแบบภาษาจีนแต้จิ๋วหรือเฉาโจว ก็จะได้ความหมายที่คุ้นเคยกันดีว่า "เถ้าแก่"
จังหวะชีวิตของคนเรา...บอกไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมตอนที่เราโหยหาโอกาสอะไรบางอย่าง มันกลับไม่มา แต่ตอนที่เราอยู่เฉยๆมันกลับแวะเข้ามาเคาะประตูแล้วก็หยิบยื่นประสบการณ์ดีๆมอบให้กับตัวเรา แต่ว่าตอนนั้นเราพร้อมที่จะเปิดประตูรับมันไหม? เพราะหลายๆคนไม่อดทนที่จะรอโอกาสนั้นหรือว่า...ตอนที่มันแวะเข้ามาทักทายเรา...เราเองต่างหากที่ไม่พร้อมจะเปิดประตูรับโอกาสดีๆแบบนั้น
ผมแวะไปเจอเพื่อนเก่าตอนกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด เขารับทราบว่าผมกำลังจะลาออกจากธนาคารแล้วกลับไปช่วยกิจการของครอบครัวในต่างจังหวัด เขาพูดถึงโครงการดีๆที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ในท้องถิ่นร่วมกันทำกิจกรรมดีๆเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ส่งอีเมลเรื่องการสัมมนา "การพัฒนาภาวะผู้นำธุรกิจและชุมชน" มาให้ผมแล้วก็ถามว่าสนใจไหม? หลังจากอ่านรายละเอียดแล้วก็คิดว่ามันน่าสนใจ...แล้วคิดว่าจากการเข้าสัมมนาคราวนี้เราคงได้อะไรเป็นแนวคิดใหม่ๆ ก่อนจะไปเริ่มสานต่อกิจการของครอบครัวต่อไป
ส่งใบสมัครเข้าร่วมสัมมนาโครงการนี้ไปที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน (The Foundation for Business and Community Leadership Development) ดูเหมือนเขามีการคัดเลือกผู้สัมมนาก่อนจะตอบรับ แต่สุดท้ายผมก็ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการก่อนวันทำงานวันสุดท้ายที่ธนาคาร
พออ่านรายละเอียดกำหนดการของการสัมมนาคราวนี้.......
อบรมตั้งแต่ ๘ โมงครึ่งถึง ๔ ทุ่มครึ่งตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม จนถึงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม สัมมนาเสร็จสิ้นลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคมตอนเที่ยง
คิดในใจว่ามันจะหนักอะไรขนาดนี้ เพราะยังไม่เคยเข้าอบรมหรือเข้าร่วมสัมมนาครั้งไหนที่เลิกดึกขนาดนี้ มันคงมีอะไรน่าสนใจในการสัมมนาคราวนี้..เขาถึงได้อบรมเลิกดึกขนาดนี้
สถานที่จัดสัมมนาทางผู้จัดเขาเลือกศูนย์ฝึกอบรมบ้านผู้หว่าน ในเขตอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นสถานที่ในการจัดสัมมนา
ค่าใช้จ่ายในการสัมมนาคราวนี้ผู้เข้าอบรมจ่ายเพียงค่าที่พักและอาหารเท่านั้น ผู้เข้าร่วมสัมมนามาจากหลายจังหวัด มีทั้งผู้ประกอบการและข้าราชการ
การสัมมนา "การพัฒนาภาวะผู้นำธุรกิจและชุมชน รุ่นที่ ๑๖" เริ่มต้นที่ห้องประชุมนี้
กฎเกณฑ์ถูกกำหนดเอาไว้สำหรับคนเข้าสัมมนาว่า...
ใครเข้าห้องประชุมแล้วลืมเซ็นต์ชื่อเสียค่าปรับ ใครลืมคล้องป้ายชื่อก็โดนปรับ ใครเข้าห้องประชุมเกินกว่าเวลาเริ่มสัมมนาก็โดนปรับ ใครเปิดโทรศัพท์มือถือแล้วปล่อยให้เสียงโทรศัพท์ดังออกมาในห้องสัมมนาโดนปรับแพงทีเดียวถึง ๑๐๐๐ บาท
กฎระเบียบแบบนี้...ผมไม่เคยสัมผัสที่ไหนมาก่อน แต่กฎเกณฑ์แบบนี้ทำให้การสัมมนา ๖ วันผ่านไปอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วลองเดาดูว่าผมโดนปรับหรือไม่?
ชั้นเรียนตอนบ่ายของวันแรก...ผมลืมเซ็นต์ชื่อ แล้ววันที่มีการซื้อเสื้อของชมรม...มัวแต่มองดูเสื้อ...ลองเสื้อ...จนลืมเซ็นต์ชื่อไปเลย ผมเลยบริจาคเงินเข้ากองกลางไปตามกฎกติกาและมารยาทของการสัมมนาครั้งนี้ถึงสองครั้ง
เงินที่มีผู้บริจาคก็จะถูกหย่อนลงในกล่องลูกอมแบบนี้แหละ แต่ว่าคนบริจาคคนนี้เขาไม่มีแบงก์ย่อย เขาเลยบริจาคด้วยแบงก์พันแต่ไปขอแลกทีหลัง
หลายๆคนไม่อยากให้มีเสียงโทรศัพท์รบกวนคนอื่นและเคารพกฎของการสัมมนา...เลยเอาโทรศัพท์มือถือฝากไว้หน้าห้องแบบนี้ โดยเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้าห้องช่วยรับโทรศัพท์แทนและจดข้อความสำคัญไว้ให้ พอเสร็จการประชุมหรือว่าช่วงเบรก...เจ้าของโทรศัพท์มือถือก็มารับโทรศัพท์มือถือไปโทรติดต่อธุระของตนเอง
ตอนทำงานกับหลายองค์กรที่ผ่านมา....ดูเหมือนบรรดาผู้บริหารบางคนให้ความสำคัญกับโทรศัพท์มือถือมากจนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการประชุม
ความจริงเรื่องของการรักษาเวลาในการประชุมมันเป็นมารยาทที่ทุกคนควรให้ความสำคัญแต่...หลายคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของเวลาในการประชุมเอาเสียเลย บางครั้งผมมีคำถามในใจว่า...เวลาของคนบางคนสำคัญมากขนาดที่ให้ทุกคนมารออย่างนั้นหรือ?...ทั้งๆที่เวลาของทุกคนสำคัญเท่ากัน คนมาก่อนเวลาแต่ต้องเสียเวลารอคนมาสาย และกว่าการประชุมจะเริ่มต้นก็กินเวลาไปอย่างน้อย ๒๐ นาทีแล้ว ในญี่ปุ่นเป็นที่รู้กันว่าถ้ารอกันถึง ๓๐ นาทีแล้วยังไม่มา...การประชุมเป็นอันยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ แต่ในเมืองไทยผมเคยเจอประสบการณ์ที่ต้องมารอคนๆเดียวเพื่อเข้าประชุม เราเสียเวลารอคนๆนั้นกว่า ๔๐ นาทีเพียงเพราะคนๆนั้นมัวแต่คุยโทรศัพท์
คนเราไม่ได้มีประชุมเพียงประชุมเดียว...บางครั้งเราก็มีนัดอื่นที่ต้องทำต่อจากประชุมนั้น เมื่อประชุมเลิกล่าช้ากว่ากำหนด มันย่อมส่งผลกระทบต่อตารางนัดหมายที่ตามมา... จะมีกี่คนที่ตระหนักว่าสิ่งที่เราทำมีผลกระทบต่อคนอื่น?
เพื่อนใหม่คนแรกที่รู้จักจากการอบรมคราวนี้คือพี่หมอไก่ พี่หมอไก่จบทันตแพทย์ จุฬาฯ แต่ด้วยเหตุผลที่เป็นลูกชายคนโตของครอบครัว ก็ต้องกลับไปช่วยกิจการของครอบครัว การที่พี่หมอไก่เคยเป็นเด็กกิจกรรมสมัยเป็นนิสิตมาก่อน...แกเลยมาทำกิจกรรมของ BCL (Business Community Leadership) ให้กับจังหวัดนครสวรรค์ เหตุผลของพี่หมอไก่ใกล้เคียงกับผมในการกลับไปช่วยกิจการครอบครัวถึงผมจะไม่ใช่ลูกชายคนโตก็ตาม แล้วก็สมัยเรียนผมก็เป็นเด็กกิจกรรมคนหนึ่ง จบออกมาแล้วก็ยังทำกิจกรรมโน่นกิจกรรมนี่มาตลอด...ราวกับว่าชีวิตมันไม่เคยหยุดนิ่ง อยู่เฉยๆไม่ค่อยเป็น การได้มารู้จักพี่หมอไก่ในการสัมมนาคราวนี้...มันทำให้การกลับไปทำกิจกรรมที่นครสวรรค์ง่ายขึ้นเพราะมีคนที่เรารู้จักแล้ว คุ้นเคยกันแล้ว
พอดูรายชื่อคนที่เข้ามาร่วมสัมมนาคราวนี้มีคนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกถึง ๔ คน ทั้งหมดเป็นอดีตนักเรียนทุน
ดร.ป้อม เป็นอดีตนักเรียนทุนอานันทมหิดล แม่พูดถึงดร.ป้อมให้ฟังอยู่บ่อยๆว่าจบด็อกเตอร์มา...แต่ก็กลับมาทำกิจการครอบครัวที่นครสวรรค์ เหตุผลที่ดร.ป้อมต้องกลับมาทำกิจการครอบครัวเพราะว่าเขาเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ช่วงนั้นคุณพ่อเขาเสียชีวิตลงไม่มีคนสานกิจการต่อ ดร.ป้อมตัดสินใจยุติบทบาทอาจารย์ Finance ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นเถ้าแก่บริหารกิจการพลาสติกรีไซเคิลของครอบครัว ที่ร้านผมก็เป็นลูกค้ารายหนึ่งของโรงงานของดร.ป้อม
ดร.ยูจบด็อกเตอร์ด้านฟิสิกส์จาก Hannover ในเยอรมนี ได้ฟังดร.ยูอธิบายความหมายของทฤษฎีสัมพันธภาพและทฤษฎีควอนตัมทำให้ผมเชื่อว่า "กรรมจัดสรร" ให้เราพบผู้คนในช่วงเวลาที่เหมาะสมเอง
พี่โด่ง ไปจบด็อกเตอร์ด้านกฎหมายจากเยอรมนี ตอนเล่นเกมส์วันแรก ไปคว้าป้ายชื่อพี่โด่งมา...ตามหาตัวเจ้าของป้ายชื่อจนเจอ แต่ระหว่างอบรมไม่ค่อยได้ทำ Workshop กลุ่มเดียวกับพี่โด่ง พี่โด่งให้ผมยืมจักรยานไปขี่ออกกำลังกายเล่นตอนเช้ารอบๆศูนย์อบรมบ้านผู้หว่าน...ถึงได้รู้ว่าสถานที่มันกว้างและมีธรรมชาติที่สวยงามขนาดไหน
ทุนอานันทมหิดลไม่ผูกมัดผู้ได้รับทุน ทุนของเยอรมันที่ดร.ยูและพี่โด่งได้รับก็ไม่มีการผูกมัดผู้ได้รับทุน เช่นเดียวกันทุนรัฐบาลญี่ปุ่นที่ผมได้รับก็ไม่มีสัญญาผูกมัดอะไรกับผู้ได้รับทุน
มีความรู้สึกว่าด็อกเตอร์ทั้งสี่คนมีลักษณะนิสัยร่วมกันที่พอสัมผัสได้...ในเรื่องของความเชื่อมั่นในตัวเอง, การคิดอะไรแบบมีระบบและหลักการ อาจจะเป็นเพราะว่าระบบการเรียนในหลักสูตรปริญญาเอกสอนให้คิดแบบนั้น กว่าวิทยานิพนธ์จะผ่านพ้นการอนุมัติจากอาจารย์ที่ปรึกษา....เราต้องโต้แย้งด้วยเหตุผลและน้ำหนักที่เพียงพอที่จะโน้มน้าวให้อาจารย์ที่ปรึกษาคล้อยตามได้ สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันระหว่างเราทั้งสี่คนคือยังเป็นโสดอยู่
วิทยากรที่มาให้ความรู้มาจากนิด้าเป็นส่วนใหญ่ ที่มาที่ไปของ BCL ก็มาจากนิด้าไอเม็ทซึ่งเป็นลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์ดร.นิกร วัฒนพนมมาก่อน เหล่าศิษย์พวกนั้นตอนนี้ก็อยู่ในวัยเกษียณแล้วมีรุ่นลูกที่มารับช่วงกิจการต่อ หลังจากนิด้าไอเม็ทเงียบหายไปแล้ว ก็มีการฟื้นการจัดอบรม BCL (Business Community Leadership) ขึ้นมาให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อให้นักธุรกิจผู้ประกอบการเหล่านั้นไปเป็นผู้นำของชุมชนพัฒนาสร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นโดยอยู่บนพื้นฐานของความมีคุณธรรม ทุนสนับสนุนของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชนได้มาจากจิตศรัทธาด้วยความสมัครใจของเหล่าศิษย์เก่า BCL ไม่มีการเรี่ยไรจากบรรดาศิษย์เก่า
วัตถุประสงค์จริงๆของ BCL ก็เพื่อสร้างผู้นำธุรกิจและชุมชน เครือข่ายของผู้นำธุรกิจและชุมชนเหล่านั้นมาร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่นที่ตนเองอยู่ และเครือข่ายทั่วประเทศถ้ามาร่วมมือกันมันก็จะมีพลังผลักดันสร้างสิ่งดีๆให้แก่สังคม ประเทศชาติต่อไป
ทางคณะกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าความตั้งใจที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมในลักษณะนี้จะต้องเกิดภายในระยะเวลาอันสั้น แต่การจะขับเคลื่อนให้สังคมไปในทิศทางที่ถูกต้องต้องใช้เวลา...ผ่านการล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วนแต่ก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจจนกว่าเครือข่ายผู้นำธุรกิจและชุมชนทั่วประเทศจะช่วยกันผลักดันขับเคลื่อนสังคมไทยไปในครรลองที่ถูกต้อง วันนึงมันคงไปถึง
เคยได้ยินชื่ออาจารย์นิกร วัฒนพนม ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี แต่ไม่มีโอกาสได้เจอ ผมยังไม่มีโอกาสได้ฟังอาจารย์นิกรบรรยายที่ไหนมาก่อน...
การมาร่วมสัมมนาคราวนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้สัมผัสกับอาจารย์ดร.นิกร วัฒนพนมตัวจริง แนวคิดที่อาจารย์นิกรถ่ายทอดปลูกฝังให้แก่พวกเรา มันทำให้พวกเราหัดมองย้อนสะท้อนตัวเราเอง ค้นหาตัวเราเอง ซึ่งหลายครั้งที่พวกเราเองก็มองข้ามเรื่องพวกนี้ วันแรกอาจารย์ตั้งคำถามให้พวกเราตอบกับตัวเองว่า
เราคือใคร?, เราทำงานไปทำไม?, ความฝันที่เราอยากจะให้มันเกิดขึ้นในชีวิตคืออะไร?, แล้วตอนนี้เราไปถึงไหนแล้ว จุดหมายที่เราจะไปให้ถึงกับความจริงณ.ปัจจุบันมันมีความห่างกันแค่ไหน?, แล้วรู้ไหมว่าจะไปถึงจุดหมายนั้นควรและต้องทำอย่างไร?
อาจารย์นิกรยังไม่ได้ให้เราตอบคำถามเหล่านี้วันแรก ให้เก็บเอาไว้ในใจก่อน
อาจารย์นิกรมักจะมีรูปมาให้เราดู แล้วถามพวกเราว่าเรามองรูปเหล่านั้นแล้วนึกถึงอะไร?
คำตอบของเพื่อนๆร่วมรุ่นสะท้อนว่าหลายคนในที่นี้เป็นคนสนใจธรรมะ เพราะคนที่ไม่สนใจธรรมะจะไม่คิดแบบนั้นแล้วจะไม่ตอบแบบนั้น การที่คนสนใจอะไรเหมือนๆกันมันก็เลยเกิดแรงดึงดูดให้คนเหล่านี้มาเจอกัน รู้จักกัน ได้ทำกรรมร่วมกัน เสริมกันสร้างกรรมดีร่วมกัน
อาจารย์นิกรปูพื้นความหมายของคำว่า "ผู้นำ" และผู้นำที่ดีควรจะเป็นอย่างไร? ตัวอย่างผู้นำที่ประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออกมีสิ่งหนึ่งเหมือนกันคือ
"คนเหล่านั้นทำอะไรอยู่บนพื้นฐานของการมีหลักการ มีคุณธรรม และมโนธรรมเป็นตัวคุมคนเหล่านั้นไม่ไปทำในสิ่งที่ผิดหลักคุณธรรม ไม่ว่าสิ่งที่ไร้คุณธรรมนั้นสังคมส่วนใหญ่จะยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ใครก็ทำกันได้ทั้งนั้น แต่ผู้นำที่ดีจะไม่ทำสิ่งไร้คุณธรรมนั้น"
"อุดมการณ์ต้องไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างอื่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา"
อาจารย์นิกรหยิบยกตัวอย่างขึ้นมาให้เราเห็นก่อนจะสรุปแนวคิดของอาจารย์เอาไว้ว่า
"ความสวย ชัยชนะ และความสำเร็จ เป็นของชั่วคราว
แต่
ความงาม ความดี และความถูกต้องเป็นของถาวร"
ตอนค่ำของวันแรก อาจารย์สุภัท ตันสถิติกร อดีตนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เป็นคนนำพวกเราทำ Worskshop ฝึกการฟังและการพูดโน้มน้าวคนอื่น โดยหยิบหัวข้อที่เราสนใจมาถกปัญหากัน กลุ่มเราหยิบหัวข้อ "รัฐบาลควรเปิดบ่อนเสรีไหม?" และ "อยู่เป็นโสดหรือว่าแต่งงานดีกว่ากัน?" มาถกกัน บังเอิญมาเจอลักษณะของผู้เห็นด้วย ๓ คนแต่ผู้ไม่เห็นด้วย ๑ คนต่อหัวข้อดังกล่าว แม้ว่าหัวข้ออยู่เป็นโสดหรือชีวิตแต่งงานจะถูกเขียนไว้เยอะแล้วในบล็อกนี้ แต่การที่คนไม่เห็นด้วยต้องพยายามโน้มน้าวให้คนเห็นด้วยคล้อยตามมาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว...ไม่ง่ายนัก มีคนในกลุ่มเป็นคนคอยสังเกตการณ์แล้วสรุปให้ฟังเพื่อคนพูดจะได้พัฒนาตนเองและหาทางปรับปรุงในการพูดให้ดีขึ้น
วันที่สองของการสัมมนา อาจารย์นิกรพูดถึงนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง อาจารย์ชี้ให้เห็นของสิ่งที่เรียกว่า "กระแส" และตัวนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมากและรุนแรง ตัวนี้ถูกมองข้ามไปเวลามีการสอนในชั้นเรียนในมหาวิทยาลัย
ตัวอย่างของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในโลกหลายคนออกจากการเรียนกลางคันอย่างเช่น สตีฟ จ็อบส์, บิล เกตต์, หรือสองหนุ่มคนก่อตั้ง Google ขึ้นมาแต่ลาออกกลางคันในระหว่างเรียนหลักสูตรปริญญาเอก
ตอนที่ฟังเรื่องราวคนดังเหล่านั้นที่ทิ้งการเรียนกลางคัน...ในใจเถียงเล็กๆว่า...สำหรับเรา...ปริญญาเอกไม่ใช่เพื่อตัวเราคนเดียว..จะให้เลิกล้มกลางคันเป็นไปไม่ได้...เพราะว่ามันมีความหมายต่อครอบครัวเรา เพื่อนเรา คนที่คอยให้กำลังใจเรามาตลอด พวกเขาคอยรอความสำเร็จของเรา หรือถ้าวันนึงเราตัดสินใจแต่งงานแล้วก็มีลูกต่อไป ตัวอย่างของความพยายามกว่าจะได้ปริญญาเอกมันเอาไปสอนลูกได้ว่า "ความพยายามของผู้คนไม่จบลงด้วยความสูญเปล่า" ถ้าไม่มีตัวอย่างนี้จะกล้าสอนลูกไหม?
เส้นทางในชีวิตของผู้คนมีทางเลือกที่แตกต่างกัน สำหรับผมขอเลือกที่จะไล่ล่าฝันที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่เด็ก การมีคำว่า "ดร." นำหน้า ทำสำเร็จแล้วก็เกิดความภูมิใจแล้ว แล้วคิดว่ามันเป็นแบบอย่างให้คนอื่นเห็นว่าผลลัพธ์ของความเพียรมันตอบแทนกับผู้คนเสมอถ้าไม่เลิกล้มความตั้งใจไปเสียก่อน
อาจารย์ดร.นิกร หยิบยกเรื่องราวของ สตีฟ จ็อบส์ คนที่ปั้นแม็คอินทอชขึ้นมาในโลกใบนี้มาให้พวกเราฟัง คนมักจะชื่นชมกับความสำเร็จของคนดังแต่ไม่รู้หรอกว่ากว่าเขาจะมาถึงวันนี้เขาผ่านเรื่องเลวร้ายมานับไม่ถ้วน ชีวิตที่ลำบากของสตีฟ จ็อบส์ มันทำให้ชีวิตเขามาถึงวันนี้ ถ้าสตีฟ จ็อบส์ไม่เข้าไปนั่งเรียนด้านการออกแบบตัวอักษรในชั้นเรียนภายหลังจากเขาลาออกจากมหาวิทยาลัย....เขาคงไม่สามารถสร้างแม็คอินทอชขึ้นมาในโลกใบนี้ มองย้อนกลับไปเขาถึงได้รู้ว่า...ไอ้จุดที่เขาเคยนั่งจุดไปเรื่อยๆในระหว่างชั้นเรียน...มันโยงมาถึงอนาคต
บางทีชีวิตก็เป็นแบบนี้ สิ่งที่เราทำวันนี้ เราไม่รู้หรอกว่ามันนำทางให้เราไปเจออะไรหลายๆอย่างในอนาคต
อาจารย์นิกรหยิบเรื่อง แจ๊ค มาร์ อดีตครูสอนภาษาอังกฤษชาวจีนที่ไม่เคยรู้เรื่องคอมพิวเตอร์มาก่อน...แต่ใครจะรู้ว่าจากการที่ไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์เลย...เขาหันมาสนใจคอมพิวเตอร์จากการได้สัมผัสแป้นคีย์บอร์ดตอนไปอเมริกาและคิดค้นการค้นหาคำในภาษาจีนจนมาก่อตั้งเว็บไซต์ค้นหาคำที่ชื่อ Alibaba.com เขาเป็นคนนึงที่นิตยสาร Times ลงว่าเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลต่อโลกใบนี้
แจ็ค มาร์ บอกว่า
"เขาไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อเงิน แต่เขาทำธุรกิจเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ต่างหาก"
อาจารย์นิกร สรุปตอนท้ายว่า
"ถ้าโลกใบนี้ยังมีฝัน มีจินตนาการ มีแรงบันดาลใจ สามารถทำสิ่งต่างๆในโลกใบนี้ได้"
การอบรมวันที่สองพวกเราถูกให้ฝึกคิดเป็นระบบ คิดหาสาเหตุของปัญหา อาการของปัญหาไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาจริงๆ มีการทำ Workshop แต่ละกลุ่มพยายามคิดว่ามีปัญหาอะไรในการทำงาน ปัญหานั้นต้นเหตุมาจากอะไร ปัญหานั้นโยงไปสู่ปัญหาอื่นอย่างไร มีการโยงมาถึงปัญหาคอร์รัปชั่นในเมืองไทย ค้นหาต้นตอรากเหง้าของปัญหาว่ามันเกิดจากอะไร ผลกระทบตามมาจะเป็นอย่างไร ไปเกี่ยวโยงกับอะไรบ้าง เราสมควรวางเฉยต่อปัญหานี้ต่อไปหรือว่าพยายามหาทางขจัดค่านิยมที่ผิดๆตรงนี้ออกไปจากสังคมไทย
วันที่สามของการอบรม...อาจารย์นิกรให้พวกเราค้นหาตนเอง การทำ Workshop อาจารย์ให้เวลาพวกเรานั่งเขียนสรุปสะท้อนตัวเราออกมาว่า เราเป็นใคร เราทำงานไปเพื่ออะไร เรามีความฝันว่าอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร แล้วก็ตอนนี้เราอยู่ห่างจากเป้าหมายนั้นมากน้อยแค่ไหน ทำอย่างไรจะไปถึงจุดนั้น คุณค่าที่ตัวเราให้ความสำคัญคืออะไร? และคุณค่านั้นมันมีความหมายต่อตัวเราอย่างไร อาจารย์ให้เรานั่งเขียนแบบสบายๆตลอดภาคเช้าของการสัมมนา...จะไปน้่งเขียนที่ไหนก็ได้ ใช้เวลาเขียนกัน ๓ ชั่วโมงเพื่อค้นหาตัวเอง
เป็นเรื่องยากนะ...หลายคนไม่เคยหยุดคิดและถามตัวเองเลยว่า เราเป็นใคร? เราชอบและสนใจอะไรกันแน่ในชีวิต? อะไรคือเป้าหมายแท้จริงในชีวิต?
ตอนบ่ายอาจารย์นิกรให้โอกาสพูดว่าพวกเราค้นหาตัวเองแล้วรู้ไหมว่าเป้าหมายในชีวิตเราต้องการเป็นอะไร
มีลูกยุจากเพื่อนในกลุ่มที่นั่งทำงานด้วยให้ผมพูด.....อาจจะเป็นเพราะปกติผมมักจะแสดงความคิดเห็นเสมอเวลาอาจารย์ถามความคิดเห็นของคนที่มาสัมมนา
ไมโครโฟนถูกวางที่โต๊ะ....คนอื่นกำลังรอฟังว่าผมจะพูดว่าอะไร?
ความจริง....ผมใช้เวลาค้นหาตัวเองมานาน นานมากพอที่จะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเป็นอะไร อยากทำอะไร แต่ว่าไม่มีโอกาสได้พูดต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก เคยพูดกับเพื่อนสนิท บางคนได้ยินสิ่งที่เราพูดเรื่องเป้าหมายในชีวิตก็หัวเราะทันทีแล้วก็พูดออกมาว่ามันยากที่จะไปถึง
วันนี้เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสได้พูดถึงเป้าหมายในชีวิตที่เรามีความชัดเจนมานานแล้วต่อหน้าผู้คนจำนวนมากขนาดนี้...
"ผมรู้ว่าผมเป็นผู้ชายที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบในชีวิต แล้วก็ไม่เคยยอมแพ้แม้ว่าจะล้มเหลวกี่ครั้งก็ตาม เพราะผมเชื่อว่าความล้มเหลวคือบันไดก้าวแรกของความสำเร็จที่จะตามมา ถ้าเราอดทนต่อความพ่ายแพ้ แต่ยังคงเพียรพยายามต่อไป วันนึงเราจะสัมผัสความหอมหวลของความสำเร็จในที่สุด
ผมมีชีวิตดำรงอยู่เพื่อพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและโลกใบนี้ให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ถูกต้อง
แล้วทำไมชีวิตต้องพัฒนาด้วย?
ก็เพราะว่าถ้าเราไม่มีการพัฒนาแต่ปล่อยให้เวลาแต่ละวันสูญเปล่าไปเรื่อยๆ ชีวิตเหมือนไม่มีคุณค่า ไม่มีสีสัน คุณค่าในตัวเราลดไปเรื่อยๆเหมือนรอให้วินาทีสุดท้ายของชีวิตมาถึง
แล้วทำไมต้องมีการสร้างคุณค่าด้วย?
ก็เพราะว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่า และคุณค่าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตัวเขาตระหนักในสิ่งที่เขาทำว่ามีคุณค่า มีความภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ และเมื่อเขาทำในสิ่งที่มีคุณค่า เขาก็จะมีความสุขในการใช้ชีวิตในโลกใบนี้และคุณค่าที่เขาได้ทำมันยังสามารถถ่ายทอดไปสู่บุคคลอื่นได้ด้วย
พื้นฐานของมนุษย์ทุกคนมีเรื่องราวของความภาคภูมิใจ แต่เรื่องราวความภาคภูมิใจจะมีไม่กี่เรื่องในชีวิตถ้าเขาไม่คิดที่จะสร้างเรื่องราวในชีวิตด้วยการทำสิ่งที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้นให้กับตนเอง ให้แก่ผู้อื่น ความภาคภูมิใจช่วยหล่อเลี้ยงให้จิตใจเบิกบานและรู้สึกว่าชีวิตนี้มีค่าที่จะดำเนินต่อไป
ผมประกอบอาชีพไปเพื่ออะไร?
การที่ผมมีอาชีพทำให้ผมมีรายได้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รายได้ส่วนที่เหลือจากการใช้จ่ายสามารถนำไปบริจาคช่วยเหลือบุคคลที่สมควรช่วยในสังคม มีเงินสำรองเอาไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เจ็บป่วย ในยามชรา โดยไม่เป็นภาระแก่ใคร
ความฝันในอนาคตของผม...
ผมอยากมีผลงานที่เป็นแนวคิดที่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้คนบนโลกใบนี้ให้เกิดการพัฒนาตนเองไปในทางที่เจริญขึ้น ทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ ผลงานตรงนี้เกิดการยอมรับของคนทั่วโลก ผลงานดีพอที่สมควรกับการได้รับรางวัลโนเบล
คุณอาจจะหัวเราะเยาะที่ได้ยินว่าผมมีความฝันว่าจะไปให้ถึงรางวัลโนเบล
แต่ไม่เป็นไรหรอก...
วันที่ผมได้รับรางวัลโนเบลเมื่อไหร่...วันนั้นผมขอเปลี่ยนเสียงหัวเราะเยาะในวันนี้..เป็นเสียงชื่นชม เสียงของการแสดงความยินดี แล้วก็เสียงปรบมือ
ถ้าสมมติว่าผมได้รับรางวัลโนเบลแล้วณ.ตอนนี้ผมรู้สึกอย่างไร?
ผมจะมีความภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับตนเองและสังคม ช่วยพัฒนาโลกใบนี้ให้น่าอยู่ขึ้น แต่ก็จะพยายามสร้างสรรค์ผลงาน แนวคิดดีๆออกมาให้แก่ผู้คนบนโลกใบนี้ต่อไป โดยไม่มุ่งหวังรางวัลอื่นตอบแทนอีก ขอเพียงแนวคิดที่เราถ่ายทอดให้แก่ผู้คนบนโลกใบนี้ช่วยพัฒนาโลกใบนี้ให้ดีขึ้น ไม่ว่าผมจะยังมีชีวิตอยู่ต่อไปหรือไม่ก็ตาม ผู้คนบนโลกใบนี้กล่าวขวัญถึงผลงานที่ผมสร้างและทิ้งเอาไว้กับโลกใบนี้ด้วยความชื่นชม
ตอนนี้เป้าหมายที่จะไปถึงรางวัลอันทรงเกียรติอย่างรางวัลโนเบลกับปัจจุบันมีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน?
ตอนนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น...แต่เห็นการพัฒนาคืบไปข้างหน้าเรื่อยๆ"
พอพูดจบลงมีเพื่อนบางคนเข้ามาชื่นชมในสิ่งที่ผมพูดแล้วก็จะคอยรอความฝันที่ผมจะทำให้มันเป็นจริงในอนาคต..โดยไม่หัวเราะเยาะความฝันของผม
ข้อความจากหนังสือ "ความฝันโง่ๆ" ของ คุณ วินทร์ เลียววาริณ พูดถึงความฝันของคนตาบอดคนหนึ่งที่ชื่อ แอริค วิลีนไมเยอร์ ที่ต้องการปีนยอดเขาเอเวอร์เรสท์ แค่ฟังหลายคนอาจจะบอกว่านี่ช่างเป็นความฝันที่โง่มากๆที่ตาบอดแล้วยังไม่เจียมตัวคิดจะปีนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกที่คนตาดีหลายคนไม่เคยทำได้ แต่ว่า แอริค วิลีนไมเยอร์ก็พิสูจน์ว่ากำลังใจมนุษย์อยู่เหนือความทุพพลภาพ เขาพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรส เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๑
บ่อยครั้งที่มนุษย์เรามีความฝันแต่ความฝันนั้นกลับถูกมองว่าเป็น "ความฝันโง่ๆ" แล้วเราก็ทิ้งฝันนั้นไป แต่ถ้าเราไม่สนใจว่าใครจะว่าเป็นความฝันอันโง่เง่าขนาดไหน...แต่เรายังคงไล่ล่าฝันของเราต่อไปโดยไม่ท้อต่อเสียงเย้ยหยันเหล่านั้น....ใครจะรู้ว่าฝันที่ใครๆก็บอกว่าเป็นความฝันโง่ๆมันกลายเป็นจริงขึ้นมา
พูดถึงความฝันแล้วมีเรื่องที่ขอโยงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย....ในรุ่นนี้มีญาติคนดังมาร่วมสัมมนาด้วยหลายคน
คนแรกที่จะขอแนะนำคือน้องเม่ย(妹)เม่ยเป็นญาติกับคุณบัณฑิต อึ้งรังษี ผมมักจะอ่านบทความของคุณบัณฑิตอยู่บ่อยๆ ในบล็อกนี้ก็ยกข้อความของคุณบัณฑิตมาลงบ่อยๆ ระหว่างอบรมมักเจอเม่ยตาปรืออยู่บ่อยๆระหว่างที่ฟังการบรรยาย แต่ก็มีจรรยาบรรณของช่างภาพที่จะไม่เก็บภาพแบบนั้นไว้เป็นที่ระลึกให้คนในรุ่นรู้ เม่ยมีความฝันอยากเป็นอึ้งย้ง...แต่ไม่ต้องการก๊วยเจ๋งเพราะก๊วยเจ๋งที่บรรยายเอาไว้ในมังกรหยกเป็นผู้ชายที่ซื่อบื้อไปหน่อย
ตอนบ่ายวันนั้นวิทยากรเป็นรุ่นพี่ที่เป็น BCL รุ่นที่ ๑ ชื่อ เกรียงศักดิ์ วิริยะอาชา พี่เกรียงศักดิ์(หลี)เป็นนายกเทศมนตรีตำบลหนองแก อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เทศบาลตำบลหนองแกได้รับรางวัลเทศบาลดีเด่น พี่หลีเล่าให้เราฟังว่าเขาสร้างระบบเทศบาลที่ปลอดจากระบบคอร์รัปชันได้อย่างไร บริหารเทศบาลอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ บทบาทของเทศบาลต่อการให้บริการประชาชน ความจริงถ้ามีคนคิดอย่างพี่หลีเราคงไม่หงุดหงิดกับการให้บริการประชาชนของระบบราชการ ตราบเท่าที่หัวหน้าไม่คิดเรื่องการโกง....ลูกน้องไม่กล้าที่จะโกง....การคอร์รัปชันจะไม่เกิดขึ้น
ค่ำคืนนั้น...เราทำ Workshop ที่เป็นกระจกส่องให้กัน ว่าเรามองตัวเราอย่างไร แล้วคนอื่นมองเราอย่างไร เป็นกิจกรรมที่สนุกมาก แต่ก็ไม่อยากเชื่อว่าวันนั้นจะเลิก ๕ ทุ่มกว่า
วันนั้นมีเสียงสะท้อนออกมาจากรุ่นพี่เก่าว่าผมใช้เวลากับการบันทึกภาพมากไปหน่อย ความจริงก็มองว่าทุกคนคงอยากมีอะไรเป็นที่ระลึกเก็บเอาไว้จากการสัมมนาคราวนี้ แต่ไม่เห็นใครจะมาทำหน้าที่บันทึกภาพบรรยากาศในการอบรมเท่าไหร่ เราเลยทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ระหว่างสัมมนาตามประสาคนชอบถ่ายภาพ พอมีเสียงเตือนเราเลยเพลามือลง
วันที่สี่ของการอบรม อาจารย์ดร.มณีวรรณ ฉัตรอุทัย มาสอนให้ความรู้โดยหยิบยกเรื่องของการคิดและการบริหารคน หยิบเอาแนวคิดของโนนะกะ กูรูด้านนวัตกรรมของญี่ปุ่น เรื่อง SECI มาอธิบาย อาจารย์มณีวรรณมีวิธีการดำเนินการสอนได้สนุกสนานมาก มีการหยิบเอาตัวอย่างบ้านขนมนันทวัน ร้านขนมชื่อดังในเพชรบุรีของพี่นันทวันมาสอนโดยอธิบายกับโมเดล SECI ของ Nonaka ได้อย่างลงตัว
ตอนบ่ายมีการเลือกประธานรุ่น เงื่อนไขในการเลือกประธานได้รับการแนะนำจากรุ่นพี่ว่าปัญหาที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ถ้าจะให้การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพประธานรุ่นควรจะมีความสมัครใจและพร้อมที่จะมาทำงานตรงนี้ ตรงนี้เลยได้ข้อสรุปว่าประธาน BCL รุ่น ๑๖ ควรมาจากความสมัครใจ มีเพื่อนๆในรุ่นที่ออกมาเป็นตัวแทนของรุ่นทั้งหมด ๖ คน เป็นประธานรุ่น ๑ คน รองประธานรุ่นที่ดูแลประสานงานกับเพื่อนในแต่ละภาคจำนวน ๓ คน มีเลขานุการ ๑ คนและเหรัญญิก ๑ คน ส่วนเพื่อนในรุ่นที่เหลือทุกคนก็ถือว่าเป็นกรรมการของรุ่นไปด้วย พี่วันดี(ลี่)เป็นประธานรุ่น ๑๖ ผมเป็นรองประธานภาคกลาง พี่แหม่มเป็นรองประธานภาคใต้ เชอร์รี่เป็นรองประธานภาคอีสาน หนูเป็นเหรัญญิก และยอดเป็นเลขานุการของรุ่น
อาจารย์สุภัท มาสอนเรื่อง Presentation ปกติอาจารย์ก็มีเรื่องตลกที่ต้องฟังดีๆถึงจะเข้าใจมาเล่าให้พวกเราฟังอยู่แล้ว
คราวนี้พอมาหยิบประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่อง Presentation มาพูด เรียกเสียงฮาจากชั้นเรียนได้ไม่ยาก
ตอนค่ำมีกิจกรรมที่ทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า "ทีม" คืออะไร โดยอาจารย์วิวรรธน์ มิ่งเมือง การจะสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพมันผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง...จะเอาชนะความขัดแย้งอย่างไรจึงจะมาสู่ขั้นตอนของการสร้างสรรค์ได้เร็วที่สุด
วันที่ห้าของการอบรม อาจารย์ดร.ชัยรัช หิรัญยะวิสิต มาพูดถึงธุรกิจขนาดย่อม โมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมันมีหน้าตาอย่างไร ทั้งในไทย ในอเมริกา ความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ไม่สร้างเงื่อนไขวุ่นวายให้ลูกค้า แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ตัวอย่างแฟรนไชส์ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว...เป็นคำตอบที่มองเห็นภาพได้ เจ้าของก็เริ่มจากธุรกิจง่ายๆไม่ซับซ้อนแล้วก็ขยายไปเรื่อยๆจนตอนนี้ธุรกิจมียอดขายหลายร้อยล้านบาท
ตอนที่ทำ Workshop พี่น้อยได้พรีเซ็นต์ว่าจะเติมช่องว่างที่ไม่ลงตัวทางธุรกิจสำหรับธุรกิจรีสอร์ทอย่างไร?
ฟังในสิ่งที่พี่น้อยนำเสนอแล้วทำให้นึกถึงเหตุการณ์กรณีคุณคาชิโอะเจ้าของธุรกิจนาฬิกา CASIO เข้าไปพบกับคุณฮัตโตริเจ้าของธุรกิจนาฬิกา SEIKO ตอนนั้นคาสิโอยังเป็นนักมวยใหม่ที่มีแบรนด์ใหญ่อย่างไซโก้เป็นแชมป์อยู่
คุณคาชิโอะเข้าไปพูดกับคุณฮัตโตริว่า
คาชิโอะ: "ผมขอเข้ามาแข่งขันในตลาดนาฬิกา" ฮัตโตริ: "ยินดี..แต่สู้กันอย่างสุภาพบุรุษในตลาดนี้นะ ช่วยกันขยายตลาดนี้ให้ใหญ่ออกไป"
การไม่หวงความรู้ แต่การแข่งขันกันอย่างมีสปิริตของนักกีฬาและแฟร์เกมส์ สุดท้ายมันทำให้มูลค่าตลาดขยายออกไปเอง แทนที่จะไปห้ำหั่นฆ่าฟันอีกฝ่ายให้หายไปจากตลาดนี้ แต่เข้ามาแข่งขันกันเพื่อขยายตลาดออกไป ถ้าเพียงคอนเซ็ปต์ในการทำธุรกิจแบบนี้เกิดขึ้่นจะไม่มีใครต้องเป็นฝ่ายเดินออกไปจากตลาด ทุกคนยังคงอยู่ในตลาดและเค้กของตลาดที่ทุกคนต้องการก็จะขยายออกไปเรื่อยๆ ผู้บริโภคเองก็จะได้รับสินค้าและบริการที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
วันที่ห้าเป็นชั้นเรียนที่สอนแบบ Combination ระหว่างอาจารย์ชัยรัช กับอาจารย์สุภัท โดยที่ตอนบ่ายมีการพูดถึง Social Entrepreneur
มีการขยายความ Grameen Bank ของ โมฮัมหมัด ยูนูส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังคลาเทศที่ได้รางวัลโนเบลในปี ๒๕๕๐ โดยส่วนตัวผมคิดว่าโมเดลนี้อาจจะใช้ไม่ได้ในเมืองไทยเพราะคนกู้จำนวนไม่น้อยชักดาบ
ในระหว่างสัมมนามีเพื่อนอีกสองสามคนที่อยากจะขอกล่าวถึง...
ในบรรดาญาติของคนดังที่มาสัมมนาในรุ่นเดียวกันมีเอ๋รวมอยู่ด้วย เห็นนามสกุลเอ๋ครั้งแรกก็ว่าถ้าสะกดว่า "ศิริพงษ์ปรีชา" ก็จะกลายเป็นญาติกับอดีตนางงามจักรวาลปุ๋ย(ภรณ์ทิพย์) บังเอิญนามสกุลเธอสะกดว่า "ศิริพงษ์ปรีดา" ดังนั้นเธอจึงเป็นญาติกับ นางเอกคนโปรด "กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา" (นิ้ง) ผมว่าไม่ใช่ผมคนเดียวที่ปลื้มคุณ กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา เพราะเพื่อนในรุ่นที่เป็นผู้ชายหลายคนก็ชื่นชมดาราคนนี้
เชอร์รี่ได้ฉายาว่า "คุณนาย" ไม่รู้ว่าใครเป็นคนตั้งให้ กิจการที่อุบลของเชอร์รี่ทำธุรกิจปั้นน้ำเป็นตัว(น้ำแข็ง) ทำ Worskshop กลุ่มเดียวกับเชอร์รี่หลายครั้ง เลยสนิทกันพอสมควร ทุกครั้งที่ทำงานกลุ่มเดียวกันพบว่า...........เชอร์รี่มักจะขีดๆเขียนๆตัวอักษรหรือรูปภาพลงบนกระดาษมากกว่าจดอะไรที่วิทยากรพูด เห็นแล้วพลอยนึกถึงรุ่นน้องที่ธนาคารคนนึงที่ไปอบรมด้วยกัน รายนั้นก็ชอบเอาสีเทียนมาระบายเล่นในระหว่างฟังวิทยากรบรรยาย
พี่ชิตจากสงขลาเก็บภาพเหตุการณ์หลายๆอย่างในระหว่างสัมมนา ทำให้มีภาพประกอบบล็อก เพราะหลายๆช่วงเหตุการณ์ผมก็ไม่ได้บันทึกภาพ แต่พอมีเสียงติงๆเรื่องถ่ายภาพ ผมและพี่ชิตเลยลดการถ่ายภาพลงไป
อาจารย์วิวรรธน์มีธุระไม่สามารถอยู่ต่อวันสุดท้ายของการอบรมได้ เลยมีการมอบของที่ระลึกให้อาจารย์และถ่ายภาพร่วมกัน
กิจกรรมสันทนาการของคืนสุดท้ายของการอบรม...เริ่มจากท่านประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน คุณอารีย์ ภู่สมบุญ กล่าวเปิดงาน
หลังจากนั้นก็มีกิจกรรต่อเนื่องไปจนถึงดึก......
กิจกรรมสัมมนาตลอด ๖ วันมีความหลากหลาย พวกเราได้เรียนรู้ ได้สะท้อนตัวเอง ค้นหาตัวเอง ได้หัวเราะ...ฯลฯ
เพื่อนๆที่เข้าร่วมสัมมนาคราวนี้มีทั้งที่เป็น BCL รุ่นเก่าและ BCL รุ่น ๑๖ นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์ด้วย ทุกๆคนต่างมีส่วนเติมให้การสัมมนาคราวนี้สมบูรณ์ ถ้าไม่ใช่เพื่อนๆเหล่านี้ที่มาร่วมสัมมนาด้วยกันคราวนี้บรรยากาศในการสัมมนาก็คงออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง
ตอนเช้าๆเจอพี่มอญออกกำลังกายเสมอ และมักจะสนทนาระหว่างทานอาหารเช้าในห้องอาหารกับพี่มอญอยู่บ่อยๆ พี่มอญเป็นอดีตคนเดือนตุลา พี่มอญบอกว่าตอนที่อาจารย์นิกรให้พูดถึงความฝันของตนเอง พี่มอญเห็นผมกล้าที่จะพูดความฝันที่ผมไม่กลัวใครจะหัวเราะเยาะ เลยมีแรงจูงใจให้พี่มอญขอพูดถึงความฝันของพี่มอญบ้างที่อยากเห็นคนไทยรักและสามัคคีกัน น่าเสียดายที่บรรดาพวกพี่ๆคนเดือนตุลาที่เคยลำบากต่อสู้มาด้วยกันในอดีต แต่วันนี้...กลับมาแตกแยกกันแบ่งเป็นกลุ่มสีต่างๆ
มีโอกาสได้คุยกับพี่โอมาร์ตอนเบรกครั้งแรกของการสัมมนาวันแรก คุยกันถึงเรื่องผมจะไปแข่งภูเก็ตลากูน่ามาราธอน วันสุดท้ายของการอบรม...พี่โอมาร์ก็เป็นคนสุดท้ายที่ได้คุยด้วยในห้องอาหารก่อนจะแยกย้ายกัน ถึงจะคุยกันได้ไม่นานเขาสามารถสรุปได้ถูกต้องพร้อมให้ฉายาผมว่า "คุณชายละเอียด"
มีสุภาษิตญี่ปุ่นกล่าวว่า
"พบกันเพื่อพลัดพราก แล้วก็พลัดพรากเพื่อจะกลับมาพบกันใหม่"
คงมีโอกาสได้กลับมาเจอกับเพื่อนๆที่มาอบรมคราวนี้อีกในเวลาที่กรรมจัดสรรให้
อย่างที่เกริ่นเอาไว้ตอนเริ่มต้น.....จังหวะชีวิตของคนเรามันบอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน อย่างไร
ถ้าผมไม่ตัดสินใจลาออกจากธนาคาร ผมก็คงไม่ได้เริ่มต้นก้าวเข้าไปสู่เส้นทาง Entrepreneur เสียที ยังคงอยู่ในวงจรของหนูถีบจักร (โรเบิร์ต คิโยซากิ คนเขียนหนังสือยอดฮิต "Rich Dad, Poor Dad" เขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มนั้นว่า มนุษย์กินเงินเดือนกว่าจะหลุดออกมาเป็นผู้ประกอบการใช้เวลานานมากๆเหมือนกับหนูถีบจักร) ทันทีที่ตัดสินใจลาออกจากธนาคาร การก้าวเข้ามาสู่การเป็นผู้ประกอบการทำให้มีโอกาสได้เข้าร่วมสัมมนาคราวนี้ การร่วมสัมมนาคราวนี้ทำให้ผมรู้จักเพื่อน รู้จักวิทยากร ถ้าไม่สมัครเข้าสัมมนา BCL รุ่น ๑๖ ก็จะไม่มีโอกาสจะได้รู้จักเพื่อน BCL รุ่น ๑๖ และพี่ๆ BCL รุ่นก่อนหน้าที่มาร่วมฟังสัมมนาร่วมกันกับรุ่นเรา
นี่อาจจะอธิบายได้ว่าเป็นเหตุผลของกรรมจัดสรร ให้ได้มารู้จักผู้คนมากมายในช่วงเวลาของการสัมมนา ๖ วันที่ศูนย์การอบรมบ้านผู้หว่าน ขอบคุณทุกคนสำหรับช่วงเวลาดีๆที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
...แล้วก็ไม่ลืมขอบคุณเพื่อนเก่าที่ชื่อ ไช้ (財)ที่แนะนำโครงการดีๆแบบนี้ให้ผมได้มีโอกาสเข้าร่วม
Create Date : 28 พฤษภาคม 2552 |
Last Update : 1 มิถุนายน 2552 9:13:52 น. |
|
40 comments
|
Counter : 5624 Pageviews. |
|
|
|
โดย: หนู IP: 118.175.129.125 วันที่: 30 พฤษภาคม 2552 เวลา:15:45:48 น. |
|
|
|
โดย: Nok IP: 117.47.137.9 วันที่: 30 พฤษภาคม 2552 เวลา:18:16:14 น. |
|
|
|
โดย: ชิต สง่ากุลพงศ์ IP: 58.147.54.38 วันที่: 30 พฤษภาคม 2552 เวลา:22:47:07 น. |
|
|
|
โดย: ยิน IP: 222.123.180.251 วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:0:25:52 น. |
|
|
|
โดย: ใช้ IP: 117.47.140.8 วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:0:31:36 น. |
|
|
|
โดย: ยูกะ (YUCCA ) วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:2:35:27 น. |
|
|
|
โดย: หมิง ชุมพร IP: 58.9.138.117 วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:10:45:58 น. |
|
|
|
โดย: ชีวประภา วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:11:40:33 น. |
|
|
|
โดย: ประสาท ตงศิริ IP: 113.53.162.143 วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:11:57:02 น. |
|
|
|
โดย: ชีวประภา วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:15:42:16 น. |
|
|
|
โดย: cherry IP: 222.123.53.242 วันที่: 31 พฤษภาคม 2552 เวลา:20:13:47 น. |
|
|
|
โดย: ชีวประภา วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:9:22:11 น. |
|
|
|
โดย: นันทวัน IP: 118.175.74.6 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:9:50:24 น. |
|
|
|
โดย: พัฒน์ IP: 203.146.3.105 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:11:55:12 น. |
|
|
|
โดย: ชิต สง่ากุลพงศ์ IP: 58.147.54.104 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:14:13:27 น. |
|
|
|
โดย: สายศีล IP: 216.235.36.141 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:15:49:42 น. |
|
|
|
โดย: ชีวประภา วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:15:55:22 น. |
|
|
|
โดย: ชีวประภา วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:15:59:33 น. |
|
|
|
โดย: ลูกจีน IP: 203.148.162.195 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:17:39:52 น. |
|
|
|
โดย: ลูกจีน IP: 203.148.162.195 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:17:49:16 น. |
|
|
|
โดย: ลูกจีน IP: 203.148.162.195 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:17:49:24 น. |
|
|
|
โดย: เอ๋ IP: 10.1.1.208, 58.137.125.180 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:18:21:23 น. |
|
|
|
โดย: พี่ภัทร์ พี่เรือเยาวชนรุ่น 13th IP: 124.122.161.221 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:18:26:38 น. |
|
|
|
โดย: ป้อม IP: 117.47.5.131 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:18:35:22 น. |
|
|
|
โดย: แมวยักษ์ IP: 58.9.170.89 วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:22:47:33 น. |
|
|
|
โดย: ชีวประภา วันที่: 1 มิถุนายน 2552 เวลา:23:00:58 น. |
|
|
|
โดย: ยอด IP: 117.47.183.122 วันที่: 2 มิถุนายน 2552 เวลา:10:12:35 น. |
|
|
|
โดย: ป้าน้อย (4+4=Dd ) วันที่: 3 มิถุนายน 2552 เวลา:0:11:29 น. |
|
|
|
โดย: แมวยักษ์ IP: 58.9.173.142 วันที่: 3 มิถุนายน 2552 เวลา:22:35:07 น. |
|
|
|
โดย: yai mahachai IP: 125.27.234.84 วันที่: 4 มิถุนายน 2552 เวลา:17:18:31 น. |
|
|
|
โดย: ชีวประภา วันที่: 5 มิถุนายน 2552 เวลา:19:29:05 น. |
|
|
|
โดย: คนตรัง IP: 118.175.94.14 วันที่: 6 มิถุนายน 2552 เวลา:18:32:32 น. |
|
|
|
โดย: กุล IP: 58.9.51.209 วันที่: 7 มิถุนายน 2552 เวลา:16:34:07 น. |
|
|
|
โดย: หมอไก่/สมยศ IP: 125.24.118.98 วันที่: 9 มิถุนายน 2552 เวลา:0:14:45 น. |
|
|
|
โดย: โอมาร์ IP: 117.47.204.21 วันที่: 12 มิถุนายน 2552 เวลา:14:52:11 น. |
|
|
|
โดย: ชีวประภา วันที่: 12 มิถุนายน 2552 เวลา:16:17:58 น. |
|
|
|
โดย: ปุ้ม IP: 202.71.124.213 วันที่: 19 มิถุนายน 2552 เวลา:11:28:57 น. |
|
|
|
โดย: สุรชาติ IP: 118.173.170.212 วันที่: 19 กรกฎาคม 2552 เวลา:21:51:05 น. |
|
|
|
โดย: ชีวประภา วันที่: 20 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:34:55 น. |
|
|
|
โดย: sunny IP: 123.153.71.131 วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:14:06:23 น. |
|
|
|
|
|
|
|